“ความยุติธรรม แม้แต่คนตายก็ต้องการ” ประโยคนี้คงจะเป็นธีมหลักสำหรับภาพยนตร์ และนิยาย เรื่อง “รุ่นพี่”(2558) ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
“รุ่นพี่” หากเทียบกับงานกำกับภาพยนตร์ก่อนหน้าของของวิศิษฏ์ อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร(2543), หมานคร(2547), เป็นชู้กับผี(2549) และ อินทรีแดง(2549) ดูเหมือนว่าค่อนข้างจะฉีกแนวออกไปจากหนังที่กล่าวมาในข้างต้นในแง่ที่ว่า “หน้าหนัง” จะออกไปทางแนวสอบสวนที่มีกลิ่นอายแบบวรรณกรรมวัยรุ่นสอบสวน “ญี่ปุ่น”(ที่บ้านเราชอบเอามาแปลขาย) อยู่สักหน่อย แต่ความน่าสนใจนั้นอยู่ที่เนื้อหาภายในเรื่องสามารถมองและวิเคราะห์ได้ในหลายชั้น
จากนี้ไปจะเป็นงานที่ความสารจาก “รุ่นพี่” โดยเชื่อมเนื้อหาของทั้งภาพยนตร์และนิยายประกอบกันเพื่อช่วยเติมเต็มภาพรวมของเรื่อง
เนื้อหาของ “รุ่นพี่” สำหรับผู้เขียนแล้ว ความน่าสนใจของ “ตัวบท” มันอยู่ที่การ “อ่าน” และตีความเนื้อหาใน 2 ชั้น ในชั้นแรก ตัวหนังพูดถึงการสืบหาคดีของ “ม่อน” เด็กสาวผู้สามารถดมกลิ่นวิญญาณได้ ซึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ, เธอต้องมาจับคู่กับ “รุ่นพี่” วิญญาณปริศนาที่ไม่ทราบว่าตัวเองเสียชีวิตเพราะอะไร
คดีที่ทั้งคู่ต้องสืบสวน เป็นคดีฆาตกรรมที่ตึกพรรณวดีที่ปัจจุบันเป็นตึกหอพักของม่อน โดยเมื่อประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว หม่อมเจ้าพรรณวดี รัศมี ราชนิกูลถูกฆาตกรรมโดยมีคนพบเห็นศพอยู่บริเวณสระน้ำภายในวัง ผู้ต้องสงสัยคือนายจิตร คนสวนของวัง เพราะที่จอบของเขามีรอยเลือดและค้นพบเครื่องเพชรจำนวนหนึ่งที่เรือนของคนสวน และโดยหลักฐานเหล่านี้ ทำให้ศาลตัดสินว่านายจิตรมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา นายจิตรจึงถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำการฆาตกรหม่อมเจ้าจนวาระสุดท้ายที่กระสุนฝังไปที่หัวใจของเขาในฐานะนักโทษประหาร
ภารกิจของ “ม่อน” และ “รุ่นพี่” จึงอยู่ที่การสืบสวนว่าคดีในอดีตคดีนี้นั้น แท้จริงแล้วฆาตกรคือใคร?
ความหมายชั้นแรกในการเล่าเรื่องของ “รุ่นพี่” จึงอยู่ที่ความลุ้นระทึกในระหว่างทางของการสืบสวนของคู่หูต่างมิติ (คนกับวิญญาณ) ซึ่งตัวหนังได้พยายามสร้างเงื่อนไขต่างนานา เพื่อให้การสืบสวนนั้นมีรสสนุกยิ่งขึ้นในการสืบหาคดีของทั้งสองคนนี้ อย่างเช่น การดมกลิ่นของม่อนสามารถทำให้เธอมองเห็นภาพของอดีตที่เป็นประวัติศาสตร์ในยุคนั้นได้ หรือตัวรุ่นพี่เอง สามารถใช้พลัง ๆ บังคับมวลสารและทำให้เกิดภาพหลอนแบบพี่หลอก ที่น่าสนุกก็คือ สาเหตุที่รุ่นพี่สามารถเดินทะลุกำแพงได้ เพราะจุดที่เป็นกำแพงในยุคปัจจุบัน อาจจะไม่มีในสมัยก่อน แต่สิ่งที่มีในสมัยก่อน แม้ว่าจะไม่มีในสมัยนี้ (อย่างเช่น สระว่ายน้ำ ในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นสุสาน) รุ่นพี่ก็ไม่สามารถที่จะผ่านเข้าไปได้เช่นกัน ซึ่งเพียงแค่กฎข้อนี้ ก็สามารถทำให้การสืบสวนนั้นน่าติดตามแล้ว
จนสุดท้าย คือไม่ต้องสปอยล์ก็ทราบว่า นายจิตร คนสวนที่ถูกประหารชีวิตนั้น ไม่ได้เป็นฆาตกร...
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การสืบสวนคดีที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น มันจะมีประโยชน์อะไรก็ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว?
หากเข้าสู่ประเด็นดังกล่าวแล้ว ขอต้อนรับเข้าสู่การอ่านตัวบทในชั้นที่สอง ซึ่งเชื่อมโยงกับประโยคเด็ดของหนังอย่าง “ความยุติธรรม แม้แต่คนตายก็ต้องการ” อย่างแนบชิดสนิทกัน เพราะภาพยนตร์และนิยายของวิศิษฐฏ์ ศาสนเที่ยงเรื่องนี้นั้น วางสารบางอย่างที่พูดถึง “ระหว่างบรรทัด” ในประเด็น “การเมืองเรื่องประวัติศาสตร์” ได้อย่างน่าสนใจ
คดีที่เกิดขึ้นในท้องเรื่อง เป็นคดีที่เกิดขึ้นใน “อดีต” ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มันผ่านมาแล้ว เราจึงสามารถมองได้ว่ามันคือ “ประวัติศาสตร์” ที่เคยเกิดขึ้นมา และเมื่อเราพูดถึงคำว่า “ประวัติศาสตร์” มันมีความน่าสนใจตรงที่ว่า ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ประวัติศาสตร์ในรูปแบบดังกล่าวถูกเล่าผ่านใคร และมันทำงานแบบไหนจึงทำให้ผู้คนส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่า ประวัติศาสตร์ดังกล่าวคือ ข้อมูล(Fact) อันเป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อถือกัน
คำกล่าวหนึ่งที่เคยได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ “ผู้ชนะ คือผู้เขียนประวัติศาสตร์” ในมุมหนึ่งมันแสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์นั้น ๆ มันต้องมีความเป็นอัตวิสัย (Subjective) โดยอำนาจเรื่องเล่ามันอยู่ที่ “ผู้ชนะ” ซึ่งในเรื่อง “รุ่นพี่” ผู้ชนะคือคำตัดสินของศาลที่เมื่อรวบรวมหลักฐานเข้าด้วยกันแล้วตัดสินว่านายจิตร คนสวนของวังมีความผิด และต่อมาประวัติศาสตร์เรื่องเล่าของนายจิตร กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ “ตายแล้ว” ในความหมายที่ว่ามันหยุดอยู่แค่ตรงนั้น โดยไม่มีการขุดมันขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามและสวบสวนใหม่
พื้นที่ของคนและประวัติศาสตร์ที่ตายแล้ว จึงเต็มไปด้วยความอยุติธรรมที่แม้ว่าจะมีคนพยายามนำมันกลับมาชำระใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเสียงมันเบากว่าประวัติศาสตร์ที่นิพนธ์โดย “ผู้ชนะ”
การสืบสวนของม่อนและรุ่นพี่ จึงมีความน่าสนใจในแง่ของการกลับไป “ขุด” ประวัติศาสตร์(ที่ตายแล้ว)ในอดีต ให้กลับมามีชีวิตชีวิตใหม่ เกิดการตีความแบบใหม่ตามหลักฐานที่มีอยู่ ซึ่งไม่ว่าจะจงใจหรือโดยบังเอิญ “สาร” ที่เกิดขึ้นผ่านงานของวิศิษฐฏ์ ศาสนเที่ยงเหมือนจะมีท่วงทำนองบอกเล่าเรื่องราวในทำนองนี้อยู่โดยเฉพาะในช่วงท้าย ๆ ของนิยายและภาพยนตร์
ในเวอร์ชั่นนิยาย ช่วงท้ายของเล่มนั้นพูดถึงฉากที่ม่อนเห็นรูปของคุณป้าของเธอถ่ายคู่กับชายหนุ่มคนหนึ่งที่สวมชุดนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอจึงใช้ความสามารถของเธอดมกลิ่นชายคนนั้นแล้วสัมผัสเห็นวิญญาณของชายหนุ่มคนนี้ เขามีเชือกคล้องคอ ศพของเขาถูกลากไปตามสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย ซึ่งแม้ว่านิยายจะให้ข้อมูลเพียงเท่านี้ แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่า นี่คือความรุนแรงหนึ่งที่เกิดจากเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ส่วน “รุ่นพี่” เวอร์ชั่นภาพยนตร์ ช่วงท้าย ๆ มีฉากหนึ่งที่ดูเหมือนไม่สำคัญอะไร แต่ “นัยยะ” ของฉากนั้นน่าสนใจ เพราะฉากหลังมีการปล่อยเสียงข่าวโทรทัศน์แทรกเข้ามา พูดถึงการรื้อตึกที่สร้างขึ้นในสมัยที่คณะราษฎร (สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม) มีอำนาจในช่วงหลังการปฏิวัติสยาม 2475
ข่าวเล็ก ๆ ที่แทรกมาชวนให้คิดต่อในแง่ของข้อถกเถียงทางวิชาการประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่นักวิชาการสายประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า การรื้อตึกหรือวัตถุทางความทรงจำที่สร้างในสมัยคณะราษฎร เช่น ศาลฎีกาไปจนถึงหมุดคณะราษฎร เป็นการช่วงชิงการนำของวาทกรรมอนุรักษ์นิยมที่ต้องการลบเลือนหรือบิดความหมายสิ่งที่คณะราษฎรต้องการนำเสนอหลังการปฏิวัติสยาม 2475 นั่นคือหลักการ 6 ประการ (เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา) อันเป็นต้นธารของความเท่าเทียม ประชาธิปไตย และการมองประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก
นี่คือสองเรื่องราวเล็ก ๆ ที่อยู่ภายนอกโครงเรื่องหลักของหนัง “รุ่นพี่” แต่เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับประโยคที่ว่า “ความยุติธรรม แม้แต่คนตายก็ต้องการ” จะทำให้เราเห็นมิติบางอย่างที่ซับซ้อนขึ้นในแง่ที่ว่า มีเรื่องราวทาง “ประวัติศาสตร์” ในบ้านเราอีกมากมายที่ยังไม่เคยถูกขุดขึ้นมาชำระอย่างเป็นระบบ
เพราะความยุติธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ “คนตาย” เท่านั้นหรอกที่ต้องการ
เพราะ “ประวัติศาสตร์” ที่ตายแล้ว ก็ต้องการความยุติธรรมในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์