เควิน แพลงค์ อดีตเด็กเสเพล ผู้สร้างอาณาจักรชุดเกราะ Under Armour

เควิน แพลงค์ อดีตเด็กเสเพล ผู้สร้างอาณาจักรชุดเกราะ Under Armour
ทำไมเสื้อผ้าที่ใส่ซ้อมและแข่งถึงดูดซับเหงื่อไม่ดีและเปียกโชกตลอดเวลา ทำไมถึงไม่มีใครผลิตเสื้อผ้าคุณภาพดีสำหรับการซ้อมออกมาบ้าง กลายเป็นคำถามตั้งต้นที่ทำให้ เควิน แพลงค์ (Kevin Plank) สร้างอาณาจักรชุดเกราะ Under Armour ที่โด่งดังจากการผลิตเสื้อผ้าที่ใช้ซ้อมแข่ง จนแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Nike และ Adidas ถึงขั้นร้อน ๆ หนาว ๆ !!  แม้แพลงค์จะก้าวลงจากบัลลังก์ซีอีโอของ Under Armour อย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปีนี้ ด้วยมรสุมรุมเร้าสะสมหลายประการ ทั้งคุณภาพสินค้าที่ด้อยลง ทั้งที่คุณภาพเคยเป็นจุดขายสำคัญ, คนใหญ่คนโตในบริษัทมีข่าวฉาวเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศพนักงาน รวมถึงปัญหาทางการเมือง เมื่อแพลงค์ประกาศสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ จอมเหยียดเชื้อชาติและชนชั้นเป็นประธานาธิบดี เป็นเหตุให้ผู้บริโภคประกาศบอยคอต เลิกซื้อสินค้าของบริษัท และอื่นๆ อีกมากมาย ถึงขนาดมีคอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์ร่วมกันส่งเสียงให้เขาลาออกเสียด้วยซ้ำ แต่อีกแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงจากตำแหน่งของแพลงค์ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะหากไม่ได้เขาลงทุนลงแรงปลุกปั้น Under Armour จากศูนย์ จนบริษัทมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ บริษัทคงไม่กลายมาเป็นผู้นำในการผลิตสินค้าหลายประเภท ชนิดที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Nike และ Adidas ยังต้องเอาเยี่ยงอย่าง และมั่นใจได้ว่าหากเขาไม่ได้ตั้งไข่ Under Armour มากับมือ ต่อให้บริษัทเติบโตแต่ก็คงทำได้เพียงเดินตามหลัง Nike, Adidas, Puma, Reebok อย่างเดียว ไม่มีวันกลายมาเป็นผู้นำที่แท้จริงได้ ย้อนกลับไปสมัยที่แพลงค์ยังเด็ก เขาเป็นลูกชายคนที่ 5 และเป็นคนสุดท้องของครอบครัว การเติบโตมาโดยมีพี่ชายอีก 4 คนช่วยเลี้ยงดู ทำให้เขามักโดนแกล้งเป็นประจำ “พี่ ๆ จะชอบดึงกางเกงในผมให้รัดเป้า และจับผมขังไว้ในตู้เสื้อผ้า นั่นคือวิธีการเลี้ยงน้องของพวกเขาครับ” เมื่อเป็นเช่นนั้น แพลงค์จึงต้องมีร่างกายแข็งแรงเพื่อจะเอาตัวรอดและต่อกรกับพี่ชายจอมแสบได้ เขามุ่งมั่นกับการออกกำลังกาย โดยกีฬาที่เขาเชื่อว่าจะเพิ่มความแข็งแกร่งและสร้างความเป็นนักสู้ได้ดีที่สุดก็คือ กีฬาอเมริกันฟุตบอล ข้อดีของแพลงค์ที่มีมาตั้งแต่เด็กคือ หากเขาเอาจริงเอาจังกับสิ่งไหน ก็จะใส่ใจกับสิ่งนั้นจนสุดทาง เมื่อคิดจะเอาดีกับกีฬาอเมริกันฟุตบอล แพลงค์ก็มุ่งมั่นจนได้รับคำชมไม่น้อย นอกจากนี้ การเติบโตมากับพี่ชายอีก 4 คนยังฝึกให้เขามีภาวะความเป็นผู้นำสูง กล้ายืนหยัดด้วยตัวเอง ทำให้เขาเป็นที่รักและไว้ใจในหมู่เพื่อนว่าสามารถฝากผีฝากไข้ได้ แพลงค์ใฝ่ฝันว่า สักวันหนึ่งจะได้ลงแข่งอเมริกันฟุตบอลให้มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศ แต่การอยู่ในสังคมเด็กผู้ชาย ทำให้เขาติดนิสัยความห่าม เลือดร้อน และยังเกเรพอสมควร ช่วงวัยรุ่นเขาไม่ค่อยตั้งใจเรียนจนสอบตกบ่อย ๆ แถมยังเคยเมาแล้วทะเลาะวิวาทกับคนอื่นจนโดนไล่ออกจากโรงเรียนมัธยม กลายเป็นรอยด่างพร้อยที่ติดตัวอยู่นาน และส่งผลต่อการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ เพราะไม่มีใครอยากมอบทุนการศึกษาให้เขา หลังตระหนักได้ว่าตัวเองก่อเรื่องไว้เยอะ แพลงค์จึงพยายามปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เขาสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ในรัฐแมรี่แลนด์บ้านเกิด และสมัครลงแข่งอเมริกันฟุตบอลด้วย ความฝันของเขาเป็นจริงในขั้นแรก เมื่อได้รับคัดเลือกให้ร่วมทีมในตำแหน่งฟูลแบ็ก เป็นตัวบล็อกเปิดทางให้ผู้เล่นตำแหน่งตัววิ่งทำระยะมหาศาล จากผลงานในสนามทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจนได้เป็นกัปตันทีมพิเศษ แพลงค์พิสูจน์ตัวเองว่าปรับปรุงตัวได้ สามารถลบอคติ และความคลางแคลงใจที่ผู้อื่นมีต่อตัวเขาจนหมดโดยสิ้นเชิง “ผมมั่นใจในตัวเองเสมอว่า ว่าถ้าเกิดสิ่งที่ทำอยู่ไม่โอเค ผมจะหาช่องทางในการแก้ไขและทำสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นได้” แพลงค์บอก ตามปกติ นักกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยส่วนมากมักใฝ่ฝันว่าอยากไปแข่งในลีก NFL แต่สำหรับแพลงค์ เมื่อขึ้นปี 4 กลับมีสิ่งอื่นมาหันเหความสนใจ เขาสงสัยว่า ทำไมเสื้อผ้าที่ใส่ซ้อมและแข่งถึงดูดซับเหงื่อไม่ดีและเปียกโชกตลอดเวลา จนต้องเปลี่ยนเสื้ออยู่บ่อย ๆ ซึ่งมันส่งผลให้การเล่นและการฝึกซ้อมไม่สนุกเท่าที่ควร “ในฐานะนักกีฬา ผมไม่ชอบการเปลี่ยนชุดไปมา แต่หลังจากวอร์มร่างกายเสร็จ ผมต้องกลับมาเปลี่ยนเสื้อในที่อยู่ใต้ชุดเกราะทุกครั้ง พอแข่งครึ่งแรกเสร็จ ผมก็ต้องกลับเข้ามาเปลี่ยนชุดอีกรอบเพราะเหงื่อออกเยอะมาก ร่างกายผมไม่ได้มีปัญหาอะไรนะ ผมเหงื่อออกมากเท่ากับเพื่อนคนอื่นนั่นแหละ… แต่มันไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่าความรู้สึกที่มีเหงื่อเยอะจนหนักร่างกายอีกแล้ว และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการเปลี่ยน” [caption id="attachment_20864" align="aligncenter" width="640"] เควิน แพลงค์ อดีตเด็กเสเพล ผู้สร้างอาณาจักรชุดเกราะ Under Armour "เดอะ ร็อค" ดเวย์น จอห์นสัน คือ Global Partnership ของ Under Armour[/caption] ในอดีต บริษัทผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬามักสนแค่การทำชุดสำหรับแข่งที่ดีเท่านั้น แต่กลับไม่ค่อยมีใครสนใจผลิตชุดสำหรับฝึกซ้อม เพราะคิดว่ายากจะถอนทุนได้ นักกีฬาจึงต้องใส่เสื้อเก่า ๆ เหม็นอับ เนื้อผ้าไม่ค่อยดี และดูดซับเหงื่อได้น้อย นั่นทำให้แพลงค์อยากปฏิวัติวงการ อยากปรับปรุงให้การออกกำลังกายและการเล่นกีฬาให้ความรู้สึกที่ดีมากกว่านี้ เพราะหากนักกีฬารู้สึกดีระหว่างซ้อม ก็จะส่งผลถึงความมั่นใจระหว่างแข่ง และยังหมายถึงผลงานที่ดีขึ้นของนักกีฬาเองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬาอย่างอเมริกันฟุตบอลที่เวลาเพียงเสี้ยววินาทีมีค่ามหาศาล การเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วว่องไวและสบายตัว สามารถเปลี่ยนผลแพ้เป็นชนะได้ง่าย ๆ หลังเรียนจบ แพลงค์ในวัย 23 ปี จึงศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาอย่างจริงจัง เขาเริ่มต้นบริษัท Under Armour เมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี 1996 ชื่อบริษัทมีจุดเริ่มต้นจากพี่ชายคนหนึ่งของแพลงค์ที่พูดขึ้นมาลอย ๆ แพลงค์ไม่แน่ใจว่าพี่ชายแค่แซวหรือต้องการอะไร แต่ชื่อก็ติดหูไม่น้อย เขาจึงเลือกใช้ชื่อนี้เสียเลย ส่วนออฟฟิศก็ได้ชั้นใต้ดินของบ้านคุณยายของเขาเป็นฐานทัพในการควานหาผ้าเนื้อดี มีความยืดหยุ่น มาใช้ในการทำเสื้อกีฬา เพราะเขาต้องการให้นักกีฬาที่ใช้ผลิตภัณฑ์ Under Armour รู้สึกสบายตัวเวลาออกไปแข่งกีฬาตอนร้อน ๆ แพลงค์ใช้เวลาพักใหญ่ออกแบบเสื้อต้นแบบเป็นเสื้อเอวลอย มาพร้อมเนื้อผ้าไมโครไฟเบอร์ที่มีความยืดหยุ่น จากนั้นจึงส่งไปให้เพื่อนร่วมทีมในมหาวิทยาลัย รวมถึงเพื่อนที่ได้ไปแข่งใน NFL ได้ทดลองใช้ ปรากฏว่าผลตอบรับจากเพื่อนฝูงล้วนเป็นบวกทั้งสิ้น ทุกคนบอกไปในทางเดียวกันว่า ใส่แล้วรู้สึกเบาสบายขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องเหงื่อเหมือนเมื่อก่อน กลายเป็นกระแสปากต่อปากแนะนำกันไปในกลุ่มนักกีฬาประเภทอื่นด้วย ลงเอยที่แพลงค์ได้งานผลิตเสื้อสำหรับใช้แข่งและฝึกซ้อมให้กับทีมกีฬาของสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย และมหาวิทยาลัยนอร์ธคาโรไลน่าสเตท จากก้าวเล็ก ๆ นำไปสู่ก้าวที่ไกลกว่าเดิม หลังเห็นกระแสในหมู่นักกีฬามือสมัครเล่นเป็นไปด้วยดี ทีมแอตแลนต้า ฟัลคอนส์ (Atlanta Falcons) ทีมอเมริกันฟุตบอลอาชีพในลีก NFL เจ้าของสมญานาม “นกสกปรก” จึงติดต่อขอนำผลิตภัณฑ์ไปลองให้ผู้เล่นสวมใส่ดูบ้าง ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน เกิดกระแสบอกกันปากต่อปาก (อีกแล้ว) จากอีกทีมสู่อีกทีม จนเกือบจะทุกทีมต้องขอลองพิสูจน์ แน่นอนว่าเสื้อของ Under Armour ไม่ทำให้ใครผิดหวัง อีกหนึ่งดีลที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของ Under Armour คือการทำสัญญากับผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Any Given Sunday (1999) หนังเกี่ยวกับแวดวงอเมริกันฟุตบอลของผู้กำกับชั้นครู โอลิเวอร์ สโตน ทุกฉากสำคัญของเรื่อง ตัวละครจะใช้และสวมใส่เสื้อผ้าของ Under Armour เท่านั้น นั่นเป็นครั้งแรก ๆ ที่ผู้คนในวงกว้างได้มองเห็นและจดจำโลโก้ที่เป็นตัวอักษร U และ A ไขว้กัน กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สื่อถึงแบรนด์กีฬาสุดทะมัดทะแมง ที่เมื่อสวมใส่แล้วทำให้ออกไปแข่งกีฬาที่เป็นเสมือนการออกรบด้วยความมั่นใจ เมื่อสินค้าเป็นที่จดจำในตลาด แพลงค์ก็ยิ่งมีกำลังใจในการผลิตของดีมีคุณภาพออกมาขายมากกว่าเดิม “ใครก็ตามที่ผลิตของดีที่สุดออกมาจะเป็นฝ่ายชนะ และผมเชื่อว่าสินค้าที่ดีที่สุดคือสินค้าของเรา” และต่อให้แบรนด์ของเขาจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้ได้แล้ว เขาก็ตั้งใจว่าจะไม่ลดทอนคุณภาพของสินค้าลงโดยเด็ดขาด “เราไม่สามารถแปะโลโก้บนผลิตภัณฑ์ และหวังว่าผู้บริโภคจะซื้อไปเพราะเขาแค่ชอบโลโก้เพียงอย่างเดียว คุณจะไม่มีวันเห็นเราทำแบบนั้นแน่นอน” ใต้การกุมบังเหียนของแพลงค์ Under Armour ไม่เคยหยุดพัฒนา สิ่งไหนที่ดีอยู่แล้วจะต้องพัฒนาให้ดีขึ้น หากมีคำติจากลูกค้า ก็จะนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงต่อไป หากมีช่องทางไหนสามารถเติบโตได้มากกว่าเดิม เขาก็จะลุยเต็มที่ จากที่สนใจตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เขาค่อย ๆ หาช่องทางให้ “อาณาจักรชุดเกราะ” ขยายเติบโตในตลาดโลก โดยไปพร้อมประเภทกีฬาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อเมริกันฟุตบอลเพื่อสร้างฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น แพลงค์เลือก “ฟุตบอล” ด้วยการทำสัญญาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอล ทอตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นต้น และยังเป็นผู้สนับสนุนหลักของ แอนดี้ เมอร์เรย์ นักเทนนิสชาวอังกฤษด้วย พร้อมกับขยายตัวเองไปอีกขั้น ด้วยการทำเสื้อผ้าลำลองให้ทุกคนสวมใส่ออกไปเที่ยวและทำกิจกรรมนอกบ้าน และเมื่อมีผลกำไรมากขึ้น แพลงค์ก็นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการผลิตสินค้า ทำให้ไม่เพียงผลิตได้รวดเร็วขึ้น แต่ยังได้สินค้าที่มีนวัตกรรมเพิ่มขึ้น แพลงค์ยังเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ จากที่มาดแมนเกินไปจนผู้หญิงคิดว่า Under Armour ไม่เหมาะกับพวกเธอ (แน่นอนว่ายุคหลังมานี้ ผู้หญิงคือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น จนทุกแบรนด์มองข้ามไปไม่ได้) มาทำการเจาะกลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะ เลือกนางแบบสาวผู้ดูแลร่างกายตัวเองอย่างดีมาโดยตลอดอย่าง จีเซล บุนด์เชน มาเป็นแอมบาสเดอร์ของแบรนด์ พร้อมกับปล่อยโฆษณาที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก ยกระดับบริษัทขึ้นไปอีกขั้นว่านี่ไม่ใช่แบรนด์สำหรับผู้ชายแต่อย่างเดียวแล้ว แต่ผู้หญิงก็สามารถใช้และดูดีได้ไม่แพ้กัน

[embed]https://www.youtube.com/watch?v=H-V7cOestUs[/embed]

ช่วงเวลา 24 ปีที่ผ่านมาของแพลงค์ และ Under Armour มีช่วงที่ประสบความสำเร็จมากกว่าล้มเหลว แม้ช่วงหลัง ๆ จะเริ่มเป๋และพลาดเป้าบ่อยขึ้น ถึงสัดส่วนความผิดพลาดยังเทียบความสำเร็จไม่ได้ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นในบอร์ดบริหาร ผู้ถือหุ้น รวมถึงผู้บริโภคด้วยเช่นกัน แพลงค์เองเข้าใจในจุดนี้ดี “ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง มีเรื่องที่ผมทำแล้วเสียใจภายหลังบ้างไหม แน่นอนว่าคนจำนวนมากย่อมมี แต่ผมก็ยังภาคภูมิใจในตำแหน่งที่เราอยู่ และการที่เรามาได้ไกลถึงขนาดนี้” ถึงอย่างนั้น