แซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์: ผู้ก่อตั้งกรุป ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ คอมมูนิตี้ค้าขายช่วงโควิด-19

แซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์: ผู้ก่อตั้งกรุป ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ คอมมูนิตี้ค้าขายช่วงโควิด-19
ในช่วงปลายมีนาคมจนถึงช่วงต้นเมษายน เริ่มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมืองไทย บ้านเมืองล็อกดาวน์ ผู้คนเริ่มกักตัวอยู่กับบ้าน ไม่ได้ไปไหน กิจกรรมบนโลกออนไลน์จึงเกิดขึ้นมากมาย ในช่วงเวลานั้น บางคนเปิดหนัง/ซีรีส์สตรีมมิงดู บางคนผันตัวมาปลูกต้นไม้ ทำอาหาร ร้องเพลง ไปจนถึงเล่น TikTok เป็นกิจกรรมที่ทั้งฆ่าเวลาและลดความเครียดในช่วงเวลาที่ยังหาทางออกไม่ได้ว่า เชื้อไวรัสนี้จะแพร่ระบาดแบบไหน หรือ new normal จะเป็นในทิศทางใด   ในช่วงเวลานั้นเอง กรุปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ได้กำเนิดขึ้นมาใน Facebook ความตั้งใจแรกของคนตั้งกรุปนี้คือการสร้างกลุ่มช้อปปิ้งออนไลน์ของประชาคมธรรมศาสตร์ขึ้นมา แต่ผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ การที่ต้องเริ่มต้นโพสต์ด้วยการแนะนำตัวว่าเป็นใคร จบมาจากไหน รุ่นไหน ทำให้กรุปนี้กลายเป็นกลุ่มที่ผู้คนเข้ามาอัปเดตกันว่า เพื่อนที่ไม่เคยพบปะกันมานานสมัยเรียน อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่กันบ้าง กาลต่อมากรุปนี้เลยมีบทสนทนาที่หลากหลายและมีเพื่อนพ้องอีกหลากหลายมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมสนุกด้วย   บวกกับสีสันการค้าขายในกรุป ที่ขายตั้งแต่ของกินเล่นเล็ก ๆ ไปจนถึงของใหญ่ ๆ อย่างรถหรือที่ดิน (แม้แต่จระเข้ก็มีขาย!) ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้กรุปนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 3 วันมีสมาชิกถึง 1 หมื่นคน จากที่ตอนแรกมีสมาชิกเพียง 30 คนที่มาจากเพื่อน ๆ ของแซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ รหัส 51 ผู้จัดตั้งกลุ่ม ซึ่งในปัจจุบัน (มกราคม 2564) กรุปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ตอนนี้เปรียบเสมือน Marketplace แห่งหนึ่งสำหรับนักขายและนักช็อปทั้งหลายเกือบ 2 แสนคน   ย้อนกลับไปในวันเริ่มต้น ไม่มีใครรู้ว่ากรุปนี้จะมาไกลขนาดนี้ ในแรกเริ่ม กรุปนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจดีของ ‘แซน’ ในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดการล็อกดาวน์เมืองและตัวเธอเองก็ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เนื่องจากงานเป็นบริษัททัวร์ไม่สามารถเปิดได้ พอไม่ได้ทำงานจึงได้นั่งเล่น Facebook จนเห็นว่าเพื่อนอีกหลาย ๆ คนนั้นได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันจนต้องมาเปิดขายของออนไลน์ และยังเห็นเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการสินค้าเช่นเดียวกัน เลยเกิดความคิดที่ว่าจะทำยังไงให้เพื่อนที่ไม่ได้รู้จักกันได้ซื้อสินค้าของกันและกัน   “อยากให้เพื่อนเราอีกคนได้อุดหนุนเพื่อนเราอีกคนที่เขาไม่รู้จักกัน แต่ถ้าเกิดว่าแนะนำให้เขามารู้จักกันมันคงเป็นเรื่องยาก จึงคิดว่าเราตั้งกรุปดีกว่า ให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นกรุปส่วนตัว ที่เพื่อน ๆ จะได้มาฝากร้านกัน"   ในมุมหนึ่งแซนอยากรู้ด้วยว่าเพื่อนแต่ละคนทำอะไร หรือกิจการที่บ้านทำอะไร เพราะส่วนตัวเธอเองเป็น organizer ด้วย ที่ต้องใช้ supplier แบบหลากหลายธุรกิจในแต่ละงาน อนาคตจะได้รู้ว่าถ้าซื้อกับเพื่อนคนนี้จะได้ราคาแน่นอน ได้สินค้าแน่นอน เป็นการเก็บ database ไปในตัว   แต่เอาไปเอามา กรุปนี้ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีของขายมากมาย มีบทสนทนาสนุก ๆ ไปย้อนรำลึกความหลังกัน จนทำให้เพจขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างโพสต์ขายของที่สร้างสีสันในกรุปนี้   “เพื่อนมีฟาร์มจระเข้ครับ อยู่ที่อุทัยธานี มีเยอะจนน้องหลุดไปกินวัวของชาวบ้านครับ น้องนิสัยน่ารัก ขี้เล่น เลี้ยงง่าย ราคาจับต้องได้ครับ ซื้อไปเลี้ยงกริ๊บเก๋ ซื้อไปทำโชว์ ได้ครับ”   หลายคนจากที่คอตกว่าช่วงกักตัวอยู่ที่บ้าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยถอยลง บางคนเครียดว่าจะตกงานไหมหากผลประกอบการของบริษัทแย่เพราะช่วงโควิด-19 จะทำมาหากินแบบไหนดี การมีกลุ่มไว้ให้ค้าขายออนไลน์นั้นช่วยให้หลายคนมีหนทางทำมาหากินเพิ่มอีกช่องทาง และทำให้มีช่องทางระบายความเครียดที่อยู่แต่ในบ้านด้วยการเปิด Facebook เพื่อพูดคุยกับคนในกรุป   แต่เมื่อผู้คนมากมายอยู่ร่วมกันจึงหนีไม่พ้นความ ‘ดรามา’   ท่ามกลางบรรยากาศใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ซื้อใคร่ขายอะไรก็ซื้อขายกันไป แต่มุมหนึ่งเมื่อคนมาอยู่ร่วมกันมากมาย ต่างจิตต่างใจ ย่อมมีดรามาในกรุปเกิดขึ้นบ้าง ทั้งการได้สินค้าไม่ตรงปก สินค้าไม่ได้คุณภาพ ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า จนเกิดการโต้เถียงกัน แต่ดรามาที่หนักที่สุดคงต้องบอกว่าคือเรื่องการเมือง ที่ตัวของแอดมินดูแลกลุ่มโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งการต่อว่าว่าทำไมถึงปล่อยให้โพสต์เกี่ยวกับการเมืองมาอยู่ในพื้นที่ค้าขายตรง ซึ่งแซนเองในฐานะคนดูแลกรุปต้องคอยหาจุดสมดุลในการพูดคุยกันในประเด็นคิดเล่นเห็นต่างเวลาพูดคุยเรื่องการเมืองในกรุป   การเลือกที่จะไม่ห้ามหรือลบโพสต์นั้น แซนมองว่าเป็นเรื่องของวิจารณญาณ คนทุกคนควรเคารพกัน พื้นที่ตรงไหนควรพูดถึงเรื่องการเมืองได้ เพราะการเมืองมันคือทุกอย่างรอบตัวเรา จะบอกว่าตลาดแห่งนี้ไม่เอาการเมืองไม่ได้ แต่ขอให้ใช้ถ้อยคำแบบปัญญาชนคุยกันเป็นการถกเพื่อก่อ และทุกคนควรฝึกการอยู่ร่วมกัน ยอมรับความแตกต่างทางด้านความคิดของกันและกัน   เมื่อกรุปเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ การวางแผนต่อยอดกรุปจึงเกิดขึ้น   เมื่อผู้คนในกรุปมีจำนวนมาก การต่อยอดจากออนไลน์ มาเป็นออฟไลน์จึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ที่ผ่านมามีการทำตลาดจริง ๆ ที่ยกตลาดบนพื้นที่โลกออนไลน์ออกมาอยู่บนพื้นดิน ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ได้มีการจัดตลาดนัดโดยใช้ชื่อว่า ‘ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน On Ground’ ที่โกดังเสริมสุข เป็นตลาดนัด reunion ที่ให้ผู้คนได้มาพบเจอกันหลังจากไม่ได้เจอกันนานในช่วงกักตัว มานั่งพูดคุยกัน ไม่ใช่แค่การมาเดินซื้อของแล้วกลับ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี   สิ่งที่แซนเรียนรู้จากการจัดการหลังบ้านของ Marketplace แห่งนี้ เธอได้มองเห็นเรื่องของการช้อปปิ้งและการค้าขายในช่วงโควิด-19 ด้วยสายตาที่เปลี่ยนแปลงไป   โควิด-19 บังคับให้เราฝึกการซื้อของออนไลน์ เพราะด้วยสถานการณ์ผู้คนไม่สามารถพบเจอกันได้ มันจึงเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนบางคนเยอะเหมือนกัน อย่างเช่น จากผู้สูงอายุที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิธีการโอนเงินออนไลน์ทำอย่างไร จนทุกวันนี้กลายเป็นคนที่คอยรับโทรศัพท์จากคนส่งของ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก สถานการณ์นี้ทำให้ผู้คนในทุกเจเนอเรชันเรียนรู้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป   แซนเล่าว่า สิ่งที่เธอได้จากการดูแลกรุปอยู่ทุกวันนี้ เธอได้ทุกอย่างที่มากกว่าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ   “ได้เห็นถึงน้ำใจ ได้ connection ได้รู้จักคนที่ไม่รู้จักมาก่อน อยู่ ๆ ก็กลายเป็นคนที่ใครหลาย ๆ คนรู้จัก ที่สำคัญเลย ได้สัมผัสถึงความสุข ความสุขที่เกิดจากความรู้สึกที่ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น ซึ่งแต่ก่อนเราไม่รู้หรอกว่า คนตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง แต่ ณ ตอนนี้กรุปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้านดันส่งมาให้เราได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น อย่างน้อยเกิดมาอายุ 32 ปี เริ่มกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมายขึ้นมา มีโอกาสที่จะเป็นกระบอกเสียงบางอย่างที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ซึ่งสำหรับแซน สิ่งที่ได้รับมามันคุ้มค่ากว่าเงินค่ะ”   เรื่อง: ภัคจีรา ทองทุม