วิสัยทัศน์ใหม่ของหาดใหญ่ ในมุมมอง ‘ทรงพล จังศิริวัฒนธำรง’

วิสัยทัศน์ใหม่ของหาดใหญ่ ในมุมมอง ‘ทรงพล จังศิริวัฒนธำรง’

วิสัยทัศน์ใหม่ ‘ทรงพล จังศิริวัฒนธำรง’ เพื่อหาดใหญ่ เมืองสร้างสรรค์ เติบโตยั่งยืน เชื่อมโยงชุมชน-เศรษฐกิจ

KEY

POINTS

  • ขับเคลื่อนเทศกาล Hatyai Jazz Music Festival สร้างพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • ผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกและ Cruise Terminal ต่อยอดการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์
  • ส่งเสริมการพัฒนาร่วมมือภาคเอกชน รัฐ และชุมชน เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนของเมือง

‘ทรงพล จังศิริวัฒนธำรง’ หรือที่คนในพื้นที่เรียกอย่างคุ้นเคยว่า ‘จ๊อส’ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในจังหวัดสงขลา นอกจากเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ เขายังเป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองด้วยแนวคิดสร้างสรรค์และมีความเข้าใจในศักยภาพของพื้นที่อย่างลึกซึ้ง

ทรงพล ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาเป็นสมัยที่สอง ด้วยบทบาทเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่

ล่าสุด คึอการผลักดันให้เกิดเทศกาล Hatyai Jazz Music Festival ซึ่งมาจากการที่เขาได้รับการชักชวนจากกลุ่มคนรักดนตรีแจ๊สในพื้นที่ ให้ไปนั่งฟังดนตรีแจ๊สที่ร้านเล็ก ๆ ในหาดใหญ่ บรรยากาศในวันนั้น ทำให้ ทรงพล เห็นพลังของคอมมูนิตี้ด้วยตนเอง

“วันนั้นคนมาฟังกันเยอะมากครับ บรรยากาศดี แล้วมีคนเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยเชิญศิลปินแจ๊สระดับโลก อย่าง ‘เพ็คกา พิลลิกกาเนน’ มาเล่นที่นี่ คนล้นร้านเลยครับ” ทรงพล เล่าถึงความเป็นมา ด้วยน้ำเสียงที่มองเห็นโอกาส

แจ๊สในร้านเล็ก ๆ ที่กลายเป็นเทศกาลใหญ่ของเมือง

จากจุดเล็ก ๆ นี้เอง ทำให้ ทรงพล มองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ การจัดเทศกาลดนตรีแจ๊สระดับเมือง ซึ่งสามารถสร้างพื้นที่ใหม่ให้แก่แวดวงศิลปวัฒนธรรมในหาดใหญ่ และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่กำลังเติบโต

“ดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย และไม่ตามกระแส เป็นงานเทศกาลที่มีคุณค่าในตัวเอง ผมรู้สึกว่าเมืองเราน่าจะมีพื้นที่แบบนี้ เพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับเมือง”


 

บทบาทของหอการค้าในเรื่องนี้ จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเป็นเจ้าภาพหรือผู้จัดงานเท่านั้น แต่เป็นกลไกเชื่อมต่อระหว่างความคิดสร้างสรรค์ของคนในพื้นที่กับนโยบายภาครัฐ การประสานงานนำไปสู่การจัดทำโครงการฯ เสนอเทศบาลนครหาดใหญ่ และหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ททท. และ TCEB ซึ่งล้วนตอบรับด้วยความเข้าใจในเป้าหมายที่ลึกซึ้งของงานนี้

“หลายคนในคอมมูนิตี้ไม่มีเสียงพอที่จะเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานรัฐโดยตรง แต่หอการค้าในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน เราสามารถหยิบประเด็นนี้ไปผลักดันต่อได้ ผมไม่อยากให้มันเป็นแค่งานอีเวนต์ อยากให้เป็นหมุดหมาย เป็นความหวัง เป็นพื้นที่ที่เยาวชนในหาดใหญ่มองแล้วรู้สึกว่า เขาก็สามารถมีที่ยืนได้บนเวทีนี้”

จากการจัดงานในปีแรก (พ.ศ. 2567) มีฟีดแบ็กที่สะท้อนถึงคุณภาพของแนวคิดและการจัดการอย่างชัดเจน

“คนที่มาร่วมงาน บอกว่าบรรยากาศงานดีมาก เป็นงานคลีน เป็นมิตรกับครอบครัว แล้วก็อยากให้เราจัดอีก เขาบอกว่าหาดใหญ่ไม่เคยมีงานแบบนี้มาก่อน”

ทรงพล ยืนยันว่าการจัดงานต่อเนื่องคือสิ่งจำเป็น เพราะเป็น ‘เวทีแห่งแรงบันดาลใจ’ สำหรับเยาวชน “เรามีเด็กนักเรียนที่อยากแสดงความสามารถ แต่ไม่เคยมีเวทีแสดงมาก่อน ถ้าเราทำต่อเนื่อง เด็กเหล่านี้จะมีความหวัง และครอบครัวเขาจะภูมิใจ” ทรงพล พูดถึงโอกาสในการขึ้นเวที Miles Davis Stage เวทีเล็ก ๆ สำหรับคนดนตรีรุ่นเยาว์ ซึ่งจะเป็นเสมือน ‘ความฝันเล็กๆ ที่มีความหมายอันยิ่งใหญ่’
 

เทศกาลดนตรีแจ๊สหาดใหญ่ เป็นงานที่ “เปิดพื้นที่ให้กับเสียงของคนในพื้นที่” ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีเยาวชน วงดนตรีอิสระ และวงดนตรีจากรั้วสถาบันการศึกษา ไปจนถึงผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่จะมีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า และภาคธุรกิจท่องเที่ยว ในบรรยากาศของงานดนตรีที่มีคุณภาพ

ในยุคที่เมืองทั่วโลกต่างแข่งขันกันสร้างความแตกต่าง งาน Hatyai Jazz Music Festival คือคำตอบที่สงขลามอบให้กับคำถามที่ว่า “เราจะพัฒนาเมืองอย่างไรโดยไม่ทิ้งคนในพื้นที่ไว้ข้างหลัง” และบทเรียนนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลาย ๆ เมืองในประเทศไทยที่กำลังมองหาทางเลือกใหม่ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของเมืองผ่านเสียงเพลง

นอกจากเทศกาลดนตรีแจ๊ส ทรงพล ยังขับเคลื่อนอีกหลาย ๆ โครงการ เช่น การเป็นเจ้าภาพงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 43 ในปลายปี 2568 ซึ่งจะต้อนรับผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศ พร้อมทั้งแสดงศักยภาพของเมืองสงขลาในด้านการจัดงาน การท่องเที่ยว และการสร้างความประทับใจให้กับแขกต่างถิ่น

ระบบราชการ กับอุปสรรคที่ไม่เคยเปลี่ยน

ในการสนทนาของเรา ประธานหอการค้าสงขลา ได้เล่าถึงสองแนวทางสำคัญที่เขากำลังผลักดันควบคู่กัน หนึ่งคือ โครงการพัฒนา Cruise Terminal ณ จุดแหลมสนอ่อน ซึ่งมีเป้าหมายรองรับนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ อินเดีย และจีน ที่เดินทางผ่านเรือสำราญ นับเป็นโอกาสใหม่ของสงขลาในฐานะเมืองท่องเที่ยวทางทะเล

อีกหนึ่งแนวทางคือการขับเคลื่อนโครงการสร้าง ท่าเรือน้ำลึก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค และกระจายความหนาแน่นจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ซึ่งเขาเชื่อว่า สงขลามีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมจะพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม หากได้รับการสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากภาครัฐ

จังหวัดสงขลามีแหล่งผลิต มีอุตสาหกรรม และมีสินค้าที่พร้อมส่งออก แต่กลับไม่มีท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับการขนส่งทางทะเลอย่างเต็มประสิทธิภาพ เขามองว่าเป็น ‘ช่องว่างสำคัญ’ ที่ทำให้จังหวัดเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด
“ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยยาวมาก แต่ทำไมมีแค่แหลมฉบังที่ส่งออกได้ที่เดียวทั้งประเทศ... แหล่งเมนูแฟกตอริ่งอยู่ที่สงขลา raw material ก็อยู่ที่สงขลา… มันน่าเสียดายมาก”

เขาเล่าถึงความไม่สมดุลของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย และเส้นทางการพัฒนาที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทรงพล ยอมรับว่าการทำงานร่วมกับภาครัฐ ทำให้พบข้อจำกัดมากมาย ทั้งระบบราชการ งบประมาณ และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารในพื้นที่

“สองปีที่ผ่านมา สงขลาเปลี่ยนผู้ว่าฯ ไปสามคนครับ มันยากที่จะมีความต่อเนื่อง” เป็นวรรคตอนหนึ่งของคำบอกเล่าที่สะท้อนถึงความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย

ในประเทศที่ระบบราชการเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย การหมุนเวียนโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงเป็นประจำ ไม่เพียงสะท้อนการจัดการภายในของรัฐเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระดับจังหวัดและเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

“ผู้ว่าฯ บางท่านมา ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเรียนรู้เมือง กว่าจะเข้าใจภาพรวม พอเข้าใจแล้วก็ย้าย” ทรงพล เล่าด้วยน้ำเสียงกึ่งเหนื่อยใจกึ่งยอมรับ เมื่อการพัฒนาเมืองต้องวิ่งไล่ตามระบบส่วนกลางมากกว่าความต้องการของคนในพื้นที่

ในยุคที่การแข่งขันด้านโลจิสติกส์ คือหัวใจของเศรษฐกิจโลก เมืองท่าเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของภูมิภาค ประเทศที่ไม่มีท่าเรือน้ำลึกย่อมไม่อาจแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ และนั่นคือเหตุผลที่หลายประเทศในอาเซียนต่างเร่งสร้างเครือข่ายท่าเรือเพื่อเชื่อมโยงกับตลาดโลก

เมืองสงขลา ซึ่งมีที่ตั้งติดทะเล มีแหล่งผลิต มีโครงสร้างอุตสาหกรรม และมีความใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลับยังไม่มีท่าเรือน้ำลึกที่ออกแบบรองรับการขนส่งในระบบโลจิสติกส์ปัจจุบัน เพื่อสามารถรองรับการขนส่งทางทะเลในระดับสากลได้อย่างแท้จริง

ทั้งที่แนวคิดเรื่องท่าเรือน้ำลึกไม่ใช่เรื่องใหม่ โครงการนี้เคยได้รับการพูดถึงในระดับนโยบายมานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนสู่รูปธรรมได้ เหตุผลหลักคือระบบราชการที่ซับซ้อน การอนุมัติงบประมาณที่ล่าช้า และการเปลี่ยนแปลงของผู้นำในระดับจังหวัดและส่วนกลาง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการต้องวนอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและหารือ โดยที่ยังไม่มีการลงมือจริง

ปัจจุบัน สินค้าจำนวนมากจากภาคใต้ต้องขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังหรือปีนัง ซึ่งเพิ่มต้นทุนและเวลาโดยไม่จำเป็น หากมีท่าเรือน้ำลึกที่มีเครนหน้าท่า มีร่องน้ำที่ขุดลอกได้ความลึกเพียงพอ คือให้เรือวิ่งได้ที่ 9 เมตร ในสงขลา จะสามารถย่นระยะเวลาและลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล พร้อมทั้งกระจายความแออัดจากท่าเรือหลักของประเทศ

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับเรือครุยส์ (Port of Call) ณ แหลมสนอ่อน ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดสงขลา แต่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากงบประมาณเบื้องต้นจำนวน 20 ล้านบาทสำหรับศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำรายงาน IEE ถูกตัดออกจากงบกลาง

“มันตลกตรงที่ทุกคนเห็นด้วยหมด แต่พอของบแค่ 20 ล้าน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ก็ถูกตัดออกจากงบกลาง”

นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของความไม่สอดคล้องระหว่างความตั้งใจของคนในพื้นที่ กับระบบราชการที่ยังไม่ยืดหยุ่นพอจะตอบรับความเร่งด่วนของโอกาส

ในบริบทโลกที่เมืองต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนจากการบริหารแบบบนลงล่าง (top-down) สู่การบริหารแบบมีส่วนร่วม (collaborative governance) บทบาทของหอการค้าในสงขลาอาจเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของความพยายามเชิงรุกจากภาคเอกชนไทย

เขตทดลองนโยบายสำหรับอนาคต

ทรงพล เล่าถึงแนวคิดในการผลักดันให้หาดใหญ่ เป็น New Business Zone หรือ เขตเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่สามารถทดลองนโยบายด้านการเงิน การลงทุน หรือแม้แต่เขตปลอดภาษี (duty-free) โดยอิงจากโครงสร้างเดิมที่แข็งแกร่งของเมืองนี้

ในอดีต เมืองหาดใหญ่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ ศูนย์กลางการเงิน การค้า การคมนาคม และการศึกษา ล้วนถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างมีชีวิตชีวา แต่กาลเวลาก็เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง จากเมืองที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว หาดใหญ่เริ่มหยุดนิ่ง และดูเหมือนว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยผลักดันเมืองนี้ให้ก้าวหน้ากำลังค่อยๆ ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“ผมอยากให้เมืองนี้มีพลังใหม่อีกครั้ง” เป็นน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงอินเนอร์ของประธานหอการค้าสงขลาคนปัจจุบัน

แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ว่า หาดใหญ่ มีโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่พร้อมทั้งมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ที่พัก สถาบันการเงิน แหล่งค้าปลีก และฐานผู้บริโภคที่แข็งแรง เพียงแต่ขาดการเติมแรงขับเคลื่อนใหม่ ทั้งในด้านกฎหมาย สิทธิประโยชน์ และความคิดสร้างสรรค์ทางนโยบาย

“เราลองเสนอว่า อยากทำ duty-free zone ที่ Lee Garden กลางเมืองหาดใหญ่ ให้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเข้ามาใช้จ่ายได้สะดวกขึ้น แต่ติดข้อกฎหมายศุลกากรที่ต้องมีรั้วรอบขอบชิด มันทำไม่ได้”

New Business Zone ไม่ใช่เพียงแค่เขตเศรษฐกิจพิเศษแบบเดิม หากแต่เป็น ‘พื้นที่ทดลองนโยบาย’ ที่สามารถปรับกฎเกณฑ์บางประการเพื่อให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจใหม่ เช่น เขตปลอดภาษี (duty-free), เขต sandbox ด้านการเงิน หรือศูนย์กลางของการค้า cross-border กับปีนังที่อยู่ห่างออกไปเพียง 2 ชั่วโมง

“หาดใหญ่มีศักยภาพจะเป็น financial hub ของภาคใต้ ถ้าเราได้สิทธิประโยชน์ หรือมี sandbox ในด้านการเงินเข้ามาเสริม มันจะดึงดูดทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่และนักลงทุนจากภายนอกได้อย่างแน่นอน”

ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2567) แนวคิดนี้ได้รับการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และมีการ ‘รับหลักการ’ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ ซึ่ง ทรงพล มองว่านี่เป็นโอกาสของภาคเอกชนที่จะรวมตัวกันเพื่อ ออกแบบกลไกของเขตเศรษฐกิจใหม่นี้ให้ตกผลึก แล้วเสนอให้รัฐปลดล็อกกฎเกณฑ์ให้ตรงจุด

เขตเศรษฐกิจใหม่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ หากแต่รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ประกอบการด้านไลฟ์สไตล์ หรือแม้แต่ธุรกิจที่เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น อาหาร การออกแบบ และเทคโนโลยี “หาดใหญ่คือเมืองที่มีครบ แต่ขาดการกระตุ้น ถ้ามี new business zone ที่ปลดล็อกจริง เราจะเห็นภาพใหม่ของเมืองนี้ทันที” เขาสรุป

บทเรียนจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ล้วนชี้ให้เห็นว่าเขตทดลองนโยบายมีผลจริงในการเร่งการเติบโต เช่น ปีนังเคยเป็นเมืองท่าธรรมดา แต่สามารถเติบโตจนกลายเป็นศูนย์กลาง semiconductor ได้ภายในเวลาไม่ถึง 15 ปี ด้วยการผสานสิทธิประโยชน์กับการลงทุนในทักษะ

การปรับตัวของเมืองให้ทันต่อกระแสโลก

หาดใหญ่ มีจุดแข็งด้านธรรมชาติและวิถีชีวิต หากสามารถเปลี่ยนเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นเศรษฐกิจได้ เมืองจะได้ทั้งภาพลักษณ์และความยั่งยืน

“ผมอยากเห็นเศรษฐกิจสีเขียวที่ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้โชว์ แต่มันต้องมีโมเดลธุรกิจจริง เช่น การจัดการขยะรีไซเคิลเชิงพาณิชย์ หรือระบบการเก็บคาร์บอนแบบชุมชน”

เขาย้ำว่าสงขลามีทั้งพื้นที่ มีทั้งผู้ประกอบการ และมีทั้งประชาชนที่ตื่นรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น เพียงแต่ขาดกลไกที่เอื้อต่อการลงมือทำอย่างเป็นระบบ แนวทางหนึ่งที่ ทรงพล เสนอคือการสร้าง sandbox ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ภาครัฐและเอกชนสามารถทดลองโมเดลธุรกิจสีเขียวร่วมกัน เช่น โรงเรียนที่ลดคาร์บอนแล้วได้รับงบส่งเสริมจากเทศบาล หรือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใช้วัสดุรีไซเคิลได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมบางประการ

สุดท้าย เขาเน้นย้ำว่าความท้าทายที่แท้จริงของการพัฒนา คือการเตรียมความพร้อมของคนในพื้นที่ให้เท่าทันโลก ไม่ใช่แค่สร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ “เราต้องทำให้คนในสงขลาพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะ AI ไม่อย่างนั้น เด็กรุ่นใหม่จะจบมาแล้วไม่มีงาน เพราะตลาดไม่ต้องการ เราต้องเอา AI เข้าไปในระบบการศึกษาให้เร็วที่สุด”

โลกวันนี้เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนอย่างรุนแรง และเปลี่ยนในแบบที่คนไม่พร้อมจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง การที่เมืองอย่างสงขลาจะไม่กลายเป็นพื้นที่ชายขอบในระบบเศรษฐกิจ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกล้าลงทุนใน ‘ทุนมนุษย์’ (human capital) และ ‘ทุนสติปัญญา’ (intellectual capital) อย่างจริงจัง

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีสำหรับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ แต่กำลังเปลี่ยนวิธีคิด วิธีเรียน วิธีทำงานในทุกระดับ ทรงพล เสนอว่า AI ควรเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาระดับท้องถิ่นให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในโรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวศึกษา

“ไม่ใช่ทุกคนต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ทุกคนควรรู้ว่า AI ทำอะไรได้บ้าง และจะทำงานร่วมกับมันอย่างไร”

นี่คือการออกแบบอนาคตของแรงงานในพื้นที่ ถ้าหาดใหญ่ต้องการดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่การค้าปลีกหรือโรงแรม เมืองจำเป็นต้องมี ‘คนที่พร้อมทำงานแห่งอนาคต’ อยู่ในระบบ ซึ่งจะไม่มีทางเกิดขึ้น หากการศึกษาและทักษะยังเดินตามโลกไม่ทัน

เสน่ห์ของเมือง คือทุนวัฒนธรรม

“หาดใหญ่มีเสน่ห์ตรงที่คุณสามารถใช้ชีวิตสองแบบได้ในวันเดียว เช้าอยู่กับธรรมชาติ บ่ายมานั่งจิบกาแฟในคาเฟ่กลางเมือง กลางคืนดูดนตรีสด ทุกอย่างอยู่ใกล้กันหมด”

ในความคิดของคนส่วนกลาง หาดใหญ่อาจเป็นเพียงเมืองชายแดนการค้ากับมาเลเซีย หรือศูนย์กลางค้าปลีกและโรงพยาบาลในภาคใต้ตอนล่าง แต่สำหรับคนในพื้นที่ เมืองนี้ซับซ้อนและมีหลายชั้นมากกว่าที่คนภายนอกเข้าใจ

“เรามีทั้งชุมชนจีน ชุมชนมุสลิม ชุมชนไทยพุทธ อยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก อาหารก็สะท้อนความหลากหลายนั้นอย่างชัดเจน”

ในย่านตลาดเก่า เราสามารถพบข้าวมันไก่สูตรจีนข้าง ๆ ร้านโรตีมุสลิม และไม่ไกลกัน คือร้านอาหารไทยพื้นบ้านแบบดั้งเดิม

หาดใหญ่ จึงไม่ได้เป็นแค่เมืองค้าขาย แต่เป็นเมืองที่มีรากวัฒนธรรมอันหลากหลาย ซึ่งกำลังกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า หากได้รับการส่งเสริมอย่างมียุทธศาสตร์ เมืองนี้สามารถกลายเป็น ‘เมืองวัฒนธรรมร่วมสมัย’ ที่เชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และส่งต่อสู่อนาคตได้อย่างงดงาม

การส่งเสริมนี้อาจเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าในย่านใจกลางเมือง การส่งเสริมเทศกาลที่สะท้อนอัตลักษณ์ เช่น เทศกาลอาหาร พหุวัฒนธรรม หรือแม้แต่ดนตรีพื้นถิ่น เช่น โนรา ที่สามารถผสมผสานกับดนตรีร่วมสมัยในงานเทศกาลศิลปะ

สิ่งที่หาดใหญ่-สงขลามี คือ ‘เรื่องเล่า’ ที่ทรงพลัง เพียงแต่ต้องมีเวทีให้เรื่องเล่านั้นถูกเล่าออกมาอย่างสง่างาม ทั้งในเชิงท่องเที่ยว การศึกษา และสื่อร่วมสมัย

การออกแบบภาพจำใหม่ของเมือง จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการโฆษณา หากแต่เป็นการสกัดแก่นแท้ของเมืองนั้นออกมา แล้วนำเสนอด้วยความซื่อสัตย์ หาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนเชียงใหม่หรือภูเก็ต แต่หาดใหญ่ควรเป็นหาดใหญ่ เมืองชายแดนที่เปิดกว้างทางวัฒนธรรม ใช้ชีวิตได้หลากหลาย และเปี่ยมด้วยรสนิยม

และหากสงขลา-หาดใหญ่สามารถสร้างภาพจำนี้ได้อย่างมั่นคง เมืองนี้จะไม่เพียงดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ยังดึงกลับคนรุ่นใหม่ที่เคยออกไปทำงานในเมืองใหญ่ ให้กลับมาสร้างอนาคตในบ้านเกิดของตัวเองอีกครั้ง

ด้วยความชัดเจนในวิสัยทัศน์ ความจริงใจในการทำงาน และการเปิดรับความคิดจากทุกภาคส่วน ทรงพล จังศิริวัฒนธำรง นับเป็นหนึ่งในแรงผลักสำคัญที่กำลังเปลี่ยนแปลงสงขลาให้เป็นเมืองแห่งความหวังและโอกาสสำหรับทุกคน
 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: สงกรานต์ แซ่เต็ง (FB: Bung Enjoyffoto)