23 พ.ค. 2568 | 15:24 น.
KEY
POINTS
ต้นเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ ลานกีฬาเพื่อสุขภาพ ถนนธรรมนูญวิถี เมืองหาดใหญ่ ฝนตกลงมาเป็นสายบาง ๆ ในช่วงหัวค่ำ เสียงดนตรีแจ๊สล่องลอยออกมาจากเวทีกลางลาน ขณะที่คนดูยังคงปักหลักนั่งชมการแสดงอยู่ที่เดิม หลายคนกางร่ม บางคนยกมือเคาะจังหวะตามเสียงดนตรี โดยไม่สนใจว่าฝนจะหยุดเมื่อใด
นั่นคือค่ำคืนหนึ่งของงาน ‘Hatyai Jazz Music Festival’ เทศกาลดนตรีที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แม้เมืองนี้จะไม่ได้มีภาพจำว่าเป็นเมืองแห่งแจ๊ส แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความพยายามในการเปิดพื้นที่ให้แก่ดนตรีประเภทนี้มากขึ้น ทั้งในแง่การแสดง การจัดการ และชุมชนคนฟังที่เริ่มเปิดใจ
เบื้องหลังเวทีนี้ มีบุคคลที่ทำหน้าที่เสมือน ‘มิวสิค ไดเร็คเตอร์’ ของเทศกาล พวกเขาคือ ‘ตุ๊ก’ คชา พลศรี และ ‘ป๋อง’ ดร.ชุมชน สืบวงศ์ สองนักดนตรีที่เส้นทางชีวิตเดินมาบรรจบกันที่หาดใหญ่ โดยมี ‘ต๊ะ’ กิตติพงษ์ อินทมะโน เจ้าของร้าน ‘Once’ บาร์แจ๊สแห่งเมืองหาดใหญ่ ที่มีแท็กไลน์คมคายว่า “we only live once” เป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้จัดเทศกาลดนตรีแจ๊สขึ้น โดย ต๊ะ เป็นผู้ประสานงานกับฝ่ายนโยบาย และเชื่อมโดยตรงกับหอการค้าจังหวัดสงขลา
ตุ๊ก เติบโตที่สงขลา ฟังเพลงแจ๊สมาตั้งแต่เด็ก ๆ จากเทปแคสเซ็ทของพี่ชาย ในขณะที่คนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน ยังฟังเพลงป๊อปแดนซ์ หรือเพลงเพื่อชีวิต ต่อมา เขาเลือกที่จะเรียนกีตาร์แจ๊ส ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หลายปี ก่อนตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด
ป๋อง มาจากศรีสะเกษ เส้นทางของเขา เริ่มจากการเรียนปริญญาตรีที่หาดใหญ่ มีประสบการณ์เล่นดนตรีกลางคืนหลากหลายแนว ในหลาย ๆ เมืองท่องเที่ยว ทั้งกรุงเทพและพัทยา ก่อนตัดสินใจเอาดีในสายวิชาการดนตรี สู่การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และคว้าทุนจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก โชคชะตาของชีวิต ทำให้เขากลับมาอยู่หาดใหญ่อีกครั้ง ตามภาระผูกพันของทุนที่ได้รับ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิด คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของการปลุกเวทีแจ๊สในเมืองนี้ขึ้นมา
ในปีแรก ๆ ของการจัดงาน ทั้งคู่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ชมมากนัก “พวกเราคุยกันว่า แค่มีคนมานั่งฟังบ้าง ก็ดีแล้ว” ป๋องบอก “แต่ปรากฏว่าคนเต็มลาน แล้วที่ผมประทับใจที่สุด คือคนถือร่มฟังดนตรีครับ ฝนตกแต่ไม่มีใครลุก ผมนี่ขนลุกเลย”
ตุ๊ก หัวเราะก่อนเสริมว่า “เราไม่ได้จัดแบบโชว์แสงสีเสียงอลังการนะ มันคือเวทีดนตรีจริง ๆ คนมากันเพราะอยากฟังแจ๊ส แล้วพอเรารู้ว่า คนแถวนี้อยากฟัง เลยทำให้เรารู้ว่า เออ… ถ้าเราไม่ก็ทำให้มันมี มันก็ไม่มี”
ประโยคท้ายนั้น ตุ๊ก ได้อ้างถึงคำกล่าวของ ‘กอล์ฟ’ ทีโบน นครินทร์ ธีระภินันท์ ที่เคยบอกกับเขาว่า งานดนตรีที่เราใฝ่ฝันจะให้เกิดขึ้น ต้องมาจากแรงผลักดันของเราเอง
