มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้ง SoftBank นักขายฝันแห่งโลกเทคโนโลยี

มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้ง SoftBank นักขายฝันแห่งโลกเทคโนโลยี
ในโลกแห่งเวนเจอร์แคปิตอลและเทคสตาร์ทอัพ ไม่มีใครไม่รู้จัก SoftBank บริษัทผู้ก่อตั้ง Vision Fund กองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประธานบริษัท Softbank ผู้แหกขนบก็คือ มาซาโยชิ ซัน นักธุรกิจลูกผู้อพยพชาวเกาหลี สู่มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของแดนอาทิตย์อุทัย แม้ มาซาโยชิ ซัน (Masayoshi Son) จะอยู่ในวัย 60 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ลงจากตำแหน่งแม่ทัพของ SoftBank บริษัทด้านเทคโนโลยีและการลงทุนที่เขาก่อตั้งมานานเกือบ 4 ทศวรรษ และอยู่ระหว่างอีกห้วงเวลาอันท้าทายเมื่อทั้ง Uber และ WeWork บริษัทสตาร์ทอัพที่เขาเสี่ยงลงทุนก้อนใหญ่มีผลประกอบการที่ไม่น่าพอใจและมีมูลค่าบริษัทลดลงแทนที่จะเพิ่มพูนขึ้น อย่างไรก็ตาม ซันยังมีการลงทุนอื่น ๆ อีกมากกว่า 1,000 บริษัท ทั้งในกองทุน Vision Fund ที่เขาก่อตั้ง และอยู่ภายใต้บริษัท SoftBank ที่ไล่เทกโอเวอร์กิจการจนเติบใหญ่มาหลายสิบปี โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์แห่งแรกของญี่ปุ่น ซันเป็นลูกชายหนึ่งใน 4 คนของผู้อพยพชาวเกาหลี พ่อของเขาเป็นเกษตรกรผู้ทำฟาร์ม ประมง และเปิดร้านอาหารในแถบชนบทของญี่ปุ่น แต่ด้วยโชคชะตาทำให้ซันได้พบกับ เดน ฟูจิตะ ผู้ก่อตั้งเชนร้านแมคโดนัลด์ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้ซันไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา แม้ครอบครัวจะทัดทาน แต่ซันในวัย 16 ปี ยืนยันจะบินไปสหรัฐอเมริกา และเข้าเรียนมัธยมปลายที่โอ๊คแลนด์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนจะสอบเทียบและเรียนจบได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ เขาเลือกต่อปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่ UC Berkeley ซึ่งระหว่างเรียน ซันก็ฉายแววความเป็นผู้ประกอบการด้วยการก่อตั้งบริษัทต่าง ๆ ขึ้นจากความรู้ด้านเทคโนโลยี เขายังมีสมุดจดไอเดียนวัตกรรมที่เขาคิดไว้มากกว่า 250 ไอเดีย หนึ่งในไอเดียเหล่านั้น ซันร่วมกับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เขาชักชวนมาร่วมงาน พัฒนาเป็นเครื่องแปลภาษา 8 ภาษา จากนั้นเขาก็ขายนวัตกรรมนี้ให้กับบริษัท Sharp ที่ญี่ปุ่น มูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในโลกธุรกิจ หลังเรียนจบในวัยอายุ 21 ปี ซันตัดสินใจกลับญี่ปุ่น จากนั้นก็ใช้เวลา 1 ปีครึ่งโดยไม่ได้ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไหนเลย เพื่อยุ่งอยู่กับการค้นคว้าและวิจัยตลาดเพื่อหาไอเดียธุรกิจ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างเดียวในชีวิตที่ซันจะอุทิศตัวให้ “ทุกคนต่างกังวล พวกเขาถามว่าผมจะทำอะไร เพราะผมไปเรียนหนังสือที่สหรัฐฯ ตั้งหลายปี แต่ตอนนี้กลับไม่ทำอะไรเลย ผมใช้เวลาทั้งหมดไปกับการคิดและคิด ศึกษาสิ่งที่จะทำ ผมไปห้องสมุดและร้านหนังสือ อ่านหนังสือทุกอย่างที่จะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสิ่งที่จะทำในอีก 50 ปีข้างหน้า” ซันเล่าถึงความหลัง “บ่อยครั้งที่คนเราตื่นเต้น (กับธุรกิจ) ในช่วงปีแรก ๆ หลังจากนั้นเมื่อพวกเขาเผชิญความจริงก็กลับเหนื่อยกับการทำธุรกิจ ผมต้องการเลือกธุรกิจที่ผมเองจะรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป” ซันคัดสรรจนเหลือ 40 ไอเดียสุดท้ายที่เขาวาดลงกระดาษเพื่อพิจารณาข้อดี ข้อเสีย และศักยภาพกับตัวเอง สิ่งที่เขาค้นหาคือ ธุรกิจที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และจะต้องเป็นบริษัทอันดับ 1 อย่างน้อยก็ในญี่ปุ่นภายในระยะสิบปี รวมถึงเป็นเซ็กเตอร์ที่จะเติบโตในอีก 30-50 ปีข้างหน้าด้วย ชายหนุ่มวัย 24 ปีตัดสินใจแหกขนบ ไม่เดินตามเส้นทางปกติของ ‘ซาลารีมัง’ แต่ตั้งบริษัทขึ้นเองด้วยความฝันและความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ปรากฏเป็น SoftBank บริษัทที่เริ่มต้นเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์รายแรกของแดนปลาดิบ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1981 ที่เมืองฟุกุโอกะ ด้วยออฟฟิศเล็ก ๆ กับพนักงานพาร์ทไทม์เพียง 2 คน [caption id="attachment_13463" align="aligncenter" width="800"] มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้ง SoftBank นักขายฝันแห่งโลกเทคโนโลยี SoftBank มักนำสุนัขสีขาวที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตร เข้าถึงได้ และน่ารัก มาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาเสมอ ๆ (ภาพจาก Facebook: ソフトバンク(SoftBank) )[/caption] ซันเล่าให้ฟังว่าในยุคนั้นคอมพิวเตอร์ยังเป็นเหมือนของเล่นในญี่ปุ่น และบริษัทอื่น ๆ ต่างมุ่งไปที่ฮาร์ดแวร์มากกว่าซอฟต์แวร์ แนวความคิดแรกของซันคือจะเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เอง แต่เมื่อเขาศึกษาตลาดก็พบว่า ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์นั้นมีอยู่แล้วราวสิบกว่าบริษัท แต่กลับไม่มีผู้จัดจำหน่าย ดังนั้น แม้จะมีซอฟต์แวร์ดี ๆ แต่โปรแกรมเหล่านั้นกลับไม่เข้าสู่ตลาด “ใน 5 ปีข้างหน้า เราจะมียอดขาย 75 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นซัพพลายเออร์ให้ดีลเลอร์ 1,000 แห่ง และเป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์” คือสิ่งที่ซันประกาศกับพนักงาน ช่วงเดือนแรก ๆ ซันไม่มีลูกค้าเลย แม้จะออกบูธในงานแฟร์ด้านอิเล็กทรอนิกส์จนเป็นที่ฮือฮาก็ตาม โชคเริ่มเข้าข้าง เมื่อ Joshin Denki บริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับ 3 ของญี่ปุ่นติดต่อมาว่า บริษัทเพิ่งเปิดร้านขายคอมพิวเตอร์ และต้องการหาซอฟต์แวร์ไปขายพ่วงด้วย เมื่อซันได้พบประธานของ Joshin เขากล่าวว่าตัวเองในขณะนี้ยังไม่มีประสบการณ์ แต่มีความตั้งใจจริงและจะอุทิศตัวให้กับเรื่องซอฟต์แวร์เท่านั้น ขณะที่ Joshin ขายทั้งคอมพิวเตอร์ ตู้เย็น ทีวี ฯลฯ SoftBank จะดูแลเรื่องซอฟต์แวร์ให้เอง ความมุ่งมั่นของซันชนะใจบริษัท Joshin Denki เขาได้เป็นตัวกลางจัดหาซอฟต์แวร์มาขายให้ทางร้าน และเมื่อได้ลูกค้ารายสำคัญ การหาลูกค้าร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ก็ไม่ยาก ภายในรอบ 1 ปี SoftBank มีรายได้ทะยานจากเดือนละ 10,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงสิบปีแรกของ SoftBank บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์รายใหญ่ได้จริง โดยมีลูกค้าเป็นดีลเลอร์มากกว่า 10,000 ร้านทั่วประเทศ ปลายทศวรรษที่สองของ SoftBank ซันเริ่มพลิกบริษัทไปสู่ธุรกิจการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เขาตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นเมื่อปี 1999 การลงทุนครั้งสำคัญของเขาคือการตัดสินใจควักกระเป๋า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ Alibaba หลังจากพบกับ แจ็ค หม่า ได้ 5 นาทีเท่านั้น และเงินทุนของเขาก็ทวีมูลค่าขึ้นเป็น 60 ล้านเหรียญ เมื่อ Alibaba เปิดไอพีโอ ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมซันถึงกล้าเสี่ยงในเวลารวดเร็วขนาดนั้น เพราะการใช้สัญชาตญาณวัดแพสชันและวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งธุรกิจ เป็นหลักสำคัญที่ซันยึดมาตลอดบนเส้นทางการลงทุน ธุรกิจของซันเติบโตด้วยดีมาตลอด แต่พายุลูกแรกที่ซันต้องเผชิญมาถึงในปี 2000 เมื่อเกิด ‘วิกฤตดอทคอม’ พัดพาให้บริษัทเทคโนโลยีเข้าสู่วิกฤต ส่งผลถึงนักลงทุนอย่าง SoftBank ที่เกือบล้มละลาย ซันตัดสินใจฝ่าอุปสรรคด้วยการเสี่ยงลดราคาค่าอินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ในปี 2001 เพื่อดึงผู้ใช้  ซึ่งกลยุทธ์นี้ได้ผล ทำให้บริษัทรอดพ้นและสามารถกลับมาทำกำไรได้ แม้จะยังมีหนี้ค้างในบริษัทก็ตาม [caption id="attachment_13467" align="aligncenter" width="2048"] มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้ง SoftBank นักขายฝันแห่งโลกเทคโนโลยี มาซาโยชิ ซัน และ Pepper หุ่นยนต์ของบริษัท (ภาพจาก Facebook: ソフトバンク(SoftBank) )[/caption] SoftBank เข้าสู่ทศวรรษที่สามและสี่กับการลงทุนที่หนักข้อขึ้นอีก เขาทุ่มเงิน 1.75 ล้านล้านเยน ซื้อกิจการ Vodafone Japan ในปี 2006 และใช้กลยุทธ์ตัดราคาอีกครั้งกับการเปิดขายโทรศัพท์มือถือเรือธงอย่างไอโฟนในปี 2008 ที่ส่งให้ SoftBank กลายเป็นเจ้าตลาดอันดับ 3 ในธุรกิจเครือข่ายสัญญาณมือถือ หลังจากนั้นเขายังไล่ซื้อกิจการสำคัญ เช่น Sprint บริษัทโทรคมนาคมอันดับ 3 ณ เวลานั้นของสหรัฐฯ และซื้อ ARM บริษัทออกแบบชิพของอังกฤษ ด้วยราคา 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป ความฝันของซันยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เขาสร้างความฮือฮาให้โลกเทคโนโลยีอีกครั้ง เมื่อประกาศตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล Vision Fund มูลค่าถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2016 “ผมทำการลงทุนโดยยึดวิสัยทัศน์เป็นหลัก ผมเชื่อว่า SoftBank Vision Fund จะเป็นกองทุนแรกที่ลงทุนบนฐานของวิสัยทัศน์อย่างต่อเนื่อง ด้วยสเกลเม็ดเงินในระดับนี้ มันจะเป็นสิ่งมีชีวิตแบบใหม่โดยแท้” ซันกล่าวเช่นนั้น เพราะ Vision Fund พลิกโฉมวิธีการลงทุนแบบซิลิคอน วัลเลย์ ไปเลย แต่เดิมเหล่า VC อื่น ๆ มักลงทุนก้อนเล็ก ๆ ในสตาร์ทอัพระดับเริ่มต้น และทยอยลงเงินเพิ่มเมื่อบริษัทเหล่านั้นเติบโต แต่เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ Vision Fund ถึงจะทำ เพราะบริษัทเลือกลงทุนก้อนมหึมาไม่ต่ำกว่าครั้งละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับสตาร์ทอัพที่โดดเด่นที่สุดในเซ็กเตอร์นั้น ๆ โดยบริษัทที่เลือกลงทุน มีเช่น Uber, WeWork, DoorDash, Slack, PayTM เป็นต้น แต่อีกด้าน Vision Fund กลายเป็นความเสี่ยงครั้งใหม่ให้ SoftBank เมื่อทั้ง Uber และ WeWork ซึ่งเป็นบริษัทหลักที่กองทุนเข้าลงทุนส่อแววถดถอย โดยเฉพาะ WeWork ที่มูลค่าบริษัทลดฮวบจาก 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะได้เปิดไอพีโอตามกำหนดช่วงเดือนกันยายน 2019 และส่งผลต่อเนื่องจนราคาหุ้นของ SoftBank ลดลง 30% ทำให้ซันจำต้องบีบ อดัม นอยมันน์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ WeWork ออกจากตำแหน่งเพื่อลดแรงกดดัน นับเป็นครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสัญชาตญาณของซันอาจผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนซันยังคงไฟแรงและไม่มีทีท่าท้อถอยกับความฝัน แม้กองทุนแรกจะเกิดความผิดพลาดแต่เขาเพิ่งประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กำลังจะตั้งกองทุน Vision Fund 2 เร็ว ๆ นี้ ด้วยมูลค่าที่มากกว่าเดิมเป็น 1.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐ น่าสนใจว่า มาซาโยชิ ซัน จะพา SoftBank ก้าวต่อไปทิศทางไหนในทศวรรษที่ห้า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นของโลกธุรกิจเทคโนโลยี และการตัดสินใจบนฐานของวิสัยทัศน์เฉพาะบุคคลอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาจะส่งผ่านอย่างไรเมื่อเขาลงจากตำแหน่งในอนาคต   ที่มา https://hbr.org/1992/01/japanese-style-entrepreneurship-an-interview-with-softbanks-ceo-masayoshi-son https://www.businessinsider.com/masayoshi-son-softbank-net-worth-lifestyle-silicon-valley-estate-photos-2019-6#the-softbank-ceo-has-also-publicly-met-with-president-donald-trump-on-a-few-separate-occasions-including-at-trump-tower-in-new-york-a-month-after-trump-was-elected-16 https://www.japantimes.co.jp/news/2019/02/07/national/history/masayoshi-son-betting-big-winning/#.XbgM6pozZPY   เรื่อง: Synthia Wong