read
social
22 พ.ย. 2562 | 17:49 น.
กมลนันท์ เจียรวนนท์ เยาวชนผู้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ เพื่อเด็กกำพร้า และคนไร้สัญชาติ
Play
Loading...
จำได้ไหมว่าพวกเราทำอะไรกันเมื่อตอนอายุ 13 ปี สำหรับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ในช่วงวัยนั้น เธอได้มีโอกาสไปเลี้ยงเด็กด้อยโอกาส ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ด้วยตัวเธอเอง
“พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง”
แม้ว่า
'ฟ่ง-กมลนันท์ เจียรวนนท์'
จะเป็นเพียงแค่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่อาจไม่ได้มีพลังพิเศษเหมือนเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ผู้คอยช่วยโลก แต่การที่เธอได้นำเอาปัญหาหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เด็กกำพร้า คนไร้สัญชาติ ขึ้นไปพูดบนเวทีระดับโลกอย่าง One Young World เพื่อปลุกพลังและส่งต่อความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ให้ได้รับรู้และเข้าใจร่วมกัน นั่นก็ไม่ต่างอะไรจากการกอบกู้โลกด้วยสองมือเล็ก ๆ ที่เธอมีอยู่
อาจเพราะเธอมีความเชื่ออยู่เสมอว่า โชคดีที่ตัวเองได้เกิดมาพร้อมโอกาสมากมายกว่าใครอีกหลายคน ซึ่งความรับผิดชอบที่เธอคิดว่าตัวเองต้องแบกรับคือ การแบ่งปันโอกาสเหล่านั้นไปยังคนอื่นต่อไป กระทั่งยอมเอาตัวเองเข้าเสี่ยงแม้อาจทำให้เธอต้องเข้าไปอยู่ในคุกก็ตาม !!
ชวนมารู้จัก
‘ฟ่ง-กมลนันท์’
เยาวชนที่ขึ้นพูดในเวทีระดับโลกอย่าง One Young World ที่ตอนนี้เป็นประธานมูลนิธิ ธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ และผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Voices Foundation for Vulnerable Children กันให้มากยิ่งขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ ว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นแทนที่เธอจะเลือกทำธุรกิจเหมือนอย่างคนอื่นในครอบครัว กลับเดินบนเส้นทางเพื่อช่วยเหลือสังคม เพื่อให้คนตระหนักถึงคุณค่าความเท่าเทียมกันของผู้คน
The People :
จุดเริ่มต้นที่ทำให้มาช่วยเหลือสังคมคืออะไร
กมลนันท์ :
จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากวันเกิดฟ่ง แล้วคุณแม่พาไปทำบุญ ไปเลี้ยงเด็กพิการซ้ำซ้อนที่บ้านเฟื่องฟ้า (สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนและพิการทางสมองและปัญญา) ก่อนไปก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอไปเห็นจริง ๆ แล้วก็ตกใจว่าทำไมมีเด็กอ่อนพิการเยอะมาก จำได้เลยว่าที่นั่นเป็นอาคารใหญ่มาก แล้วมีมุมหนึ่งเป็นเด็กอ่อนตาบอด ตอนนั้นเหมือนมีคนดูแลไม่พอ หรืออะไรก็ตาม ทำให้มีเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่คลานอยู่บนพื้นแล้วร้องไห้ เราคิดว่าอาจเพราะว่าเขาได้ยินเสียงเด็กคนอื่น ๆ อยู่เยอะ แต่เขามองใครไม่เห็น แล้วไม่รู้เป็นเพราะสัญชาตญาณหรือเปล่าที่ทำให้ฟ่งอุ้มเขาขึ้นมา พออุ้มเขาก็เงียบไป ตอนนั้นไม่รู้ว่าเราอุ้มเด็กถูกท่าหรือเปล่า แต่ว่ามันเกิดขึ้นเร็วมาก เราเอาเขามาซบบนไหล่ ยังไม่ได้ป้อนนมหรือกล่อม แต่เขาก็หลับไปเลย เหมือนกับว่าเขาแค่ต้องการใครสักคน ไม่ให้รู้สึกเหมือนอยู่เพียงคนเดียว แล้วการที่เราไปอุ้มทำให้เขารู้สึกว่าเราสามารถดูแลเขาได้ เขาเลยหลับน้ำลายไหลลงไหล่เลย (หัวเราะ)
การที่เด็กหลับสนิทจนน้ำลายไหล ฟ่งว่ามันหมายถึงการที่เด็กสบายใจแล้วหลับลึกจริง ๆ ในจุดนั้นตัวเราเองซึ่งอาจไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งมาก แต่สิ่งที่เราทำได้คือทำให้เด็กคนนี้รู้สึกดีขึ้นได้ รู้สึกปลอดภัยขึ้นมาได้ หลังจากวันนั้นเองฟ่งก็รู้สึกว่าอยากจะทำอย่างนั้นต่อไป ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งฟ่งและเพื่อนชื่อ สวรินทร์ ภุมริทร์ จะได้ก่อตั้งองค์กรของตัวเองขึ้นมาเพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ รู้แค่ว่าเราอยากจะเลี้ยงเด็กแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
