‘ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ’ กับบทเรียน “แม้แต่คนที่แรงที่สุด ก็มีวันที่อ่อนแอได้”

‘ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ’ กับบทเรียน “แม้แต่คนที่แรงที่สุด ก็มีวันที่อ่อนแอได้”

‘ซิลวี่ ภาวิดา’ กับบทเรียนรักตัวเอง เมื่อภาพลักษณ์ความมั่นใจกลายเป็นกรงทอง และความอ่อนแอกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอิสรภาพ

KEY

POINTS

บางคนอาจรู้จัก ‘ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ’ จากภาพลักษณ์ที่ดูมั่นใจ ทั้งบนเวที บนหน้าจอ หรือแม้แต่ในบทสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ หลายปีที่ผ่านมา เธอมักถูกพูดถึงในฐานะผู้หญิงที่กล้าเป็นตัวเอง กล้าแสดงความคิด และกล้าท้าทายกรอบเดิม ๆ ของสังคม แต่ในบทสนทนานี้ เธอเลือกวางสิ่งเหล่านั้นไว้ข้างตัว แล้วพูดถึงวันที่รู้สึกไม่มั่นใจอย่างเปิดเผย

เพราะแม้แต่คนที่ดู ‘แรง’ ที่สุดในสายตาคนอื่น ก็มีวันที่อ่อนแอเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะตัวตนเปลี่ยนไป แต่เพราะเข้าใจตัวเองมากขึ้นต่างหาก

สามคำนิยามตัวตน

“อยากให้ลองนิยามตัวเองด้วยคำสามคำ”

คำถามง่าย ๆ ที่ทำให้ซิลวี่หยุดคิด สักครู่หนึ่ง จากนั้นก็หันกลับมายิ้มเบา ๆ ก่อนตอบช้า ๆ ชัด ๆ ทีละคำ 

“สุด มั่น จริง”

สามคำที่ออกมาจากปากเธอ ฟังดูเหมือนสโลแกน แต่เมื่อมองลึกลงไป มันกลับเป็นการเดินทางที่ยาวนานเกินครึ่งชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง เพื่อค้นหาว่าตัวเองคือใคร

ซิลวี่วัย 30 ปี ศิลปินที่คนรู้จักในชื่อของความมั่นใจ ความกล้าหาญ และความแรงจัดเต็ม แต่หลังจากที่เธอพูดคำสามคำนั้นออกมา เธอกลับบอกอีกว่า

“ถ้าให้มองตัวเองตอนนี้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนธรรมดาทั่วไป เป็นมนุษย์ที่เจ็บได้ ไม่มั่นใจได้ เป็นคนปกติเลย”

นี่คือจุดเริ่มต้นของการสนทนาที่เปลี่ยนทุกสิ่งที่เราคิดว่ารู้จักเกี่ยวกับ ‘ซิลวี่’ การสนทนาที่จะพาเราไปสู่ใจกลางของคนคนหนึ่ง ที่เคยติดอยู่ใน ‘กรง’ ของภาพลักษณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้น

‘ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ’ กับบทเรียน “แม้แต่คนที่แรงที่สุด ก็มีวันที่อ่อนแอได้”

แล้วตอนนี้ ซิลวี่ชอบตัวเองไหม?

“ชอบ ชอบมากกว่าตอนแรก ๆ ด้วย ตอนนี้ยังแรงอยู่ แต่ซอฟต์ลงนิดนึง เพราะคุยกับตัวเองเยอะขึ้น ยอมรับความอ่อนแอของตัวเองในบางวัน”

นี่คือเสียงของผู้หญิงที่กำลังเรียนรู้ที่จะ ‘รักตัวเอง’ แบบใหม่ ไม่ใช่การรักที่ต้องแสดงให้คนอื่นเห็นตลอดเวลา แต่เป็นการรักที่เริ่มต้นจากการยอมรับว่า แม้แต่คนที่ ‘แรง’ ที่สุด ก็มีวันที่อ่อนแอได้

กรงทองของการเป็น ‘ไอคอน’

15 ปี ในวงการบันเทิง เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 15 ปี ซิลวี่เติบโตมาพร้อมกับผู้คนที่มองหาแรงบันดาลใจจากเธอ เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้า กล้าแต่งตัว กล้าพูด กล้าเป็นตัวเอง

แต่สิ่งที่ไม่มีใครเห็นคือน้ำหนักที่เธอแบกไว้บนบ่า

“ในฐานะศิลปิน เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นคนที่ดึงให้คนอื่นกล้าเป็นตัวเอง แล้วมันทำให้เรากดดันตัวเองไปเอง ไม่มีใครกดดันเรา แต่เราแต่งตั้งตัวเองให้เป็นแบบนั้นเอง”

เธอเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่เธอเรียกว่า ‘การยึดติดกับการเป็นศิลปิน’ ช่วงเวลาที่เธอรู้สึกว่าไม่สามารถแสดง ‘ความไม่มั่นใจ’ ออกมาได้ เพราะแบรนดิ้งของเธอคือ ‘ความมั่น’

“บางทีเราฝืนที่จะต้องเป็นแบบนั้น ต้องมั่นใจตลอดเวลา ทั้งที่บางทีซิลส่องกระจกยังรู้สึกว่าหน้าเราดูแย่ แต่เวลาออกไปข้างนอก เราพูดแบบนี้กับใครไม่ได้ เพราะเราคิดไปเองว่า เราพูดแบบนี้กับใครไม่ได้”

นี่คือความจริงที่หลายคนอาจไม่เข้าใจ การเป็น ‘ไอคอน’ ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีวันสงสัยตัวเอง การมี ‘แบรนดิ้ง’ ที่ชัดเจนไม่ได้หมายความว่า คุณไม่มีวันรู้สึกไม่มั่นใจ มันเหมือนกับการถูกขังอยู่ในกรงทอง ที่คนอื่นมองเข้ามาเห็นแต่ความงาม แต่คนข้างในกลับรู้สึกว่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

“แต่ตอนนี้กล้าพูดแล้วว่าขออายไลเนอร์ถึงหูเลยนะ” 

เธอหัวเราะเสียงดัง ขณะที่พูดประโยคนี้ เสียงหัวเราะที่เต็มไปด้วยการปลดปล่อย เสียงของคนที่ในที่สุดก็กล้าที่จะเป็นตัวเองจริง ๆ

“เดี๋ยวนี้กล้าแล้ว เพราะรู้สึกว่า เฮ้ย เราเป็นคน เรามีความรู้สึกได้ ไม่มั่นใจได้ และคนที่มั่นใจตลอดเวลา มันไม่ใช่คนแล้ว”

‘ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ’ กับบทเรียน “แม้แต่คนที่แรงที่สุด ก็มีวันที่อ่อนแอได้”

‘สีชมพู’ ที่ท้าทายโลก

‘pink’ เพลงล่าสุดของซิลวี่ ที่เธอตั้งใจสื่อสารบางอย่างกับคนที่ยังไม่กล้าเอาตัวเองออกมาจากกรอบ

“อันดับแรกเลย อยากพูดเรื่องเซ็กซ์ รู้สึกว่าเรื่องเซ็กซ์มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ แต่ปกติเราจะไม่ค่อยเห็นใครพูดถึง โดยเฉพาะในมุมของผู้หญิง”

นี่คือจุดที่ซิลวี่เริ่มแสดงให้เห็นการเติบโตของเธอ จากคนที่เคยฝืนตัวเองเพื่อให้เข้ากับภาพลักษณ์ กลายเป็นคนที่กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่สังคมคาดหวัง

เธอต้องการให้คนฟังได้รู้สึก ‘เซ็กซี่’ แต่ความเซ็กซี่ในความหมายของเธอไม่ได้จำกัดอยู่แค่การแต่งตัวโป๊หรือการดึงดูดสายตาคนอื่น

