read
interview
23 ก.ย. 2563 | 17:35 น.
ทำความรู้จัก 'ต้อม' สุธารัตน์ สินนอง ศิลปินละครหุ่นเงา ที่อยากพาเราไปหลงรัก "ความมืด"
Play
Loading...
สำหรับบางคน “ความมืด” อาจสร้างความรู้สึกหวาดกลัว และอึดอัด แต่ในทางกลับกัน มันก็อาจเป็นความสบายใจ และเป็นสถานที่ปลอดภัย ที่สามารถสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ไม่รู้จบของใครบางคนก็ได้
The People คุยกับ ‘
ต้อม
’
สุธารัตน์ สินนอง
ศิลปินละครหุ่นเงา และผู้กำกับคณะละคร Homemade Puppet ในฐานะผู้ที่ค่ำหวอดอยู่ในแวดวงละครเวที และละครสำหรับเด็กทั้งในและต่างประเทศ เธอจะมาเล่าให้ฟังถึงเสน่ห์ของการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้แสงและเงา ซึ่งอาจทำให้เราเริ่มรู้สึกดีกับความมืดมากกว่าที่เคยคิด
The People:
ก่อนจะมาเป็นศิลปินละครหุ่นเงา
สุธารัตน์
:
ก่อนจะมาทำหุ่นเงา เราก็ทำละครหุ่นธรรมดามาก่อนค่ะ แล้วถ้าให้ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีก ก็คือเราแสดงละครเวทีด้วย ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เราเคยดูละครเวที ไม่ใช่ไปดูเองนะคะ ดูผ่านโทรทัศน์ ตอนนั้นก็จำได้ว่าเราดูแล้วรู้สึกประทับใจ รู้สึกว่าเขาเก่งจัง มันต้องแสดงสด ๆ มันไม่เหมือนละครหลังข่าวที่เราเคยดูมาก่อนเลย ตอนนั้นก็เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกอยากเป็นนักแสดงค่ะ อยากขึ้นไปอยู่บนเวทีแบบนั้น พอจบม.6 เราก็เลยสมัครเข้าร่วมกลุ่มละครมะขามป้อม เป็นกลุ่มอาสาสมัครนะคะ ก็ได้เข้าไปรู้จักละครจริง ๆ ได้เปิดโลกว่าละครมันมีอีกหลายมิติที่เราไม่เคยรู้จัก ที่ผ่านมาไม่เคยเรียนละคร แต่ได้ลองทำผ่านการทำงานกับที่นี่ ได้ทำละครเวที ละครหุ่น ละครชุมชน ละครการศึกษา คือมากกว่าแค่แสดง เราก็ได้เป็นวิทยากร ได้เรียนรู้ขั้นตอน วิธีออกแบบกระบวนการต่าง ๆ ก็ถือว่าเกือบ 20 ปี ที่อยู่กับมะขามป้อมมาก็ได้เรียนรู้เยอะค่ะ
The People:
สาเหตุที่สนใจละครหุ่นเงา
สุธารัตน์
:
ก่อนจะหุ่นเงาเราก็ได้ทำละครหุ่นธรรมดามาก่อนค่ะ ช่วงที่อยู่กับมะขามป้อม ก็ใช้อุปกรณ์ธรรมดา ขวดน้ำ กระดาษ วัสดุรีไซเคิล มาเล่น มาทำให้มันมีชีวิต ตอนนั้นความรู้สึกเรามันตื่นเต้นนะ เราสามารถเอาอะไรก็ได้มาเล่น แล้วคนดูก็เชื่อว่ามันมีชีวิต เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่มาก ตอนเล่นมันก็สนุกด้วยค่ะ ทำละครหุ่นมาสักพัก ยิ่งทำมันก็ยิ่งสนุก ช่วงหนึ่งเราก็ได้มีโอกาสทำละครการศึกษา ก็มีการตั้งกลุ่มชื่อกระจิดริดขึ้นมา เพื่อทำงานกับครูในโรงเรียน ทีนี้มันก็มีกิจกรรมหนึ่งที่เราต้องทำร่วมกับเด็ก หุ่นเงามันก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เราเลือกมาทำ ตอนนั้นก็ยังทำแบบง่าย ๆ อยู่ ตัดกระดาษเจาะรู แล้วก็เล่นหลังฉาก ปรากฎว่าตอนเล่นเรารู้สึกอินมาก ทีแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไม แต่พอทำ ๆ ไปเราก็เริ่มเข้าใจตัวเองว่า เราชอบอยู่ในความมืด มันเป็นที่ ๆ เรารู้สึกสบายใจ แล้วพอได้ใช้แสง ใช้เงามาเป็นองค์ประกอบตอนเล่น มันก็ยิ่งชัดว่าเราอินกว่าการเล่นหุ่นเฉย ๆ
The People:
ทำหน้าที่ผู้กำกับละครหุ่นเงาเป็นครั้งแรก?
