พอได้ตรวจอาการของข้าพเจ้าแล้ว หมอดาลาลก็ให้ความเห็นว่า “ผมไม่สามารถจะรักษาร่างกายของคุณให้แข็งแรงได้ หากคุณไม่รับประทานน้ำนม นอกจากนี้ หากคุณให้ผมฉีดยาซึ่งมีธาตุเหล็กและสารหนูด้วยแล้ว คุณจะมีร่างกายแข็งแรงเช่นเดิมได้แน่”
“คุณหมอให้ยาฉีดผมได้ แต่เรื่องรับประทานน้ำนมนั้นเห็นจะเป็นไปไม่ได้ เพราะผมได้ปฏิญาณตนไว้แล้วว่าจะไม่ดื่มน้ำนม” (จากหนังสือ "ข้าพเจ้าทดลองความจริง"-The Story of My Experiments with Truth หนังสืออัตชีวประวัติของมหาตมา คานธี จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง)
...
โลกรู้จักกับมหาบุรุษอย่าง มหาตมา คานธี(1869-1948) ในภาพของผู้ต่อสู้เพื่อปลดแอกอินเดียจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ด้วยวิธีการสันติโดยการใช้เครื่องมืออย่าง “สัตยาเคราะห์” (การต่อสู้ทางการเมืองโดยยึดถือ 1.สัตย์ 2.อหิงสา และ 3.การดื้อแพ่ง) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตัวคานธีเอง เป็นคนที่ยึดถือกับหลักการที่ตนเองตั้งไว้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องทางการเมืองเอง
โดยเฉพาะในเรื่องการทานอาหาร เป็นเรื่องที่เขาใช้ฝึกจิตใจตัวเองอย่างหนักหน่วง คานธีเป็นมังสวิรัติที่ไม่ทานทั้งเนื้อสัตว์ น้ำนม(โดยเฉพาะนมวัว เขาเคยดื่มนมแต่เลิกดื่มในระยะหลัง) ทั้งยังมีความเชื่อในการอดอาหารไปจนถึงใช้น้ำ ใช้ดินรักษาอาการป่วยไข้ แม้ว่าในวันที่ป่วยหนัก เขาและครอบครัวก็ยึดถือหลักการนี้มาตลอดจนทำให้หมอที่ดูแลทำการรักษาลำบาก
แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง คานธีป่วยหนักมาก เพื่อรักษาชีวิต เขาต้องประนีประนอมกับตัวเองว่า แม้เขาจะไม่ดื่มนมวัวเด็ดขาด
แต่เพื่อรักษาชีวิต เขาเลือกที่จะดื่ม “นมแพะ” แทน
…
ทำไมเขาไม่ดื่มนมวัว แต่ที่สุดเลือกดื่มนมแพะเพื่อรักษาชีวิต? ประเด็นเหล่านี้ คานธีเขียนถึงตัวเองผ่านหนังสืออัตชีวประวัติที่มีชื่อว่า "ข้าพเจ้าทดลองความจริง"(The Story of My Experiments with Truth) ซึ่งมีหลายประเด็นเรื่องอาหารการกินของเขาที่น่าสนใจ
ภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องชีวิตและงานของคานธี แต่มักจะแทรกวิธีคิดเรื่องการทานอาหารที่ยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนาฮินดู(ในพื้นที่ที่เขาเกิด)ที่เขานับถือและความเชื่อส่วนตัวของเขาเอง ซึ่งคานธีเปรียบว่าเป็นเหมือนการทดลองความจริงของชีวิต
เป็นที่ทราบกันว่าคานธีเป็นมังสวิรัติที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะเคยทานเนื้อสัตว์ในวัยหนุ่มเพราะคำแนะนำของเพื่อนที่บอกว่า การทานเนื้อสัตว์ทำให้คนอินเดียรูปร่างสูงใหญ่เหมือนคนอังกฤษเจ้าอาณานิคม พวกเราจะสู้เขาได้ในที่สุด แต่เมื่อพิจารณาตามหลักการความเชื่อแล้ว คานธีทดลองทานเนื้อสัตว์ไม่นานก็เลิกล้มในที่สุด และต่อมาคานธีได้สารภาพว่า การทานเนื้อสัตว์คือเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่งในชีวิตของเขา
แม้ว่าในทางศาสนา คานธีสามารถดื่มนมได้ แต่เหตุผลที่เขาไม่ยอมดื่มนมวัวนั้นก็เพราะว่า คานธีเคยเห็นการรีดนมวัวโดยการวิธี “พูงกา” เป็นการใช้สารที่มีความแสบร้อนรดที่เต้านมทำให้น้ำนมไหลออกมาจนเกลี้ยงเต้า วิธีรีดนมนี้คานธีรู้สึกว่า “ทำให้ข้าพเจ้าหมดความอยากที่จะดื่มน้ำนม นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังมีความรู้สึกว่านมมิใช่อาหารตามธรรมชาติของมนุษย์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเลิกดื่มน้ำนมโดยเด็ดขาด”
ช่วงเวลาหนึ่งที่คานธีทดสอบชีวิตตัวเองอย่างหนักหน่วง คือช่วงเวลาวัยหนุ่มที่คานธีเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ผู้คนที่อังกฤษทานเนื้อสัตว์ แต่อาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ของอังกฤษ คานธีเขียนบรรยายไว้ว่า “แม้บรรดาอาหารที่ข้าพเจ้ารับประทานได้ ก็ปราศจากรสชาติ จืดชืดเสียจริง ๆ” แค่ถึงอย่างนั้น เขาก็จะพยายามหาทางอยู่ที่อังกฤษโดยยึดถือหลักการไม่ทานเนื้อสัตว์ให้ครบสามปีให้ได้
ครั้งหนึ่งที่อังกฤษ คานธีเคยทดลองทานไข่ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เมื่อตะหนักว่า คุณแม่ของคานธีได้กำหนดปฏิญญาณเรื่องมังสวิรัติไว้ “เพราะความหมายของคำปฏิญาณซึ่งคุณแม่ของข้าพเจ้าเป็นผู้กำหนดไว้นั้น ยังอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทราบดีว่า เมื่อพูดถึงเนื้อ คุณแม่ของข้าพเจ้าหมายถึงไข่รวมอยู่ด้วย” นับแต่นั้นมาคานธีก็เลิกทานไข่ไปด้วย
ความเคร่งครัดในเรื่องการเป็นมังสวิรัตินี้ ส่งไปถึงครอบครัวทั้งลูกและภรรยาด้วย เมื่อมณีลาล ลูกชายคนที่สองของคานธี ล้มป่วยลงด้วยโรคไข้รากสาดน้อย แทรกด้วยโรคปวดบวมอย่างหนัก หมอแนะนำว่า รับประทานยาไม่ช่วยอะไรได้มาก ต้องใช้อาหารเข้าช่วย คือมณีลาลต้องทานไข่และซุปไก่
แต่คานธีได้ตัดสินใจแทนลูกชายอายุ 10 ขวบ(ซึ่งก็เห็นชอบกับความคิดของพ่อเช่นเดียวกัน) ว่าจะไม่ทานทั้งไข่และซุปไก่ คานธีบอกกับหมอว่า “ผมคิดว่าเวลาเช่นนี้เท่านั้นที่จะเป็นเวลาทดสอบความเชื่อมั่นของคนเรา ผมอาจจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิดก็ได้ แต่ก็เป็นความเชื่อทางศาสนาของผม ที่ว่าคนเราไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์” แล้วคานธีลองใช้วิธีการรักษาโรคด้วยการใช้น้ำ หรือ ไฮโดรพาธี (Hydropathy- เป็นวิธีรักษาเฉพาะตัวในการใช้น้ำในการอาบและดื่ม)เพื่อรักษาอาการป่วยไข้ของลูกชาย
หนังสือ The Story of My Experiments with Truth
คานธีเลือกรักษาอาการป่วยให้กับลูกชายในทิศทางนี้ เพราะเขาเชื่อในการหลักใช้น้ำ ใช้ดินเพื่อรักษาร่างกาย ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยใช้ดินรักษาอาการท้องผูกมาแล้ว “และก็ได้รับผลดีเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก วิธีรักษาคือเอาดินสะอาดมาผสมกับน้ำให้ชื้น แล้วขยำดินนั้นให้เป็นแผ่น วางดินแผ่นลงบนผ้าแล้วใช้ผ้าซึ่งมีดินแผ่นอยู่ข้างในคาดหน้าท้องไว้เวลาจะเข้านอน” เขาค้นพบสำหรับตัวเขาเองว่า วิธีนี้ช่วยให้เขาท้องหายผูกทันที และในตอนที่รามทาส ลูกชายคนที่สามของคานธีในวัย 8 ขวบ ประสบอุบัติเหตุแขนหัก คานธีก็ใช้ดินรักษาเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ เขายังทดลองการอดอาหารเพื่อควบคุมตัวเอง ด้วยความเชื่อที่ว่า “การอดอาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาสุขภาพ”
แม้แต่ช่วงที่กัสตูร์บาอี-ภรรยาของคานธีป่วยเกือบเสียชีวิตจากการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวารตอนที่ครอบครัวของคานธีอยู่ที่แอฟริกาใต้ ทั้งคานธีและกัสตูร์บาอี ยืนยันว่า แม้ว่าจะต้องตาย แต่ก็ขอไม่ทานซุปเนื้อวัวตามคำแนะนำของหมอเด็ดขาด จนคานธีต้องพากัสตูร์บาอี มารักษาตัวที่บ้านด้วยการใช้น้ำ และหยุดทานเกลือและถั่ว
แม้ว่ากรณีป่วยไข้ที่เกิดขึ้นกับภรรยาและลูก ๆ ของเขาจะทุเลาลงด้วยการรักษาตามความเชื่อของคานธีเองที่ปฏิเสธการทานเนื้อสัตว์ ซึ่งขัดต่อแนวทางการแพทย์สมัยใหม่ แต่เป็นการยืนหยัดความเชื่อที่หนักแน่นของเขาผ่านการทดลองความจริงด้วยชีวิตตนเองและครอบครัว
แต่คำถามคือ ตอนที่ มหาตมา คานธี ล้มป่วยหนักเสียเอง เขารักษาตัวเองในแบบไหน?
...
คานธีเล่าในหนังสือ "ข้าพเจ้าทดลองความจริง" ว่าในชีวิตเขาเคยป่วยหนักสองครั้ง ครั้งหนึ่งเขาป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ แม้จะได้รับคำแนะนำให้ดื่มนมเพื่อทุเลาอาการป่วย แต่คานธีปฏิเสธและทานเพียงถั่วลิสงและผลไม้ต่อไป
แต่การป่วยหนักอีกครั้งของคานธี ปรากฏอยู่ในหนังสือตอนที่ 152 ที่มีชื่อตอนว่า “ใกล้เงื้อมมือมัจจุราช” ครั้งนั้นคานธีเล่าว่า เขาป่วยหนักจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
ตอนนั้น คานธีป่วยหนักเป็นโรคบิด อาการหนักมากเพราะเหตุที่ว่า “ความดื้อดึงของข้าพเจ้าเองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาช่วยเหลืออะไรข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ด้วย ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าไม่ยอมรับประทานยา” จนทำให้ภายใน 24 ชั่วโมงที่เกิดอาการ คานธีถ่ายหนักมากกว่า 30 ครั้ง
แต่แม้จะป่วยหนักขนาดนั้น เขายังพยายามรักษาตัวเองด้วยวิธีใช้น้ำ และปฏิเสธการดื่มนม ซุปเนื้อ หรือแม้แต่การรับประทานไข่
เขาอธิบายหลักการของตนเองไว้ในหนังสือว่า “เรื่องอาหารเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของข้าพเจ้าซึ่งมีหลักการเป็นของตนเอง และไม่เกี่ยวกับอำนาจภายนอก ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาที่จะมีชีวิตโดยละทิ้งหลักการนั้น ก็ในเมื่อข้าพเจ้าใช้หลักการที่กล่าวมานี้กับภรรยา บุตรและเพื่อนฝูงของข้าพเจ้าอย่างไม่ยอมลดละแล้ว จะให้ข้าพเจ้าไม่ใช้หลักการนั้นกับตนเองอย่างไรได้เล่า?”
ในตอนนั้นคานธีคิดว่าตัวเองกำลังนอนรอความตาย ปรากฎว่ามีคนแปลกหน้าคนหนึ่ง ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “หมอน้ำแข็ง” มาเสนอทางรักษาเขาด้วยการใช้น้ำแข็งลูบทาร่างกายจนอาการทุเลาลง ซึ่งวิธีการรักษาแบบนี้ ไปจนถึงอีกหลายกรณีที่เคยเล่าไปก่อนหน้า หากมองตามหลักการแพทย์สมัยใหม่ คงจะเป็นเรื่องที่น่างงงวยอย่างที่สุด
และในช่วงที่คานธีพักฟื้นจากอาการบิดนั้น หมอที่ปรึกษาได้พยายามเสนอแนวทางประนีประนอมว่า อย่างน้อยขอให้เขาได้ดื่มนม เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง
พอได้ตรวจอาการของคานธีแล้ว หมอดาลาลก็ให้ความเห็นว่า “ผมไม่สามารถจะรักษาร่างกายของคุณให้แข็งแรงได้ หากคุณไม่รับประทานน้ำนม นอกจากนี้ หากคุณให้ผมฉีดยาซึ่งมีธาตุเหล็กและสารหนูด้วยแล้ว คุณจะมีร่างกายแข็งแรงเช่นเดิมได้แน่”
“คุณหมอให้ยาฉีดผมได้ แต่เรื่องรับประทานน้ำนมนั้นเห็นจะเป็นไปไม่ได้ เพราะผมได้ปฏิญาณตนไว้แล้วว่าจะไม่ดื่มน้ำนม”
แต่ในที่สุด กัสตูร์บาอีได้ให้ความเห็นว่า “แต่คุณคงดื่มนมแพะได้กระมัง?” เป็นประเด็นให้คานธีได้ฉุกพิจารณาว่า การรักษาหลักการส่วนตัวกับการรักษาชีวิตต่อไปเพื่อรับใช้ประเทศชาติ อย่างไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน
“ข้าพเจ้าจำต้องยอม ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมีส่วนในการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ทำให้ข้าพเจ้าอยากมีชีวิตต่อไป”
ความใฝ่ฝันที่อยากเห็นอินเดียปลดแอกจากอังกฤษ ทำให้คานธียอมลดตัวตนของตัวเองลง และดื่มนมแพะในที่สุด
...
ที่มา: หนังสือ "ข้าพเจ้าทดลองความจริง"-The Story of My Experiments with Truth หนังสืออัตชีวประวัติของมหาตมา คานธี จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง