‘ไล่ชิงเต๋อ’ จากลูกชายคนงานเหมือง สู่ประธานาธิบดีไต้หวันผู้ยืนหยัดในหลักประชาธิปไตย

‘ไล่ชิงเต๋อ’ จากลูกชายคนงานเหมือง สู่ประธานาธิบดีไต้หวันผู้ยืนหยัดในหลักประชาธิปไตย

เรื่องราวของ ‘ไล่ชิงเต๋อ’ ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ผู้ยืนหยัดในหลักเสรีภาพ – ประชาธิปไตย ท่ามกลางความร้อนระอุทางการเมืองระหว่างจีน - ไต้หวัน

  • ไล่ชิงเต๋อ หรือที่บางคนเรียกว่า ‘วิลเลียม ไล่’ เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงาน ที่สูญเสียบิดาจากเหตุการณ์เหมืองถล่ม เขาจึงเติบโตมาโดยมีมารดาเป็นแบบอย่าง และได้นิสัยมุมานะขยันหมั่นเพียรมาจากมารดาที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวลูก 6 คน 
  • ไล่ชิงเต๋อสอบติดแพทย์ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของไต้หวัน หลังจากนั้นจึงบินไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสาธารณสุข ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา และจบออกมาทำงานรักษาคนไข้ในบ้านเกิด
  • เหตุผลที่ทำให้เขาเลือกหันหลังให้อาชีพหมอ และมาทำงานการเมืองเต็มตัวว่า เกิดจากท่าทีของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปฏิบัติกับไต้หวันแบบไม่ให้เกียรติ

หากจะมีผู้นำชาติใดในเอเชียที่กล้า ‘กระตุกหนวดมังกร’ ขัดใจพี่ใหญ่อย่างจีน โดยไม่สนคำขู่ใด ๆ เขาคนนั้นคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากชายที่ชื่อ ‘ไล่ชิงเต๋อ’ (Lai Ching-te) ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน

ไล่ชิงเต๋อ หรือที่บางคนเรียกว่า ‘วิลเลียม ไล่’ (William Lai) ฝ่าด่านอรหันต์ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน ด้วยการชนะการเลือกตั้งครั้งสำคัญซึ่งทั่วโลกจับตา เนื่องจากเชื่อว่า อาจเป็นการชี้ชะตาระหว่าง ‘สงคราม’ กับ ‘สันติภาพ’ หลังจากกรุงปักกิ่งพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดไม่ให้เขาขึ้นสู่อำนาจ ทั้งส่งคนไปช่วยคู่แข่งหาเสียง ซ้อมรบโชว์แสนยานุภาพ และขู่ใช้กำลัง ‘รวมชาติ’ หากไต้หวันเลือกชายคนนี้เป็นผู้นำ

ในสายตาของจีน ไล่ชิงเต๋อไม่ต่างจาก ‘กบฏแบ่งแยกดินแดน’ ที่ต่อต้านอำนาจกรุงปักกิ่ง ซึ่งมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่สำหรับชาวไต้หวันส่วนใหญ่แล้ว เขาคือคุณหมอผู้เสียสละ ยอมละทิ้งหน้าที่การงานอันมั่นคง หันมาลงการเมืองเพื่อปกป้องหลักการแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย

เหมืองถล่มทำให้กำพร้าพ่อตั้งแต่แบเบาะ

ไล่ชิงเต๋อ เกิดวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1959 ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘นิวไทเปซิตี้’ ทางตอนเหนือของไต้หวัน ภูมิหลังของเขามาจากครอบครัวฐานะยากจนกว่าประธานาธิบดีไต้หวันคนก่อนหน้าทั้ง 2 คน ไม่ว่าจะเป็น ‘หม่าอิงจิ่ว' (Ma Ying-jeou) หรือ ‘ไช่อิงเหวิน’ (Tsai Ing-wen)

‘วิลเลียม ไล่’ เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงาน พ่อของเขาเป็นคนงานเหมืองถ่านหิน ขณะมีอายุเพียง 2 ขวบ เขาต้องสูญเสียบิดาที่เป็นเสาหลักของครอบครัวไปจากเหตุการณ์เหมืองถล่ม ทำให้นอกจากจะกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อ ภาระในการเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้งหมด 6 คนในครอบครัว ยังตกไปอยู่ที่แม่ของเขาเพียงลำพัง

ครอบครัวของไล่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ใกล้กับเหมือง เขาเติบโตมาโดยมีมารดาเป็นแบบอย่าง และได้นิสัยมุมานะขยันหมั่นเพียรมาจากมารดาที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวลูก 6 คน 

แม่ของเขาคอยเลี้ยงดูและส่งเสียลูก ๆ จนไล่ชิงเต๋อสอบติดแพทย์ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของไต้หวัน หลังจากนั้นจึงบินไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสาธารณสุข ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา และจบออกมาทำงานรักษาคนไข้ในบ้านเกิด

คนสนิทของเขาเล่าว่า ไล่ชิงเต๋อไม่เคยลืมบุญคุณมารดา และทุกครั้งที่เขาพูดถึงแม่ ดวงตามักแดงกล่ำ มีน้ำตาคลอ เพราะคิดถึงผู้บังเกิดเกล้า

ทิ้งเข็มฉีดยามาลุยงานการเมือง

ไล่ชิงเต๋อเปิดเผยเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกหันหลังให้อาชีพหมอ และมาทำงานการเมืองเต็มตัวว่า เกิดจากท่าทีของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปฏิบัติกับไต้หวันแบบไม่ให้เกียรติ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1996 ระหว่างที่ไต้หวันเปิดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงครั้งแรก หลังจากตกอยู่ใต้อำนาจระบอบเผด็จการทหารภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเชก มาเป็นเวลานานหลายสิบปี

ในช่วงใกล้เลือกตั้ง กองทัพจีนพยายามขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย ด้วยการระดมยิงจรวดไปตกในทะเลใกล้กับเกาะไต้หวัน หวังข่มขู่ให้คนไต้หวันลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่เป็นมิตรกับกรุงปักกิ่งมากกว่า

ขณะนั้นแม้ไล่ชิงเต๋อจะสนใจการเมืองและสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยมและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนอยู่แล้ว แต่ความพยายามแทรกแซงการเมืองไต้หวันของจีนครั้งนั้น ทำให้เขาทนไม่ไหวต้องกระโจนออกหน้าลงสนามเลือกตั้งด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก

“ผมตัดสินใจทันทีว่า มันเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องเข้าร่วมกระบวนการประชาธิปไตยของไต้หวัน และช่วยปกป้องการทดลองที่เพิ่งผลิบานนี้จากเงื้อมมือของพวกที่จ้องทำลายมัน” ไล่เขียนเปิดใจในหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล

เส้นทางการเมืองของผู้กล้าท้าทายจีน

ปี 1996 ไล่ชิงเต๋อ ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงสนาม และได้รับเลือกเป็น ส.ส. ซ้ำอีก 4 สมัย ก่อนตัดสินใจขยับไปลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าการเมืองไถหนานในปี 2010 และอยู่ในอำนาจนานถึง 7 ปี

จากนั้นในปี 2017 ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ประกาศแต่งตั้งไล่ชิงเต๋อ เป็นนายกรัฐมนตรีของไต้หวัน และทำหน้าที่นั้นจนถึงปี 2019 ก่อนจะยื่นใบลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ หลังพรรค DPP ของเขากับไช่อิงเหวิน แพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างย่อยยับ

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของไช่อิงเหวินเมื่อปี 2020 เธอเลือกไล่ชิงเต๋อ มาเป็นคู่หูในตำแหน่งรองประธานาธิบดี และทั้งคู่ก็ชนะการเลือกตั้ง ได้ทำหน้าที่บริหารประเทศจนครบวาระ

หลังจากนั้นเมื่อไช่อิงเหวิน ต้องก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะกฎหมายห้ามทำหน้าที่เกิน 8 ปี หรือ 2 วาระ ไล่ชิงเต๋อ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค DPP จึงลงสมัครประธานาธิบดีเพื่อสืบทอดตำแหน่งดังกล่าว

สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่

ไล่ชิงเต๋อ ในวัย 64 ปี สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2024 ด้วยการพาพรรค DPP ชนะการเลือกตั้งติดต่อกัน 3 สมัยได้เป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้นับตั้งแต่เปิดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรง ผู้นำไต้หวันที่มาจากพรรค DPP กับพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ฝั่งอนุรักษนิยม ต่างสลับกันชนะและไม่เคยมีพรรคไหนได้ปกครองประเทศต่อเนื่องกันนานเกิน 8 ปี

อย่างไรก็ดี ชัยชนะของไล่ชิงเต๋อทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า อาจเพิ่มความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันจนปะทุเป็นสงคราม หลังจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เพิ่งออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวก่อนการเลือกตั้งว่า การรวมชาติกับไต้หวันเป็น ‘สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์’

รัฐบาลกรุงปักกิ่งแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยากให้ ไล่ชิงเต๋อชนะเลือกตั้ง โดยเรียกเขาด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า ‘พวกแบ่งแยกดินแดน’ ‘มีแนวคิดชอบเผชิญหน้า’ และ ‘อันธพาลสุดโต่ง’ ขณะที่ไล่ชิงเต๋อเคยเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนทำงานอิงโลกความจริงเพื่ออิสรภาพของไต้หวัน’ (pragmatic worker for Taiwan independence) 

แม้ในอดีตที่ผ่านมา ไล่ชิงเต๋อจัดเป็นนักการเมืองฝีปากกล้าที่ไม่ปิดบังว่าอยากให้ไต้หวันเป็นเอกราช แต่ระหว่างการหาเสียง ตลอดจนหลังได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เขาเลือกใช้คำพูดอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยยืนยันว่าจะสานต่อนโยบายเดิมจากยุคของรัฐบาลไช่อิงเหวิน

นโยบายที่ว่าคือการไม่ปิดช่องทางเจรจาเพื่อกระชับสัมพันธ์กับจีน แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของการเคารพซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันก็พยายามยกระดับความสัมพันธ์กับชาติอื่นที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพื่อตอกย้ำจุดยืนที่ ‘ไล่ชิงเต๋อ’ ยึดมั่นมาตลอดว่า ไต้หวันบ้านเกิดของเขาต้องมีเสรีภาพและประชาธิปไตย

 

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
ภาพ : Getty Images

อ้างอิง:

Who is Lai Ching-te, the leader in Taiwan’s presidential race? / www.economist.com

Lai Ching-te, the miner's son who staunchly defends Taiwan's sovereignty / https://asia.nikkei.com

The three men vying to be Taiwan's next president / www.bbc.com