โจ ไบเดน : คู่แข่งแสนธรรมดาที่หมายจะคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีจากทรัมป์

โจ ไบเดน : คู่แข่งแสนธรรมดาที่หมายจะคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีจากทรัมป์

“สหรัฐอเมริกาจะกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง”

ประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาอาจถึงคราวเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง เพราะตลอด 4 ปีที่มี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ดูเหมือนสโลแกนหาเสียงที่บอกว่าจะ ‘Make America Great Again’ เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อย่างเหตุการณ์กราดยิงอันน่าสะเทือนใจ การประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวครั้งใหญ่ และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง หนทางที่จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ของเขาก็เหมือนจะดูไม่มั่นคงเท่าไร ขณะเดียวกันคู่แข่งจากพรรคใหญ่อย่างเดโมแครตก็ส่งนักการเมืองที่ชาวอเมริกันรู้จักเป็นอย่างดี อย่าง โจ ไบเดน (Joe Biden) มาท้าชิงเก้าอี้ผู้นำอย่างไม่คาดฝัน ไบเดน หรือฉายา ‘คุณลุงโจ’ ผู้ทำหน้าที่เป็นรองประธานาธิบดีของรัฐบาลโอบามามาตลอด 8 ปี มีดีอะไร? แล้วทำไมจึงอาจกลายมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของโดนัลด์ ทรัมป์? ถ้าพูดถึงประวัติการทำงาน ดูเหมือนไบเดนจะเริ่มเล่นการเมืองมาก่อนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลายคนจะเกิดเสียอีก ชื่อเต็มคือ โจเซฟ โรบินเน็ตต์ ไบเดน จูเนียร์ (Joseph Robinette Biden Jr.) เกิดที่เมืองสแครนตัน รัฐเพนซิลเวเนีย ในปี 1942 เขาโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่ได้มีชีวิตหวือหวาอะไร หลังจากใช้ชีวิตจนอายุ 10 ปี ครอบครัวเขาก็อพยพไปอยู่ที่เมืองเดลาแวร์ ชีวิตวัยเด็กของไบเดน ด้วยเหตุที่พ่อของเขาเคยเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวเขาก็ตกอยู่ในภาวะลำบากทันที ไบเดนที่เคยฝันอยากเป็นนักฟุตบอล ก็ต้องผันตัวมาทำงานเป็นพนักงานขายรถยนต์เพื่อช่วยครอบครัว ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ เขาอยากจะเติบโตไปเป็น ‘นักการเมือง’ ปี 1965 หลังเรียนจบจากคณะศิลปศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เขาก็ตัดสินใจเรียนต่อด้านนิติศาสตร์และจบปริญญาในปี ค.ศ. 1968 วีรกรรมช่วงเรียนมหาวิทยาลัยของไบเดนไม่มีอะไรหวือหวา แม้ยุคนั้นจะมีการลุกฮือของนักศึกษาในหลาย ๆ ขบวนการเรียกร้อง แต่ไบเดนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือมีประวัติพิเศษอะไร ไบเดนทำงานเป็นทนายได้เพียงปีเดียว ก่อนที่จะลงเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1969 ตอนนั้นเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนในสภาเขตและถูกเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกของรัฐเดลาแวร์ในไม่กี่ปีต่อมา ทั้ง ๆ ที่เป็นการท้าชิงตำแหน่งจากนักการเมืองเก่าแก่ในท้องที่ซึ่งเป็นที่รู้จักมายาวนาน แต่ไบเดนในวัย 29 ปี ก็ได้รับชัยชนะมาอย่างง่ายดาย ชีวิตการทำงานหลังจากนั้น ดูเหมือนไบเดนจะเป็นนักการเมืองมาตลอดชีวิต หลังจากถูกเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกประจำรัฐเดลาแวร์ในปี 1973 เขาก็ครองตำแหน่งนี้ตลอดมา ในปี 1987 เขาเคยลองสมัครเป็นผู้แทนพรรคเพื่อไปท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่อาจเพราะลีลาการปราศรัยที่ค่อนข้างยืดยาด น่าเบื่อ บางครั้งก็พูดนอกเรื่อง เขาจึงพ่ายแพ้แก่สมาชิกพรรคคนอื่น ๆ ปี 2009 ไบเดนได้รับเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของ บารัค โอบามา แม้ไบเดนจะทำงานเคียงคู่กับเขามาตลอด 8 ปี แต่ก็ดูเหมือนชายคนนี้จะไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่น ไบเดนเพียงแค่มีประสบการณ์ แต่ก็ไม่เคยมีผลงานที่จับต้องได้อะไร เอกลักษณ์ของเขาคือใบหน้าแย้มยิ้ม พูดจาเนิบ ๆ ดูภายนอกเป็นชายสูงวัยธรรมดา ๆ จนไม่น่าเชื่อว่าเขาจะกลายมาเป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีกับทรัมป์ แถมที่ผ่านมาตลอดชีวิตการทำงาน ก็ใช่ว่าเขาจะเป็นเพียงคุณลุงน่ารัก ๆ ที่ไม่มีข่าวเสียหายอะไรเลย มีผู้หญิงหลายคนออกมากล่าวหาว่าไบเดนแตะต้องสัมผัสร่างกายของพวกเธออย่างไม่เหมาะสม หนึ่งในกิริยาน่ากังขา คือการที่เขาชอบดมผมของผู้หญิงขณะที่ถ่ายภาพกับพวกเธอ ด้านไบเดนก็เพียงออกมาพูดว่า เขาสัญญาว่าจะระวังในการปฏิสัมพันธ์มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธว่าเขาได้สัมผัสลวนลามพวกเธออย่างที่ถูกกล่าวหาจริง ท่าทีของเขาทำเอาเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้หญิงไม่ค่อยพอใจในตัวของไบเดนนัก แต่ก็อย่างที่เห็น ว่าเขากลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ในที่สุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โจ ไบเดน มีบทความพูดถึงจุดยืนของตัวเองเรื่องนโยบายต่างประเทศลงในนิตยสาร Foreign Affairs โดยเขาได้วิจารณ์การทำงานของทรัมป์ว่าเป็นการ ‘เอาหัวซุกในทราย’ เพราะแม้อเมริกาจะไม่ทำการค้ากับจีน ก็ใช่ว่าจีนจะทำการค้าขายกับประเทศอื่นไม่ได้ เขาบอกว่า ทางออกที่ดีที่สุดไม่ใช่ยกเลิกข้อตกลงทางการค้า แต่เป็นการช่วงชิงอำนาจในการเขียนกติกามาต่างหาก
“ใครจะเป็นคนเขียนกฎกติกาเพื่อมากำกับการค้าโลก ใครจะสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถปกป้องคนทำงาน สิ่งแวดล้อม ความโปร่งใส และค่าแรงที่เหมาะสม” ไบเดนถามเองและตอบเองว่า “ต้องเป็นสหรัฐฯ ไม่ใช่จีน”
เขาบอกว่าจีนเป็น ‘ความท้าทายพิเศษ’ ที่กำลังพยายามขยายอิทธิพลของตัวเองไปทั่วโลก แต่วิธีที่จะชนะคลื่นลูกใหญ่นี้ บางทีก็อาจต้องเริ่มจากการร่วมมือกัน เขาเสนอว่า หากสหรัฐอเมริกาสร้างแนวร่วมกับพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วน ด้วยสัดส่วน GDP ที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก ย่อมสามารถกำหนดกติกาการค้าที่แม้แต่จีนก็ต้องรับฟัง “หากเราจับมือกับประเทศที่ร่วมหลักการประชาธิปไตยด้วยกัน พลังของเราจะเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว จีนไม่อาจจะมองข้ามสัดส่วนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่เกินครึ่งหนึ่งของโลกได้ และนั่นจะทำให้เรามีอำนาจต่อรองในการเขียนกฎกติกาทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องเทคโนโลยี หรือความโปร่งใส เพื่อที่จะสะท้อนค่านิยมด้านผลประโยชน์และคุณค่าด้านประชาธิปไตยของเรา” ข้อความส่วนหนึ่งจากบทความ Why America Must Lead the World Again ไบเดน ได้ปรับเปลี่ยนคำขวัญ ‘Make America Great Again’ ของทรัมป์ มาเป็น ‘America Must Lead Again’ เพื่อประกาศจุดยืนว่าสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของเขาจะต้องกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนชายที่เคยถูกถามว่า จะสมัครเป็นผู้ท้าชิงประธานาธิบดีไหม ในปี 2016 และให้คำตอบไว้ว่า “ผมสามารถตายได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องเป็นประธานาธิบดี” ตอนนี้จะเปลี่ยนใจเสียแล้ว อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังเหลือเวลาอีกเดือนกว่า ๆ ก่อนจะถึงกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ทั้งทรัมป์และไบเดนยังมีเวลาที่จะโชว์นโยบายและวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำให้ประชาชนชาวอเมริกันได้ชั่งน้ำหนักและตัดสินใจ สุดท้าย ไม่ว่าใครจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาก็ย่อมส่งผลกระทบ (ที่ไม่รู้ว่าดีหรือแย่) ต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลกในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน   เรื่อง พาขวัญ ศักดิ์ขจรยศ   ที่มา https://www.britannica.com/biography/Joe-Biden https://www.nytimes.com/.../2020/us/elections/joe-biden.html https://www.foreignaffairs.com/.../why-america-must-lead... https://www.bbc.com/thai/international-52971533