วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น

วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น
จากเด็กคนหนึ่งที่เคยไม่ชอบเรียนหนังสือ แถมยังไม่ชอบไปโรงเรียน ตัดสินใจหันหลังให้กับงานนักวิเคราะห์ด้านการลงทุนในธนาคารข้ามชาติ และธุรกิจอื่น ๆ ที่กำลังไปได้ดี เพื่อมาเปิดโรงเรียนเล็ก ๆ ของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ได้มาเป็นคุณครูในวันนี้ อาจมาจากคำถามหนึ่งที่เธอได้ถามคุณพ่อของเธอในยามที่เธอยังเป็นเด็กว่า การเป็นนักธุรกิจนั้นได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติหรือกำลังเอาเปรียบคนอื่นอยู่หรือเปล่า รวมทั้งคำสอนของคุณแม่ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษา คำตอบของคุณพ่อเธอในวันนั้นคืออะไร ทำไมถึงมีส่วนให้คนที่น่าจะห่างไกลจากอาชีพครูมากที่สุดคนหนึ่งอย่างเธอ ถึงต้องยอมเหนื่อยกายใจ สร้างโรงเรียนในฝันขึ้นมา อีกทั้งยังจัดทำออกแบบหลักสูตร และลงมือลงแรงสอนด้วยตัวเอง เพื่อแลกกับการให้เด็ก ๆ เรียกเธอว่า ‘คุณครู’ ติดตามได้จากสัมภาษณ์พิเศษของ The People นี้ วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น วรรณี: ดิฉันเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน แล้วก็เป็นผู้อำนวยการด้วยหน้าที่หลักตอนนี้คืองานในเชิงบริหารดูแลการเงิน และที่สำคัญที่สุดคือดูเรื่องปณิธานของโรงเรียนว่าเป็นไปตามที่ตั้งไว้หรือไม่ หมายความว่าทุกอย่างต้องเข้ากับพันธกิจของโรงเรียน ซึ่งเราถือว่าเป็นหัวใจของโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียนโดยเฉพาะ แล้วอีกเรื่องที่ทำคือดูแลเกี่ยวกับงานบริการสังคม หรือ community service ของนักเรียน The People: การเป็นสมาชิกครอบครัวที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้หันเหสนใจเรื่องการศึกษาแทนที่จะเป็นธุรกิจอื่น ๆ วรรณี: ที่จริงไม่เคยสนใจเรื่องการศึกษาเลย สมัยก่อนถ้าบอกคนอื่นว่าจะมาเปิดโรงเรียนต้องมีคนหัวเราะ เพราะตอนเด็ก ๆ เป็นคนไม่ชอบไปเรียนหนังสือ คือไม่ชอบโรงเรียนเลย จนต้องเปลี่ยนโรงเรียนเยอะมากแล้วไปอยู่ต่างประเทศหลายรอบได้ไปอยู่อเมริกาตั้งแต่อายุ 13 ตอนที่อยู่ที่อเมริกาก็เปลี่ยนไป 2 โรงเรียน แต่ที่มาสนใจการศึกษา จริง ๆ แล้วมันตอบโจทย์ที่เคยคิดไว้ตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนที่สมัครมหาวิทยาลัยแล้วเขาถามว่าเรามีฝันอะไร เราบอกว่าอยากกลับมาช่วยพัฒนาประเทศ หลังจากเรียนจบสิ่งที่เราพอจะรู้คือเรื่องการเงิน เลยไปเป็นนักวิเคราะห์ด้านการลงทุน ที่ธนาคาร Chase Manhattan Bank อยู่ 3 ปี ตอนนั้นทำให้รู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่อยากจะทำ เลยย้ายไปอยู่ฮ่องกงไปหาเพื่อนหลาย ๆ คนที่เป็นสถาปนิก ช่วยกันตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ CL3 Design จำกัด ในฮ่องกงขึ้นมา ทำเกี่ยวกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอก โดยเราเป็นคนบริหารฝั่งธุรกิจ ทำการตลาด บริษัทก็ประสบความสำเร็จมาก ทุกวันนี้ก็ยังมีชื่อเสียงอยู่ในฮ่องกง จนช่วงที่มีลูกแล้วกำลังหาโรงเรียนให้ลูก ตอนนั้นอยากให้ลูกได้เรียนภาษาจีนเพราะรู้สึกว่าอนาคตภาษาจีนสำคัญแน่นอน เพราะตอนนั้นระหว่างที่เดินทางไปที่ไหน แม้จะเป็นทวีปอเมริกาใต้ ของชำร่วยหลายอย่างก็ยัง