ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น”

ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น”

       วัยเด็กทุกคนล้วนแต่มีฮีโร่ของตัวเอง ตัวละครในความทรงจำที่ทั้งน่าหลงใหลสุดเท่ ชวนให้เราอยากจะเป็นแบบนั้น ภาพของฮีโร่จากในการ์ตูนที่มาพร้อมอาวุธคู่กายอย่าง ธอร์กับค้อนโยเนียร์ หรือเรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์กับดาบเอ็กซ์คาลิเบอร์ในตำนาน ที่ว่ามานี้อาจจจะเป็นฮีโร่ในจินตนาการของเด็กหลาย ๆ คน กลับกันสำหรับใครบางคน ฮีโร่ของพวกเขาอาจไม่ใช่เทพเจ้าถือค้อนสายฟ้า หรือกษัตริย์กับดาบวิเศษ แต่เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่มาพร้อมกับกีตาร์ชื่อว่า “Fender” (เฟนเดอร์)

ย้อนกลับไปในยุคที่ดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ของเอลวิส เพรสลีย์ กำลังเบิกบาน จนไปถึงช่วงเวลาของ The Beatles ที่กำลังเข้าโจมตีสหรัฐฯ ในยุค 60s ขณะนั้นกีตาร์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก ใคร ๆ ก็อยากเหมือนเอลวิส ใคร ๆ ก็อยากมีกีตาร์ Rickenbacker 325 เหมือนจอห์น เลนนอน หรือ จอร์จ แฮร์ริสัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกีตาร์ของศิลปินที่ได้รับความนิยมช่วงนั้นล้วนแต่เป็นกีตาร์บอดี้โปร่ง ๆ อย่างพวก Hollow หรือ Semi-Hollow

สำหรับบางคน กีตาร์แบบนั้นยังไม่สามารถตอบโจทย์เสียงในหัวของพวกเขาได้ มันอาจจะเป็นกีตาร์ที่ดีแต่ก็ยังไม่ใช่กีตาร์ที่ใช่สำหรับโลกนี้ ความคิดดังกล่าวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ยอดนักประดิษฐ์ ช่างซ่อมวิทยุ และอดีตนักบัญชีอย่าง คลาเรนซ์ ลีโอไนดัส เฟนเดอร์ (Clarence Leonidas Fender) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ลีโอ เฟนเดอร์ สร้างกีตาร์ในแบบของตัวเองขึ้นมา และใช้ชื่อว่า Fender เครื่องดนตรีที่ปฏิวัติวงการดนตรีโลก

ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น”

       แค่เกิดก็ไม่ธรรมดาแล้ว ลีโอ เฟนเดอร์ ไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาลเหมือนใครทั่วไป เขาลืมตาดูโลกครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี 1909 ในโรงนาของครอบครัวที่เมืองออเรนจ์ เคาท์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ไกลจากดิสนีย์แลนด์ปัจจุบัน พ่อแม่ของเขามีอาชีพปลูกส้ม, เมลอน และผักหลายชนิด รายได้หลักของครอบครัวคือการนำผักผลไม้พวกนี้แบกขึ้นรถกระบะและนำไปขายตามที่ต่าง ๆ ในเมือง

ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วที่เฟนเดอร์ชื่นชอบงานบัดกรีแผงวงจรต่าง ๆ ตอนอายุ 13 ปี เขาได้ไปเยี่ยมร้านเครื่องเสียงของลุงในเมือง และเพียงวินาทีแรกที่เขาเดินเข้าไปในร้าน เฟนเดอร์สัมผัสได้ทันทีว่าตัวเองกำลังถูกมนต์สะกดจากพวกอะไหล่วิทยุ รวมถึงเสียงเพลงดัง ๆ ที่ออกมาจากลำโพง นั่นแหละคือช่วงเวลาที่ความหลงใหลของเขาเริ่มต้นขึ้น แม้ครอบครัวจะส่งเฟนเดอร์ไปเรียนเปียโนหรือแซ็กโซโฟนช่วงสั้น ๆ แต่เขามักจะใช้เวลาว่างหมดไปกับการซ่อมแผงวงจรหรือประดิษฐ์เครื่องใช้ไฟฟ้าซะมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ตอนที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ เขาตัดสินใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการบัญชี หลังเรียนจบเฟนเดอร์ก็ทำงานเป็นคนส่งของที่บริษัทแห่งหนึ่ง และใช้เวลาว่างที่เหลือแอบรับงานเกี่ยวกับการติดตั้งลำโพงหรืองานด้านการกระจายเสียง ก่อนจะผันตัวเป็นนักบัญชีในเวลาต่อมา

ปี 1934 เขาแต่งงานกับ เอสเทอร์ คอตซ์ลีย์ และย้ายไปอยู่ที่ซานลุยส์ โอบิสโป ที่นั่นเขาได้งานเป็นนักบัญชีที่กรมทางหลวงแคลิฟอร์เนีย แต่หลังจากนั้นเพียง 6 เดือน เขาก็ถูกให้ออก เนื่องมาจากอาฟเตอร์ช็อคของสภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (The Great Depression) เฟนเดอร์ในวัย 29 ปี ที่ไม่รู้ชีวิตจะออกหัวหรือออกก้อย ตัดสินใจกู้หนี้ยืมสินและนำมารวมกับเงินเก็บก้อนสุดท้ายของเขา เพื่อไปเปิดร้านซ่อมวิทยุที่เมืองฟุลเลอร์ตัน และใช้ชื่อว่า “Fender Radio Shop”

ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น”

       ช่วงแรกเฟนเดอร์ต้องพบกับความซวยไม่สิ้นสุด เพราะดันมีสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น โรงงานต่าง ๆ ต้องหยุดผลิตวิทยุและหันมาทำอาวุธแทน แต่ต่อมาธุรกิจของเฟนเดอร์ก็กลับบูมขึ้นมาซะอย่างงั้น เพราะช่วงสงคราม ดนตรีเป็นสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจของผู้คน มีคนจำนวนไม่น้อยออกมาเต้นรำตามงานซื้อพันธบัตรเพื่อสนับสนุนการรบ เฟนเดอร์มีรายได้มากขึ้นจากการเข้าไปติดตั้งระบบขยายเสียงในงาน และอีกส่วนมาจากการผลิตกีตาร์อะคูสติก, แอมป์และระบบขยายเสียงต่าง ๆ

แม้เฟนเดอร์จะได้กำไรอย่างงามจากช่วงสงคราม แต่ความสำเร็จของเขาก็ชวนให้นึกถึงความเจ็บปวดในอดีต ตอนอายุ 8 ขวบเขาสูญเสียตาซ้ายจากการทำไร่ ทำให้ต้องใส่ตาเทียมตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่มีคุณสมบัติไปเข้ารับการเกณฑ์ทหารเพื่อไปรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงเวลานั้นเขาใช้เวลาหมดไปกับการทดลองสร้างกีตาร์สเปนไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำเอาปิ๊กอัพจากกีตาร์ Lap-Steel ของเขามาพัฒนา กีตาร์ตัวต้นแบบนี้ถูกนักดนตรีหลายคนเช่าไปใช้ และเกิดเสียงเรียกร้องล้นหลามให้เฟนเดอร์ผลิตออกขาย

ชีวิตกับเครื่องเสียงเป็นความสุขของเฟนเดอร์ แรกเริ่มเดิมทีเขาไม่มีความคิดที่จะต่อยอดความสุขนี้ใด ๆ โดยเฉพาะงานอดิเรกใหม่ของเขาอย่างการสร้างกีตาร์ แต่แล้ววันหนึ่งนักกีตาร์ Lap-Steel ที่ชื่อว่า ด็อก คัฟฟ์แมน ผ่านเข้ามาที่ร้านวิทยุของเฟนเดอร์โดยบังเอิญเพื่อนำแอมป์ของเขามาซ่อม ก่อนหน้านั้นคัฟฟ์แมนเคยทำงานที่บริษัทผลิตกีตาร์เบอร์หนึ่งขณะนั้นอย่าง Rickenbacker (ริกเค่นแบ็กเกอร์) นั่นจึงทำให้ทั้งคู่พูดคุยกันถูกอกถูกคอ โดยที่เฟนเดอร์ก็ไม่รู้ว่าหัวข้อสนทนาของเขาทั้งคู่ในวันนั้นจะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล

“จะสร้างกีตาร์ไฟฟ้าให้ดีกว่านี้ได้ยังไง” นี่คือสิ่งที่เฟนเดอร์และคัฟฟ์แมนคุยกันตั้งแต่วินาทีแรกที่รู้จักกัน ทั้งคู่เริ่มก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ ขึ้นมาภายใต้ชื่อ K&F เฟนเดอร์ใช้พื้นที่บริเวณหลังร้านของเขาผลิตกีตาร์ Lap-Steel และแอมป์เพื่อออกขาย ช่วงเวลานั้นเฟนเดอร์ได้รู้จักกับ ดอน แรนดัลล์ (ต่อมาคือหนึ่งในทีมงานคนสำคัญของเฟนเดอร์) จากบริษัท Radio & Television Equipment Co. ที่เข้ามาเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายให้กับ K&F

ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น”

        แรกเริ่มกีตาร์ที่ทั้งคู่ผลิตร่วมกันยังมีความคล้ายคลึงกับ Rickenbacker และยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ส่วนแอมป์ก็มีการพัฒนาออกมาหลายรุ่น หนึ่งในนั้นคือรุ่นคลาสสิกของ Fender อย่าง Champ, Blackface Princeton และ the Blond Twin ต่อมาธุรกิจของเฟนเดอร์ประสบสภาวะกระท่อนกระแท่น ไม่ต่างจากถนนในกรุงเทพฯ นั่นทำให้ราว ๆ ต้นปี 1946 คัฟฟ์แมนขอถอนตัวจากบริษัท

ขณะที่ธุรกิจย่ำแย่ทุลักทุเล เฟนเดอร์ก็เปลี่ยนวิธีการจัดการ และตั้งชื่อบริษัทใหม่เป็น Fender Manufacturing ก่อนจะเปลี่ยนเป็น Fender Electric Instrument Co. ตอนปลายปี 1947 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านตอนนั้นทำให้เฟนเดอร์ได้เจอกับพนักงานมือดีหลายคน เช่น แดน ไฮแอตต์ ที่กลายมาเป็นเซลล์คนสำคัญของ Fender จอร์จ ฟุลเลอร์ตัน มือกีต้าร์สมัครเล่นที่เข้ามาเป็นมือขวาของเฟนเดอร์

ราวต้นปี 1948 เฟนเดอร์กับบริษัทของเขารับซ่อมทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องวิทยุเครื่องเสียง รวมถึงเริ่มผลิตกีตาร์ที่แตกต่างจากท้องตลาด อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจจะเติบโตไปได้อย่างช้า ๆ แต่เฟนเดอร์และพนักงานเพียงไม่กี่คนก็ค่อย ๆ พัฒนาและปรับเปลี่ยนทิศทางของบริษัทให้ดีขึ้น จนในปี 1949 เขาสามารถขยายบริษัทและมีสาขาเพิ่มขึ้นหลายที่ในฟุลเลอร์ตัน

เฟนเดอร์เป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ทำงานหนัก และชอบทำอะไรด้วยตัวเอง เขามักมีความสุขที่ได้เขียนทิศทางความน่าจะเป็นต่าง ๆ สำหรับโปรเจกต์ใหม่ ๆ แนวคิดของเขาคือ หากมีสินค้านั้นในท้องตลาดแล้ว เขาก็สามารถทำให้ดีและถูกกว่าได้ ขณะที่ก็ทำกำไรไปด้วย “ลีโอเป็นคนแปลกคนหนึ่ง” ดอน แรนดัลล์ พูดถึงเฟนเดอร์ “เขาคลั่งไคล้พวกเครื่องจักรต่าง ๆ และทำมันโดยไม่ได้หวังกำไรขนาดนั้นด้วยซ้ำ”

