วันวิสาข์ วราชิต: กอบกู้ความหวังของมนุษยชาติ ผ่านการส่งต่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

วันวิสาข์ วราชิต: กอบกู้ความหวังของมนุษยชาติ ผ่านการส่งต่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

'เอม - วันวิสาข์ วราชิต' คนไทยเพียงไม่กี่คนที่เลือกทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาตลอดระยะเวลาสิบปี การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของเธอยังคงดำเนินต่อไป เพื่อช่วยให้โลกไม่หม่นเศร้าจนเกินไป

“ทุกอย่างพังราบ ตัวอาคารที่เคยอยู่ตรงนั้นก็หายไปหมด”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2013 ฟิลิปปินส์ถูกพายุไห่เยี่ยนพัดถล่ม สาดซัดทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากลอง จากความเร็วลมเกินกว่า 330 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้คร่าชีวิตผู้คนไป 2,357 ราย และส่งผลกระทบต่อคนอีกนับสิบล้านราย นี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่มีใครคาดคิดว่าธรรมชาติจะแสดงพลังออกมาให้เห็นในรูปแบบใด

เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวล อดีตประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน (Benigno Aquino) แห่งฟิลิปปินส์ ได้ออกมาประกาศให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เพราะเขาเองก็ไม่รู้ว่าแรงลมมันจะหนักหนาเพียงไหน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่เพียงใด ไม่มีใครจนกว่าธรรมชาติจะบัลดาลโทสะซัดทำลายเมืองทาโคลบานจนไม่เหลือซาก

ท่ามกลางความวุ่นวาย ‘เอม - วันวิสาข์ วราชิต’ คนไทยเพียงคนเดียว ตัดสินใจเข้าร่วมภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในอีกสองเดือนให้หลัง เพราะเธอมีเหตุติดพันโปรเจกต์ฉีดวัคซีนอหิวาตกโรค ให้กับชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อยู่ก่อนแล้ว และเธอไม่อยากทิ้งชาวบ้านไปในประเทศ เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ แดนไกล

เส้นทางการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของเธอเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เธอมองเห็นความหวัง ความฝัน และความตายที่คืบคลานมายังมนุษย์ แต่ไม่มีสักครั้งที่เธอจะหมดหวัง ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ วันวิสาข์ก็พร้อมที่จะลงมือทำทุกอย่าง คอยประคองไม่ให้เพื่อนร่วมโลกถูกความสิ้นหวังกลืนกินจิตใจ

สิบปีที่ผ่านมา เธอมีเพื่อนร่วมงานที่เลือกเปลี่ยนสายงาน กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ต้องห่วงความทุกข์ ไม่ต้องกังวลว่าวันพรุ่งนี้จะต้องลุยไปช่วยเพื่อนมนุษย์คนไหนอีก แต่ไม่ใช่กับเธอ หญิงสาวที่เคยถูกตราหน้าว่า คงล้มเลิกความตั้งใจไปตั้งแต่ขวบปีแรก

และนี่คือเรื่องราวของเธอ วันวิสาข์ วราชิต หญิงสาวที่ไม่ยอมแพ้ต่อเพื่อนมนุษย์ และพร้อมจะส่งต่อความหวังให้โลกนี้ไม่หม่นหมองไปมากกว่าที่ผ่านมา

วันวิสาข์ วราชิต: กอบกู้ความหวังของมนุษยชาติ ผ่านการส่งต่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

The People: ทำไมคุณถึงสนใจสายงานเกี่ยวกับมนุษยธรรม

วันวิสาข์ : ตอนเด็ก ๆ พี่เคยดูข่าว ความทรงจำแรกเกี่ยวกับงานด้านนี้ ก็คือตอนที่มีเรื่องรวันดา (Rwanda) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เขตรวันดา ประมาณปี 1998-1999 ตอนนั้นเราก็ไม่ทราบหรอกค่ะว่ามันเกิดเรื่องอะไรขึ้นหรือว่าร้ายแรงแค่ไหน เพียงแต่เราจำได้ว่าภาพในข่าว คนที่นั้นดูลำบาก ดูเดือดร้อน อะไรแบบนี้ค่ะ ตอนนั้นก็ไม่มีอินเตอร์เน็ตด้วยค่ะ เราก็ไม่สามารถหาข้อมูลที่อื่นได้ค่ะ ตอนนั้นก็เป็นภาพจำอยู่ในหัวค่ะ แล้วก็มาอีกทีตอน ม.2 ค่ะ พี่สาวพี่อยู่มหาลัยแล้ว เขาก็โตแล้ว เขาเอา cassette tape กลับบ้านมาม้วนนึง ชื่อเทปมันชื่อ no bounderies การไม่มีพรมแดน

แล้วก็มันมีเพลงนึงที่พี่ชอบมาก ก็คือ Last Kiss - Pearl Jam ที่ปกของอัลบั้มเขียนว่า รายได้ทั้งหมดจากการขายเทปม้วน จะเอาไปช่วยเหลือผู้อพยพชาว Kosovo (โคโซโว) นั่นก็เป็นจุดเริ่มที่ทำให้พี่รู้สึกว่า ถ้ามีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้น เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนและช่วยเหลือคนพวกนี้ได้ค่ะ พอโตขึ้นพี่ก็กลับไปมองเทปม้วนนั้น แล้วก็หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นเขาขายเทปได้ประมาณ 1M USD แล้วก็เงินจากลิขสิทธิ์ของเทปม้วนนี้ถูกนำไปบริจาค 3 องค์กร หนึ่งในนั้นก็คือแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ก็เหมือนกับเป็นชะตากรรมแบบนึงที่ทำให้เราเข้าทำงานในด้านนี้ค่ะ 

The People: ช่วงมหาลัยก็เลยมุ่งเรียนเกี่ยวกับด้านมนุษยธรรมเป็นหลักเลยหรือเปล่า

วันวิสาข์: ช่วงมหาลัย พี่จบ ป.ตรี ทางด้านสังคมสงเคราะห์ ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกค่ะว่าเราอยากทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เรารู้แค่ว่าเราอยากไปทำงานที่แอฟริกาแค่นั้นเอง แล้วก็คิดว่า ถ้าจะไปทำงานในระดับระหว่างประเทศได้ นอกจากเรียนสังคมสงเคราะห์แล้ว เราก็ต้องเรียนเพิ่มทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราก็เลยไปทำด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วก็เรียนเรื่องปรัชญาด้วย เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์แนวคิดของมนุษย์เอง 

มันมีหนังสือเล่มนึงที่อ่านแล้วติดใจมาก มันเป็นหนังสือที่ชื่อว่า ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม มันเป็นหนังสือที่เปลี่ยนวิธีคิดของพี่ค่ะ ทำให้รู้ว่า ความยากจนของคนคนหนึ่ง ของปัจเจกคน มันไม่ใช่เรื่องของแค่คนคนเดียว แต่มันเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคม มันทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถที่จะทำอะไรบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมได้ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม มันก็จะส่งผลต่อปัจเจกบุคคลเหมือนกัน ก็เลยตั้งใจเรียนหนังสือ แล้วก็รู้ว่าถ้าอยากทำงานองค์กรระหว่างประเทศ อย่างประเทศแอฟริกา เราก็ต้องเรียนต่อต่างประเทศเหมือนกัน ก็เลยตั้งใจเรียนมาก จบมาก็ได้เกียรตินิยมอันดับ 1

แล้วก็ทำให้ได้ทุนไปเรียนต่อทางด้าน The Master of Arts in International Humanitarian Action ที่ Uppsala University ประเทศสวีเดน เมื่อปี 2009 แล้วก็รู้ว่า ถ้าอยากทำงานต่างประเทศก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษให้เก่งมาก ๆ มีอยู่ช่วงนึงพี่ไม่ทำอะไรเลย เรียนหนังสือภาษาอังกฤษ 13 ชั่วโมง 6 เดือน เพื่อให้สอบภาษาอังกฤษผ่าน สุดท้ายก็ได้ทุนเรียนต่อ แล้วก็เรียนจบกลับมาได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจไว้ค่ะ 

The People: ที่บ้านสนับสนุนเราด้านนี้อยู่แล้วไหม 

วันวิสาข์: คุณแม่ไม่ทราบหรอกค่ะว่าเราเรียนไปแล้วจะต้องทำอะไร เราไม่ได้บอกเขาว่าเรามาทำงานต่างประเทศ ทำงานแอฟริกาอะไรอย่างนี้ค่ะ เขาเลี้ยงพี่มาแบบตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 25 ปี พี่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านหลังสามทุ่ม ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ดูทีวี ถ้าดูทีวีได้ก็ดูข่าว ดูสารคดี ดูการ์ตูนอะไรอย่างนี้ เขาค่อนข้างเข้มงวดค่ะ เราก็เลยไม่ได้บอกเขาว่าเรียนไปเพื่อไปทำงานอะไรแบบนี้ค่ะ แต่เขาค่อนข้างเชื่อใจว่าเราอยากทำอะไร เราต้องทำให้ได้ หมายความว่าเราจะต้องขยัน มีวินัยอะไรแบบนี้ค่ะ ตอนนั้นเขาก็เลยไม่ได้ถามอะไรมากค่ะ เขาก็แค่สนับสนุนให้เรียนจบออกมา แค่นั้นค่ะ พอเรียนจบก็ไม่ได้กลับมาเมืองไทยเท่าไหร่ 

The People: ตอนที่ได้รับทุนเมื่อปี 2009 พอกลับมาทำงานในชีวิตจริง คุณต้องปรับตัวเยอะไหม สิ่งที่คุณเรียนในห้องเรียนกับการทำงานจริงต่างกันอย่างไร

วันวิสาข์: พอพี่กลับมาพี่ก็มาทำงานที่ค่ายผู้อพยพค่ะ ค่ายที่จังหวัดตาก อำเภอแม่สอด ก็ที่เรียนมามันค่อนข้างจะเกี่ยวกับทฤษฎีเยอะค่ะ จะเป็นตัวอย่างในที่เรียน มันเป็นตัวอย่างเฉพาะจุด แค่ตัวอย่างตัวอย่างเดียว ถ้าสมมติว่าเราจะเอาสิ่งที่เรียนมา เราต้องมีความปรับตัว คือต้อง flexible กับ context ที่เราทำเยอะมาก ๆ คือสิ่งที่เราเรียนมาเป็นทฤษฎี เราจะต้องปรับให้เข้ากับงานที่เราทำ ต้องมีความ active, flexible มาก ๆ ในการทำงานของเรา เพราะว่าสิ่งที่เราเรียนมา มันไม่สามารถใช้ได้กับทุก role ที่เราทำงาน เพราะฉะนั้นการทำงานเป็น human aid workers การให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเนี่ย คือต้องใช้ความ flexible สูงมากในการทำงาน เพราะว่าทุก context ทุกบริบทที่เราไปทำงานมันก็ต่างกันทุกที่ ทุกประเทศ ทุกจังหวัด มันก็จะมี core value ที่ต้องยึดถือเอาไว้ แต่สุดท้ายแล้วการทำงานก็ต้องปรับตัวค่ะ ทั้งเรื่องเนื้องานด้วยและเรื่องสภาพการเรียนรู้ค่ะ 

The People: Core Value ที่เราต้องยึดไว้เป็นปกติคืออะไร

วันวิสาข์: Core  Value ของเราก็จะเป็น 7 principles ของ humanitarian action ก็จะมี neutrality, humanity, independence, voluntary base, universality อะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็จะมีสิ่งที่เราต้องยึดถือเอาไว้ เพื่อให้เราสามารถถูกยอมรับทางบริบทต่าง ๆ ได้ แล้วก็เพื่อให้เราทำงานได้โดยที่เป็นกลาง เป็นธรรม แล้วส่งประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลประโยชน์จริง ๆ 

The People: มองเรื่องความเป็นกลางเป็นยังไง

วันวิสาข์: ความเป็นกลาง ในฐานะที่ทำงาน humanitarian aid worker ค่ะ ความเป็นกลางหรือ neutrality เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าการที่เรายึดถือความเป็นกลาง มันจะทำให้เราได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่นั้น แล้วก็จากผู้ได้รับผมประโยชน์ ซึ่งเป็น beneficiary ของเรา มันเกี่ยวข้องมาก ๆ กับ security ความปลอดภัย ทั้งต่อตัวเราเอง ทั้งต่อชื่อเสียงขององค์กร เพราะฉะนั้นการทำงานในที่นึง ความเป็นกลางมันเป็นหนึ่งใน core value ที่เราต้องยึดถือไว้ค่ะ

 

The People: จะทำยังไงให้เขารู้ว่าเราไม่โน้มเอียงไปทางฝ่ายใด เพราะความเป็นกลางมันก็ยากอยู่เหมือนกัน

วันวิสาข์: อย่างเช่นตอนที่พี่ทำงานกับ MSF ค่ะ เวลาเรามีสถานพยาบาล สมมติเรามีโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่ที่เป็น conflict area เราจะรับผู้ป่วยจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ทุก party ใน conflict นั้น ๆ มันเป็นการส่งสัญญาณบอกว่า เราไม่ได้เลือกข้างนะ เรา treat คุณในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เท่าเทียมกัน เราไม่ได้เลือกว่า คุณเชื่อ political system หรือ religion แบบไหน คุณในฐานะมนุษย์ คุณเป็นผู้ป่วยของเรา เราจะดูแลคุณในฐานะคุณเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราไม่ได้ treat ว่าคุณเป็นใคร อยู่ฝ่ายใด ซึ่ง neutrality มันก็จะเกี่ยวข้องกับ core value อื่น ๆ เหมือนกัน เช่น humanity ค่ะ การเป็น universal การทรีตทุกคนให้เท่าเทียมกันหมด ไม่ใช่คุณอยู่ฝ่ายนี้ ฉันทรีตคุณดีกว่า คุณเชื่อศาสนานี้ ฉันช่วยคุณไม่ได้ การเป็น neutrality มันจะต้อง relate กับ 6 core values ที่เหลือเหมือนกันค่ะ

The People: ย้อนกลับไปอีกหน่อย ทำไมได้มาทำกับ MSF ได้

วันวิสาข์: ตอนที่พี่เรียน ป.โท พี่ทำเฉพาะทางเรื่อง conflict sensitivity และ public health in emergency  situations แล้วก็จะเรียนว่า ถ้าเป็นโรคนี้ทำยังไง เรียนเกี่ยวกับทุกขภิกขภัย การขาดอาหารเป็นยังไง ในมหาลัยที่เรียน เราก็ใช้ตัวอย่างของ MSF ในการสอน มันทำให้เรารู้สึกว่าเป็น nautural choice ว่าแบบ เขาเอาตัวอย่างมาสอนเรา มันต้องเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง เซ็ต standard ของการทำงานทางด้าน public health in emergency มันก็เป็นความฝันว่า ถ้าจบไปนะ อยากทำงานกับองค์กรนี้ 

The People: พอเข้ามาทำงานแล้วเติมเต็มความรู้สึกเราไหม

วันวิสาข์: คือตอนที่ถูกคัดเลือกเข้ามาทำงาน ก็ยากระดับนึงเลยนะคะ คือ MSF เป็นองค์กรที่ขึ้นชื่อมาก ๆ ว่าคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน field workers ยากมาก พี่ผ่านการ recruiting process 3 ขั้นตอน ครั้งแรกคือสัมภาษณ์ก่อน ครั้งที่สองคือเขาเรียกไปทำ 1 by 1 assessment ก็คือเรียกพี่บินไปอีกประเทศเพื่อไปทำ 1 by 1 assessment ก็คือเขาให้ทำ simulation แล้วก็มี interview อีกรอบ แล้วก็มี little exam ตอนนั้นเราอ่านหนังสือเยอะมาก เตรียมตัวดีมาก พยายามหาเพื่อนร่วมชั้นที่เคยทำงานกับ MSF ถามเขานู่นนี่นั่น ไม่ว่าเตรียมตัวมาแค่ไหน มันช่วยไม่ได้มากนักอะค่ะ เพราะว่าสิ่งที่เขา assess เรา ก็คือความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แล้วเขาก็  assess ความมุ่งมั่นของเราว่าเรามุ่งหวังจะทำงานนี้จริง ๆ ไหม ซึ่งนั่นก็คือ surprise แบบนึง ตอนนั้นก็ไม่เก่ง technical ไม่ได้เป็น technical expert คิดว่า เอาวะ ทำ ๆ ไป ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เขาเรียกมาทำ assessment ก็ดีแค่ไหนแล้ว

ถือว่าเป็นการลองสนามอะไรแบบนี้ แล้วพอได้จริง ๆ พี่ดีใจมาก แต่มันก็ยังไม่ได้ถูกส่งไปตามที่ต่าง ๆ เราก็รอเวลาอยู่ คือพอเราได้เข้าไป มันจะเป็น pool of staff ค่ะ แต่เขาจะเรียกไปก็ต่อเมื่อมี mission ที่เหมาะกับเรา ตอนนั้นพี่ยังทำงานอยู่ที่แม่สอดอยู่เลยค่ะ ตอนที่เขาเรียกพี่ไป พี่ก็บอกว่ารอก่อน เพราะพี่อยากจะทำงานที่แม่สอดให้เสร็จ เพราะว่าตอนนั้นที่แม่สอดมันมีโปรเจคสำคัญ ก็คือการฉีดวัคซีนอหิวาตกโรค (Cholera) ซึ่งมันสำคัญและมันต้องการคน พี่ไม่อยากทิ้งงาน พี่ก็เลยบอกว่ารอก่อน แล้วพอจบโปรเจคของที่แม่สอด พี่ก็เลยบอกพี่พร้อมแล้วนะ แล้วเค้าก็เรียกพี่ไปเลยภายใน 2 เดือน

ตอนนั้นเกิดไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่ฟิลิปปินส์ ก็เรียกไป ตอนนั้นเป็น first missioner คือครั้งแรกที่ทำงานใน mission แล้วเป็น emergency mission ตอนนั้นคิดว่าหนักแน่นอน ก็ไป คือเราเรียนมา เรามีเพื่อนในสาขานี้มากมาย ตอนนั้นพี่อายุประมาณ 27 พี่ ๆ คนอื่นที่เรียน ป.โท มาด้วยกัน อายุ 29-30 ทุกคนโตหมดแล้ว พี่ก็มีพี่จ๋า เขาก็จะเป็นห่วง เขาก็จะเตรียม เอาเสื้อผ้าอย่างนี้ไป เอารองเท้าอย่างนี้ไป คือทุกคนเตรียมความพร้อมดีมาก แต่มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย พอไปถึงจริง ๆ ครั้งแรกเลยคือขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพราะมันไม่มีทางอื่นเข้าไปได้ เกิดมาไม่เคยขึ้นเฮลิคอปเตอร์เลย ขึ้นไปก็ต้องอยู่ประมาณ 45 นาที

ถ้าทำงานในฟิลด์นี้จะรู้ว่าเฮลิคอปเตอร์เป็นอะไรที่ไม่เสถียรที่สุดแล้ว มันอันตราย พอไปถึง ทุกอย่างราบเป็นหน้ากลอง ไปถึงก็ทำงานเลย เขาก็จับเข้าประชุมแล้วก็เริ่มงานเลย จริง ๆ ตอนแรกคิดว่าหนัก แต่พอคุย ๆ กับ colleague คนอื่น เขาเพิ่งกลับมาจาก Syria กัน ซึ่ง Syria ตอนนั้น ปี 2013 คือหนักมาก เพิ่งกลับมาจาก Yemen กันอะไรแบบนี้ เราก็เหมือนเบเบี๋มากที่เขาส่งมา emergency mission แต่เราก็ใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราต้องมีความ flexible มาก ๆ อะไรที่ถูกฝึกมาก็ใช้หมด เต็มที่ ก็รอดมาได้ 

The People: ก่อนที่จะไป ต้องมีการฝึกอบรบยังไงบ้าง

วันวิสาข์: เขาฝึกคนค่อนข้างดีนะคะ เขามีให้ทำ online technical knowledge หรือต่าง ๆ เขาส่งพี่ไปฝึกค่ะ technical expert ที่ Brussels, Belgium แล้วก็ที่ Rome, Italy ที่ Italy เป็น general knowledge เป็น humanitarian action เกี่ยวกับองค์กร เกี่ยวกับว่าเราจะต้องทำงาน context การทำงาน การดูแลตัวเอง แล้วก็มีอีกทีไปที่ Brussels, Belgium ก็จะเป็นศูนย์ ฝึกทางด้าน logistic โดยเฉพาะเลย เรียนแล้วก็ฝึก 2-3 อาทิตย์ เขาก็เตรียมตัวความพร้อมให้เราดีในระดับนึงเลยค่ะ ถึงพี่ไม่เคยเรียน ป.โท ด้านนี้มาก่อน พี่คิดว่าถ้าพี่ผ่าน process เนี้ย การฝึก 3 weeks ของ MSF มา พี่ก็มีความสามารถในการทำงานได้แล้ว 

The People: อยากรู้ว่าตำแหน่ง Logistic อธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ามันคืออะไร 

วันวิสาข์: Logistic มันเป็น old term มันเป็น term ที่ค่อนข้างโบราณนิดนึง เดี๋ยวนี้เราใช้ supply chain หมดแล้ว แต่ว่า logistic เนี่ย มันเหมือนกับว่า ถ้าคุณอยากได้อะไร คุณจะทำอะไร สมมติเรื่องการก่อสร้างก็มาลงที่ logistic เรื่องการหาของแบบ supply ซื้อของก็มาลงที่ logistic การซื้อยา การตั้งเต็นท์เวลามี emergency มันคืออาคารทั้งหลายถูกทำลายหมดเลยค่ะ เราก็ต้องอยู่เต็นท์ โรงพยาบาลถูกทำลาย เราก็ต้องสร้างเต็นท์ ก็มาลงที่ logistic เรื่องรถ เรื่องเครื่องบิน ตอนนั้นไม่มีไฟเข้า คนที่ดูแลเฮลิคอปเตอร์ก็จะเป็นพวก logistic เรื่องความปลอดภัยก็เป็น logistic เรื่องน้ำมัน เรื่องรถ เรื่องอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็ลงที่ logistic หมด มันก็เลยค่อนข้างอธิบายลำบากว่า logistic คืออะไร เรื่องน้ำ อย่างตอนพี่ไปฟิลิปปินส์ ระบบน้ำคือพังหมดทั้งเมือง เพราะว่าความแรงของลมมันตี ทำให้ขาดการส่งน้ำ ก็ logisticians ก็เป็นคนไปขนน้ำมาจากแหล่งน้ำที่สะอาดหรือเอาแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดมาทำให้สะอาดอีกทีด้วยคลอรีน ก็ logistic หมดเลยค่ะ ก็เลยอธิบายลำบากว่า logistic คืออะไรในตัวบทของ humanitarian action 

The People: ตอนที่ไปฟิลิปปินส์ คุณนึกภาพไหมว่ามันต้องหนักขนาดไหน ตรงกับที่เราคิดไว้ไหม

วันวิสาข์: ตอนนั้นไปถึงครั้งแรกก็ขึ้นเครื่องบินไปลงที่ Manila แล้วก็ต่อไป Cebu ทุกอย่างก็ดูเป็นปกติเหมือนเดิมค่ะ จนเมื่อเราขึ้นเฮลิคอปเตอร์จาก Cebu เข้า Tacloban แล้วก็ไป Baguio พี่รู้สึกว่าทุกอย่างรวมถึง Cebu ยังปกติอยู่ ก็เหมือนเมืองทั่ว ๆ ไป แต่พอเริ่มเข้า Tacloban เริ่มเข้า Baguio เราเห็นว่าทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากลอง แทบจะไม่เหลืออาคารอะไรให้เห็นเลย ก็ไม่ได้ตกใจมากขนาดนั้น เพราะว่า 2014 ที่มี tsunami ที่ประเทศไทย พี่ก็เป็น intern จากคณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็เลยไม่ได้รู้สึกตกใจมาก เพราะเคยเห็นแบบนี้มาก่อนตอน tsunami ที่ภาคใต้ ของประเทศไทย

The People: พอไปถึงสถานที่จริง มีอะไรที่สะเทือนใจเรามากที่สุดไหม

วันวิสาข์: พี่เชื่อว่าในฐานะที่ตัวเองถูกฝึกมาให้เป็น humanitarian aid worker เป็นโดย profession พี่ถูกฝึกมาให้ไม่ให้ใช้ความรู้สึกให้มีผลกระทบต่อการทำงาน ถ้าสมมติว่าเรามีความรู้สึกเศร้าหรือเสียใจ ให้เอาความรู้สึกนั้นมาเป็นพลังที่จะทำให้เราทำงานต่อไป ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป พี่ก็เลยมีความเชื่อมั่นว่าผู้ประสบภัยเขามีความเข้มแข็งในตัวเอง แล้วก็ด้วยการช่วยเหลือหรือการสนับสนุนจากเรา จาก international comunity จะทำให้เขากลับมามีชีวิตปกติได้เหมือนเดิมค่ะ 