made in China คือทำในจีน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนจะเห็นว่าจีนไม่สำคัญ ขายแต่สินค้าถูก ๆ แต่ถ้าเรายังจำได้ญี่ปุ่นก็เคยเป็นอย่างนั้น และญี่ปุ่นก็กลายเป็นประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นถ้าเดินทางแล้วเห็นสินค้าจีนไปถึงทุกแห่งในโลก ไม่ช้าไม่นานเขาก็จะพัฒนาได้ ประจวบกับการทำงานที่ฮ่องกง มีประสบการณ์กับนักธุรกิจจีน ได้เห็นการก้าวกระโดดเดินหน้าไปไม่ยึดติดกับเรื่องเก่า ๆ หรือว่าวิศวกรรมเก่า ๆ ข้ามไปลองสิ่งใหม่ ๆ เลย ทำให้เห็นว่ามันมีอนาคตแน่นอน ตอนนั้นคิดว่าจะให้ลูกเรียนที่ฮ่องกง เพราะจะได้เรียนภาษาจีนด้วย โรงเรียนที่อยากให้ลูกเรียน ชื่อว่า Chinese International School ระหว่างที่นั่งรอสมัครก็เห็น mission statement ของโรงเรียนว่าอยากให้เด็กกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้น พอได้เห็นปณิธานโรงเรียนก็คิดว่าจริง ถ้าเด็กกลุ่มนี้ตัดสินใจจะเป็นคนดี เขาจะเอาโอกาสที่เขามีไปทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ในเวลาเดียวกัน ถ้าเอาอำนาจไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็สามารถทำเรื่องที่ผิดให้ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน อย่างในช่วงปี 1997 ที่เศรษฐกิจถล่มทลาย ไม่ใช่เพราะคนไม่มีการศึกษา แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของโลกเกิดจากคนฉลาดและมีการศึกษา เขาสามารถทำ impact ทำให้ดีขึ้นได้เยอะ และเสียหายได้เยอะเช่นเดียวกัน เลยอยากเชิญเขามาตั้งโรงเรียนที่ประเทศไทยบ้าง ไปเชิญมาหลายรอบแต่ director ของโรงเรียนก็บอกว่าทำไมไม่ลองตั้งเองเลย เขาบอกว่าโรงเรียนต้องทำจากใจถ้าอยากตั้งโรงเรียนก็ตั้งเองเลย เดี๋ยวเขาจะช่วยสนับสนุนด้วยการจัดหาส่งคนมาให้ โรงเรียนเขาเองก็ตั้งขึ้นจากคุณแม่เพียงไม่กี่คน เขาเคยช่วยตั้งโรงเรียนที่อเมริกาเหมือนกัน เราคิดไปคิดมาว่าเราไม่ชอบเรียนหนังสือ จะมาตั้งโรงเรียนนี่นะ แต่สุดท้ายแล้วมันตอบโจทย์ที่ว่าถ้าทำตรงนี้ได้อาจจะสร้างเด็กรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะไม่เยอะเพราะว่าเราเป็นโรงเรียนเล็ก แต่ทุกคนที่เราสร้างนั้นอยากให้มี impact กับสังคมในระดับใหญ่ ตอนนี้นักเรียนของเราทำ service เยอะมาก แต่ไม่เฉพาะการให้เปล่าเพียงอย่างเดียว เราไม่อยากให้เป็นการให้เปล่าเฉย ๆ แต่เป็นการให้ที่อยู่ในธุรกิจที่พวกเขาทำทุกอย่าง เป็นสิ่งที่เราคิดว่าถ้าเกิดเด็กกลุ่มนี้คิดได้แบบนี้ impact ที่มีจะไม่ใช่แค่ครอบครัวเขา แต่จะเป็นสังคมโดยรวม หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้เด็กกลุ่มนี้มีจิตสำนึกที่มีความเมตตา มีคุณธรรม มีความเผื่อแผ่ต่อคนอื่น วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น The People: เริ่มก่อตั้งโรงเรียนที่ประเทศไทยตอนไหน วรรณี: เริ่มทำโรงเรียนประมาณปี 2001 เราพอเข้าใจเรื่องการเงิน ก็เลยยังไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างโรงเรียนทันที เราเริ่มจากการที่ว่าเช่าสถานที่ก่อน แล้วก็เปิดจากเล็ก ๆ ตอนนั้น real estate ในประเทศไทยย่ำแย่ เลยไปเช่าพื้นที่ clubhouse เอาไป renovate ใหม่ พอสนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดเรารู้ว่าเครื่องบินต้องบินผ่าน เลยคิดว่าตรงที่เดิม ไม่น่าจะเหมาะสมกับการเป็นโรงเรียน ก็ขับรถตระเวนหาที่จนมาเจอที่ตรงนี้ แต่ก่อนเป็นทุ่งหมดเลยโรงเรียนเราเข้ามามีแต่ทุ่งหญ้ากับต้นยูคาลิปตัส พอดีคิดว่าอยากได้โรงเรียนที่ดูธรรมชาติหน่อยเลยคิดว่าที่ตรงนี้ดี โชคดีที่เจ้าของเก่าท่านก็จบครู เลยยอมขายที่ดินให้ แล้วตอนนั้นเลยทำเป็นโครงการร่วมกับน้องสาว ชื่อแมกโนเลีย เป็นที่มาของการเริ่มต้นของเรา The People: โรงเรียนแห่งแรกของทุกคนคือที่บ้าน การที่มาทำงานด้านนี้ได้ประยุกต์สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนมายังไงบ้าง วรรณี: คุณพ่อพวกเรา 5 คนทำงานหนักมาก เราเลยจะอยู่กับคุณแม่เยอะ คุณแม่จะสอนเสมอว่าการศึกษาคือสมบัติที่ยั่งยืนที่สุดที่จะให้ได้ ทุกอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้อาจจะมาแล้วไป จะอยู่หรืออาจจะไม่อยู่เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งเห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจริง ตั้งแต่เด็ก ๆ จนโตขึ้นมา ในเวลาเดียวกันคุณแม่สอนเสมอว่าเราต้องไม่ตัดสินคนจากสิ่งที่เห็นภายนอก ให้ดูจากข้างในของเขา เพราะทุกคนมีค่าเหมือนกัน อย่างที่บ้านของเรา ตั้งแต่เด็ก ๆ พี่เลี้ยงเราก็ต้องเรียกพี่ คนขับรถต้องเรียกคุณน้าคุณอา ต้องสวัสดีถ้าเขาอายุมากกว่าเรา คุณแม่สอนให้เราเคารพทุกคน ซึ่งเราได้นำมาสอนกับนักเรียนของเรา ส่วนคุณพ่อก็เป็นคนแบบนั้นเหมือนกัน เวลาคุณพ่อไปเยี่ยมคนที่ต่างจังหวัด ไปเดินอยู่ข้างคูน้ำ ไปนั่งดูไก่ในที่ทุรกันดารท่านก็เคารพทุกคนเหมือนกัน ปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน อันนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าเราทั้ง 5 คนมีความคิดเหมือนกัน ส่วนตัวพยายามจะถ่ายทอดสิ่งนี้ให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าทุกคนมีค่าเท่ากัน อย่างเช่นแม่บ้านของโรงเรียนก็มีคุณค่าถ้าโรงเรียนไม่สะอาดจะอยู่ได้ยังไง เราเลยจะมีสวัสดิการที่ดีมากให้แม่บ้านของเรา อย่างบางคนอยู่มานาน 19 ปี ตั้งแต่เปิดเลย เราดูแลลูกของพวกเขาหลายอย่าง ถ้าลูกเขาเข้ามหาวิทยาลัยได้เราก็มีทุนการศึกษาให้ มีการประกันสุขภาพเขาเท่ากับผู้บริหาร เพราะเราคิดว่าจริง ๆ ถ้าไม่มีเขาเราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ทุกคนก็มีค่าเท่ากัน คุณแม่ยังสอนให้พวกเราเข้าใจและรักคุณพ่อ เพราะท่านเหนื่อยมากกับการทำงานหนักให้เราได้เรียนหนังสือดี ๆ ส่วนคุณพ่อก็คล้าย ๆ กับคุณแม่ ทั้งคู่มีความคิดคล้ายกันมาก เราจะได้ใกล้ชิดกับคุณพ่อได้คุยเรื่องธุรกิจกันมากขึ้น ตอนอายุ 13 เคยถามคุณพ่อว่าการเป็นนักธุรกิจได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติหรือเปล่า เรากำลังเอาเปรียบคนอื่นหรือเปล่า คุณพ่อบอกว่าไม่จริง คือขอให้มีคุณธรรมในทุกสิ่งที่เราทำ แล้วยึดมั่นในสิ่งนั้น เราสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ แล้วคุณพ่อก็พาไปดูโครงการหนองหว้า ที่ทางบริษัทไปซื้อที่ดินแห้งแล้งแถวฉะเชิงเทราซึ่งปลูกข้าวไม่ได้ แล้วไปเชิญชาวไร่ชาวนาที่ขยันแต่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองมาสร้างเป็นชุมชน สร้างบ้าน สร้างเล้าหมู สร้างโรงเรียนให้ ซื้อรถแทรกเตอร์จัดการให้หมดทุกอย่าง ให้เกษตรกรกลุ่มนี้ได้ทำงาน เลี้ยงหมู ดูแลข้าวโพด โดยมีสัตวแพทย์และยา เตรียมไว้ให้ ยังจำได้เลยว่าสมัยนั้นคนในกรุงเทพยังใช้ถ่านหุงข้าว แต่เล้าหมูมีการเก็บมูลทำเป็นแก๊สต่อเข้าไปในห้องครัวแล้ว จากที่ไม่มีอะไรเลยภายใน 7 ปี ทุกอย่างจะกลายเป็นของเขาหมด นอกจากนี้ยังมีการการันตีราคารับซื้อให้ด้วย คือไม่มีทางขาดทุนเลย ตอนนั้นรู้แต่ว่าเราได้ทำอะไรดี ๆ บางอย่าง จนพอโตขึ้นได้ย้อนคิดว่าคุณพ่อได้อะไรจากตรงนี้ เพราะการการันตีราคาเราอาจจะขาดทุนด้วยซ้ำไป คุณพ่อบอกว่าเราได้สินค้าที่มีคุณภาพไม่ขาดสาย เพราะคนที่เป็นเจ้าของย่อมดูแลคุณภาพของสัตว์เลี้ยงเขา เราได้เนื้อหมูที่มีคุณภาพไม่มีสารพิษ ที่สามารถเอาไปขายแปรสภาพแล้วส่งออกได้ เราไม่จำเป็นต้องมาหากำไรกับเกษตรกร เราสามารถได้กำไรจากการส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เพราะขายต่างประเทศราคาดีกว่า อันนี้ทำให้พวกเราทุกคนในครอบครัวมีความคิดคล้าย ๆ กันว่าสิ่งที่เราทำนั้นอย่าคิดว่าเราต้องได้กำไรสูงสุดในทุกจุดที่ทำ คุณพ่อสอนเสมอเรื่องผลกระทบระยะยาว บางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องตอนโดนขโมยรถที่อเมริกา พอโทรศัพท์มาบอกคุณพ่อ แทนที่ท่านจะตกใจและดุว่า ท่านกลับบอกแค่ให้รีบไปซื้อรถเลยเดี๋ยวไม่มีรถขับไปส่งน้องเรียนหนังสือ แต่ตอนกลับมาเยี่ยมบ้านแล้ววางกระเป๋าทิ้งไว้ในห้องรับแขก พอคุณพ่อเจอกระเป๋าสตางค์กลับโกรธมาก บอกว่าทำไมถึงไม่มีความรับผิดชอบขนาดนี้ เอากระเป๋าสตางค์มาวางอย่างนี้ได้ยังไง ถ้าเกิดของหายจะทำอย่างไร เราก็ตกใจว่ากระเป๋าสตางค์วางไว้ในบ้านแค่ไม่นานไม่น่าเป็นปัญหา พี่แม่บ้านก็อยู่กับเรามานานคงไม่ขโมย แต่คุณพ่อบอกว่ารถหายทั้งคันไม่ว่าอะไร แต่การไม่รับผิดชอบกระเป๋าสตางค์แล้ววางไว้อย่างนั้นจะเป็นสิ่งล่อตาล่อใจ เกิดมีคนมาหยิบด้วยเหตุผลอย่างอาจจะเพราะจำเป็นต้องใช้เงิน เรากำลังเป็นคนที่มีส่วนสร้างผู้ร้าย เรากำลังทำให้คน ๆ หนึ่งกลายเป็นขโมยด้วยความไม่รู้จักรับผิดชอบของเรา ผลกระทบที่ตามมาอาจจะทำให้เขาตกงานส่งผลกระทบกับชีวิตครอบครัวเขาต่อไปได้ สิ่งนี้เองที่ทำให้เรานำเรื่องผลกระทบระยะยาวมาสอนในโครงเรียนของเราด้วย วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น The People: การศึกษาที่ดี หรือโรงเรียนที่ดีควรจะเป็นยังไง วรรณี: สำหรับฉันคิดว่าคุณครูสำคัญที่สุด คุณครูคือแรงบันดาลใจของนักเรียน คุณครูที่รู้จักให้กำลังใจนักเรียน ไม่ตัดสินจากแค่คะแนนเรียนของเขา หรือถ้าเห็นว่าเขามีปัญหาก็ทุ่มเทเข้าไปช่วย ไม่ได้ชื่นชมเฉพาะเด็กที่เรียนเก่งอย่างเดียว คุณครูแบบนี้มีความหมายมากกว่าเยอะ เพราะเด็กทุกคนนอกจากพ่อแม่ของตัวเองแล้ว ผู้ใหญ่คนต่อไปที่เขารัก เคารพ หรืออยากจะรัก เคารพ น่าจะเป็นคุณครู เพราะฉะนั้นคุณครูที่มีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจนั้นสำคัญกว่าคุณครูที่เก่งเสียอีก ในชีวิตของทุกคนจะต้องมีคุณครูคนหนึ่ง หรือหลายคนก็ได้ ที่ช่วยเราหรือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เรา คอยเข้าใจเรา ทำให้อยากตั้งใจทำงานให้เขา อยากจะเก่งกว่านี้ให้เขาภูมิใจ แต่ว่าถ้าเป็นครูที่ชอบประชดประชันดุด่าว่านักเรียน จริง ๆ เด็กไม่มีใครหรอกอยากจะโดนดุว่า ก่อนที่จะดุเด็กที่ไม่ส่งการบ้านได้คุยกับเขาหรือยังว่าทำไมถึงไม่ได้ทำ เมื่อคืนนี้พ่อแม่อาจทะเลาะกันแล้วเขาอาจจะนอนร้องไห้ทั้งคืนก็ได้ หรืออาจมีเรื่องปัญหาอย่างอื่นที่เราไม่รับรู้ เราไม่ควรไปตัดสินว่าเขาเป็นเด็กไม่ดีเพราะแค่ไม่ส่งการบ้าน ตั้งแต่ทำโรงเรียนมา 19 ปี ไม่เคยเจอเด็กเกเรที่ไม่มีปัญหาส่วนตัว จริง ๆ แล้วเด็กเกเรก็ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ที่เกเรคือไม่ค่อยทำการบ้าน ไม่ค่อยตั้งใจเรียนหนังสือ The People: การหาคุณครูผู้สอนที่เข้ากับปรัชญาการสอนของโรงเรียนยากแค่ไหน วรรณี: ส่วนหนึ่งเราสร้างเองด้วย เพราะเรื่องบางเป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทย และเอเชียด้วยแต่จริงๆ แล้วปรัชญาของโรงเรียนคล้ายคลึงกับปรัชญาของ IB มาก และโรงเรียนเราก็มีการอบรมเยอะมาก เนื่องด้วยโรงเรียนเป็นระบบ IB หรือ International Baccalaureate ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาต่อและปรับตัวในการศึกษาต่อได้กับทุก ๆ ระบบการศึกษาในโลก ครูทุกคนต้องไปอบรมกับทาง IB ทุกปีเราจะให้ครูทุกคนไปอบรมเพิ่มเติม เพื่อจะได้เข้าใจหลักปรัชญาของการสอนของระบบ IB ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กลงลึกในการทำ research และก็รู้จักถามคำถามที่ถูกต้อง แล้วเรียนรู้จากตัวเอง เรียนรู้จากการทำงาน ค้นคว้าเยอะมากอย่างนี้ แล้วแน่นอนการเรียน 3-4 ภาษาการท่องจำยังต้องมีบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่คะแนนระดับที่สำคัญคือการเข้าใจและการวิเคราะห์ The People: ต้นทุนในการจัดการการศึกษาก็คงมหาศาลทีเดียว ในฐานะที่เป็นนักการเงินเก่านี่จัดการกับมันยังไงครับ วรรณี: การมาทำโรงเรียนนี่ถือว่าล้มเหลวในฐานะนักการเงิน (หัวเราะ) เพราะใช้เงินเปลืองมาก เรามีคุณครู 200 กว่าคน สำหรับนักเรียน 900 กว่าคน ถ้านับรวมเจ้าหน้าทั้งหมด สัดส่วนครูกับนักเรียนน่าจะประมาณ 3 ต่อ 1 ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเราสอนระบบ 3 ภาษา เลยต้องมีครูที่คอยสนับสนุนเด็กตลอดเวลา คุณครูในระบบ IB จะต้องรู้จริงรู้ลึก ครูเกือบทั้งหมดของโรงเรียนเรามีทั้งปริญญาโทและดอกเตอร์ด้วย บางเรื่องครูอาจจะรู้น้อยกว่าเด็กก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้เด็กสามารถค้นคว้า วิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง บางทีรู้เยอะกว่าครูอีก ครูต้องเปิดใจตรงนี้ด้วยว่า ถ้าบางเรื่องรู้ไม่เท่าเด็กเราก็ต้องมาเรียนรู้ด้วยกัน เป็นอีกสิ่งที่สำคัญสำหรับครูในระบบ IB วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น The People: โรงเรียนนี้มีส่วนเติมเต็มชีวิตของคุณครูด้วยหรือไม่ วรรณี: จริง ๆ ก็ใช่นะ คือตอนสาว ๆ ไม่ได้เป็นคนที่รู้สึกว่าเด็กน่ารักอะไรอย่างนี้เลย เป็นคนตรงไปตรงมามากกว่า แต่หลังจากได้มาทำโรงเรียน รู้สึกเลยว่าคำพูดที่ว่าเด็กเหมือนผ้าขาวเป็นเรื่องจริง เราสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงเขาได้ หรือบางครั้งสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงเขาได้ ทั้งในทางดีและไม่ดี สิ่งที่เราพยายามทำคือพยายามเปลี่ยนแปลงเขาในทางที่ดี แล้วทำให้ดียิ่งขึ้น เป็นความสุขอย่างหนึ่งเวลาได้เห็นนักเรียนที่จบแล้ว ได้เข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ หรือมีคนชมว่าเด็กคอนคอร์เดียนนิสัยดี จิตใจโอบอ้อมอารี มีวัฒนธรรม อันนี้เป็นสิ่งที่ภูมิใจที่สุด แต่ในเวลาเดียวกันมีคนมาบ่นว่าเรียนยาก การเรียน 3 ภาษา มันจะง่ายได้ยังไง การเรียนหนักก็คือการฝึกความอดทนอย่างหนึ่ง จะเริ่มต้นจากง่ายแล้วค่อย ๆ ยาก ตอนแรกเรียนไม่ยากแล้วสนุกไปด้วย ต่อมาจะยากขึ้นเรื่อย ๆ จนในช่วง 2 ปีสุดท้าย เรียนยากเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัย แต่ก็เห็นทุกคนผ่านไปได้ เด็กหลายคนเรียนดี ทำกิจกรรม เล่นกีฬาเยอะด้วย อีกอย่างนักเรียนเราทำพวกงานบริการสังคมเยอะ เราเปิดโอกาสให้ตั้งชมรมของตัวเอง แล้วพาเขาไปดู community service ต่าง ๆ ด้วย ตัวอย่างที่เคยพาไปเอง ก็จะมีแบบเช่น บ้านพักคนชรา เด็กพิการซ้ำซ้อน เด็กกำพร้า จริง ๆ แล้ว หลายคนไม่เข้าใจว่า เราไป service อะไรเขาได้ แต่เป็นสิ่งที่คิดว่ามีค่าที่สุด คือเขาคิดได้ด้วยตัวเอง แล้วสิ่งนั้นจะอยู่กับเขาตลอดไป สุดท้ายเราถามคำถามเค้าง่ายๆ ข้อเดียวทำไมครูถึงพาเธอมาที่นี้แทบจะทุกคนและทุกครั้ง เด็กเข้าใจและตอบได้ว่าเพื่อมาเรียนรู้ว่าเรายังสามารถทำได้มากกว่านี้เพื่อสังคม สู้ได้มากกว่านี้เพื่อส่วนรวม และช่วยเหลือคนอื่นได้มากกว่านี้ และโชคดีขนาดไหนที่เรามีพ่อแม่ที่รักเรา หรือตอนที่พาเขาไปบ้านพักคนชรา เราอยากให้เขารู้ว่า จริง ๆ พ่อแม่ไม่ได้อยากให้คุณมาดูแลเขาแล้ว แต่ถ้าอยากดูแลเขาวันนี้พร้อมหรือยัง ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง วันหนึ่งคุณจะเอาพ่อแม่มาอยู่ตรงนี้หรือเปล่า ส่วนมากเด็กกลุ่มนี้เขาได้เรียนรู้เยอะจริง ๆ เรามีเด็กที่เริ่มกิจกรรมดี ๆ เช่น ปลูกต้นไม้กับคนชรา เอาต้นไม้ไปปลูกด้วยกันทำกระถางด้วยกันเสร็จแล้วก็ไปเยี่ยมต้นไม้ ดูแลต้นไม้อย่างดี เราอยากให้เขารับรู้ว่าวันนี้คุณอาจจะเป็นเด็ก ๆ อาจจะยังแก้ปัญหาพวกนี้ไม่ได้ แต่วันที่เป็นผู้ใหญ่ ได้นั่งอยู่ในจุดที่คุณตัดสินใจได้ว่าจะทำอะไร สามารถเลือกทำในสิ่งที่มีผลบวกกับสังคมได้ อีกเรื่องที่เราพยายามสอนเด็กเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันเข้าไปสอนเอง คือการที่อย่าเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วจะมีความสุขที่สุด ถ้าอยากเรียนเก่งก็ตั้งเป้าของเราไม่ต้องไปแข่งกับเพื่อน เพื่อนมีเอาไว้เป็นเพื่อนไม่ต้องมีเอาไว้แข่งขัน จะโชคดีขนาดไหนถ้ามีเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่เล็กจนโตแล้วเป็นเพื่อนกันยาวนาน คนเดียวที่ต้องแข่งด้วยคือตัวเราเอง ตั้งเป้าแล้วก็สู้ เราอยากจะเห็นนักเรียนของเราทุกคนเป็นอย่างนี้ วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น The People: นิยามของผู้นำเยาวชนที่กำลังสร้างเพื่อให้เป็นผู้นำที่จะเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคตเป็นอย่างไร วรรณี: compassion ที่แปลว่า เมตตา แล้วก็คำว่า integrity ที่แปลว่าคุณธรรม ผู้นำที่ดีไม่ว่าอดีตปัจจุบัน หรืออนาคต ต้องมีความมีเมตตาและคุณธรรม อีกอย่างที่คิดว่าต้องมีคือความขยันอดทน มีความอดทน อย่ายอมแพ้ อันนี้สำคัญมาก สำหรับความเป็นผู้นำ เรื่องความเก่งไม่เก่งเป็นอีกเรื่องนึง เก่งแล้วไม่อดทนก็ไม่มีประโยชน์ เก่งแล้วไม่มีคุณธรรมยิ่งจะไปทำร้ายคนอื่น มีคนพูดเสมอว่าเป็นเรื่องนามธรรม จับต้องยากวัดผลยาก แต่คิดว่าการสอนได้สิ่งนี้ให้พวกเขาได้คิดเอง ได้เห็นแล้วสรุป เป็นความรู้สึกจากใจ อย่างทุกครั้งที่จะจัด service เราก็คุยกันว่าไปที่นี่ เช่น บ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพ หรือ โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร แล้วเด็กจะได้อะไร ถ้าสิ่งที่ได้ไม่แตะใจพวกเขา ทริปนี้เราถือว่าล้มเหลว จึงอยากให้พวกเขาเริ่มที่จะทำความดี เริ่มจากคนที่เรารักก่อน ถ้าคุณจะไปช่วยโลกนี้ แต่คนดูแลคนที่รักเราดูแลเราตั้งแต่เล็กยังไม่ได้ แล้วเราจะไปช่วยใครได้ อย่างที่เขาบอกว่าพระที่บ้านสำคัญที่สุด เราบอกเด็กเริ่มที่ตรงนั้นก่อนเลย ปู่ย่าตายาย คิดว่าเขาน่าเบื่อเหรอ ลองนับวันว่าจะได้อยู่กับเขาอีกกี่วัน เริ่มจากที่บ้าน เริ่มจากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน แล้วสุดท้ายแล้วจะอยู่ในตัวเขา แล้วจะไปในทุกสิ่งที่เขาทำ ดิฉันเชื่ออย่างนั้น วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น The People: ประสบการณ์ตอนที่ขึ้นไปพูดบน Forum of the world วรรณี: ตอนนั้นไป พูดแทนคุณพ่อที่งาน Forum for World Education 2019 นี้มีขึ้นมาเนื่องด้วยนักการศึกษาหลาย ๆ คนมีความรู้สึกว่า นักศึกษาจบออกมาแล้วไม่ได้ตรงตามงานที่มี แม้แต่นักศึกษาที่จบมหาวิทยาลัยดี ๆ อาจไม่มีงานทำด้วยซ้ำไป อันนี้เขาพูดถึงในอเมริกาอะไรด้วยนะ แล้วเขาก็เลยบอกว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นักการศึกษาก็พูดแต่เรื่องการศึกษา นักธุรกิจก็พูดแต่เรื่องธุรกิจทำไม 2 กลุ่มนี้ไม่คุยกัน เลยอยากมีเวทีให้นักธุรกิจกับนักการศึกษาได้มาคุยกันในระดับโลก ดิฉันเลยได้รับเชิญไปเป็นคณะกรรมการ เพราะเห็นว่าพันธกิจของเราคือพยายามสร้างบุคลากรให้เป็นคนที่มีจิตใจเมตตา มีจริยธรรม ที่คุณพ่อพูดว่าคนทำธุรกิจ บางคนอาจจะจบ ป.4 หรือไม่ได้จบอะไรเลยก็อาจทำได้ ถ้าอ่านออกเขียนได้ อาจจะเป็นมหาเศรษฐีใหญ่ได้ อย่าง ลี กา ชิง หรือหลาย ๆ ท่านในอดีตที่สร้างธุรกิจใหญ่โตในประเทศไทย และหลาย ๆ แห่งทั่วโลก ก็ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยแค่พออ่านออกเขียนได้ ท่านพูดในเชิงธุรกิจ ซึ่งดิฉันว่าจริงไม่ต้องรอจนถึงอายุ 18 สมัยก่อนคนจบ ป.4 ก็รับราชการได้ เพราะเขาอ่านออกเขียนได้ สามารถศึกษาด้วยตัวเองได้ แต่สายวิชาชีพอย่างหมอไม่ใช่ เพราะหมอต้องเรียนเยอะต้องจำหลาย ๆ อย่าง ต้องมีความรู้ที่เป็นเทคนิค อย่าง engineer ก็ต้องรู้จริง เรามี engineer เยอะแยะที่มาเป็นนักธุรกิจ สมัยก่อนมี ACC อายุ 18-19 ก็จบมาทำธุรกิจได้แล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้มีเอแบค ยังไม่ได้มีมหาวิทยาลัยเลย ซึ่ง ACC ก็คือจบ มส.3 ซึ่งก็สามารถจบมาประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้อย่างเช่น คุณก่อศักดิ์ เซเว่น เป็นต้น วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น The People: ตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้องปฏิรูปการศึกษาหรือยัง วรรณี: ถ้าจะปฏิรูปการศึกษามีเรื่องที่ต้องแก้ไขเยอะมาก ถ้าครูเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด ถามว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถ้าเราจะต้องไปเทรนด์ครูใหม่ทั้งหมด สิ่งแรกคือตัวครูเองต้องอยากที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาอบรม ทุกวันนี้เราสามารถอ่านความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตัวเอง ครูปัจจุบันทุกคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง เขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้รัฐบาลหรือให้ใครบอกให้เขาเปลี่ยนแปลง มันอยู่ที่ใจเขา ในเวลาเดียวกันครูต้องไม่มีอีโก ต้องยอมรับได้ว่าเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่คุณพ่อสอนคือเราไม่เก่งทุกอย่าง เราต้องยอมรับว่าอะไรที่เราไม่เก่ง อะไรที่ทำได้ไม่ดี ก็ให้คนที่เขาเก่งกว่าไปทำในเรื่องที่เขาเก่งกว่าก็จบไม่ต้องอาย ไม่มีใครเก่งทุกอย่างในโลกนี้ใช่ไหมคะ ขออย่างเดียวให้ใช้ในทางที่ถูกต้อง ครูต้องกลับไปสอนเด็กว่าจะคิดวิเคราะห์ยังไงถึงเลือกข้อมูลที่ถูกต้องแล้วนำมาใช้ในที่ถูกต้อง แล้วถามคำถามที่ถูกต้องด้วย เพราะถ้าถามปัญหาผิดคำตอบก็ผิดเรื่อง ถามปัญหาถูกเราถึงจะได้คำตอบที่ถูกต้อง ดิฉันเชื่อว่าทุกคนในสังคมต้องมีความรับผิดชอบ อย่างหนึ่งที่ต้องทำคือคืนอะไรกลับมาให้สังคมบ้าง ถ้าคุณเป็นครูที่สอนเก่ง อาจเอาโทรศัพท์ขึ้นมาอัดวีดิโอเผยแพร่การสอนทางออนไลน์ ดิฉันคิดว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องรอใคร อยู่ที่พวกเราทุกคน แล้วคนที่รอจะเสียใจเพราะว่าโลกมันจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แล้วถึงตอนนั้นเขาจะตามไม่ทัน จริง ๆ แล้วดิฉันต้องขอบคุณทุกคนที่เป็นครู เพราะดิฉันรู้สึกว่าเขาเสียสละมาก บางคนเป็นครูเพราะมีความรักที่อยากเห็นเด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จ เราต้องให้เกียรติเขาเพื่อให้เขามีพลังใจที่อยากจะเป็นครูที่ดี ตอนที่มาทำธุรกิจโรงเรียน บางคนพอรู้ก็ไม่คบดิฉัน (หัวเราะ) ไม่เหมือนตอนที่งานธนาคาร แล้วคนรู้สึกว่าเราฉลาด ถึงตอนนี้ไม่รู้ว่าฉลาดกว่าเดิมหรือเปล่า แต่รู้สึกมีความสุขใจแล้วก็ happy กับสิ่งที่ได้ทำ ดีใจทุกครั้งที่เห็นนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ไม่ต้องเรียนเก่งที่สุด แค่คิดเป็นก็มีความสุขต้องบอกว่าส่วนหนึ่งทำแล้ว fulfill ความรู้สึก happy ของตัวเอง วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากคนไม่ชอบโรงเรียน สู่การเป็นครูผู้เปิดโรงเรียนให้เด็กออกไปสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น The People: คุณค่าและความหมายของเราคืออะไร วรรณี: ไม่เคยคิดนะ เพราะไม่ได้คิดว่าตัวเราสำคัญมาก แต่เราคิดว่าสิ่งที่เราพยายามจะทำมันเป็นสิ่งที่สำคัญ เราแค่อยากให้ไปถึงตรงนั้นมากกว่า ก็เลยไม่เคยคิดว่าคุณค่าของเราคืออะไร แต่เราไปคิดถึงคุณค่าของนักเรียน ทุกวันที่เขาเรียนกับเรานั้นพวกเขาได้มากที่สุดแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ต้องเรียกมาคุยว่าจะต้องทำยังไงถึงพยายามได้มากกว่านี้ เมื่อมีโอกาสขนาดนี้แล้ว เราแค่อยากเห็นศักยภาพของทุกคนมากกว่า เลยไม่ได้คิดถึงเรื่องของตัวเองเท่าไหร่ คิดถึงเรื่องของเด็ก ๆ แล้วก็มีความสุขกับตรงนั้นมากกว่า อยากฝากถึงคุณครูว่าทุกคนควรจะมีความสุขแบบที่ดิฉันมี เวลาเห็นลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีใครสนใจเขาเลย คนที่ทุกคนคิดว่าเขาไม่ไหวแล้ว หรือไม่มีใครสนใจเขาแล้ว ถ้าคุณช่วยคน ๆ นั้นได้ คุณน่าจะมีความสุขที่สุด เมื่อมาเป็นครูทั้งทีควรเป็นครูคนหนึ่งที่เขาจำเราได้ตลอดชีวิต เขาอาจไม่ได้กลับมาหาเราอีก แต่เขาจะจำได้ว่าเราคือคนนั้นแหละที่ทำให้เขาอยากเรียนหนังสือ อยากเรียนวิชานี้ อยากเป็นคนดี แล้วครูทุกคนในโลกนี้ก็จะมีความสุขเอง