และแล้วก็ถึงวันที่เขารอคอย วันหนึ่งเฟนเดอร์ได้คิดค้นกีตาร์ไฟฟ้าแบบใหม่ที่มีรสชาติของเสียงที่ต่างออกไป ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 1950 เฟนเดอร์เริ่มสร้างกีตาร์แบบ solid body หรือกีตาร์แบบตัน และใช้ปิ๊กอัพรุ่น Esquire แบบซิงเกิลคอยล์ที่ตำแหน่งบริดจ์ตัวเดียว จนเป็นที่มาของรุ่น Esquire ก่อนที่ต่อมาเฟนเดอร์จะปรับมาใช้ปิ๊กอัพสองตำแหน่ง และเปลี่ยนชื่อเป็น Broadcaster

[caption id="attachment_22083" align="aligncenter" width="346"] ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น” Fender Esquire[/caption]

ช่วงแรก Brodcaster ของ Fender โด่งดังเป็นพลุแตก กีตาร์รูปทรงน่าสนใจมาพร้อมเสียงทแวงเฉพาะตัว (เสียงขึ้นจมูก) แถมเป็นเสียงที่ตอบโจทย์ทุกแนวดนตรี โดยเฉพาะดนตรีคันทรีที่กำลังมาแรงในช่วงนั้น ที่สำคัญมันยังกะทัดรัดเข้ามือ ราวกับว่าสิ่งนี้เกิดมาเพื่อนักกีตาร์ทุกคนบนโลก ชื่อเสียงของเฟนเดอร์ก้องไกลไปทั่วโลกในฐานะอัจฉริยะคนใหม่ และได้รับการตั้งฉายาว่าเป็น “เฮนรี ฟอร์ด แห่งวงการกีตาร์ไฟฟ้า”

"การออกแบบของแต่ละองค์ประกอบ ควรคำนึงถึงความง่ายในการสร้างและง่ายต่อการซ่อมแซม" เฟนเดอร์กล่าวไว้

กราฟชีวิตของเฟนเดอร์กำลังไต่ขึ้น แต่ก็ต้องมาสะดุด เพราะชื่อรุ่นดันไปคล้ายกับกลอง Broadkaster ของบริษัทเครื่องดนตรีคู่แข่งอย่าง Gretsch (เกรทช์) สุดท้ายเฟนเดอร์ต้องเรียกคืน Broadcaster กว่า 250 ตัวกลับโรงงาน และลบคำว่า Broad บริเวณหัวกีตาร์ทิ้ง (กลายเป็นที่มาของกีตาร์ Nocaster รุ่นหายากช่วงนั้น) แต่แล้วอยู่ดี ๆ ดอน แรนดัลล์ ก็เกิดไอเดียในการนำเอาคำว่า Tele (ย่อมาจาก Television) มารวมเข้ากับ caster จนกลายเป็น Telecaster กีตาร์ระดับตำนานรุ่นแรกของเฟนเดอร์

“ผมไม่แน่ใจเลยว่าจะสร้างเบสไฟฟ้าได้”

[caption id="attachment_22082" align="aligncenter" width="379"] ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น” Broadcaster[/caption]

       หลังขายดีฉุดไม่อยู่จนทำให้คู่แข่งเบอร์หนึ่งอย่าง Gibson ต้องผุดกีตาร์ Les paul ออกมาสู้ งานนี้เฟนเดอร์ที่กำลังง่วนกับการผลิตเบสไฟฟ้าอย่าง Precision Bass เริ่มรู้สึกว่าถ้าไม่หาไม้เด็ดออกมาสู้ สงครามนี้เขาอาจจะเพลี่ยงพล้ำได้ เฟนเดอร์จึงขุดโปรเจกต์เก่าที่เป็นการต่อยอดจาก Telecaster รุ่นก่อนมาเป็นต้นแบบของกีตาร์รุ่นใหม่ เวลานั้นเฟนเดอร์ได้สมาชิกเข้ามาร่วมทีมคือ เฟรดดี้ ทราวาเรส และ บิลล์ คาร์สัน นักดนตรีชาวอเมริกันที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนากีตาร์รุ่นนี้ เฟนเดอร์ใช้เวลา 25 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตช่วงนั้นหมดไปกับการนั่งพูดคุยกับเหล่านักดนตรี เกี่ยวกับปัญหาของ Telecaster รวมถึงสิ่งที่พวกเขาอยากได้จากกีตาร์รุ่นใหม่ของ Fender

