เรเน่ เซลเวเกอร์: การหวนกลับมาสู่บัลลังก์ของนักแสดงที่โลกรัก

เรเน่ เซลเวเกอร์: การหวนกลับมาสู่บัลลังก์ของนักแสดงที่โลกรัก
ว่ากันว่า ช่วงต้นยุค 2000 คือช่วงรุ่งเรืองที่สุดของ เรเน่ เซลเวเกอร์ (Renée Zellweger) หลังจากที่เธอระเบิดชื่อเสียงจากวลี 'You had me at hello' ในหนังโรแมนติกดราม่า Jerry Maguire (1996) ห้าปีถัดมาเธอปรากฏตัวใน Bridget Jones's Diary (2001) พร้อมเพิ่มน้ำหนักอีกสิบกิโลกรัมเพื่อรับบทเป็นสาวเจ้าเนื้อขี้เมาที่รุ่มรวยอารมณ์ขันและบ๊องบวมอย่างมิสโจนส์ หนังทุนสร้างเพียง 25 ล้านเหรียญสหรัฐเรื่องนี้ไม่เพียงทำเงินไปแบบถล่มทลายที่ 281 ล้านเหรียญ แต่ยังส่งให้เซลเวเกอร์ชิงออสการ์เป็นครั้งแรกจากการสวมบทบาทเป็นสาววัยเหยียบสามสิบที่ชีวิตดูจะพินาศไปเสียทุกภาคส่วนได้อย่างน่ารักน่าชังและชวนเอาใจช่วย เรเน่ เซลเวเกอร์: การหวนกลับมาสู่บัลลังก์ของนักแสดงที่โลกรัก เซลเวเกอร์ยังท็อปฟอร์มในปีถัดมา เมื่อ Chicago (2002) เข้าฉาย กับการรับบทเป็น ร็อกซี ฮาร์ต หญิงสาวที่ติดคุกคดีฆาตกรรมที่ชีวิตพลิกผันยิ่งกว่าเมื่อชีวิตต้องเข้าไปอยู่หลังลูกกรง และนับเป็นบทที่ส่งให้เธอเข้าชิงออสการ์อีกครั้ง ก่อนที่บท รูบี หญิงพเนจรที่เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์และศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม กับฉากหลังที่ว่าด้วยสงครามกลางเมืองของอเมริกาใน Cold Mountain (2003) จะส่งเซลเวเกอร์คว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากออสการ์ได้เป็นครั้งแรก เรเน่ เซลเวเกอร์: การหวนกลับมาสู่บัลลังก์ของนักแสดงที่โลกรัก นั่นคือสามปีที่ เรเน่ เซลเวเกอร์ เข้าชิงออสการ์ มิหนำซ้ำ หนังที่เธอนำแสดงนั้นไม่ใช่หนังที่มุ่งคว้ารางวัลแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มันยังทำเงินและเป็นหนังที่ตราตรึงในความทรงจำของหลาย ๆ คนอีกด้วย... หากก็น่าประหลาดที่เซลเวเกอร์มิได้สานต่อชื่อเสียงของเธอให้ก้าวไกลกว่านั้น  กล่าวกันว่า ก้าวแรกของความเงียบงันที่เซลเวเกอร์เหยียบย่างเข้าไปคือการแสดงหนัง Leatherheads (2008) ซึ่งกำกับ อำนวยการ และนำแสดงโดย จอร์จ คลูนีย์ ว่าด้วยเรื่องชวนหัวของทีมนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล เซลเวเกอร์รับบทเป็นนักข่าวสาวจากหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune ซึ่งแม้บทจะไม่ได้ยากเกินฝีมือเธอ แต่เหล่านักวิจารณ์ก็ฟันธงว่า การปรากฏตัวของเธอในหนังเรื่องนี้ช่างน่าผิดหวัง แถมบทหนังยังอ่อนปวกเปียกและดูไม่น่าเอาใจช่วย จนคว้ารายได้ไปอย่างน่าหดหู่ใจที่ เอ่อ... สี่หมื่นเหรียญเท่านั้น นับว่าขาดทุนมหาศาลจนกู่ไม่กลับ เพราะหนังมีทุนสร้างอยู่ที่ 58 ล้านเหรียญ (ส่วนคลูนีย์นั้นกลับมาแก้มือใหม่อีกครั้งในฐานะผู้กำกับจากหนัง The Ides of March ในอีกสามปีถัดมา) และปีเดียวกันนั้น