จาก ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ สู่อาณาจักร - คฤหาสน์ใหม่ ‘ชินวัตร’

จาก ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ สู่อาณาจักร - คฤหาสน์ใหม่ ‘ชินวัตร’

เมื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้รับการพักโทษ โฟกัสทางการเมืองจะถูกเปลี่ยนจาก รพ.ตำรวจ ไปยัง 2 บ้านแห่งยุค ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า – คฤหาสน์หลังใหม่’

  • ในอดีต ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ถูกใช้เป็น ‘เซฟต์เฮ้าส์’ ของ ‘ทักษิณ - พจมาน’ ในการนัดพูดคุยกับบุคลต่าง ๆ แน่นอนว่าใครที่ได้เข้าบ้านหลังนี้ เรียกว่า ‘สายตรง-ใกล้ชิดชินวัตร’ สะท้อนอำนาจของ ‘บุคคล’ ที่ได้เข้าบ้านด้วย
  • แต่ยุคนี้มี ‘บ้านหลังใหม่’ เกิดขึ้นแล้ว เป็น ‘ฐานอำนาจใหม่’ ของ ‘ตระกูลชินวัตร’ ที่มีเรื่องเล่าว่า ‘ทักษิณ’ ก็อยากไปอยู่บ้านหลังนี้ ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่อยู่ต่างประเทศ เพราะสร้างเอาไว้เพื่อรอวันที่ตัวเองได้กลับมา ซึ่งวันนี้ ‘ทักษิณ’ ก็ได้กลับไทยมาแล้ว 

ปรากฏการณ์ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้รับการพักโทษทำให้  ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ย่านบางพลัด กทม. ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลัง ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ ระบุว่าได้เตรียม ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ไว้ให้ ‘คุณพ่อ’ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นบ้านที่ ‘ครอบครัวชินวัตร’ ของ ‘ทักษิณ – คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์’ ใช้พักอาศัยมานาน จนมาถึงหลังเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร 2549’ ที่ทำให้บ้านหลังนี้เงียบเหงาลง ตามอำนาจและบารมีของ ‘ทักษิณ’ ที่ขึ้นสุดและลงสุด 

ในอดีต ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ถูกใช้เป็น ‘เซฟต์เฮ้าส์’ ของ ‘ทักษิณ - พจมาน’ ในการนัดพูดคุยกับบุคลต่าง ๆ แน่นอนว่าใครที่ได้เข้าบ้านหลังนี้ เรียกว่า ‘สายตรง-ใกล้ชิดชินวัตร’ สะท้อนอำนาจของ ‘บุคคล’ ที่ได้เข้าบ้านด้วย

แม้แต่บุคคลระดับโลกก็เคยมายัง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ได้แก่ ‘จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ‘บิล คลินตัน’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงหลังไทยประสบเหตุคลื่นสึนามิ เมื่อปี 2547 

จนมาถึงช่วงก่อน ‘รัฐประหาร 2549’ ไม่ถึง 1 เดือน วันที่ 24 ส.ค. 2549 ได้เกิดเหตุการณ์ ‘คดีลอบสังหารทักษิณ’ ด้วย ‘คาร์บอม’ บริเวณแยกบางพลัด ห่างจากบ้านจันทร์ส่องหล้าเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนรถของ ‘ทักษิณ’ จะผ่านทุกเช้า โดยภายในรถพบระเบิดทีเอ็นที ขนาด 4 กิโลกรัม ระเบิดซีโฟร์ ขนาด 1 กิโลกรัม โดยในวันเกิดเหตุขบวนรถของ ‘ทักษิณ’ ออกจากบ้านมาก่อนเวลา 

ทั้งนี้ ตร. ได้เข้าจับกุมผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว คือ ‘ร้อยโทธวัชชัย กลิ่นชะนะ’ ต่อมา จนท. ตรวจสอบพบว่าเป็นพลขับของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในขณะนั้น ทำให้ ‘ทักษิณ’ ลงนามปลด ‘พล.อ.พัลลภ’ ออกจากตำแหน่งทันที 

สำหรับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เป็นอดีตนายทหารยังเติร์ก จปร.รุ่น 7 อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาเมื่อปี 2564 พรรคเพื่อไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี จ.ขอนแก่น การเปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร’ เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค แต่กลับมีข่าวว่า ‘พล.อ.พัลลภ’ ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมประชุม - ปลดออกจากพรรค ทำให้ ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในขณะนั้นต้องออกมาปฏิเสธข่าว ยืนยันไม่มีการปลด พล.อ.พัลลภ ออกจากพรรค 

ตำนาน ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ยังไม่จบเท่านี้ โดยเมื่อ พ.ย. 2556 ถูก ‘กลุ่มคนเสื้อหลากสี’ ติดตั้งโทรโข่งปราศรัยคัดค้าน ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ 

ล่าสุดเมื่อ 2560 ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้นำเอกสารเรียกเก็บภาษีมูลค่ากว่า 17,629 ล้านบาท ไปติดที่หน้า ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ โดยอ้างว่าเป็นเงินภาษีที่ได้จากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด กว่า 3,000 ล้านหุ้น 

แม้จะมีการมองว่า ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ จะเป็น ‘ทำเนียบรัฐบาล’ แห่งที่ 2 ฉายแสงสู้กับ ‘บ้านนรสิงห์’ ที่เป็นทำเนียบรัฐบาล ที่มี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯ เพราะเชื่อกันว่า ‘อำนาจทุกสาย’ จะพุ่งตรงมายัง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’

แต่ยุคนี้มี ‘บ้านหลังใหม่’ เกิดขึ้นแล้ว เป็น ‘ฐานอำนาจใหม่’ ของ ‘ตระกูลชินวัตร’ ที่มีเรื่องเล่าว่า ‘ทักษิณ’ ก็อยากไปอยู่บ้านหลังนี้ ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่อยู่ต่างประเทศ เพราะสร้างเอาไว้เพื่อรอวันที่ตัวเองได้กลับมา ซึ่งวันนี้ ‘ทักษิณ’ ก็ได้กลับไทยมาแล้ว 

นั่นคือ ‘บ้านเลขที่ 38’ ย่าน ถ.รามอินทรา-นวมินทร์ กทม. เป็น ‘คฤหาสน์’ หลังใหญ่ มีที่ดินหลายสิบไร่ ใหญ่กว่า ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ อย่างมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนภายใน ไม่จำเป็นต้องออกมาภายนอก เป็นบ้านที่ทั้ง ‘โอ๊ค พานทองแท้ – เอม พินทองทา - อิ๊ง แพทองธาร’ และ ‘คุณหญิงพจมาน’ พร้อมกับหลาน ๆ พักอาศัยที่นี่ทั้งหมด โดยแต่ละคนจะมีบ้านของตัวเอง และมีทางเดินเชื่อมถึงกันหมด 

อีกทั้งมี ‘ความปลอดภัย’ เพราะพื้นที่โดยรอบเป็น ‘หมู่บ้านจัดสรร’ ที่มีเจ้าของโครงการคือ ‘บริษัท เอสซี แอสเสท’ ที่เป็นธุรกิจของ ‘ตระกูลชินวัตร’ เรียกได้ว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็น ‘อาณาจักร’ ของตระกูลชินวัตร 

ที่สำคัญใกล้กับ ‘สนามฟุตบอลอัลไพน์’ ที่ ‘นายกฯ - รัฐมนตรี - สส.พรรครัฐบาล’ ได้นัด ‘สื่อมวลชน’ ดวลแข้ง กระชับสัมพันธ์ วันที่ 20 ก.พ.นี้ จึงถูกจับตาว่าทำไมต้องเป็นสนามฟุตบอลดังกล่าว ที่ขยับไปใกล้ ‘คฤหาสน์ชินวัตร’ หลังใหม่ 

สำหรับ ‘คฤหาสน์’ หลังใหม่ ‘ครอบครัวทักษิณ’ ได้ย้ายเข้ามาอยู่หลายปีแล้ว จึงมีการจับตาว่าจะเป็น ‘ทำเนียบรัฐบาล’ อีกแห่ง ต่อจาก ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า - บ้านนรสิงห์’ หรือไม่ แต่บ้านหลังนี้ก็เคยเปิดให้ ‘คนการเมือง’ ที่เป็น ‘สายตรงชินวัตร’ ได้เข้าไปแล้ว 

แต่ ณ เวลานี้ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ยังคงเป็นปลายทางที่ ‘ทักษิณ’ จะกลับมาพักโทษตามที่ตั้งใจไว้ เว้นแต่จะมีการ ‘เปลี่ยนบ้าน’ จึงอยู่ที่ ‘ตระกูลชินวัตร’ จะเลือกใช้บ้านหลังใด เพราะสิ่งที่ตระกูลชินวัตรให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อน ‘ทักษิณ’ จะบินกลับไทย 22 ส.ค. 2566 คือเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ นั่นเอง เพราะเมื่อ ‘ทักษิณ’ ออกจาก รพ.ตำรวจ มาแล้ว ก็จะต้องมีการจัด ‘ระบบรักษาความปลอดภัย’ ประจำตัว ‘ทักษิณ’ ด้วย ทำให้ทุกขั้นตอนจึง ‘ลึกลับซับซ้อน’ พอสมควร 

ดังนั้นในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ที่คาดการณ์กันว่า ‘ทักษิณ’ จะได้รับการพักโทษ หลังอยู่ รพ.ตำรวจ มากว่า 6 เดือน โฟกัสทางการเมืองจะถูกเปลี่ยนจาก รพ.ตำรวจ ไปยัง 2 บ้านแห่งยุค ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า – คฤหาสน์หลังใหม่’ ที่กำลังจะบันทึกประวัติศาสตร์บทใหม่ ในวันที่ ‘สายลมแห่งอำนาจ’ กลับมายัง ‘ทักษิณ’ อีกครั้ง 

 

เรื่อง : กุหลาบ ลายพราง