The People: มีคนไทยเยอะไหมตอนที่ไปทำภารกิจที่ฟิลิปปินส์

วันวิสาข์: พี่เป็นคนไทยคนเดียว ตอนนี้ทั้งองค์กรก็มีคนไทยอยู่ 2 คนที่เป็น field workers 

The People: มีครอบครัวไหนไหมที่เราคุยแล้วรู้สึกผูกพันธ์มากเป็นพิเศษ

วันวิสาข์: พี่รู้สึกว่า ทุกคนก็จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองซ้ำ ๆ เราก็จะเห็นแพทเทิร์น เช่น น้ำท่วม น้ำตอนที่ลมมา น้ำมันก็ขึ้นมาพร้อมกับลม อะไรแบบนี้ค่ะ เขาสูญเสียบ้าน เขาสูญเสียครอบครัว เขาสูญเสียอาชีพการงานของเขาไป พี่คงตอบไม่ได้ว่าความสูญเสียของใครคือที่สุด พี่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความเข้มแข็งในตัวเอง เขาจะสามารถพลิกความยากลำบากที่เกิดขึ้นในชีวิตเขา แล้วก็กลับมายืน กลับมามีชีวิตที่ปกติได้ โดยที่เขารู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวตรงนั้น ได้รับการดูแลจากรัฐบาล จาก international comunity พี่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะกลับมามีชีวิตที่ปกติได้ค่ะ 

The People: การที่เขาคัดเลือกคนไปทำงานภาคสนาม เขาเลือกจากอะไรเป็นหลัก

วันวิสาข์: อันนี้ก็ไม่แน่ใจ แต่พี่คิดว่า attitude สิ่งหนึ่งที่พี่ประทับใจมากเวลาทำงานกับ MSF คือ colleage ของพี่ เพื่อนร่วมงานของพี่ ทั้ง ๆ ที่พี่ทำงานได้แค่ 1,100 Euro เอง แล้วทุกคนก็ได้ประมาณนี้เท่ากันหมด ซึ่งมันไม่ได้สูงเนอะ ถ้าเทียบกับการทำงานองค์กรระหว่างประเทศ คุณต้องไปลำบากขนาดนั้น แต่ตอนที่พี่ทำงานกับ MSF พี่จะได้ยินเสียงคนพูดพร้อม ๆ กัน คล้าย ๆ กันจาก colleage ของพี่ว่า เราไม่อยากได้เงินเดือนเยอะ อยากจะเอาเงินเดือนนี้คืนกลับไปให้องค์กร เพราะว่าสิ่งที่เราทำมันมากกว่าเงินที่เราได้ พี่ว่านี่อาจจะเป็นจุดตัดว่าใครควรจะได้ วิธีที่เขาคัดเลือกคนอะไรแบบนี้ เพราะว่าสภาพการทำงานมันหนัก นอนเต็นท์ น้ำท่วม พอบ้านพังมันจะมีพวกเศษนู่นนี่นั่น แล้วพี่ไปทำงาน แบบไปซ่อม health post พี่เหยียบเศษแก้ว เย็บไป 4 เข็ม แล้วเท้านี่คือเปื่อย

เพราะว่าฝนมันยังตกอยู่ ทุกคนจะมีเรื่องป่วย แต่ไม่มีใครยอมแพ้เลย 6 โมงเช้าทุกคนตื่น แบบพร้อมทำงานแล้ว อยู่ที่รถ พร้อมจะออกทำงาน ต้องกลับบ้านตอน 6 โมงเย็น เพราะว่าไม่มีไฟ คือต้องไปตอนพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเท่านั้น ตอนกลางคืน 4 ทุ่มก็ไฟปิด เพราะว่าต้องใช้ generator ใช้เครื่องปั่นไฟ นอนก็ลำบาก ห้องน้ำก็แชร์กัน 20 คน 1 ห้อง นอนเต็นท์ แต่ทุกคนกลับมาบ้านหลังจากทำภารกิจ แล้วทุกคนก็รู้สึกว่า เออ วันนี้ได้ทำสิ่งอะไรบางอย่างที่โอเค แล้วก็คุยกัน อยากจะบริจาคเงินเดือนคืนให้องค์กรเลย เพราะว่ามันได้อะไรมากกว่านั้นแล้ว พี่ว่าความถึกและ attitude ในการทำงาน ความไม่กลัวที่จะลำบาก พี่เจออีก mission นึงลำบากกว่านี้ นั่นแหละ พี่ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่เขาเลือกคนที่จะมาทำงานกับ MSF

The People: Mission ที่ลำบากกว่านี้ทำกับ MSF ด้วยไหม

วันวิสาข์: ค่ะ ที่ประเทศมาลาวี (Malawi) ค่ะ อยู่แบบ in the middle of nowhere เลยค่ะ เมืองที่ใกล้ที่สุดคือต้องขับรถไป 2 ชั่วโมง เมืองนั้นเป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศโมซัมบิก (Mozambique) ไม่มีระบบน้ำของเมือง แต่พวกเราก็ทำระบบน้ำที่ใช้กันในบ้านไปก่อน ไฟเนี่ยมี แต่เสาร์-อาทิตย์จะถูกตัด เพราะทุกคนแย่งใช้กันหมด ก็จะไม่มีไฟใช้ ตอนกลางคืนต้องใช้ generator วันเสาร์-อาทิตย์ก็ต้องใช้ generator อาหารต้องขนมาจากอีกเมืองที่อยู่ห่าง 2 ชั่วโมง เพราะไม่มีอะไรเลย ต้องส่งผัก ส่งพวกเนื้อสัตว์ ส่งทุกอย่างมาทุกอาทิตย์ ไม่มีอะไรเลยในเมือง มีร้านแบบโชห่วยอยู่หลังเดียว ที่ทำงานตรงนั้นเพราะมันมี district hospital โรงพยาบาลประจำเมือง เราก็จะทำงานให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนโรงพยาบาลนั้น แล้วก็บางเดือนก็ร้อน บางเดือนก็หนาว ไม่มีอะไรทำ อยู่แต่กับเพื่อนทีมงานด้วยกัน ก็โหดนิดนึง 

The People: ช่วงนั้นมันมีเหตุการณ์อะไร

วันวิสาข์: มันเป็น HIV Project ค่ะ อยู่ที่ประเทศมาลาวี มันก็ไม่เชิง HIV Project อย่างเดียว คือประเทศโมซัมบิกและมาลาวีเป็นประเทศที่มีอัตรา HIV สูงที่สุดในโลกถึงตอนนี้ ประมาณ 20% แล้วก็เป็นแหล่งกำเนิดของ HIV ด้วย ตอนพี่เรียน ป.โท public health in emergency ที่สวีเดน เขาก็บอกว่า ไม่ใช่ มันเป็นความเชื่อที่ผิด มันจะมีคนที่กินลิง เวลาที่เขาตัดเนื้อลิง แล้วเราเป็นแผล แล้วลิงเป็น HIV อยู่แล้ว เชื้อ HIV ก็ติดเข้ามาหาเรา นั่นคือจุดเริ่มต้นของการแพร่ HIV

เราก็เลย อ๋อ แบบนี้นี่เอง จนมาทำงานที่ประเทศมาลาวี ทางที่พี่บอกว่าขับรถ 2 ชั่วโมงเข้าเมืองที่พี่อยู่ เขาจะมีพวกเนื้อสัตว์ป่าแขวนอยู่ข้างทาง เหมือนบ้านเราขายหนู เนื้อที่เขาขายข้างทางคือเนื้อฮิปโปโปเตมัส เนื้อลิง แขวนเป็นตัว ๆ แล้วที่เราเรียนมา อาจารย์พูดถูก พูดเรื่องจริง เขามีเป็น practice อยู่ที่กินเนื้อลิง เนื้อสัตว์ป่า ถ้าเห็นที่ที่เขาอยู่ จะเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงยังล่าสัตว์กันอยู่ คือแห้งมาก คือพื้นดินแห้ง อากาศก็แห้ง ไม่มีน้ำฝน

คือพี่เป็นลูกเกษตรกรไทย พี่มั่นใจได้ว่าเกษตรกรไทยปลูกที่ไหน ปลูกอะไรก็ได้ แล้วก็เอากะเพราบ้านเราไปปลูก ไม่รอดเลยค่ะ ไม่ขึ้นเลยด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่เรารถน้ำทุกวัน ใส่ปุ๋ย มันอาจจะเป็นเพราะอากาศด้วยที่แห้ง แล้วก็ดินก็แตกเป็นดินทราย ก็เข้าใจได้ว่าทำไมเขายังจะต้องกินเนื้อสัตว์ป่าอยู่ แล้วมันก็ยังทำให้ตรงพื้นที่นั้นยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV อยู่ แล้วก็ practice บางอย่างของเขาก็ยังทำให้มีอัตราการระบาดของ HIV สูงค่ะ MSF ก็เลยมี project อยู่ตรงนั้น เพื่อที่จะดูแลเรื่อง HIV ด้วย แล้วก็จะสนับสนุน district hospital นี้ด้วยค่ะ

ตอนนั้นรัฐบาลไม่มีเงินสนับสนุนแม้กระทั่งค่าน้ำมันของรถพยาบาล ไม่มีเงินแม้กระทั่งซื้อยา ไม่มีเงินแม้กระทั่งสร้างห้อง warehouse ห้องเก็บยา MSF ก็ไปทำงานตรงนั้น ก็ดูแลหมด ไม่ว่าจะเป็น HIV ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ตรงนั้นมีอหิวาตกโรค (cholera) ระบาด เราก็ดูแล มีน้ำท่วมอยู่ตรงนั้นเราก็ดูแลหมดในส่วนของการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ 

The People: อยู่ตรงนั้นนานไหม

วันวิสาข์: 8-9 เดือนค่ะ 

The People: โห 8-9 เดือน แล้วก็ลองปลูกอะไรก็ปลูกไม่ขึ้น 

วันวิสาข์: ไม่ขึ้นเลย เจ็บใจมาก 

The People: เซอร์ไพรส์ตั้งแต่เอาเม็ดไป แบบนี้เอาปุ๋ยไปด้วยไหม

วันวิสาข์: ไม่ ๆ คือเป็น logistic ก็จะรู้ว่า ห้องน้ำ ถ้าไม่ได้ใช้ 2 ปีแล้ว มันก็จะมีเหมือนอุจจาระที่อยู่ตรงนั้น 2 ปี แล้วพอหลังจาก 2 ปี มันก็จะไม่มีเชื้อโรค เราก็ไปหาอะไรแบบนั้น เอามาเป็นปุ๋ย เราพยายามหาดินที่ไม่เป็นดินทราย ที่อยู่ใกล้ ๆ แม่น้ำ ไม่มีอะไรรอดเลย ทำทุกอย่างแล้ว แล้วก็ไม่ขึ้นเลย เจ็บใจนิดนึง 

The People: ปัจจุบันเขายังมีการแพร่ระบาดอยู่ไหม

วันวิสาข์: มีค่ะ 

The People: ความช่วยเหลือที่เราเข้าไปช่วย มันช่วยได้ในระดับไหน ในเมื่อปัจจุบันมันก็ยังดำเนินต่อไป

วันวิสาข์: เราช่วย raise awareness ค่ะ ช่วยสร้างความถนัดการเรียนรู้ว่าทำแบบนี้นะ แล้วมันจะเป็นการแพร่ระบาด เราช่วยให้คนได้รับยา เราสั่งยามา พูดอย่างนี้ก็ไม่ดีนะ เพราะเราไม่ควรจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เราควรจะไปสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดูแลประชาชนของเราได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น advocacy การ advocate ว่าการให้รัฐบาลใช้ public spending ในการซื้อยาให้กับประชาชน แต่บางทีมันก็ฉุกเฉิน มันก็ไม่ทัน เขาก็ไม่มีงบประมาณ เราก็ต้องเป็นคนที่สั่งยา แล้วก็เอาไปให้โรงพยาบาลแจกให้กับผู้ป่วย ซึ่งมันก็ไม่ใช่วิธีการจัดการที่ยั่งยืนที่สุด แต่มันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในสถานการณ์ตอนนั้นที่รัฐบาลไม่มีปัจเจกเพียงพอที่จะซื้อยา 

The People: มีหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือในตรงนั้นเยอะไหม อันนี้นึกไม่ค่อยออกเหมือนกันว่าแต่ละครั้งที่เข้าไป มันจะมีกี่องค์กรที่เข้าไป หรือว่าแบ่งกันเข้าไปช่วยทีละเดือนหรือว่ายังไง 

วันวิสาข์: เมืองที่พี่ไปอยู่ มีองค์กรพี่องค์กรเดียวที่อยู่ตรงนั้น แต่สมมติว่า ถ้าเป็น emergency ใหญ่ ๆ อย่างฟิลิปินส์ อย่างซีเรีย (Syria) มันก็จะมีหลาย ๆ องค์กรเข้าไปช่วยเหลือกัน หลักการที่ดี มันควรจะมีการประชุมว่า เราทำตรงนี้นะ เราทำเรื่องนี้ มันจะแบ่งเป็น sector ไป health, cash intervention นู่นนี่นั่น แล้วแต่ละ sector เขาก็จะมีการประชุมว่า เราทำเรื่องนี้นะคะ เราทำตรงนี้แล้ว สมมติอย่างวันนี้เราซ่อม health post นี้แล้วนะ แต่อีกอันยังไม่มีใครไปซ่อม คุณก็ไปซ่อมสิ มันก็จะมีการประชุม ทุกวัน สามวัน เจ็ดวัน เดือน ขึ้นอยู่กับ emergency situation

ทีนี้เราก็จะรู้แล้วว่า gap อยู่ตรงไหน พอ gap อยู่ไหน มันก็จะมีองค์กรที่เข้าไปช่วย แต่ในสถานการณ์อย่างในมาลาวี มันไม่ใช่ emergency situation มันเปลี่ยนมาเป็น humanitarian situation แต่ไม่ใช่ emergency เพราะฉะนั้นมันจะมีแต่องค์กรที่ให้ความสนใจด้านนี้ ขาดแคลนเรื่องนี้อยู่ เราก็เลยเข้าไปทำ อย่างตรงนี้เขาก็ขาดแคลนยา เราก็เข้าไปดูแล เราไม่ได้ให้ยาอย่างเดียวด้วย เราเข้าไปเทรนคนด้วย เทรนพยาบาล เทรนหมอ เราสร้างความแข็งแรงทางระบบ public health ให้กับในพื้นที่ด้วยค่ะ ก็เลยจะเป็นองค์กรเดียวที่อยู่ตรงนั้น ไม่มีองค์กรอื่นเลย 

The People: อยากจะรู้ว่า มันมีแบ่งระดับไหม เช่น เบา กลาง หนัก

วันวิสาข์: มีค่ะ สเกลของ emergency มีการแบ่งเป็นสีเขียว เหลือง แดงค่ะ ใน international humanitarian action มันจะมีการแบ่งสเกลคล้าย ๆ กัน เขียว เหลือง แดง การที่องค์กรระหว่างประเทศจะเข้าไปช่วยเหลือประเทศใดประเทศหนึ่งได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลร้องขอหรือได้รับอนุญาตให้เข้าไป แล้วก็จะมีการจัดการแบบพิเศษ สมมติถ้าเป็น emergency situations มันจะมีองค์กร unhcr ก็จะเรทสเกล แล้วก็จะมีการเลื่อนสเกลเพื่อการ aware ของสเกลต่าง ๆ 

The People: อย่างมาลาวีอยู่ในระดับไหน

วันวิสาข์: เขียวค่ะ แต่มันจะขึ้นไปเหลืองก็ต่อเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เช่น มี cholera ถ้าเราไม่ได้ไปทำงานเพื่อหยุดอหิวาตกโรค มันก็จะไปเรื่อย ๆ เพราะว่าเชื้อโรคมันผ่านทางน้ำ มันก็จะขยับสเกลขึ้นมาเป็นสีเหลืองเพื่อเฝ้าระวัง ถึงตอนนั้น MSF ก็ส่งคน พวกเรามีกันอยู่ 5 คนทั้งออฟฟิศ พอมี cholera เขาก็เริ่มส่ง specialist เพื่อมาหยุด เพื่อมาเปลี่ยนสีให้กลายมาเป็นสีเขียวเหมือนเดิมก่อน 

The People: มันเป็นเรื่องปกติไหมที่จะเปลี่ยนจากเขียวมาเป็นเหลืองได้ในระหว่างที่เราทำงาน 

วันวิสาข์: ได้ค่ะ เหลืองไปแดงก็ได้ แดงกลับมาก็ได้ค่ะ เพราะว่ามันเป็น dynamic ค่ะ มันไม่ได้หยุดอยู่นิ่งเฉย ๆ 

The People: เคยเจอเหลืองแล้วไปแดงไหม

วันวิสาข์: เคยเจอแดงแล้วกลับมาเหลืองค่ะ เคยเจอเหลืองแล้วไปแดง แต่ตอนนั้นไม่ได้ทำอยู่ที่ MSF เรื่องที่ชายแดนค่ะ แม่สอดค่ะ เฝ้าระวังแล้ว แต่ก็เหลืองขึ้นไปอีก สถานการณ์พวกนี้มันทำให้เรา aware ค่ะ ว่าจะต้องการเตรียมพร้อมนะ อย่างเช่น เดี๋ยวมันจะเกิดแล้ว เราก็ต้องเตรียมพวก assessment ต่าง ๆ เตรียมทีม ฝึกทีม ให้รู้จัก assessment เตรียมของ เตรียม distribute ประมาณนี้ 

The People: เคยผิดพลาดในการทำงานบ้างไหม แบบเราเตรียมมาแล้ว แต่มันมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น อยู่ ๆ ก็มีเหตุที่หนักกว่าเข้ามา

วันวิสาข์: เราทำงานเป็นทีมค่ะ ถ้าเกิดอะไรขึ้น มันจะมีทีม มีองค์กร support อยู่เสมอ มันมีทีม มีองค์กร องค์กรที่อยู่ในประเทศเรา องค์กรที่อยู่ในระดับ international องค์กรที่อยู่ในระดับ head quarter พอเราทำงานอยู่ในบริบท ไม่ว่าเกิดอะไนขึ้น เวลาเราทำงานกับทีม มันจะมีการ cover กันค่ะ คือเราไม่ได้ทำงานคนเดียว คนอื่นเขาก็จะช่วยความคิดเห็น คือเราไม่รู้สึกว่าความรับผิดชอบอยู่ที่เราคนเดียวค่ะ แต่ว่ามันเป็นเรื่องของทีม ของออฟฟิศเรา ขององค์กรเรา ก็เลยไม่ค่อยมีความเครียดในระดับนั้นเท่าไหร่ เพราะเรารู้ว่าเราทำงานเป็นทีมค่ะ 

จริง ๆ เรามี warehouse ด้วยค่ะ ประจำการในที่ต่าง ๆ ในเอเชีย ในยุโรป ถ้าสมมติเกิด emergency ขึ้น เราก็พร้อมที่จะขนเครื่องบิน อุปกรณ์ทุกอย่าง ๆ ไปตั้งโรงพยาบาลสนามเหมือนกัน นอกจากคนแล้ว มีทีม มีของ มี warehouse เตรียมที่จะทำ คือ MSF ค่อนข้างเก่งเรื่อง emergency response ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง public health หรือ conflict แต่พี่ไม่ได้ทำทางด้าน conflict 

The People: เคยมีความคิดที่จะทำฟิลด์สงคราม (war zone) บ้างไหม

วันวิสาข์: พี่ว่าพี่คงไม่ถนัดค่ะ เพราะพี่ไม่ชอบเสียงดัง พี่คงนอนไม่ค่อยหลับ ก็จะถนัดเรื่อง natural disasters กับ public health in emergency มากกว่า 

The People: เคยรู้สึกมีอะไรติดค้างอยู่ในใจบ้างไหม หลังจากที่เสร็จภารกิจของแต่ละที่ที่เราไปมา อาจจะเสียใจหรือรู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้

วันวิสาข์: พี่เป็นคนที่เชื่อว่า ทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วก็อย่าทิ้งแรงไว้เสียใจทีหลัง คือจะเหนื่อยก็ได้ ทำให้ดีที่สุด เหนื่อยมากไปเลยก็ได้ แต่ ณ จุดนั้นต้องทำให้ดีที่สุด หลังจากพี่กลับจากฟิลิปปินส์ พี่นอนเฉย ๆ เลย  14 วัน ไม่ทำอะไรเลย ทุกคนก็เป็นแบบนี้หมด เพราะว่าทุกคนใช้อะดรีนาลีนกันหมด ทุกคนหลับ 7 วัน  14 วัน ไม่ทำอะไร แล้วเดี๋ยวอะดรีนาลีนมันก็จะกลับมา แล้วก็เลยรู้สึกว่าไม่อยากจะทิ้งอะไรไว้ให้เสียใจทีหลัง ทำให้ดีที่สุดก็พอ เพราะฉะนั้นทุกภารกิจก็เต็มที่แล้วค่ะ

The People: ปกติที่เราไปลงฟิลด์มาแต่ละครั้ง พอกลับมา ทางหน่วยงานก็ให้เราพักเบรกถูกไหม แล้วเขาให้เวลานานขนาดไหน ในการให้เราฟื้นฟูตัวเอง 

วันวิสาข์: ใช่ค่ะ แล้วแต่เลยค่ะ พี่เคยเห็นเพื่อนบางคนแบบ mission ต่อ mission เลยค่ะ พักเดือนนึงแล้วก็ไปต่อเลย พี่ทำแบบนี้ไม่ได้ คือพอกลับมาเขาจะต้องมี debrief ว่าเรียนรู้อะไรบ้าง มีสถานการณ์อะไร มีเหตุการณ์อะไรบ้าง หลังจากนั้นก็พัก พี่อย่างน้อย 2-3 เดือนค่ะ แต่บางคนแบบ mission ต่อ mission เลยค่ะ อย่างที่บอกว่ามีทีม emergency เขาเรียกว่า fly in team ก็คือจะ stand by แล้วพอมี emergency ก็จะ fly in 2 weeks กลับออกมา พี่ทำแบบนั้นไม่ได้ 

The People: แต่ละทีมมีกี่คน

วันวิสาข์: ขึ้นอยู่กับ mission เลย ที่พีทำที่ฟิลลิปินส์ที่แรกเลยมี 50 คน expatriate 50 คน แล้ว national staff ประมาณ 700-800 คน หลังจากนั้นพี่ไปอีกรอบนึงที่ฟิลิปปินส์ รอบที่ 2 expatriate แค่ 5 คน มันก็ขึ้นอยู่กับความ emergency ด้วย ช่วง emergency phase งานมันจะเยอะ ที่มาลาวีก็ 5 คน แล้วแต่เลยค่ะ แล้วแต่ว่าภารกิจหนักเบาขนาดไหน 

The People: จากที่เราทำงานมา (ในส่วนของ MSF) มันมีส่วนไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเปลี่ยนตัวตนของเรามากที่สุดไหม

วันวิสาข์: พี่ว่าการเปลี่ยนตัวตนมันไม่ได้เกิดจากการทำงาน มันเป็นเรื่องตั้งแต่เด็ก ๆ คือพี่โตมาแบบป่วยมาตั้งแต่เกิด ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่อยากทำงานกับองค์การแพทย์ไร้พรมแดน พี่รู้สึกว่าการเจ็บป่วยมันแย่ แล้วถ้าเราช่วยมันได้ เราก็อยากจะทำให้คนอื่นรู้สึกดีขึ้น คือพี่เกิดมาพี่ก็ป่วยตั้งแต่เด็ก ๆ 

เป็นแบบภูมิแพ้ เป็นนู่น เป็นนี่ เป็นโรคประจำตัวอะไรแบบนี้ แล้วตั้งแต่ที่จำความได้ คือพี่เข้าออกโรงพยาบาลบ่อยมาก ไม่มีความทรงจำเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องการเจ็บป่วยของตัวเอง ตอนนั้นพี่ 6 ขวบ พี่เหนื่อยมากแล้ว ไม่ไหวแล้ว วันนั้นไข้ขึ้นสูง 42 องศา แล้วพี่ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว พอแค่นี้ ถ้าหลับไปก็ไม่อยากตื่นแล้ว แล้วก็เหมือนแม่ แม่พี่ก็เดินวุ่นเลย เขาพยายามทำให้ไข้พี่ลดลง พยายามเอาน้ำมาเช็ด พี่ก็มอง ผู้หญิงคนนี้รักเรามากเลย

พี่ก็บอกกับตัวเองว่าตายไม่ได้ ถ้าเราตาย ผู้หญิงคนนี้จะต้องเสียใจ แล้วพี่ก็บอกตัวเอง น้ำตาก็เริ่มไหล แล้วแม่ก็ถามว่าเป็นอะไร พี่ก็ไม่ได้ตอบอะไรไป ในหัวพี่คิดว่าเราจะตายไม่ไม่ได้ เราจะต้องหาย เพราะเราไม่อยากให้ผู้หญิงคนนี้เสียใจ รู้ไหมตื่นขึ้นมาเช้าอีกวัน มันเหมือนมีปาฏิหาริย์ ไข้ลดลงเป็นปกติเลย แล้วก็ไม่รู้สึกเจ็บป่วยอีกเลย เหมือนเรื่องเมื่อคืนไม่ได้เกิดขึ้น

พี่ก็เลยเรียนรู้อะไรบางอย่าง เรียนรู้ความลับของชีวิตบางอย่างว่า ถ้า power ของเราแข็งแรงพอ ร่างกายมันจะเปลี่ยนไปตาม power ของเรา ถ้าเรากำหนดจิต ตั้งใจ determination ร่างกายมันจะเปลี่ยนไปตามความต้องการของเรา หลังจากนั้นพอพี่เริ่มป่วย พี่ก็จะบอกว่า พี่จะแข็งแรง พี่จะดูแลตัวเอง พี่จะออกกำลังกาย คือถ้าจิตมันไปแล้ว ร่างกายมันจะไปกับเรา หลังจากนั้น ไม่ว่าต้องการทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ อย่างเช่น การเรียน การทำงานกับ MSF ไม่ว่าจะความลำบากอะไร รู้เลยว่าต้องบอกว่าเราทำได้ เราจะต้องผ่านไปได้ เป็นความลับของชีวิตเล็ก ๆ ที่รู้มา เป็นการเปลี่ยนความคิด เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเราในทุกวันนี้

The People: เคยบอกคุณแม่ไหมว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เราเป็นแอมอย่างในทุกวันนี้ 

วันวิสาข์: เคยบอกนะ แต่เหมือนเขาไม่ค่อยอิน เหมือนเค้าก็บอกว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้เรารอด แค่นั้นเลย

มันมีอยู่ปีนึงที่น้ำท่วมบ้าน น้ำท่วมซอย บ้านอยู่บางเขน ตอนพี่เด็ก ๆ เลย แล้วพี่เป็นไข้หนักมาก แล้วพี่จำได้ว่าพี่เกาะหลังแม่มาคลินิกหน้าปากซอย เล่าให้แม่ฟัง แม่จำไม่ได้ ตอนนั้นเค้าก็คงคิดแค่ว่าต้องทำยังไงให้เรารอด แค่นั้นเอง ก็เลยรู้สึกว่า ด้วยความเจ็บป่วยของเราด้วย ถ้าทำอะไรให้คนอื่นหายเจ็บป่วยได้ก็อยากจะทำ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เรียน public health in emergency 

The People: ฟังดูเหมือนเป็นสาขาที่ค่อนข้างไกลตัวจากคนไทยมากเลย 

วันวิสาข์: แล้ว imagine นะ พี่เริ่มสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2003 เริ่มเรียน ป.โท ตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งตอนนั้นคือไม่ค่อยมีคนรู้จักสาขานี้เท่าไหร่ พี่ต้องหาข้อมูลเยอะมาก ต้องมุ่งมั่นมาก ๆ ต้องมีวินัยกับตัวเองมาก ๆ ว่าต้องทำให้ได้ ตั้งแต่ 2003

The People: ตอนนี้ก็เริ่มมีคนตระหนักมากขึ้นแล้วนะคะ

วันวิสาข์: ใช่ ดีใจมาก 

The People: แน่นอนว่าทุกเหตุการณ์มันก็ไม่มีอะไรดีอยู่แล้ว เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ แล้วคุณพอจะเห็นความหวังหรืออะไรในทุก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้างไหม

วันวิสาข์: คือในการทำงาน international humanitarian action มันมี 2 อย่าง คือ natural disaster และ man-made disaster ในส่วนของ natural disaster ก็อย่างเช่นภัยพิบัติธรรมชาติ หรือว่าเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ โรคระบาด แล้วก็ man-made disaster ก็อย่างเรื่องของ conflict ต่าง ๆ การจะทำงานในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ มันควรจะเป็น last resource ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ชุมชน ครอบครัว รัฐบาล ควรจะเป็น first response ที่ควรจะมีศักยภาพในการที่จะดูแลคนในประเทศของเขาได้ก่อน ก็ต่อเมื่อมันหนักหนาสาหัสจริง ๆ แล้ว การที่เราเข้าไปช่วยเหลือก็จะเป็น last resource บางสถานการณ์ก็เป็น mix อย่างเช่น famine ซึ่งเป็น  natural disaster แต่ถ้ามันเกิดแล้วมันมี conflict อยู่ด้วย ก็จะเรียก complex emergency ซึ่งของพวกนี้มันเป็นหน้าที่ของทุกคนในครอบครัว ในชุมชนที่จะต้องดูแลซึ่งกันและกันก่อน ก่อนที่เราจะมี international comnity เข้าไป มันไม่ควรจะเป็นเรื่องของความโชคดีอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้น แต่มันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องดูแลกันและกัน 

The People: อยากจะบอกอะไรกับคนที่สนใจทำงานด้านนี้ไหม

วันวิสาข์: หลายคนอาจจะคิดว่ามันต้องเรียนเฉพาะทางมา แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลยนะคะ ในการทำงานองค์กรระหว่างประเทศทางด้าน humanitarian มันมีทุกคน from … of life มาจาก background ทุก technical เยอะมาก มันมี HR, admin, finace มี astrologist มีนักกีฬาก็มีนะ พี่มีเจ้านายเป็นนักกีฬา มีหมอ มี engineer มันก็เหมือนสังคมสังคมนึง เหมือนองค์กรองค์กรนึงที่เราจ้องการคนที่มาจากความแตกต่างหลากหลาย คนที่มี knowledge skill ที่แตกต่างหลากหลาย คนที่มี background แตกต่างหลากหลายมาทำงานพร้อมกัน เพราะฉะนั้นคนที่สนใจงานด้านนี้ไม่ต้องกังวลเลยว่าตัวเองมี background แบบไหนมา

เพราะว่าถ้าคุณเข้าองค์กรพวกนี้เขาจะเทรนคุณให้รู้เรื่อง humanitarian action ทุกคนปูพื้นฐาน แต่สุดท้ายที่เราต้องการจากคุณก็คือความเฉพาะทางของคุณ ความสามารถ ความมุ่งมั่น จิตใจของคุณที่จะเข้ามาทำงาน มันก็เลยไม่ต้องกังวลมากว่าคุณเรียนอะไรมาหรือทำงานอะไรมาก่อน แล้วไม่ต้องกลัวด้วยว่าอายุมากแล้วทำงานไม่ได้ พี่มีเพื่อนคนนึงทำงานเป็น constructor อายุ 45 แล้ว ไปเจอกันใน mission คนนี้เก่งมากเลย เพราะเราจะต้องซ่อม health post เขาเป็นคนที่สอนเด็ก ๆ อย่างพวกเราด้วยซ้ำว่าต้องทำงานยังไง เขาเป็นคนที่รู้งานมากกว่าพวกเราอีก เราต้องการคนที่มีความหลากหลาย อายุไม่เกี่ยว เพศไม่เกี่ยว เชื้อชาติไม่เกี่ยว ขอให้คุณมีประสบการณ์ มีความรู้ มีใจ 

The People: มนุษยชาติอย่างเรามันพอจะมีความหวังไหมที่ว่าเราจะอยู่กันอย่างสันติ

วันวิสาข์: พี่ก็ตอบไม่ได้หรอกว่าทำงานในฟิลด์นี้แล้วมันจะ positive  ได้ตลอดเวลา มันก็เห็นความน่ากลัว ความน่าเกลียดของมนุษย์ เวลาที่พี่ทนไม่ได้อีกแล้วว่าทำไมคนถึงมีปฏิสัมพันธ์กันแบบนี้หรือกระทำซึ่งกันแบบนี้ พี่จินตนาการว่าตัวเองมีปีกแล้วก็จะบินขึ้นไปข้างนอกโลก จากดวงจันทร์ แล้วก็มองกลับมาที่โลกของเรา แล้วพี่ก็จะมองว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้ตัวเองสามารถทนมองโลกนี้อยู่ได้ พี่ก็พบว่าความรัก resilience เวลาเราทำงานแบบนี้ มันเห็นความ resilience ของมนุษย์ มันเห็นความเข้มแข็งที่เขาเทิร์นสิ่งที่เขาประสบให้กลับมาลุกขึ้นได้อีกครั้ง หรือประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ศิลปะของมนุษย์ ของพวกนี้มันยังทำให้พี่รู้สึกว่าโลกใบนี้ยังน่าอยู่ ยังสามารถทนที่จะมองอยู่ได้ 

ปกติพี่ชอบฟังเสียงการเต้นหัวใจของมนุษย์ ตอนเด็ก ๆ พี่ชอบนอนอยู่ในอ้อมกอดแม่ แล้วพี่ก็จะได้ยินเสียงหัวใจของแม่ พี่ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงที่เพราะที่สุดแล้วในเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ตอนที่พี่ไปทำงานทีมาลาวี บ้านที่พี่อยู่ มันจะมีบ่อน้ำอยู่หน้าบ้าน เวลามีบ่อน้ำมันจะหมายความว่ามันจะมีคน ที่ชาวบ้านมาอยู่ เพราะว่าเขาจะได้ไม่ต้องไปตักน้ำไกล เขาจะเป็นหมู่บ้าน แล้วมันใกล้กับบ้านพักที่พี่อยู่มาก แต่มันไม่มีไฟ แหล่งความบันเทิงเดียวที่เขามีอยู่ก็คือการร้องเพลง การเล่านิทาน มีคุณยายอยู่คนหนึ่งเขาจะชอบร้องเพลงให้ลูกให้หลานเขาฟัง เสียงที่ฟังมัน fullfill มากเลย มันจับเข้าไปในจิตวิญญาณ มันมีความเศร้า แต่ในขณะเดียวกัน เขาไม่ได้ยอมแพ้ มันเศร้านะ แต่มันรู้เลยว่าสิ่งที่เขาเล่าให้ฟังมันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่เขาไม่ได้ยอมแพ้ เสียงพวกนี้มันทำให้พี่นอนหลับได้ในหลาย ๆ คืน และในการที่พี่ได้ยินเสียงนี้มันทำให้พี่รู้สึกว่า เราควรมีความหวังในมวลมนุษยชาติอยู่  

The People: อยากทราบมุมมองความเป็นกลางเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง คุณเชื่อในสิ่งนี้จริง ๆ ไหม เพราะว่าบางคนเขาก็บอกว่า ถ้าเกิดเรามีความเป็นกลางแสดงว่าเราไม่เลือกข้างหรือเปล่า ความเป็นกลางมันมีอยู่จริงเหรอ

วันวิสาข์: มันจำเป็นต้องมีในฐานะที่เป็น humanitarian aid worker ค่ะ มันอาจจะเป็น concept ที่ถูกสร้างขึ้น มันอาจจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้มนุษย์อยู่ได้ในสังคม แต่ในฐานะที่พี่ทำงานส่วนนี้ พี่จำเป็นที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดความยอมรับจากคนที่พี่ทำงานด้วย จาก government จาก beneficiary จาก comunity ที่พี่ทำงานด้วย 

The People: คุณจะทำงานในสายนี้ไปอีกนานแค่ไหน

วันวิสาข์: พี่ทำงานในสายนี้มา 13 ปีแล้วนะ เพื่อนที่เรียนมา บางคนก็ออกแล้ว ไม่ทำแล้ว ตอนพี่เรียนพี่เด็กมาก อายุน้อยที่สุดใน ป.โท วันแรกที่พี่ไปถึงที่เรียนพี่ร้องไห้เลย อยากกลับบ้าน แล้วพี่ ๆ ที่โตหน่อยเขาก็จะดูแล บางคนก็แกล้ง ไม่มีใครคิดเลยว่าพี่จะรอด น้อยคนที่คิดว่าพี่จะเรียนจบแล้วกลับมาทำงานนี้ ทุกคนคิดว่าพี่จะ give up สุดท้ายเหลือรอดจาก 167 คน ณ ตอนนี้มีคนทำงานอยู่สายนี้ประมาณ 20-30 คน พี่ยังเป็นหนึ่งในนั้น ตอนนี้เราเป็น middle management level แล้วก็เปลี่ยนมาหลายองค์กร แล้ว position ตัวเองไม่ใช่คนทำงานอย่างเดียว เราคิดว่าเราเรียนรู้มากพอ มีประสบการณ์มากพอแล้วเราอยากจะส่งต่อความรู้ ประสบการณ์ หรือเทคนิคการทำงานให้รอดในองค์กร

คือทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานให้มันเสร็จ ๆ ไป แต่รู้สึกอยากจะ retain รุ่นน้อง เพื่อนร่วมงาน ให้เขารู้สึกว่ามันมีคุณค่า เราพยายามสร้าง working environment ที่ดี ที่ทำให้เขาอยากที่จะอยู่ในองค์กร เพราะเรารู้ว่าการทำงานองค์กรแบบนี้มัน tough มันไม่ได้ง่าย การที่จะทำให้คนอยู่แล้วทำงานนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นอีกจุดมุ่งหมายหนึ่งจากการทำงานของตัวพี่เอง อยากจะ retain คนให้อยู่ในองค์กรได้นาน ๆ ถามว่าพี่จะอยู่นานแค่ไหน ก็จะอยู่นานเท่าที่พี่ทำได้ เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็จะอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

The People: มองตัวเองหลังเกษียณยังไง

วันวิสาข์: พี่มีความฝันสุดท้ายที่ยังมีอยู่แล้วยังทำไม่สำเร็จ ก็คือการปลูกป่า บ้านพี่เป็นชาวสวนอยู่ภาคใต้ เราโตมากับต้นไม้ เรารู้สึกว่าเรา take advantages จากเขามาค่อนข้างเยอะ ใส่ปุ๋ย ทำให้เขามีลูก เด็ดผลเขามา เราเลยอยากจะคืออะไรบางอย่าง ถ้าหนูอยู่ตามชนบท หนูจะรู้ว่ามันจะมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเยอะ พี่มองตัวเองว่าถ้าพี่ไม่ได้ทำงานนี้แล้ว พี่อยากจะกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ตอนที่ทำงานที่เมืองไทย มันจะมีปลูกป่า ชุมชน เอาพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชมมาแล้วก็ปลูกป่า นั่นแหละคือความฝันสุดท้ายของพี่ อยากจะทำให้มีพื้นที่ป่าเยอะที่สุด เพื่อคืนกลับไปจากที่เรา take advantages จากเขามา 

และอีกอย่างที่สำคัญมาก ๆ พี่เคยดูสารคดีเรื่องการระบาดของโรค ตอนนี้การระบาดของโลกมันมีจำนวนครั้งที่มากขึ้นแล้วมันก็มีโรคใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่ป่าเราลดลง สาเหตุที่พื้นที่ป่าลดลงแล้วมีโรคระบาดเกิดขึ้นเนี่ย เพราะว่า สมมติว่า เรามีความแตกต่างหลากหลายของพันธุ์พืช สัตว์ในป่า พวกแบคทีเรีย จุลินทรีย์อะไรพวกนี้มันจะทำให้เกิดความสมดุล โรคที่จะมาถึงมนุษย์มันจะถูกตัดไป แต่พอพื้นที่ป่าเริ่มลดลง โรคที่ต้นไม้ต้นนี้มันควรจะฆ่าได้ มันไม่ถูกฆ่าเพราะต้นไม้ต้นนี้ถูกตัดไป หรือสัตว์ตัวนี้มันควรจะกินแบคทีเรียนตัวนี้ สัตว์ตัวนี้มันก็ตาย สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว มันทำให้การอุบัติของโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้น บ่อยขึ้น แล้วก็มีโรคใหม่ที่จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันไม่มีความแตกต่างหลากหลายทางชีวภาพมาป้องกันโรคจากเรา และภาวะโลกร้อน ถ้ามีโอกาสก็ต้องการคืนพื้นที่ป่ากลับไปให้กับชุมชน มันก็เป็นการป้องกันระดับหนึ่ง