ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม: ผู้ใช้งานวิจัยปลุกจิตวิญญาณหมอลำ พร้อมส่งความม่วนไปต่างแดน

ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม: ผู้ใช้งานวิจัยปลุกจิตวิญญาณหมอลำ พร้อมส่งความม่วนไปต่างแดน

ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม หัวหน้าโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ งานวิจัยที่ช่วยให้สังคมเข้าใจวิถีของ 'หมอลำ' รากเหง้าของความเป็นอีสานว่าแท้จริงแล้ว หมอลำสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจอีสานได้อย่างน่าอัศจรรย์

ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม หรือ อาจารย์เปาโล รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ เราทั้งคู่พบเจอกันในเขตเวลาที่ห่างกันถึง 6 ชั่วโมง

เวลา 15.00 น. ของฝรั่งเศส คือ 21.00 น. ของประเทศไทย เรานัดเจอกันผ่านโปรแกรมออนไลน์ที่คนทั่วโลกคุ้นหู พูดคุยกันเรื่อง ‘หมอลำ’ จากความรู้ด้านหมอลำของเราเท่ากับศูนย์ พออาจารย์อธิบายโครงการวิจัยให้ฟังก็เข้าใจ(เกือบ)ทั้งหมด แม้จะมีบางส่วนที่เราอาจต้องศึกษารายละเอียดด้วยตัวเองเพิ่มเติม เพราะหากนานไปกว่านี้ บทสนทนาของเราคงไม่จบลงภายใน 2 ชั่วโมงเป็นแน่

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสงสัยและตัดสินใจต่อสายตรงหาอาจารย์ คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า ทำไมต้องทำวิจัยเรื่องหมอลำ แล้วหมอลำจะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร หากพร้อมแล้วอย่าลืมเตรียมพื้นที่ เคลียร์ของรอบกายให้พร้อม แล้วอย่าลืมเปิดหมอลำคลอไปด้วยเพื่อเพิ่มอรรถรส

เพราะนี่เป็นบทสนทนาที่เราอยากส่งต่อความ ‘ม่วนซื่น’ ให้สัมผัสลงกลางใจเหล่าคนรักหมอลำ

ความรักที่ก่อตัวขึ้นท่ามกลางสังคมชนบทอีสาน

“เท้าความไปตั้งแต่เด็ก เนื่องจากว่าเติบโตมาจากสังคมชนบทอีสาน เป็นคนพื้นเพอีสานที่เกิดและเติบโตจากชุมชนที่มาจากชนบท อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี เลยทำให้คลุกคลีมากับสังคมชนบท แล้วก็ได้เห็นหมอลำเข้าไปมีบทบาทกับชีวิตคน เช่น งานบุญประเพณี ทำให้เรามีอาจได้ซึมซับ ได้เห็น แล้วรู้สึกสนใจศิลปะแขนงนี้”

อาจารย์เปาโลเล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตกหลุมรักหมอลำจนถอนตัวไม่ขึ้น จากเด็กชายที่มักติดสอยห้อยตามผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นคุณครูประจำหมู่บ้าน คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือกิจกรรมสำคัญในชุมชน พ่วงด้วยตำแหน่งสำคัญอย่างกรรมการวัด แน่นอนว่ากิจกรรมภายในวัดภาคอีสาน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการแสดงหมอลำ

“วัดในชนบทจะนิยมจ้างหมอลำมาสมโภช ซึ่งทุกครั้งที่มีการจ้างหมอลำ พ่อก็มักจะเอาพี่ไปด้วย แล้วหมอลำวงใหญ่ก็จะไปที่จังหวัดขอนแก่น เพราะขอนแก่นถือเป็นศูนย์กลางการรวมตัวของบรรดาสำนักงานหมอลำคณะต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงในภาคอีสาน ทำให้พี่ได้มีโอกาสสัมผัส ได้เห็นเวลาเขาไปคุย ไปจ้างหมอลำตั้งแต่เด็ก