“ความรู้สึกเซ็กซี่ มันไม่จำเป็นต้องแต่งตัวโป๊ ถึงจะรู้สึกแบบนั้น บางคนที่แต่งตัวมิดชิดมาก ๆ แต่เขารู้สึกเซ็กซี่ แล้วมันก็ออกมาทางอารมณ์ ทางพลังงาน มันคือการได้รู้สึกเป็นตัวเอง”

การรู้สึกเซ็กซี่ในความหมายของซิลวี่ คือการมองกระจกแล้วรู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นมอง มันเป็นขั้นที่สูงกว่า ‘ความมั่นใจ’ เป็นการยอมรับและเฉลิมฉลองตัวเองในแบบที่ลึกซึ้งกว่า

แล้วคุณแม่ได้ฟังเพลงนี้หรือยัง?

“แม่ยังไม่ได้ฟังเลย” เธอหัวเราะ

ถึงตรงนี้เราจึงได้เห็นอีกด้านของซิลวี่ แม้เธอจะกล้าแสดงมุมมองเรื่องเซ็กซ์ผ่านเพลง แต่เธอก็ยังเป็นลูกสาวคนหนึ่งที่อาจจะยังไม่พร้อมให้แม่ฟังเพลงบางเพลง

ความรักที่เปลี่ยนทุกอย่าง

เมื่อพูดถึง ‘ความรัก’ ดวงตาของซิลวี่เปลี่ยนไป มันเปล่งประกายแบบเก็บไม่อยู่

“เป็นคนคลั่งรักนิดนึง” เธอยอมรับพร้อมหัวเราะร่วน เมื่อพูดถึงคนรัก

“เติมเต็มทุกด้านเลย เชื่อว่ามันเป็นความรักที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย แล้วทำให้รู้จักคำว่า ‘รัก’ เต็มขึ้น ‘รัก’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการรอคอยความรักตลอดเวลา แต่เป็นรักที่เราต้องทำอะไรให้เขาบ้าง”

นี่คือครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่เธอมีแฟน และมันไม่ใช่แค่เรื่องของการมีคนรัก แต่เป็นการเรียนรู้ ‘วิธีการให้’ การเรียนรู้ ‘วิธีอยู่กับคนที่เป็นแฟน’

ความสัมพันธ์นี้ผ่านหลายเฟสมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เฟสเบื่อ เฟสรำคาญ แต่สิ่งที่ทำให้มันยังคงอยู่ได้คือ การที่ทั้งคู่สามารถ ‘คุยกันได้ตรงไปตรงมา’

“ประเด็นคือเราคุยกันตรงไปตรงมากับเขาได้ เขาก็รู้สึกเหมือนกัน เราคบกันมา 5 ปีแล้ว แต่แปลกจัง เรายังอยากไปต่อกับเขา”

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ เธอได้เรียนรู้ที่จะคิดถึง ‘การจากลา’ ด้วยประสบการณ์ที่เธอเคยเสียคุณพ่อไป เธอจึงมองความรักในมุมมองที่ลึกกว่า

“แวบแรกตั้งแต่เราคบกันเลย กลัวเลิกกัน”

แต่แล้วมีคำพูดหนึ่งจาก ‘มิ้น มิณฑิตา วัฒนกุล’ แฟนของเธอ ที่เปลี่ยนมุมมองนี้

“ไม่ต้องกลัว เพราะไม่จากเป็น ก็จากตายอยู่ดี”

ประโยคนี้ทำให้เธอเข้าใจว่า ถ้า ‘จาก’ แบบลึกขึ้น

“มันสูญเสียทั้งสองอันเลย แต่มันเป็นความรู้สึกที่ ถ้าไม่ลองก็จะไม่รู้ว่าเป็นยังไง”

นี่คืออีกหนึ่งการเติบโตของซิลวี่ จากคนที่เคยหนีความผูกพัน กลายเป็นคนที่เรียนรู้ที่จะเสี่ยงเพื่อความรัก

