ความจริงอิงนวนิยาย จากละครเวที “น้ำเงินแท้” แล้วแลมองประวัติศาสตร์

ความจริงอิงนวนิยาย จากละครเวที “น้ำเงินแท้” แล้วแลมองประวัติศาสตร์
อ่าน น้ำเงินแท้ “เช่นเดียวกับนวนิยายเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ผมเขียนเรื่องของชาวน้ำเงินแท้และฝ่ายตรงข้ามด้วยเครื่องมือของนวนิยาย เพราะเชื่อว่าน่าจะทำให้ผู้อ่านเข้าถึงเรื่องขมเฝื่อนของการเมืองได้ง่ายกว่าในรูปสารคดี แน่นอน ย่อมมีความคลาดเคลื่อนเช่นเดียวกับนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ทุกเรื่องในโลก แต่ก็พยายามรักษาความถูกต้องของข้อมูลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” วินทร์ เลียววาริณ กล่าวไว้ในคำนำของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง น้ำเงินแท้ ซึ่งเป็นเรื่องราวของ ต้นแสง สวาดวงศ์ นักเขียนคอลัมน์การเมืองในหนังสือพิมพ์ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ชีวิตผกผัน ไปติดคุกร่วมกับผู้ต้องหาคดีกบฏบวรเดช ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดใด ๆ เลย เพียงเพราะปากกาของเขาด้ามเดียวที่ไปตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ทำให้ชะตาชีวิตเขาต้องเปลี่ยนแปลงไป แม้ในนวนิยายเรื่องนี้จะมีประเด็นชวนอภิปรายได้มาก ตั้งแต่ความพร้อมของการมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในประเทศนี้ การรวมกลุ่มของคณะราษฎร การรัฐประหารครั้งแรกว่าควรนับที่เหตุการณ์ใด การจัดการศึกษาให้ประชาชน ฯลฯ แต่ประเด็นที่จะยกขึ้นมาเพื่อ “รักษาความถูกต้องของข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นจุดท้ายที่คลี่คลายชะตากรรมของต้นแสง และเพื่อนนักโทษการเมืองในคุก อภัยโทษ-นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ในหนังสือของวินทร์เล่าเรื่องว่า ในปี 2487 นอกจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพระราชบัญญัติที่รัฐบาลเสนอไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีอีกเหตุการณ์ที่สำคัญคือ “มีพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมนักโทษการเมือง” วินทร์แต่งว่า มี ส.ส. กลุ่มหนึ่งเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองมาสองเดือนแล้ว แต่เรื่องค้างอยู่ สุนันท์ คนรักของต้นแสง จึงไปขอร้องพระโสทรสงคราม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยนำเรื่องนี้บรรจุในวาระการประชุม และอนุญาตให้ จำปูน แม่ของต้นแสง มากล่าวในสภาถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความฝัน และอุดมคติของต้นแสงและพวก จนในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ยอมผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม และมีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษตามมา เพื่อ “รักษาความถูกต้องของข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” จึงขอนำเสนอกฎหมายที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาจริง ๆ ให้ได้เปรียบเทียบกับเรื่องแต่งที่อิงความจริง โดยในวันที่ 20 กันยายน 2487 มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับหนึ่ง ตามที่คณะรัฐมนตรีของนายควง อภัยวงศ์ เสนอ ดังมีแถลงการณ์ประกอบไว้ด้วยว่า พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้เสนอเรื่องมายังรัฐบาลว่าในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมควรจะพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษการเมืองในคดีกบฏและจลาจล ซึ่งรวมถึงกบฏบวรเดช ที่ต้นแสงและพวกในเรื่องติดคุกอยู่ด้วย รัฐบาลก็เห็นด้วย จึงนำความกราบเรียนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จฯ พิจารณาแล้วเห็น “เปนการสมควนหย่างยิ่ง” จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับนี้ หลังจากนั้น ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2488 จึงมีการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล ตามข้อเสนอของอธิบดีกรมตำรวจที่รัฐบาลเห็นชอบด้วย “เพื่อส่งเสริมการปกครองแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้มั่งคงจำเริญวัฒนายิ่ง ๆ ขึ้น และเพื่อประชาชนชาวไทยทั้งชาติจักได้สมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ผู้สำเร็จฯ จึงตราพระราชกำหนดนี้ขึ้น ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ประชุมกัน อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และมีมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้จนตราเป็นพระราชบัญญัติในวันที่ 3 สิงหาคม 2488 โดยสรุปคือ ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เคยมีการออก “พระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรม” มีแต่การออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ซึ่งตราออกมาเป็นพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการนิรโทษกรรม และการออกกฎหมายอภัยโทษและนิรโทษกรรมนี้ รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการก่อน แล้วจึงนำมาเข้าสภาผู้แทนราษฎรในภายหลัง แม้นี่จะเป็นเรื่องที่อาจดูไม่มีอะไรมากนัก แต่ก็เป็นความคลาดเคลื่อนทั้งในทางแบบพิธีของการออกกฎหมาย และออกจะไม่เป็นธรรมกับฝ่ายรัฐบาลที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกบฏบวรเดชนัก เพราะในตอนต้นเรื่องที่ปูเรื่องนำสู่การจับกุมพวกกบฏ นวนิยายได้ใส่เรื่องจริงเข้าไป แต่ในตอนท้าย ซึ่งฝ่ายรัฐบาล (แม้คนละคณะรัฐมนตรี แต่ก็อาจนับว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามได้อยู่ดี) เป็นผู้คลี่คลายปัญหา นวนิยายกลับละที่จะไม่กล่าวถึง แล้วให้เป็นความดีความชอบของสุนันท์และจำปูนไป ซึ่งออกจะเป็นจินตนาการของผู้แต่งมากกว่าอิงจากเรื่องจริง มากไปกว่านั้น ถ้าผู้เขียนนวนิยายจะมีใจเป็นธรรมแก่ประวัติศาสตร์บ้าง ก็น่าที่จะต้องกล่าวว่า นี่เป็นการประนีประนอมกันอย่างสำคัญของฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายเจ้านาย ตัวอย่างเช่น เมื่อ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เสรีไทยจากอังกฤษ เริ่มติดต่อกับเสรีไทยในประเทศได้ในเดือนสิงหาคม 2486 ทรงถามนายจำกัด พลางกูร ว่านโยบายของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย จะจัดการกับนักโทษการเมืองอย่างไร นายจำกัดได้กราบทูลว่า “จะปล่อยทั้งหมด” ซึ่งก็เป็นจริงในปีถัดมา เป็นต้น “น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล” ดังในการแสดง “น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล” ก็คลี่คลายเรื่องด้วยฉากที่ทั้งสุนันท์และจำปูนได้เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร จนสมาชิกผู้ทรงเกียรติคล้อยตามจนออกกฎหมายให้ปล่อยตัวพวกกบฏได้ นี่ก็ชวนให้ผู้ชมออกจะฉงนอยู่บ้าง ว่าเหตุใดต้องรอให้เนิ่นนานนับสิบปีก่อน ตัวละครจึงได้ดำเนินการเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่ตามเรื่อง เป็นช่วงที่พระโสทรสงครามตกจากอำนาจที่เคยมีมากกว่านี้ในช่วงต้นด้วยซ้ำไป สำหรับการแสดงมิวสิคัลเรื่องนี้ได้ปรับเนื้อหาจากนวนิยายไปบ้าง โดยเน้นที่ความสัมพันธ์ของต้นแสง สวาดวงศ์ ตัวเอกของเรื่องที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายที่เห็นต่างจากคณะราษฎร กับ ประจักษ์ เดชประจักษ์ เพื่อนรักของต้นแสงมาแต่ยังเยาว์ หากแต่มีเส้นทางการเมืองที่แตกต่างกัน และกลายมาเป็นศัตรูกันในแทบทุกทาง จนในที่สุดเรื่องได้คลี่คลายว่า ความฉิบหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับต้นแสง ล้วนแต่มาจากการวางแผนของประจักษ์ทั้งสิ้น แม้เรื่องนี้จะพยายามแสดงว่าอำนาจเป็นของชั่วร้ายที่เปลี่ยนเพื่อนรักให้กลายเป็นศัตรูกันได้ แต่ก็มีข้ออ่อนอยู่บ้างตรงที่ไม่ได้แสดงเหตุจูงใจอะไรทางฝ่ายของประจักษ์ว่าทำไมถึงเลือกตัดสินใจเช่นนั้น ในทำนองเดียวกัน เนื้อเรื่องพยายามแสดงให้เห็นว่า ต้นแสง เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้มีความผิดใด ๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่ได้เป็นกบฏด้วย แต่ต้องติดร่างแหไปกับกบฏด้วย ข้อนี้นับว่าน่าเสียดาย เพราะทำให้ต้นแสงไม่ได้แสดงอุดมการณ์อะไรออกมา และการแสดงถึงชีวิตในคุกก็เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ มากกว่าจะมีบทสนทนาถึงความคิด ความหวัง หรือความฝันถึงอนาคตของประเทศ ทั้งที่ในหนังสือของวินทร์ยังมีบทสนทนาเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง ขณะที่สุนันท์ นางเอกของเรื่อง ถึงจะมีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็มาเป็นผู้คลี่คลายเรื่องให้ต้นแสงได้รับอิสรภาพดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น อย่างไรก็ดี “น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล” เรื่องนี้ ก็ทำให้ผู้วิจารณ์กลับมาสนใจอ่านเรื่อง “น้ำเงินแท้” อีกครั้งจนจบ และเห็นประเด็นใหม่ ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจนัก แม้ผู้วิจารณ์อาจไม่ประทับใจดื่มด่ำไปกับมิวสิคัลเรื่องนี้ แต่ก็ต้องชมเชยว่า เป็นมิวสิคัลที่จุดประกายให้ผู้ชมสนใจศึกษาประวัติศาสตร์กันมากขึ้น และสำหรับผู้ชมที่ไม่ได้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงดังกล่าว ก็อาจทำให้อยากอ่านหนังสือของวินทร์ซึ่งอิงประวัติศาสตร์ เรื่อยไปจนแสวงหาสัจจะในทางประวัติศาสตร์ด้วยตนเองต่อไป ที่มา - พระราชกริสดีกาอภัยโทส พุทธสักราช 2487 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/059/844.PDF) - แถลงการน์กรมโคสนาการ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/059/852.PDF) - พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/027/337.PDF) - พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดฐานกบถและจลาจล พุทธศักราช 2488 พุทธศักราช 2488 (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/042/479.PDF) - น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล (https://www.facebook.com/events/321927865098318/) - ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เพื่อชาติ เพื่อ humanity ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2549), น. 92-93. เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร