read
culture
21 พ.ย. 2563 | 02:21 น.
สตีเฟน คิง: ราชานวนิยายสยองขวัญ เส้นทางชีวิตแสนพลิกผันแต่ยังดีที่มีเมียคอยช่วย
Play
Loading...
หลายคนอาจรู้จัก
สตีเฟน คิง
(Stephen King) ผ่านความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากผลงานมากมายของเขา แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่านวนิยายที่ขายดีที่สุดของคิงเคยถูกปฏิเสธต้นฉบับมาแล้วมากกว่า 30 ครั้ง
ตั้งแต่เด็ก สตีเฟน คิง หลงใหลในการเขียนหนังสือมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ต่างจากนักเขียนระดับโลกหลายคน เพราะเส้นทางสายอาชีพของเขา ไม่มีกลีบกุหลาบสักกลีบร่วงลงมาประดับให้ชีวิตดูสวยงามขึ้น ‘ความฝัน’ กลายเป็นสิ่งที่ดูยากจะเอื้อมมือถึง เมื่อคุณเกิดมาในครอบครัวแสนยากจน ใช่แล้ว ชีวิตของเขาลำบากลำบนจนถึงขั้นที่ความฝันที่จะเป็นนักเขียนดูเป็นเรื่องตลก
คิงเกิดที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐเมน สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกชายคนที่สองของนายเอ็ดวิน คิง และนางเนลลี รูธ พิลส์บูรี สมัยเด็ก คิงค่อนข้างจะอ่อนแอและขี้โรค เขามักขลุกตัวอยู่ในบ้านมากกว่าออกไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กคนอื่น คงเป็นช่วงเวลานี้เองที่ทำให้คิงพบความสุขจากกองหนังสือของแม่ เขาอ่านหนังสือพวกนั้นข้ามวันข้ามคืน และพยายามเขียนแก้ประโยคในหนังสือที่ตนคิดว่าสำนวนไม่ได้เรื่อง พอเขียนเสร็จก็เอาไปให้แม่อ่าน แม่ของเขาที่มองเห็นศักยภาพก็เริ่มกระตุ้นให้คิงเขียนหนังสือมากขึ้น โดยเธอยื่นเงื่อนไขว่าจะจ่ายให้ 25 เซนต์แลกกับต้นฉบับนวนิยายสนุก ๆ
คิงเริ่มแก้ไขและเรียบเรียงนวนิยายมาตั้งแต่ตอนนั้น เขาค่อย ๆ ตัดหั่นและร้อยเรียงสลับเรื่องราวจนเค้าโครงเก่าแทบจะไม่เหลือ คิงสามารถแต่งนวนิยายเรื่องแรก (ที่เริ่มต้นจากการแก้ไขของเดิม) ได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และนั่นก็คงเป็นพรสวรรค์ที่ซ่อนไว้ในตัวเด็กชายอย่างเขา
แต่แล้วชีวิตที่ดูเหมือนจะไปได้ดีก็ต้องมาหยุดชะงักลง เพราะการสูญเสียหัวหน้าครอบครัวอย่างกะทันหัน คิงจำเป็นต้องแบ่งเวลาเรียน (ช่วงนั้นเขาอยู่มหาวิทยาลัย) มาทำงานหาเลี้ยงตัวเอง รวมถึงจุนเจือครอบครัวไปด้วย เขาทำงานมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภารโรง เด็กเสิร์ฟ เด็กปั๊ม และพนักงานทำความสะอาด แต่แม้ตอนนั้นชีวิตจะยากลำบากเพียงใด คิงก็ยังไม่หยุดเขียนนวนิยายและส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา
ช่วงปี 1967 เรื่องสั้นแนวสยองขวัญชื่อ The Glass Floor คือผลงานเรื่องแรกที่ได้รับตีพิมพ์ คิงเคยบอกว่ามันเป็นงานที่ถูกปฏิเสธมาแล้วกว่า 60 ครั้ง ก่อนที่จะมีใครเห็นคุณค่า ตอนนั้นแม้คิงจะไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรเพิ่มขึ้นมา แถมยังได้ค่าตอบแทนแค่ 35 ดอลลาร์ แต่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาไม่ล้มเลิกความฝัน
คิงเคยบอกว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาได้รับจดหมายปฏิเสธเยอะมาก มากเสียจนตะปูตัวเล็กที่ใช้แขวนถุงจดหมายเกือบรับน้ำหนักไม่ไหว ตอนนั้นคิงต้องปลอบใจตัวเองว่า
“ไม่เป็นไร เราเปลี่ยนเป็นตะปูตัวใหญ่เสียก็จบ”
แล้วก็ก้มหน้าก้มตาเขียนต่อ
ช่วงปี 1970 คิงพบรักกับ ทาบิธา สปรูซ ด้วยความใจร้อน เขาทั้งรีบคบหารีบตบแต่งเธอเป็นภรรยา แล้วมันก็กลายมาเป็นการตัดสินใจที่ทำให้ชีวิตยากขึ้นไปอีก เพราะทั้งคู่ต่างก็มีความฝันอยากเป็นนักเขียน แต่กลับยังไม่มีวี่แววที่จะประสบความสำเร็จ สองสามีภรรยาดิ้นรนใช้ชีวิตกันทั้งที่ไม่มีบ้านอยู่ ต้องนอนในรถเทรลเลอร์ ไม่มีโทรศัพท์ เพราะไม่มีปัญญาจ่ายค่าโทรฯ รายเดือน หลายปีแห่งการสู้ชีวิต ในที่สุดก็มีเรื่องดี ๆ เพราะคิงสามารถคว้าโอกาสพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกของตัวเองจนได้
ผลงานเรื่องแรก Carrie (1973) (เรื่องราวของเด็กสาวที่โดนรังแกจนเมื่อค้นพบพลังวิเศษในตัวเอง เธอจึงตัดสินใจออกล้างแค้นทุกคนอย่างสาสม) คือต้นฉบับที่เคยโดนปฏิเสธมาแล้วถึง 30 ครั้ง มันถูกโยนลงถังขยะไปแล้ว เพราะความผิดหวังและกังขาในความสามารถของตัวเอง นวนิยายเล่มนี้คงไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์ หากไม่ได้ทาบิธา ที่หยิบมันขึ้นมาแล้วบอกให้คิงลองส่งไปให้ที่อื่นพิจารณาต่อ ทาบิธาบอกคิงว่า เธอเชื่อว่ามันมีค่าพอ และในที่สุดมันก็ได้ตีพิมพ์จริง ๆ
ต่อมางานเขียนชิ้นอื่น ๆ ของคิงก็ตามมาอีกเพียบ คิงถือเป็นนักเขียนอีกคนที่เขียนหนังสือจบเร็วมาก เพราะเขาตั้งกฎว่าจะต้องเขียนหนังสือ 1 เล่มให้จบภายใน 3 เดือน ตอนนั้นชื่อของเขาค่อย ๆ โด่งดังขึ้น จากความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการสยองขวัญ ที่ทำเอาคนอ่านทั้งกลัว ทั้งรู้สึกทึ่ง คิงให้สัมภาษณ์ว่า เสน่ห์ของงานเขียนสยองขวัญ คือมันได้ตอบสนองความรู้สึกด้านลบบางอย่างที่ถูกกดทับในใจคน ไม่ว่าจะเป็นการโหยหาความรุนแรงหรือความกลัวที่ถูกซ่อนอยู่ลึก ๆ
เขาอธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ Why We Crave Horror Movies (1984) โดยสรุปว่า ‘มนุษย์มักต้องการเสพความตื่นเต้นหวาดหวั่นที่ตนเองควบคุมได้’ ไม่ว่าจะเป็นหนังผี หรือแม้แต่รถไฟเหาะ ล้วนเป็นเหมือนเครื่องเติมเต็มความกล้าที่ช่วยบ่งบอกว่าพวกเขาไม่ได้ขี้ขลาดอย่างที่ตัวเองคิด
แต่แล้วก็มาถึงช่วงที่กราฟชีวิตของคิงดิ่งลงเหวอีก เพราะเขาประสบปัญหาติดทั้งเหล้าและยาเสพติดอย่างหนัก โดยทั้งหมดเกิดจากการสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รักไปพร้อม ๆ กับที่เริ่มรู้สึกไม่พอใจในงานเขียนของตัวเอง
คิงบอกว่า ผลกระทบจากตอนนั้น ทำให้ร่างกายและสมองของเขาเสียหาย เขาแทบจำผลงานที่ตัวเองเขียนบางเล่มไม่ได้ ตอนนั้นเครียดจนเคยคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ก็ทำไม่ได้เพราะห่วงลูกกับภรรยา โดยช่วงที่คิงกำลังพยายามเลิกเหล้าและยาอย่างหนัก เขาเองก็กังวลว่าจะกลับมาเขียนนวนิยายไม่ได้อีก ตอนนั้นก็ได้ทาบิธานี่แหละ ช่วยเรียกให้กำลังใจเขา
คิงกลับมาจริงจังกับงานเขียนอีกครั้ง โดยหยิบเอาประสบการณ์ระหว่างพักฟื้นจากอาการพิษสุราเรื้อรัง มาเขียนเป็นนวนิยายสยองขวัญ 2 เล่ม คือ Salem’s Lot (1975) และ The Shining (1977) ภายหลังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ถูกยกย่องให้เป็นหนังสยองขวัญสุดคลาสสิก กระแสตอบรับที่ดีจากสองงานนี้ ก็ทำให้คิงเริ่มกลับมามั่นใจในความสามารถของตัวเอง (ช่วงปี 2013 คิงปล่อยนิยายภาคต่อของ The Shining ชื่อว่า Doctor Sleep ตามมา แต่ก็ดูเหมือนกระแสตอบรับจะเทียบภาคเก่าไม่ได้สักเท่าไหร่)
หลังจากนั้นคิงก็ยังคงผลิตผลงานออกมาประดับวงการนวนิยายสยองขวัญอย่างต่อเนื่อง ตามแต่จินตนาการจะพาไป อย่างเรื่องราวของ ‘เพนนีไวซ์’ อสูรกายมากฤทธิ์จากนิยาย IT (1990) ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ถูกนำไปสร้างเป็นหนังที่กวาดรายได้ไปอย่างถล่มทลายในปี 2017
แต่นอกจากเขียนเรื่องสยองขวัญแล้ว ที่จริงคิงก็ยังเขียนนิยายดราม่าอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Dolores Claiborne Stand by Me หรือ Shawshank Redemption ฯลฯ ซึ่งภายหลัง 3 เรื่องดังกล่าวก็ถูกหยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน
จนถึงตอนนี้คิงมีผลงานออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 60 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนแนวสยองขวัญ วิทยาศาสตร์ และแฟนตาซี หลายเล่มมีโอกาสนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์กับรายการโทรทัศน์จนโด่งดังไปทั่ว แต่คิงก็ยังไม่เคยหยุดฝึกฝนด้านการเขียน รวมถึงรับฟังคำวิจารณ์จากคนอ่าน
เขาเคยบอกว่า
“คำแนะนำที่เลวร้ายที่สุดคือการบอกให้ไม่ฟังคำวิจารณ์”
เพราะแม้มันจะไม่ถูกหู แต่มันก็อาจชี้จุดบกพร่องที่เขาไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนได้ และนี่ก็คงเป็นอีกเหตุผลที่เขากลายมาเป็นราชาแห่งนวนิยายสยองขวัญ ที่มีผลงานรับประกันความสนุก ขนหัวลุก แต่ก็ยังน่าหลงใหล ใครที่ชอบอ่านนวนิยายแนวตื่นเต้นลุ้นระทึก การันตีด้วยยอดขายกว่า 350 ล้านเล่มทั่วโลก งานเขียนของสตีเฟน คิง เป็นอีกสิ่งที่พลาดไม่ได้เลย
ที่มา
https://www.biography.com/writer/stephen-king
https://www.britannica.com/biography/Stephen-King
https://www.youtube.com/watch?v=8JyXZC_e0yY
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3521
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6956
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
834
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Culture
The People
Stephen King
Author