The Lobster (2015): คนโสด คนมีคู่ คุณและผม ต่างมีโลกยูโทเปียไม่เหมือนกัน

The Lobster (2015): คนโสด คนมีคู่ คุณและผม ต่างมีโลกยูโทเปียไม่เหมือนกัน
ย้อนแย้ง ขำขื่น เสียดสี ประชดประชัน ตลกร้าย คือสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ภายในภาพยนตร์ The Lobster (2015) งานกำกับของผู้กำกับชาวกรีก Yorgos Lanthimos ที่เรียกเสียงฮือฮาจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนั้น แถมได้รางวัล Jury Prize ติดไม้ติดมือกลับบ้านมาด้วย The Lobster สร้างโลกขึ้นมาใหม่ สร้างตรรกะชุดใหม่ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ โลกใหม่นี้เป็นโลกดิสโทเปีย (สังคมที่เลวร้าย) ที่หากใครเป็นโสดอยู่คนเดียว จะต้องถูกนำมาจำกัดบริเวณอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง (ซึ่งแม้ว่าจะดูสบายแต่มันใกล้เคียงกับคุกเป็นอย่างมาก) และหากในเวลา 45 วัน หากยังหาคู่เพื่อเริ่มชีวิตใหม่ไม่ได้ จะต้องเลือกเป็นสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง หนังเล่าเรื่องผ่านกลุ่มตัวละครคนโสดป่วง ๆ ที่ต้องมาเจอกันในโรงแรมแห่งนี้ ทั้งตัวละครเอกอย่าง เดวิด (โคลิน ฟาร์เรลล์) หนุ่มที่หากยังโสด ขอเป็นกุ้งล็อบสเตอร์ ตามชื่อเรื่อง, หนุ่มขาเป๋, ชายพูดไม่ชัด, สาวไร้หัวใจ, สาวเลือดกำเดาไหล คือแต่ละคนจะมีลักษณะเด่นบางอย่างที่แตกต่างกันไป แล้วตัวละครเหล่านี้ต้องหาลักษณะร่วมบางอย่างที่เข้าคู่กันเพื่อพิสูจน์ว่าทั้งสองคนจะเป็นคู่รักกันได้จึงจะหลุดพ้นจากการเปลี่ยนเป็นสัตว์ ในโลกความเป็นจริง ความเป็นโสด ไม่ใช่เกิดจากการภาวะจำยอมจากการไม่มีใครเพียงอย่างเดียว แต่หลายครั้งมันเกิดจากการ “เลือก” ที่จะไม่มีใคร ซึ่งใน The Lobster ไม่ได้มีเจตจำนงในการเลือกแบบนั้น หากไม่มีคู่ก็คือถูกลงโทษอย่างเดียว สังคมใน The Lobster จึงเป็นสังคมที่ใช้ตรรกะแตกต่างจากที่เรารู้จักจนกลายเป็นว่านี่คือฝันร้ายสำหรับคนโสดโดยแท้ ซึ่งมันดูขัดแย้งกับภาพของคุณมีคู่ในภาพยนตร์ ที่ดูจะมีความสุข ราวกับอยู่ในสังคมในฝันแบบสังคมยูโทเปีย มันเป็นโลกโหดร้าย(ดิสโทเปีย) สำหรับคนโสด และโลกอันพึงปรารถนา (ยูโทปีย) ของคนมีคู่ โลกเดียวกัน ความคิดฝันจึงแตกต่างกันสิ้นเชิง เอาเข้าจริงก็ไม่ต่างอะไรกับโลกที่มีตรรกะปกติ(???) ที่เราอยู่นั่นล่ะ ที่บนโลกเดียวกัน อาจจะเป็นโลกยูโทเปียของใครสักคน แต่อาจจะจะเป็นโลกดิสโทเปียคนคนจำนวนหนึ่งก็ได้ และยิ่งลงลึกรายละเอียด ยิ่งเห็นว่า หนัง Lobster ใส่ใจรายละเอียดในการสร้างโลกในหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการอธิบายความชอบธรรมว่าทำไมคนเราต้องมีคู่ ผ่านบทบาทสมมติพื้น ๆ อย่างเวลาถ้าผู้ชายโสดทานข้าวคนเดียว ถ้าอาหารติดคอแล้วจะไม่มีผู้หญิง (ที่เป็นแฟน) มาช่วย แต่ถ้าผู้หญิงโสดเดินคนเดียว จะเสี่ยงต่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งบทบาทสมมตินี้ทั้งตลกร้าย ทั้งชวนให้คิด The Lobster (2015): คนโสด คนมีคู่ คุณและผม ต่างมีโลกยูโทเปียไม่เหมือนกัน หนังไม่ได้หยุดอยู่แต่เหตุการณ์ของคนโสดในโรงแรมเท่านั้น แต่เพิ่มกลุ่มตัวละครที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมานั่นก็คือ กลุ่มคนโสดที่หนีเข้าป่าเพราะกลัวที่จะถูกเปลี่ยนร่างกลายเป็นสัตว์ ซึ่งกลุ่มคนโสดในโรงแรมต้องออกล่าคนเหล่านี้ และหากล่าได้ 1 คน จะสามารถยืดอายุความเป็นโสดของตนไปเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ในกลุ่มคนโสดนี้ที่หนีการล่านี้ มีการรวมตัวเป็นขบวนการใต้ดิน เพื่อต่อสู้กับกฎเกณฑ์ของโลกที่คนมีคู่เป็นใหญ่ด้วยความรุนแรง ซึ่งหนังมัน “ขยี้” ประเด็นเพิ่มขึ้นอีกว่า ในโลกของคนโสดนี้ มีกฎว่า ห้ามให้คนโสดในกลุ่มรักกัน และอยากใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน (ซึ่งมันคงจะเป็นการทำลายอุดมการณ์ของการต่อสู้ของคนโสด) หากใครฝ่าฝืน มีโทษหนักมาก ประเด็นสำคัญก็คือ แล้วหากคนในกลุ่มคนโสด เกิดรักกันเองเข้าล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? ในพื้นที่ตรงนั้นเอง หากเกิดเหตุนี้ขึ้น คนโสดที่อยากมีคู่จะหนีไปอยู่ตรงไหน ยิ่งปมนี้ถูกขยี้ ยิ่งดูสนุก เพราะหนังมันทำให้เกิดความย้อนแย้งกับความรู้สึกที่ว่า การมีคู่ และความโสด มันคือเจตจำนงเสรี ให้เราสามารถ “เลือก” ที่จะเป็นหรือไม่เป็นอะไรก็ได้ หรือมันเป็นเครื่องมือของชุมชน ของรัฐ (ในบริบทของหนัง Lobster) ในการควบคุมคนไม่ให้คิดแตกต่างไปจากอุดมการณ์ของรัฐ แนวคิดขัดแย้ง โสด/ไม่โสด นั้น เป็นประเด็นที่แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างสังคมนั้นมีความอยุติธรรมอยู่ หากกลไกการทำงานของกลุ่มคนที่คิดตรงกันข้ามกันเป็นแบบในภาพยนตร์ The Lobster ที่สังคมแต่ละฝั่งแบ่งเธอ แบ่งฉัน สังคมโสดห้ามมีคู่ สังคมมีคู่ห้ามโสด ก็คงจะพูดคุยกันลำบาก ไม่ว่าจะอยู่ด้วยตรรกะแบบไหน แบบโลกที่เราอยู่ หรือโลกใน The Lobster หากไม่รู้จักใจกว้างพอที่จะเข้าใจกัน ก็คงจะพูดคุยกันไม่ง่ายนัก ทุกคนต่างนิยามโลกในฝัน โลกยูโทเปีย กันคนละแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะมีความชอบธรรมในการทำลายโลกที่พึงปรารถนาของคนอื่น (ที่อยู่บนเงื่อนไขของความเท่าเทียมกันก่อน) ทั้งโลกของคนโสด โลกของคนมีคู่ โลกของคุณ และโลกของผม...