[4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก

[4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก
กลับคืนสู่นิวยอร์ก ต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1947 ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และ ดอริส กลับคืนนิวยอร์ก ซิตี้ โดยมี รอสส์ รัสเซลล์ เจ้าของสังกัด 'ไดอัล' จัดการย้ายบริษัทของตนเองจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกด้วย เช่นเดียวกับ ดีน เบเนเด็ททิ ผู้ทำหน้าที่เป็นซาวนด์เอ็นจิเนียร์ เบิร์ด ปรากฏตัวครั้งแรกที่ สมอลล์'ส พาราไดส์ ในย่านฮาร์เล็ม ซึ่งจัดขึ้นเสมือนงานเลี้ยงคืนสู่เหย้า คืนนั้น เบิร์ด ไปถึงล่าช้าตามเคย พร้อมกับหยิบยืมแซ็กโซโฟนของคนอื่นมาเล่น คืนถัดมาเขาแวะไปที่ 'ซาวอย บอลรูม' ซึ่ง วงบิ๊กแบนด์ของ ดิซซี กิลเลสปี บรรเลงประจำ โดยเขาได้สร้างเซอร์ไพรส์ให้แก่ทุกคนที่นั่น ระยะนี้ เบิร์ด กับแฟนสาว พำนักอยู่ด้วยกันที่โรงแรมดิวอี สแควร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมินตัน'ส เพลย์เฮาส์ ต่อมาไม่นานนัก ทีมผู้บริหารร้าน 'ธรี ดุยเซส' จัดแจงให้เขาได้งานเล่นประจำ โดยเบิร์ดตั้งวงควินเทท (5 ชิ้น) ขึ้นมาใหม่ มี แม็กซ์ โรช เล่นกลอง, ไมล์ส เดวิส ในตำแหน่งทรัมเป็ต ทอมมี พ็อตเตอร์ เล่นเบส ส่วนมือเปียโนฝีมือดีหน้าใหม่ชื่อ ดุ๊ก จอร์แดน ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในเวลานั้น แต่ได้รับการยกย่องว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาภาคจังหวะของวง [caption id="attachment_15997" align="aligncenter" width="1200"] [4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก วงควิทเท็ทของชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption] ช่วงปี ค.ศ. 1947-48 จัดเป็นช่วงเวลาแห่งการทำงานสร้างสรรค์ชั้นดีของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ โดย รอสส์ รัสเซลล์ จัดการให้ บัด พาวล์ ทำหน้าที่เป็นมือเปียโน ในเซสชั่นแรก ๆ ที่อัดให้แก่สังกัด "ซาวอย" เพลงแรกที่บันทึกเสียงกันในช่วงนี้คือ Donna Lee (เดิมระบุเครดิตให้แก่ เบิร์ด แต่ในระยะต่อมา กิล อีแวนส์ อ้างว่าเป็นเพลงที่ ไมล์ส เดวิส ประพันธ์ขึ้น) ตามด้วยเพลงจากบทประพันธ์ของ เบิร์ด นั่นคือ Chasing the Bird ซึ่งมี 2 ธีมด้วยกัน โดย เบิร์ด โซโล่ และมี ไมล์ส บรรเลงเคาน์เตอร์พอยท์ ทั้งนี้ จากคำบอกเล่าของ แม็กซ์ โรช ระบุว่า เบิร์ด มีความเพลิดเพลินกับการเล่น 2 พาร์ท อินเวนชั่น (2- part inventions) จากบทประพันธ์ของ โยฮัน เซบาสเตียน บาค (นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกยุคบาโร้ค) ผ่านเปียโนเอามาก ๆ ส่วน 2 เพลงหลังคือ Cheryl และ Buzzy ความโด่งดังของ ดิซซี กิลเลสปี กับวงบิ๊กแบนด์ของเขาในช่วงปลายทศวรรษ 1940s ทำให้มีโอกาสเปิดการแสดงแบ็คอัพนักร้องสาว เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ ที่คาร์เนกี ฮอลล์ ผลปรากฏว่าคอนเสิร์ตดังกล่าวขายบัตรจนหมดเกลี้ยง โดยโปสเตอร์ที่ใช้ปิดโฆษณาให้สาธารณชนได้รับรู้นั้น มีตัวอักษรระบุ "ยาร์ดเบิร์ด พาร์คเกอร์" เป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เบิร์ด เกือบไม่ได้มาเล่นในงานนี้ เมื่อเขาเพลิดเพลินกับการนอนแช่น้ำในอ่างอาบน้ำ จนกระทั่ง เท็ดดี เร็กจ์ โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตต้องรีบจัดการไปลากตัวเขาขึ้นมาแต่งตัว แล้วให้ขึ้นเวทีคอนเสิร์ต การแสดงในเซ็ทที่เตรียมไว้สำหรับ เบิร์ด และ ดิซซี ซึ่งกลับมารียูเนียนกันใหม่ นับเป็นแบบฉบับของดนตรีสมัยใหม่อย่างแท้จริง เริ่มต้นด้วย A Night In Tunisia ซึ่ง เบิร์ด เข้าสู่ท่อนเบรก และโซโล่อย่างร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ดิซซี ถัดจากนั้นเป็นบทประพันธ์ของ ดิซซี ทั้ง Groovin' High และ Dizzy Atmosphere แล้วตามด้วยบทประพันธ์ของ เบิร์ด คือ Confirmation และ Koko ซึ่งเป็นชิ้นงานที่ท้าทายแก่การประชันขันแข่งของนักดนตรีทั้งคู่ ทั้งนี้ มีนักวิจารณ์ดนตรีบางคนให้ความเห็นว่า เบิร์ด และ ดิซซี มีช่องว่างของความรู้สึกในการแย่งชิงความโดดเด่น ดังเห็นได้จากการที่ ดิซซี ได้รับฉายาว่า มิสเตอร์บีบ็อพ (Mr.Bebop) อย่างไรก็ตาม ดิซซี ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยยืนยันว่าเขาและ เบิร์ด ใกล้ชิดและผูกพันกันอย่างมาก ในหนังสือ Dizzy : To Be or Not To Bop ดิซซี ระบุว่า ผู้คนพยายามแบ่งแยก ชาร์ลี พาร์คเกอร์ กับเขา โดยที่มองไม่เห็นถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นที่ทั้งคู่มีต่อกัน ดิซซี ยังระบุด้วยว่าเบิร์ดเคยยื่นดอกกุหลาบและจุมพิตที่ริมฝีปากของเขา เช่นเดียวกับที่เขารู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่คิดถึงชาร์ลี พาร์คเกอร์ อย่างไรก็ตาม การแสดงของนักดนตรีทั้งสองในค่ำคืนนั้น ดำเนินไปอย่างดุดัน ร้อนแรง และแข็งกร้าว ด้วยการใช้เครื่องดนตรีของแต่ละคนอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยโน้ตเสียงสูง ๆ (high register) ทั้งนี้ ทรัมมี ยัง (Trummy Young) มือทรอมโบนซึ่งเป็นเพื่อนของทั้งสอง เคยให้สัมภาษณ์แก่ ไอรา กิทเลอร์ ไว้ในหนังสือ Swing to Bop ว่า ไม่มีข้อสงสัยว่าทั้งคู่ต่างชื่นชมกันมากเพียงไหน แต่ทุกครั้งเมื่อทั้งคู่อยู่บนเวที มันมีสภาพไม่ต่างจากการต่อสู้กับแบบเลือดเข้าตาเท่าใดนัก วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1947 รอสส์ รัสเซลล์ จัดแจงให้มีการรวมตัวของทีมนักดนตรีอีกครั้ง ภายใต้สังกัด “ไดอัล” คราวนี้จัดวงเป็นควินเทท โดยมี ดุ๊ก จอร์แดน มือเปียโนฝีมือดีที่แบ็คอัพ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ประจำที่ไนท์คลับ “ธรี ดุยเซส” มาร่วมบันทึกเสียงเป็นครั้งแรก [caption id="attachment_15943" align="aligncenter" width="640"] [4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก ชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption] ค่ำวันนั้นเริ่มต้นไม่ใคร่ดีนัก เบิร์ด สร้างความตกตะลึงให้แก่ รัสเซลล์ เมื่อมาถึงจุดนัดพบก่อนเวลา ด้วยท่าทางเคร่งขรึม เขาต้องการเงินสด 50 เหรียญจาก รัสเซลล์  เพื่อไปซื้อหาเฮโรอีนมาเสพในห้องน้ำชาย หลังจากนั้นทุกอย่างก็ดูสับสนอลหม่านไปหมด อย่างไรก็ตาม รอสส์ รัสเซลล์ ประทับใจการบรรเลงของสมาชิกในวงค่อนข้างมาก ทั้งในด้านการประสานกันเป็นหนึ่งเดียว และภาคจังหวะที่ลื่นไหลอย่างคล้องจอง ไม่เพียงเท่านั้น ในเซสชั่นนี้ยังมีการนำไมโครโฟนรุ่นใหม่มาเก็บเสียงฉาบอันสดใสเป็นประกายจากการเล่นกลองของ แม็กซ์ โรช อีกด้วย เบิร์ด มีเพลงใหม่ของตัวเอง 3 เพลงในการบันทึกเสียงเซสชั่นนี้ จากนั้น รัสเซลล์ เรียกร้องให้ เบิร์ด ปรุงเพลงที่ละม้ายคล้ายคลึงกับ Koko อีกสักเพลง อันเป็นที่มาของเพลง The Hymn เพลงบลูส์ที่มีจังหวะรวดเร็ว แต่มีธีมอันเยือกเย็นคล้ายเพลง Cherokee ของ เรย์ โนเบิล (กล่าวกันว่าเพลงนี้ เคยเล่นในจังหวะค่อนข้างช้าในวงดนตรีของ เจย์ แมคแชนน์ มาก่อนหน้านั้น) ในช่วงท้ายของการบันทึกเสียง ยังมีการบรรจุเพลงบัลลาดจากกลุ่มเพลงสแตนดาร์ด 2 เพลงด้วยกัน ประกอบด้วย All The Things You Are ของ เจอโรม เคิร์น และ Embraceable You ของ จอร์จ เกิร์ชวิน ทว่า ในการบรรเลงเพลง All The Things You Are เบิร์ดโซโล่ทำนองหลักจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ตามแนวทางของบีบ็อพ ดังนั้น รัสเซลล์ จึงตั้งชื่อเป็นเพลงใหม่เสียว่า Bird of Paradise ส่วน Embraceable You จัดเป็นงานเพลงระดับมาสเตอร์พีซอีกเพลงหนึ่ง ที่นักดนตรีไม่ได้ตระเตรียมตัวกันมาก่อน เริ่มด้วยอินโทรชั้นยอดของ ดุ๊ก จอร์แดน ตามมาด้วยการบรรเลงอันยั่วเย้าของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ โดยเกาะเกี่ยวทำนองหลักบ้าง ไม่สนใจทำนองหลักบ้าง สัปดาห์ถัดมา ท่ามกลางข่าวลือว่าสหภาพนักดนตรีจะประท้วงอีกครั้ง รอสส์ รัสเซลล์ รีบจัดแจงนำนักดนตรีชุดเดิมเข้าห้องอัด พวกเขาบันทึกเสียงกัน 6 เพลง โดยมี 3 เพลงเป็นงานเพลงยอดนิยม นั่นคือ Out of Nowhere, My Old Frame และ Don’t Blame Me ส่วนอีก 3 เพลงเป็นบทประพันธ์ของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ประกอบด้วย Bird Feather เป็นบลูส์ที่เต็มไปด้วยความดุดัน อัตราจังหวะเร่งเร้าและสลับซับซ้อน Scrapple from the Apple อิงอยู่บนแนวประสานของเพลง Honeysuckle Rose และเพลง Klact-oveeseds-tene ที่มีอิมโพรไวเซชั่นอันน่าทึ่ง โดยเฉพาะทางกลองของ แม็กซ์ โรช หลังจากการบันทึกเสียงดังกล่าว บิลลี ชอว์ เอเย่นต์ของชาร์ลี พาร์คเกอร์ สามารถจัดแจงให้วงควินเททได้งานแสดงที่ เอล สิโน เลานจ์ ในเมืองดีทรอยต์ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาเล่นของวงสั้นกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ มีปากเสียงกับเจ้าของร้าน เขากลับไปที่โรงแรม พร้อมกับขว้างแซ็กโซโฟนออกจากหน้าต่างบนชั้นสูงของอาคาร ตามคำบอกเล่าของ ไมล์ส เดวิส ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาเอง การออกนอกนิวยอร์ก ซิตี้ ทำให้ เบิร์ด มีปัญหาในการเสาะหาแหล่งซื้อและเสพยาเสพติด ดังนั้น เบิร์ด จึงทดแทนอาการหงุดหงิดด้วยการดื่มจัด และควบคุมตัวเองได้ยาก อย่างไรก็ตาม เมื่อ เบิร์ด กลับคืนสู่นิวยอร์ก ซิตี้ บิลลี ชอว์ ช่วยเหลือเขาโดยออกเงินล่วงหน้าให้ เบิร์ด ไปซื้อ อัลโต แซ็กโซโฟน ยี่ห้อเซลเมอร์จากฝรั่งเศสมา 1 คัน ด้วยเครื่องดนตรีรุ่นท๊อป เบิร์ด เข้าห้องอัดอีกครั้งในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นงานสุดท้ายที่อัดกับ รอสส์ รัสเซลล์  4 เพลงในจำนวนนี้ ล้วนเป็นเพลงใหม่ของเบิร์ดทั้งหมด ซึ่งรวมถึง Quasimado ที่เกาะกุมแนวประสานของเพลง Embraceable You ด้วยความสามารถของ บิลลี ชอว์ ทำให้ เบิร์ดและวง มีโอกาสกลับไปเล่นที่ เอล สิโน เลานจ์ อีกครั้ง ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส โดยระหว่างอยู่ที่เมืองดีทรอยต์ สังกัด “ซาวอย” ซึ่งเป็นห่วงว่าจะเกิดสถานการณ์ประท้วงของสหภาพนักดนตรี (เช่นเดียวกับความวิตกกังวลของ รอสส์ รัสเซลล์) จัดการให้ เบิร์ด เข้าห้องอัดเพื่อตัดแผ่นออกมาอีก 4 หน้า ในจำนวนนี้มีเพลง Bluebird ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความล้ำหน้าในประวัติศาสตร์แจ๊ส โดยมีสถานภาพเทียบเคียงผลงานของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ในทศวรรษ 1920s [caption id="attachment_15937" align="aligncenter" width="600"] [4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก ภาพจาก https://www.dba.dk/bird-the-legend-of-charlie/id-1014154824/[/caption] แม้เบิร์ดจะได้รับความสำเร็จทางดนตรีเพียงใด ได้กลายมาเป็นต้นแบบให้นักดนตรีรุ่นใหม่มากมายนับไม่ถ้วน แต่เขาตระหนักถึงข้อจำกัดอันสืบเนื่องจากการเป็นคนผิวสี ดุ๊ก จอร์แดน เล่าให้ โรเบิร์ต ไรส์เนอร์ ในหนังสือ Bird : The Legend of Charlie Parker ว่า “ครั้งหนึ่ง เมื่อเขาเสร็จจากการเล่นเซ็ทหนึ่ง (ที่ ธรี ดุยเซส) และปลีกตัวออกไปเงียบ ๆ ที่บาร์หัวมุมชื่อ แมคไกวร์’ส บาร์เทนเดอร์ชี้หน้าว่าเขาเป็นนิโกร พาร์คเกอร์ กระโดดข้ามบาร์ไปสั่งสอนคนพวกนั้น มีคนเอาขวดตีหัวเขาแตก ทำให้เขามีแผลเป็นเล็ก ๆ ตรงนั้น” นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1948 เรื่อยไปจนถึงปลายปี สหภาพนักดนตรีประท้วงค่ายเพลงอีกครั้ง ทำให้ไม่มีการบันทึกเสียงอย่างเป็นทางการในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม มีงานบันทึกเสียงส่วนตัวที่บ่งบอกความล้ำหน้าของ เบิร์ด ได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะผลงานของ ดีน เบเนเด็ททิ จากการแสดงของ เบิร์ด ที่ โอนิกซ์ คลับ บนถนนสาย 52 นครนิวยอร์ก ซิตี้ ในเดือนกรกฎาคม จนกระทั่งเดือนกันยายน สังกัด ซาวอย ไม่สนใจการแบนของสหภาพนักดนตรี เริ่มต้นอัดเสียงกับ เบิร์ด อีกครั้ง ความน่าสนใจของเซสชั่นนี้คือมือเปียโน จอห์น ลูว์อิส ซึ่งมาแทนที่ ดุ๊ก จอร์แดน และมีเพลงเด่นในเซสชั่นดังกล่าวคือ Parker’s Mood ช่วงเดือนพฤศจิกายน ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ผละจากวงควินเททของเขา เพื่อร่วมทัวร์กับโครงการ แจ๊ส แอท เดอะ ฟิลฮาร์มอนิก (JATP) ของโปรโมเตอร์ นอร์แมน กรานซ์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ลอสแอนเจลิส ก่อนตระเวนไปตามเมืองต่าง ๆ ด้วยรู้จักถึงพฤติกรรมเสพยาของ เบิร์ด เป็นอย่างดี กรานซ์ เล่าถึงวิธีจัดการกับนักดนตรีระดับตำนานคนนี้ เพื่อให้การทัวร์ดังกล่าวดำเนินไปอย่างราบรื่นว่า เขาจัดการให้มีนายแพทย์เพื่อดูแลเบิร์ดโดยตรง จากนั้นเมื่อการทัวร์กลับมาสิ้นสุดที่ลอสแอนเจลิสอีกครั้ง กรานซ์ จัดให้ เบิร์ด เข้าพักในโมเต็ลนอกเมือง พร้อมจ้างนักสืบนอกเวลาจากสำนักปราบปรามยาเสพติดจำนวนหนึ่งเพื่อสะกดรอยตลอดเวลา ทว่า เบิร์ด สามารถหลบออกจากโรงแรมทางประตูหลัง และเมื่อพบว่าผู้ติดตามทิ้งกุญแจไว้ในรถ เขาก็สามารถล่องหนได้อย่างไร้ร่องรอยในที่สุด ทันทีที่ข่าวถึงหูของกรานซ์ เขาเสนอเงินรางวัล 100 เหรียญ ให้แก่นักดนตรีท้องถิ่นคนใดก็ตามที่สามารถตามตัวเบิร์ดให้กลับมาเวทีคอนเสิร์ตได้ ระหว่างที่ทุกคนออกตามหา เบิร์ด บนเที นักเทเนอร์ แซ็กโซโฟน โคลแมน ฮอว์กินส์ ขึ้นไปบรรเลงเพลง Body and Soul และเมื่อ เบิร์ด มาถึง เขาอยู่ในสภาพหลับใหล จน กรานซ์ ต้องปลุกให้ตื่นด้วยน้ำประปา ในการให้สัมภาษณ์ จอฟฟรีย์ เฮย์ดอน ผ่านรายการวิทยุของบีบีซี ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1970 นอร์แมน กรานซ์ เล่าว่า “ในที่สุดเขาได้สติตื่นขึ้น ผมพูดว่า ชาร์ลี ถ้าคุณไม่ขึ้นเวที ผมจะฆ่าคุณ ผมคิดว่าเขาเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ เขาโซเซลุกขึ้น ผมเผ้าทั้งหมดเปียกปอน และใครบางคนยัดแซ็กโซโฟนใส่มือ เขาขึ้นไปเล่นหนึ่งเพลง และนั่นเป็นเพลงปิดท้ายคอนเสิร์ตและปิดท้ายการทัวร์ในครั้งนั้น” อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของ เบิร์ด และ กรานซ์ ยังไม่ได้สิ้นสุดลงแค่นั้น ไม่นานนัก เมื่อสหภาพนักดนตรียุติการประท้วง บิลลี ชอว์ เอเย่นต์ของ เบิร์ด จัดการให้นักแซ็กโซโฟนคนนี้ เซ็นสัญญากับสังกัด เมอร์คิวรี ซึ่ง นอร์แมน กรานซ์ รั้งตำแหน่งใหญ่ในเวลานั้น วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ชาร์ลี พาร์คเกอร์ กับวงควินเททของเขา ได้งานบรรเลงประจำที่ “รอยัล รูสต์” ซึ่งจัดเป็นสถานเริงรมย์แห่งใหม่ในย่านบรอดเวย์ของนิวยอร์ก ซิตี้ มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรบางตำแหน่งภายในวง โดย อัล เฮก มารับหน้าที่เปียโน แทน ดุ๊ก จอร์แดน [caption id="attachment_15973" align="aligncenter" width="1200"] [4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก ไมล์ส เดวิส[/caption] วงดนตรีทำท่าจะบรรเลงไปได้ด้วยดี แต่แล้วก็เกิดเรื่องอื้อฉาวในวงการขึ้นมาจนได้ เมื่อ ไมล์ส เดวิส แสดงความไม่พอใจ เบิร์ด ทั้งต่อกรณีที่มาเล่นดนตรีล่าช้า และการค้างจ่ายค่าตัวนักดนตรีภายในวง ทั้งนี้โดยมี แม็กซ์ โรช พยายามปกป้องชี้แจงว่าอย่างน้อยที่สุด เบิร์ด ก็มีคุณูปการต่อนักดนตรีทุกคน ช่วงคริสต์มาสอีฟ ไมล์ส เดวิส กับ เบิร์ด ทะเลาะกันถึงขั้นแตกหัก ผลลัพธ์ปรากฏให้เห็นในวันรุ่งขึ้น เมื่อ เคนนี ดอแรม มาเป็นมือทรัมเป็ตคนใหม่ของวง เช่นเดียวกับ แม็กซ์ โรช ซึ่งเอือมระอาก็หายหน้าไป เบิร์ด ต้องจัดหามือกลองคนอื่นมาแทนที่ชั่วคราว ก่อนจะเกลี้ยกล่อมให้ แม็กซ์ กลับคืนวงอีกครั้ง มีการวิเคราะห์กันว่า เหตุใด ชาร์ลี พาร์คเกอร์ จึงเป็นเช่นนั้น คำอธิบายที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ คือการเล่นประจำทุกค่ำคืน นับเป็นเงื่อนไขที่สร้างความกดดันให้แก่ เบิร์ด ในฐานะศิลปินที่พยายามกลั่นกรองงานที่ดีที่สุดออกมา          ครั้งหนึ่ง ฮาร์วีย์ ครอพเพอร์ จิตรกรซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ เบิร์ด เคยถามถึงข้อสงสัยดังกล่าว เบิร์ด ตอบกลับว่า “คุณก็เป็นศิลปิน ไหนวาดรูปสักรูปตอนนี้เลยซิ” อย่างไรก็ตาม มีเรื่องแปลกเช่นกันว่า ภายใต้แรงกดดันดังกล่าว เบิร์ด ก็ทำหน้าที่ได้ดีเช่นกัน (ในบางครั้ง) เช่นในคืนวันคริสต์มาส ระหว่างการบรรเลงที่ “รอยัล รูสต์” เพื่อกระจายเสียงออกทางคลื่นวิทยุ มีคนฟังโทรศัพท์มาขอเพลง White Christmas จากบทประพันธ์ของ เออร์วิง เบอร์ลิน และมีคนฟังขอบันทึกเทปทางวิทยุ ผลปรากฏว่า แทนที่จะบรรเลงในลีลาหม่นเศร้าตามแบบฉบับของ บิง ครอสบี ที่โด่งดัง ในทางตรงกันข้าม เบิร์ด เลือกจังหวะปานกลางบรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยม อบอุ่น และเต็มไปด้วยอารมณ์ครื้นเครง ข่าวใหญ่สำหรับ เบิร์ด ช่วงต้นปี ค.ศ. 1949 คือการได้เดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยเขาได้รับเชิญให้ไปบรรเลงในงานเทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติที่นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเฉลิมฉลองวาระดังกล่าว เขาแต่งเพลงบลูส์ชื่อ Visa ซึ่งวงควินเททของเบิร์ดนำมาอัดเสียงไว้ในเดือนเมษายน โดยมี นอร์แมน แกรนซ์ เป็นโปรดิวเซอร์ วันที่ 5 พฤษภาคม ระหว่างเตรียมตัวเดินทาง วงควินเทท บันทึกเสียงให้แก่ นอร์แมน อีกครั้ง ประกอบด้วยเพลงใหม่ของ เบิร์ด 3 เพลง ในจำนวนนั้นมีเพลงชื่อ Passport รวมอยู่ด้วย หลังจากนั้นอีก 2 วัน เขาและวงดนตรีก็เดินทางถึงปารีส จากคำบอกเล่าของ เคนนี ดอแรม ปารีสในสายตาของเบิร์ด เปี่ยมด้วยสุนทรียภาพและความตื่นตาตื่นใจ สีหน้าของนักอัลโต แซ็กโซโฟน บ่งบอกถึงความเบิกบานในชีวิต พวกเขามีคอนเสิร์ตหลายครั้งที่ Salle Pleyel ซึ่งเป็นสถานที่ที่ ดิซซี กิลเลสปี เดินทางมาบรรเลงก่อนหน้า 1 ปี ระหว่างการบรรเลงมีการบันทึกเสียงเอาไว้ด้วย แต่สุ้มเสียงไม่ชัดเจนเท่าที่ควรนัก ตกดึก มีการแจมเซสชั่นบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแซน ที่นี่ เบิร์ด ได้พบปะกับ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ ในสภาพแวดล้อมที่คราคร่ำด้วยนักแสวงหาจากทั่วทั้งยุโรป มีการเปิดแชมเปญเพื่อดื่มฉลองกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ เบิร์ด ยังได้พบกับนักวิจารณ์ดนตรีจากนิตยสาร เมโลดี เมคเกอร์ ซึ่งถือเป็นไบเบิลทางดนตรีของยุโรปในขณะนั้น เขาให้สัมภาษณ์และอ้างถึงข้อความในหนังสือ รุไบยาต ของปราชญ์ โอมาร์ ไคยาม ทริปที่ปารีสมีระยะเวลาเพียงแค่ 10 วัน เมื่อเดินทางกลับนิวยอร์ก อารมณ์อันน่าสิเน่หาของปารีสก็พลันเหือดหาย เบิร์ดและวงควินเททของเขา กลับมาเล่นประจำที่ถนนสาย 52 ในช่วงนี้ เคนนี ดอแรม ลาออกจากวง