ส่วนหนึ่งที่อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่จริง ๆ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องคือ การที่ฟ่งได้เห็นมาตลอดว่า คุณปู่ คุณพ่อ คุณอา และน้า ๆ ในครอบครัว พวกเขาได้ช่วยเหลือสังคมมาตลอดอย่างไร สิ่งที่ทำอาจไม่ใช่งานหลักของพวกเขา เป็นสิ่งที่เขาทำช่วงที่ว่างเว้นจากการทำธุรกิจ หรือเวลาทำธุรกิจเอง ถ้ามีโอกาสก็จะแบ่งมาช่วยเหลือสังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนตัวฟ่งเหมือนจะเชื่อมโยงกับทางฝั่งสังคมมากกว่าฝั่งธุรกิจ มันอาจเกิดจากการที่เราได้เห็นสิ่งที่พวกเขาได้ทำ แล้วได้เรียนรู้จนเลือกเองว่านี่คือทางที่เราคิดว่าเหมาะสมแล้วเรารักมากที่สุด
The People : เคยเลี้ยงเด็กไปแล้วกี่คน
กมลนันท์ :
ไม่รู้เลยค่ะ (หัวเราะ) น่าจะเยอะพอสมควร เพราะว่าช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่ไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็มีเด็กใหม่ ๆ เข้ามาตลอด มีเด็กอ่อนมาอยู่บ้านพักฉุกเฉินเรื่อย ๆ เราเห็นว่าปัญหาไม่ได้เล็กลง ยังมีเข้ามาใหม่ไม่หยุด เด็กที่เราเคยเลี้ยงดูคนที่หน้าเดิม ๆ ก็ยังอยู่ บางคนก็ได้ไปศูนย์ต่อไป เพราะเราเริ่มต้นที่เด็กอ่อน แล้วก็ทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว เด็กกลุ่มแรกที่เคยเลี้ยง ตอนนี้อายุก็แค่ 10 ขวบเอง ก็น่าจะอีกยาวไกลกว่าจะถึงจุดที่เราช่วยเด็กได้ทุกคน
The People :
จากเด็กอ่อนทำไมถึงได้มาสู่ประเด็นคนไร้สัญชาติ
กมลนันท์ :
ตอนนั้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเด็กอายุ 14 ขวบ ได้รับรู้เรื่องผู้หญิงที่โดนทารุณกรรม โดนทำร้าย แต่ว่าที่แม่สอด (จ.ตาก) ไม่เหมือนที่กรุงเทพฯ เขาต้องการความช่วยเหลือมาก แล้วก็ไม่มีอคติมากกับเด็กอายุ 14 ขวบ เราก็เลยได้ไปแม่สอดเพื่อเยี่ยมเด็ก และผู้หญิงไร้สัญชาติที่อาจเคยโดนทำร้าย โดนการค้ามนุษย์
ตอนนั้นเป็นจุดเริ่มที่ได้เปิดหูเปิดตาเรียนรู้เรื่องคนไร้สัญชาติ จากตอนแรกที่เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าคนไร้สัญชาติแตกต่างจากผู้อพยพอย่างไร ทำไมเขาถึงไร้สัญชาติ พอได้มีโอกาสนั่งคุยกับผู้หญิงไร้สัญชาติผ่านล่ามว่าเขามาอยู่เมืองไทยได้อย่างไรก็เข้าใจมากขึ้น หนึ่งในคนที่ได้คุยคือ Sunshine เป็นผู้หญิงที่ฟ่งเรียกชื่อนี้เพราะไม่อยากให้ใช้ชื่อจริงของเธอ จำได้ว่าก่อนไปถึงแม่สอด ฟ่งรู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่รู้ว่าจะเจอคนแบบไหน เขาจะยิ้มแย้มไหม หรือจะหวาดระแวงเราไหม แต่พอได้เจอ Sunshine เดินขึ้นมาในห้อง ภาพแรกที่เห็นคือเธอยิ้มให้เราแบบรอยยิ้มสดใส เธอดูตื่นเต้นมีความสุขมาก เราเลยตั้งชื่อเธอว่า Sunshine เพราะภาพจำแรกในวันนั้น เธอเหมือนกับ sunshine (แสงอาทิตย์) จริง ๆ ทั้งที่ในชีวิตจริงของเธอกลับมืดมนมาก แต่พอได้เจอตัวจริงของเธอแล้วแทบดูไม่ออกเลย ฟ่งเลยรู้สึกว่ารอยยิ้มของเธอมีพลังมาก ๆ
เธอได้พูดคุยเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า เคยโดนพี่เขยทำร้ายทารุณกรรมมานาน 6-7 ปี กว่าจะหนีออกมาได้ พอหนีออกมาที่ชายแดนพม่ากับไทยก็ยังโดนทหารข่มขืนอีก กว่าจะมาเจอที่พักพิง เธอผ่านอะไรมามากมายเหลือเกิน เธอยังเล่าให้ฟังว่ามีแฟนคนหนึ่งที่ช่วยชีวิตเธอจากพี่เขย เพราะว่าตอนนั้นพี่เขยข่มขืนจนไม่รู้ว่าจะหนีออกจากตรงนั้นได้อย่างไร พอมีแฟนพี่เขยก็หยุดข่มขืนเธอ แต่กลับเป็นแฟนคนนี้ที่ทุบตี ทำร้ายเธอแทน แต่ Sunshine บอกว่าสำหรับเธอแล้ว อย่างไรก็ดีกว่าการโดนข่มขืน พอได้ฟังแบบนั้นก็รู้สึกสะเทือนใจมาก ๆ เพราะไม่เข้าใจว่านั่นหรือคือคำว่า ‘รัก’ สำหรับเธอ คำว่า ‘ช่วยชีวิต’ คือการแค่ทำให้พี่เขยหยุดข่มขืน แต่พอรักแล้วกลับทุบตีเธอได้ ตอนนั้นฟ่งเป็นเด็ก ๆ ยังอยากรู้อยากเห็นเลยถามต่อว่า แล้วตอนนั้นรักเขาไหม Sunshine ตอบว่ารัก ที่รักเพราะว่าถ้าไม่มีเขาแล้วไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร จะรอดมาได้อย่างไร
ตอนนั้นเราเป็นเด็กที่ยังดูการ์ตูน อ่านนิยาย ไม่รู้เลยว่าคำว่ารักมันจะเปรียบเทียบในแบบนั้นก็ได้ เราเลยรู้สึกว่าอยากให้วันหนึ่งเธอได้รู้ว่ารักแท้เป็นอย่างไร สิ่งที่เธอเชื่อว่ามันคือความรักในโลกใบนี้ ยังมีอยู่อีกมากมายยิ่งกว่านั้น วันเดียวกัน Sunshine ก็ได้พาฟ่งไปเจอลูกชายเธอที่ตอนนั้นน่าจะยังอายุไม่ถึงขวบ เป็นเด็กอ่อนซึ่งเกิดมาจากการข่มขืน แล้วเกิดมาโดยที่ปอดไม่เต็มร้อยเพราะว่า Sunshine เคยสูบบุหรี่เยอะช่วงที่ตั้งท้อง เพราะตอนนั้นเธอเองไม่รู้ว่ามันส่งผลกระทบต่อลูกในท้องแค่ไหน อีกทั้งตอนแรก ๆ เธอยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าท้อง ลูกเลยเกิดมาด้วยร่างกายที่ไม่แข็งแรง วันที่ไปลูกเธอร้องไห้ มีไข้ขึ้น แล้วหายใจไม่ค่อยออก ไอเยอะมาก ฟ่งก็ถามว่าทำไมยังไม่พาไปหาหมอ พี่ที่ดูแลบอกว่าคนไร้สัญชาติพาไปหาหมอไม่ได้ เพราะว่าไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีบัตรประชาชน ดีที่สุดที่ช่วยได้คือการพาไปคลินิกที่อยู่ใกล้ ๆ บ้านพัก พอไปถึงคลินิกก็เจอแค่ตู้ยาเล็ก ๆ ตู้เดียว ในนั้นมียาพื้นฐานแค่ยาแก้แพ้ แก้ปวด พลาสเตอร์ยา
พอเราเห็นแบบนั้นก็ยิ่งรู้สึกว่าคนไร้สัญชาติขาดแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ขาดโอกาส ขาดเงิน ขาดการศึกษาที่ดี แต่ขาดทุกอย่างที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับ ทำให้ตอนแรกจากที่อยากดูแลแค่เรื่องเด็กกำพร้า ก็เลยอยากมาช่วยคนไร้สัญชาติด้วย พอตอนหลังเลยได้ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ New York University ด้าน social work และ social entrepreneurship แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ด้าน education development
The People :
ได้ช่วยเหลืออะไรบ้าง
กมลนันท์ :
ตอนเด็ก ๆ เวลาจะทำกิจกรรมช่วยเหลือ เราได้ถามองค์กรที่ดูแลเด็กไร้สัญชาติแต่ละองค์กรว่ามีความต้องการอะไรบ้าง เราก็จัดโครงการระดมทุนขึ้นที่โรงเรียน มีคอนเสิร์ตระดมทุน พอได้ทุนแล้วก็เอาไปซื้อสิ่งของที่แต่ละองค์กรต้องการ เพราะฟ่งเชื่อมาตลอดว่า แต่ละที่เขารู้ดีที่สุดว่าเด็ก ๆ ของเขาต้องการสิ่งของอะไร ถ้าเราคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าแล้วซื้อของไปบริจาคเอง เขาอาจไม่ต้องการสิ่งของพวกนั้นก็ได้ เราเลยคอยถามทุกปีว่าปีนี้ขาดแคลนอะไร เราช่วยสนับสนุนตรงไหนได้บ้าง ส่วนใหญ่เราช่วยในสิ่งของพื้นฐานอย่างเช่น ยารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สำหรับผู้หญิงก็พวกผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำหรับเด็กอ่อน นมผง อีกอย่างที่เราพยายามสนับสนุนคือ ทุนการศึกษา เพราะว่าโรงเรียนโดยทั่วไปไม่ค่อยมีทุนการศึกษาสำหรับเด็กไร้สัญชาติ เพราะเด็กไร้สัญชาติไม่มีบัตรประชาชน เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเลยที่จะพิสูจน์ได้ว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ ไม่มีตัวตนในทางกฎหมาย โรงเรียนหลาย ๆ แห่งเลยไม่มีโครงการ หรือไม่มีโอกาสที่จะเอาเด็กกลุ่มนี้ไปยื่นขอทุนการศึกษาเพิ่มกับรัฐบาล บางโรงเรียนบอกว่าอยากรับเด็กไร้สัญชาติกลุ่มนี้ แต่ค่าใช้จ่ายที่ได้มาตอนนี้มีน้อยมาก เฉพาะแค่เด็กไทยที่รับไว้ก็ไม่เพียงพอแล้ว ถ้าแบ่งไปให้เด็กไร้สัญชาติยิ่งจะน้อยลงไปอีก
The People :
สิ่งที่ได้พบเห็นทำให้ตัดสินใจไปพูดปัญหานี้ที่ One Young World?
กมลนันท์ :
ที่ตัดสินใจขึ้นพูดที่ One Young World เพราะว่าคนไร้สัญชาติไม่ได้มีกระบอกเสียงเหมือนกับชุมชนอื่น ๆ เพราะในแต่ละประเทศพวกเขาอาศัยอย่างผิดกฎหมาย ถ้าพวกเขาออกมาพูดกับสื่ออาจทำให้ถูกจับก็ได้ พวกเขาเลยเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสแม้จะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ฟ่งเองทำงานเพื่อช่วยคนไร้สัญชาติ รู้สึกว่าถ้ากฎหมายยังไม่ออกมารับรองให้พวกเขาพูดเพื่อตัวเองได้ ในฐานะที่เราสามารถพูดแทนพวกเขาได้ เราก็ควรพูดแทนพวกเขา
ตอนได้ไปร่วมงาน One Young World 2014 พวกผู้นำโลกต่างก็ตอบคำถามฟ่งไม่ได้ว่า เราจะมีวิธีช่วยคนไร้สัญชาติได้อย่างไร ฟ่งคิดว่าการที่พวกเขาตอบไม่ได้ อาจเพราะไม่มั่นใจเรื่องที่มาของคนไร้สัญชาติที่แตกต่างจากผู้อพยพทั่วไป แล้วจะมีวิธีการช่วยเหลือคนไร้สัญชาติอย่างไร ฟ่งเลยถือโอกาสตอน One Young World 2015 เปิดประเด็นพูดคุยเรื่องคนไร้สัญชาติ เพื่อให้คนหันมามองแล้วเข้าใจปัญหาของคนไร้สัญชาติมากยิ่งขึ้น
The People :
ทำไมถึงมาแก้ไขปัญหาที่แทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตัวเองเลย
กมลนันท์ :
ฟ่งเชื่อว่าการที่โชคดีเกิดมาแล้วได้รับการศึกษาที่ดี มีครอบครัวที่คอยสนับสนุนเราตลอดมาทั้งชีวิต ไม่ต้องเลือกทำงานที่ได้เงินเดือนดี ๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัว ช่วยให้เราไม่ต้องห่วงหลาย ๆ เรื่องเวลาตัดสินใจจะทำอะไรที่เสี่ยง ฟ่งเลยรู้สึกว่าถ้าเราเกิดมาสบายแบบนี้ เราไม่ควรมองข้ามคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสทำงานที่เสี่ยงแบบนี้
ถ้าเป็นคนอื่น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การช่วยคนไร้สัญชาติที่อาจเสี่ยงติดคุกเพราะยังไม่ถูกกฎหมาย ถ้าคนที่ช่วยติดคุกเกิดเป็นเสาหลักของครอบครัว ใครจะดูแลครอบครัวเขาต่อ ส่วนฟ่งไม่ต้องห่วงเรื่องแบบนี้ ฟ่งควรเป็นคนที่เข้ามารับความเสี่ยงตรงนั้นแทน แล้วถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่ถูกต้อง การที่อาจต้องเข้าคุกสักครึ่งวัน หรือว่าวันหนึ่ง แต่ว่าช่วยทำให้ทุกคนหันมามองเรื่องคนไร้สัญชาติได้ว่าทำไมการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหมือนกันต้องติดคุก ฟ่งคิดว่าฟ่งยอมเสี่ยง แล้วถ้าต้องติดคุกจริง ๆ ก็จ่ายค่าประกันตัวออกจากคุกได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสแบบนั้น ถ้าเรามีโอกาสก็ควรทำมันให้ดีที่สุด ส่วนมากที่ฟ่งเจอทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ ยังไม่มีโอกาสมากขนาดนี้ เพราะยังมีครอบครัวที่ต้องดูแล ส่วนฟ่งครอบครัวสนับสนุนให้ทำเรื่องนี้ได้ มีครอบครัวที่คุณพ่อคอยสนับสนุนให้เราทำงานแบบนี้ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ชื่อเสียงของเขาดูไม่ดี ตัวคุณพ่อเองก็เชื่อว่า การที่เราช่วยคนไม่ควรจะผิดกฎหมาย แล้วถ้าหากเกิดผิดกฎหมาย บางทีอาจเป็นกฎหมายเองที่ควรปรับเปลี่ยน ถ้าวันนี้เราไม่ช่วยแล้วใครจะช่วย จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไร้สัญชาติเหล่านี้ พวกเขาอาจจะเป็นคนไทยเหมือนกับเราก็ได้ใครจะไปรู้
The People :
ไม่ได้ถูกเลี้ยงมาแบบเป็นไข่ในหิน?
กมลนันท์ :
ไม่เลยค่ะ คุณแม่ตั้งใจเลี้ยงฟ่งกับพี่น้องให้เปิดหูเปิดตาเรื่องสังคมและโลกมาตลอด ไม่เคยปิดกั้นให้อยู่แค่ในโลกที่สบาย ๆ อยู่แค่ในบ้าน อย่างวันเกิดก็จะพาไปเลี้ยงเด็กด้อยโอกาส บางทีพอคุณแม่ดูข่าวเรื่องเด็กโดนทำร้าย เด็กกตัญญูที่สู้ชีวิตเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ก็มาเล่าให้เราฟังตลอดว่าโลกในความเป็นจริงเป็นอย่างไรบ้าง ฟ่งโชคดีด้วยที่ทางครอบครัวของคุณแม่เกือบทุกคนทำงานด้านการช่วยเหลือสังคม เพราะทางครอบครัวคุณแม่ต่างจากทางครอบครัวคุณพ่อนิดหนึ่งตรงที่ไม่ได้โตมาเป็นนักธุรกิจทุกคน พี่น้องคุณแม่เป็นเด็กทุนกันเกือบทุกคน ทุกคนพยายามจนได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ บางคนเป็นครู เป็นที่ปรึกษาบ้าง พวกเขาเลยพยายามสอนให้เราติดดิน ให้เข้าใจคนหลายแบบ ตอนเด็ก ๆ คุณยายก็พาไปสวนลุม พาไปจ่ายตลาด ฟ่งเลยได้เจอคนมากหน้าหลายตา เพราะฟ่งมีทั้งฝั่งคุณพ่อและคุณแม่ที่ไม่เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดแข็งของพวกเขา ทำให้ฟ่งเป็นฟ่งในทุกวันนี้ ฟ่งได้เรียนรู้การเป็นผู้นำ ความกตัญญู การทำงานหนักมาจากฝั่งคุณพ่อ ส่วนทางครอบครัวคุณแม่เป็นตัวอย่างให้เห็นเรื่องการช่วยเหลือสังคม เรื่องการที่ทุกคนทำงานหนักไม่ว่าจะเกิดมาสบายหรือไม่ ถ้าเราสู้ชีวิตได้ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน
The People :
ถ้าเป็นไปได้อยากให้โลกในวันพรุ่งนี้ของเราเป็นอย่างไร
กมลนันท์ :
ฟ่งอยากให้โลกของพวกเราทุกคนบนโลกนี้ไม่ discriminate กัน (ไม่เหยียดหยามกีดกันผู้ที่ต่างจากเรา) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องสีผิว เรื่องอะไรก็ตาม ฟ่งอยากให้คนมองกันเป็นคนมากกว่าจะมองแค่สัญชาติ หรือเป็นใครมาจากไหน ครอบครัวคือใคร จนรวย หรืออยู่กลาง ๆ ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน
ฟ่งได้เรียนรู้การที่จะลดช่องว่างนี้จากครั้งสุดท้ายที่ได้เจอกับ Sunshine จำได้ว่าช่วงนั้นฟ่งกำลังมีเรื่องสับสนในชีวิต ซึ่งเปรียบเทียบกับปัญหาที่ผ่านมาในชีวิตของ Sunshine ไม่ได้เลย เราไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน ต้องพูดคุยกันผ่านล่ามตลอดเวลา แต่เหมือนกับ Sunshine มองตาฟ่งแล้วรู้สึกได้ว่าช่วงนี้ฟ่งไม่ค่อยสบายใจ จำได้เลยว่าก่อนกลับ Sunshine กอดฟ่งนานมาก ตอนนั้นฟ่งรู้สึกได้ว่าเราต่างรู้สึกถึงกันได้ แม้สิ่งที่เกิดกับเธอมันหนักกว่าของฟ่งเป็นร้อยเป็นพันเท่า แต่ว่าความรู้สึกของมนุษย์อย่างไรก็เหมือนกันทุกคน มีหัวใจเหมือนกัน มีความรู้สึกสุข ทุกข์ สับสน เจ็บปวด เหมือนกัน
หลังจากวันนั้นเอง เมื่อได้ไปเรียนต่อต่างประเทศฟ่งจะมองว่า ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะมาจากชาติไหน สีผิวอะไร พื้นเพครอบครัวจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราทุกคนมีความรู้สึกเหมือนกัน เรามีความรู้สึกเหมือนคนอื่น เราไม่ควรอยู่แต่ในโลกและสังคมเล็ก ๆ ที่คนอื่นอาจคิดว่าเราควรอยู่ เราควรเปิดตัวเองให้ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับคนหลากหลายแบบ อยากฝากให้ทุกคนพยายามลดช่องว่าง อย่าเอาความแตกต่างของเราไปตัดสินคนอื่น ความจริงสังคมไทยพัฒนาเร็วมากในเรื่องที่ดี โดยธรรมชาติคนไทยชอบช่วยเหลือคนอื่น ทุกคนอยากช่วยเหลืออยากแบ่งปันกัน ทุกวันนี้สังคมไทยยอมรับในเรื่องความแตกต่าง คนเพศเดียวกันรักกัน เริ่มยอมรับในการช่วยเหลือผู้อพยพ เปิดใจช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติ แต่กฎหมายยังตามไม่ทัน ยังคงมีข้อจำกัดอยู่
The People :
ความรู้สึกที่ได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้นำเยาวชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใน One Young World?
กมลนันท์ :
One Young World เป็นองค์กรที่มีคนจาก 196 ประเทศทั่วโลก มาจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ กลุ่มคนที่อยู่ในองค์กรเพื่อการศึกษา คนที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน NGOs ซึ่งทุกคนต่างก็อยากใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่มาช่วยเหลือโลก แล้วทุกคนก็มารวมตัวกันที่ One Young World ฟ่งเลยเชื่อว่างานประชุม One Young World จะให้แรงบันดาลใจกับทั้งคนทั่วไปและเยาวชนในรุ่นฟ่งที่อยากช่วยเหลือสังคมและประเทศที่ตัวเองอยู่ให้ไปถึงอีกระดับหนึ่ง ตอนแรก ๆ ที่ฟ่งได้เข้าร่วม One Young World ฟ่งมีแค่มูลนิธิ Voices (Voices Foundation for Vulnerable Children) เป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งกับเพื่อน ๆ แต่เราไม่รู้เลยว่าคนทั่วโลกเขากำลังลงมือทำอะไรกันอยู่ เวลาเดียวกันอาจมีบางคนที่ทำงานคล้าย ๆ กับเรา แล้วช่วยสอนให้เราไปไกลกว่านี้ได้
One Young World เลยทำให้เราได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา ได้เรียนรู้จาก best practice ของผู้คนจากทั่วโลกได้ เพื่อที่จะนำความรู้นั้นมาพัฒนาประเทศตัวเอง อย่างฟ่งตอนแรกก่อนไป One Young World เริ่มจะหมดแรงบันดาลใจ แล้วเมื่อได้ฟังคนอื่นพูดเรื่องที่เขาเคยทำอะไรมาบ้าง ก็เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที เราได้รับรู้ว่าปัญหาโลกนี้มีอะไรบ้างที่เพิ่มเติมจากปีที่แล้ว ในปีนี้ หรือปีหน้า ปัญหาของโลกนี้พัฒนาไป มีปัญหาใหม่ ๆ ตลอด ปัญหาเก่าอาจจะเริ่มดีขึ้นให้เราได้มีกำลังใจสู้ต่อไป หรือมีปัญหาอะไรใหม่ที่พวกเราทุกคนต้องรวมตัวกันช่วยให้ดีขึ้น คือ One Young World มีโอกาสหลากหลายมาก แล้วถ้าคนที่มีใจอยากช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้ว อยากได้แรงบันดาลใจ อยากไปเจอเครือข่ายของคนที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กัน ก็อยากเชิญชวนให้มาลองสมัคร One Young World
The People :
มองว่าคุณค่าและความหมายของชีวิตคืออะไร
กมลนันท์ :
เรารู้สึกว่าเรายิ่งมีมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องให้ เรายิ่งมีโอกาสมากเท่าไหร่ เราต้องให้โอกาสเท่าที่เราทำได้ให้กับคนอื่น ฟ่งรู้สึกว่าการที่มี privilage ไม่ควรเก็บไว้กับตัวเองหมด ถ้าวัน ๆ เราเอาแต่ใช้ privilage แค่กับตัวเองเท่านั้น ฟ่งรู้สึกว่ามันไม่ทำให้เรามีความสุข แล้วไม่ใช่แค่ไม่มีความสุขอย่างเดียว มันทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วเราจะมีทั้งหมดนี้เพื่ออะไร เพื่อที่จะซื้อสิ่งของมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะกินอาหารแพงขึ้น แต่ว่าการซื้อสิ่งของเป็นร้อยเป็นพันชิ้น กินข้าวอีกมื้อละเท่าไหร่ก็ตาม มันกลับไม่ได้ช่วยให้จิตใจและชีวิตของเรามีความหมายมากขึ้น
ฟ่งเลยรู้สึกว่าการที่จะทำให้ตัวเราเองมีความหมายมากที่สุด คือการได้ใช้โอกาสที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือคนอื่น เพราะพอเราได้ช่วยเหลือคนอื่น ได้ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ ได้รับการศึกษาได้ เขาก็จะไปช่วยคนอื่นต่อไปได้ ฟ่งเลยเชื่อว่า privilege มันไม่ควรเป็นสิ่งที่เราเก็บไว้คนเดียว สำหรับฟ่ง privilege ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มีอยู่คือ การที่เรามีโอกาสสามารถไปช่วยเหลือคนอื่นได้โดยที่ตัวเองไม่ต้องลำบาก ในขณะหลายคนที่มีจิตใจดีอยากช่วยเหลือคนอื่น แต่ว่าอาจไม่พร้อมในเรื่องครอบครัว การงาน เงินทุนอาจไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงเด็กหรือทำงานแบบนี้ ฟ่งเลยคิดอยู่ตลอดว่าถ้าเรามีความพร้อม เราควรใช้จุดนี้ของเราช่วยเหลือคนอื่น เพราะว่าวันหนึ่งเราไม่รู้หรอกว่าคนเหล่านี้อาจกลายเป็นคนมาช่วยประเทศเราก็ได้
ตอนเด็ก ๆ ฟ่งเคยคิดว่านามสกุลคือจุดอ่อนของเรา อาจจะเป็นคริปโตไนต์ของเรา เวลาที่ไประดมทุนก็ไม่เคยใช้นามสกุล ฟ่งกับเพื่อนดิ้นรนช่วยเหลือเด็กกันเองหมด แต่เริ่มโตขึ้นฟ่งก็ได้เรียนรู้คุณค่า แล้วก็เริ่มเข้าใจว่าความจริงถ้าเราจะคิดว่านามสกุลเป็นจุดอ่อนก็ยิ่งทำให้เราอ่อนแอลง แต่ถ้าเราจะใช้เป็นพลังพิเศษของเราก็จะสามารถช่วยคนได้มากขึ้น ช่วยเปิดประตูให้ได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับคนที่มีพลังพอที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้มากขึ้น
การที่เราเป็นตัวของตัวเอง รวมการที่เรายอมรับในนามสกุล ทุกวันนี้เลยทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น เพราะคนหันมาฟังและยอมรับในสิ่งที่ทำมากขึ้น แม้ในโลกแห่งความฝัน ฟ่งเองก็ไม่ได้อยากให้คนมาฟังเพราะแค่นามสกุล แต่ว่าในเมื่อโลกทุกวันนี้เป็นแบบนี้ ถ้าเรามีนามสกุลนี้แล้วคนมาฟังเกิดความรู้สึกอยากช่วยเด็ก คนไร้สัญชาติ เด็กกำพร้า เพิ่มขึ้นมา ฟ่งคิดว่าอย่างไรก็ดีกว่า เพราะมันคือส่วนหนึ่งของเรา ที่แม้จะปิดกั้นแอบซ่อนไว้ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น ทุกวันนี้ฟ่งเลยคิดว่าถ้าเราจะทำงานในฐานะเป็นแค่ กมลนันท์ หรือ กมลนันท์ เจียรวนนท์ ก็ตาม เราต้องทำงานให้ดีที่สุด แล้วสร้างแรงกระเพื่อมให้มากที่สุด
ตอนนี้ฟ่งได้โอกาสจากคุณพ่อกับเพื่อนร่วมงานในการช่วยดูโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ขยายวงกว้างในเรื่องความยั่งยืนให้ประเทศเรามากยิ่งขึ้น การที่เรายอมรับทั้งใน privilege และนามสกุลของตัวเอง ทุกวันนี้ทำให้เราสบายใจมากที่ไม่ต้องกลัวว่าบางคนจะคิดว่า สิ่งที่เราทำเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ครอบครัว หรือเป็นแค่การประชาสัมพันธ์เท่านั้น ฟ่งเชื่อว่าถ้ายังมีคนคิดแบบนั้น อยากให้เขาลองมาเรียนรู้แล้วเข้าใจการทำงานของฟ่งจริง ๆ ว่า กว่าจะมาอยู่ตรงนี้ก็ตอนอายุ 20 กว่าแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ฟ่งได้เริ่มต้นทำงานด้านนี้ด้วยตัวเองมาตลอดตั้งแต่อายุ 13-14 ปี เด็กวัยนั้นไม่มีผู้ใหญ่หรือบริษัทไหนที่จะมาบังคับให้มาทำงานได้ ถ้าเด็กไม่อยากทำเอง
The People :
สำหรับคนอายุ 23 เหนื่อยไหมกับความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคม
กมลนันท์ :
เหนื่อยและท้อบ่อย แต่ฟ่งเชื่อว่าเวลาที่เหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ ถ้าเรามีคนที่คอยสนับสนุนให้เราเข้มแข็ง เราจะสู้ต่อไปได้ เพราะความเหนื่อยและท้อเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะในสายงานนี้ เพราะเราเลือกเองที่จะทำงานที่มันค่อนข้างลำบากและมีขีดจำกัดเยอะมาก เราเลือกด้วยตัวเองแล้วรู้ตั้งแต่แรกว่ามันจะเหนื่อยและยากลำบาก การเลือกอาชีพที่ง่ายกว่านี้อาจจะเห็นความสำเร็จการพัฒนาการที่เร็วกว่า แต่ว่าโชคดีฟ่งมีครอบครัวและเพื่อน ๆ ทีม Voices เพื่อนสนิทของฟ่งก็คอยให้กำลังใจอยู่ตลอด บางคนอาจคิดว่าฟ่งหันมาทำงานแบบนี้คนเดียว แต่ในยามที่ท้อเรายังมีครอบครัว มีเพื่อน ๆ ที่คอยสนับสนุนเราอยู่ตลอด บางทีพอเหนื่อยท้อนิดหน่อยเอามาเล่าหรือใช้เวลาอยู่กับเพื่อน ๆ ก็ช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้น
แต่มีบางเวลาเหมือนกันที่เคยถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำไปทั้งหมดช่วยเหลือคนได้จริง ๆ หรือ เราทำไปทำไม ทำไมเรายังไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เราลงมือทำได้ช่วยให้สังคมเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเลย ถึงตอนนั้นฟ่งก็จะกลับไปยังจุดเริ่มต้น กลับไปเป็นอาสาสมัครธรรมดาคนหนึ่ง ที่บ้านพักคอยเลี้ยงเด็กอ่อน เพราะบางครั้งเวลาทำงานใหญ่ ๆ เราอาจจะสัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเล็กน้อยได้ยาก แต่ถ้าเรากลับไปยังจุดที่เราเริ่มต้น แค่ได้ดูแลเด็กเล็ก ๆ ให้เขารู้สึกปลอดภัย รู้สึกถึงความรักความอบอุ่นที่เราส่งให้ได้ ช่วยให้เราเตือนตัวเองได้ว่า ไม่ว่างานที่เราเลือกทำจะเป็นงานเล็กหรือว่าใหญ่แค่ไหน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราตัดสินใจทำก็เกิดผลดีกับเด็ก ๆ เหมือนกันหมด
The People :
ถ้าย้อนไปวันนั้นไม่ได้อุ้มเด็กจนเด็กหลับไป คิดว่าวันนี้จะทำอะไรอยู่
กมลนันท์ :
สมัยก่อนตอนเด็ก ๆ ฟ่งเคยอยากเป็นศิลปินวาดรูป (หัวเราะ) แต่ไม่รู้ว่าทำไมสิ่งที่เราอยากเป็น จะไปเกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ กับการช่วยเหลือคนอื่นตลอด ตอนเด็ก ๆ ที่อยากเป็นศิลปินวาดรูป ฟ่งก็ชอบระบายสีน้ำมัน วาดรูปไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดอะไร โดยเฉพาะรูปนามธรรม เช่น ดวงตา ท้องฟ้ามืด ๆ ในเวลากลางคืน แล้วเราก็แต้มดวงจันทร์ลงไป ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ จนคุณพ่อสังเกตแล้วชี้ให้ดูว่าทุกอย่างที่ฟ่งวาด มันอาจจะดูมืด ๆ แต่ว่ามีส่วนที่เป็นแสงสว่างอยู่ในนั้นตลอด เราคิดว่าก็จริงด้วย ศิลปะอาจเป็นอะไรที่สะท้อนตัวตนเราได้ดีที่สุด หรือก่อนที่จะมาทำงานช่วยเหลือเด็ก ฟ่งก็เคยอยากเป็นหมอเด็ก คอยรักษาเด็กที่ป่วย (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าทำไมทุกอย่างที่อยากจะเป็นมันขีดไว้ให้เดินมาเส้นทางนี้ตลอด นั่นคือสิ่งที่ครอบครัวเปิดให้เห็นว่า มันอยู่ในใจเรามาตั้งแต่เด็ก ๆ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เนชั่น กรุ๊ป จับมือ เมดพาร์ค หนุนโครงการ “อาสาดูแลหัวใจหมอ 2025” ต่อเนื่องปีที่ 2
23 เม.ย. 2568
‘อ้วยอันโอสถ’ เปิดตัวแคมเปญ “คู่ซี้มียัง?” เสิร์ฟไอเทมแพ็คคู่ ‘ยาดม-ยาอม’ แบรนด์มังกรทอง เจาะคนรุ่นใหม่ เติมความชุ่มคอ เสิร์ฟความชื่นใจไม่มีสะดุด
23 เม.ย. 2568
ทอสเท็ม เปิดตัวแคมเปญ "Connecting Spaces of Living" พร้อมผลิตภัณฑ์อินทีเรียร์ซีรีส์ใหม่ ยกระดับที่อยู่อาศัยครบวงจร ครั้งแรกในงาน “สถาปนิก'68”
23 เม.ย. 2568
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
PartnerContent
OneYoungWorldSummit
OneYoungWorld2019
OYW2019
CPGYoungLeaders
IgniteTheFuture
KamolnanChearavanont
คนไร้สัญชาติ
Voicesorg