โรเบิร์ต กัวะ เขย่าวงการโลจิสติกส์ด้วย Kerry Express

โรเบิร์ต กัวะ เขย่าวงการโลจิสติกส์ด้วย Kerry Express
พูดชื่อ โรเบิร์ต กัวะ (Robert Kuok) คนส่วนใหญ่อาจส่ายหน้าไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดชื่อ Kerry Express หลายคนต้องเคยใช้บริการอย่างแน่นอน เพราะในเมืองไทย Kerry Express เป็น ‘ขารุก’ ท้าชิงส่วนแบ่งในตลาดจัดส่งพัสดุ ขยี้จุดอ่อนของไปรษณีย์ไทยในวงการอี-คอมเมิร์ซ ด้วยการเน้นความรวดเร็ว ขยายจุดรับส่งทั่วไทยราวกับดอกเห็ด ซึ่งทุกวันนี้มีราว 10,000 แห่งทั่วประเทศเข้าไปแล้ว ทดชื่อ โรเบิร์ต กัวะ เอาไว้ก่อน แล้วลองมาดูการเติบโตของ Kerry Express ในไทยกันสักแป๊บ กิจการ Kerry Express ในบ้านเรา อยู่ภายใต้ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2549 การเติบโตของโลกอี-คอมเมิร์ซ ทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตรุดหน้า ถ้าดูในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา Kerry Express สามารถเพิ่มปริมาณส่งพัสดุจาก 10,000 ชิ้นต่อวัน เป็น 1.1 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนรายได้นั้น ในปี 2560 บริษัททำรายได้รวมไปกว่า 6.67 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 733 ล้านบาท แม้จะยังห่างชั้นกับเบอร์ใหญ่อย่าง ไปรษณีย์ไทย ที่ทำรายได้รวม 2.8 หมื่นล้านบาท อยู่หลายเท่า แต่ก็นับเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวจากการชูกลยุทธ์เจาะตลาดอี-คอมเมิร์ซ เป็นหลัก การตีตลาดดังกล่าวโดยเฉพาะ ทำให้ Kerry Express พัฒนาฟังก์ชันที่ตอบโจทย์คนค้าขายมากกว่า เช่น Same-Day Delivery ส่งของในกรุงเทพฯ ได้รับภายในวันเดียว บริการรับของที่จะจัดส่งถึงบ้าน หรือถ้าหากไม่มีผู้รับพัสดุ Kerry จะนัดเวลาเข้าไปจัดส่งให้ใหม่โดยที่ผู้รับไม่ต้องเสียเวลาไปตามหาพัสดุที่ร้านเอง แถมยังสร้างชื่อเรื่องพัสดุที่ได้ไม่ยับย่นแตกหัก ลูกค้าจากไปรษณีย์ไทยจึงหันมาลองของใหม่กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เคล็ดลับของ Kerry Express คือการสร้างเครือข่ายพนักงานส่งพัสดุ ที่มีการวางจำนวนพนักงานให้มากกว่าบริษัทจัดส่งอื่น ๆ เพื่อให้พนักงาน 1 คนดูแลพื้นที่จัดส่งแคบลง มีการส่งต่อของเป็นทอด ๆ มากขึ้น ฟังดูอาจเหมือนช้า แต่ก็ทำให้ของถูกส่งได้เร็วขึ้นด้วย อีกอย่างคือ Kerry Express มีแนวทางการรับเรื่องร้องเรียนคือใช้ ‘คน’ จริง ๆ ในการคุยกับลูกค้าเสมอ และถ้าลูกค้าโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ทีมจะต้องติดต่อกลับให้ได้ภายใน 15 นาที เหล่านี้ก็เพื่อให้ลูกค้าที่กำลังไม่พอใจเปลี่ยนมารู้สึกเย็นลง และชื่อเสียงของบริษัทก็จะไม่กลายเป็นภาพลบในสังคม (แต่ก็มีหลายครั้งที่มีข่าวปรากฏในวงกว้าง เช่น จัดส่งล่าช้า สินค้าแตกระหว่างจัดส่ง พนักงานแกะห่อสินค้าของลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จนบริษัทต้องออกหนังสือขอโทษ) ทั้งนี้ Kerry Express ไม่ใช่บริษัทสตาร์ทอัพ และไม่ใช่มือใหม่ในวงการ เพราะบริษัทแม่ของดาวรุ่งธุรกิจจัดส่งรายนี้คือ Kerry Logistics Network หรือ KLN ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2524 และต่อมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เริ่มต้นจากธุรกิจโกดังสินค้า ก่อนจะขยายไปสู่การขนส่ง first-mile, middle-mile และ last-mile มีทั้งการขนส่งทางเรือและทางบก ปัจจุบันให้บริการใน 53 ประเทศทั่วโลก แต่หากนับเฉพาะ Kerry Express ซึ่งเป็นการขนส่ง last-mile (ขนส่งไปยังลูกค้าปลายทาง) มีบริการอยู่ 8 พื้นที่ คือ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย ไต้หวัน และ ฮ่องกง ในรายงานประจำปี 2561 KLN เปิดเผยว่าบริษัททำรายได้รวม 3.81 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง หรือกว่า 1.48 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 24% จากปี 2560 และทำกำไร 2.87 พันล้านเหรียญฮ่องกง หรือกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2560 โดยธุรกิจ Kerry Express ยังเป็นส่วนรอง คิดเป็นสัดส่วน 20% ของ KLN แต่ก็เป็นธุรกิจสำคัญอย่างยิ่งท่ามกลางกระแสอี-คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในไทยที่ Kerry Express ประกาศว่าตนเองคือเจ้าตลาดอันดับ 2 ของประเทศ และไทยคือตลาดที่โตไวที่สุดของหน่วยธุรกิจนี้ มองภาพให้กว้างยิ่งกว่านั้น KLN เองก็เป็นหน่วยหนึ่งในอาณาจักรธุรกิจของเครือ Kuok Group ที่มีทั้งอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ท อาหารและการเกษตร เดินเรือ ฯลฯ ซึ่งก่อตั้งโดย โรเบิร์ต กัวะ มหาเศรษฐีชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน โรเบิร์ต เกิดเมื่อปี 1923 ที่เมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย ครอบครัวของเขาหนีสงครามจากมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน มาตั้งรกรากที่มาเลเซีย พร้อมมีเงินทองที่หอบหิ้วมาจากจีนเป็นเงินทุนทำร้านขายของชำได้อย่างไม่ขัดสน ครอบครัวกัวะจึงจัดเป็นชนชั้นกลาง และมีเงินพอจะส่งโรเบิร์ตไปเรียนที่ Raffles Institution ในสิงคโปร์ ที่นั่นเขามีเพื่อนร่วมชั้นเรียนคือ ลี กวนยู ซึ่งต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ จากนั้นเขาก็กลับมาเรียนต่อที่บ้านเกิด หลังเรียนจบ โรเบิร์ตทำงานเป็นเสมียนในแผนกค้าข้าวของบริษัทญี่ปุ่นอย่าง Mitsubishi ในช่วงต้นทศวรรษ 1940 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การมุ่งมั่นตั้งใจทำงานและความขยันขันแข็ง ทำให้โรเบิร์ตได้รับการเลื่อนขั้นจนได้เป็นหัวหน้าแผนกค้าข้าว แต่ต่อมาก็ลาออกหลังสงครามสงบ แล้วกลับบ้านมาช่วยกิจการครอบครัว หลังพ่อของเขาเสียชีวิต โรเบิร์ต และพี่ชายทั้งสองคือฟิลิปกับวิลเลียม และญาติ ๆ ร่วมกันก่อตั้ง Kuok Brothers ขึ้นในปี 1949 ทำธุรกิจค้าขายข้าว น้ำตาล และแป้งข้าวสาลี เมื่อกิจการก้าวหน้าก็ก่อตั้ง Kuok Singapore ขึ้นในปี 1953 ส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยและอินโดนีเซีย สามพี่น้องไม่ได้ทำธุรกิจด้วยกันตลอดไป เพราะต่อมาฟิลิปเปลี่ยนเส้นทางอาชีพไปเป็นนักการทูต ส่วนวิลเลียมถูกลอบฆ่าในช่วงสงครามเย็นเนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ โรเบิร์ตจึงต้องเดินต่อเพียงลำพัง แต่เขาก็สามารถขยายกิจการจากการตัดสินใจครั้งสำคัญ โดยในปี 1974 โรเบิร์ตก่อตั้งสำนักงานขึ้นที่ฮ่องกงในชื่อ Kerry Holdings เพื่อเตรียมรับออร์เดอร์จากจีนที่กำลังเปิดประเทศและกำลังขาดแคลนน้ำตาล ความมั่งคั่งจากวงการนี้ทำให้เขาถูกเรียกว่าเป็น ‘ราชาน้ำตาลแห่งเอเชีย’ เลยทีเดียว การย้ายฐานไปฮ่องกง ทำให้โรเบิร์ตเริ่มก้าวสู่ธุรกิจอื่นคืออสังหาริมทรัพย์ เขาเป็นเจ้าของเครือโรงแรมแชงกรี-ลา และตึกสำนักงานต่าง ๆ ภายใต้ชื่อบริษัท Kerry Properties Limited หรือ KPL ที่จะต่อยอดไปสู่วงการโลจิสติกส์ในเวลาต่อมา ในช่วงนี้ โรเบิร์ตเริ่มมีลูกหลานเข้ามาช่วยงาน เขามีลูกทั้งหมด 8 คน จากภรรยา 2 คน โดย กัวะ กุ้น ฮง หลานชายของเขาเป็นผู้แนะนำให้โรเบิร์ตทำธุรกิจน้ำมันปาล์มร่วมกับ มาร์ตัว ซิโตรุส มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ในชื่อบริษัท Wilmar ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ครองตลาดน้ำมันปาล์ม 20-30% ของอินโดนีเซียและอินเดีย และต่อมาโรเบิร์ตยังนำธุรกิจน้ำตาลควบรวมเข้าไว้ใน Wilmar ด้วย ไม่มีการบันทึกว่า Kerry Logistics Network หรือ KLN บริษัทแม่ของ Kerry Express เกิดจากไอเดียของใครในตระกูลกัวะ แต่เราอาจอนุมานได้ว่า การทำธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ย่อมต้องอาศัยโกดังและการขนส่ง และด้วยประสบการณ์ของกลุ่มที่มีธุรกิจอย่างกว้างขวางและมีสายสัมพันธ์อันดีทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และอินโดนีเซีย การต่อยอดธุรกิจให้ครอบคลุมจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายนัก KLN เป็นขาหนึ่งของกลุ่มที่ยังทำรายได้ราว 1 ใน 10 เท่านั้น หากเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Wilmar แต่ KLN หรือ Kerry Express อาจยิ่งใหญ่ได้มากกว่านี้ เพราะในขณะนี้ธุรกิจโลจิสติกส์กำลังเป็นดาวรุ่งยิ่งกว่าปาล์มหรือน้ำตาล หากดูจากเทรนด์การเติบโตของรายได้ ในประเทศไทยเอง Kerry Express ก็เพิ่งรับเงินลงทุนจากการเข้ามาถือหุ้นของกลุ่ม VGI (บริษัทในกลุ่มบีทีเอส) คิดเป็นสัดส่วนหุ้น 23% ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่โฆษณาของ VGI บนรถไฟฟ้าบีทีเอส ทุกวันนี้ โรเบิร์ตผ่องถ่ายงานไปให้ลูกหลานแล้วทั้งหมด โดย กัวะ กุ้น ฮัว บุตรชายคนสุดท้อง วัย 40 ปี เพิ่งจะขึ้นรับตำแหน่งซีอีโอของ Kerry Properties Limited หรือ KPL พ่วงด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของ KLN ซึ่งต้องจับทิศกันอีกครั้งว่าเขาจะวางแนวทางขององค์กรไปในทิศทางใด ตัวโรเบิร์ตเองนั้นเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อน้อยมาก แต่เขาเคยกล่าวกับ South China Morning Post เรื่องการส่งต่อมรดกและธุรกิจให้ลูกหลาน อันเป็นข้อคิดที่ส่งผ่านมาตั้งแต่รุ่นแม่ของเขาดังนี้ “หากลูก ๆ และหลาน ๆ ของฉันสามารถเป็นเหมือนฉันได้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องได้รับมรดกใด ๆ แต่ถ้าหากเขาไม่เป็นเหมือนฉัน แล้วความมั่งคั่งของฉันจะมีประโยชน์อันใดกับพวกเขาเล่า”   ที่มา https://www.kerrylogistics.com/wp-content/uploads/2019/04/e_00636ar_20190430_web.pdf https://www.scmp.com/business/companies/article/1141483/kuok-says-right-heir-his-empire-can-last-four-generations https://readthecloud.co/ceo-kerry-express/ https://www.kuokgroup.com/about https://www.mingtiandi.com/real-estate/agencies-people/kuok-khoon-hua-named-ceo-vice-chair-of-kerry-properties/   เรื่อง: Synthia Wong