มือทรัมเป็ตคนใหม่ของเบิร์ดเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ชื่อว่า เร็ด รอดนีย์ (นามจริงว่า โรเบิร์ต ชุดนิค) ส่วน แม็กซ์ โรช ออกจากวงโดยมี รอย เฮย์น มาแทนที่ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1949 นอร์แมน แกรนซ์ มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ในการทำงาน เขาชักชวนเบิร์ด เข้าสตูดิโอเพื่ออัดเพลงสแตนดาร์ด อาทิ Just  Friends, April in Paris แบ็คอัพโดยวงเครื่องสายและเครื่องลมไม้ มือเบสซึ่งทำหน้าที่ในเซสชั่นนี้คือ เรย์ บราวน์ ซึ่งเคยเล่นให้วงเซ็กเททของ เบิร์ด-ดิซซี ที่ลอสแองเจลิส เรย์ บราวน์ วิเคราะห์ถึงงานบันทึกเสียงในเซสชั่นครั้งนั้น ผ่าน อลิน ชิพตัน แห่งสถานีวิทยุ บีบีซี เมื่อปี ค.ศ. 1997 ว่า “ไม่จัดว่าเป็นออร์เคสตราที่ดีนัก ผมไม่คิดว่าเป็นการเรียบเรียงดนตรีที่ดีมากด้วยซ้ำ แต่เขาทำบางอย่างที่น่าอัศจรรย์ คุณเปิดฟังตอนนี้ และเขาก็จะกระโดดออกมาจากแผ่นเสียง ... เขาเล่นแบบไหนก็ได้ และทำให้คุณชอบได้ก็แล้วกัน” ไม่น่าเชื่อว่า อัลบั้มชุดนี้จะขายดี มีการจองตัว เบิร์ด ออกแสดงกับวงเครื่องสายอย่างคึกคัก เบิร์ด แต่งกายในชุดสูทสีขาวบนเวที บรรเลงด้วยท่วงท่าที่ดูแปลกตาไปจากเดิม แม้จะไม่แสดงออกถึงความก้าวหน้าทางดนตรีนัก แต่เบิร์ดค่อนข้างพึงใจเป็นพิเศษ ความเป็นตำนานของเบิร์ด ปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อคนกลุ่มหนึ่งลงทุนเปิดสถานเริงรมย์แห่งใหม่ในย่านบรอดเวย์ และตั้งชื่อคลับแห่งนี้ว่า เดอะ เบิร์ดแลนด์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1949 หลังจากความสำเร็จของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ กับวงเครื่องสาย โปรดิวเซอร์ที่เปี่ยมด้วยความคิดริเริ่มอย่าง นอร์แมน แกรนซ์ ก็เดินหน้าจังหวะก้าวต่อไปของเขา ด้วยการจับ นักอัลโต แซ็กโซโฟน คนนี้ ให้โคจรกลับมาเล่นดนตรีกับ ดิซซี กิลเลสปี ผู้เปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดของดนตรีแนวบีบ็อพอีกครั้ง [caption id="attachment_16003" align="aligncenter" width="640"] [4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก ธีโลเนียส มังค์ (ภาพโดย Jack de Nijs)[/caption] เพื่อให้แนวคิดนี้เข้าท่ายิ่งขึ้น แกรนซ์ จัดแจงดึงนักดนตรีอย่าง ธีโลเนียส มังค์ (เปียโน), เคอร์ลีย์ รัสเซลล์ (เบส) และ บัดดี ริช (กลอง) มาสนับสนุน ในรูปแบบวง 5 ชิ้น แม้แนวทางการควบของ บัดดี ริช จะดูแข็ง ๆ และแปลกแยกไปจากคนอื่น ๆ เพราะเป็นมือกลองจากยุคสวิงมากกว่าบีบ็อพ แต่โดยภาพรวม เป็นงานดนตรีที่ผลิตออกมาใช้ได้ทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโซโล่อิมโพรไวเซชั่น ในงานดังกล่าว มีเพลงใหม่ของ เบิร์ด 3 เพลง ประกอบด้วย An Oscar for Treadwell ซึ่งใช้แนวทางคอร์ดโปรเกรสชั่นของเพลง I Got Rhythm โดยเปลี่ยนมาใช้คีย์ซี ส่วนอีก 2 เพลง คือ Mohawk และ Bloomdido เป็นคีย์ บีแฟลท ทั้งคู่ แม้จะสะกดไม่ตรงก็ตาม แต่ เบิร์ด ยืนยันว่าเพลง Bloomdido แต่งให้แก่ เท็ดดี บลูม (Teddy  Blume) นักไวโอลิน และผู้นำวงเครื่องสายที่ทำหน้าที่แบ็คอัพ เบิร์ด ในช่วงทัวร์ไปตามเมืองต่าง ๆ บลูม ยังช่วยประสานเป็นผู้จัดการส่วนตัว “นี่คือไอ้น้องของผม” เบิร์ด มักเรียกหรือแนะนำ บลูม เช่นนี้ พร้อมกับแสดงท่าทางหยอกเอินและเล่นหัวอย่างรักใคร่กับนักไวโอลินผิวขาวคนนี้ ขณะที่ บลูม ยอมรับว่าการทำงานร่วมกับ เบิร์ด นับเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ และเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต คำบอกเล่าของ บลูม ที่บันทึกไว้ในหนังสือ Bird : The Legend of Charlie Parker เขียนโดน โรเบิร์ต ไรส์เนอร์ ระบุตอนหนึ่งว่า “ชีวิตของเขาวนไปวนมาอยู่แค่ 4 เรื่อง ดนตรี, ยาเสพติด (เฮโรอีน), เซ็กซ์ และ หนัง เขาเคยมีเซ็กซ์วันละ 3-4 หน กับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า 3-4 คน สาว ๆ มักไล่ตามเขาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เขาเคยสนุกสนานกับพวกเธอในห้องของผม เพราะว่ามันเป็นเรื่องอันตรายสำหรับผู้หญิงผิวขาว หากมีใครเห็นว่าเธอเข้าไปในห้องของชายนิโกร” ช่วงตกดึก เมื่อเสร็จสิ้นจากงาน บางครั้ง เบิร์ด นอนไม่หลับ บลูม จะจัดแจงเล่นไวโอลินให้ฟัง “มันทำให้เขาผ่อนคลาย เขารักไวโอลิน ผมเองก็รักชาร์ลี พาร์คเกอร์ ผมอภัยให้เขาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม” บลูม กล่าว มีเรื่องเล่าขานกันว่า หนังเรื่องโปรดของ เบิร์ด ในระยะนี้ ซึ่งมีมนต์เสน่ห์ให้เขาดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้เบื่อ คือเรื่อง The Third Man จากเรื่องของ แกรห์ม กรีน ที่มีฉากของนครเวียนนายุคหลังสงครามอยู่ในท้องเรื่อง นำแสดงโดย ออร์สัน เวลส์ รับบทเป็นพระเอกแนวแอนตี-ฮีโร ชื่อ แฮร์รี ไลม์ คนนอกกฎหมายที่มีแนวคิดและปรัชญาชีวิตที่แปลกแหวกแนว และดำเนินชีวิตไปท่ามกลางความเหี้ยมหาญ ไม่ต้องสงสัยว่า ชาร์ลี พาร์คเกอร์ จะชื่นชอบเพียงใด             ........................ ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1950 เบิร์ด พักงานกับวงเครื่องสาย และ เท็ดดี บลูม เขารับงานเล่นที่ “เดอะ เบิร์ดแลนด์” โดยมี แฟ็ทส นาวาโร เล่นทรัมเป็ต และ บัด พาวล์ ดูแลด้านริธึ่มเซคชั่น การฟอร์มวงนี้ เปิดทางให้ เบิร์ด ทำงานได้อย่างใจนึก ซึ่งแฟนเพลงรุ่นหลังสามารถหาฟังได้จากงานบันทึกเสียงที่นำออกเผยแพร่ทางวิทยุ ชีวิตส่วนตัวของ เบิร์ด ในระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกหน เมื่อเขาบอกเลิก ดอริส ซิดนอร์ (หลังจากทั้งคู่แต่งงานกันที่ลอสแอนเจลิส เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1948 โดยที่ เบิร์ด ยังไม่ได้หย่ากับภรรยาคนแรกในเวลานั้น) เพื่อไปใช้ชีวิตอยู่กับหญิงผิวขาว ชื่อ ชาน ริชาร์ดสัน ในย่านแหล่งที่อยู่ของชาวยูเครน บริเวณด้าน โลเวอร์ อีสต์ ของ แมนฮัตตัน ที่นั่นเขาเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลาง ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1950 เบิร์ด บินไปเล่นกับนักดนตรีท้องถิ่นที่สวีเดน ต่อจากนั้นบินไปต่อที่ปารีส โดย เบิร์ด ได้รับค่าตัวเล่นคอนเสิร์ตล่วงหน้าที่นั่น ทว่าด้วยฤทธิ์ของคอนยัคที่ดื่มเข้าไปอย่างหนัก ทำให้ เบิร์ด มีอาการป่วยขึ้นมาอย่างทันทีทันควัน เขาจับเครื่องบินกลับนิวยอร์ก โดยไม่ได้บอกลาใคร ๆ และก่อนจะได้เล่นคอนเสิร์ตด้วยซ้ำ แพทย์ที่นิวยอร์กวิเคราะห์อาการของโรคว่า เป็นแผลในกระเพาะอาหารอย่างเฉียบพลัน พร้อมกับแนะนำให้รักษาตัวในโรงพยาบาลทันที แต่อยู่ได้เพียง 1 สัปดาห์ เบิร์ด ก็ตัดสินใจออกจากโรงพยาบาลเอง เขาเรียกแท็กซี่ตรงดิ่งไปที่เบิร์ดแลนด์ ที่นั่น ออสการ์ โกลด์สไตน์ พบเขานั่งอยู่ที่บาร์ และกำลังดวดวิสกี ! ปี ค.ศ. 1951 ในเดือนมกราคม นอร์แมน แกรนซ์ อุดหนุนเงินจำนวนหนึ่งให้ เบิร์ด กลับมาเล่นดนตรีอัดแผ่นกับ ไมล์ส เดวิส และ แม็กซ์ โรช อีกครั้ง โดยมีนักดนตรีรุ่นใหม่ฝีมือดีอีก 2 คน นั่นคือ เท็ดดี โคทิค ตำแหน่งเบส และ วอลเตอร์ บิช็อพ มือเปียโน พวกเขามี Au Privave เป็นเพลงเด่นระดับมาสเตอร์พีซ เป็นผลผลิตจากการบรรเลงในเซสชั่นนี้ [caption id="attachment_15976" align="aligncenter" width="640"] [4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก ชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption] ช่วงปลายเดือนมีนาคม เบิร์ด กลับไปเล่นที่ เบิร์ดแลนด์ อีกครั้ง เป็นเวลาราว 1 สัปดาห์ โดยร่วมกับ ดิซซี กิลเลสปี, บัด พาวล์, มือเบส ทอมมี พอตเตอร์ และ มือกลอง รอย เฮย์นส ในครั้งนั้นมีคนนำเทปบันทึกเสียงจากการแสดงดังกล่าวไปออกอากาศทางวิทยุ เพลงที่พวกเขาบรรเลงในช่วงนั้น อาทิ Blue ‘n’ Boogie ผลงานของ ดิซซี, เพลง Anthropology จากเพลงเร็วเมื่อปี ค.ศ. 1945 ซึ่งเดิมมีชื่อว่า Thriving on a Riff  แต่ในคราวนี้เล่นเร็วขึ้นอีกมาก ตามด้วยเพลง Round Midnight งานประพันธ์คลาสสิกของ ธีโลเนียส มังค์ และปิดท้ายด้วย A Night in Tunisia การใช้ชีวิตคู่ของ เบิร์ด และ ชาน ทำให้ทั้งคู่มีลูกสาวเป็นพยานรัก 1 คน ชื่อ พรี (Pree) เธอลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม ค.ศ. 1951 ทั้งที่น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เงาทะมึนของชีวิตก็มาเยือนอีกครั้ง เมื่อองค์กรสุราของรัฐ เพิกถอนใบอนุญาตเล่นดนตรีของเบิร์ด เมื่อไม่มีใบอนุญาตนี้ เบิร์ด ไม่สามารถเล่นในไนท์คลับใด ๆ ในนิวยอร์กได้เลย ท่ามกลางภาวะอันยากลำบาก นอร์แมน แกรนซ์ เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคม เขาเซ็ทงานอัดเสียงอีกครั้ง โดยมี เร็ด ร้อดนีย์ เล่นทรัมเป็ต, จอห์น ลูว์อิส-เปียโน, เรย์ บราวน์-เบส และ เคนนี คลาร์ก-กลอง เพลงเด่นในอัลบั้มคือ Blues For Alice เป็นบลูส์  12 ห้องแต่งโดย ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ความยอดเยี่ยมของการบรรเลงในครั้งนี้ ไม่มีทางทำให้คนฟังรับรู้ได้เลยว่า เบิร์ด กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำของชีวิตมากเพียงใด เบิร์ด ยังถูกเนรเทศจากไนท์คลับในนิวยอร์ก ตลอดทั้งช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ทว่า กระแสความชื่นชมที่มีต่อนักดนตรีคนนี้ ปรากฏในผลสำรวจความนิยมของผู้อ่านในนิตยสารดาวน์บีท ประจำปี ค.