และความรักนี้ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนของเธอ แต่กลับทำให้เธอกล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น

“เรา Support กันและกัน เขาบอกให้เราใส่กระโปรงสั้นอีก ๆ ให้โชว์เลย เพราะซิลรู้สึกว่าการได้รู้สึกถึงความแซ่บ รู้สึกถึงความมั่นใจ มันเก๋ มันเป็นการ boost energy เรา”

อีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า ความรักที่ดี คือความรักที่ไม่ได้มาลิดรอนใครให้เป็นคนอื่น แต่มาเสริมให้เขาเป็นตัวเองได้เต็มที่ยิ่งขึ้น

‘ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ’ กับบทเรียน “แม้แต่คนที่แรงที่สุด ก็มีวันที่อ่อนแอได้”

การค้นหาตัวตนในโลกที่มีป้ายชื่อมากมาย

“จริง ๆ ซิลก็มีความลื่นไหลพอสมควร ตอนเด็ก ๆ ซิลมีความรู้สึกให้กับผู้หญิงครั้งแรก ตอนนั้นซิลก็คิดว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน”

ซิลวี่เล่าเรื่องการค้นหา ‘ตัวตนทางเพศ’ ของเธอ ด้วยน้ำเสียงที่เรียบง่าย ไม่ได้ทำเป็นว่ามันเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นว่ามันเป็นเรื่องง่าย

เธอผ่านช่วงที่คิดว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน ผ่านการคบกับทอม ผ่านการคบกับผู้ชาย จนในที่สุดได้ไปค้นพบคำว่า ‘Queer’ และ ‘Pansexual’

“Pansexual คือการรักคนคนนั้นโดยที่เห็นแค่ ‘soul’ ของเขาอย่างเดียว ไม่แคร์ว่าจะเป็นทอม ดี้ ตุ๊ด เกย์ transgender ได้หมด ตราบใดที่เรารู้สึกรักหรือชอบ”

เธออธิบายด้วยความเข้าใจ ไม่ได้สอนใคร 

“ถึงแม้ว่าตอนนี้ซิลจะคบกับผู้หญิง แต่ซิลก็ยังไม่ได้ identify ว่าซิลเป็นเลสเบี้ยนซะทีเดียว แต่ถ้ามีใครคิดว่าซิลเป็นเลสเบี้ยน ซิลก็ไม่ติดทั้งนั้น”

อีกจุดที่น่าสนใจของซิลวี่ เธอไม่ได้ยึดติดกับป้ายชื่อ เธอเข้าใจว่าโลกนี้ซับซ้อน และคนเราก็ซับซ้อนเกินกว่าจะใส่ลงในกรอบเดียว

แต่มันไม่ได้หมายความว่าเธอไม่เคยถูกรบกวนจากคำถามที่ ‘น่าเบื่อ’

เช่น “ชอบผู้หญิงหรือผู้ชายมากกว่ากัน”

“มันไม่รู้จะอธิบายยังไง ตอนนั้นความรู้สึกรักหรือชอบ เราชอบหมด เราถึงคบกับเขาไง เพราะเราไม่ได้แคร์ว่าเขาเป็นเพศอะไร มันวัดกันไม่ได้ว่าจะชอบอันไหนมากกว่า แต่ละคนมันต่างกัน”

นี่คือการอธิบายที่ชัดเจนที่สุดของการเป็นแพนเซ็กชวล ไม่ใช่เรื่องของเพศ แต่เป็นเรื่องของคน

หรือคำพูดอื่น ๆ เช่น “คงหาผู้ชายไม่ได้” หรือ “เพราะผิดหวังจากผู้ชายมา” หรือแม้แต่ “เดี๋ยวก็กลับไปคบผู้ชาย”

“เหมือนเขาคิดว่าเราไม่จริง แล้วมันก็เลย รู้สึกโดนดูถูก… ดูถูกความรัก”

เธอพูดประโยคนี้ด้วยน้ำเสียงที่หดหู่ แต่ก็เข้มแข็ง เพราะเธอรู้ว่าความรักที่เธอมีมัน ‘จริง’ ไม่ว่าคนอื่นจะคิดยังไง

อนาคตที่เขียนเอง

“5 ปีข้างหน้า…” ซิลวี่หยุดคิดสักครู่เมื่อถูกถามถึงอนาคต

“คิดว่าเราอาจจะมีบ้านด้วยกันก่อน เลี้ยงหมาด้วยกันก่อน พากันไปเที่ยวที่ไหนสักที่แบบเที่ยวรอบโลก Support กันและกันในแง่หน้าที่การงาน เติมเต็มความฝันกันและกัน ซึ่งฝันนั้นอาจจะไม่ใช่การแต่งงาน”

ซิลวี่กับคนรักไม่ได้เดินตาม conventional path ที่สังคมกำหนดไว้ แม้แต่ในเรื่องการแต่งงาน

เมื่อถามถึงเรื่อง ‘ลูก’

ซิลวี่เล่าถึงคู่เลสเบี้ยนที่เธอเพิ่งไปเจอ พวกเขาแต่งงาน มีลูกที่กำลังจะคลอดที่อเมริกา แต่สำหรับคู่ของเธอ พูดคุยกันแล้วและพบว่าไม่ได้ต้องการแบบนั้น

“เรามานั่งคุยกันว่า เราอยากมีสเต็ปแบบนั้นไหม ถ้ามุมของพี่มิ้น ถ้าพี่มิ้นต์อยากมี พี่มิ้นคงมีนานแล้ว เพราะพี่มิ้น 37 แล้ว มุมของซิลเอง ซิลก็ไม่เคยมองเห็นตัวเองมีลูก ซิลไม่ได้อยากมีลูก”

นับเป็นความกล้าหาญในแบบที่แตกต่าง กล้าที่จะไม่เดินตามเส้นทางที่คนอื่นกำหนดให้ กล้าที่จะเขียนเรื่องราวของตัวเองแบบที่ไม่เหมือนใคร

‘ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ’ กับบทเรียน “แม้แต่คนที่แรงที่สุด ก็มีวันที่อ่อนแอได้”

ข้อความถึงคนรุ่นใหม่

เมื่อถูกถามว่าอยากจะบอกอะไรกับตัวเองในอดีต ซิลวี่ตอบด้วยรอยยิ้ม

“อยากจะบอกว่า ‘อย่าซ่านัก เก็บไว้บ้าง’ เพราะตอน 25-26 มึงได้ซ่าสุด ๆ แน่ เก็บแรงไว้ก่อน”

เธอขยายความความซ่าในอดีตให้ฟังว่า ในตอนนั้นเธอเองก็เป็นเด็กเกเรนิดนึง และรู้ด้วยว่า ต่อให้กลับไปเตือนได้จริง เด็กสาวคนนั้นก็คงไม่ฟังหรอก 

และสุดท้าย เมื่อถูกถามว่าอยากจะบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาตัวตนเรื่องเพศ ซิลวี่พูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนที่สุดในบทสนทนาทั้งหมด

“อยากจะบอกว่า... การที่เราแตกต่าง การที่เราไม่เหมือนเพื่อน มันอาจเป็นความรู้สึกที่หนักอึ้งมาก ๆ แต่ว่าเราจะมีพื้นที่ของเราเสมอ ขอให้คุณได้เจอ community ของตัวเอง แล้วก็ขอให้คุณใจดีกับตัวเองเยอะ ๆ”

เธอเว้นวรรค ก่อนพูดปิดจบว่า

“ถ้าพื้นที่ตรงนั้นไม่สามารถทำให้เรารู้สึกเซฟได้ จงมีตัวเองเป็นเพื่อน แล้วพาตัวเองไปหา safe space ของตัวเอง หา community ของตัวเอง”

“และขอให้ทุกคนได้เจอพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง”

 

สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า

ถ่ายภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม