13 ส.ค. 2567 | 15:32 น.
KEY
POINTS
ช่วงการแข่งขันยิมนาสติกโอลิมปิกที่ผ่านมา หลายคนอาจเห็นข่าว ‘บีคอน’ (Beacon) สุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ เข้ามาทำหน้าที่ฮีลใจนักกีฬายิมนาสติกอเมริกา พร้อมป้ายสตาฟและตำแหน่งว่า ‘Goodest Boy’ ซึ่งสุนัขบำบัดตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดูแลสุขภาพจิตของนักกีฬา จากสมาคมยิมนาสติกแห่งสหรัฐอเมริกา (USAG)
นอกจากเจ้าบีคอนแล้ว เราคงพอได้ยินเรื่องราวของสุนัขบำบัด ม้าบำบัด หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมดูแลสุขภาพใจของผู้คนและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี
แต่กว่าจะมีทางเลือกนี้เกิดขึ้นในสังคม การใช้สัตว์ร่วมกับการบำบัดใจผู้คนเคยเป็นแนวคิดที่ถูกหัวเราะเยาะและไม่เห็นด้วยมาก่อน
บุคคลที่ฝ่าเสียงเย้ยหยัน รวมทั้งข้อกังขาต่าง ๆ มาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คือนักจิตวิทยานามว่า ‘บอริส เมเยอร์ เลวินสัน’ (Boris Mayer Levinson) ผู้ค้นพบความสามารถพิเศษแสนฮีลใจของสุนัขโดยบังเอิญ
จุดเริ่มต้นของการค้นพบ คือช่วงทศวรรษที่ 1960 เมื่อพ่อแม่ผู้สิ้นหวังได้พาเด็กชายคนหนึ่งมาพบกับเลวินสัน ช่วงนั้นพวกเขากำลังหนักใจเพราะหาวิธีรักษาลูกนานแค่ไหน ก็ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น
โชคดีที่พ่อแม่เด็กมาถึงก่อนเวลานัดหมายราว 1 ชั่วโมง ในตอนนั้น เลวินสันยังคงกับง่วนอยู่กับเอกสารบนโต๊ะทำงานและยังไม่พร้อมเริ่มการรักษา ขณะที่ ‘จิงเกิลส์’ สุนัขของเขานอนเลียขนอยู่ใกล้ ๆ
เมื่อพ่อแม่และเด็กเปิดประตูเข้ามาในห้อง เจ้าจิงเกิลส์จึงโผวิ่งเข้าไปหาเด็กชายทันที แทนที่จะแสดงอาการตื่นกลัว ตรงกันข้าม เขาโอบกอดและลูบหัวเจ้าสุนัขอย่างเป็นมิตร เลวินสันละสายตาจากเอกสารบนโต๊ะ มองไปยังเด็กและสุนัขด้วยความงุนงง เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่กำลังจะแยกทั้งคู่ออกจากกัน แต่เลวินสันขอให้ปล่อยเด็กไว้กับสุนัขอีกสักพัก
หลังจากนั้นไม่นาน เด็กชายได้หันมาถามเขาว่า “ถ้ามาที่นี่แล้วจะได้เล่นกับสุนัขตัวนี้อีกไหม” เมื่อเลวินสันยืนยันว่าทั้งคู่จะได้พบกัน เด็กชายก็แสงท่าทีว่าอยากกลับมาอีกด้วยความเต็มใจ
วันเวลาผ่านไป เด็กชายคอยเล่นกับเจ้าจิงเกิลส์ราวกับโลกนี้มีเพียงเขาและเจ้าหมา โดยไม่ได้สนใจคนอื่นมากนัก จนกระทั่งเจ้าจิงเกิลส์หันมาเล่นและแสดงความรักกับเลวินสันผู้เป็นเจ้าของบ้าง
ณ ตอนนั้น คล้ายว่าเลวินสันจะถูกต้อนรับเข้ากลุ่มด้วย เพราะเด็กชายค่อย ๆ เปิดใจคุยกับเขาทีละน้อย จนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ และสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กคนนี้ได้ในที่สุด
เลวินสันตั้งข้อสังเกตว่า อาจเพราะสุนัขสามารถสร้างความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยให้กับมนุษย์ได้ เพราะนอกจากท่าทีที่เป็นมิตรแล้ว การไม่สามารถโต้ตอบเป็นภาษาเดียวกับมนุษย์กลายเป็นข้อดีที่ช่วยให้ผู้คนรู้สึกว่า ได้รับการยอมรับ ชื่นชม และมีพื้นที่ให้เป็นตัวเองได้โดยไม่ถูกตัดสิน โดยเฉพาะเด็ก ๆ
เพราะเมื่อพ่อแม่พาเข้ามาบำบัดรักษา ด่านแรกของผู้เชี่ยวชาญคือการทำให้เด็ก ๆ ไว้วางใจและยอมเปิดใจว่าพวกเขาคือทีมเดียวกันและตั้งใจอยากให้เด็ก ๆ ดีขึ้น
ดังนั้นการมีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นมิตร รวมทั้งได้รับการฝึกฝนเข้ามาอยู่ในห้องด้วย จึงเป็นเหมือนผู้ช่วยละลายพฤติกรรม หรือทำให้บรรยากาศโดยรวมสบาย ๆ มากขึ้น ช่วยลดระดับกำแพงในใจของเด็กลง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เด็กคนนั้นต้องไม่กลัวหรือมีความทรงจำเลวร้ายกับสุนัข ไม่เช่นนั้นผลลัพธ์อาจตรงกันข้าม
ในปี 1961 เลวินสันได้นำเสนอแนวคิดการใช้สัตว์มาเป็นผู้ช่วยบำบัด หรือ ‘Animal-Assisted Therapy’ (AAT) ต่อสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association: APA) แต่ในขณะนั้น ทฤษฎีดังกล่าวกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพื่อนร่วมงานบางคนล้อเลียนเขาว่า “เมื่อได้ค่ารักษามาแล้วต้องหารกับสุนัขด้วยหรือเปล่า” บ้างก็หัวเราะเยาะให้กับแนวคิดนี้
ทว่าเลวินสันไม่ได้หวั่นไหว เขายังคงมุ่งมั่นทำสิ่งที่เชื่อต่อไป และตีพิมพ์บทความหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘The Dog as a Co-therapist’ ในปี 1962 เพื่อแนะนำวิธีการใช้สัตว์ในบริบทของการบำบัด ตามมาด้วยบทความ ‘The Dog as a Social Tonic’ ในปี 1964 ว่าด้วยเรื่องผลลัพธ์เชิงบวกต่อการเข้าสังคมและอารมณ์ของผู้ป่วยจากการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยง รวมทั้งหนังสือเรื่อง ‘Pet-Oriented Child Psychotherapy’ ในปี 1969 ที่เจาะลึกข้อดีของการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยง ในการรักษาเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม
10 ปีต่อมา นับตั้งแต่เขาเสนอแนวคิดดังกล่าวเป็นครั้งแรก มีข้อมูลที่พบว่านักจิตวิทยา 16% จาก 319 คน ใช้สัตว์เลี้ยงในการบำบัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับแนวคิด AAT มากขึ้น จึงเรียกได้ว่าผลงานของเขาช่วยปูทางให้เกิดการวิจัยและศึกษาเพิ่มเติมหลายชิ้น
อย่างงานวิจัยหนึ่งที่ค้นพบว่า ผู้ที่ผูกพันกับสัตว์จะมีความรู้สึกนับถือตนเอง (self-esteem) เพิ่มขึ้นและมีระดับภาวะซึมเศร้าที่ลดลง เนื่องจากสัตว์ช่วยเป็นที่พักพิงทางใจและสร้างความสบายใจให้ผู้คนได้ อีกทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน เช่น ออกซิโทซิน เซโรโทนิน และโพรแลกติน ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและตอบสนองต่อความเครียดในทิศทางที่ดีขึ้น อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลจึงมีโอกาสลดลงไปด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่าการมีสัตว์เลี้ยงช่วยเพิ่มโอกาสให้คน ๆ นั้นมีความเห็นอกเห็นใจตนเองและเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้นจากการดูแล รับผิดชอบและความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง
ปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามีทั้งองค์กร หน่วยงาน โปรแกรมการบำบัดหลายแห่งที่ฝึกฝนสัตว์ เพื่อเป็นผู้ช่วยดูแลสุขภาพจิตของผู้คน โดยสัตว์ที่ได้รับความนิยม ส่วนมากคือสุนัขและม้า
ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้มากขึ้นทุกวัน โดยมีทั้งฝั่งที่สนับสนุนทฤษฎีของเลวินสัน และฝั่งที่ออกมาวิเคราะห์ให้เห็นช่องว่างของงานวิจัยบางชิ้น ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าผลลัพธ์ที่ดีนั้นเกิดจากการใช้สัตว์บำบัดโดยตรง
แต่อย่างน้อยข้อสังเกตของเลวินสัน ก็ช่วยจุดประกายให้ผู้คนเริ่มหันมาศึกษาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อดูแลสุขภาพใจของตนเองมากขึ้น และหันมามองสัตว์เลี้ยงว่าเป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยง เพราะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้โลกของมนุษย์สักคน (หรืออีกหลายคน) สดใสและน่าอยู่กว่าที่เคยเป็นมา
เรื่อง: ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
ภาพ: ภาพ ‘บอริส เมเยอร์ เลวินสัน’ จาก the Brazil Immigration Card in 1963, ภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ จาก Pexels
อ้างอิง:
Meet Beacon, the Gymnastics Therapy Dog Who Cheered on Team USA From Afar
Animal-assisted therapy: is it undervalued as an alternative treatment?
HSOA Journal of Alternative, Complementary & Integrative Medicine