ตุ๊ก คชา พลศรี คือคนดนตรีที่เติบโตมาจากจังหวัดสงขลา เขาเริ่มต้นฟังเพลงแจ๊สตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นตอนปลาย เสียงเพลงของ Pat Metheny, Weather Report, ไปจนถึง Miles Davis ล่องลอยอยู่ในห้องนอนเล็ก ๆ ของเขา
“ตอนนั้น ผมเหมือนแกะดำ ฟังเพลงที่คนรอบตัวไม่รู้จักเลย มันก็เหงา ๆ นิดหนึ่ง แต่ก็สนุกนะ เพราะมันเหมือนเรามีโลกส่วนตัว” เขาเล่าช่วงวัยเรียนแบบติดตลก
หลังเรียนจบ เขาใช้ชีวิตทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนเพียงพอแล้ว จึงตัดสินใจกลับบ้าน ตุ๊ก บอกว่า “คือเรารู้ว่า ผลงานดนตรีดี ๆ มีอยู่นะ แต่คนแถวนี้ไม่ค่อยได้เห็น ผมเลยคิดว่า ถ้าผมเอาเพื่อนที่เก่ง ๆ จากกรุงเทพฯ กลับมาเล่นให้คนแถวบ้านได้ฟัง มันน่าจะดี”
Hatyai Jazz Music Festival ปีแรก ตุ๊ก กับ ป๋อง เป็นคนประสานงานกับเพื่อน ๆ นักดนตรี ช่วยดู setlist ของศิลปิน ร่วมกำหนดแนวทางเวทีหลักให้มีความหลากหลายและสนุกสนาน แต่สิ่งที่เขาทำมากกว่านั้น คือการสร้าง “ปาร์ตี้เล็ก ๆ ส่วนตัว” ที่เขาอยากให้คนแถวบ้านได้มาอยู่ด้วยกัน ในบรรยากาศของดนตรีแจ๊ส
“มันเหมือนเราจัดปาร์ตี้ แล้วชวนคนมาฟังดนตรีดี ๆ กับเรา คือเราไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นอะไรใหญ่โต แต่มันก็โตขึ้นมาเอง เพราะพอคนมาเจอของดี เขาก็อยากกลับมาอีก”
แม้จะมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ ตุ๊ก รู้สึกดีใจที่ได้สร้างพื้นที่ให้ศิลปินและคนฟังมาพบกันในโลกของแจ๊ส
“แค่นั้นผมก็พอใจแล้วครับ” เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม
หาก ตุ๊ก เป็นตัวแทนของนักดนตรีสายชิลล์ ป๋อง ดร.ชุมชน สืบวงศ์ คือคนดนตรีสายวิชาการ ผู้พูดถึงแจ๊สด้วยแววตาลุ่มลึก พอ ๆ กับน้ำเสียงจากแซ็กโซโฟนของเขา
จากศรีสะเกษ เส้นทางของดนตรีของเขา เริ่มจากเพลงลูกทุ่ง หมอลำ เพื่อชีวิต แล้วจึงค่อย ๆ ขยับเข้าสู่แจ๊ส และดนตรีร่วมสมัย
หลังเรียนจบปริญญาตรี และทำงานสอนดนตรีอยู่หลายปี เขาได้รับทุนระดับปริญญาเอกจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในสมัยนั้น และเลือกกลับมาใช้ทุนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหาดใหญ่ ซึ่งในตอนแรกๆ ดูจะเป็นพื้นที่ที่เงียบเกินไป สำหรับคนที่เคยอยู่ในโลกดนตรีสนามใหญ่
“พอมาอยู่หาดใหญ่ ผมรู้เลยว่ายังไม่มีพื้นที่แจ๊สจริง ๆ คำว่า ‘แจ๊ส’ ยังเป็นของคนกลุ่มน้อย แต่ผมไม่ได้รู้สึกท้อ เพราะในความว่าง มันคือโอกาส” เขาเล่า
แทนที่จะยอมรับความว่างเปล่า เขาเริ่มต้นด้วยการตั้งวงเล็ก ๆ กับนักศึกษาที่สนใจ เปิดคลาสแจ๊สเบื้องต้น จัดงานบรรยาย สัมมนา แลกเปลี่ยน เชิญนักดนตรีรุ่นพี่ในวงการมาเล่าประสบการณ์ให้เด็กๆ ฟัง เขาเริ่มใส่ ‘เสียงของแจ๊ส’ ลงไปในเมือง
“ถ้าไม่มีเสียง คนฟังจะมาได้ยังไง” ประโยคนี้กลายมาเป็นหลักคิดของการสร้างวัฒนธรรมการฟังในหาดใหญ่
ที่ผ่านมา ป๋องพยายามจัดเวิร์กช็อป หรือมาสเตอร์คลาส เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และครูดนตรีจากโรงเรียนต่าง ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้กับศิลปินจริง โดยเชื่อว่า หากมีพื้นที่เรียนรู้ที่ดี การฟังดนตรีจะไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่จะกลายเป็นโอกาสในการเติบโตทางอาชีพในอนาคต
“พวกผมมีเวิร์คช็อปคร่าว ๆ คือเราให้เด็กได้รู้ความรู้พื้นฐานเบื้องต้นไว้ก่อน เผื่อพวกอาจารย์ผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ มา ก็จะเชื่อมได้ง่ายมากขึ้น ก็มีเด็กรุ่นใหม่ที่เปิดใจ และพวกอาจารย์วิลเลียมก็มาเวิร์กช็อปอยู่หลายครั้ง...” ป๋อง หมายถึง ‘วิลเลียม’ ผศ.กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ แห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ความฝันของ ป๋อง ไม่ได้อยู่แค่บนเวทีเทศกาล เขาอยากให้แจ๊สภาคใต้กลายเป็น ‘ภาษา’ ที่สามารถสื่อสารกับรากวัฒนธรรมของพื้นที่ได้
“ผมฝันถึงแจ๊สที่เล่นกับโนรา อยากจะทำแจ๊สภาคใต้ ให้มีการปะทะสังสรรค์ ผสมผสานกัน เอาผู้รู้แจ๊สกับผู้รู้พื้นบ้านมาอยู่ด้วยกัน อย่างตอนวง big band ก็เอาเพลงรองเง็งโนรามาเล่น คนมาดูแล้วก็อมยิ้ม”
“เพลงแจ๊ส คือเสรีภาพ คือบทสนทนา ถ้าเราจับ Charlie Parker มาอยู่กับโนรา ผมว่าเบิร์ดก็คงอยากดูเหมือนกัน”
บทสนทนาอย่างอิสระ ระหว่างศิลปะสองแนวทาง ที่ฟังดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ คือความฝันของ ป๋อง ความฝันที่เขาไม่ได้พูดเงียบ ๆ อยู่คนเดียว แต่กำลังพูดผ่านนักศึกษา เพื่อนร่วมวง และคนดูที่นั่งถือร่มในคืนฝนพรำ
แล้วเสียงนั้นก็เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ
ตุ๊ก กับ ป๋อง เพิ่งรู้จักกันได้ไม่นานนัก แต่เส้นทางของทั้งคู่มาบรรจบกันที่นี่ และ Hatyai Jazz Music Festival ทำให้ทั้งสองต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อสร้างงานที่มีความหมายต่อเมือง
ตุ๊ก เข้าใจเวทีจากมุมของผู้เล่น เขารู้ดีว่าอะไรคืออุปสรรคของนักดนตรี และอะไรคือความคาดหวังของคนดู เขาจัดลำดับวงแบบมีจังหวะ มีจุดพีค และมีช่วงหายใจ มีทั้งเพลงบรรเลง เพลงร้อง เพลงที่จริงจัง และเพลงที่เล่นเพื่อความสุขของคนดู
“เราคิดว่าแจ๊สไม่จำเป็นต้องเข้าใจยากนะ บางเพลงก็เล่นให้คนโยกหัวได้เหมือนกัน” เขาว่า
ขณะที่ ป๋อง อยากให้เทศกาลนี้เป็นมากกว่าเวทีโชว์ หวังที่จะสร้าง ‘วงจรการเรียนรู้’ ให้ดนตรีแจ๊สอยู่ได้ยาว ไม่ใช่แค่ปีละครั้ง
“เราพยายามทำให้เด็กได้ขึ้นเวทีจริง ได้ซ้อมจริง ได้ฟังศิลปินของจริง มันคือการเปิดโลกที่โรงเรียนบางแห่งยังให้ไม่ได้”
ในเทศกาลดนตรี จึงมีเวทีเล็ก ๆ ชื่อ ‘Miles Davis Stage’ คือผลงานของความร่วมมือระหว่างทั้งสองคน เยาวชนจากพื้นที่ได้ขึ้นเวทีแสดงจริง เหตุผลที่ใช้ชื่อ ‘ไมล์ส เดวิส’ เพราะ ไมล์ส นี่แหละคือคนที่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ (Mentor of Talents) และเวทีนี้จึงเป็นเวทีสำหรับปั้นนักดนตรีรุ่นใหม่โดยเฉพาะ
ทั้งนี้ บุคคลนอกพื้นที่อาจจะไม่รู้ว่า ในจังหวัดสงขลา มีโรงเรียนมัธยมที่ปลูกฝังดนตรีมายาวนาน โรงเรียนหลายแห่งมีรากฐานดนตรีที่ดี เช่น มหาวชิราวุธ, แสงทอง, หาดใหญ่วิทยาลัย ฯลฯ และกลุ่มครูวงโยธวาทิต เป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญ เป็นผู้บ่มเพาะนักดนตรีรุ่นใหม่ในวันนี้
“มีเด็กคนหนึ่งเดินมาบอกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกว่า เขาเป็นนักดนตรีจริง ๆ” ป๋องเล่าด้วยความประทับใจ
“แล้วเราก็รู้สึกร่วมกันว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ มันมีความหมาย” ตุ๊ก เสริม
บนเวทีใหญ่ กลุ่มศิลปินจากกรุงเทพฯ ที่ตุ๊กชักชวนมา จะบรรเลงสลับกับวงจากภาคใต้ที่ป๋องช่วยบ่มเพาะไว้ คือบทสนทนาระหว่าง ‘มือเก่า’ กับ ‘มือใหม่’ ระหว่าง ‘คนในเมือง’ กับ ‘คนในพื้นที่’ และระหว่าง ‘ความหวัง’ กับ ‘โอกาส’
เมื่อถามว่าความท้าทายที่สุดของการทำงานร่วมกันคืออะไร ทั้งคู่ตอบตรงกันว่า ‘เวลา’
“ทุกคนมีภาระประจำ เราต้องแบ่งเวลามาทำงานตรงนี้ ไม่มีเงิน ไม่มีชื่อเสียง มีแต่แรงใจ” ตุ๊กว่า
“แต่เราก็เลือกจะทำ เพราะเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกว่า ถ้าเรายังมีแรง ก็อยากทำต่อ” ป๋องกล่าวทิ้งท้าย
Hatyai Jazz Music Festival ไม่ใช่งานที่เกิดขึ้นจากโครงการราชการ ไม่ได้เริ่มจากแผนพัฒนาเมืองหรือยุทธศาสตร์ชาติ มันเริ่มจากบทสนทนาเล็ก ๆ ของคนรักดนตรี จากแรงกระเพื่อมของผู้ชายสองคนที่เชื่อว่า ถ้าไม่มีเวที ก็ต้องสร้างมันขึ้นมาเอง
ตุ๊ก บอกว่าเขาไม่ได้ฝันให้เทศกาลนี้กลายเป็นงานระดับนานาชาติ แต่อยากให้มันเป็นงานที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง “ผมอยากให้มันกลายเป็นเรื่องปกติของเมือง คือมีแจ๊สให้ฟัง มีวงดนตรีเล่น แล้วคนแถวนี้ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อจะเจอของดี”
เขาฝันอยากเห็นวงจากโรงเรียนมัธยมที่หาดใหญ่ได้ขึ้นเวทีเดียวกันกับวงจากกรุงเทพฯ เขาฝันถึงการที่ศิลปินภาคใต้สามารถยืนอยู่บนเวทีแจ๊ส โดยไม่ต้องเปลี่ยนสำเนียงของตัวเอง “ทุกคนควรเล่นในแบบที่ตัวเองเป็น มันถึงจะสนุก”
ป๋อง ฉายภาพอนาคตของแวดวงดนตรีแจ๊สภาคใต้ว่า ควรจะมี ecosystem ของตัวเอง มีคนเขียนเพลง มีคนเรียบเรียง มีคนจัดเวที มีคนสอน และมีคนฟัง “ผมไม่ได้อยากให้ทุกคนเล่นแจ๊ส แต่ผมอยากให้แจ๊สเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีอยู่จริง ไม่ใช่แค่ชื่อที่อยู่ในแบบเรียน” เขายังพูดถึงฝันที่ไกลกว่านั้น การมีแจ๊สที่ผสมกับวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ ไม่ใช่แค่เอามาเล่นประกอบ แต่ให้มันหลอมรวมกันในระดับเนื้อหา
ทั้งสองคนรู้ว่าความฝันแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในปีสองปี แต่เริ่มได้จากการจัดเวทีเล็ก ๆ สร้างงานดี ๆ และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนคนหนึ่งได้จับกีตาร์แสดงต่อหน้าคนดูจริง ๆ เป็นครั้งแรก
“พอเราทำปีแรก มันเหมือนเป็นการลอง” ตุ๊กกล่าว “แต่พอคนกลับมาดูปีที่สอง เราก็เริ่มเชื่อว่า มันไปต่อได้”
ป๋องเสริมว่า “บางทีการพัฒนาเมือง มันไม่ได้ต้องใช้แผนใหญ่โต มันใช้หัวใจก็พอ”
เทศกาลแจ๊สหาดใหญ่ คือบทเรียนเล็ก ๆ ของเมือง ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องเริ่มจากนโยบายใหญ่ หรือทุนก้อนโต แต่เริ่มต้นได้จากเสียงดนตรีที่ดังกังวานออกจากเวที กับผู้คนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมถือร่มนั่งฟังเพลงท่ามกลางสายฝน
เมื่อมีคนเล่น และมีคนฟัง เมื่อนั้นเสียงดนตรีจะเดินทางต่อได้เอง
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์