เซลเวเกอร์ยังไปอยู่ในหนังที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์อย่าง Appaloosa (2008) กำกับโดยเพื่อนนักแสดง (อีกแล้ว) อย่าง เอ็ด แฮร์ริส เซลเวเกอร์รับบทเป็นหญิงม่ายที่เป็นหนึ่งในชนวนความขัดแย้งของสองหนุ่ม (แฮร์ริสกับ วิกโก มอร์เทนเซ็น ไม่ได้มีหมุดหมายชัดเจนว่าอะไรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เซลเวเกอร์ไปสู่จุดที่สื่อเรียกกันว่า 'ขาลง' ในช่วงนั้น เธอไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ไม่มีข่าวเสียหาย ไม่เคยเกเรในกองถ่ายหรือไม่แม้กระทั่งการติดเหล้ายา เซลเวเกอร์เป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงสาวน่ารักและถ่อมตัว ผู้ปรากฏตัวในหนังหลากหลายประเภททั้งโรแมนติกและดราม่า แถมยังกรี๊ดบียอนเซ่อย่างออกหน้าออกตา ดังนั้น อาจจะเป็นอย่างที่นักวิจารณ์หลายคนพยายามมองหาเหตุผล หนึ่งในนั้นคือเธอเพียงแค่เลือกบทไม่เหมาะกับตัวเองก็เท่านั้น เซลเวเกอร์เก็บตัวเงียบหลังจากนั้นไปพักใหญ่ เธอแสดงหนังบ้างแต่ก็เป็นหนังฟอร์มเล็ก และแทบไม่ออกให้สัมภาษณ์กับสื่อใด ๆ เลย "ตอนนั้นฉันไม่ค่อยสบายเท่าไหร่ ไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง แถมยังจัดลำดับความสำคัญของตัวเองไว้เป็นอย่างสุดท้ายเลยด้วย" เซลเวเกอร์ว่า และในช่วงที่เงียบหายไปนั้น เธอเข้าพบนักบำบัดเพื่อพยายามหาศูนย์ถ่วงตรงกลางให้ชีวิตอีกครั้งหลังละเลยมานาน  "เขาบอกฉันว่าฉันทุ่ม 99 เปอร์เซ็นต์ในชีวิตไปกับสาธารณะ จนเหลือส่วนที่เป็นชีวิตจริง ๆ แค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น ฉันไม่จำเป็นต้องหาอะไรทำตลอดเวลาแบบนั้นแล้วก็ได้ และการไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อไปในอีกสองปีถัดจากนั้น ฉันก็พบว่าตัวเองอนุญาตให้ชีวิตได้เปิดรับอะไรใหม่ ๆ บ้างค่ะ" แต่การเปลี่ยนผ่านในครั้งนั้นก็ไม่ง่าย เซลเวเกอร์พบว่าเธออาจยังติดกับดักความสำเร็จมหาศาลในอดีต (นี่คือนักแสดงหญิงที่เข้าชิงออสการ์สามปีติดนะ!) และหนึ่งในทางออกที่เธอควานหาได้ -นอกจากพบนักบำบัด- คือการไปหาเพื่อนสนิทอย่าง ซัลมา ฮาเย็ค ที่บอกกับเซลเวเกอร์อย่างอ่อนโยนว่า "ไม่มีกุหลาบดอกไหนบานได้ทั้งปีหรอก เว้นเสียแต่ว่ามันเป็นพลาสติก" และนั่นเองที่ทำให้เซลเวเกอร์ตระหนักได้ว่า เธอกำลังสาวสายป่านชีวิตจนสุดสายมาโดยตลอดอย่างไม่รู้ตัว "ฉันเข้าใจดีเลยล่ะ ประโยคนั้นมันบอกอะไรเราน่ะหรือ มันบอกว่าถ้าคุณฝืนทำเป็นว่าไม่เป็นอะไรและก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป คุณต้องหยุดเดี๋ยวนั้น แต่คุณก็รู้ว่าบางที ในช่วงชีวิตหนึ่ง โอกาสก็ไม่ได้มีเข้ามาบ่อย ๆ กระนั้น สิ่งที่คุณควรทำก็เพียงแค่พักเสีย" นั่นเพราะเซลเวเกอร์ไม่เคยตระหนักเลยว่าที่ผ่านมานั้นเธอแขวนชีวิตไว้กับสาธารณะแค่ไหน "สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในฐานะศิลปิน นั่นคือเราแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองอยู่เสมอ เราคุ้นเคยกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เพียงแค่เฉพาะหน้าที่การงานเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวตนและความเป็นมนุษย์ของเราด้วย และบางครั้งเมื่อมันล้ำเส้น เมื่อคุณพบว่าคุณไม่อาจเมินเฉยต่อคำวิจารณ์เหล่านั้นได้อีกแล้ว มันจะเป็นอย่างไรล่ะ" เซลเวเกอร์จึงพัก เธอกลับมาปรากฏตัวในหนังภาคต่อที่เคยสร้างชื่อให้เธออย่าง Bridget Jones's Baby (2016) ก่อนจะกลับมาทวงบัลลังก์นักแสดงมือรางวัลของฮอลลีวูดด้วยการสวมร่างเป็น จูดี การ์แลนด์ นักแสดงสาวขวัญใจฮอลลีวูดผู้เป็นที่รักของคนดูหนังทั้งโลกด้วยบท โดโรธี แห่ง The Wizard of Oz (1939) ในหนังที่ส่งให้เซลเวเกอร์คว้าออสการ์เป็นครั้งที่สองอย่าง Judy (2019) หนังร่วมทุนสร้างสหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกา ที่จับจ้องไปยังช่วงชีวิตของการ์แลนด์ภายหลังความสำเร็จในฮอลลีวูด และออกเดินทางไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อแสดงโชว์ครั้งปรากฏการณ์ เรเน่ เซลเวเกอร์: การหวนกลับมาสู่บัลลังก์ของนักแสดงที่โลกรัก เช่นเคยกับงานแสดงก่อนหน้า เซลเวเกอร์ทุ่มเทกับการกลายร่างเป็นตัวละครหมดหน้าตัก เธอเข้าเรียนร้องเพลงและการใช้เสียงก่อนเปิดกล้องถ่ายทำ และซ้อมร้องเต้นอีกสี่เดือนเต็ม ตัวเซลเวเกอร์เอง -ไม่ต่างจากเด็กอเมริกันคนอื่น ๆ ที่หลงใหลในภาพยนตร์- เธอชื่นชมการ์แลนด์มาตั้งแต่จำความได้ แม้กระทั่งเมื่อเติบโตขึ้น สมัยที่ต้องเดินสายประชาสัมพันธ์ Bridget Jones ก็มีบันทึกว่าเพลงเก่งที่เซลเวเกอร์ร้องในกองถ่ายคือ Somewhere Over the Rainbow ที่การ์แลนด์เคยขับร้องประกอบหนัง The Wizard of Oz ("ตลกมั้ยคะ นั่นเป็นครั้งเดียวเลยนะที่ฉันร้องคาราโอเกะ" เซลเวเกอร์บอกเขิน ๆ) "จูดีนั้นกัดฟันสู้จริง ๆ ค่ะ ฉันคิดว่าบางทีแล้วในสมัยนั้นเธออาจไม่มีสิทธิเสรีเท่าที่ผู้หญิงมีในทุกวันนี้ แต่เธอก็แสนจะซื่อตรงกับตัวเอง ทุ่มเททุกพละกำลังเท่าที่มี ฉันคิดว่าเธอทำทุกอย่างเลยนะคะ ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ได้ทำ เธอจึงเป็นแรงบันดาลใจ เป็นของแท้ เธอสร้างพื้นที่ให้ตัวเอง จนฉันคิดว่าการที่เธอตัดสินใจนิยามตัวเองเป็นนักแสดงเวที (live performance) คือจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ของเธอจริง ๆ" เซลเวเกอร์บอก ความเข้าอกเข้าใจในตัวของการ์แลนด์นี้เอง ที่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เซลเวเกอร์สวมร่างเป็นนักแสดงในตำนานได้อย่างยอดเยี่ยม จนมันไม่เพียงแต่พาการ์แลนด์หวนกลับมาโลดแล่นในโลกภาพยนตร์อีกครั้ง หากแต่อีกด้าน มันยังพาเซลเวเกอร์หวนกลับสู่บัลลังก์นักแสดงยอดฝีมืออีกคนของฮอลลีวูด ด้วยรางวัลนำหญิงยอดเยี่ยมของออสการ์ในปีนี้นั่นเอง