อุทัย พิมพ์ใจชน “โดนปาขี้ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย” เป็น ‘นักการเมือง’ ต้องแกร่งเหมือน ‘เหล็ก’

อุทัย พิมพ์ใจชน “โดนปาขี้ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย” เป็น ‘นักการเมือง’ ต้องแกร่งเหมือน ‘เหล็ก’

‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ นักการเมืองที่เคยถูก ‘ปาขี้’ ใส่หน้า ยึดคติ นักการเมืองกว่าจะแข็งแกร่งเหมือนเหล็ก ต้องผ่านความร้อนหลายพันองศา

  • ระหว่างที่อุทัยแถลงข่าวชี้แจงกรณีพักราชการปลัดกระทรวงพาณิชย์ ทันใดนั้น ‘ธนิต สุวรรณเมนะ’ ได้หยิบถุงพลาสติกที่บรรจุอุจจาระขว้างใส่หน้าอุทัย โดยให้เหตุผลว่า ทนไม่ได้ที่เห็นคนดีถูกรังแก
  • อุทัยเคยเป็นผู้แทนราษฎรหนุ่มผู้ห้าวหาญฟ้องร้องรัฐบาล ‘จอมพลถนอม’ เนื่องจากทำการรัฐประหาร เคยเป็นประธานสภา 3 ครั้ง และได้ชื่อว่าเป็นประธานสภาอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ และไม่ว่าจะอายุมากเพียงใด เขายังคงออก
  • มาสนับสนุนคนหนุ่มสาวอยู่เสมอในหนังสือ ‘พิมพ์ไว้ในใจชน’ มีข้อมูลที่ระบุว่า อุทัย พิมพ์ใจชน เคยปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ข้อมูลนี้ถูกเล่าผ่าน ‘คนสนิท’ ไม่เปิดเผยชื่อ

“มีคนคนหนึ่งเอาขี้มาปาหน้าผม” อุทัย พิมพ์ใจชน กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2537 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เขาถูกชายคนหนึ่งนำถุงพลาสติกบรรจุอุจจาระขว้างใส่หน้า

“การโดนปาขี้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย” อุทัยบอก “ชีวิตของผมใกล้ความตายก็หลายครั้ง ตอนที่โดนจับขังคุกผมก็คิดว่าคงตายเสียแล้ว และเมื่อรอดชีวิตมาได้ ผมก็ถือว่าชีวิตที่เหลือเป็นกำไร”

‘เหตุการณ์ปาขี้’ เกิดขึ้นหลังจากอุทัยสั่งพักราชการ ‘พชร อิศรเสนา ณ อยุธยา’ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก่อนหน้านี้พชรถูกบริษัท ฮาร์ท ออยส์ สยามอิมปอร์ต จำกัด ยื่นฟ้องข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบโดยกลั่นแกล้งยุติใบอนุญาตค้าน้ำมันตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ค้าน้ำมัน พ.ศ. 2521 โดยศาลรับฟ้อง จึงเป็นเหตุให้อุทัยพักราชการพชร

ต่อมาคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีมติให้อุทัยยกเลิกคำสั่งพักราชการ แต่อุทัยไม่ปฏิบัติตาม พชรจึงฟ้องศาลให้ลงโทษรัฐมนตรีในข้อหาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2537 แต่อุทัยยกเลิกคำสั่งพักราชการพชรในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2537 เขาให้เหตุผลว่า พชรจะเกษียณในสิ้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2537 จึงอยากให้เป็นเกียรติเกษียณในราชการ

ระหว่างที่อุทัยกำลังแถลงข่าวชี้แจงเรื่องดังกล่าว ทันใดนั้น ‘ธนิต สุวรรณเมนะ’ ได้หยิบถุงพลาสติกที่บรรจุอุจจาระขว้างใส่หน้าอุทัย ชายหนุ่มผู้นี้ให้เหตุผลว่า ทนไม่ได้ที่เห็นคนดีถูกรังแก

แต่สำหรับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มองว่า “การย้ายข้าราชการก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ไม่ว่าข้าราชการคนนั้นจะใหญ่แค่ไหนก็แล้วแต่ เพราะข้าราชการก็คือเครื่องมือในการบริหารประเทศ”

นี่คือมูลเหตุทั้งหมดของเหตุการณ์ ‘ปาขี้’ ที่แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สังคมยังคงจดจำ แต่ความจริงแล้ว เส้นทางบนถนนการเมืองของอุทัยมีท่วงทำนองและเรื่องราวน่าจดจำมากกว่าเรื่อง ‘ปาขี้’

เขาเคยเป็นผู้แทนราษฎรหนุ่มผู้ห้าวหาญฟ้องร้องรัฐบาล ‘จอมพลถนอม’ เนื่องจากทำการรัฐประหาร เคยเป็นประธานสภา 3 ครั้ง และได้ชื่อว่าเป็นประธานสภาอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ และไม่ว่าจะอายุมากเพียงใด เขายังคงออกมาสนับสนุนคนหนุ่มสาวอยู่เสมอ

“ผมได้ยินคำพูดมานานว่า นักการเมืองกว่าจะแข็งแกร่งได้เหมือนเหล็กที่ต้องผ่านความร้อนหลายพันองศา จึงเป็นเหล็กกล้าที่แข็งแกร่ง” อุทัยกล่าว

นักการเมืองหนุ่มฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจร ข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญ

อุทัย พิมพ์ใจชน เป็น สส. ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในตอนนั้นเขาเป็น สส. หนุ่มผู้มีอายุน้อยที่สุดในสภา แต่ประตูของคนหนุ่มถูกปิดลงหลังจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารยึดอำนาจตนเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พร้อมกับประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ยกเลิกคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และพรรคการเมือง  

ในฐานะ สส. จังหวัดชลบุรี อุทัยกับเพื่อน สส. อีก 2 คน (อนันต์ ภักดิ์ประไพ สส. จังหวัดพิษณุโลก และบุญเกิด หิรัญคำ สส. จังหวัดชัยภูมิ) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจอมพลถนอมกับพวก รวม 17 คน ต่อศาลอาญาในข้อหาความผิดฐานกบฏ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2515         

“ที่ผมฟ้องเขาไม่ใช่เพราะอยากดัง ไม่ใช่เพราะอยากหาคะแนนเสียง แต่ผมฟ้องเพราะทนไม่ได้กับรัฐบาลเผด็จการ มันไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เขาทำ ผิดกฎหมายเห็น ๆ แต่ไม่มีใครกล้าออกมาต่อต้าน” อุทัยกล่าวถึงมูลเหตุในการฟ้อง

“ตายก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้ฟ้อง ตายก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้ฟ้อง” อุทัยย้ำ

สส. หนุ่มในเวลานั้นเห็นว่าคณะรัฐประหารใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญประชาชนเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ สั่งกำลังทหารติดอาวุธไปประจำการตามจุดสำคัญ ในคืนวันเดียวกัน จอมพลถนอมยังประกาศให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ล้มอำนาจนิติบัญญัติ ทำให้ผู้แทนราษฎรไม่อาจไปประชุมสภาเพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากปวงชนชาวไทยได้

ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาหมายเลขแดงที่ 1295/2515 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2515 ‘ไม่รับคำฟ้อง’ ไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ทั้ง 3 คนไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

“เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสียหาย หรือมีสิทธิฟ้องคดีในประเภทใดได้โดยเฉพาะแล้ว ผู้แทนราษฎรก็ไม่มีสิทธิเช่นนั้น” ศาลระบุ

หลังจากศาลอาญายกฟ้อง คณะปฏิวัติของจอมพลถนอมออกคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ให้ลงโทษจำคุก อุทัย พิมพ์ใจชน 10 ปี และให้จำคุกนายอนันต์ และนายบุญเกิด คนละ 7 ปี ข้อหา “บิดเบือนความจริง เพื่อต้องการให้ศาลอาญารับฟ้อง เพราะต้องการใช้กระบวนการพิจารณาของศาลกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าคณะปฏิวัติเป็นกบฏอยู่ตลอดไป มุ่งหวังให้ประชาชนเคลือบแคลงใจในฐานะของคณะปฏิวัติ”

“เราไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูงหรือทะเยอทะยานเพื่ออยากจะกลับมารับตำแหน่งทางการเมืองอีก แต่เราทนไม่ได้ที่พวกนี้เอาประชาชนไปเป็นทาส” อุทัยระบุ

“จะต้องต่อสู้เพื่อประชาชน แต่ตรงไหนคือการต่อสู้ ถ้ามีการเลือกตั้งเราจะไปพูดอะไรกับประชาชนว่าเราต่อสู้แล้ว อย่างไรคือการต่อสู้ บอกให้เลือกข้าพเจ้าแล้ว ตอนนี้เขารังแกชาวบ้าน แต่เราไม่ทำอะไรเลย คราวหน้าเราไปหาเสียง เราจะมีหน้าอะไรไปพูดกับชาวบ้านว่า เราต่อสู้เพื่อประชาชน ตอนนี้บ้านเมืองอยู่ในยุคมืด คนปฏิวัติกดขี่ประชาชน อาวุธเราก็ไม่มี ก็สู้โดยใช้ความรู้” อุทัยกล่าว

อุทัยและเพื่อน สส. อีก 2 คน ถูกจองจำในคุกบางขวางเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เนื่องจากภายนอกเรือนจำ นิสิต นักศึกษา และประชาชนได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขับไล่ถนอม - ประภาส - ณรงค์ ก่อนจะถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

ระหว่างถูกจองจำมีการเตรียมการนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองทั้ง 3 คน แต่อุทัยบอกว่าการนิรโทษกรรมคือการพิพากษาว่าเขา ‘ผิด’ ที่ฟ้องร้องคณะรัฐประหาร เขาจึงไม่ยอมออกจากบางขวาง

หลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ออก พ.ร.บ. ให้ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2517 ให้ปล่อยตัวทั้ง 3 คน และให้ถือว่าทั้ง 3 คนนั้นมิได้กระทำความผิดและมิเคยต้องโทษตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ

พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังระบุเหตุผลด้วยว่า การฟ้องร้องของทั้ง 3 คนเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและเป็นการแสดงความคิดเห็นตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทุกคน การใช้สิทธิฟ้องร้องคดีต่อศาลยุติธรรม ย่อมจะถือเป็นการกระทำความผิดมิได้

ประธานสภาหนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์

อุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 3 ครั้ง ครั้งแรกปี 2519 ครั้งที่สองปี 2526 ครั้งที่สามปี 2544 ในตอนที่เป็นประธานสภา ปี 2519 อุทัยมีอายุเพียง 36 ปี

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. 2519 เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 อุทัยได้รับการเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ อุทัยได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

“เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญเลยนะ ประธานสภาต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะเป็น คุณวางตัวเป็นกลางได้ไหม ถ้าคุณคิดว่าคุณทำได้ คุณก็เป็นได้” อุทัยกล่าวในอีกหลายปีต่อมาในวันที่ปลดเกษียณตัวเองจากการเมืองของอดีต มองมายังการเมืองไทยร่วมสมัย

แต่ความเป็นกลางเป็นสิ่งไม่เที่ยง มันขึ้นอยู่กับมุมมองของสายตาผู้มองมา

“ประธานสภาจะต้องถูกข้อหาตลอด แต่ว่าเรื่องถูกข้อหาประธานสภาจะต้องไม่ไปหวั่นไหว ต้องรู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไร การทำหน้าที่ควบคุมการประชุมสภาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำอย่างไรให้เรียบร้อย ในสภานั้นมีทั้งคนพูดดุเดือด คนพูดหยาบคายก็มี พูดแบบนักเลงโตก็มี อย่างนี้จึงอาจจะมีวางมือวางมวยกัน ในต่างประเทศก็มีเยอะแยะ ประธานสภาจะทำอย่างไรให้เหตุการณ์แบบนี้มันไม่เกิดขึ้นในที่ประชุมสภา”

นอกจากทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง กลางทั้งใจและกิริยา อุทัยยังเปรียบเทียบหน้าที่ของประธานสภาเป็นเหมือนบทบาทของ ‘คอนดักเตอร์’

“ประธานสภาเหมือนคอนดักเตอร์ เวลามีประชุมก็เหมือนดนตรีกำลังเล่นให้ประชาชนดู เล่นให้ประชาชนฟัง ถ้าดนตรีไพเราะ จังหวะเพลงเร้าใจ คนก็เห็นชอบ แต่ถ้าดนตรีจังหวะอ่อย เอื้อน อ้อยสร้อย บรรยากาศควรจะอ่อนอ้อยสร้อย ทำอย่างไรให้เข้ากับบรรยากาศได้ ถ้าบรรยากาศดุเดือดตลอด คนประชุมเครียด มันก็วุ่นวาย อ้อยสร้อยตลอด มันก็น่าเบื่อ นั่งหลับอะไรอย่างนี้ จะทำอย่างไรให้ที่ประชุมตื่นเต้นแล้วก็ไม่ถึงกับว่าต้องดุเดือดเกินไป แต่ก็ต้องมีดุเดือดบ้าง เพราะคนที่มาประชุมก็มาถ่ายทอดอารมณ์ในที่ประชุมเอา อารมณ์ของชาวบ้านมาปล่อย”

จากการนั่งทำหน้าที่ประธานสภา อุทัยมองเห็นอารมณ์ของราษฎรในกิริยาของผู้แทนฯ เพราะผู้แทนราษฎรคือผู้แทนอารมณ์ราษฎร

แอนตี้เผด็จการทั้งกาย วาจา ใจ

ในหนังสือ ‘พิมพ์ไว้ในใจชน’ มีข้อมูลที่ระบุว่า อุทัย พิมพ์ใจชน เคยปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ข้อมูลนี้ถูกเล่าผ่าน ‘คนสนิท’ ไม่เปิดเผยชื่อ

หลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่บรรยากาศในสภาประหนึ่งไม่มีคอนดักเตอร์

“สภามีสมญาว่า ‘ฤาษีเลี้ยงลิง’ นั่นแหละ ตอนนั้นสภาวุ่นวายมาก อาจารย์เสนีย์ก็ทำท่าว่าจะคุมสภาไม่อยู่ ทหารก็จะปฏิวัติ ก็มี สส. กลุ่มหนึ่งเข้าชื่อกันที่จะเสนอให้อุทัยเป็นนายกฯ แทนอาจารย์เสนีย์ ท่านก็ไม่ยอมรับ ท่านให้เหตุผลว่า ถ้าเกิดท่านขึ้นมาตอนนี้ คนเขาจะมองว่าท่านเป็นคนทะเยอทะยาน พอเป็นประธานสภาได้ ก็จะทะเยอทะยานอยากจะเป็นนายกฯ”  

ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการรัฐประหารนำโดย ‘พลเรือเอกสงัด ชลออยู่’ ปิดบทบาทประธานสภาผู้อายุน้อยที่สุด และเกือบจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุด ก่อนที่ชื่อของอุทัย พิมพ์ใจชน จะตกเป็นที่สนใจอีกครั้งของคณะรัฐประหารกลุ่มยังเติร์ก

“พวกเขาคุมกำลังพลได้ทั้งหมด ยกเว้นผู้นำพลเรือนที่จะขึ้นมาเป็นนายกฯ พวกเขายังไม่มีตัวบุคคล เลยติดต่อท่านบอกว่า ตอนนี้เขาพร้อมแล้วที่จะปฏิวัติ แต่ขาดผู้นำพลเรือนที่เป็นนายกฯ ขอให้ท่านรับได้ไหม ท่านก็เลยบอกว่า ผมต้องสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด อยู่กับระบอบประชาธิปไตยที่ต่อต้านเผด็จการมาตลอด แล้วจู่ ๆ ผมจะขึ้นมามีอำนาจโดยที่พวกคุณรัฐประหาร มันก็เหมือนลักษณะ ว่าแต่เขาอิเหนาทำเอง ผมรับไม่ได้”

หลายปีต่อมา อุทัยเปิดเผยเรื่องนี้ด้วยตนเอง

“ผมลงเลือกตั้ง ผมแอนตี้เผด็จการ เผด็จการเคยจะแต่งตั้งผมไม่ต่ำกว่าสองครั้ง ผมไม่เคยรับ ถ้าผมรับผมเป็นนายกฯ ไปนานแล้ว ผมไม่รับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผมก็ไม่สมัคร ผมแอนตี้รัฐธรรมนูญโดยไม่สมัครผู้แทนมาแล้ว ทั้งที่ถ้าสมัครก็ได้ที่หนึ่ง เพราะผมเชื่อและผมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย”

อุทัยเคยไม่ลงสมัครเลือกตั้งเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สว. มาร่วมประชุมกับ สส. ได้ และมีสิทธิยกมือโหวตเหมือน สส.

“เมื่อตอนที่ ‘พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์’ เป็นนายกฯ เขาออกบทเฉพาะกาลให้ สว. มาร่วมประชุมกับ สส. ได้ด้วย มีสิทธิยกมือเท่ากับ สส. มันไม่ใช่แล้วครับ ในเมื่อ สส. เป็นผู้แทนที่ราษฎรเลือกเข้ามามีเพียง 114 คน แต่ สว. มาจากการแต่งตั้งของนายกฯ มีสัดส่วน 2 ใน 3 ขององค์ประชุม มันจะไปยกมือสู้กันได้อย่างไรครับ นายกฯ เขาแต่งตั้งของเขามาเอง ใครจะกล้าไม่ยกมือให้นายกฯ ล่ะครับ”

หลายปีต่อมา อุทัยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ราวกับประวัติศาสตร์วนซ้ำไม่รู้สิ้น แต่กำลังมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่

“คนเริ่มรู้แล้วว่า สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำอะไรมันก็ไม่ใช่ ไปกับชาวบ้านไม่ได้ เขาเริ่มเห็นแล้ว ต่อไปถ้าประชาชนหรือว่าสังคมมีโอกาสร่างกฎหมาย สิ่งเหล่านี้จะหายไป” อุทัยบอก

คารวะหนุ่มสาว

“ประสบการณ์ที่ได้รับมา ผ่านคุกผ่านตะรางทำให้มีสิ่งหนึ่งที่ผมเกลียดจนฝังใจและอยากทำลายให้สิ้นซาก ซึ่งก็คือเผด็จการ นอกจากนั้นผมยังได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ ว่าการนำคนแก่ ๆ มาเป็นนายกฯ นั้น มันไม่เหมาะสมเพียงใด”

หลายครั้งที่อุทัยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการเมืองไทยร่วมสมัยโดยมีจุดยืนสนับสนุนการทำหน้าที่ของคนหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็น ‘การเมืองบนถนน’ หรือ ‘การเมืองในสภา’ 

ย้อนกลับไปในการชุมนุมประท้วงของนักเรียนนักศึกษาตลอดปี 2563 อุทัยก็ออกมาแสดงความเห็นในเชิงเข้าใจการขับเคลื่อนไปของโลก

“เรื่องเด็กคุณต้องเห็นใจเขานะ เขาอายุ 8 ขวบ ลืมตามาก็เห็นคณะปฏิวัติ ลืมตามาเห็นแต่รัฐประหาร แล้วถ้าเขาอยากเห็นประชาธิปไตยบ้าง เขาผิดตรงไหนในเมื่อเขาเรียนมา”

ในวัย 85 อุทัยยังคงเฝ้ามองการเมืองไทยร่วมสมัย และออกมาแสดงความคิดเห็นต่อปรากฏการณ์ร่วมสมัย แต่เขาก็พยายามรักษาระยะห่างระหว่างความคิดของตนกับความเป็นไปของสังคม

“ผมอายุมากแล้ว แต่ไม่ใช่ปลีกตัวออกมา แต่ผมไม่อยากเอาความคิดของคนที่อยู่ในโลกอีกไม่เกิน 20 ปีไปครอบงำหรือชักจูงความคิดของคนที่จะอยู่ในโลกอีก 40 - 50 ปี” อุทัยกล่าวถึงการชุมนุมของเยาวชนปี 2563

“ผมไม่ได้เกลียดคนแก่” อุทัยเคยกล่าวไว้ในวัยที่ยังไม่เข้าวัยชรา “เหตุการณ์ในช่วงที่ผมเป็นผู้แทนฯ สมัยแรกก็เช่นกัน เป็นบทเรียนของคนแก่ คนสูงอายุที่ลืมตัว หลงตัวเอง เหลิงอยู่ในตำแหน่งและอำนาจ จนเป็นอันตรายต่อประเทศชาติอย่างเห็นได้ชัด บทเรียนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น มันเกิดขึ้นในประเทศที่นายกฯ แก่และอยู่นาน”

เขามองว่า ‘ความหนุ่มสาว’ คือความสามารถในการปรับตัวเข้ากับโลกร่วมสมัย

“ความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่อยู่ที่ใครเป็นคนพูด ใครเป็นคนมอง ถ้าอายุมากกว่าพิธาก็มองว่าพิธาเป็นเด็ก ถ้าอายุน้อยกว่าพิธาก็มองว่าพิธาเป็นผู้ใหญ่ แต่อายุไม่สำคัญเท่ากับการวางตัว”

หลายครั้งที่อุทัยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการเมืองไทยร่วมสมัยโดยมีจุดยืนสนับสนุนการทำหน้าที่ของคนหนุ่มสาว ครั้งหนึ่งก็ตอนที่มีการเลือกประธานสภาหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 อุทัยก็ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงคุณสมบัติของประธานสภา

“ส.ส. สมัยใหม่เก่ง ขยันค้นหาข้อมูล ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ถ้าค้นหาข้อมูลได้เยอะกว่าถือว่ามีประสบการณ์เหมือนกัน และข้อบังคับการประชุมไม่เกิน 100 หน้า เชื่อว่า สมาชิกสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ ส่วนพรรคจะเลือกใครมาทำหน้าที่ก็ย่อมเลือกคนที่เคยอยู่ในสภาอยู่แล้ว ผ่านตาในเรื่องของการประชุม และปัญหาระหว่างการประชุม สำคัญอยู่ที่ใจต้องวางตนเป็นผู้ใหญ่”

ถ้ายังเด็ก ใจต้องวางตนเป็นผู้ใหญ่ แต่หากแก่ชรา ใจต้องวางตนเป็นคนหนุ่มสาว

“คนที่สร้างผลงานยิ่งใหญ่ระดับโลกในสาขาต่าง ๆ ทั้งสาขาศาสนา ศิลปะ ล้วนสร้างผลงานหรือคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ได้ เมื่ออยู่ในวัยหนุ่มด้วยกันทั้งสิ้น ‘ไมเคิลแองเจโล’ แกะสลักรูป PIETA เมื่ออายุเพียง 25 ปีเท่านั้น”

อุทัยกล่าวถึงมนต์วิเศษของวัยหนุ่มสาว ซึ่งได้ล่วงผ่านไปแล้ว แต่เขายังคงเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนความหนุ่มสาวด้วยความเคารพ


ภาพ : เครือเนชั่น

อ้างอิง :

วิรัตน์ โตอารีย์มิตร.(2545). พิมพ์ไว้ในใจชน

มติชนออนไลน์.(2566).‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ ย้อนเล่านาที ‘ถูกปาขี้’ เหตุพักงานปลัดกระทรวง เปิดใจ ทำไมไม่โกรธ

VOICETV.(2566). ‘อย่าเป็นทรราช’ คอนดักเตอร์แห่งรัฐสภา ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’
สถาบันปรีดี พนมยงค์.(2566).PRIDI Interview : อุทัย พิมพ์ใจชน “ปรีดี พนมยงค์ และรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน.(2561).ประชาชนยังไม่เคยเอาผิดได้: ย้อนดูคดีฟ้องคณะรัฐประหารเป็นกบฏ จากยุคจอมพลถนอมถึงคสช.

PPTVHD36.(2563).สัมภาษณ์พิเศษ ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’