Pink Floyd - Wish You Were Here: วงดนตรี ผี และซาตานในคราบค่ายเพลง  

Pink Floyd - Wish You Were Here: วงดนตรี ผี และซาตานในคราบค่ายเพลง  
/ So, so you think you can tell heaven from hell? Blue skies from pain? / / คุณถ่ายทอดสวรรค์ผ่านนรกได้หรือ วาดภาพท้องฟ้าสดใสจากความความเจ็บช้ำได้หรือไร /   แอบบีย์ โรด ลอนดอน ปี 1975    ภายในสตูดิโอชื่อดังที่เหล่านักดนตรีระดับตำนานล้วนเคยผ่านและใช้มันเป็นสถานที่สร้างผลงานลือชื่อของพวกเขา Pink Floyd วงดนตรีจากเกาะอังกฤษที่เดิมยึดขนบไซคีเดลิกร็อกเป็นที่ตั้ง แล้วค่อยขยับไปสู่ขนบอื่น ๆ ในความเป็น ‘ร็อก’ ในภายหลัง ขณะนั้น ในห้องอัดเสียงแห่งสตูดิโอแอบบีย์ พวกเขากำลังขะมักเขม้นกับการเรียงร้อยดนตรีให้เป็นอัลบั้ม โดยแบกความกดดันจากชื่อเสียงและความคาดหวังมากมายที่พวกเขาได้รับเพราะ ‘The Dark Side of the Moon’ (1973) อัลบั้มก่อนหน้าไว้เต็มอก   / Remember when you were young, you shone like the sun - Shine On You Crazy Diamond /   เสียงกีตาร์วังเวงหูที่ประกอบไปด้วยคอร์ดสี่คอร์ด ประสานกับเอฟเฟกต์และเครื่องสังเคราะห์เสียงอื่น ๆ ในเพลง Shine On You Crazy Diamond ดังก้องไปทั่วสตูดิโอ วังเวงเสียจนโรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) มือเบสของวงบอกว่าคอร์ดกีตาร์ที่เรียงกันอยู่นั้นฟังดูเหมือน ‘เสียงครวญของภูตผีที่ถูกทิ้ง’   ไม่ผิดจากความจริงนัก เมื่อหลังจากนั้นไม่นาน ‘ผีที่ถูกทิ้ง’ ก็ปรากฏต่อสายตาของ Pink Floyd ท่ามกลางเสียงดนตรีที่ยังคงโหยไห้ ในรูปแบบของชายร่างท้วมใบหน้าบอกบุญไม่รับ   ผีที่ (ไม่ได้) หลอกหลอน Pink Floyd ตนนั้นคือ ซิด บาร์เร็ต (Syd Barrett) อดีตมือกีตาร์และนักแต่งเพลง อดีตสมาชิกของวง อดีตดวงดาวบนเวทีที่พวกเขาเชื่อมั่นในฝีมือ อดีต ‘เพื่อน’ ที่บัดนี้กลายเป็น ‘ผี’ เพราะไม่มี Pink Floyd แม้สักคนที่จำเขาได้   / Now there’s a look in your eyes, like black holes in the sky - Shine On You Crazy Diamond /   จงเปล่งประกาย Crazy Diamond ย้อนกลับไปเมื่อต้นยุค 60s หรือเมื่อสิบปีก่อนหน้าที่เขาจะ ‘ปรากฏ’ ในสตูดิโอราวกับภูตผี ซิดเป็นหนุ่มผมยาวและตัวผอมเท่า ๆ กับนักดนตรีคนอื่น ๆ ท่ามกลางการงอกงามของวัฒนธรรมร็อกและการเข้ามาของดนตรีไซเคเดลิก ซิดและเพื่อนอีกสามคนก่อตั้ง Pink Floyd ขึ้นมา พวกเขากลายเป็นวงที่มีฐานแฟนคลับพอตัวในเวลาไม่นานนัก ส่วนหนึ่งก็ด้วยมันสมองในการแต่งเพลงของซิด บวกกับลีลาการเล่นกีตาร์ที่แหวกแนวและออกจะหลุดโลกของเขา   ทุกค่ำในคลับไซเคเดลิก ซิดร้องเพลง เล่นกีตาร์ และ ‘shine’ เหมือน ‘diamond’ ด้วยท่าทางบ้า ๆ หากน่าหลงใหล Pink Floyd ภายใต้การนำของซิดและแรงส่งของสมาชิกที่เหลือก้าวออกจากการเป็นวงดนตรีอันเดอร์กราวนด์ด้วยการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอย่าง EMI Records เมื่อปี 1967    พวกเขากำลังไปได้ดี แต่ก็เป็นตอนนั้นเองที่ซิดเจอปัญหา   ซิดติดยาขนาดหนัก และไม่เคยเข้ารับการบำบัดแม้สักหน   / So, so you think you can tell heaven from hell? Blue skies from pain? /   ซิดเปลี่ยนไปจากที่เขาเคยเป็น เขาเล่นดนตรีแต่คอร์ดเดิมซ้ำ ๆ พฤติกรรมประหลาดของเขาหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ จน Pink Floyd ตัดสินใจให้เดวิด กิลมัวร์ (David Gilmour) มาช่วยเล่นกีตาร์แทนซิดที่อาการหนักเกินกว่าจะเล่นบนเวที แต่ในไม่ช้า ซิดก็สูญเสียความสามารถที่เขาเคยมีไปแทบทั้งหมด จนเดวิดต้องรับหน้าที่กุมบังเหียนวงแทน   มีนาคม ปี 1968 ซิดแยกทางกับ Pink Floyd โดยสมบูรณ์   Pink Floyd โด่งดังขึ้นในทุกอัลบั้ม ส่วนซิดถูกอาการติดยารุมเร้า (ในภายหลัง หลายคนวิเคราะห์ว่าเขาอาจมีอาการจิตเภทร่วมด้วย) และไม่นานก็หายหน้าหายตาไป   / Can you tell a green field from a cold steel rail? A smile from a veil? Do you think you can tell? /   อยากให้นายอยู่ตรงนี้เหลือเกิน “ผมจำเขาไม่ได้ แต่เดวิดกับโรเจอร์ร้องไห้ การปรากฏตัวของซิดมีความหมายกับพวกเขามาก ๆ” นิค เมสัน (Nick Mason) มือกลองของวงยังจำได้ดีถึงเรื่องราววันนั้น หลังจากใช้เวลาสักพักกว่าจะนึกได้ว่าเป็นเพื่อนเก่า พวกเขาทักทาย ซิดนั่งลงและเริ่มพูดคุย   หลังจากซิดจากไป ความว่างเปล่าขนาดใหญ่ก็จู่โจมเดวิด กิลมัวร์ และโรเจอร์ วอเทอร์ส นิ่งและนานที่พวกเขาต้องยอมรับว่านั่นคือรสชาติของการสูญเสีย   “ซิดนั่งอยู่ตรงนี้ แต่มันเหมือนว่าเขาไม่อยู่ พอได้คุยกับเขา ผมถึงเข้าใจ ซิดหลงทางและจากเราไปแล้วตลอดกาล”   ซิดกลายเป็นผีตั้งแต่เขายังไม่ตาย และโรเจอร์ก็เขียนเพลง ‘Wish You Were Here’ ให้ซิด ไม่ว่าเขาจะเป็นผีหรือคน   / How I wish, how I wish you were here / / อยากให้นายอยู่ตรงนี้เหลือเกิน /   วงดนตรี ผี และซาตานในคราบค่ายเพลง ‘Wish You Were Here’ ที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่ออัลบั้มของพวกเขา เป็นบทเพลงอะคูสติกร็อกที่ถักทอไว้ด้วยเนื้อเพลงแสนเศร้าจากปลายปากกาของโรเจอร์ วอเทอร์ส เขาเขียนมันขึ้นมาโดยมีกลิ่นอายของการระลึกถึงเพื่อนเก่าอยู่ในทุกบรรทัด   ท่อนแรกเล่าถึงการหลงทางของซิด และวังวนของการเสพยาที่หาทางออกไม่ได้ พร้อมด้วยคำถาม ‘Do you think you can tell?’ ราวกับกำลังเขย่าไหล่เรียกสติเพื่อนเก่าว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีแล้วจริง ๆ หรือ ส่วนท่อนถัดมาก็ถ้อยถามว่าซิดต้องแลกอะไรไปบ้างถึงกลายมาเป็นตัวเขาในวันนี้   / Did they get you to trade your heroes for ghosts? /   แลกวิญญาณของนายกับภูตผี เปลี่ยนเถ้าถ่านให้เป็นแมกไม้  แลกไอร้อนกับสายลม ตามคำชักชวนแสนเยือกเย็นนั่น ‘เขา’ ได้บอกให้นายแลกไหม แล้วนายได้ทำหรือเปล่า  นายทิ้งตำแหน่งทหารราบและจากมาเพื่อจะเป็นหัวหน้าในกล่องกรงหรืออย่างไร   แต่ท่อนท้ายของเพลงกลับมีทีท่าเข้าอกเข้าใจกว่า เมื่อโรเจอร์เล่าผ่านเนื้อความว่าแท้จริงแล้ว เขาและซิดคือภูตผีที่กำลังเวียนว่ายในวงจรเดียวกัน และที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะหลังเวลาผ่าน ‘The Dark Side of the Moon’ ประสบความสำเร็จ Pink Floyd เคยเป็นวงอันเดอร์กราวนด์ที่ความกระหายในบทเพลงแรงกล้า แต่ในสายตาของค่ายเพลงแล้ว พวกเขาเป็นเพียงตัวทำเงินที่ถูกตีกรอบและมอบบทบาทตามแต่ค่ายจะเห็นว่าสมควร   / We’re just two lost souls swimming in a fishbowl year after year / / เราทั้งคู่เป็นเพียงภูตผีที่วิ่งว่ายในโหลแก้ว ปีแล้วปีเล่า /   ถ้า ‘เขา’ ที่บอกให้ซิดแลกวิญญาณกับภูตผีคือยาเสพติด ‘เขา’ ที่บอกให้โรเจอร์ ‘ขายวิญญาณ’ ก็คือซาตานในคราบค่ายเพลง ความคับแค้นที่เกิดจากภาระบนบ่าที่โรเจอร์ต้องแบก ความสิ้นอาลัยในดนตรี ความกดดันที่บีบคั้นจนไร้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ ถูกถ่ายทอดลงในเพลงร่วมอัลบั้มเพลงอื่น ๆ    ‘Welcome to the Machine’ เปรียบอุตสาหกรรมดนตรีเป็นเครื่องจักร และศิลปินเป็นเพียงฟันเฟือง ส่วน ‘Have a Cigar’ ก็เอาเรื่องจริงมาแต่งเป็นเพลง จากเหตุการณ์ที่คนในค่ายเพลงที่ ‘ปั้น’ พวกเขามากับมือได้เอ่ยปากถาม Pink Floyd ว่า ‘คนไหนในวงที่ชื่อ Pink’ เพราะคิดว่า Pink Floyd มาจากชื่อใครสักคนในวง   แด่อุตสาหกรรมดนตรี จากผี Pink Floyd นอกจากเพื่อมอบแด่ซิด บาร์เร็ตแล้ว อัลบั้ม ‘Wish You Were Here’ ที่ประกอบไปด้วยห้าบทเพลงอัลบั้มนี้ ยังเปรียบเสมือนเสียงร้องของผีที่ชื่อ Pink Floyd เพื่อบอกเล่า สะท้อน และทวงถามถึงความอยุติธรรมในอุตสาหกรรมดนตรี ณ ห้วงเวลานั้นด้วย เช่นที่โรเจอร์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า   “เพลง Wish You Were Here คือการย้ำเตือนกับตัวเองของผม ผมบอกกับตัวเองว่า ผมจะไม่เป็นหัวหน้าในกล่องกรง แต่ผมจะเข้าร่วมสงคราม (หากอุตสาหกรรมดนตรีเป็นสงคราม) ผมจะยืนอยู่ท่ามกลางสนามเพลาะ”   / Did you exchange a walk-on part in the war for a leading role in a cage? /   เสียงกีตาร์อะคูสติกครวญเนิบช้า เสียงร้องทุ้มนุ่มของเดวิด กิลมัวร์ยังคงซ้ำวนท่อน ‘อยากให้นายอยู่ตรงนี้ด้วยกัน’ และท่อนที่เปรียบดังคำถามโดยตรงถึงซิด ตั้งแต่วันนั้นเมื่อปี 1975 โดยไม่เคยมีเสียงตอบกลับมาจากเพื่อนที่สูญหายของพวกเขา   แอบบีย์ โรด ลอนดอน ปี 1975 เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายของ Pink Floyd และอดีตชายผู้เปล่งแสงแวววาวที่สุดในวง   ซิดจากโลกนี้ไปอย่างแท้จริงเมื่อปี 2006 หากแต่เขาในฐานะการระลึกถึงจะยังคงวนเวียนอยู่ในเพลงของวงนี้ไปอีกแสนนาน เช่นเดียวกับการกลายเป็นอมตะของวงดนตรีที่เขาเป็นผู้สร้างชื่อ (ซิดเป็นคนตั้งชื่อวง Pink Floyd) และปัญหาในอุตสาหกรรมดนตรีที่ยังคงฉายหนังม้วนเก่ามาตั้งแต่วันวาน (แม้จะมีการปรับและเปลี่ยนจน ‘ดี’ หรือ ‘แย่’ ขึ้นในบางแง่บ้างแล้วก็ตาม)   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://americansongwriter.com/wish-you-were-here-pink-floyd-behind-the-song/ https://www.planckmachine.com/wish-you-were-here-pink-floyd-lyrics-meaning/ https://www.radiox.co.uk/artists/pink-floyd/why-pink-floyds-wish-you-were-here-saddest-song/ https://americansongwriter.com/wish-you-were-here-pink-floyd-behind-the-song/ https://www.youtube.com/watch?v=kJC-cFKP770 https://www.youtube.com/watch?v=MLDi8TDSNwk https://www.hardwiredmagazine.com/pink-floyd-the-story-of-wish-you-were-here/?lang=en