ท้ายที่สุดในปี 1954 เฟนเดอร์ได้ปล่อยผลงานชิ้นเอกของเขาออกมา และตั้งชื่อว่า Stratocaster กีตาร์รูปทรงเว้าโค้งสวยงาม ที่มาพร้อมกับปิ๊กอัพซิงเกิลคอยล์สามตัว และสามารถปรับเสียงได้ถึงห้าแบบ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ชิ้นนี้ของเฟนเดอร์กลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมดนตรีไปตลอดกาล

“เหตุผลที่ผมออกจากโรงเรียน ก็เพราะกีตาร์รุ่นนั้นแหละ ฮ่า ๆ มันทำผมบ้าไปเลย ลองนึกถึงภาพของเด็กอายุ 14 ที่ฝันว่าอยากจะเป็นเจ้าของอุปกรณ์ชิ้นนี้ ผมยังจำได้เลยตอนที่เห็นกีตาร์รุ่นนี้ครั้งแรกที่ร้านขายเครื่องดนตรีแห่งหนึ่งในลอนดอน มันทำผมตกอยู่ในภวังค์และเบลอจนขึ้นรถบัสผิดไปเลย” เจฟฟ์ เบ็ค นักกีตาร์ระดับตำนาน พูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับ Stratocaster

หนึ่งปีหลังความสำเร็จของ Stratocaster เฟนเดอร์ต้องสูญเสียการได้ยินจากอุบัติเหตุ เพราะมีพนักงานคนหนึ่งพลาดท่าเปิดแอมป์ ขณะเฟนเดอร์เอาหัวตัวเองยัดเข้าไปบริเวณดอกลำโพงเพื่อเช็กแผงวงจร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำเอาเฟนเดอร์แก้วหูแตกทันที นั่นถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชายที่รักในดนตรี แม้ต่อมาความก้าวหน้าในการใช้เครื่องช่วยฟังจะช่วยเขาได้มาก แต่รวม ๆ แล้วทุกอย่างก็ไม่เคยดีขึ้นอีกเลยสำหรับเฟนเดอร์

[caption id="attachment_22086" align="aligncenter" width="643"] ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น” Stratocaster[/caption]

       เวลาต่อมา เฟนเดอร์ทยอยปล่อยกีตาร์ใหม่หลายรุ่น เช่น Jazzmaster, Jaguar หรือเบสรุ่นยอดนิยมอย่าง Jazz Bass รวมถึงพัฒนาเปียโนไฟฟ้าอันโด่งดังอย่าง Fender Rhodes แต่แล้วในปี 1964 เฟนเดอร์เริ่มมีอาการป่วยและเหนื่อยล้าอย่างมากจากการโหมงานหนักหลายปี หมอวินิจฉัยว่าเขาติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่า 30 ชนิด และไม่มีทางรักษาหาย ความกังวลที่เกิดขึ้นทำให้เขาตัดสินใจจะขายบริษัทและจบเรื่องธุรกิจ (เพื่อที่เอสเธอร์ภรรยาของเขาจะได้ไม่ต้องมาจัดการอะไรให้ลำบากอีก)

เวลาเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯอย่าง CBS กำลังปฏิบัติภารกิจรวมบริษัทที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง เพื่อหวังยกระดับบริษัทตนเอง แน่นอนว่า CBS สนใจจะซื้อมรดกชิ้นนี้ของเฟนเดอร์ ท้ายสุด CBS ก็ซื้อ Fender เป็นการสำเร็จ โดยตกลงกันเสร็จสิ้นในเดือนมกราคมปี 1965 ด้วยสัญญาซื้อขายมูลค่ากว่า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว ๆ 400 ล้านบาท) ดีลนี้มีเงื่อนไขสำคัญคือ เฟนเดอร์ยังคงเป็นที่ปรึกษาพิเศษ แต่จะมีบทบาทต่อผลิตภัณฑ์น้อยลงมาก เมื่อเฟนเดอร์รับรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของเขาอีกต่อไปแล้ว หลังสัญญาห้าปีของเขาหมดลงในปี 1970 เฟนเดอร์ในวัย 65 ปี ได้เปิดบริษัทใหม่อีกครั้ง และใช้ชื่อว่า Music Man

ภายใต้การบริหารของ CBS ยอดขายและกำไรของ Fender เพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่ก็มาพร้อมกับคุณภาพสินค้าที่แย่ลงเรื่อย ๆ เมื่อ Fender มาถึงวันที่ไร้จิตวิญญาณของผู้สร้าง สมาชิกเก่าแก่หลายคนก็ค่อย ๆ ลาออกกันไป รวมถึงนักกีตาร์หลายคนที่เริ่มไม่พอใจเรื่องคุณภาพ วันนี้แม้ Fender ดูเหมือนจะเป็นแบรนด์กีตาร์ที่มั่นคง และยังมีความก้าวหน้าด้านการผลิตที่ทันสมัย แต่ถึงจะสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมา สุดท้ายทุกอย่างก็ดูย้อนกลับไปที่จิตวิญญาณของดีไซน์ต้นแบบและนวัตกรรมในยุคของลีโอ เฟนเดอร์อยู่ดี

ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น”

       เป็นเรื่องน่าทึ่งที่เฟนเดอร์และทีมของเขามักจะสร้างสรรค์แต่สิ่งที่ใช่ออกมาในช่วงปีแรก ๆ ของนวัตกรรมและการประดิษฐ์ในฟุลเลอร์ตัน จัสติน นอร์เวลล์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารของบริษัท Fender ยุคใหม่ บอกว่าเฟนเดอร์และเพื่อน ๆ ของเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยย่ำอยู่กับที่

“ลีโอเคยพูดว่า ‘หากฉันมีเงิน 100 ดอลลาร์เพื่อทำอะไรสักอย่าง ฉันจะใช้เงิน 99 ดอลลาร์เพื่อให้มันทำงานได้ และอีกหนึ่งดอลลาร์จะทำให้มันออกมาสวยงาม’ นั่นเป็นดอลลาร์ที่ใช้คุ้มที่สุดและไปได้ไกลที่สุดแล้ว” นอร์เวลล์ พูดถึงเฟนเดอร์

ในปี 1985 เฟนเดอร์และจอร์จ ฟุลเลอร์ตัน กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งโดยเปิดบริษัทสร้างกีตาร์ชื่อว่า G&L Musical Instruments หรือ G&L ในวัย 76 ปี นี่คือผลงานโค้งสุดท้ายของยอดนักสร้างรายนี้ แน่นอนว่าเฟนเดอร์ไม่ลืมที่จะขิงใส่แบรนด์อื่นด้วยการบอกว่า “กีตาร์ G&L คือกีตาร์ที่ดีที่สุดตั้งแต่ผมสร้างมาเลย” 

ปี 1979 เอสเธอร์ ภรรยาของเขาเสียชีวิตหลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดมานาน (แม้ว่าเธอและเฟนเดอร์จะไม่สูบบุหรี่) หนึ่งปีต่อมา เฟนเดอร์พบรักใหม่กับภรรยาคนที่สองของเขา ฟิลลิส ดัลตัน ผ่านทางฟุลเลอร์ตันและภรรยา ทั้งสองแต่งงานกันเมื่อเดือนกันยายนปี 1980 และใช้เวลาด้วยกัน 11 ปี ก่อนที่เฟนเดอร์จะเสียชีวิตในปี 1991 ด้วยวัย 82 ปี

ดัลตัน เคยเล่าว่าสามีของเธอเป็นคนเงียบขรึมและมีความเป็นส่วนตัวมาก ๆ “เขาเป็นคนที่ช่างเขินอายเหลือเกิน เขาเหมือนพวกคนอัจฉริยะอีกมากมายที่พอใจจะอยู่กับตัวเองและทำงานในโลกเล็ก ๆ ของเขา ดังนั้นการเข้าสังคมของเขาอาจไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่เขามีความฝัน และเขาก็จงรักภักดีต่อความฝันนั้น เขาถูกครอบงำด้วยความปรารถนานี้ และซื่อสัตย์ต่อมันเสมอ”

ไม่ยากเลยที่จะบอกว่าอะไรคือมรดกตกทอดของเฟนเดอร์ มันอยู่ตรงนั้นทุกครั้งที่คุณเห็นใครบางคนหัดเล่นกีตาร์ Telecaster, Stratocaster หรือแม้แต่เบส StingRay “ลีโอเป็นคนที่ร่ำรวยและเป็นที่รู้จักกันดี รวมถึงเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก และยังคงเป็นจนถึงทุกวันนี้ ผมสงสัยนะว่าจะมีที่ไหนในโลกที่คุณไป แล้วพวกเขาจะไม่เคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับลีโอ เฟนเดอร์ น่ะ จะมีคนสักกี่คนที่จะเป็นได้แบบเขา” จอร์จ ฟุลเลอร์ตัน มือขวาคนสำคัญของเฟนเดอร์ กล่าวถึงอดีตบอสและเพื่อนสนิทของเขา

[caption id="attachment_22090" align="aligncenter" width="1200"] ลีโอ เฟนเดอร์ บิดาแห่งกีตาร์ “Fender” ช่างซ่อมวิทยุ อดีตนักบัญชี ผู้เล่นกีตาร์ “ไม่เป็น” จอร์จ ฟุลเลอร์ตัน และลีโอ เฟนเดอร์[/caption]

       เสียงแห่งแรงบันดาลใจที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของเหล็กและไม้ จากกีตาร์ Fender คู่ใจของ จิมี เฮนดริกซ์ ในเพลง ‘Voodoo Chile’ กลายเป็นภาพความประทับใจที่จุดไฟให้ใครต่อหลายคนเริ่มอยากเล่นกีตาร์ (แม้การทำลายและเผากีตาร์ของเฮนดริกซ์ จะเป็นสิ่งที่เฟนเดอร์ออกมาบอกว่าเกลียดมาก ๆ) เสียงกีตาร์ในวันนั้นเป็นการส่งต่อด้านวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์จากฮีโร่สู่ฮีโร่ ออกมาเป็นเหล่านักดนตรีชั้นยอดของโลก เช่น สตีวี เรย์ วอห์น, เอริค แคลปตัน จนถึง จอห์น เมเยอร์

จะเป็นดนตรีท่วงทำนองหนัก ๆ แบบร็อก เสียงจากสเกลเพนทาโทนิกแบบบลูส์ การสตั๊มคอร์ดฟังกี้ของ ไนล์ ร็อดเจอร์ส หรือแม้กระทั่งเพลงกรันจ์ของเหล่าวัยรุ่นยุค 90s ของ เคิร์ท โคเบน อย่าง ‘Smells Like Teen Spirit’ ทุกคนล้วนมีอาวุธคู่กายที่ชื่อว่า Fender และมันถูกสร้างโดยคนที่ตาบอดหนึ่งข้าง ที่ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง แถมยังเล่นกีตาร์ไม่เป็นด้วยซ้ำ

ชายคนนั้นมีชื่อว่า ลีโอ เฟนเดอร์

 

ที่มา: https://guitar.com/features/interviews/leo-fender-the-guitar-genius-who-couldnt-play-a-note/

https://www.guitarinsite.nl/LeoFender_eng.php

https://laterbloomer.com/leo-fender/

http://www.ouramericannetwork.org/story?title=The-Story-of-Leo-Fender