เอเตียน เดอ ลา โบเอตี เผด็จการมีอำนาจเพราะคนยอมเป็นทาสโดยสมัครใจ

เอเตียน เดอ ลา โบเอตี เผด็จการมีอำนาจเพราะคนยอมเป็นทาสโดยสมัครใจ
"แน่นอนว่า มันไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องต่อสู้อะไรในการเอาชนะเผด็จการแค่คนเดียว เพราะเขาย่อมพ่ายไปโดยพลันเมื่อประเทศนั้นเลิกยอมเป็นทาส มันไม่จำเป็นจะต้องไปยึดอะไรจากเขา เพียงแค่ไม่ต้องมอบอะไรให้กับเขา ประเทศนั้นไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อตนเลย เพียงแค่ไม่ทำอะไรให้เป็นโทษต่อตนก็พอ  "มันจึงเป็นตัวชาวบ้านเองที่ยินยอมหรือเอาตัวเองไปอยู่ใต้อำนาจ ดังนั้นเพียงแค่เลิกที่จะยอมตกอยู่เบื้องล่าง ก็เป็นการยุติการเป็นทาสของพวกเขาเอง ชาวบ้านคือผู้เอาตัวเองลงเป็นทาส เอามีดกรีดคอตัวเอง เมื่อมีทางเลือกระหว่างการเป็นข้ารับใช้กับเป็นเสรีชน กลับเลือกละทิ้งอิสรภาพแล้วคว้าแอกมาสวมคอ ให้ความยินยอมต่อความทุกข์ยากของตน หรือจะพูดว่ารับสภาพด้วยความยินดีก็ยังได้ "ถ้าหากชาวบ้านจะต้องจ่ายอะไรเพื่อให้ได้เสรีภาพกลับมา เราจะคิดไม่ส่งเสริมให้ใครลงมือทำอะไรเพื่อการนี้เลย อย่างไรก็ดี ไม่มีอะไรในโลกที่มนุษย์ควรจะให้ความสำคัญไปกว่าการทวงคืนสิทธิโดยธรรมชาติ เพื่อเปลี่ยนตัวเองจากสัตว์ผู้รับเคราะห์ให้กลับมาเป็นคน "เราไม่ได้เรียกร้องให้ใครต้องกล้าหาญมากมาย เขาอยากจะใช้ชีวิตอยู่อย่างรันทดไร้ความมั่นคงกับความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ก็ตามใจเถิด แต่มันจะเป็นไรไปเล่า? ถ้าหากอิสรภาพนั้นจะได้มาเพียงแค่ใฝ่หามัน ถ้าหากความประสงค์เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ จะมีชาติไหนกันในโลกที่เห็นว่า ความปรารถนาเพียงอย่างเดียวเป็นราคาที่สูงเกินกว่าจะจ่ายได้ เพื่อกู้คืนสิทธิของตนกลับคืนมา แม้ว่าสิทธินั้นจะเป็นสิ่งที่คนควรจะทวงคืนโดยพลันต่อให้ต้องสละเลือด แม้ว่าการสูญเสียสิทธินั้นย่อมทำให้คนที่มีเกียรติอยู่ในจุดที่ไม่อาจกล้ำกลืนต่อไปได้ และความตายยังนับเป็นการหลุดพ้น"  ข้อความข้างต้น เอเตียน เดอ ลา โบเอตี (Étienne de La Boétie) นักปรัชญาทางการเมือง ผู้พิพากษา และนักการทูตชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 (ค.ศ. 1530-1563) ได้ถ่ายทอดออกมาตั้งแต่เมื่อคราวที่ยังเป็นนักศึกษากฎหมาย ในวาทกรรมว่าด้วยการเป็นทาสโดยสมัครใจ (The Discourse of Voluntary Servitude) ลา โบเอตี เกิดในครอบครัวชนชั้นสูงจากเมืองซาร์ลาต์ ในภูมิภาคเปริกอด์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เขากำพร้าตั้งแต่ยังเด็ก แต่ได้ลุงส่งเสียชุบเลี้ยงและเรียนจบกฎหมายจาก University of Orléans ในปี 1553 เพียงปีเดียวจากนั้นเขาก็ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักให้ทำหน้าที่ตุลาการในศาลสูงของบอร์โดซ์ แม้อายุของเขาจะยังต่ำกว่าเกณฑ์  การประสบความสำเร็จในการเป็นข้าราชการตั้งแต่อายุยังน้อยนี่เอง ที่น่าจะทำให้ทัศนคติของ ลา โบเอตี เปลี่ยนไป ในครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ลา โบเอตี แสดงท่าทีรังเกียจเผด็จการเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการที่ใช้กำลังยึดอำนาจ เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเผด็จการที่ได้รับถ่ายโอนอำนาจโดยสายเลือด เห็นได้จากข้อความในบทความเดียวกันที่กล่าวว่า "เผด็จการมีอยู่สามรูปแบบ บ้างได้ตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน บ้างด้วยการใช้กำลังอาวุธ บ้างก็โดยสืบทอดทางสายเลือด ฝ่ายที่ได้อำนาจด้วยการเข่นฆ่าก็ใช้อำนาจนั้นปกครองประชาชนดั่งประเทศที่ถูกยึดครอง ฝ่ายที่เกิดมาเป็นเจ้าก็มิได้ดีไปกว่า เพราะพวกเขาเติบโตขึ้นจากอ้อมอกของเผด็จการ สัญชาติญาณของเผด็จการก็ถูกส่งผ่านน้ำนมที่ดูดกลืน พวกเขายังเห็นประชาชนในปกครองว่าเป็นเพียงทาสในเรือนเบี้ย ทั้งยังจัดการดูแลประเทศอย่างน่าเวทนาหรือใช้จ่ายไม่ยับยั้งเหมือนดั่งมรดกส่วนตัว  “อย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้อำนาจจากประชาชนสำหรับเราน่าจะเป็นกลุ่มที่พอรับได้มากกว่า และควรจะเป็นเช่นนั้น หากเพียงแต่ว่า ไม่นานจากนั้นเขาก็จะเห็นตัวเองอยู่สูงกว่าคนอื่น และหลงไปกับยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้หลุดมือ และมุ่งมั่นที่จะอำนาจที่ประชาชนมอบให้ส่งต่อไปให้กับลูกหลานของตัวเอง  “ครั้นเมื่อทายาทสมาทานทัศนคตินั้นด้วย ก็ให้น่าแปลกใจที่คนพวกนี้จะล้ำหน้าเผด็จการทุกรูปแบบในทุกด้านของความชั่วร้าย โดยเฉพาะความทารุณ เพราะพวกเขาไม่มีทางอื่นที่จะวางระบบเผด็จการขึ้นครอบงำนอกไปเสียจากการบีบรัดการควบคุมยิ่งขึ้น และลิดรอนเสรีภาพของประชาชนเสียจนความทรงจำถึงเสรีภาพนั้นแม้จะยังเด่นชัด แต่จะจางหายไปในเวลาเพียงไม่นาน"    และตามความเห็นของเขา การที่เผด็จการไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดถือกำเนิดขึ้นมาได้ ก็เนื่องจากความยินยอมของประชาชน ทำให้คนธรรมดา ๆ มีสองแขนสองขาเหมือนกันกลับมีอำนาจล้นพ้นจนสามารถกดขี่ฝูงชนมหาศาลที่ยินยอมให้คนผู้นั้นเอารัดเอาเปรียบตนเอง ไม่ใช่เพราะ “ความกลัว”  "เราควรจะเรียกการยอมตกเป็นเบี้ยล่างต่อผู้นำเช่นนั้นว่า ขี้ขลาดหรือ? ...ถ้าคนหลักร้อยหลักพันยอมทำตามใจคนคนเดียว เราคงบอกไม่ได้ว่าพวกเขาขาดความกล้าหาญ แต่น่าจะบอกว่าพวกเขาขาดความปรารถนาที่จะลุกขึ้นต่อต้านเสียมากกว่า และด้วยทัศนะเช่นนั้นมันน่าจะแสดงถึงความวางเฉยมากกว่าความขี้ขลาดจริงไหม? เมื่อคนที่ไม่ใช่แค่หลักร้อย หรือหลักพัน แต่เป็นคนจากร้อยจังหวัด เป็นพันเมือง นับจำนวนเป็นล้านคนไม่ยอมจัดการคนคนเดียวที่แสดงความเมตตาอย่างที่สุดด้วยการมอบบาดแผลจากระบบไพร่ทาส แบบนี้ควรเรียกว่าอะไรดี นี่หรือคือความขี้ขลาด?" ลา โบเอตี กล่าวว่า ถ้าหากเลือกได้ คนก็คงอยากเป็นไท ไม่มีใครเลือกที่จะเป็นทาส (ข้อยกเว้นคงมีแต่อิสราเอลที่ในไบเบิลเล่าถึงการเลือกที่จะมีกษัตริย์เลียนแบบชาติอื่น) ระบอบเผด็จการจะเกิดขึ้นได้เบื้องต้นก็ด้วยการใช้กำลังเข้ากำราบ หรือหลอกลวง การใช้กำลังอาจเป็นทัพต่างชาติ หรือไม่ก็ทหารคนชาติเดียวกันลุกขึ้นยึดอำนาจ ส่วนการหลอกลวงนั้นอาจเกิดขึ้นจากภาวะฉุกเฉินเช่นสงครามที่คนจำเป็นต้องมอบอำนาจมากมายให้อยู่ในมือคนคนเดียว ก่อนที่คนนั้นจะฉวยโอกาสยึดอำนาจไปเป็นการถาวร และฟูมฟักให้ฝูงชนคุ้นชินกับสถานภาพนั้น จนไม่มีใครคิดจะต่อต้าน "เป็นเรื่องจริงที่ในตอนต้น คนยอมตกอยู่ใต้อำนาจด้วยการใช้กำลัง แต่คนรุ่นหลังยอมรับฟังคำสั่งอย่างไม่เสียใจและพร้อมใจทำตามอย่างบรรพบุรุษที่ทำด้วยความจำเป็น นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนที่เกิดมาโดยต้องสวมแอกและถูกชุบเลี้ยงภายใต้ระบบทาสมีความพึงพอใจไม่คิดจะทำอะไร ยอมใช้ชีวิตตามบริบทแวดล้อมรอบตัว โดยไม่ได้รู้ถึงสิทธิของตนหรือความเป็นไปในรัฐอื่น และคิดเอาเองว่าสภาวะที่เป็นอยู่ตั้งแต่เกิดของตนเป็นเรื่องธรรมชาติ" และจารีตประเพณีก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของเผด็จการที่ทำให้คน “เชื่อง” ละทิ้งเหตุผล ยอมตกอยู่ใต้การกดขี่อย่างที่บรรพบุรุษของตนแบกรับกันมา "มนุษย์ก็เหมือนม้างามฝีเท้าจัด ตอนแรกก็พยศดื้อดึงแต่ตอนหลังก็พึงพอใจ เมื่อถูกเลี้ยงให้คุ้นชินกับการอยู่ใต้อานม้ามันก็เพลิดเพลินกับการถูกคล้องบังเหียนให้เยื้องย่างอย่างภูมิใจภายใต้พันธนาการ คล้ายกัน มนุษย์ก็จะค่อย ๆ คุ้นเคยกับความคิดที่ว่า พวกเขาตกอยู่ใต้อำนาจมาแต่ไหนแต่ไร พ่อของเขาก็โตมาแบบนี้ เขาจึงคิดว่าตนเองก็มีภาระที่จะต้องแบกรับความชั่วร้ายนี้ต่อไป และพยายามกล่อมตัวเองด้วยตัวอย่างที่เห็นหรือการทำตาม ๆ กันของคนอื่น ๆ แล้วจึงได้มอบสิทธิที่ตนมีโดยธรรมชาติให้กับผู้ใช้อำนาจด้วยความเชื่อที่ว่ามันเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด" เผด็จการยังล่อลวงให้คนตกอยู่ใต้อำนาจด้วยความบันเทิงต่าง ๆ ทั้งละครคน ละครสัตว์ หรือการต่อสู้ จนทำให้ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจหลงลืมความยากลำบากในแต่ละวัน และยังกล่อมด้วยโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ว่า ผู้นำเผด็จการนั้นฉลาด เป็นธรรม และมีเมตตา ไม่มีทางที่จะกระทำการอันใดที่ไม่เป็นธรรม "เว้นแต่" จะเป็นไปเพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์  แต่ภายใต้สภาวะเช่นนั้น ในสังคมก็ยังมีคนที่ไม่ยอมเอาแอกมาสวมคออยู่เสมอ แต่คนเหล่านี้อยู่กันอย่างแตกกระจายไม่อาจรวมกลุ่มกันได้ในสังคมเผด็จการที่ปิดกั้นเสรีภาพต่าง ๆ เผด็จการจึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมความคิดเห็นและการศึกษา เพื่อมิให้อุดมการณ์เช่นนั้นแพร่หลายและรวมตัวกันติด บทความชิ้นนี้ ลา โบเอตี ไม่เคยนำออกเผยแพร่ด้วยตนเอง หลังเรียนจบเขาก็เป็นข้าราชสำนัก และไต่เต้าก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วยความภักดี โดยมิได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่ตรงข้ามอย่างสุดขั้วอย่างเช่นสมัยที่ยังคงเป็นเพียงนักศึกษา  เมอร์เรย์ รอธบาร์ด (Murray Rothbard) นักเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนคำนำให้กับคำแปลบทความชิ้นนี้ของ ลา โบเอตี กล่าวว่า มิเชล เดอ มงแตญ (Michel de Montaigne) มิตรสหายของ ลา โบเอตี ซึ่งเป็นนักปรัชญาที่มีความสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในยุคเรเนซองส์ยืนยันอย่างมั่นใจว่า ลา โบเอตี คือนักอนุรักษนิยมผู้ภักดีในสถาบันกษัตริย์อย่างมั่นคง โดยทั้งคู่มีโอกาสได้พบกันในปี 1559 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายในชีวิตอันแสนสั้นของ ลา โบเอตี ซึ่งเป็นเวลาที่อุดมการณ์ของ ลา โบเอตี เปลี่ยนไปแล้ว  นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบเอกสารชิ้นหนึ่งที่ ลา โบเอตี เขียนขึ้นแต่มิได้ถูกเผยแพร่ และเพิ่งถูกพบภายหลังจากเขาเสียชีวิตนับร้อยปี เป็นเอกสารที่เขาเสนอให้รัฐลงโทษผู้นำนิกายโปรแตสแตนต์ในฐานะกบฏ และบังคับให้นับถือนิกายคาทอลิกทั่วฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันก็เสนอให้มีการชำระระบบที่เสื่อมเสียของคาทอลิกผ่านองค์กรของราชสำนักและศาล ส่วนศาสนิกนิกายโปรแตสแตนต์ก็ให้บังคับกลับมาถือนิกายคาทอลิก ไม่ก็เนรเทศไปเสีย เมอร์เรย์ให้ความเห็นว่า "จริง ๆ แล้วก็มิใช่เรื่องแปลกเลยที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเมื่อเยาว์วัยจะร้อนรนไปกับการแสวงหาอิสรภาพ และแสดงความสุดขั้วอย่างเร่าร้อน ก่อนจะมาลงเอยกับความสุขสบายและเกียรติยศในฝั่งอนุรักษนิยมเมื่อได้ลงหลักปักฐานในหน้าที่การงานที่ผูกพันกับสถานะทางสังคม แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้น ด้วยความเป็นนามธรรมอย่างมากในการให้เหตุผลในบทความวาทกรรมฯ ของเขา ซึ่งอภิปรายด้วยลักษณะที่เป็นเรเนซองส์มาก ๆ ไม่มาพูดถึงปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่างที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ณ เวลานั้น ขณะเดียวกันก็ตั้งทฤษฎีนั้นอย่างเป็นสากลและสุดขั้ว ซึ่งเปิดช่องให้ ลา โบเอตี แม้กระทั่งในช่วงต้นของเขาได้แสดงออกแบบสุดขั้วอย่างจริงใจในโลกแห่งนามธรรม ขณะเดียวกันในโลกแห่งรูปธรรมเขาก็ยังคงความเป็นอนุรักษนิยมเอาไว้ได้ การที่เขาต้องเปลี่ยนความสนใจจากปัญหาในแบบนามธรรมมาสู่ปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยหน้าที่การงานที่ยุ่งวุ่นวาย ย่อมทำให้ความสุดขั้วของเขาหายไปอย่างรวดเร็วราวกับมันไม่เคยมีอยู่มาก่อน"    ไม่ว่า ลา โบเอตี จะมีอุดมการณ์อย่างไร จะเปลี่ยนจุดยืนในภายหลังเมื่อตัวเองตั้งตัวได้ในระบบเดิมหรือไม่ แต่งานเขียนของเขาก็เป็นงานที่ทรงคุณค่า นับเป็นงานชิ้นแรก ๆ ที่เรียกร้องให้ประชาชนขัดขืนอำนาจรัฐ (civil disobedience - มีผู้แปลไว้ว่า อารยะขัดขืน)  โดยอ้างสิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์ และการใช้เหตุผลมากกว่าจารีตคร่ำครึที่เอาไว้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับผู้ปกครอง ซึ่งยังส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน เขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มปรัชญารัฐศาสตร์สมัยใหม่ของฝรั่งเศส