“เวลามีการแสดงในชุมชน หรือในชุมชนใกล้เคียงที่เดินทางไปได้ก็จะไปดู ตอนนั้นก็ยังเป็นเด็กนะ ไม่ได้เป็นวัยรุ่นอะไร ไม่ได้ไปดูแล้วเต้นหน้าเวที” (หัวเราะ)

หมอลำจึงแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณอาจารย์เปาโล เพราะทุกอย่างที่หมอลำสื่อออกมา ล้วนแล้วแต่งดงามและประทับใจเขาเข้าอย่างจัง ถึงขนาดเคยจินตนาการว่าอยากจะลองใส่ชุดเป็นพระเอกของเรื่องดูสักครั้ง แม้คนในครอบครัวจะไม่มีใครเป็นหมอลำเลยก็ตาม

นี่คือความสนใจของอาจารย์เปาโลที่เขารับรู้ได้ตั้งแต่วัยเยาว์ คำตอบที่ได้รับจึงคลายความสงสัยในใจเราไปได้หนึ่งเปราะ แต่ก็ไม่อาจคลายได้ทั้งหมด เพราะเรายังไม่เข้าใจมากนักว่าหมอลำมีรากเหง้า หรือมีความสำคัญอย่างไรต่อภาคอีสานกันแน่

 

หมอลำ - รากเหง้าความเป็นอีสาน

“หมอลำทุกแขนงน่าจะเริ่มต้นมาจากรากเหง้าเดียวกัน แต่เพียงอาจจะแตกแขนงออกไปตามความนิยม หรือลักษณะการแสดง คือเขามีความเชื่อว่าหมอลำเริ่มต้นจากการเทศน์ หรือการเล่าเรื่อง ที่อาจมาจากพระที่พยายามสร้างความสนใจในการเทศน์ เพราะถ้าเล่าเฉย ๆ คงไม่น่าสนใจ แต่ถ้าใส่เสียงเอื้อน เสียงขึ้น เสียงลง เสียงอะไรต่าง ๆ เข้าไปด้วยมันจะทำให้ญาติโยมทุกคนที่มาฟัง เกิดความสนใจ”

“ขณะที่บางสำนักเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของหมอลำเรื่องต่อกลอน เกิดมาจากลำหมอลำกลอนที่เป็นการลำของชาย-หญิงในอดีต และมีการพัฒนามาเป็นหมอลำต่อกลอน

“บางสำนักเชื่อว่าหมอลำ เกิดจากหมอลำพื้นที่เติบโตมาจากทำนองเสียงของพระเทศน์แหล่สมัยอดีต เทศน์สังกาส เทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสน เลียนเอาเสียงของพระเทศน์มาเป็นเสียงเล่าเรื่องถ่ายทอดประวัติศาสตร์ วรรณคดี แทนที่จะเล่าให้คนฟังเฉย ๆ

“จนกระทั่งมีหมอลำที่ถือว่าเรา Test Back กลับไปได้ชัดเจนที่สุด ในยุคที่เราสามารถมีคนให้ข้อมูลเราได้ชัดเจนก็คือหมอลำพื้น เพราะฉะนั้นการเกิดกระแสของหมอลำที่เป็นหมอลำในแต่ละแขนง ก็เลยค่อนข้างจะมีความเชื่อว่าหมอลำแขนงต่าง ๆ เริ่มต้นจากหมอลำพื้น”

ก่อนที่อาจารย์เปาโลจะเล่าติดตลกว่าหมอลำพื้นไม่ได้เป็นหมอลำที่รำอยู่บนพื้น หากแต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านทำนองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น ภูมิหลังหรือพื้นของอีสานไปจนถึงวรรณคดีพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ธรรมะ พุทธประวัติ วรรณคดีต่าง ๆ

หากจะให้สรุป ‘รากเหง้า’ ของหมอลำให้กระชับที่สุด จุดเริ่มต้นคงมาจากหมอลำพื้นที่เล่าถึงภูมิหลังของอีสานให้ชาวบ้านได้รับรู้ผ่านผู้เล่าเพียงหนึ่งคน อาจจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง

“แต่สำนักครูที่ขอนแก่น ที่เราสามารถ Flash Back กลับไปได้คือสำนักครูพ่อปู่คำ แล้วก็มีชื่อติดปากคนมาถึงปัจจุบัน คือหมอลำอินตา บุตรทา หมอลำอินตาถือว่าเป็นปฐมศิลปินหมอลำพื้นที่เป็นเอกลักษณ์หมอลำพื้น

“หลังจากนั้นถึงแตกแขนงออกมาเป็นหมอลำกลอน คือหมอลำที่มีการลำเป็นท่วงทำนอง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเฉพาะเกณฑ์การโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง อันนี้เราเรียกอีกคำหนึ่งว่า หมอลำคู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีผู้ชายกับผู้หญิงคู่กัน แล้วก็พัฒนาการมามีการโต้ตอบ ฝ่ายชายอาจจะมีการเริ่มต้น การพูดถึงเรื่องประวัติพื้นเมืองดูสิ ใครจะเก่งกว่ากัน มีการโต้ตอบ โต้วาทีกัน ทำข่าวคราวโต้วาทีเรื่องของธรรมะ เรื่องของพุทธประวัติ อะไรต่าง ๆ

“จากนั้นก็มีการแตกแขนงหมอลำคู่ ออกมาเป็นหมอลำชิงชู้ คือมีการลองประชันกันว่า ถ้าใครจะมาเป็นแฟนของฝ่ายหญิง ลองมาชิงกันดูสิ ผู้ชาย 3 คน มาชิงกันดูสิว่าใครจะมีปฏิภาณไหวพริบที่ดีกว่ากันอาจจะเป็นอีกแขนงหนึ่ง

“จนกระทั่งหมอลำกลอน หรือหมอลำคู่ พัฒนามาจนถึงสูงสุด คือมาเป็นหมอลำซิ่ง มีการเอาดนตรีเข้ามาประกอบเข้าจังหวะ มีการเอาเครื่องดนตรีสากลเข้ามาประกอบ มีแดนซ์เซอร์ แต่มีผู้ชายกับผู้หญิงลำคู่กัน จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันเริ่มกลายพันธุ์ เป็นไม่มีกลอนลำแล้วเป็นมาร้องเพลงแข่งกัน แต่บางคณะอาจจะเห็นว่าไม่มีหมอแคนด้วยซ้ำ แต่ปกติต้องมีหมอแคน 1 คน ผู้ชาย ผู้หญิง อันนี้เป็นอีกแขนงของหมอลำแขนงหนึ่ง

“ส่วนแขนงสายตรงอีกแขนงหนึ่งที่พัฒนาการของหมอลำพื้นคือ หมอลำหมู่ หมู่คือมีจำนวนหลายคน แล้วอีกคำหนึ่งที่เรียกหมอลำหมู่ ก็คือหมอลำเรื่องต่อกลอน จนกระทั่งมาถึงยุคที่มีการเอาคอนเสิร์ตมาผนวกเข้าไป กลายมาเป็นหมอลำคอนเสิร์ต

นอกจากแขนงของหมอลำที่อาจารย์บอกกับเรามาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งแขนงที่พัฒนาการต่อกันมาตามยุคสมัย คือ หมอลำเพลิน แต่น่าเสียดายที่หมอลำลักษณะนี้ค่อนข้างหายาก มีเพียงไม่กี่คณะในอีสาน “หมอลำเพลินจะมีจังหวะที่เป็นเอกลักษณ์ มีการเป่าแซกโซโฟน อันนี้เป็นเอกลักษณ์ของหมอลำเพลิน”

 

หมอลำสามทุ่มกับปรากฏการณ์เต้นหน้าฮ้าน

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหมอลำจึงเริ่มแสดงตั้งแต่สามทุ่มยันสว่าง ทำไมช่วงเวลาที่คนในชนบทควรจะพักผ่อน พวกเขากลับลุกขึ้นมาเต้นหน้าเวทีอย่างสนุกสนาน จนเกิดเป็นปรากฎการณ์ ‘เต้นหน้าฮ้าน’ ให้เราเห็นอย่างในทุกวันนี้

“เดิมทีการแสดงหมอลำล้วน ๆ เลยจะมีตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงสว่าง แต่ปัจจุบันมีการปรับตัวคือเอาแสดงโชว์หน้าเวที จะเห็นว่ามีการแสดงนักร้อง มีการเต้นโชว์ มีตลกมาผสมตั้งแต่ประมาณสามทุ่มถึงเที่ยงคืน เพื่อดึงดูดคน พอช่วงหลัง ๆ คนที่ไปเก็บเกี่ยวทำไร่ทำนาเขากลับมา การแสดงเลยเลื่อนไปเป็นสามทุ่ม

“เพราะอย่าลืมว่าการแสดงหมอลำต้องใช้ไฟ ถ้าเกิดแสดงแต่หัววันมันอาจจะไม่สวยงามเท่าการแสดงกลางคืน ฉะนั้นสามทุ่มกำลังดี มันเลยกลายเป็นประเพณี เป็นมาตรฐานที่จะเริ่มเปิดม่านการแสดงตั้งแต่สามทุ่ม”

หลังจากการแสดงโชว์จบ เวลาเที่ยงคืนจนถึงสว่างก็จะเป็นการแสดงที่เป็นเรื่องราวมากขึ้น คล้ายกับลิเก แต่เป็นเรื่องราวของหมอลำ “ส่วนการเต้นหน้าฮ้านหรือฟ้อนหน้าเวที มันไม่ใช่เพิ่งมีมานะ มันมีมานานแล้ว ซึ่งนี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการแสดงหมอลำ หรือการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานโดยเฉพาะหมอลำมันคือเรื่องสนุกสนาน” เขาเล่าพลางฉีกยิ้มกว้าง ทิ้งช่วงสั้น ๆ ให้เราอดยิ้มตามชายตรงหน้าไม่ได้ เพราะเขาดูมีความสุขทุกครั้งที่พูดถึงงานวิจัยที่เขาทำ

“ไม่มีหมอลำที่ไปไปลำโศก อาจจะมีบทบาทที่มีโศกบ้าง แต่โดยพื้นฐานของหมอลำแล้ว มันอาจจะสะท้อนถึงความสนุกสนาน ไม่จำเป็นต้องกินเหล้าเมา เขาก็ฟ้อนหน้าเวทีได้ สมัยก่อนหน้าเวทีหมอลำ คนแก่หรือชาวบ้าน เวลามีการแสดงหมอลำกลอน หมอลำหมู่สมัยเก่าเวลาที่มีการเดิน จังหวะเดิน มันจะมีจังหวะที่ครึกครื้น และมีใจสนุกสนานขึ้นมาเขาก็ลุกขึ้นฟ้อนหน้าเวที เพียงแต่มันไม่เกิดปรากฏการณ์เหมือนยุคปัจจุบัน”

 

มุมมองที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ทัศนคติของคนในอดีตส่วนใหญ่ มักมองอาชีพหมอลำในเชิงลบ แต่อาจารย์เปาโลวัยเด็กกลับรู้สึกต่างออกไป “อาชีพหมอลำในเวลานั้นเขายังมองว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ซึ่งต้องยอมรับว่าเขามาเต้นกินรำกินจริง ๆ”

คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากทัศนคติของคนไทยในอดีตจะมองศิลปินในเชิงลบ เพราะคงไม่มีอาชีพไหนมั่นคงเท่ากับการรับราชการ หมอลำจึงถูกดูแคลนอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคนที่เลือกเป็นหมอลำ ‘บางคน’ ไม่ได้รักในอาชีพนี้จริง ๆ แต่บังเอิญมีเสียงดี เลยถูกฝากฝังเข้าคณะ และปั้นให้กลายเป็นศิลปินหมอลำจำเป็นขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

“หมอลำหลายคนเติบโตมาจากครอบครัวที่ยากจน แต่เขาอาจจะมีความรัก อาจจะมีความสนใจ หรือเกิดอยู่ในถิ่นที่อยู่ที่มีคณะหมอลำตั้งอยู่ ไม่ก็ครอบครัวพาไป เสียงดีหน่อยก็มีคนเอาไปฝาก ซึ่งเท่าที่สัมผัสมาหมอลำยังถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงถาวร

“ในมุมลึก ๆ เขาขาดโอกาส การที่เขาก้าวเข้ามาสู่วงการหรือพื้นที่ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสในการทำมาหากิน จึงไม่แปลกที่เขาจะคว้ามันไว้ ในขณะที่อีกมุมหนึ่งเขาก็อาจจะเกิดจากใจรักในอาชีพนี้จริง ๆ

“โดยส่วนใหญ่คนที่เป็นหมอลำก็จะมีภูมิหลังเรื่องปากท้องในเชิงของรายได้ที่ผลักดันให้เขาต้องทำ คือถ้าเขามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ หรือมีอาชีพที่ดีกว่านี้ เขาอาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ อาจจะเป็นครู รับราชการ เพียงแต่ว่าหมอลำสามารถเข้าถึงง่ายที่สุด ขอให้มีใจรัก มีเสียงที่ดีก็พอ”

ซุ้มเสียงที่ดีเมื่อมาเจอกับการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้หลายคณะสามารถดันศิลปินหน้าใหม่ให้กลายเป็นหน้าเป็นตา แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน หมอลำก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

“จริง ๆ หมอลำสามารถไปได้ไกล เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมามันถูกกดทับเอาไว้ด้วยหลาย ๆ อย่าง อาจจะเป็นเพราะความเป็นอีสาน การแสดงของอีสานมักจะถูกกดทับว่าเป็นการแสดงของพวกขี้เหล้าที่ชอบไปดู ไปเต้นหน้าเวทีสนุกสนานไปวัน ๆ

“แต่หลังจากมีโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามา สื่อต่าง ๆ เริ่มให้พื้นที่ ก็กลายเป็นว่ามันได้รับการยอมรับ เพราะหมอลำมีอะไรดี ๆ เยอะแยะมากมายอยู่ในการแสดง แล้วมันสามารถต่อยอดผ่านมาเป็นเพลงอีกสานหรือแม้กระทั่งดนตรีอีสาน แถมยังต่อยอดไปในพื้นที่อื่น ๆ ได้อีกมากมาย

“อาจจะไปเล่นในรูปแบบของออร์เคสตรา ละครเวที หรือเอาไปผสมผสานกับเพลงสตริง คุณแค่ปรับเล็กน้อยให้เข้ากับเทรนด์แต่ละพื้นที่มันก็ไปต่อได้ เพียงแต่ในอดีตที่ผ่านมาพี่คิดว่ามันถูกกดทับด้วยปัจจัยอะไรต่าง ๆ ที่เขาไม่สามารถมอบพื้นที่ตรงนี้ให้กับเราได้

“เพราะอย่าลืมว่าหมอลำมันมีพัฒนาการอยู่ตลอด มีนวัตกรรมอะไรหลาย ๆ อย่างอยู่ในนั้นที่เราสามารถใช้ประโยชน์ตรงนี้มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อได้”

 

หมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

“โซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้กระแสของหมอลำได้รับความนิยมจนเกิดกระแสไวรัล ส่วนหนึ่งที่กระแสก็มาจากหมอลำเองก็มีการปรับตัว ในยุคอดีตคนมาเป็นหมอลำ หน้าตาอาจจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ขอให้เสียงดี แต่ตอนนี้มาเป็นหมอลำ เขาเน้นหน้าตาด้วยนะ และที่สำคัญที่สุดคือวัยรุ่นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือวัยรุ่นนิยมดูหมอลำมากขึ้น

“พอคนเริ่มสนใจมันก่อให้เกิดกระแสทางเศรษฐกิจ หมอลำไปแสดงที่ไหน มันไม่ใช่เรื่องของงานวัดต่อไปอีกแล้ว มันก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวหมอลำเองที่ได้รับจากค่าจ้างหรือการแสดง แต่มันคือพื้นที่ของการสร้างงาน คนที่เข้าไปอยู่ในวงหมอลำเป็น 200 - 300 คน

“นี่คือตลาดแรงงานอีกประเภทหนึ่ง ไปแสดงที่ไหนรัศมี 10 - 20 กิโลเมตร บริเวณรอบ ๆ อย่างรีสอร์ต โรงแรม ร้านอาหาร ก็จะมีทัวร์หมอลำมาจากกรุงเทพฯ มันไม่ใช่แค่เราเห็นภาพในงานวัดอย่างเดียว คนจะออกจากบ้านต้องเติมน้ำมันแล้ว ต้องซื้อกิน มูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก

“จึงทำให้ภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนเริ่มเล็งเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องของการเต้นกินรำกิน มันไม่ใช่เรื่องของการแสดงสนุกสนานกินเหล้า แล้วเมาเต้นหน้าเวทีอย่างเดียวต่อไปอีกแล้ว มันมีความสร้างสรรค์อยู่ในนั้น มันมีนวัตกรรมอยู่ในนั้น มันคืออุตสาหกรรมบันเทิงอีกประเภทหนึ่งนะ

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่หมอลำได้มีโอกาสเอาความเป็นตัวตนของตัวเอง ไปถ่ายทอดบนพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก อันนี้ยิ่งทำให้หมอลำได้รับการยอมรับในภาพกว้างมากยิ่งขึ้น”

หัวหน้าโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ เล่าให้เราฟังอย่างละเอียด ราวกับว่าทุกครั้งที่หมอลำเริ่มออกเดินทาง ไม่ใช่แค่เพียงนักแสดงเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากการออกทัวร์ แต่คนในพื้นที่กิจการเล็กใหญ่ก็พลอยได้รับประโยชน์จากการแสดงที่เมื่อก่อนเคยถูกดูแคลน

นี่คือข้อสรุปคร่าว ๆ จากงานวิจัยเรื่องหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ หลังจากอาจารย์และทีมได้ร่วมศึกษา เก็บข้อมูลมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม และค้นพบขุมพลังอันยิ่งใหญ่ของหมอลำ

และดูเหมือนว่าทุกครั้งที่อาจารย์เปาโลเล่าเรื่องหมอลำ ดวงตาของอาจารย์เป็นประกายอยู่ตลอด จนทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า หากโลกนี้ไม่มีหมอลำ อาจารย์ที่เต็มไปด้วยพลังเชิงบวกจะมองโลกต่างจากเดิมไหม

“โลกใบนั้นก็จะเป็นโลกที่มีแต่ความเศร้า...

“เพราะว่าหมอลำเกิดมาพร้อมวิถีชีวิต หมอลำเป็นตัวสะท้อนความเป็นตัวตนของคน สะท้อนวิถีของผู้คน ถ้าไม่มีพี่คิดว่าก็น่าจะเศร้าสร้อยหงอยเหงา หรือขาดสีสันไปเลยแหละ คือความเป็นตัวตนของคนอีสานอาจจะขาดไปอีกมุมหนึ่งเลย เพราะนี่คือตัวตนที่แท้จริงอีกด้านหนึ่งของคนอีสาน”