เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน: คืนความสุขให้สาวกผี คุมทีม 7 ปี ถึงได้แชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรก

เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน: คืนความสุขให้สาวกผี คุมทีม 7 ปี ถึงได้แชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรก
6 พฤศจิกายน 1986 เมื่อ 34 ปีที่แล้ว เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผ่านไป 27 ปี ในปี 2013 เซอร์ อเล็กซ์ ได้เกษียณตัวเองจากการคุมทีมฟุตบอลที่เขารัก เพราะต้องการใช้ชีวิตเพื่อดูแลภรรยา แต่สิ่งที่พ่วงท้ายประวัติของเขา คือ เกียรติประวัติมากมายที่ทำไว้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในฐานะ "แชมป์" ฟุตบอลในหลายทัวนาร์เมนต์ แต่ในวันที่โลกต้องการเห็นความสำเร็จอย่างรวดเร็วอย่างเช่นทุกวันนี้ สโมสรปีศาจแดง ให้โอกาสอเล็กซ์คุมทีมนานถึง 7 ปี และระหว่างทางเขาเคยเจอแรงกดดันจากแฟนบบอลผ่านกระแส Fergie Out! มาแล้ว ตลอดระยะเวลา 27 ปี(1986–2013) ที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมทีม เขาทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าถ้วยแชมป์จำนวนมากมาย ได้แก่ แชมป์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 13 ครั้ง, เอฟเอคัฟ 5 ครั้ง, ลีกคัพ 4 ครั้ง, คอมมูนิตี้ ชิลด์ 10 ครั้ง, ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก 2 ครั้ง, ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส’ คัพ 1 ครั้ง, ยูโรเปียน ซุปเปอร์คัพ 1 ครั้ง, อินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ 1 ครั้ง และฟุตบอลสโมสรโลก 1 ครั้ง นี่คือความสำเร็จที่อยู่เบื้องหน้า แต่เบื้องหลังในการบริหารทีมของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในช่วงเริ่มต้นนั้น เต็มไปด้วยความทรหดอดทนในการรอคอยความสำเร็จ ในวัยหนุ่ม เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เริ่มต้นชีวิตจากการเตะฟุตบอลไปพร้อม ๆ กับการทำงานใช้แรงงานในโรงงาน ในที่สุดก็เขาก็เลือกที่จะเป็นนักฟุตบอลเต็มตัว แล้วก้าวสู่จุดสูงสุดในอาชีพนักเตะด้วยการเข้าร่วมทีมกับสโมสรยักษ์ใหญ่ของสกอตแลนด์บ้านเกิด อย่างทีมกลาสโกว์ เรนเจอร์ จนมีโอกาสติดทีมชาติสกอตแลนด์  ส่วนผลงานในการเป็นผู้จัดการทีมของเขาก่อนที่จะมาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เฟอร์กูสัน เคยคุมทีมระดับกลางอย่างสโมสร “อะเบอร์ดีน” ให้ไปไกลถึงแชมป์ลีกสูงสุดของสก็อตแลนด์ถึง 3 ฤดูกาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในแวดวงฟุตบอลของสก็อตแลนด์ มหาอำนาจลูกหนังมีเพียง 2 ทีมดังเท่านั้น คือ กลาสโกว์ เรนเจอร์ และกลาสโกว์ เซลติก ที่ผูกขาดการเป็นแชมป์สูงสุดของสก็อตแลนด์ ยิ่งไปกว่านั้น อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังพาทีม “อะเบอร์ดีน” คว้าแชมป์บอลถ้วยยุโรปอย่าง ยูฟ่า คัพวินเนอร์ส’ คัพ ในปี ค.ศ.1982-83(พ.ศ.2526-27) และมีส่วนในการพาทีมชาติสก็อตแลนด์เข้ารอบสุดท้ายการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ.1986(พ.ศ.2529) ที่ประเทศเม็กซิโก ด้วยผลงานอันโดดเด่นเหล่านี้ ทำให้สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงดึงเขามาเป็นผู้จัดการทีมในปี ค.ศ. 1986(พ.ศ. 2529) ซึ่งในช่วงเวลานั้น สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดห่างหายจากความสำเร็จมานาน โดยเฉพาะแชมป์ลีกสูงสุด ซึ่งครั้งล่าสุดที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเคยสัมผัสคือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ.1967 (พ.ศ. 2510) ระบบการทำงานแบบนักฟุตบอลมืออาชีพ เป็นเรื่องปกติของธุรกิจฟุตบอลสมัยใหม่ แต่ในยุคที่เฟอร์กูสันเข้ามาคุมทีม เขาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรของสโมสรนี้มากมาย ไล่มาตั้งแต่ การตั้งกฎเหล็กห้ามนักเตะดื่มสุราในช่วงที่มีการฝึกซ้อม เพราะนักเตะที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องการดื่มมาก ๆ เขาเริ่มนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้กับนักเตะ ตั้งแต่การดูแลเรื่องอาหารไปจนถึงเรื่องของการออกกำลังกาย เขาพยายามเข้าไปพูดคุยกับพนักงานในสโมสรตั้งแต่แม่บ้านยันผู้บริหารเพื่อสร้างความคุ้นเคยเพื่อสร้างสปิริตให้กับสโมสร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เขาพยายามปั้นนักเตะเยาวชนขึ้นมาใช้งาน ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยถูกปรามาสว่า เฟอร์กูสันไม่สามารถได้แชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษจากการใช้งานนักเตะเด็ก ๆ (ในยุคนั้น) ได้หรอก แต่ในปัจจุบัน นักเตะที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเคยปั้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว หลายคนเป็นยอดนักเตะประดับวงการฟุตบอล อย่างเช่น เดวิด เบ็คแฮม, ไรอัน กิกส์ และพอล สโคลล์ เป็นต้น ยังไม่ร่วมรุ่นหลัง ๆ ที่มาสมทบอย่าง เวย์น รูนีย์ หรือ โรนัลโด้ ที่แม้ไม่ได้ปั้นแต่เริ่มแรก แต่เซอร์อเล็กซ์ก็เอาพวกเขามาเจียระไนจนงดงามในที่สุด สิ่งที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสันทำ คือการบริหารจัดการแบบมองการณ์ไกลถึงอนาคต ซึ่งต้องอาศัยการยืนระยะในการทำงานเพื่อให้สิ่งที่ทำไว้ส่งผลต่อเนื่องในวันที่แผนการสุกงอม แม้ว่าครั้งหนึ่ง เขาเกือบจะถูกไล่ออกจากสโมสร ซึ่งเป็นช่วงที่บอร์ดบริหารเริ่มพิจารณาอนาคตของเขา และแฟนบอลเองก็ทำป้ายประท้วงว่า “Fergie Out!”(เฟอร์กี้ ออกไป!) เพื่อไล่เขาออกจากสโมสร แต่โชคดีที่ผลงานของเขาในช่วงแรก ๆ ของการคุมสโมสรสามารถเอาตัวรอดมาได้เป็นระย ะๆ จนในที่สุด การยืนหยัดอย่างอดทนของเขาก็เป็นผล หลังจากที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถึง 7 ปี เขาก็สามารถพาสโมสรนี้คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ในปี ค.ศ.1993(พ.ศ. 2536) กลายเป็นแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษครั้งแรกในรอบ 26 ปี ที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน นำมามอบให้แด่แฟนบอล หลังจากนั้น เรามักจะได้เห็นบุคลิกจริงจังของเขาขณะคุมทีมไปแข่งขันกับสโมสรอื่นเสมอ ๆ ซึ่งเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จะค่อนข้างเกรี้ยวกราดกับนักเตะของตนจนได้รับฉายาว่า “ไดร์เป่าผม” เพราะหากลูกทีมพลาดเมื่อไหร่ เขาจะโวยวายและต่อว่าแบบไม่ไว้หน้าทันที นักเตะผู้ยิ่งใหญ่ของสโมสรอย่าง เอริค คันโตนา เคยพูดถึงอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตเจ้านาย ไว้ว่า “แม้ว่าเขาจะมีอายุมากขึ้น แต่เขามีพลังงานเหมือนคนหนุ่มอยู่เสมอ” เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทำเช่นนี้อย่างเป็นกิจวัตร จนผ่านไป 26 ปี เขาขอเกษียณตัวเองจากอาชีพผู้จัดการทีมด้วยวัย 71 ปี ในปี ค.ศ.2013(พ.ศ.2556) อันที่จริง เขาไม่เคยคิดอยากจะเลิกทำงานเป็นผู้จัดการทีม เพราะหากหยุดทำงาน ชีวิตของเขาจะน่าเบื่อ ไม่มีอะไรให้ท้าทาย แต่เขาต้องหันหลังให้กับงานผู้จัดการทีม ด้วยเหตุผลว่า ต้องอยู่เป็นเพื่อนภรรยา การยืนระยะทำงานอย่างต่อเนื่องและยาวนานของเซอร์อเล็กซ์ นอกจากจะสร้างความสำเร็จให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมากมาย เขายังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนไม่ท้อถอยง่าย ๆ ที่เป็นมรดกตกทอดผ่านคำว่า Fergie Time เวลาเฟอร์กี้ นั่นหมายถึงการยิงประตูตีเสมอหรือเอาชนะคู่แข่งในช่วงทดเวลาเจ็บหลังจบนาทีที่ 90 ซึ่งในยุคที่เขาคุมทีมมักจะเกิดโมเมนต์เช่นนี้หลายต่อหลายนัด อันแสดงถึงความไม่ยอมแพ้จนกว่านกหวีดจะเป่าหมดเวลา ช่วงเวลาหลัง 90 นาที จึงกลายเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของสโมสรจนถูกปรินท์ไว้ที่แขนเสื้อชุดแข่งทีมเหย้าของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดฤดูกาล 2019/2020 ว่า 90+1 และ 90+3 เพื่อรำลึกถึงฤดูกาลที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้ทริปเปิลแชมป์ในฤดูกาล 1998/1999 โดยเฉพาะนัดชิงแชมป์ยุโรปที่ทีมปีศาจแดงยิงประตูบาเยิร์น มิวนิค ในนาทีที่ 90+1 และ 90+3 จนพลิกกลับมาชนะแล้วได้แชมป์ในที่สุด ที่สุดแล้ว ผู้คนจะนึกถึงความรู้สึกไม่ยอมพ่ายแพ้กับอะไรง่าย นึกถึงเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เสมอหากเดินทางมาที่สนามโอลด์ แทรฟเฟิร์ด อันเป็นสนามแข่งของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะอนุสาวรีย์รูปปั้นของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยืนเด่นเป็นสง่าที่สนามแห่งนี้...   เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์