[1] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส

[1] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส
นับจากนักทรัมเป็ตนาม หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong ค.ศ. 1901-1971) ที่สร้างปรากฏการณ์ด้านเทคนิคการบรรเลงเครื่องดนตรีได้เต็มศักยภาพ จนเกิดคุณลักษณะของ “สวิง” ซึ่งมีนักดนตรีทั้งมือแซ็กโซโฟน, มือคลาริเน็ท, มือกลอง, มือเบส และมือเปียโน ต่างพยายามลอกเลียนวิธีการเล่นของ อาร์มสตรอง จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของเสียงดนตรีขึ้นใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ 1930s แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า ชาร์ลี พาร์คเกอร์ (Charlie Parker ค.ศ. 1920-1955) คือนักอัลโต แซ็กโซโฟน ที่มีลีลาการบรรเลงอันโดดเด่นและมีแนวคิดต้นแบบมากที่สุดคนหนึ่ง และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสทางเลือกใหม่ในวงการแจ๊ส ที่เรียกกันว่า "บีบ็อพ" โดยปริยาย   หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส ชาร์ลี พาร์คเกอร์ มีชื่อเล่นที่เรียกกันในวงการว่า เบิร์ด (Bird) หรือ ยาร์ดเบิร์ด (Yardbird) เกิดที่แคนซัส ซิตี้ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1920 พ่อของ เบิร์ด “ชาร์ลส์ พาร์คเกอร์ ซีเนียร์” ตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เมืองนี้ หลังจากสิ้นสุดการตระเวนทัวร์งานร้องรำทำเพลงที่นี่ โดยพบรักและแต่งงานกับ “แอดดี” หญิงสาวท้องถิ่นวัย 16 ปี ซึ่งมีสายเลือดอินเดียนเผ่า Choctaw เมื่อ เบิร์ด อายุราว 10 ขวบ พ่อขี้เมาของเขาห่างหายไปจากบ้าน ปล่อยให้ 2 คนแม่ลูกย้ายที่อยู่มาใกล้ชิดกับแหล่งสลัมของคนดำ ซึ่งไม่ไกลจากย่านบันเทิงยามราตรีเท่าใดนัก ในปี ค.ศ. 1932 เบิร์ด เข้าเรียนที่ ลินคอล์น ไฮสกูล สถาบันที่มีชื่อเสียงด้านวงโยธวาทิต ที่นี่เขาได้ฝึกการเป่าฮอร์นขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันคุณแม่ของเขาซื้อเปียโน 1 หลัง และอัลโต แซ็กโซโฟนเก่าให้ 1 คัน ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ เบิร์ด สนใจดนตรีอย่างจริงจังยิ่งขึ้น แม้อายุไม่มากนัก แต่ฝีมือของ เบิร์ด ทำให้เขาได้ร่วมเล่นดนตรีกับเด็กรุ่นพี่ ด้วยการทำวงที่ชื่อ “เดอะ ดีนส์ ออฟ สวิง” ขึ้นมา ประจวบกับคุณแม่ของเขาได้งานทำความสะอาดสำนักงานของสถาบันการเงิน “เวสเทิร์น ยูเนียน” ในเวลากลางคืน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่วัยรุ่นอย่าง เบิร์ด จะได้ทดลองสัมผัสกับชีวิตท่ามกลางแสงสียามราตรี เบิร์ด ทิ้งการเรียนในระบบเมื่ออายุ 15 ปี หลังจากนั้นเขาใช้ชีวิตคลุกคลีกับแวดวงดนตรีในละแวกนั้น ทั้งจากการสังเกต การร่วมแจมดนตรี และการฟังการบรรเลงของนักดนตรีรุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย บรรยากาศของเมืองแคสซัส ซิตี้ ในช่วงที่ เบิร์ด เติบโตขึ้นมานั้น เปี่ยมไปด้วยสีสันทางดนตรีมากเป็นพิเศษ อันสืบเนื่องมาจากนโยบายทางสังคมของ ทอม เพนเดอร์กาสต์ (Tom Pendergast) ผู้ว่าการเมืองแคนซัส ซิตี้ ในเวลานั้น (ค.ศ. 1928-1939) ซึ่งค่อนข้างมีนโยบายผ่อนปรนมากเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น การพนัน, การค้าประเวณี, เหล้า และยาเสพติด เฟื่องฟูขึ้นมา แม้ขณะนั้นสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในช่วง Prohibition Era ที่ห้ามผลิตและจำหน่ายสุราอย่างเข้มงวด (ราว ค.ศ. 1920-1933) ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ แคนซัส ซิตี้ จึงเป็นสวรรค์ของนักดนตรีผิวดำ และกลายเป็นแหล่งรวมของนักดนตรีฝีมือดีโดยปริยาย เราอาจกล่าวได้ว่า นักแซ็กโซโฟนชั้นนำของวงการมักพำนักกันอยู่ในเมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็น เบน เว็บสเตอร์, เฮิร์ชเชล อีแวนส์ และ เลสเตอร์ ยัง เมื่อมีความตั้งใจเอาจริงกับดนตรี เบิร์ด ฝึกซ้อมวันละ 15 ชั่วโมง โดยเริ่มจากการฝึกฝนสเกล จากนั้น ทดลองเล่นบลูส์ให้ครบ 12 คีย์ แล้วเริ่มต้นบรรเลงเพลง I Got Rhythm ให้ครบ 12 คีย์ เช่นเดียวกัน ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1936 แม่ของเบิร์ด ชักนำให้เขาแต่งงานกับเพื่อนสาว นาม รีเบ็คกา รัฟฟิน ตอนนั้นเขาอายุเพิ่ง 15 ปี ส่วนเจ้าสาวอายุ 16 ปี (แต่เธอระบุอายุไว้ 18 ปี เพื่อให้ได้รับสิทธิในการแต่งงาน) ดูเหมือนแม่สามีกับลูกสะใภ้จะไปด้วยกันได้ดี เพราะ รีเบ็คกา ไม่สนใจหรือเสน่หาชีวิตกลางคืนแม้แต่น้อย ทว่า ความอบอุ่นนุ่มนวลของเธอก็ไม่อาจมัดใจ เบิร์ด เอาไว้ได้ วันหนึ่ง เบิร์ด ประสบอุบัติทางรถยนต์ ส่งผลให้กระดูกซี่โครงหักและกระดูกสันหลังมีปัญหา เขาใช้เวลานอนพักรักษาตัวราว 2 เดือน ระหว่างนั้นก็เพลิดเพลินกับการสูบกัญชา และนำเงินที่ได้จากประกัน ไปซื้อแซ็กโซโฟนตัวใหม่ ยี่ห้อ “เซลเมอร์” ที่ห้องรับแขกในบ้านของ เบิร์ด มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นแรก ๆ ที่มีชื่อว่า วิคโทรลา (Victrola) วางอยู่เคียงข้างเปียโน จากคำบอกเล่าของ รีเบ็คกา เธอยืนยันว่า เบิร์ด ใช้งานทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงและเปียโนบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่ง เบิร์ด มีโอกาสแจมเซสชั่นกับสมาชิกในวงดนตรีของ เคาน์ เบซี (Count Basie) ที่คลับเรโน แต่ด้วยเงื่อนไขที่เกินกว่าความสามารถของ เบิร์ด ในเวลานั้นจะไปถึง ด้วยจังหวะที่ค่อนข้างเร่งเร้า เบิร์ด ไม่สามารถเล่นได้แคล่วคล่องว่องไวเพียงพอ ส่งผลให้ โจ โจนส์ (Joe Jones) มือกลองของ เบซี หงุดหงิดรำคาญใจ ถึงขนาดโยนฉาบใบหนึ่งใส่เท้าของ เบิร์ด นั่นเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความอับอายให้แก่ เบิร์ด อย่างใหญ่หลวง        หลังจากนั้น เบิร์ด ตัดสินใจไปเล่นดนตรีต่างเมืองที่รีสอร์ทในภูเขาโอซาร์คเป็นเวลา 3 เดือน มิใช่เพื่อหลบหน้าผู้คน แต่ต้องการเรียนรู้กับนักกีตาร์ประจำวงชื่อ เอฟเฟิร์จ แวร์ (Efferge Ware) ซึ่งมีความรู้ทางด้านทฤษฎีฮาร์มอนี พร้อมกันนั้น เขาศึกษาดนตรีจากแผ่นเสียงของวงเคาน์ เบซี ชนิดโน้ตต่อโน้ต รวมถึงการบรรเลงของ เลสเตอร์ ยัง มือเทเนอร์ แซ็ก ในวงของ เบซี ณ เวลานั้น เมื่อเสร็จสิ้นจากการเล่นดนตรีในรีสอร์ตที่ภูเขาโอซาร์ค และกลับมาที่แคนซัส ซิตี้ นักดนตรีทั้งหลายต่างประหลาดใจกับความสามารถทางดนตรีของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวหน้าอย่างเด่นชัด นักเปียโน เจย์ แมคแชนน์ (Jay McShann) เป็นประจักษ์พยานคนหนึ่งในเรื่องนี้ เขากล่าวถึงการแจมเซสชั่นครั้งหนึ่งที่ตัวเขาเองกำลังเล่นอยู่บนเวที โดยมี เบิร์ด กระโดดขึ้นมาแจมด้วยว่า “เขาหลุดจากทำนอง แล้วเล่นไปตามทางของเขา ผมคิดว่าเขาต้องเจอกับปัญหาแน่ แต่แล้วเขาเหมือนกับแมวที่กระโดดลงพื้นได้ด้วยขาทั้งสี่ เขาเป็นเด็กแปลก ก้าวร้าวมากและเฉลียวฉลาดทีเดียว” งานใหม่ของเบิร์ด คือการได้เล่นในวง 12 ชิ้นที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ ภายใต้การนำของนักอัลโต แซ็กโซโฟน บัสเตอร์ สมิธ (Buster Smith) ซึ่งเคยเป็นสมาชิกในวงของ เคานท์ เบซี ภายในวงนี้ เบิร์ดได้เล่นในตำแหน่งอัลโต แซ็กโซโฟนที่ 2 ซึ่งเขาได้รับประสบการณ์ที่มีค่า และดูเหมือน บัสเตอร์ จะมั่นใจในตัวของเด็กหนุ่มคนนี้ไม่น้อย โดยเปิดโอกาสให้เขาได้โซโล่เป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาอันแสนสุขนั้นสั้นนัก ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1938 บัสเตอร์ ก็ตัดสินใจยุบวง เพื่อเดินทางไปเล่นในวงของ เคานท์ เบซี อีกครั้ง ซึ่งได้ย้ายออกจากแคนซัส ซิตี้ ไปอยู่ที่นิวยอร์ก ซิตี้ แล้วในเวลานั้น ช่วงนี้ เบิร์ด เป็นพ่อคนแล้ว แต่การให้กำเนิดบุตรชายของ รีเบ็คกา กลับไม่ได้เป็นปัจจัยสมานสัมพันธ์ภายในครอบครัวแม้แต่น้อย สภาพความเป็นไปภายในบ้านเลวร้ายลงตามลำดับ มีการนำอัญมณีและข้าวของเครื่องใช้ออกขาย ในจำนวนนี้รวมถึงเตารีดของแม่เบิร์ด เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสำหรับสนองความต้องการเสพยาของเบิร์ด เวลาเดียวกันนั้นเอง สภาพความเป็นไปของวงการดนตรีในเมืองแคนซัส ซิตี้ ก็เลวร้ายลงด้วยเช่นกัน หน่วยงานกลางด้านภาษีของประเทศเริ่มเข้มงวดต่อนโยบายทางสังคมของผู้ว่าการฯ เพนเดอร์กาสต์ ไนท์คลับเริ่มสูญเสียเสน่ห์อย่างที่เคยเป็น ช่วงนี้ พาร์คเกอร์ กับเพื่อน ๆ หันมาเล่นดนตรีกลางแสงดาวในสวนสาธารณะของเมืองแทน และในช่วงเริ่มต้นของปี ค.ศ. 1939 เบิร์ด ก็ตัดสินใจนำแซ็กโซโฟนของเขาไปจำนำ แล้วซื้อตั๋วรถไฟขึ้นไปทางตอนเหนือของประเทศ [caption id="attachment_15907" align="aligncenter" width="640"] [1] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส ชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption] ‘คนนอก’ ใจกลางนิวยอร์ก ซิตี้ เมื่อ บัสเตอร์ สมิธ อดีตหัวหน้าวงของ เบิร์ด เปิดประตูอพาร์ตเมนต์ของเขาในเมืองนิวยอร์ก และพบ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ยืนอยู่ในสภาพอิดโรย ขาบวม และรองเท้าขาดเป็นทางยาว เขาไม่ได้ประหลาดใจแม้แต่น้อย บัสเตอร์ ต้อนรับ เบิร์ด ให้พักอาศัยอยู่กับเขา ในช่วงเวลากลางวันที่ภรรยาของบัสเตอร์ออกไปทำงาน เบิร์ด จะกลับมาหลับบนเตียงนอนเดียวกัน และเมื่อเธอกลับมาถึงบ้าน เขาจะตื่นขึ้น แล้วออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านตลอดทั้งคืน การหางานเล่นดนตรีในนิวยอร์กไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสหภาพนักดนตรีที่นั่นจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการพิจารณาว่าใครมีคุณสมบัติเหมาะสม จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนแปลกหน้าที่เพิ่งมาถึงใหม่ ๆ หมาด ๆ จะได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ เบิร์ด จึงใช้เวลาที่มีอยู่ไปเล่นดนตรีแบบ “แจมเซสชั่น” ในย่านฮาร์เล็ม ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าระหว่างนี้ เบิร์ด คงอาศัยหยิบยืมแซ็กโซโฟนจาก บัสเตอร์ สมิธ ด้วยเช่นกัน ในความคิดของเบิร์ดเวลานั้น เขารู้สึกเบื่อหน่ายในรูปแบบอันซ้ำซากของดนตรีบิ๊กแบนด์ และพยายามหาโอกาสแจมดนตรีกับเพื่อนนักดนตรีด้วยกัน เพื่อแสวงหาสุ้มเสียงใหม่ ๆ อยู่เสมอ "ผมคิดเสมอว่าน่าจะมีหนทางที่นำไปสู่บางสิ่งบางอย่าง... ผมได้ยินเสียงของมัน แต่เล่นมันออกมาไม่ได้" พร้อม ๆ กันนั้น เขาได้งานล้างจานที่ร้านอาหาร จิมมี’ ส ชิคเกน แช็ค ซึ่งที่นั่นมีนักเปียโนนัยน์ตาพิการ อาร์ต เททัม (Art Tatum) บรรเลงประจำ ด้วยฝีมือและสไตล์การบรรเลงของ อาร์ต นับว่าตรงกับความคิดอ่านทางดนตรีของเบิร์ดพอดี ทั้งความหลากหลายของจังหวะ, ฮาร์มอนีอันรุ่มรวย, สัมผัสอันแม่นยำ และความเข้าใจในคีย์ดนตรีทุก ๆ คีย์ ณ ทุก ๆ ระดับความเร็ว แม้งานล้างจานจะเป็นสิ่งน่าชิงชังสำหรับนักดนตรีที่กำลังค้นหาประกายความคิดสร้างสรรค์อย่าง เบิร์ด แต่เขาก็อุตสาหะทำงานได้นานถึง 3 เดือน ตลอดระยะเวลาที่ อาร์ต บรรเลงที่นั่น สังคม “แจมเซสชั่น” ทำให้ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ มีเพื่อนนักดนตรีพอสมควร หนึ่งในจำนวนนั้นคือ มือกีตาร์ที่มีฝีมือเฉียมคม นาม บิดดี ฟลีท (Biddy Fleet) โดยทั้งสองสรรหาเวลามาซ้อมดนตรีกันที่ห้องด้านหลังของร้าน แดน วอลล์’ส ชิลลี เฮาส์ ในย่านฮาร์เล็ม วันหนึ่ง ขณะแจมดนตรีด้วยเพลง Cherokee กับ บิดดี ฟลีท นักอัลโตแซ็กโซโฟนคนนี้ ก็ค้นพบในทันทีทันใดว่า ถ้าเขาใช้เสียงคอร์ดที่สูงขึ้นไปอีกหนึ่งช่วงเสียง (higher intervals) เป็นแนวทำนอง และรองรับทำนองนั้นด้วยการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เหมาะสม เขาก็จะบรรเลง "เสียงที่ได้ยิน" ออกมาได้ นับจากนั้น พวกเขาสนุกเพลิดเพลินกับการค้นพบความเป็นไปได้ของขั้นคู่เสียงที่กว้างไกลกว่าเดิม (upper intervals) อาทิ คู่ 9, คู่ 11 และ คู่ 13  ของเสียงคอร์ด เป็นต้น นิวยอร์ก นับเป็นมหานครแห่งโอกาสที่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ พัฒนาฝีมือของตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้พบกับ ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) ในที่สุด แต่แล้ววันหนึ่ง เขาได้รับโทรเลขด่วนจากแม่ เป็นข่าวร้ายแจ้งมาจากต้นทางว่า ชาร์ลส์ พาร์คเกอร์ ซีเนียร์ พ่อของเขาซึ่งพเนจรจากบ้านไปนานได้เสียชีวิตแล้ว ด้วยปลายมีดจากน้ำมือของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าเธอเป็นโสเภณี หลังจากพิธีศพพ่อ เบิร์ด พักอยู่กับครอบครัวได้ระยะหนึ่ง ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เขาก็ขอหย่ากับ รีเบ็คกา ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความทุกข์ใจนี้ เบิร์ด มีโอกาสบันทึกเสียงแบบไม่เป็นทางการครั้งแรก (แผ่นตัดออกมาหยาบ ๆ ภายใต้สังกัด Honey and Body และกว่าจะได้นำออกเผยแพร่จริงก็กินเวลาจนถึงทศวรรษ 1980s) อันเป็นผลสืบเนื่องจากการกลับไปติดตามวงการเพลงในเมืองแคนซัส ซิตี้ จอฟฟีย์ เฮย์ดอน เขียนไว้ในหนังสือ Quintet of the Year ว่า ในงานบันทึกเสียงดังกล่าว เบิร์ด บรรเลงเพลง Honeysuckle Rose และ Body and Soul ในหลาย ๆ แวริเอชั่น โทนเสียงแซ็กโซโฟนของเขายังไม่ฟอร์มตัว และโครงสร้างของการบรรเลงบ่งบอกถึงลักษณะอนุรักษนิยมอยู่สูง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บ่งบอกความเป็นเบิร์ดปรากฏให้เห็นจากการลื่นไหลของตัวโน้ตบนจังหวะดับเบิลไทม์, การโซโล่บนสเกลโครเมติด, การอิงอยู่กับทางเดินคอร์ดของเพลงสแตนดาร์ด และสัมผัสของความเป็นสวิง งานแรกของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เมื่อกลับไปยังแคนซัส ซิตี้ คือการเล่นในวงของ ฮาร์แลน เลียวนาร์ด แม้จะไม่ชื่นชมยินดีกับนายวงของเขานัก แต่ เบิร์ด ก็สุขใจกับการได้พบและรู้จักกับ แทดด์ ดาเมรอน (Tadd Dameron) นักแต่งเพลงและนักเรียบเรียงดนตรีหัวก้าวหน้า มิตรภาพสั้น ๆ ช่วงแรกของทั้งคู่ดำเนินไปบนความสนใจที่มีต่อแนวคิดด้านฮาร์มอนี และความหลงใหลในยาเสพติด เบิร์ด อยู่ในวงของ ฮาร์แลน เลียวนาร์ด ได้ไม่นานก็ถูกไล่ออก แต่แล้วเมื่อ เจย์ แมคแชนน์ มือเปียโนทราบข่าว ก็รีบดึงตัวเขาเข้าร่วมวงบิ๊กแบนด์ใหม่ที่กำลังก่อตั้งทันที [caption id="attachment_15877" align="aligncenter" width="1200"] [1] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส ดิซซี กิลเลสปี มือทรัมเป็ตที่ร่วมสร้างตำนาน “บีบ็อพ” กับชาร์ลี พาร์คเกอร์[/caption]

พบ ดิซซี กิลเลสปี

มีความน่าประหลาดใจอยู่บ้าง ตรงที่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ไม่ได้พบกับ ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) มือทรัมเป็ตที่ร่วมสร้างตำนาน “บีบ็อพ” ที่นิวยอร์ก แต่กลับพบกันครั้งแรกที่เมืองแคนซัส ซิตี้ นี่เอง นักประวัติศาสตร์ดนตรีมีข้อสรุปตรงกันว่า เบิร์ด พบกับ ดิซซี ในคราวที่มือทรัมเป็ตคนนี้เดินทางมาแคนซัส ซิตี้ พร้อมกับวงบิ๊กแบนด์ของ แค็บ แคลโลเวย์ ออร์เคสตรา (Cab Calloway Orchestra) แต่วันเวลาที่แน่นอนนั้น ยังเป็นประเด็นต้องถกเถียงกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ในหนังสือชีวประวัติของ ดิซซี กิลเลสปี ฉบับปี ค.ศ. 1999 อลิน ชิพตัน ผู้เขียนระบุว่า ดิซซี พบ เบิร์ด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ซึ่งเป็นการมาเยือนแคนซัส ซิตี้ เป็นครั้งที่ 2 ของ ดิซซี ข้อมูลที่ยืนยันวันเวลาดังกล่าวก็คือ ช่วงเวลานั้น วงดนตรีของ แค็บ แคลโลเวย์ และ เจย์ แมคแชนน์ ต้องบรรเลงที่ แฟรีแลนด์ ปาร์ค ซึ่งเป็นสวนยอดนิยมในช่วงฤดูร้อนของเมืองนี้พอดี มีเรื่องเล่ากันว่า ชื่อเสียงของมือทรัมเป็ต ดิซซี ทำให้นักทรัมเป็ตในวงของ เจย์ แมคแชนน์ ไม่พลาดที่จะไปชมการแสดงของ แค็บ แคลโลเวย์ ในวันที่ 23 มิถุนายน หลังจากนั้น พวกเขามีโอกาสพบปะกับ ดิซซี และได้เอ่ยอ้างถึงมืออัลโต แซ็กโซโฟน ซึ่งเป็นดาวเด่นของวง นั่นคือ ชาร์ลี พาร์คเกอร์  ทว่า คืนนั้นไม่มีใครตามหาเบิร์ดพบ บรรดานักดนตรีจัดแจงให้ทั้งคู่ได้พบกัน ในค่ำวันต่อมา (24 มิถุนายน) ที่ชั้นบนของสหภาพนักดนตรีผิวสี เบิร์ด เล่น อัลโต แซ็กโซโฟน ส่วน ดิซซี เล่นเปียโน แม้จะเป็นการแจมกันสั้น ๆ แต่ ดิซซี จากเมืองแคนซัส ซิตี้ ไปด้วยความประทับใจอย่างลึกซึ้ง ดังที่เขารำลึกถึงความรู้สึกครั้งนั้นไว้ในหนังสือ Dizzy : To Be or Not To Bop ว่า [caption id="attachment_15901" align="aligncenter" width="318"] [1] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส หนังสือ Dizzy : To Be or Not To Bop (ภาพจาก https://www.goodreads.com/book/show/1091223.to_Be_or_not_to_Bop)[/caption] “ผมประหลาดใจกับสิ่งที่นายคนนั้นทำได้ วิธีการที่เขารวบรวมตัวโน้ตเข้าไว้ด้วยกัน นั่นเป็นหนึ่งในประสบการณ์ครั้งสำคัญ เพราะว่าตอนนั้นผมเป็นแฟนตัวยงของ รอย เอลดริดจ์ แต่ผมกำลังก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และผม กำลังก้าวหน้าด้วยการฝึกฝนไปในทิศทางเดียวกัน” นับจากนั้น ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และ ดิซซี กิลเลสปี ไม่ได้พบกันเพื่อทดลองดนตรีเป็นเวลาอีก 2 ปี ระหว่างนั้น เบิร์ด เล่นประจำในวงของ เจย์ แมคแชนน์ ซึ่งแม้เขาจะมีอายุน้อยที่สุดในวง โดยยังไม่ครบ 20 ปีเต็ม แต่ เจย์ วางใจให้เบิร์ดเป็นหัวหน้าส่วนของแซ็กโซโฟน และระหว่างการออกทัวร์กับวงของ เจย์ นั่นเอง คือที่มาของ “ชื่อเล่น” ของเขา สืบเนื่องจากคำบอกเล่าของ เจย์ ซึ่งมีนิสัยเป็นนักเล่าเรื่องตัวยงคนหนึ่ง ระบุว่า อาหารจานโปรดของ ชาร์ลี คือ “ไก่” (Chicken หรือ Yardbird ทั้งนี้ ในภาษาสแลงอเมริกัน Yardbird ยังสามารถหมายถึง ทหารใหม่ หรือ นักโทษ ได้อีกด้วย) วันหนึ่ง รถบัสของวงวิ่งไปทับโดนสัตว์ปีกเคราะห์ร้ายตัวหนึ่ง ชาร์ลี ลงจากรถเพื่อไปเก็บซากของสัตว์ตัวนั้น เมื่อไปถึงโรงแรม เขาวิ่งไปที่ครัวพร้อมกับไก่ตัวนั้น พร้อมกับบอกให้แม่ครัวปรุงให้รับประทาน นั่นคือที่มาของชื่อเล่นว่า “ยาร์ดเบิร์ด” หรือ “ยาร์ด” หรือที่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า “เบิร์ด” ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1940 วงของ เจย์ ได้บันทึกเสียงที่สถานีวิทยุ KFBI ในเมืองวิชิตา รัฐแคนซัส จากงานชุดนี้ ผู้ศึกษาผลงานของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ จะได้สดับฟังสุ้มเสียงชั้นดีของนักอัลโต แซ็กโซโฟน วัยย่าง 21 ปีคนนี้ แม้สุ้มเสียงยังไม่บรรลุวุฒิภาวะชัดเจน แต่บ่งบอกถึงความล้ำหน้ากว่าใครในเวลานั้น วงของ เจย์ แมคแชนน์ ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เมื่อสังกัด “เด็คกา” (Decca) ชักชวนให้พวกเขามาบันทึกเสียงที่สตูดิโอในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ภายใต้ซีรีส์ที่ชื่อว่า “ซีเปีย ซีรีส์” ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงดนตรีบลูส์เป็นส่วนมาก พวกเขามี Confessin’ the Blues เป็นเพลงฮิต โดยการร้องนำของ วอลเตอร์ บราวน์ (Walter Brown) และแบ็คอัพโดยวงริธึ่มเซคชั่นของ เจย์ แมคแชนน์  ซึ่งนำออกเผยแพร่ผ่านตู้เพลง และขายได้ถึง 5 แสนก็อปปี [caption id="attachment_15904" align="aligncenter" width="599"] [1] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส แผ่น Confessin’ the Blues (ภาพจาก https://www.discogs.com/Jay-McShann-Confessin-The-Blues/release/3136122)[/caption] ทั้งนี้ ในหน้าบีของแผ่นชุดดังกล่าว (B-side) ซึ่งปกติไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก มีเพลง Hootie Blues ร้องโดย วอลเตอร์ บราวน์ เช่นกัน แต่แบ็คอัพโดยวงของ เจย์ แมคแชนน์ ทั้งวง ซึ่งก่อนที่ วอลเตอร์ จะร้องนำขึ้นมานั้น มีเสียงโซโล่ อัลโต แซ็กโซโฟน ความยาว 12 ห้อง จากการบรรเลงของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ปรากฏอยู่ นี่คือครั้งแรกที่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ได้สื่อสารข้อความของเขาออกมาสู่โลกภายนอก และนักดนตรีคนใดที่ได้ฟังย่อมอดตื่นเต้นมิได้ ในจำนวนนั้นรวมถึง ไมล์ส เดวิส (Miles Davis) นักทรัมเป็ตรุ่นเยาว์แห่งเมืองเซนต์หลุยส์ ข้อความของชาร์ลี พาร์คเกอร์ อาจถอดรหัสให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า “คุณสามารถรักษาสารัตถะของดนตรีบลูส์เอาไว้ได้ ในขณะที่กำลังสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่สดใหม่และงดงาม” ก่อนจะเข้าสู่ยุคบีบ็อพเต็มตัว ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงปรากฏบนสื่อสิ่งพิมพ์ในวงการแจ๊สตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 ผลงานการเล่นในวงดนตรีของเจย์ แมคแชนน์ ระหว่างปี ค.ศ. 1940-42 สะท้อนถึงการมีรูปแบบ "สวิง" เป็นพื้นฐาน (Swing Oriented Style) บางครั้งอาจจะสำแดงตัวตนผ่านการโซโล่ที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์และไม่เหมือนใคร อย่างไรก็ตาม มีผู้สังเกตว่าลีลาการเล่นของเบิร์ดในยุคแรกซึมซับสไตล์การเล่นของ เลสเตอร์ ยัง (Lester Young) นักเทเนอร์ แซ็กโซโฟน มาไม่น้อย (ดูจากเพลง Lady Be Good, Honeysuckle Rose, Hootie Blues) โดยที่เบิร์ดเองก็มีพื้นฐานการแสดงออกทางดนตรีจากการศึกษาผลงานแจ๊สในแบบดั้งเดิม (แม้ในเวลาต่อมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะปฏิเสธความคิดอ่านที่ล้ำหน้าของเขาก็ตาม) ดังคำบอกเล่าตอนหนึ่งของแมคแชนน์ ในสมัยที่ เบิร์ด เป็นสมาชิกภายในวง "เบิร์ดรักเลสเตอร์มาก เมื่อใดก็ตามที่วงของ เบซี (ซึ่งเลสเตอร์ ยัง เป็นสมาชิกอยู่) กำลังถ่ายทอดสดออกอากาศ (ทางวิทยุ) หรืออะไรก็ตาม เขาจะพูดขึ้นเสมอว่า ‘นี่เพื่อน พวกเบซีกำลังจะแสดงอยู่แล้วนะตอนนี้ เมื่อไรเราจะหยุดพักกันเสียทีเล่า?’ คำพูดนั่นทำให้พวกเราต้องพักวง แล้วเขาก็จะวิ่งรุดออกไปฟังดนตรี" หรือคำบอกเล่าของ โฮเวิร์ด แมคกี ที่พูดถึงแนวทางการเล่นของเบิร์ดในยุคแรกว่า "ครั้งแรกที่ผมได้ยินเขา เขาเล่นออกมาคล้าย ๆ เพรซมาก (prez ย่อมาจาก president เป็นฉายาของเลสเตอร์ ยัง) จริงๆ แล้วในงานยุคแรกของเจย์ แมคแชนน์ เสียงแซ็กโซโฟนของเบิร์ดเหมือนของเพรซอย่างกับแกะ และยังพูดได้ว่าเขามีความเป็นหลุยส์ อาร์มสตรอง อยู่ในตัวเองด้วย เพราะนั่นคือแนวทางที่เพรซตามรอยมา" ด้วยความสำเร็จด้านยอดขายของวง เจย์ แมคแชนน์ ส่งผลให้สังกัด “เด็คกา” ตัดสินใจโปรโมทให้มีการแสดงของวงที่ เดอะ ซาวอย บอลรูม ในนครนิวยอร์ก ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1942 “เดอะ ซาวอย” เป็นสถานที่แสดงดนตรีที่มีชื่อเสียง โดยปกติทุกครั้งมักมีการถ่ายทอดสดผ่านทางวิทยุไปทั่วประเทศ ซึ่งทำให้นักดนตรีต่างเฝ้าติดตามโปรแกรมการบรรเลงของที่นี่ ด้วยตระหนักดีว่าในแต่ละครั้งมักมีโชว์ที่ไม่ธรรมดา ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เริ่มมีชื่อเสียงจากวงของ เจย์ แมคแชนน์ ฝีมือการโซโล่ในเพลง Cherokee ของเขา ซึ่งบรรเลงด้วยสปีดที่รวดเร็ว ทำให้นักดนตรีที่ได้ฟังต่างตัดสินใจเดินทางมาชมการแสดงกันถึงที่ แม้โครงสร้างจังหวะของวงจะค่อนข้างตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่สอดคล้องกับแนวทางการบรรเลงของ เบิร์ด นัก แต่เขาจัดการให้สุ้มเสียงของเขาเป็นอิสระราวกับนกได้ อันที่จริงความชื่นชอบในเพลง Cherokee ของ เบิร์ด น่าจะย้อนกลับไปสู่ยุคแรกเริ่มที่เพิ่งมาถึงนิวยอร์กครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1939 เขา กับ บิดดี ฟลีท ทดลองเล่นเพลงนี้จากจังหวะเดิมที่ค่อนช้างเชื่องช้า เฉื่อยเนือย ด้วยการเล่นเร็วขึ้นกว่าเดิม ถึง 300 bpm (300 ครั้งต่อนาที) อย่างไรก็ตาม คุณภาพอันเฉียบคมของเพลง Cherokee ที่ เบิร์ด บรรเลงมาจากการจัดวางไอเดียด้านฮาร์มอนี โดยในท่อน A เบิร์ดยังอิงอยู่กับคีย์ บี แฟลท ก่อนที่จะสร้างความประหลาดใจในท่อน B ด้วยการหลุดไปยังคีย์ บี จากนั้น คีย์ เอ และ คีย์ จี ก่อนคืนสู่ คีย์ บี แฟลท ซึ่งทั้งหมดดำเนินไปบนจังหวะอันเร่งเร้า             .................................. ดิซซี กิลเลสปี ได้พบกับ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อีกครั้งในช่วงนี้ และนำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์ดนตรี “บีบ็อพ” ในท้ายที่สุด โดย ดิซซี มักแวะมาเยือน เบิร์ด ที่ เดอะ ซาวอย บอลรูม จากนั้นหลังจากโชว์พวกเขาจะมุ่งหน้าไปย่านฮาร์เล็มเพื่อหาไนท์คลับสำหรับ “แจม เซสชั่น” (Jam Session) จุดพักแรกคือที่ “มินตัน’ส เพลย์เฮาส์” (Minton’s Playhouse)  บนถนนสายที่ 118 ซึ่งที่นั่นเขาจะได้พบกับนักเปียโน ธีโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk) และลูกศิษย์ของเขา บัดด์ พาวล์ (Budd Powell) จากนั้นเมื่อ “มินตัน’ส เพลย์เฮาส์” ปิด พวกเขาจะย้ายไปสู่ช่วงแจม “อาฟเตอร์ อาวร์” (Jam Session After-Hours) ที่ “คลาร์ก มอนโร’ส อัพทาวน์ เฮาส์” (Clark Monroe’s Uptown House) ที่ซึ่งมีมือกลองวัยรุ่นจากบรู้คลีน นามว่า แม็กซ์ โรช (Max Roach) เล่นประจำอยู่ที่นั่น โดยที่ “คลาร์ก มอนโร’ส อัพทาวน์ เฮาส์” พวกเขาจะแจมกันตั้งแต่ตี 4 ไปจนถึง 8 โมงเช้าของวันใหม่ ดิซซี ย้อนความทรงจำเวลานั้น ในหนังสือ Dizzy : To Be Or Not To Bop ว่า “เมื่อ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ มาถึงนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1942 ดนตรีสไตล์ใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเขามีส่วนร่วมในดนตรีนี้อย่างมหาศาล... แนวการเล่นของเขาแตกต่าง ทั้งการบรรเลงรุกเร้าและสวิง ...  ผมเล่นเพลงให้ยาร์ดเบิร์ดฟังผ่านจากเปียโน จากนั้นโครงสร้างเพลงก็เริ่มชัดเจนขึ้น เขาเล่นด้วยจังหวะที่มีซิงโคเปชั่น (syncopation) หนัก ๆ และบริสุทธิ์มาก ๆ .. และบรรดาโน้ตเพลงพวกนั้น เบิร์ด มีโน้ตในท่วงทำนองที่ลึกซึ้ง มันลึกซึ้งราวกับโน้ตที่เบโธเฟนได้เคยสร้างขึ้น... ทางด้าน เบิร์ด เคยให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การแจมดนตรีแบบ อาฟเตอร์ อาวร์ส นี้ว่า "ที่มอนโร'ส ผมได้ฟังเซสชั่นที่มีนักเปียโนคนหนึ่งชื่อ อัลเลน ทินนีย์ ผมได้ยินมือทรัมเป็ต อย่างพวก ลิพส์ เพจ รอย, ดิซซี่ และชาร์ลี เชฟเวอร์ ระเบิดเสียงเพลงในค่ำคืนอันยาวนาน และ ดอน ไบอัส ก็อยู่ที่นั่นด้วย พวกเขาเล่นทุกอย่างที่จะเล่นได้ ผมได้ยินมือทรัมเป็ต วิค คูสัน เล่นในแบบที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน วิค มีวงประจำที่ มอนโร'ส กับ จอร์จ ทรีดเวลล์ ซึ่งเป็นมือทรัมเป็ต และมือเทเนอร์ชื่อ พริทเชทท์ นั่นเป็นแนวดนตรีที่ทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากวงของแมคแชนน์ และตัดสินใจ (ประจำ) อยู่ที่นิวยอร์ค"   อ่านบทความ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ตอนอื่น ๆ ได้ที่ [2] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: จับเทเนอร์แซ็ก ในวง เอิร์ล ไฮน์ส [3] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: จุดเริ่มต้นของตำนานบีบ็อพ [4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก [5] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: วาระสุดท้ายของเบิร์ด