ความสำเร็จที่ยืนระยะมาอย่างยาวนานก็ไม่สามารถต้านพายุลูกแล้วลูกเล่าที่ซัดเข้ามาได้ เพราะทั้งเรื่องสินค้าด้อยคุณภาพ การล่วงละเมิดทางเพศพนักงาน รวมทั้งจุดยืนทางการเมืองของแพลงค์ในฐานะซีอีโอขององค์กร ทุกอย่างล้วนส่งผลต่อภาพลักษณ์ และแน่นอนที่สุด “รายได้” หลังจากใช้เวลาตัดสินใจอยู่นาน แพลงค์ก็ประกาศในเดือนตุลาคม ปี 2019 ว่าจะถอนตัวจากการเป็นซีอีโอ โดยมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม ปี 2020 พร้อมส่งไม้ต่อให้ แพทริค ฟริสค์ (Patrik Frisk) มือขวาของเขาซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจอุปกรณ์กีฬามากว่า 30 ปี ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า แพลงค์ลาออกแล้วลาออกเลย เขายังดำรงตำแหน่งเป็น Executive Chairman ของบริษัท แต่เปลี่ยนหน้าที่จากการลงไปคุมงานทุกอย่างด้วยตัวเอง เป็นการเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ คอยให้คำแนะนำฟริสค์เกี่ยวกับการบริหารงาน และฟริสค์ก็ต้องรายงานผลของการทำงานต่อเขาเช่นกัน ต้องติดตามกันต่อไปว่า Under Armour ภายใต้การบริหารงานของทีมชุดใหม่จะพาแบรนด์ไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันหลังจากแพลงค์ออกจากตำแหน่งปุ๊บ โลกก็เกิดวิกฤตไวรัสโคโรน่าแพร่ระบาดพอดี ส่งผลกระทบต่อวงการธุรกิจทั่วโลก นี่คือก้าวย่างที่ไม่ง่าย แต่หากสามารถพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส การกลับมาเป็นมือวางอันดับต้น ๆ ของวงการก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม และในเมื่อนี่คือบริษัทที่มีประวัติในการทำสิ่งที่ไม่มีใครคิดได้มาก่อน ก็ไม่น่าแปลกใจหาก Under Armour สามารถทำได้จริง ๆ   ที่มา https://footwearnews.com/2019/business/power-players/under-armour-ceo-kevin-plank-interview-1202737748/ https://fortune.com/2019/10/22/under-armour-ceo-founder-kevin-plank-patrik-frisk/ https://www.businessinsider.com/kevin-plank-net-worth-under-armour-ceo-money-lifestyle-2019-10 https://www.theglobeandmail.com/report-on-business/careers/careers-leadership/how-kevin-planks-under-armour-took-on-nike/article15683216/ https://www.si.com/more-sports/2009/04/09/under-armour https://www.businessinsider.com/under-armour-history-to-uncertainty-2019-8#by-the-early-2000s-under-armour-was-soaring-the-company-was-expanding-into-new-merchandise-and-advertising-on-television-sales-exceeded-200-million-by-2004-and-plank-decided-to-take-the-company-public-in-2005-the-company-raised-157-million-in-the-ipo-6 https://www.businessinsider.com/15-facts-about-under-armour-history-name-2015-11#10-under-armours-biggest-market-is-in-the-us-but-its-biggest-team-deal-is-in-the-uk-with-the-london-soccer-team-tottenham-hotspur-10   เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย