แม่ชีแหม่กีง แม่ชีหัวก้าวหน้าแห่งเมียนมา เปลี่ยนแม่ชีสีชมพูเป็นเพศชาย

แม่ชีแหม่กีง แม่ชีหัวก้าวหน้าแห่งเมียนมา เปลี่ยนแม่ชีสีชมพูเป็นเพศชาย
ที่ว่า “แม่ชีสีชมพู” ไม่ได้เป็นสำนวนเปรียบเปรยอะไรเลย แต่ว่าแม่ชีที่นี่ท่านนุ่งห่มสีชมพูจริง ๆ แม่ชีสีชมพูมีที่เมียนมาที่เดียวในโลก เพราะแม่ชีที่อื่น ๆ เช่น ไทย ลาว เขมร ต่างนุ่งห่มสีขาวเป็นส่วนใหญ่ แม่ชีเมียนมานุ่งห่มโทนสีชมพู แต่ไม่ได้ห่มผ้าสีชมพูโทนเดียวทั้งชุด สบงอาจเป็นส้ม แดง หรือสีมันกุ้ง เสื้อเป็นสีชมพูอ่อนหรือสีส้มอ่อน ผ้าพาดบ่าหรือผ้าปกศีรษะสีน้ำตาลอ่อน แม่ชีเมียนมาปลงผม ไว้คิ้วเข้ม ทูนกระด้งหรือถาดบนศีรษะ เดินเขย่าหม้อรูปร่างคล้ายกระโถนหมากหรือบาตร ที่แม่ชีเมียนมาต้องมีกระด้งหรือถาดเพราะเวลาออกขอรับบริจาคจะขอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง ไม่เหมือนพระสงฆ์ที่รับบิณฑบาตข้าวสวย แม่ชีจะออกรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งเพื่อนำมาปรุงรับประทานเอง ดังนั้นกระด้งหรือถาดจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับใส่ข้าวสาร หอม กระเทียม และของแห้งนานาชนิด เมียนมามีแม่ชีมากที่สุดในโลก จากสถิติพบว่ามีแม่ชีเป็นเรือนแสน มีหลักฐานว่าที่เป็นอย่างนั้นส่วนหนึ่งเพราะอิทธิพลของแม่ชีนามว่า แหม่กีง ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้วงการแม่ชีสมัยใหม่ของเมียนมาเฟื่องฟูและเป็นที่ยอมรับศรัทธา จนถึงขนาดมีคำกล่าวกันว่า แม่ชีแหม่กีงคือต้นแบบแม่ชีสีชมพู เป็นผู้ที่ปรับลุคให้กับวงการแม่ชีเมียนมาสมัยใหม่ จนได้รับการขนานนามว่า “มารดาแห่งวงการชีเมียนมาสมัยใหม่” แม่ชีแหม่กีงเป็นชาวกะแตหรือมณีปุระ (ในอัสสัม ประเทศอินเดีย) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1805 เดินทางตามบิดามารดาเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองอังวะตั้งแต่อายุได้ 6 ปี หลังจากที่ได้มาอาศัยอยู่ในเมืองอังวะก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขออนุญาตบิดามารดาบวชเรียนเป็นแม่ชีในวัย 12 ปี ได้รับฉายาว่า “แหม่เขมา/แม่เขมา”  หลังจากใช้ชีวิตในเพศนักบวชหญิงได้ระยะหนึ่ง แม่ชีแหม่กีงออกมารณรงค์ให้เปลี่ยนการใช้ภาษาที่เป็นคำเรียกแม่ชีเสียใหม่ อย่างแรกเลยคือ แม่ชีแหม่กีงไม่นิยมให้ใช้คำนามเพศหญิงเพื่อเป็นคำสรรพนามเรียกแม่ชี โดยให้เปลี่ยนมาใช้คำนามเพศชายแทน ในภาษาเมียนมามีคำนามเพศชายคือ “ซะหย่า” แปลว่า อาจารย์ชาย และ “ซะยามะ” แปลว่า อาจารย์หญิง แม่ชีแหม่กีงให้เปลี่ยนคำเรียกแม่ชีที่ใช้คำนามเพศหญิงว่า ซะยามะ เปลี่ยนมาเป็น ซะหย่า แล้วเติมคำว่า “จี” (แปลว่า ใหญ่) หรือ “เล” (แปลว่า เล็ก) เป็น “ซะหย่าจี” หรือ “ซะหย่าเล” อันเป็นคำนามเพศชายเรียกแม่ชีแทน เนื่องจากแม่ชีแหม่กีงเห็นว่าสมัยนั้นผู้หญิงมิได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว และมักถูกประณามว่าเป็นเพศบาปต่ำต้อยไม่บริสุทธิ์ เป็นเพศที่บรรลุธรรมยากยิ่ง แม้แต่บริษัทหนึ่งในสี่คือ ภิกษุณี ในที่สุดก็ต้องยกเลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ภายหลังจากถูกกีดกันไม่ให้บวชเรียน ด้วยคำกล่าวที่ว่า หากอยากบรรลุธรรมไปพระนิพพาน ก็จะต้องอธิษฐานจิตขอให้ชาติหน้าได้เกิดเป็นผู้ชายเสียก่อน แต่จะต้องอธิษฐานจิตแบบไหน อย่างไร หรือต้องนั่งวิปัสสนา สวดมนต์กี่เดือนกี่ปี ปฏิบัติอีกสักกี่มากน้อยขนาดไหน จึงจะรับประกันได้ว่าชาติหน้าได้เกิดเป็นเพศชายแน่ ๆ ดังนั้นแม่ชีแหม่กีงจึงพยายามเปิดพื้นที่ด้วยการเปลี่ยนแม่ชีสีชมพูเป็นเพศชายในชาตินี้เสียเลย ไม่มัวต้องมานั่งพิไรรำพัน จนถึงทุกวันนี้ เวลาสนทนากับแม่ชีก็ต้องเรียกท่านตามนั้น ถ้าเป็นแม่ชีที่มีอายุหรือเป็นเจ้าอาวาสวัดชีก็เรียกว่า ซะหย่าจี แต่ถ้าเป็นแม่ชีที่ยังเด็กหรือแม่ชีทั่วไปก็เรียกว่า ซะหย่าเล   นอกจากให้เปลี่ยนมาใช้สรรพนามเพศชายเรียกแม่ชีแล้ว แม่ชีแหม่กีงยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ออกมาสนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้คำศัพท์เรียกแม่ชีในภาษาเมียนมาเสียใหม่ โดยให้เรียกแม่ชีว่า “ตี่ละฉิ่น” ศัพท์คำนี้มาจากภาษาบาลี คือ คำว่า “สีล” แปลว่า ศีล ผสมกับคำว่า “ชิน” แปลว่า ผู้ชนะ ซึ่งเป็นคำที่ก้าวพ้นความเป็นเพศหญิง ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มนิยมใช้คำดังกล่าวในสมัยราชวงศ์คองบอง (ค.ศ. 1752-1885) ก่อนหน้านี้เช่นสมัยพุกาม (ค.ศ. 849-1297) ซึ่งเป็นยุคที่พุทธศาสนาเถรวาทเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในดินแดนเมียนมา มีหลักฐานว่าใช้ศัพท์เรียกแม่ชีว่า “สุปฺปโย” ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ลังการ ของพระอรรถกถาจารย์เมียนมานามว่าพระวชิระ ตั้งอธิบายรูปวิเคราะห์ สุปฺปโย ว่า สุปฺเปน ยาติ คจฺฉตีติ สุปฺปโย แปลว่า บุคคลใด ย่อมดำเนินไปด้วยกระด้ง เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่าผู้ดำเนินไปด้วยกระด้ง คำว่า “แม่ชี” ก่อนหน้าสมัยแม่ชีแหม่กีง จึงมีความหมายว่า ผู้ดำเนินไปด้วยกระด้ง เนื่องจากว่ากระด้งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญของแม่ชีในเวลาออกขอรับบริจาคตามชุมชน เฉกเช่นเดียวกับบาตรของพระสงฆ์    แม่ชีแหม่กีงเป็นผู้ที่ร่ำเรียนคัมภีร์พุทธศาสนาและรอบรู้แตกฉานไม่แพ้พระสงฆ์ และบ่อยครั้งก็แข่งขันกับพระสงฆ์ จนกษัตริย์เมียนมาคือ พระเจ้ามินดง (ค.ศ. 1808-1878) ได้เชิญให้แม่ชีแหม่กีงเข้ามาสอนหนังสือให้กับพวกฝ่ายในที่เป็นสตรีในพระราชวังหลวงเมืองมัณฑะเลย์ นับเป็นแม่ชีคนแรกที่ได้เข้าไปสอนหนังสือในวังหลวง เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของฝ่ายในสมัยพระเจ้ามินดง และเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้านายสตรีอย่างเจ้าหญิงซะลินซุ้พะยา พระธิดาในพระเจ้ามินดง ทรงออกบวชเป็นชี    นอกจากช่วยเผยแพร่และสืบสานกิจการศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองแล้ว แม่ชีแหม่กีงยังเป็นผู้ที่พยายามทำให้เห็นว่าเพศหญิงนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเพศที่ดูด้อยกว่าเพศชาย อย่างเช่น การส่งเสริมสนับสนุนให้จัดงานบวชชีแก่เหล่าเด็กผู้หญิงที่ต้องการบวชเรียนในสมัยนั้น เช่นเดียวกับที่มีการจัดงานบวชเณรให้กับเด็กผู้ชาย  โดยพยายามทำให้เห็นว่า เด็กผู้ชายทำแบบไหน เด็กผู้หญิงก็ทำแบบเดียวกันนั้นได้    หลังจากที่แม่ชีแหม่กีงกลายเป็นผู้ที่พระเจ้ามินดงให้ความเคารพศรัทธา ทำให้ภาพลักษณ์แม่ชีในสังคมเมียนมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จนสมัยต่อมามีรายงานว่ายอดจำนวนแม่ชีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งมิได้เพิ่มเพียงปริมาณเท่านั้น แต่ยังมีคุณภาพสูงกว่าในอดีต มีชีหลายรูปที่เรียนธรรมขั้นสูงและบางรูปแต่งตำราได้ไม่ด้อยไปกว่าพระ เป็นรองก็แต่ว่าชีไม่ได้รับโอกาสสอบท่องพระไตรปิฎก ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะฝ่ายสงฆ์เท่านั้น   หลังยุคสมัยแม่ชีแหม่กีง ถึงปัจจุบันนี้พบว่าเมียนมาเป็นศูนย์กลางวัดชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ โดยมีเขาสะกายเป็นศูนย์กลาง บนเขาแห่งนี้มีวัดชีเป็นจำนวนหลายร้อยวัด และมีรูปปั้นแม่ชีแหม่กีงในฐานะมารดาแห่งแม่ชีเมียนมาสมัยใหม่     เรื่อง: วทัญญู ฟักทอง