โธมัส เพน: ชายที่อยากให้การเมืองและสถาบันกษัตริย์มี ‘สามัญสำนึก’

โธมัส เพน: ชายที่อยากให้การเมืองและสถาบันกษัตริย์มี ‘สามัญสำนึก’

มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิยกยอตระกูลตัวเองถาวรเหนือคนอื่นตลอดไป แม้คนรุ่นก่อนอาจสมควรถูกยกย่องนับถือพอประมาณ แต่ลูกหลานของเขาอาจหล่นไกลต้นเกินกว่าจะถูกนับถือ เพราะเหตุใดทำไมถึงมีคนกลุ่มหนึ่งเกิดมาพร้อมกับอภิสิทธิ์ต่าง ๆ และสูงส่งแตกต่างจากมนุษย์ผู้อื่นราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่’

ประโยคชวนให้ขบคิดเบื้องต้นเขียนโดย โธมัส เพน (Thomas Paine) เป็นส่วนหนึ่งในบทความนามว่า ‘สามัญสำนึก’ (Common Sense) เอื้อนเอ่ยถึงปัญหาการเมืองการปกครองอังกฤษที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเมื่อกว่าสองร้อยปีที่แล้ว (ค.ศ. 1776) รวมถึงปัญหาระหว่างชาวอาณานิคมอเมริกาผู้ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังโลกใหม่เพื่อแสวงหาโอกาสทางชีวิตที่ดีกว่า แต่รัฐบาลอังกฤษที่เชื่อมโยงกับระบอบกษัตริย์อย่างแยกไม่ออก กลับไม่ได้มองชาวอาณานิคมว่าเป็นบุคคลที่ต้องดูแลเอาใจใส่เท่าไหร่นัก โธมัส เพน เป็นหนึ่งในชาวอังกฤษจำนวนมากที่เดินทางมายังดินแดนอเมริกา แม้เขาจะไม่ได้มาพร้อมกับคนกลุ่มแรก ๆ แต่เมื่อเดินทางมายังอาณานิคมเพนซิลเวเนียที่เต็มไปด้วยกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายเควกเกอร์ พบเจอกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติแต่อยู่ด้วยกันอย่างสันติ กลุ่มกระฎุมพีและช่างฝีมือที่พยายามผลักดันให้สังคมมองว่าความเท่าเทียมเป็นเรื่องธรรมดา แถมยังก่อเกิดแนวคิดประชาธิปไตยในชุมชน เกิดการตั้งโรงเรียนที่ไม่เชื่อมโยงกับศาสนา เพนซึ่งเป็นชายที่เพิ่งมาจากอังกฤษก็ได้มองเห็นพร้อมกับรับฟังแนวคิดสมัยใหม่อันน่าสนใจในอาณานิคมแห่งนี้ เมื่อรัฐบาลอังกฤษมีปัญหาเรื่องเงินทอง พวกเขาส่งข้อความข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอาณานิคมอเมริกา แจ้งเก็บภาษีหลายประเภท ทั้งการนำเข้าน้ำตาลที่ทำให้ธุรกิจเหล้ารัมหลายเจ้าล้มละลาย กระดาษ แก้ว ใบชา แสตมป์ รวมถึงการออกพระราชบัญญัติเดินเรือหลายต่อหลายฉบับ ทำให้อังกฤษเป็นผู้ค้าเพียงเจ้าเดียวที่สามารถซื้อ-ขาย กับชาวอาณานิคมอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย การบีบบังคับรีดไถมากจนเกินไปเริ่มก่อให้เกิดช่องว่างที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างรัฐบาลอังกฤษและชาวอาณานิคมอเมริกา โธมัส เพน: ชายที่อยากให้การเมืองและสถาบันกษัตริย์มี ‘สามัญสำนึก’ ช่วงสถานการณ์ระส่ำระสาย เพนเริ่มเขียนจุลสารการเมืองเพื่อนำเสมอมุมมองทางการเมืองแบบใหม่ เจาะลึกถึงปัญหา 3 ประเด็นใหญ่ คือ การเกิดขึ้นและจุดประสงค์ของรัฐบาล รัฐธรรมนูญกับระบอบกษัตริย์ที่สืบทอดทางสายเลือด และ อเมริกาในปัจจุบัน โดยแบ่งหมวดหมู่ของประเด็นเพื่อให้ผู้อ่านชาวอาณานิคมค่อย ๆ ทำความเข้าใจการเมือง พร้อมกับตระหนักถึงปัญหาแต่ละเรื่องไปพร้อมกัน แรกเริ่ม เพนเอ่ยถึงตระกูลนักการเมืองกับระบอบกษัตริย์อังกฤษที่ถูกผูกขาดอย่างไร้ความชอบธรรมมายาวนานหลายต่อหลายรุ่น แต่กลับกลายเป็นว่าความผิดปกติทางอำนาจการเมืองเหล่านี้กลายเป็นเรื่องชินตาของชาวอังกฤษและชาวอาณานิคมเสียอย่างนั้น เรามีกลุ่มการเมืองเก่า ๆ ที่จะไม่ยอมเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ใช่กลุ่มของตัวเองได้มีโอกาสเข้ามาทำงาน มิหนำซ้ำการเมืองอังกฤษ (ในช่วงเวลานั้น) ก็ยังไม่สามารถแยกออกจากราชวงศ์อย่างแท้จริงได้สักที

กษัตริย์มีหน้าที่สร้างความยากจนให้ประเทศ

สร้างความขัดแย้งบาดหมางแก่ประชาชน

ช่างเป็นภารกิจดีงามสำหรับคนที่ได้เงินมากถึงปีละแปดแสนปอนด์

แถมยังถูกเทิดทูนบูชาอีกต่างหาก

- โธมัส เพน

สิ่งที่เพนย้ำเสมอในจุลสารการเมือง ‘สามัญสำนึก’ คือความผิดปกติของการสืบทอดบัลลังก์ทางสายเลือดของระบอบกษัตริย์ เขายกตัวอย่างน่าสนใจอย่างกรณีของดินแดนอิสราเอล ย้อนกลับไปเมื่อนานมาแล้วบนแผ่นดินที่ประชาชนถูกกดขี่ มีนักรบมากความสามารถคนหนึ่งพากองกำลังขับไล่คนพาลออกไป ชาวบ้านจึงศรัทธาถึงขั้นเชื้อเชิญให้เป็นกษัตริย์ ทั้งยังบอกอีกว่านอกจากตัวท่านที่จะได้ปกครองพวกเรา บุตรชายของท่าน บุตรชายของบุตรชายของท่าน บุตรชายของบุตรชายของบุตรชายของท่าน ก็จะได้ปกครองชาวบ้านต่อไปเรื่อย ๆ ข้อเสนอน่าสนใจไม่ได้ให้แค่บัลลังก์ ทว่าเอื้อประโยชน์ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไปสุดแสนจะเย้ายวนใจ เพราะความกระหายต่ออำนาจคือโรคร้ายทางธรรมชาติที่อยู่คู่กับระบอบกษัตริย์มาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม นักรบกลับคิดว่าชาวบ้านพวกนี้ไม่มีสิทธิมอบเกียรติยศดังกล่าวให้แก่เขา การยกใครสักคนขึ้นเป็นกษัตริย์ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเกินการตัดสินใจของคนกลุ่มเดียว หรือคนจากยุคสมัยเดียวที่จะพรากสิทธิของคนรุ่นถัดไป การขึ้นเป็นใหญ่จากการเชื้อเชิญของคนบางกลุ่มเป็นเพียงแค่กรณีแรกเท่านั้น ยังไม่รวมถึงการขึ้นมาเป็นใหญ่ด้วยการจับสลาก เลือกตั้ง หรือการยึดอำนาจของต้นตระกูล ล้วนเคยเกิดขึ้นจริงบนโลก โธมัส เพน บรรยายถึงการมีอยู่ของกลุ่มการเมืองเก่า ๆ และระบอบกษัตริย์ว่า “ฉันทาคติที่ชาวอังกฤษมีต่อรัฐบาล กษัตริย์ ขุนนาง สามัญชน เกิดจากความหยิ่งทะนงในความเป็นชาติมากกว่าการใช้เหตุผล” ในรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากวันหนึ่งประชาชนทนทุกข์ พวกเขาจะรู้ทันทีว่าต้นตอความทุกข์นั้นมาจากไหน ความโอหังของกษัตริย์นำมนุษยชาติพบเจอกับความอลหม่าน แต่ระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญอันซับซ้อนของอังกฤษสร้างความสับสนแก่ประชาชน พวกเขาจะต้องทนทุกข์หลายปีขณะพยายามหาว่าความบกพร่องเกิดจากจุดไหน จนวันหนึ่งความหิวโหยกับชีวิตย่ำแย่จะทำให้ผู้คนยอมละทิ้งหน้าที่การงานของตัวเองเพื่อทำบางสิ่ง ยิ่งไปกว่านั้น เพนยังได้แสดงความรู้สึกของตัวเองเกี่ยวกับการเมืองอังกฤษเพิ่มเติมว่า สังคมอังกฤษและอาณานิคมอเมริกามีผู้คนหลากประเภท บางคนยอมก้มหัวด้วยความกลัว อีกกลุ่มหนึ่งก้มหัวเพราะความงมงาย เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเปิดโปงอดีตอันน่าอดสูของกษัตริย์รุ่นก่อนแรกเริ่ม ถ้ายังมีใครอ่อนหัดจนหลงเชื่อ ก็ปล่อยให้เขาเชื่อต่อไป เขาไม่คิดรบกวนการบูชากษัตริย์ของคนกลุ่มนั้น และตัวเขาเองก็จะไม่ลอกเลียนแบบการกระทำดังกล่าวอย่างแน่นอน โธมัส เพน: ชายที่อยากให้การเมืองและสถาบันกษัตริย์มี ‘สามัญสำนึก’ หลังจากชำแหละระบบการเมืองการปกครองของอังกฤษไปพอสมควร โธมัส เพน ย้อนกลับมายังอเมริกาเพื่อมองถึงทิศทางที่ดินแดนแห่งนี้จะไปต่อหลังประกาศอิสรภาพ เขาโต้ตอบชาวอาณานิคมที่มองว่าอังกฤษไม่ต่างจากพี่น้องผู้คอยปกป้องอเมริกาว่า “พวกเขาปกป้องเราเพราะเพียงเพราะผลประโยชน์ มิใช่ปกป้องเราเพราะความรักใคร่” การขึ้นภาษีแทบทุกอย่าง สั่งจับกุม ห้ามเราออกไปยังเขตแดนรกร้างว่างเปล่า หรือปะทะกับชาวอาณานิคม ถือเป็นการกระทำอันดีงามของประเทศแม่ที่พึงมีต่อพี่น้องหรือคนในครอบครัวจริงหรือ นอกจากนี้ เพนยังได้คำนวณค่าใช้จ่ายของกองทัพเรืออเมริกาหากประกาศเอกราช และการยืนด้วยลำแข้งตัวเองของดินแดนอเมริกาอีกด้วย ถือเป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศแม่อย่างอังกฤษอีกต่อไป จุลสารการเมือง ‘สามัญสำนึก’ ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 1776 กลายเป็นบทความทรงอิทธิพลต่อชาวอาณานิคม ควบคู่กับการบอกเล่าแบบปากต่อปาก เนื้อหาเจาะลึกปัญหาการเมืองการปกครองแบบตรง ๆ เอ่ยแทนความในใจของใครหลายคน บทความเพียงไม่กี่หน้าของเขาสามารถสร้างความรู้สึกรวมเป็นหนึ่งแก่ชาวอาณานิคมผู้เคยถูกกดขี่ จนใคร ๆ ต่างก็อยากอ่านบทความฉบับนี้ เวลาเพียงไม่นาน ‘สามัญสำนึก’ กว่า 150,000 ฉบับ ถูกจำหน่ายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็วในสามเดือน หนักขึ้นในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างอังกฤษและชาวอาณานิคมอเมริกา ทำให้ ‘สามัญสำนึก’ ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งและจำหน่ายไปกว่าห้าแสนเล่ม ทั้งที่ชาวอาณานิคมมีเพียง 2-3 ล้านคนเท่านั้น กลายเป็นงานเขียนทางการเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงการประกาศอิสรภาพของอเมริกา บทความเล่มบาง ๆ ของโธมัส เพน ที่เล่าถึงโลกการเมือง ถูกนับเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญทำให้ตระหนักถึงสิทธิ ความเท่าเทียม การเมืองที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต และความอยุติธรรมที่ตนได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม จนก่อให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของชาวอเมริกา     ที่มา Thomas Paine. Common Sense: Addressed to the Inhabitants of America. Wood, Gordon S. 2002. The American Revolution: A History. New York: Modern Library เพน, โธมัส. 2563. สามัญสำนึก. กรุงเทพ: บุ๊คสเคป สุธีรา อภิญญาเวศพร. 2559. ประวัติศาสตร์อเมริกา ก่อนสมัยฟื้นฟูบุรณะภาคใต้. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์