ช.อ้น ณ บางช้าง เขาหาว่าผมเป็นมือกีตาร์มาเฟีย?!?

ช.อ้น ณ บางช้าง เขาหาว่าผมเป็นมือกีตาร์มาเฟีย?!?
ถนนรัชดาภิเษก ปี พ.ศ. 2528  วางตัวเองไว้บนใจกลางป่าคอนกรีต มันคือยุคบุกเบิกของถนนสายโลกีย์อีกสายหนึ่งของกรุงเทพฯ ยวดยานพาหนะยังไม่อลหม่านขวักไขว่เหมือนยุคปัจจุบัน แต่ความอลหม่านบัดซบนั่นแหละคือเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ป่าคอนกรีต อาบ อบ นวด ชื่อดังหลายแห่งสิงสู่กันอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น ‘โพไซดอน’ หรือ ‘เอ็มมานูเอล’ บรรดาชายขี้เมื่อยทั้งหลายต่างขนเงินมาปรนเปรออารมณ์ใคร่เปลี่ยวเหงาของตัวเอง ปลดเปลื้องความเป็นหนุ่มให้ถลันออกจากร่างกาย เศรษฐีระดับกูรู หรือรัฐมนตรี พ่อค้าวาณิช ล้วนโคจรมาในถิ่นอโคจรถนนรัชดาแห่งนี้ มีตำนานเล่าขานกันไม่รู้จบ บนตรอกซอกซอยหนึ่งบนถนนสายนี้ มีผับแห่งหนึ่งวางตัวเองไว้บนมุมถนน ท่ามกลางป่าละเมาะ มันเป็นซอยที่ค่อนข้างคดเคี้ยวและอยู่ลึกจากถนนรัชดา แต่แม้มันจะอยู่ลึกเพียงใด วิญญูชนผู้ใฝ่แสวงความหมายของดนตรีร็อคก็ไม่วายจะออกดุ่มด้นค้นหา เพราะที่นี่มียอดวงร็อคที่กำลังร่ำลือระบือเบงบนริมฝีปากเปื้อนเพลงร็อคและหัวใจร็อคแอนด์โรลล์เล่นประจำอยู่ที่นี่ บนป้ายหลอดนีออนวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์ ไสวแสงแห่งค่ำคืนอ่านได้ใจความว่า A Taun Pub   ผับที่อ่านนามเป็นภาษาฝรั่งเศสแห่งนี้ ร่วมหุ้นกันโดยกลุ่มคนหนุ่มสจ๊วร์ตการบินไทย นัยว่า หลังจากการบินอยู่บนอากาศและการบังคับกลไกเครื่องบินที่เต็มไปด้วยอาการเกร็ง คร่ำเคร่งของขดประสาท พวกเขาอยากพักผ่อนกับดนตรีประเภทที่ขับไล่ความเมื่อยขบ และสามารถวิ่งถลาออกไปกลางฟลอร์ กระทืบเท้าอย่างเมามันส์กับเสียงกีตาร์กรีดและเขย่าหัวใจให้ฮึกเหิม เสียงกลองปลิดวิญญาณราวกับจะกระชากเนื้อหนังให้ขาดแหว่งวิ่น เบสกีตาร์กระทุ้งหัวใจจนมันล้นออกมานอกเบ้า..กรีดร่ำของเสียงร้องโหยหวนสูงลิ่วเสียดฟ้า...ทั้งหลายแห่งทั้งปวง เราเรียกมันว่า ‘Underground Music’ ดนตรีที่อเมริกัน จี.ไอ. นำมาเป็นมรดกตกทอดให้กับนักดนตรีชาวไทยในยุคฐานทัพเฟื่องฟู การเล่นดนตรีในสไตล์อันเดอร์กราวนด์ถือเป็นความยอดเยี่ยม และแสดงความสามารถอันเอกอุของนักดนตรีเหล่านั้น โดยเฉพาะช่วงที่เปิดโอกาสให้มีการเล่นที่เรียกกันว่า by heart หรือศัพย์สากลคือ improvisation ที่ต่างเปิดโอกาสให้นักดนตรีแต่ละคนแสดงความสามารถออกมาเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การโซโล่กลองที่ยาวเหยียด การตบเบสที่น่าทึ่ง การเล่นโซโล่กีตาร์ที่ตามใจตัวเอง มันเป็นเสน่ห์ของดนตรีอันเดอร์กราวนด์อย่างแท้จริง!!! ชายหนุ่ม 