ศ. 1951 ที่ยกย่องให้เขาเป็นนักอัลโต แซ็กโซโฟน ยอดเยี่ยม ปี ค.ศ. 1952 เริ่มต้นด้วยงานบันทึกเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายใต้การดูแลของ นอร์แมน แกรนซ์ ซึ่งพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เช่นการชักนำให้เขาเล่นเพลงในกลุ่ม แอฟโฟร-ลาติน โดยมี แม็กซ์ โรช เป็นมือกลองยืนพื้น พ่วงด้วยมือคองกา และบองโก ผลผลิตที่ออกมาในระยะนี้ อาทิ อัลบั้ม Charlie Parker and His South of the Border Orchestra เบิร์ด และ ชาน มีลูกชายเป็นพยานรักเพิ่มเติมอีกหนึ่งคน ชื่อ ชาร์ลส์ บาร์ด เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ระหว่างนี้ เบิร์ด ได้รับบัตรนักดนตรี (Cabaret Card) กลับคืนมา ทำให้เขามีงานเล่นดนตรีตามไนท์คลับต่าง ๆ ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งรวมถึง “เดอะ เบิร์ดแลนด์” โดยมี ชาร์ลส์ มิงกัส มือเบสที่เดินทางไกลมาจากฝั่งเวสต์ โคสต์ ทำหน้าที่แบ็คอัพ วันที่ 26 กันยายน เบิร์ด เป็นหนึ่งในนักดนตรีระดับแนวหน้า ในงานแสดงดนตรีการกุศลที่ “เดอะ ร็อคแลนด์ พาเลซ บอลรูม” เพื่อหาทุนในโครงการรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวสมาชิกสภาเมืองผิวสี นาม เบนจามิน เดวิส ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์คนสุดท้าย ที่ทางการตั้งข้อหาปลุกระดมให้ต่อต้านรัฐบาล และจับเข้าคุก ทั้งนี้มีชาวฮาร์เล็มกว่า 14,000 คน ที่ลงรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักการเมืองคนนี้ คอนเสิร์ตดังกล่าว มี แม็กซ์ โรช กลับมาร่วมวงกับ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อีกครั้ง มีการบันทึกเสียงแบบบู้ทเล็กจ์ราว 2 ชั่วโมง ในจำนวนนั้นคือเพลง Lester Leaps In  ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นจุดสุดยอดอีกครั้งหนึ่งของการบรรเลงสดบนเวที เมื่อ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ มีงานแสดงที่ “ไฮ แฮท คลับ” ในนครบอสตัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในช่วงเดือนธันวาคม เขาเรียกตัว ชาร์ลส์ มิงกัส ร่วมเดินทางไปด้วย การแสดงสดในยามบ่ายของวันที่ 14 ธันวาคม ที่คลับดังกล่าวมีการถ่ายทอดผ่านรายการวิทยุท้องถิ่น ซึ่งเทปบันทึกเสียงดังกล่าวเพิ่งมีการผลิตออกมาขายโดยสังกัด บลู โน้ต เมื่อปี ค.ศ. 1996 หรือราว 44 ปีให้หลัง ในจำนวนนี้ ประกอบด้วยเพลง Ornithology, Don’t Blame Me, Groovin’ High รวมถึงเพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง คือเพลง Cool Blue และ Cheryl วันที่ 30 ธันวาคม พวกเขาเดินเข้าห้องอัดอีกครั้ง ประกอบด้วย เบิร์ด, แม็กซ์ โรช, แฮงก์ โจนส์ ในตำแหน่งเปียโน และ เท็ดดี โคทิก ในตำแหน่งเบส เป็นเซสชั่นที่บรรเลงกันอย่างระเบิดเถิดเทิง โดยเฉพาะความเจนจัดในการโซโล่ของเบิร์ด ในเพลง Cosmic Ray ซึ่งถือเป็นส่วนผสมของความรู้สึกอันรุ่มรวยและพลังเหนือธรรมชาติของเขา ปี ค.ศ. 1953 สุขภาพของ เบิร์ด ดีขึ้น แต่รูปร่างก็อุ้ยอ้ายขึ้นไม่น้อย ช่วงชีวิตการเล่นดนตรีของเขาค่อนข้างตกต่ำลง ดังนั้น  ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เบิร์ด รับงานสอนแซ็กโซโฟนที่ “ฮาร์ทเน็ตต์ มิวสิค สตูดิโอ” ในย่านบรอดเวย์ ณ สถานที่แห่งนี้ มีเด็กหนุ่ม 4 คนจากชมรมแจ๊สใหม่แห่งโตรอนโต (The New Jazz Society of Toronto)  เดินทางมาสืบเสาะหาชาร์ลี พาร์คเกอร์ จนได้พบในวันที่ 25 มกราคม พวกเขาชักชวนและโน้มน้าวให้ เบิร์ด กลับมาเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้ง พร้อมด้วยนักดนตรีแจ๊สหัวก้าวหน้า อย่าง ดิซซี กิลเลสปี และ แม็กซ์ โรช โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นในนาม เฟสติวัล ออฟ  ครีเอทีฟ แจ๊ส เป็นครั้งแรก ด้วยค่าตัวพื้นฐาน 200 เหรียญ พร้อมส่วนแบ่งกำไรจากคอนเสิร์ต อันจะเป็นที่มาของคอนเสิร์ตที่ แมสซีย์ ฮอลล์ แคนาดา ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม ถัดมาอีก 5 วัน (30 มกราคม) ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ได้ค่าตัวพิเศษจากการเล่นแบ็คอัพให้แก่งานบันทึกเสียงของ ไมล์ส เดวิส ภายใต้การชักนำของ นอร์แมน แกรนซ์ อย่างไรก็ตาม ไมล์ส ไม่ค่อยสบอารมณ์กับการทำงานในครั้งนี้นัก ตามคำบอกเล่าของ ไมล์ส ในวันนั้น เบิร์ด ดื่มหนัก (วอดก้า 1 ควอร์ท ระหว่างซ้อม) ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากสภาพความวิตกกังวลทางจิตวิทยาว่าจะถูกจับในข้อหาเสพยาอีกครั้ง หลังจาก เร็ด ร้อดนีย์ ถูกจับกุมจากสาเหตุดังกล่าว ว่ากันว่า พฤติกรรมของ เบิร์ด ในห้องอัด ถึงขนาดทำให้ ไมล์ส เดวิส ฉุนเฉียวขึ้นมา “เขาทำยังกับผมเป็นลูกของเขา หรือเป็นเด็กในวงของเขา เขาพูดด้วยสำเนียงอังกฤษบ้า ๆ บอ ๆ ว่า ได้เลย คุณหนู การสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม พวกเราต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด จากนั้น เขาก็ล้มลงนอน” เดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ติดต่อ เบิร์ด ไปเล่นที่แคนาดาอีกคอนเสิร์ตหนึ่ง โดยคราวนี้ ทาบทามให้เขาเดินทางไปเดี่ยวเพื่อบรรเลงร่วมกับนักดนตรีท้องถิ่นในรายการทีวีแห่งหนึ่ง ซึ่ง เบิร์ด ตกปากรับคำอย่างง่ายดาย เมื่อถึงเวลา เบิร์ด สร้างความงุนงงให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเขาเปิดกล่องออกมาพร้อมด้วยแซ็กโซโฟนพลาสติกสีขาว ! จากนั้นบรรเลงด้วยเสียงดังกว่าปกติ พอล บลีย์ มือเปียโนที่แบ็คอัพ เบิร์ด ในครั้งนั้น เล่าว่า “เล่นคลอเขาอย่างตกอกตกใจ เพราะเสียงดังของมัน เขาเล่นดังกว่า 3 เท่า มากกว่าใครก็ตามที่ผมเคยได้ยินมา” สาเหตุของความดัง มิได้มาจากนวัตกรรมของแซ็กโซโฟนพลาสติก แต่มาจากแนวทางการฝึกซ้อมของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ที่ทุ่มเทแรงลมจากปอดออกมาราวกับการเป่าเทียนขนมเค้ก สภาพเศรษฐกิจของ เบิร์ด แย่ลงอย่างต่อเนื่อง เขาเดินทางไปวอชิงตันพร้อมกับแซ็กโซโฟนพลาสติก เพื่อเล่นกับนักดนตรีเด็ก ๆ ที่รวมตัวกันในนาม “เดอะ ออร์เคสตรา” เพียงเพื่อรับค่าตัว 50 เหรียญ สำหรับนำไปจ่ายค่าเช่าแฟลต นักดนตรีกลุ่มนี้ภาคภูมิใจกับแนวคิดในการเรียบเรียงดนตรีเพื่อเล่นกับวงใหญ่เป็นพิเศษ พวกเขาคาดหวังจะได้แลกเปลี่ยนกับ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ แต่ผลปรากฏว่า เบิร์ด เดินทางไปถึงล่าช้าเกินกว่าจะเป็นไปตามแผน ดังนั้น ทุกอย่างจึงดำเนินไปอย่างสด ๆ ซิง ๆ โดยไม่มีการซ้อม แต่ภาพที่คลี่คลายออกมา เสมือนคอนเสิร์ตดังกล่าวเตรียมไว้สำหรับการสำแดงศักยภาพของ เบิร์ด โดยเฉพาะ มาถึงตรงนี้ หลาย ๆ ท่านคงนึกสงสัยว่า เบิร์ด มีเหตุผลใดในการใช้ แซ็กโซโฟนพลาสติก แรกสุดเลย ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องดนตรีชนิดนี้ จัดเตรียมไว้ให้ เบิร์ด ใช้ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อโปรโมทสินค้า อย่างไรก็ตาม เบิร์ด จะใช้มันก็ต่อเมื่อแซ็กโซโฟนตัวหลักของเขาเข้าไปนอนอยู่ในโรงรับจำนำ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ค.ศ. 1953 เบิร์ด มีงานเล่นที่คลับชื่อ “สตอรีวิลล์” ในเมืองบอสตัน และจากโฆษณาในนิตยสาร เมโทรโนม ในเดือนเดียวกัน ระบุว่า เบิร์ด ใช้แซ็กโซโฟนยี่ห้อ คิง รุ่นซูเปอร์ 20 อย่างไรก็ตาม จากการแสดงอย่างเยี่ยมยอดในเพลง Moose the Mooche และ Ornothology ทุกคนที่ได้ฟังจากงานบันทึกเสียงคงอดสงสัยไม่ได้ว่า เบิร์ด ใช้แซ็กของคิงหรือ แซ็กโซโฟน พลาสติก กันแน่ ? เพราะคุณภาพของฝีมือมีรัศมีเจิดจ้าเกินกว่าคุณภาพของเครื่องดนตรีไปเสียแล้ว ในงานแสดงที่เบิร์ดแลนด์อีก 2 เดือนถัดมา พิธีกรของงานประกาศชัดเจนให้ทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่แห่งนั้น สามารถคลายข้อสงสัยว่า เบิร์ด ได้ใช้แซ็กโซโฟนพลาสติกในการบรรเลงครั้งนั้น วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 สมาชิกวงดนตรีที่จะเดินทางไปแสดงที่ เดอะ แมสซีย์ ฮอลล์ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ประกอบด้วย ดิซซี กิลเลสปี, แม็กซ์ โรช, บัด พาวล์ และ ชาร์ลส์ มิงกัส พร้อมหน้ากันที่สนามบิน ลา การ์เดีย ยกเว้นเพียง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ที่ไม่ปรากฏตัวแม้เงา ดิซซี ตัดสินใจให้เพื่อน ๆ เดินทางล่วงหน้าไปก่อน ส่วนเขาอาสาขออยู่เพื่อรอดูแล เบิร์ด ที่ตกเครื่องอย่างไม่น่าให้อภัย แม้จะล่าช้าจนไม่ทันขึ้นเครื่องบิน แต่ในที่สุด ชาร์ลี พาร์คเกอร์ พร้อมกับวงควินเททที่ประกอบด้วย ดิซซี กิลเลสปี, บัด พาวล์, ชาร์ลส์ มิงกัส และ แม็กซ์ โรช ก็ได้ฝากความประทับใจอย่างไม่ลืมเลือนให้แก่แฟนเพลงชาวแคนาดา และการแสดงสดที่ เดอะ แมสซีย์ ฮอลล์ ในครั้งนั้น ก็ได้รับจดจารว่าเป็นบันทึกการแสดงสดดีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์   อ่านบทความ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ตอนอื่น ๆ ได้ที่

[1] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส

[2] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: จับเทเนอร์แซ็ก ในวง เอิร์ล ไฮน์ส

[3] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: จุดเริ่มต้นของตำนานบีบ็อพ

[5] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: วาระสุดท้ายของเบิร์ด