‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ บก. ฟ้าเดียวกัน: แผนฟื้นชีวิตบ้านอองโตนี รำลึก ‘ปรีดี พนมยงค์’

‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ บก. ฟ้าเดียวกัน: แผนฟื้นชีวิตบ้านอองโตนี รำลึก ‘ปรีดี พนมยงค์’

‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ บก. ฟ้าเดียวกัน: “ต่อให้แพ้ทางการเมืองก็ชนะในพื้นที่ทางความคิด” กับแผนฟื้นชีวิตบ้านอองโตนี รำลึกถึง ‘ปรีดี พนมยงค์’

บ้านอองโตนี ฝรั่งเศส ที่พำนักสุดท้ายระหว่างลี้ภัยและที่เสียชีวิตของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง บ้านหลังนี้กลับมาเป็นของคนไทยอีกครั้ง เมื่อ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า ซื้อบ้านหลังนี้จากชาวเวียดนาม เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อมาเปิดตัวบ้านครั้งแรกในงาน ‘Faire Revivre la Maison de Pridi คืนสู่บ้านปรีดี’ ที่ ‘บ้านอองโตนี’ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 

โดยธนาธรและครอบครัวได้เชิญทายาทของปรีดี พนมยงค์ พร้อมนักวิชาการอาวุโสที่เคยพบกับปรีดีสมัยยังมีชีวิตอยู่ ร่วมเสวนาเล่าถึงปรีดีและบ้านอองโตนี 

ธนาธร กล่าวถึงเหตุผลหลักในการซื้อบ้านว่า ไม่ใช่เพียงเพื่ออดีตซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่ข้างหลัง แต่เป็นการทำเพื่ออนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า เพราะภารกิจ 2475 ยังไม่จบสิ้น การสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมยังไม่เป็นจริง ขณะเดียวกันฝ่ายปฏิปักษ์ 2475 ต้องการลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรอย่างกระตือรือร้น แต่ไม่ได้ทำให้ 2475 หมดความหมาย 

ทั้งนี้ ธนาธรคาดหวังว่าหลังบูรณะตัวบ้านสถานที่แห่งนี้แล้ว จะสามารถเปิดบ้านอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งพฤษภาคมเป็นเดือนสำคัญที่ปรีดีเกิดและเสียชีวิต รวมทั้ง ‘ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์’ ภริยา ก็เสียชีวิตในเดือนนี้ด้วย

The People สัมภาษณ์ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ บก. ฟ้าเดียวกัน หนึ่งในผู้ร่วมงาน Faire Revivre la Maison de Pridi คืนสู่บ้านปรีดี ผู้ซึ่งธนาธรกล่าวถึงเขาว่า “คนหนึ่งซึ่งพร้อมมาช่วยงานในการปรับปรุงบ้านหลังนี้ ด้วยการนำความรู้ นำเครือข่ายมาช่วยโดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ เป็นเพื่อนของผม เป็นรุ่นพี่ของผม เป็นผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ธนาพล อิ๋วสกุล บก. ฟ้าเดียวกันครับ”

‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ บก. ฟ้าเดียวกัน: แผนฟื้นชีวิตบ้านอองโตนี รำลึก ‘ปรีดี พนมยงค์’

ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ 

ธนาพลเล่าว่า เป็นรุ่นพี่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของธนาธร เรียนต่างคณะ ต่างเวลากัน ไม่ได้เรียนคณะเดียวกันแต่มารู้จักกันในภายหลัง มีกิจกรรมและงานที่ทำร่วมกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะการร่วมกันก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตั้งแต่ปี 2545 สำนักพิมพ์ซึ่งถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคงมาทุกรัฐบาล 

ประสบการณ์ทำข้อมูลเรื่องราวปรีดี พนมยงค์

ในฐานะคนที่สนใจการเมืองไทย ประวัติและผลงานของปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งคณะราษฎรนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ แม้ว่าในช่วงเวลาที่เริ่มศึกษาการเมืองไทยด้วยตัวเองนั้น หนังสือและสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับปรีดีและคณะราษฎรยังมีจำกัด และเป็นหนึ่งในเหตุผลในการมาทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันด้วย 

ส่วนตัวหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมเป็นฝ่ายข้อมูลของคณะกรรมการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา 19 ในช่วงปี 2538 - 2539 เป็นลูกมือ ‘คุณประชา สุวีรานนท์’ ในการจัดทำนิทรรศการ 20 ปี 6 ตุลา 19 ในปี 2539 ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและเห็นพลังของการสื่อสารด้วยนิทรรศการ

ต่อมาได้มีการจัดทำงานฉลอง 100 ปี ปรีดี พนมยงค์ (2443-2543) ในปี 2542 ได้รับการติดต่อให้ไปทำนิทรรศการเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง ก่อนจะถึงครบรอบ ‘100 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์’ ในปี 2543 ด้วยความที่เคยศึกษาข้อมูลของปรีดีและคณะราษฎรมาบ้าง ทำให้คณะกรรมการจัดงานซึ่งมีท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในฐานะที่ปรึกษากรรมการชุดดังกล่าว รับฟังด้วย ท่านก็มีความประทับใจในเนื้อหาและรูปแบบ

ต่อมาเมื่อถึงงานใหญ่ในปี 2543 ทางคณะกรรรมการจัดงาน 100 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ก็ติดต่อมาอีกครั้ง เป็นงานใหญ่ จัดที่ห้องโถงหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาคารรัฐสภา ปรากฎว่าที่หอประชุมใหญ่มีคนมาดูแน่น และหลายเรื่องก็ถือเป็นการเปิดเผยในที่สาธารณะในรูปแบบนิทรรศการเป็นครั้งแรก ๆ เช่น ส่วนที่ว่าด้วย ‘ปรีดีกับกรณีสวรรคต’ ที่แสดงให้เห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร ในคำพิพากษาประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ทั้ง 3 คน คือนายเฉลียว ปทุมรส, นายชิต สิงหเสนีย์ และนายบุศย์ ปัทมะศิรินทร์

และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คุณเครือพันธ์ ปทุมรส ลูกสาวคุณเฉลียว ปทุมรส และคุณชูเชื้อ สิงหเสนีย์ ภรรยาคุณชิต สิงหเสนีย์ ได้มาชมนิทรรศการนี้ด้วย 

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยงานเกี่ยวกับปรีดี พูนศุข ในต่างกรรม ต่างวาระ โดยผ่านทางคุณวาณี พนมยงค์ บุตรสาวคนเล็กของท่านทั้งสอง

ปรีดี เป็นชื่อต้องห้ามในความรับรู้ของคนรุ่นหนึ่ง 

คำว่า ‘ต้องห้าม’ มีหลายระดับ คือ พูดถึงไม่ได้เลย เป็นคอมมิวนิสต์ กับอีกระดับคือ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกลบเลือนไป โดยเฉพาะในฐานะปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ในมุมมองของกลุ่มอุลตรารอยัลลิสต์ ที่เรายังเห็นได้ในปัจจุบันด้วย แม้ว่าต่อมาปรีดีถูกฟื้นฟูในช่วงหลังแล้วก็ตาม

หลังรัฐประหาร 2490 ปรีดีลี้ภัยการเมืองอยู่ในจีน 21 ปี ระหว่าง 21 ปีนั้นกลับเข้ามาในไทยชั่วคราวพยายามทำรัฐประหารโต้กลับคณะรัฐประหาร 2490 แต่ไม่สำเร็จจึงถูกเรียกว่ากบฎวังหลวง 2492 จากนั้นปรีดีอยู่ในจีนยาวนานรวมเวลา 21 ปี จนกระทั่งปี 2513 (1970) ก็ย้ายไปปารีส ซึ่งตอนแรกยังไม่ได้พักที่บ้านอองโตนี เพราะไปอยู่อพาร์ตเมนต์ก่อน

ปรีดีอยู่ที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปลายปี 2513 (1970) กระทั่งวาระสุดท้าย ปี 2526 (1983)

ปรีดีจากไทย ลี้ภัยในจีน

ตอนปรีดีไปจีน เป็นช่วงเวลาสั้น  ๆ ของยุคเจียง ไคเช็ค ก่อนที่จีนจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งปรีดีกับเจียง ไคเช็ค มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะฝ่ายสัมพันธมิตร 

หลังตุลาคม 2492 เมื่อเหมา เจ๋อตุง นำพรรคคอมนิวนิสต์จีนเอาชนะพรรคก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็ค จนเจียง ไคเช็ค ต้องล่าถอยไปอยู่เกาะไต้หวัน อเมริกาเริ่มต้นสงครามเย็นแอนตี้คอมมิวนิสต์ ทำให้ปรีดี ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับอเมริกาก็ถูกมองด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง 

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่ปรีดีอยู่ในจีนเป็นช่วงยุคคอมมิวนิสต์ แม้ตอนเริ่มต้นไม่ได้ไปในช่วงคอมมิวนิสต์ก็ตาม ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อขึ้นมีอำนาจก็ไม่ได้ปฏิเสธปรีดี และให้การรับรองปรีดีในฐานะแขกต่างประเทศคนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย 

ปรีดีย้ายออกจากจีนปี 2513 (1970 ) หลังจากอยู่ในจีนตั้งแต่ก่อนเริ่มการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ และอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวปฏิวัติวัฒนธรรม (2509 - 2519) ด้วย นับว่าปรีดีออกมาจากจีนช่วงต้นของปฏิวัติวัฒนธรรมแล้ว

ปรีดีกับบ้านอองโตนี

ตอนปรีดีไปฝรั่งเศสปี 2513 หลังจากนั้นความเห็นทางการเมืองของปรีดีจึงมีขึ้น เทียบช่วงเวลาการเมืองในไทยคือใช้รัฐธรรมนูญ 2511 แล้ว มีการเลือกตั้ง ปี 2512 แล้ว การเมืองเริ่มคลี่คลายในระดับหนึ่งแล้ว แต่ปรีดีก็ยังไม่ได้กลับประเทศไทย ปรีดีต้องลี้ภัย ต้องมาอยู่เมืองนอกจนตาย บ้านอองโตนีจึงเป็นสัญลักษณ์ ‘คนเห็นต่างจากรัฐ’ บ้านหลังนี้มีสัญลักษณ์ทางการเมืองจำนวนมา

ช่วงปรีดีลี้ภัยในจีน นอกจากหนังสือ ‘ความเป็นอนิจจังของสังคม’ (2500) ซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา มารดาของท่านผู้หญิงพูนศุขแล้ว ปรีดีก็ไม่มีงานเขียนออกมาเลย แม้แต่อัตชีวประวัติ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (ในภาษาฝรั่งเศส) เล่มนี้ออกมาหลังจากปรีดีย้ายไปฝรั่งเศสแล้ว 

‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ บก. ฟ้าเดียวกัน: แผนฟื้นชีวิตบ้านอองโตนี รำลึก ‘ปรีดี พนมยงค์’

ในระหว่างปี 2492 - 2513 การไปเยี่ยมปรีดีที่เมืองจีนยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ใครไปจีนถูกจับทั้งนั้น เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ คดีกบฏสันติภาพ แต่การอยู่ที่ฝรั่งเศสไม่ใช่เป็นเพียงประเทศหนึ่งในยุโรปเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางการเมืองหนึ่งของโลกด้วย ปรีดีมีความเป็นไปได้ที่จะพบปะคนไทย นักเรียนไทยได้มากกว่า รวมทั้งสื่อมวลชนระดับโลกก็เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น 

ร่วมกับธนาธรบูรณะบ้านปรีดี รำลึกถึงผู้ลี้ภัยผู้เห็นต่างจากรัฐ

รู้จักกันกับธนาธรมานาน ชวนกันทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมาก่อน แล้วต่างคนต่างมีเส้นทางกันไป ธนาธรมีเส้นทางธุรกิจ 

ความที่รู้จักกันก็ช่วยกันเรื่องข้อมูลประวัติศาสตร์การเมือง รวมถึงกระบวนการบูรณะบ้านหลังนี้ซึ่งจะมีส่วนที่เป็นนิทรรศการถาวรด้วย นอกจากมีเนื้อหาเล่าว่าปรีดีเคยอยู่อย่างไร ก็จะมีอีกส่วนเป็นสัญลักษณ์ว่ารัฐไทยยังไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง
คนเห็นต่างจากรัฐและถูกกระทำ สถานะต้องลี้ภัยออกจากไทย ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ มีทั้งถูกเนรเทศ ถูกปองร้าย หลายคนถูกจับเข้าคุก 

ปรีดีถูกตามไปยิงที่บ้านทำเนียบท่าช้าง ในเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 มีบันทึกของท่านผู้หญิงพูนศุข นี่คือคนที่ถูกกระทำเช่นกัน ไม่ต่างจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ถูกคนไปยิงในปี 2557 เพื่อหมายเอาชีวิตที่บ้านในไทยเช่นกัน

ปรีดี ต้องลี้ภัยการเมือง ถูกปองร้ายเอาชีวิต ลี้ภัยในจีน 21 ปี ลี้ภัยในฝรั่งเศส 13 ปี จนเสียชีวิตที่ฝรั่งเศส

การรำลึกถึงปรีดี นอกจากบันทึกเรื่องปรีดีแล้ว ยังมีนัยยะถึงผู้ลี้ภัยซึ่งเห็นต่างจากรัฐ จึงเลือกส่วนนี้ไว้ในเนื้อหานิทรรศการด้วย 

นอกจากนั้นเรายังหวังให้พื้นที่บ้านอองโตนีเป็นพื้นที่กลางให้คนพากันออกมาจัดกิจกรรมทางปัญญา กิจกรรมทางวัฒนธรรม ดนตรี ภาพยนตร์ ศิลปะ หรือเป็นพื้นที่กลางให้คนมาเจอกัน 

หวังว่าบ้านอองโตนีจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในแง่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างไร 

เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางความคิด ขณะที่ในประเทศไทยสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร ทั้งปรีดีและจอมพล ป. พิบูลสงคราม สัญลักษณ์เหล่านี้จะถูกไล่ทุบทำลาย เช่น หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์หลักสี่ บ้านจอมพล ป. หรือค่ายทหารที่ถูกเปลี่ยนชื่อ ทั้งที่จอมพล ป. เป็นนายกฯ ช่วงที่ประเทศไทยสร้างอะไรใหม่ ๆ จำนวนมาก 

ถึงแม้คนในคณะราษฎรจะมีช่วงที่แตกหักกัน แต่หลายเรื่องก็ถือว่าเป็นผลงานคณะราษฎร การเมืองยุคคณะราษฎร สร้างอะไรหลายอย่างเพิ่มขึ้นมา นโยบายจอมพล ป. ซื้อที่ดินมาเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของไอเดียคณะราษฎรเรื่องการศึกษา จากเดิมต้องเช่าที่ดิน

กรณีที่ดินจุฬาฯ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ประวัติศาสตร์คือการสู้กันทางความคิด ข้อเท็จจริงคือที่ดินของจุฬาฯ ในปัจจุบันไม่ใช่เป็นที่ดินพระราชทานเพื่อการศึกษา แต่เป็นการให้เช่า จนกระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. ออกกฎหมายเพื่อไปซื้อที่ดินดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬาฯ ถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับกรณีปรีดีซื้อที่ดินกองทัพให้เป็นที่ธรรมศาสตร์ เป็นไอเดียพื้นฐานคณะราษฎรที่ทำเรื่องการศึกษาต้องมีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ไม่ใช่การเช่าที่

ปรีดีกับจอมพล ป.

ความสัมพันธ์จอมพล ป. กับ ปรีดี มีความร่วมมือกันมากกว่าแตกหักกัน ทั้ง 2 คนเป็นนักเรียนฝรั่งเศส ไปวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองกันที่ฝรั่งเศส ข้อเท็จจริงคือ จอมพล ป. กับปรีดี เป็นกลุ่มเดียวกัน ร่วมมือกัน 

จุดแตกหักครั้งแรก ความเห็นไม่ตรงกันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. เป็นรัฐบาล ส่วนปรีดีตั้งเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น มีการล้มรัฐบาลจอมพล ป. โดยรัฐสภา คือปรีดี เปลี่ยนนายกฯ จาก จอมพล ป. เป็น ควง อภัยวงศ์ ผ่านสงครามโดยไทยไม่แพ้ 

ส่วนจอมพล ป. ไปติดคุกอยู่ช่วงหนึ่งในฐานะอาชญากรสงคราม ตอนหลังได้ออกมาเพราะตีความใช้กฎหมายย้อนหลังไม่ได้ จอมพล ป. หมดอำนาจไปช่วงหนึ่ง 

หลังจากนั้น จอมพล ป. ไปจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาทำรัฐประหารล้มปรีดี 2490 จอมพลผิน ชุณหะวัณ ไปเชิญจอมพล ป. กลับมา ยุคนี้ปรีดีก็ลี้ภัย 

ต่อมาช่วงปลายจอมพล ป. ก็ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง จอมพล ป. กับ ปรีดี พยายามกลับมาร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่ง มีท่านผู้หญิงพูนศุขกลับมาก่อน จอมพล ป. พยายามจะทำให้ปรีดีได้กลับมาไทย มาร่วมมือกันต่อต้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กับฝ่ายอุลตรารอยัลลิสต์ แต่ก็ไม่ทัน เพราะเกิดรัฐประหาร 16 พฤศจิกายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ชิงรัฐประหารตัดหน้า ก่อนที่ปรีดีกับจอมพล ป. จะจับมือกัน 

จอมพล ป. เสียชีวิตที่ญี่ปุ่นปี 2507 ปรีดีเสียชีวิตที่ฝรั่งเศส ปี 2526

ประวัติศาสตร์คือการต่อสู้

ความรับรู้ประวัติศาสตร์ของแต่ละฝ่ายมีขึ้นมีลงอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับใครผลิตข้อมูลความรู้ไว้มากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าเวลาจะมาถึงก็มาเอง เช่น ความพยายามของพรรคการเมืองที่จะชำระหลักสูตรใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงวันนั้น เราก็เตรียมข้อมูลไว้ก่อนล่วงหน้าเลย เหมือนปี 2563 หนังสือหลายเล่มเคยพิมพ์ก่อนหน้านั้นเป็น 10 ปี คนยังเอากลับมาอ่าน 

ไม่ใช่บอกว่าต้องชนะทางการเมืองก่อนแล้วค่อยมาทำข้อมูลความรู้ เราสามารถทำพร้อมกันได้ ต่อให้แพ้ทางการเมืองก็ชนะในพื้นที่ทางความคิด พื้นที่ทางวิชาการทางประวัติศาสตร์ได้