5 คนบนเวทีกำลังระห่ำกับดนตรีอย่างถึงพริกถึงขิง เข้าถึงอารมณ์ตัวตนแห่งดนตรีอย่างเมามันส์ เพลงแล้วเพลงเล่า ต่อเนื่องกันราวกับจะให้คนฟังไม่มีเวลาหายใจ จาก Black Magic Woman, Oye go Mova, Jingo ของ คาร์ลอส แซนทาน่า มาถึง Paranoid, Sweet Leaf, Iron Man ของ Black Sabbath ไล่เรียงไปจนถึง Uriah Heep, Deep Purple, Grand Funk Railroad, James Gang, Led Zeppelin, The Who และจบลงที่เศร้าอ้อยสร้อยของ อีริค แคลปตัน ชายหนุ่มผมยาวสลวยสวยเก๋าเก๋ทั้งห้าคน เรียกตัวเองว่าวงหมาป่าผู้บ้าคลั่ง The Fox และผู้ที่นำทีมหมาป่าในป่าคอนกรีต คือราชันกีตาร์หัวหน้าวงที่รู้จักกันในนาม ช.อ้น ณ บางช้าง นามสกุลเก่าแก่ของสกุลขุนนางกรุงเทพฯ “เราเล่นดนตรีกันด้วยหัวใจดวงเดียวกัน ก่อนจะเป็นวงได้คุณต้องเรียนรู้จิตใจของกันและกันก่อนว่าชื่นชอบแนวไหน ถ้าความคิดขัดกัน วงจะเดินไปข้างหน้าได้ยาก คุณต้องหลอมรวมให้มันเป็นหนึ่งเดียวก่อน ยิ่งคุณเล่นแนวอันเดอร์กราวนด์ มิวสิค ที่ดนตรีค่อนข้างจะซับซ้อน ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถึงแก่น ถึงจะบรรลุความเป็นดนตรีที่แท้จริง “วงผมโชคดีที่หลอมรวมกันได้อย่างลงตัว ผมมีนักร้องนำที่มีปอดเหล็กคือ ตุ้ม (สุทธิเมธ เหล็กกล้า เสียชีวิตไปแล้วเมื่อหลายสิบปี) ถ้าในสไตล์ของ Led Zeppelin ในแวดวงอันเดอร์กราวนด์ ไม่มีใครกินเขาได้ลง และมือกีตาร์คู่ขาของผม อาลี (เลิกเล่นดนตรีไปแล้ว) เขาโซโล่ได้แกร่งฉกรรจ์ กลองของน้าหมู เป็นกระดูกสันหลัง เหนียวแน่นกับเบส ส่วนมือเบสยังเป็นน้องใหม่ เขาหลงใหลแนวแซนทาน่า และผ่านการออดิชั่นไม่เลวทีเดียว...” ช.อ้น ณ บางช้าง เล่าผ่านฟองเบียร์เย็นเป็นวุ้นในคืนวันหนึ่งที่เราได้รับเกียรติให้ไปชมการแสดงของเขา “ดนตรีแนวนี้ มันต้องมีคนอย่างพวกคุณเขียนถึง จึงจะเปลือยล่อนจ้อนได้หมดกึ๋นส์ คนที่ไม่เข้าใจมันก็เขียนได้พอพื้น ๆ เราอ่านนิตยสารที่พวกคุณทำ The Quiet Storm เราไม่ลังเลตัดสินใจให้พวกคุณแวะมาชมการแสดงของพวกเรา...การพูดคุยเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำความเข้าใจกันไม่หมดหรอก ผมอยากเชื้อเชิญพวกคุณไปที่ห้องพักเรา ในบรรยากาศการพักผ่อน วงผมแต่ละคนมีบุคลิกที่น่าค้นหา ทำไมเราจึงเล่นเพลงพวกนั้น ทำไมเราจึงมีเพลงใหม่แกะเล่นไม่ซ้ำกันทุกคน อย่างที่บอก ดนตรีแนวนี้ลองมันเข้าไปสิงสู่อยู่ในหัวใจ มันท้าทายให้เราค้นหามันตลอดเวลา แขกที่มาเที่ยวที่นี่ล้วนพึงใจกับการแสดงสดของเรา “ใช่! การแสดงสดคือหัวใจของดนตรีแนวนี้ ดนตรีไม่ใช่สากกะเบือที่คุณจะยืนทื่อเหมือนอมสาก แต่คุณต้องแสดงออกถึงอารมณ์ด้วยการเคลื่อนไหวตลอดเวลา คุณคงเห็นลีลาของนักร้องนำของเราว่าบนเวทีเขาร้ายกาจขนาดไหน มันหมายถึงความจัดเจน ช่ำชอง เชี่ยวชาญ เราแกะเพลงใหม่กันตลอด เราทำงานหนัก ใครบอกว่าดนตรีเป็นเรื่องง่ายผมขอเห็นต่าง มันต้องทำงานหนัก คุณจะขี้เกียจไม่ได้แม้แต่นาทีเดียว คุณต้องหมั่นฝึกซ้อม หมั่นหาความรู้ใส่สมอง ศึกษาดนตรีของแต่ละวง The Fox บนถนนดนตรียังอีกยาวไกล ถ้ายังไม่ตายจากกันไปเสียก่อน คงได้เล่นกันในงานศพโน่นแหละ...” ช.อ้น เอ่ยประโยคหนักแน่น [caption id="attachment_13723" align="aligncenter" width="640"] ช.อ้น ณ บางช้าง เขาหาว่าผมเป็นมือกีตาร์มาเฟีย?!? ช.อ้น ณ บางช้าง (ภาพจาก Facebook: ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา)[/caption] เราไม่แปลกใจที่ชื่อของ ช.อ้น ณ บางช้าง ยังติดอยู่บนริมฝีปากและหัวใจเปื้อนเพลงร็อคของวิญญูชนคนหลงใหลร็อคแอนด์โรลล์มาจนถึงวินาทีนี้ เขายึดมั่นกับการแสดงสดเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นที่ร่ำลือระบือเบงโจษขานกันไม่สิ้นสุดในแวดวงชาวร็อค ในงานมหกรรมดนตรีกลางแจ้งที่จัดขึ้นบริเวณสวนลุมพินี ในยุคที่การจัดดนตรีเอาท์ดอร์กำลังเฟื่องฟู เพื่อนนักดนตรีคนหนึ่งในวงเล่าให้ฟังว่า ขณะการเดินทางไปที่สวนลุม ช.อ้น บอกให้คนขับรถหยุดแวะร้านขายของชำกลางทางผ่าน เขาลงไปซื้อไฟแช็คและน้ำมันรอนสันติดกระเป๋า ไม่มีใครรู้จุดประสงค์ที่แท้จริงของเขาว่าซื้อไปทำไม งานนั้นยิ่งใหญ่มาก มีวงอันเดอร์กราวนด์ประชันกันตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน ถึงคิวการแสดงของ The Fox ช.อ้น เล่นกีตาร์ด้วยอารมณ์ละเมียดละไม แล้วค่อย ๆ ทะยานไปสู่ความร้อนแรงตามดีกรีของเพลง Smoke on the Water ถึง Highway Star ของ Deep Purple ห้าหนุ่มกำลังบ้าคลั่งกันสุดฤทธิ์บนเวที บ่ายแดดร้อนเจียนคลั่ง แต่หาได้หยุดความมันส์ของพวกเขาลงไปได้ กลองกระหน่ำเหมือนฟ้าจะถล่มทลายลงนาทีนั้น เสียงเบสคร่าวิญญาณ สุทธิเมธ เหล็กกล้า นักร้องนำตัวกลั่นเคลื่อนไหวกับไมโครโฟนอย่างดุเดือด ถึงคิวการโซโล่แบบ by heart ของ ช.อ้น เขาร่ายนิ้วลงไปบนคอกีตาร์อย่างช่ำชอง เครื่องดนตรีทุกชิ้นเปิดโอกาสให้เขาทำงานบนเส้นลวดอย่างไร้พรมแดน ทันใดไม่มีใครคาดคิด ช.อ้น ปลดสายสะพายกีตาร์แล้วฟาดมันลงไปกับเวที ฟาด ฟาด ฟาด จนคอกีตาร์แตกกระจายเป็นชิ้น เท่านั้นยังไม่พอ เขาล้วงขวดน้ำมันรอนสันที่เตรียมไว้แล้วราดลงไปบนตัวกีตาร์ แล้วล้วงไฟแช็คที่เตรียมไว้แล้วเช่นกันจุดพรึบไปบนตัวกีตาร์ มันลุกโชนขึ้นในเวลาฉับพลัน แล้วเขาก็จับมันเหวี่ยงไปบนอากาศครั้งแล้วครั้งเล่า คนดูปรบมือกระทืบตีนอย่างสาแก่ใจในการแสดงครั้งนั้น เป็นที่โจษจันกันอื้ออึงว่า นี่คือการแสดงที่มันส์สุดยอดของงานวันนั้น “คุณต้องบรรลุนิพพานกับมันให้ได้กับดนตรีแนวนี้ คุณคงเห็นใครต่อใครที่เป็นศิลปินต่างประเทศ เช่น ริทชี แบล็คมอร์ แห่ง Deep Purple, จิมมี เฮนดริกซ์ จอมบลูส์ ร็อคผู้ปราดเปรื่อง คีธ มูน แห่ง The Who คนเหล่านั้นเผากีตาร์เป็นว่าเล่นเมื่ออารมณ์ถึงที่สุด ผมก็ไม่ต่างกัน มันคือการจุดระเบิดแห่งการแสดงสดกับการเล่นกีตาร์ วงลูกทุ่งอย่าง สรวง สันติ ยังเผากลองไปหลายใบ...” ช.อ้น เล่าต่อมา มาย้อนอดีตกันไม่มากเกินกว่าความจำเป็น  “ผมเป็นเด็กเกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ เรียกว่าเป็นอันธพาลประจำซอยก็ว่าได้ งานประเภทตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก ยกพวกตะลุมบอนแบบพวกเด็กช่างกลเป็นที่โปรดปราน แต่แปลกที่คนสันดานอย่างผมกลับมีหัวใจโน้มน้าวไปกับดนตรี ซึ่งมันขัดกันบรรลัย พวกนักเลงหัวไม้มักไม่ชอบฟังเพลง แต่ผมกลับหลงใหล เอลวิส เพรสลีย์, คลิฟฟ์ ริชาร์ด หรือพวกบลูส์อย่าง บี. บี. คิง,จอห์นนี วินเทอร์, อีริค แคลปตัน ผมฉุกคิดได้ว่า ถ้าผมขืนปล่อยให้ชีวิตเกเรอยู่อย่างนี้ไม่ดีแน่ ผมจึงหาทางออกด้วยการหัดเล่นกีตาร์กับเพลงง่าย ๆ พวกโพรเกรสชันสามสี่คอร์ด “ผมมามุมานะเอาตอนที่เห็นพี่แหลม มอร์ริสัน เป็นดาวรุ่ง อยากเป็นร็อคสตาร์กับเขาบ้าง ผมจึงทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างหันหน้าเข้าหากีตาร์อย่างเอาจริงเอาจัง ผมโปรดปรานงานของ คาร์ลอส แซนทาน่า ผมจึงฝึกงานเพลงของเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย จนมาถึงวินาทีนี้ที่ผมเป็น ช.อ้น ณ บางช้าง ได้ ต้องขอบคุณ คาร์ลอส แซนทาน่า เขาเป็นผู้ชุบวิญญาณของผม ใครที่เป็นแฟนของวงนี้ ถ้าได้ฟังผมเล่นรับรองไม่ผิดหวัง” ช. อ้น เล่าถึงความหลังอย่างปริ่มเปรมดิ์ใจ วงอันเดอร์กราวนด์ชั้นแถวหน้าในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวง วี.ไอ.พี.ของ แหลม มอร์ริสัน, คาไลโดสโคป ของ กิตติ กีตาร์ปืน, เฮฟวี่ เมาน์เท่น ของ เวชยันต์ ชีวโอสถ, อาฟเตอร์ดาย,พอยท์ อาฟเตอร์ ฯลฯ แต่ละวงก็ล้วนมีลีลาเป็นของตัวเอง และที่สำคัญพวกเขาตระเวนเล่นไปตามต่างหวัดที่มี จี.ไอ. ตั้งฐานทัพ The Fox ก็คือผลิตผลของทหาร จี.ไอ. เช่นกัน พวกเขาออกไปตระเวนเล่นที่โคราช อุบลราชธานี อุดรธานี ตาคลี... “มันไม่ง่ายที่จะเล่นดนตรีของคนหัวดำอย่างเราให้ฝรั่งยอมรับ ผมยอมรับว่า วี.ไอ.พี. ของพี่แหลมได้รับความชื่นชมยอมรับจากฝรั่งอย่างกว้างขวาง มันทำให้เราฝึกปรือฝีมืออย่างไม่หยุดหย่อน อเมริกัน จี.ไอ. ไม่ว่าคนไหนก็ตาม ถ้าดนตรีเล่นถึงใจ คุณจะได้รับทิปอย่างงดงาม บางครั้งเงินทองก็คือกำลังใจที่ดี แต่บางทีมันก็ไม่จำเป็น ถ้าเราเล่นดนตรีด้วยความรู้สึกรักมันอย่างแท้จริง ผมคิดว่า นักดนตรีรุ่นผมเอาใจใส่กับดนตรีมากกว่ารุ่นหลัง ๆ ที่มักจะเล่นเพื่ออวดตัวเองมากกว่า เล่นเพื่อความเท่เรียกความสนใจจากสาว ๆ แต่พวกผมเอาวิญญาณเข้าแลก หลายหนที่อดอยาก แต่เราก็รอดตัวมาได้ด้วยใจมุ่งมั่น...” เขากล่าวอย่างภาคภูมิ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดนตรีร็อคตกต่ำ การมาถึงของดนตรีดิสโก้ซึ่งใช้ดนตรีสังเคราะห์อย่างซินธิไซเซอร์แทนความสามารถของนักดนตรี ช.อ้น เกือบจะเลือกเล่นดนตรี โดยไปเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่บางนา “ชีวิตตอนนั้นสุด ๆ ครับ ดนตรีดิสโก้ทำให้ดนตรีร็อคหมดราคา งานเล่นประจำก็หดหาย ผมเกือบถอดใจไปหลายหน แต่เราไม่ใช่พ่อค้า พระเจ้าคงสร้างมาให้เล่นดนตรีอย่างเดียว ในที่สุดก็ต้องย้อนกลับขึ้นมาสู่เวทีอีกหน เพื่อพิสูจน์ว่า ร็อคไม่เคยตาย มันอาจซบเซาไปบ้าง แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่ามันไม่ตาย “ดนตรีร็อคคือสมบัติอันมีค่าของอเมริกา ของอังกฤษ ทุกวงในยุค 70s ล้วนกลายเป็นตำนานที่เล่าขานกันไม่รู้จบ อย่าง Pink Floyd ในแวดวงโพรเกรสซีฟ ร็อค ใครจะเทียบเทียมเขาได้ หรือ Led Zepeplin คนรุ่นไหน ๆ ก็ยังเล่น Stairway to Heaven และแน่นอนผมก็ยังยึดหลักแนวทางของคาร์ลอส แซนทาน่า...” เขาเล่าต่อมา ช.อ้น ยังเคยทำซาวนด์แทร็คภาพยนตร์ให้ “ท่านมุ้ย” เรื่อง “เทวดาเดินดิน” “ตอนนั้น วง The Fox กำลังรุ่งเรืองสุดขีด เรามีงานเล่นประจำหลายที่ ‘ท่านมุ้ย’ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ท่านเป็นคนชอบดนตรีร็อค ตอนนั้นหนังเทวดาเดินดินจวนถ่ายทำเสร็จ แต่ยังขาดซาวนด์แทร็ค เนื้อหาของมันเป็นเรื่องของคนสิ้นหวังในเมืองใหญ่ จึงทำแผนการออกปล้นแบงก์เพื่อหนีไปอยู่ต่างประเทศ มันจึงมีฉากไล่ล่ากันค่อนข้างเยอะระหว่างตำรวจกับผู้ร้าย ท่านมุ้ยต้องการกีตาร์โซโล่ในตอนไล่ล่าเพื่อความระทึกใจ ผมก็เลยได้โชว์ฝีมือการทำซาวนด์แทร็คอย่างเมามันส์ และหนังเรื่องนั้นก็ประสบความสำเร็จงดงามรายได้เป็นหลักล้าน (ใน พ.ศ. นั้น) เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม เป็นอีกมิติหนึ่งของการเล่นกีตาร์และดนตรีประกอบ ผมชอบนะหนังเรื่องนั้น หลายฉากเอ่ยถึงวงดนตรีแนวอันเดอร์กราวนด์ อย่างวง Heavy Mountain ของพี่แดง เวชยันต์ ชีวโอสถ ก็ปรากฏหลายฉาก ไปถ่ายทำกันที่บาร์อุดรธานี ท่านมุ้ยพอใจกับผลงานเรื่องนั้นมาก” เขาเล่าต่อมา มีอยู่ช่วงหนึ่ง ช.อ้น หันไปทำอัลบั้มเพลงไทย โดยใช้ชื่อวงว่า ช.อ้น แอนด์ จตุจักร แบนด์ ช่วงนั้นเขาคิดอะไรอยู่   “ก็ไม่มีอะไรมาก เป็นการทำงานทดลองตามกระแสมากกว่าจะหวังผลทางการค้า ตอนนั้นเพลงไทยกำลังฮิตระเบิด ใครต่อใครต่างออกอัลบั้มเป็นว่าเล่น พี่กิตติ กีตาร์ปืน ออกชุด ‘สายธารใต้ขุนเขา’ คาไลโดสโคปก็ออกมาชุดหนึ่ง พี่แหลมทำเพลงสากลเมดเลย์ เราก็เลยอยากลองทำบ้าง เป็นประสบการณ์ที่ดี คือวัดฝีมือตัวเองว่า คนที่เล่นเพลงสากลทุกค่ำคืนจะเล่นเพลงไทยให้ติดหูคนฟังที่เป็นคนไทยได้มั้ย ก็ประสบความสำเร็จพอใช้ได้ เราออกทีวีเป็นว่าเล่น โลกดนตรีช่อง 5, 7 สีคอนเสิร์ตของช่อง 7 และอีกหลายรายการที่เป็นทอล์ค โชว์” ช.อ้น กล่าวความ Sex, Drug & Rock n Roll” เป็นราวคำขวัญของพวกร็อคสตาร์ทั้งหลาย ใครก็ตามที่ก้าวเข้ามาในอาณาจักรนี้...ว่ากันว่าหนีไม่พ้นที่จะใช้ยาเป็นยานพาหนะไปสู่จินตนาการ ซึ่งบางคนก็แลกกับความตายอย่าง จิมมี เฮนดริกซ์, ทอมมี โบลีน แห่ง Deep Purple “ผมว่ามันใช้ได้กับวงฝรั่งเท่านั้นนะ วงการร็อคเมืองไทยไปไม่ถึงขั้นนั้น ผมเองก็เคยใช้ยาด้วยเหตุผลที่ว่า เล่นดนตรีทุกคืนมันซ้ำซากจำเจ ถ้าได้ยาแล้วจะทำให้กระปรี้กระเปร่า แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะในที่สุดร่างกายคุณจะทรุดโทรม ฝรั่งมันมีเงิน อย่าง มิค แจ็กเกอร์ แห่ง The Rolling Stones มีเงินเป็นพัน ๆ ล้าน อยากได้ผู้หญิงคนไหนก็ได้ ยากับผู้หญิงมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าคุณเป็นร็อคสตาร์ระดับเทพ แต่อย่างบ้านเรา ไม่ถึงขนาดนั้น กินเหล้าก็พอแล้ว และก็โชคดีที่เราไม่มีข่าวนักดนตรีร็อคบ้านเราตายเพราะยาเสพติด อย่างดีก็แค่เหล้า”    [caption id="attachment_13725" align="aligncenter" width="640"] ช.อ้น ณ บางช้าง เขาหาว่าผมเป็นมือกีตาร์มาเฟีย?!? ช.อ้น ณ บางช้าง (ภาพจาก Facebook: ChorOn Na Bangchang)[/caption] ครอบครัว ณ บางช้าง เป็นครอบครัวนักดนตรีทุกคน ลูกชายหรือลูกสาวของเขาต่างมีดนตรีในหัวใจและเลือกเดินเส้นทางตามพ่ออย่าง เอ๋-นรินทร ณ บางช้าง ที่ตามเส้นทางพ่อจนประสบความสำเร็จในแวดวงดนตรีร็อคหญิง หรือ ช.เอ ณ บางช้าง ลูกชายอีกคนที่เป็นนักร้องนำประจำเล่นกับพ่อ หรือ แฮ็ค-ฐาปนา ณ บางช้าง ก็เป็นมือกีตาร์วง Clash อันโด่งดัง “ผมโชคดีที่ลูกทุกคนเอาดีทางดนตรีเลี้ยงตัวเองได้ทุกคน อย่างแฮ็คนี่ไปไกลกว่าเพื่อน เขาซื้อบ้านให้ผมอยู่ ทั้งที่ผมก็มีบ้านของตัวเองอยู่แล้ว เขาบอกเก็บไว้ขายตอนแก่ และกิจการของผมก็ไปได้เรื่อย ๆ” กิจการที่ว่านี้คือการลงทุนกับหุ้นส่วนทำผับร็อคที่มีชื่อว่า Bamboo Pub สถานบันเทิงของคนชอบร็อค ย่านนานาเหนือ สุขุมวิท ซอย 3 เปิดการแสดงทุกค่ำคืน โดยมีวงของเขาเล่นเป็นหลัก และจากการเปิดกิจการ ณ ย่านนี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งซ่องสุมกิจการสีเทาหลากหลายประเภท จนถึงการปล่อยเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยอัตราโหดร้าย เมื่อทวงกันไม่ได้ก็ต้องอาศัยนักเลงหัวไม้คอยคุ้มกันหรือข่มขู่เอากับลูกค้า มีข่าวคราวว่า ช.