สุธารัตน์
:
คือพอเราสนใจ เราก็ลองทำมาเรื่อย ๆ ค่ะ แต่ถ้าเอาแบบทำจริงจังครั้งแรกเลย คือตอนที่มี เทศกาลละครกรุงเทพฯ ปีแรก ตอนนั้นกลุ่มละครมันก็ไม่ได้ใหญ่มาก พี่ตั้ว (ประดิษฐ์ ประสาททอง) ที่เป็นตัวตั้งตัวดีในการจัดเทศกาล เขาก็มาชวนเราทำ ตอนนั้นเรายังอยู่กับมะขามป้อมนะคะ แต่ก็ตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมาเพื่อทำละครหุ่นเงา ก็เป็นครั้งแรกเลยที่เราได้กำกับละครหุ่นเงาเอง ตอนนั้นก็เอานิทานของชนเผ่าปกากะญอมาเล่น เล่าเป็นภาษาปกากะญอด้วย ยากค่ะ ทั้งที่เล่นไม่ได้มีเทคนิคซับซ้อน คือเรามีภาพในหัวนะว่าอยากให้ออกมาแบบไหน แต่การจะทำให้ได้แบบนั้นมันยากมาก แต่ว่าพอเล่นเสร็จ ดันได้รับคำชม เขาบอกว่ามันได้อารมณ์มาก ให้เราทำต่อ มันก็เลยเป็นจุดที่เราอยากจะทำให้มันดีกว่านี้ จากตอนนั้นก็ส่งละครเข้าเทศกาลมาเรื่อย ๆ ค่ะ อาจจะไม่ทุกปี แต่ก็ทำมาเรื่อย ๆ
The People:
เสน่ห์ของละครหุ่นเงาคืออะไร
สุธารัตน์
:
หลัก ๆ เลยคือมันสด คือที่เราชอบละครเวทีตั้งแต่แรกเพราะแบบนี้ พวกละครหุ่นหรือหุ่นเงามันต้องเล่นตรงนั้น ต้องจำบทแล้วเล่นเลย ต่อให้เราจะมีภาพในหัวแบบไหน มันก็อาจจะไม่เป็นตามนั้น เวลาเล่นเราเลยต้องลืมตัวเองไปเลย เข้าไปอยู่ในตัวละคร ทีนี้ความแตกต่างของการเล่นเป็นตัวละครเองกับเล่นเป็นหุ่น คือเวลาเราเล่นเองเด็กจะเข้าหาเรา แต่เวลาเราเป็นหุ่น เด็กจะตามหุ่น ไม่สนใจเราเลย คือเรารู้สึกว่าตรงนี้มันโคตรมีพลัง นี่แค่หุ่นธรรมดานะคะ แต่พอเป็นหุ่นเงา อันนี้โลกอีกใบเลย มันเหมือนเราเป็นอะไรก็ได้ เพราะมันต้องอยู่ในความมืด สำหรับบางคนความมืดอาจจะทำให้รู้สึกหวาดกลัว แต่มันก็อาจเป็นความสบายใจของอีกคนก็ได้ ความมืดมันทำให้เรารู้สึกหลาย ๆ แบบ ทั้งความลึกลับ ความน่าค้นหา เราว่าตรงนี้มันสร้างมิติทางอารมณ์ได้มากกว่า แล้วพอเดี๋ยวนี้เราไม่ได้แค่สร้างตัวละครมาเล่นกันแล้ว เราดีไซน์ได้ทั้งบรรยากาศของแสง รูปร่างของเงา ระหว่างเล่นก็ไม่พากย์ด้วย แต่คนดูกลับยังเข้าถึงมันได้ ตรงนี้ล่ะค่ะที่เราว่ามันคือเสน่ห์
The People:
คนดูเข้าใจไหม หากเล่นละครหุ่นเงาโดยไม่พากย์
สุธารัตน์
:
ที่จริงเมื่อก่อนก็พากย์นะคะ แต่พอมาทำคณะละคร Homemade Puppet ที่เราทำเดียว เดี๋ยวนี้เราเล่นโดยไม่พากย์แล้ว คือมีดนตรี แต่ไม่ได้เล่าเรื่องประกอบ คิดว่าคนดูเข้าใจนะคะ แต่ถามว่าจะเข้าใจทั้งหมดไหม อันนี้ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะให้เขารู้ทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนตัวเรามองว่าละครแบบนี้ ภาพมันพาคนดูไปได้ไกลกว่านั้น ไกลกว่าแค่เนื้อเรื่องที่เราวาง สมมติเราออกแบบมาประมาณนี้ แล้วมีการเล่าประกอบ เขาก็จะเข้าใจแค่นั้น แต่ถ้าเราไม่เล่าเลย ปล่อยให้เขาจิตนาการ เติมเนื้อเรื่อง เติมเหตุผลของตัวเองเข้าไป นั่นคือความสนุกค่ะ
The People:
กลุ่มเป้าหมายของละครหุ่นเงาคือเด็กเท่านั้นใช่ไหม หรือผู้ใหญ่ก็ดูได้ด้วย
สุธารัตน์
:
คือเวลาพูดถึงละครหุ่น คนส่วนใหญ่ก็จะนึกว่าเป็นของเด็กใช่ไหม แต่สำหรับเรา ในมุมมองคนสร้าง เราว่าใครก็ดูได้ค่ะ คือเนื้อเรื่องที่เราคิดมันก็มีทั้งแบบซับซ้อนน้อยไปจนถึงซับซ้อนมาก ต่อให้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่สุดท้ายคนแต่ดูละวัยเขาก็อาจจะเข้าใจได้ไม่เหมือนกันค่ะ เรามองว่ามันไม่จำเป็นต้องจำกัดว่าอันนี้ของเด็กหรือของผู้ใหญ่ คือมันมีนะคะบางงานที่เราต้องพยายามออกแบบเพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจด้วย แต่เราก็ไม่ได้ไปกะเกณฑ์ว่าเขาจะต้องเข้าใจตามนี้เท่านั้น เราพยายามสื่อสารให้ถึงเขา แต่เขาจะเข้าใจว่าอะไรก็ให้เป็นไปตามจินตนาการของเขาเลย
The People:
นอกจากงานเทศกาล โดยปกติเราทำละครไปเล่นที่ไหน
สุธารัตน์
:
ส่วนใหญ่ไปเล่นที่ต่างประเทศค่ะ พอดีมีเรามีเพื่อน มีคนรู้จักที่เขาทำตรงนี้เยอะ อย่างเพื่อนเราที่สิงคโปร์เขาทำคณะละครอยู่ชวนเราไป พอเล่นโดยไม่เล่า มันไม่มีกำแพงภาษา มันก็ได้ฟีดแบคดี ๆ กลับมาเยอะ แล้วก็มีไปเล่นที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเขามีโรงละครสำหรับเด็กเลยชื่อ Teatrzyk Lalkowy Bajka ตอนนั้นเราก็ออกแบบโปรดัคชันชื่อ “Journey in the Dark” ไปเล่น ถึงจะเป็นโรงละครเล็ก ๆ แต่ก็มีเด็ก ๆ จากโรงเรียนแถวนั้นมาดูเราทุกวันนะคะ เล่นเมืองนอกเสร็จถึงค่อยกลับมาเมืองไทย ส่วนใหญ่ก็จะประมาณนี้
The People:
พื้นที่ของละครหุ่นเงาในไทยเป็นอย่างไรบ้าง
สุธารัตน์
:
นอกจากเทศกาลละคร เราก็เคยไปแสดงตามโรงละครแสงอรุณ ร้านหนังสือ หรือไม่ก็ตามโรงเรียนบ้าง ตามแต่เขาจะติดต่อมาค่ะ แต่ถามว่าพื้นที่เยอะไหมเราก็ว่าไม่ค่อยเยอะ คือวงการนี้มันไม่ได้ใหญ่ คนจ้างเขาต้องรู้จักเรา รู้จักละครแบบนี้ประมาณหนึ่ง ถึงจะได้ไปเล่นค่ะ
The People:
ชีวิตในฐานะศิลปินละครหุ่นเงาเปลี่ยนไปอย่างไรหลังโควิด-
19
สุธารัตน์
:
ก็จริง ๆ มีงานที่ตกลงกันไว้ว่าจะบินไปทำอยู่ค่ะ เราก็เตรียมโปรดัคชันอะไรของเราไว้ แต่ดันกลายเป็นว่าโดนแคนเซิลเพราะโควิด คือก็รู้สึกเคว้ง ๆ นิดนึงค่ะ คือเราวางแผนจะไปประมาณ 4 เดือนเลย ไม่ได้มีแผนสำรอง ช่วงนั้นก็พยายามหาอะไรทำไปทุกวันค่ะ วาดรูป เย็บผ้า ทำเสื้อ ทำชุดส่งไปให้เพื่อน พยายามหาอะไรทำเพราะมันว่างมาก อยู่แบบนั้นมาประมาณเดือนสองเดือนถึงค่อยมีทางโครงการ Play From Home เขาติดต่อมา
The People:
มาเข้า
ร่วมโครงการ
BICT ‘n Friends at home
ได้อย่างไร
สุธารัตน์
:
เป็นการชักชวนจากทางผู้จัดค่ะ คือต้องเท้าความก่อนว่า ตั้งแต่เราย้ายมาเชียงใหม่ ก็อยากทำบ้านเป็นสตูดิโอของตัวเองค่ะ อยากให้มีที่ทำงาน มีโรงละครเล็ก ๆ ของเราด้วย คือเป็นความฝันของเราตั้งแต่ย้ายมาเลย ทีนี้พอมันมีโควิด แล้วทาง
BICT ‘n Friends at home
เขาอยากจะทำโปรเจกต์ที่ชวนให้คนในบ้านได้ทำกิจกรรมด้วยกัน เขาก็เลยมองว่าตัวละครหุ่นเงามันก็เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจ พ่อแม่ลูกสามารถทำด้วยกันได้ ก็เลยติดต่อเรามาค่ะ
The People:
เวิร์คช็อปละครหุ่นเงาออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้
สุธารัตน์
:
ในส่วนของเราก็คงเป็นการสอนเทคนิคต่าง ๆ ค่ะ แนะนำให้คนดูเขารู้จักว่าละครหุ่นเงามันคืออะไร จะเริ่มทำต้องทำยังไง สอนเป็นแนวทางให้ครอบครัวเขาเอาไปต่อยอดทำเองต่อได้ เราก็พยายามจะหยิบอะไรที่มันเป็นพื้นฐานมาสอน คนที่ไม่ได้เป็นศิลปินเขาจะได้ทำได้ เราไม่ได้เน้นว่ามันจะต้องเป็นผลงานสำหรับเอาไปโชว์ใคร แต่เราเน้นสอนให้เขาเข้าใจว่าการสร้างละครเงา มันหยิบจับอะไรในบ้านมาทำก็ได้ แต่ของแต่ละอย่างมันก็มีรูปร่าง มีสีสัน แต่ผิวสัมผัสไม่เหมือนกัน พอเอามาใช้มันก็จะให้อารมณ์ที่แตกต่าง เราเน้นให้เขาเรียนรู้ แล้วก็ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว สนุกไปกับของต่าง ๆ ในบ้าน โปรเจกต์นี้จะมีโปรดัคชันละครหุ่นของเราให้ดูด้วยค่ะ
The People:
การที่เด็ก ๆ ได้รู้จักหรือดูละครประเภทนี้ส่งผลดีอย่างไร
สุธารัตน์
:
ขอยกตัวอย่างแบบนี้แล้วกันนะคะ คือมีครั้งหนึ่งที่เราต้องทำโปรเจกต์สอนให้เด็กดูสื่อเพื่อการรู้เท่าทัน สอนเรื่องเท่าทันสื่อกับเด็กเล็ก เราจะสอนเขายังไง ตอนนั้นเรานึกไปถึงเรื่องสัญลักษณ์ เราอยากสอนให้เขาคุ้นชินกับการตีความโดยที่ ถามเขาจะรู้ตัวไหมในวันนั้น ก็อาจจะไม่รู้ เราพยายามดีไซน์ฉากออกมาในเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่น ในฉากมีลูกโป่งสีเหลือง เราไม่ได้บอกว่ามันคืออะไร แต่เด็กเขาอาจจะเข้าใจว่าเป็นพระจันทร์ หรือเราทำฉากให้เป็นไฟกระพริบแล้วก็ไม่อธิบายอะไร เด็ก ๆ เขาก็อาจจะเข้าใจว่ามันคือดาวหรืออุกกาบาตก็ได้ คือเรามองว่าการทำแบบนี้ สอนอะไรที่มันมีความหมายใต้ภาพ หรือสัญลักษณ์ มันอาจจะไม่ได้เห็นผลทันทีนะคะ แต่มันจะมีกระบวนการพัฒนาความคิดเขาไปเรื่อย ๆ เราคิดว่าสักวันหนึ่งมันจะค่อย ๆ พาให้เขาเข้าใจอะไรบางอย่างมากขึ้น รู้จักตีความมากขึ้น มันจะค่อย ๆ ทำงานของมันเอง เรามองว่าแบบนี้มันเวิร์คกว่าการสอนให้เขานั่งท่องว่าอะไรเป็นอะไร
The People:
อนาคตที่มองไว้ในฐานะศิลปินและผู้กำกับละครหุ่น
สุธารัตน์
:
ตอนนี้ก็ยังไม่ได้มองไปไกลมากนะคะ คือเรียกว่าเป็นความฝันมากกว่า ก็อย่างที่บอกว่าเป้าหมายที่เราย้ายมา มาทำบ้านที่นี่ ก็อยากทำมันเป็นที่ทำงาน เป็นโรงละครที่เราได้ทำสิ่งที่เราชอบไปทุกวัน มีคนดูไม่กี่คนเราก็อยากเล่น ส่วนในแง่ของผลงาน เพราะตอนนี้เราทำงานคนเดียว โปรดัคชันที่ออกมามันก็จะมีข้อจำกัดบางอย่าง เราก็อยากจะทำอะไรที่มันใหญ่กว่านี้ มีหลาย ๆ คนมาเป็นนักแสดงให้เรากำกับ เพื่อที่เวลาเกิดภาพขึ้นมาความเป็นไปได้มันก็จะหลากหลายขึ้น เป็นไปอย่างที่เราต้องการมากขึ้น อนาคตก็อยากกำกับงานที่มันใหญ่กว่านี้ค่ะ
โปรเจกต์
Play From Home
โดยเทศกาลละครนานาชาติของเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ (Bangkok International Children's Theatre Festival) หรือ บิกท์เฟสต์ (BICT Fest) ได้สร้างกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัวในหลากหลายรูปแบบ โดยโครงการ
BICT n’ Friends at Home
ซึ่งมีซีรีส์ละครหุ่นเงาของ 'ต้อม' สุธารัตน์ สินนอง เป็นส่วนหนึ่ง จะพาผู้ชมไปรู้จักกระบวนการการสร้างโรงละครจากบ้านไม้น่ารักของเธอ พร้อมกับสอนให้รู้จักวิธีคิดค้นและแชร์วิธีการแสดงผ่านแสงเงาโดยใช้นักแสดงแค่คนเดียว สำหรับงานนี้ แน่นอนว่าเป็นโอกาสดีสำหรับใครที่ไม่เคยดูละครหุ่นเงาหรือไม่รู้จะไปหาละครประเภทนี้ดูได้ที่ไหน ให้ได้ลองรู้จักและเข้าใจศาสตร์แห่งแสงและเงาไปพร้อมกัน
ชมเนื้อหาจากโปรเจกต์ Play From Home โดยเทศกาลละครนานาชาติของเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ย้อนหลังที่
https://bit.ly/3jSzndM
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโปรเจกต์จาก
https://www.facebook.com/bictfes
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รับสมัครผู้เข้าแข่งขัน เก็บขยะชิงแชมป์โลก ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
30 เม.ย. 2568
แสนสิริ เผยโฉม ‘นาราสิริ บางนา กม.10’ ไพรเวทเพียง 56 ครอบครัว
30 เม.ย. 2568
“นิปปอนเพนต์” ประเดิมงานสถาปนิก’68 จัดเต็มพาวิลเลียน “The Future City”
30 เม.ย. 2568
แท็กที่เกี่ยวข้อง
BICT ‘n Friends at home
BICT Fest
Play From Home
Shadow Puppet
สุธารัตน์ สินนอง