อ้น มีชื่อบรรจุอยู่ในบรรดาแก๊งทวงหนี้โหด เลี้ยงลูกน้องในสาขาไว้หลายสิบคน “ก็แล้วแต่จะว่ากันไป การทำธุรกิจกลางคืน มันต้องมีมือมีตีน มีคนที่ไว้ใจได้ ไม่มีใครเป็นเพื่อนที่แท้ในวงการกลางคืน ผลประโยชน์มหาศาลมันทำให้เราต้องป้องกันตัวเอง ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันมีผลประโยชน์แอบแฝง พูดกันตรง ๆ การค้ากามนี่แหละ ปราบยังไงก็ไม่หมด แต่บาร์ผมไม่เกี่ยว ผมเล่นดนตรีของผม แน่นอน มันต้องมีลูกน้องไว้คุ้มกบาล ไม่ใช่เรื่องผิดไม่ใช่หรือ แต่ผมไม่เคยทำร้ายใคร ยกเว้นจะทำร้ายผมก่อน ผมต้องป้องกันตัว “บางคนคิดว่าผมเป็นคนร้ายในคราบนักดนตรี แต่ผมปฏิเสธ เพราะนักดนตรีไม่เคยมีใครเป็นโจร คนอารมณ์อ่อนไหวเป็นโจรไม่ได้หรอก ดนตรีกล่อมเกลาจิตใจทุกค่ำคืน ใครมันจะวางกีตาร์แล้วถือปืนไปยิงกบาลศัตรู ชื่อเสียงผมมาดีกับทางดนตรี คงไม่เอาไปเสี่ยงกับทางนักเลงหัวไม้ ตอนเด็กผมอาจจะเกเร แต่ดนตรีสอนให้ผมอ่อนโยน มีมิตรไมตรีกับเพื่อนร่วมโลก ไม่งั้นผมจะไปทำงานกับมูลนิธิร่วมกตัญญูได้ไง” เขาเล่าต่อมา มูลนิธิร่วมกตัญญู คืออีกงานหนึ่งที่ ช.อ้น อาสาเข้ามารับใช้ด้วยความเต็มใจ แม้เวลาการเล่นดนตรีจะแย่งเขาไป แต่เขายังแบ่งเวลาออกไปอาสาทำงานการกุศลอย่างสม่ำเสมอ นี่ก็เป็นเวลาร่วมยี่สิบปีแล้วที่เขาทำงานกับมูลนิธินี้ “มันเป็นความรู้สึกร่วมโลกกับเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง” เขาผ่อนคลายลมหายใจ “จากการที่ผมเล่นดนตรีและได้เห็นชีวิตผู้คนมากมาย แขกที่มาเที่ยว ผู้หญิงหากินที่ตกทุกข์ได้ยาก หลายคนตายไปอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก หลายคนติดยาตายคาอ้อมอกผม วงของผมเคยรับนักร้องที่ติดยามาบำบัดจนกลายเป็นนักร้องนำ แต่หลายคนก็สิ้นใจเพราะเลิกไม่ได้ กลายเป็นผีไม่มีญาติ ผมเห็นแล้วเวทนา สงสาร เลยตัดสินใจเข้าทำงานนี้ ช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ผมเคยติดยามาก่อน ผมรู้รสชาติของมันดี หรือนักดนตรีหลายคนในยุคอันเดอร์กราวนด์ต่างรู้รสชาติของมันดี นักดนตรีต่างประเทศที่ตาย ๆ ไปก็มากเพราะยาเสพติด รู้ ๆ กันอยู่ “มันเป็นงานสาธารณะที่ผมเต็มใจช่วยเหลืออย่างแท้จริง แม้มันจะแย่งเวลาของผมไปจากการซ้อมดนตรีบ้าง แต่ผมก็ไม่เคยท้อถอย มันเป็นความรู้สึกที่ดีที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผมเล่นดนดรีเพื่อให้คนฟังมีความสุข ขณะเดียวกันงานสาธารณะก็ช่วยให้ผมรู้สึกมีคุณค่า เกิดมาไม่เสียเวลาเปล่า คนเราจะอะไรกันนักหนา ท้ายที่สุดก็ต้องไปจากโลกนี้ ฝากความดีไว้ไม่ดีกว่าหรือ” ช. อ้น เอ่ยอย่างภาคภูมิใจ ปัจจุบันเขายังปักหลักเล่นดนตรีอยู่ที่นานาเหนือกับวงของเขา The Fox เล่นเพลงหลากหลายสไตล์ โดยมีแซนทาน่ายึดหลักไว้อย่างเหนียวแน่น “ผมไม่ค่อยโอเคกับเพลงร็อครุ่นใหม่ พยายามฟังให้เข้าใจ แต่ดนตรีมันไม่ได้ ดนตรีรุ่นใหม่ไม่มีการโซโล่กีตาร์ที่แสดงถึงความสามารถ เอาแต่สับกีตาร์คอร์ดหยาบ ๆ เหมือน ๆ กันหมด ไม่มีอะไรแตกต่าง ไม่มีเอกลักษณ์ รุ่นผมคุณคงเห็นได้เด่นชัดว่า The Who เล่นสไตล์ไหน Led Zeppelin เล่นแนวไหน การโซโล่กีตาร์ที่แสดงถึงความเป็นเทพ อย่าได้แปลกใจที่วินาทีนี้ วงเหล่านั้นก็ยังครองใจคนทั่วโลก อย่างวง Queen นี่ถือเป็นวงเทพเจ้า สร้างสรรค์บทเพลงอมตะอย่าง Bohemian Rhapsody จนกลายเป็นตำนาน เด็กรุ่นใหม่ไม่มีทางทำอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของยุคสมัย ผมไม่ดูถูกดนตรี แต่ยุคสมัยมันไม่ถูกจริตเรา เนื้อหาสาระยิ่งแตกต่างกัน “ยุคเรามันคือยุคแสวงหาตัวตน แน่นอน มันมียาเสพติดเข้ามาพัวพัน แต่เพลงดี ๆ หลายเพลงก็เป็นผลผลิตของมัน วรรณกรรมดี ๆ หนังดี ๆ บทกวีดี ๆ บุคคลสำคัญของโลกที่มีบทบาทต่อสังคมล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของยุคสมัยนั้น ๆ อับราฮัม ลินคอล์น, จอร์จ วอซิงตัน, โธมัส เจฟเฟอร์สัน, จอห์น เอฟ เคเนดี้..” เขากลืนท้ายประโยคหายไปในหว่างลำคอ ยุคสมัยสร้างฮีโร่ ช.อ้น คือผลผลิตของยุคสมัยอันเดอร์กราวนด์ที่ยังมีลมหายใจมาจนถึงวินาทีนี้ และจะเดินต่อไปบนเส้นทางดนตรีไม่รู้จบ “ก็คงจะเล่นจนกว่านิ้วมันจะเล่นไม่ได้” เขาเอ่ยประโยคท้าย ๆ “ผมไม่เคยปฏิเสธดนตรี เช่นเดียวกับที่ดนตรีไม่เคยปฏิเสธผม เราต่างมอบชีวิตให้กันและกัน และคงจะเล่นกันจนกว่าดินฝังศพจะกลบหน้า มาถึงวันนี้ ผมไม่ต้องห่วงอะไร เล่นดนตรีร็อคให้ดีที่สุดทุกค่ำคืน “นักเขียน เขียนหนังสือเพื่อบำเรอคนอ่านของเขา ผมก็บำเรอคนฟังของผมด้วยเสียงกีตาร์ของผม ขอบคุณที่ให้เกียรติเขียนถึงผม คนร็อคเท่านั้นจึงจะเขียนดนตรีได้ถึงใจคนอ่าน... คุณไม่ลืมคนรุ่นผม ผมก็ไม่ลืมนักข่าวเช่นคุณ ขอบคุณอีกครั้ง” รถไซเรนเปิดหวอมาในความมืดของป่าคอนกรีต ช.อ้น ณ บางช้าง ขอตัวไปทำงานกับมูลนิธิร่วมกตัญญู ร่างของ ช.อ้น หายวับไปกับรถเปิดไซเรนดังกึกก้องไปบนท้องถนน แต่เสียงกีตาร์สำเนียงคาร์ลอส แซนทาน่า ของ ช.อ้น ณ บางช้าง ยังคงกึกก้องอยู่ในหูเรามิรู้หาย   เรื่อง: พายุหิน กูรู ภาพเปิด: Facebook พายุหิน กูรู