สุรศักดิ์ ป้องศร: เชื่อใน ‘อีสาน’ ผ่านภาพยนตร์กับบทบาทใหม่เทคโนโลยีเพื่อการบันเทิง

สุรศักดิ์ ป้องศร: เชื่อใน ‘อีสาน’ ผ่านภาพยนตร์กับบทบาทใหม่เทคโนโลยีเพื่อการบันเทิง

'สุรศักดิ์ ป้องศร' ผู้กำกับและนักเขียนบทลูกอีสาน ที่เชื่อในความเป็นอีสานผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ จนวันหนึ่งเขาขยายความสามารถและแนวคิดของตัวเองมาสู่โลก Metaverse เพื่อพัฒนาวงการนี้ด้วยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพ

  • สุรศักดิ์ ป้องศร คนที่สนใจและเริ่มศึกษาด้านสื่อมาตั้งแต่ช่วงม.1  - ม.2 จนได้เรียนรู้ด้านสื่อจริงจังที่ศูนย์ข่าวเยาวชนประจำจังหวัด
  • ช่วงมหาวิทยาลัยเขามีความฝันอยากสร้างภาพยนตร์ของตัวเอง จุดเริ่มต้นของไอเดียการเขียนบท 'ไทบ้านเดอะซีรีส์'
  • ปัจจุบันเขาผันตัวมาเป็นเจ้าของบริษัท มีไอเดียเกี่ยวกับ Metaverse กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

ความเป็น ‘อีสาน’ สำหรับ สุรศักดิ์ ป้องศร ในฐานะที่เป็นผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์ อาชีพสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เขามองว่าอีสานเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งที่อยากถ่ายทอดให้คนทั่วไปรับรู้ และอยากสร้างภาพจำใหม่เกี่ยวกับอีสานให้มีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น

สุรศักดิ์ ได้เปิดใจกับ The People เกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เขาสนใจในความเป็นอีสาน ไม่ใช่แค่เพราะว่าเขาเป็นคนศรีสะเกษ แต่เพราะเขามองว่า “คนอีสานเป็นคนที่มีปมอย่างหนึ่ง ก็คือไม่ค่อยมีพื้นที่ในสังคมเท่าไหร่ในสมัยก่อน เห็นง่าย ๆ จากการที่คนอีสานไปกรุงเทพฯ ก็จะไม่ค่อยพูดอีสาน เลือกพูดภาษากลางมากกว่าภาษาอีสาน ส่วนหนึ่งเพราะว่าอายที่จะพูด แต่พอเราได้ทำตรงนี้ออกมา (ภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์) มันกลายเป็นเทรนด์ ทำให้กระแสดีขึ้น เหมือนหนังเป็นกระบอกเสียงให้คนอีสานได้”

 

 

สนใจทำงานด้านสื่อตั้งแต่ช่วงมัธยม

สุรศักดิ์ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 'ไทบ้านเดอะซีรีส์' เขาถือว่าเป็นคนในวงการนี้ที่มีความสามารถตั้งแต่วัยรุ่น มีความสนใจ และรู้สิ่งที่ตัวเองถนัดตั้งแต่เด็ก ย้อนไปเมื่อสุรศักดิ์ กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม. 1 เขาศึกษาและเรียนรู้ในสายที่เกี่ยวข้องมาอยู่แล้ว

“ตอนมัธยมผมก็ทำสายนี้มาอยู่แล้วตั้งแต่ ม.1 ก็ทำโสตทัศนศึกษาแล้ว แต่ว่าช่วงตั้งแต่ ม. 2 ผมเริ่มทำเกี่ยวกับทางด้านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป รับถ่ายงาน เช่นในงานแต่งงาน ซึ่งช่วงนั้นก็เริ่มถ่ายเอง ตัดเอง เขียนสคริปต์เอง และยังมีทำหนังสั้นส่งประกวด รวมถึงทำ MV เพลง, สกู๊ปข่าว, สารคดี เป็นต้น"

สุรศักดิ์ เล่าว่า "เขาได้ทำและเรียนรู้เกี่ยวกับด้านสื่อซึ่งทำเกี่ยวกับศูนย์ข่าวเยาวชนไทย ซึ่งจะมีประจำอยู่แต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัด ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ก็จะเข้าร่วมศูนย์ข่าวฯ นี้อยู่แล้ว ทำให้เขาได้เรียนรู้จากตรงนั้นมาพอสมควร"

นอกจากนี้ สุรศักดิ์ ยังแชร์ด้วยว่า "ในช่วงมัธยมที่ทำหนังสั้นส่งประกวดมากเกือบ 40 เรื่องด้วยกัน ส่วนเพลงที่ทำ MV ให้ ก็ประมาณกว่า 100 เพลง"

ประสบการณ์ของ สุรศักดิ์ เข้มข้นต่อเนื่องเพราะว่า ช่วงประมารณ ม.4 – ม.5 เขาได้เป็นตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ที่มีโอกาสได้ไปทำสารคดีที่อินเดีย กับเนปาล เกี่ยวกับพุทธประวัติ ส่วนในช่วง ม.5 – ม.6 เขาได้ทำหนังสั้นส่งประกวดที่ญี่ปุ่นในโครงการ JENESYS ครั้งที่ 2 โดยได้รางวัลชนะอันดับ 1 จากทั้งหมด 600 เรื่องด้วย

 

สานฝันสร้างหนังตั้งแต่มหาวิทยาลัย

เป็นธรรมดาของคนที่อยู่ในงานด้านสื่อมาตลอดที่ฝันอยากจะสร้างภาพยนตร์เป็นของตัวเองสักเรื่อง สุรศักดิ์ เองก็เช่นเดียวกัน เขาเล่าว่า “พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมมีความฝันอยากทำหนังเข้าโรงสักเรื่องหนึ่ง ผมได้ทุนเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ คือ BU Creative จึงตัดสินใจเรียนสายภาพยนตร์ที่นี่”

“เป็นช่วงจังหวะพอดี มีน้องคนรู้จักซึ่งเรียนนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถามเราว่าทำอะไรดีก็เลยแนะนำและชวนกันมาทำ ‘ไทบ้านฯ’ เหตุผลเพราะตอนนั้นมีซีรีส์เรื่อง Hormones วัยว้าวุ่น และเราเห็นกระแสว่าเป็นหนังวัยรุ่น และก็คิดว่าตอนนั้นยังไม่มีสไตล์แนวอีสานเลยที่เป็นพล็อตเรื่องประมาณนี้”

“ผมว่าหนังสไตล์อีสานแบบจริง ๆ ในช่วงวัยของเรายังไม่เคยมีเลย มีแต่เป็นวัยแบบใส่ผ้าถุงซึ่งไม่ใช่วัยของเรา ก็เลยลองทำดูเริ่มจากการเขียนบท และใช้เวลาในการเกลาบทอยู่นาน 1-2 ปีครับ ช่วงที่มาทำไทบ้านฯ ใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ”

สุรศักดิ์ พูดถึงเหตุผลที่ตัดสินใจมาเรียนสายนี้เพราะว่า เขาเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องอยู่แล้ว (ตั้งแต่วัยรุ่น) แต่ตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่าจะแสดงออก หรือแสดงความสามารถของตัวเองอย่างไร จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเริ่มให้มาสนใจการเล่าเรื่องผ่าน ‘มุมกล้อง’ เพราะตัวเองก็เป็นสายทดลอง ชอบลองผิดลองถูกอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สุรศักดิ์ ยังพูดอีกว่า “เหตุผลที่ทำเป็นภาพยนตร์แนวอีสาน เพราะรู้สึกว่าเราถนัดแนวนี้ที่สุด ซึ่งถ้าจะไปทำเป็นภาษากลาง เราก็ไม่สามารถสู้ค่ายใหญ่ ๆ ได้อยู่แล้ว เพราะว่าเขาคงทำได้ดีกว่าเรา และเขามีประสบการณ์มากกว่า”

เมื่อถามถึงความยากของการทำภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวความเป็นอีสาน สำหรับสุรศักดิ์ กลับมองว่า อยู่ที่ความเสี่ยงมากกว่าเพราะมีความเสี่ยงสูงมาก มันมีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จเลย และก็มีน้อยคนที่จะมาทางภาพยนตร์อีสาน ซึ่งเขาพูดว่า “ถ้าเรากล้าทำ เหมือนเราเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่เราเข้าใจมันดีแล้ว ผมเชื่อว่าสามารถทำให้สำเร็จได้ ซึ่งต้องมีภาพที่มันชัดเจน ไม่ได้สะเปะสะปะไปข้างใดข้างหนึ่ง”

 

บทบาทใหม่สายเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสุรศักดิ์ พูดว่าเขาได้ออกจากการบริหารของทั้งไทบ้าน และเซิ้ง มิวสิคแล้ว แต่ยังคงเป็นหุ้นส่วนธุรกิจอยู่ ซึ่งเหตุผลก็คือ ต้องการเปลี่ยนบทบาทให้กับตัวเองใหม่ อยากเบนสายมาทางเทคโนโลยีมากขึ้น

“ตอนนี้ผมหันมาจับเรื่องของ Metaverse (โลกเสมือนจริง) ซึ่งจริง ๆ ผมได้ศึกษามานานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ทำไทบ้านฯ แต่โจทย์ ณ ตอนนั้นมันดูห่างไกลครับ แต่พอมาตอนนี้ผมก็ยังทำมาเรื่อย ๆ นะ เริ่มวางแผนโครงสร้างอะไรต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว เหลือแค่แนวคิด, ทำเว็บไซต์ และขาย NFT รวมไปถึงการระดมทุนครับ”

สุรศักดิ์ ยังเล่าต่อว่า “ตอนนี้ผมทำมาสายเทคโนโลยี แต่ไม่ได้ก้าวแบบหลุดออกมาเลย เพราะว่าขาข้างหนึ่งยังจับในเรื่องของภาพยนตร์ แล้วก็ความบันเทิงทั้งระบบ แต่ผมให้ความสำคัญกับองค์กรที่ทำด้านนี้โดยเฉพาะ ก็คือ ‘สื่อบันเทิง’ ด้วยความที่เราก็พอมีประสบการณ์ เข้าใจโครงสร้างต่าง ๆ สำหรับสิ่งบันเทิงทั้งระบบ ผมเลยคิดว่าจะเอาตรงนี้เข้ามาอยู่ใน Metaverse โดยที่ทุกคนสามารถทำงานในนี้ได้ แล้วก็จะมีฟังก์ชันการเขียนบทให้ ซึ่งฟังก์ชันนี้ผมก็ถอดหลักสูตรและออกแบบเองด้วย”

“ผมใช้เวลาพัฒนาสิ่งเหล่านี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้สมบูรณ์ 100% แต่ผมเชื่อว่า คอนเซปต์นี้จะเป็นหลักสูตรที่สามารถสอนทีมงานที่ทำด้านสื่อ ความบันเทิงให้ดีขึ้นได้ ซึ่งตอนนี้ผมก็ทำเองคนเดียวมาตั้งแต่ต้นปี ก็คือทำมาได้เกือบหนึ่งปีแล้ว”

“เราเป็นคนสไตล์ดีไซน์องค์กรอยู่แล้ว ดีไซน์แผนงาน ผังองค์กรอะไรอย่างนี้ เลยคิดว่ามันก็จะเข้าใจง่ายขึ้น”

ระหว่างการพูดคุยที่เต็มไปด้วย passion ของสุรศักดิ์ เขายังพูดต่อว่า “ผมมองว่าถ้าทำสำเร็จมันจะปฏิวัติวงการบันเทิงทั้งระบบเลย เพราะว่าผมต้องการที่จะทำเป็นระบบนิเวศน์ของมัน ตั้งแต่เรื่องของภาพยนตร์ การทำภาพยนตร์ ฯลฯ ผมคิดว่าจะเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถจอยทีมกันเองได้

โดยมี Smart contract ในการรองรับ แล้วก็ปันผลอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังคิดว่าจะมีฟังก์ชันการเขียนบทให้ ฟังก์ชันการฟอร์มทีมประมาณนี้ ก็คือจะไปสู้ในเรื่องของแพลตฟอร์มมากกว่า”

ถึงแม้ว่า สุรศักดิ์ จะหันเข้มความสนใจมาทางเทคโนโลยี, Mataverse หรือจะเป็นดีไซน์องค์กรแบบใหม่ แต่ปัจจุบันเขาก็ยังอยู่ในแวดวงภาพยนตร์อยู่ เพียงแต่จะทำเฉพาะเรื่องที่รู้สึกว่าอยากจะทำ เช่น ‘สัปเหร่อ’ ภาพยนตร์ที่ตอนนี้เขาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ แต่ให้ ‘ต้องเต - ธิติ ศรีนวล’ เป็นคนกำกับเอง ซึ่งเขาคือคนที่เคยกำกับร่วมกับสุรศักดิ์มาก่อน

สุดท้ายนี้ สุรศักดิ์ ยังพูดถึงความเป็นอีสานไว้ว่า “ผมมองว่ามันต้องพัฒนาไปต่อเรื่อย ๆ อีสานมันคือ culture มันคือวัฒนธรรม สมมติว่าในอนาคต Metaverse มันมา ซึ่งผมมองว่ามาแน่ ๆ อาจจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง และถ้าความเป็นอีสานเข้ามาอยู่ในนั้นก็สามารถอยู่รอดได้เพราะมันคือการปรับตัว”

“เราจะเห็นอีสานในมุมที่ทันสมัยขึ้น แต่ยังคงรักษาความเป็นวัฒนธรรมอยู่ เช่น ภาษา การใช้ชีวิต ฯลฯ ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างเพอร์เฟกต์เลยนะ เพราะว่าคนในเมืองส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สัมผัสธรรมชาติ แต่คนอีสานส่วนใหญ่ได้สัมผัสธรรมชาติ แล้วก็ไม่ได้ลืมเรื่องของเทคโนโลยี มีความอยากจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเหมือนกัน”

ดูจากความกระตือรือร้น และความมุ่งมั่นของ ‘สุรศักดิ์’ หวังอย่างยิ่งที่จะเห็นอะไรใหม่ ๆ ในวงการภาพยนตร์ไทย อาจจะมุมที่ไทย, อีสาน หรือ ภูมิภาคอื่นไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งในมุมของผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์ และในมุมของนักธุรกิจ เขามองว่าวงการภาพยนตร์ไทยอาจจะไม่ได้ไปไกลมากกว่านี้ และอาจจะมีปัจจัยภายนอกเข้ามา disrupt มากขึ้นด้วย ดังนั้น สิ่งที่จะตอบโจทย์มากที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างที่นักคิดรายนี้ทำ

 

สำหรับคนที่สนใจอยากฟังเรื่องราวของ 'สุรศักดิ์ ป้องศร' เพิ่มเติม สามารถมาพบกันได้บนเวที Talk 'เว่าถึงแก่น' ทอล์กโชว์เพื่อให้เข้าใจภาคอีสานมากขึ้น

เวทีเว่าถึงแก่น คือส่วนหนึ่งของงาน Isan BCG Expo 2022 มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้แนวคิด Collaboration : ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ จัดขึ้นในวันที่ 9-12 ธันวาคม 2565 ณ Khon Kaen Innovation Centre (KKIC) จังหวัดขอนแก่น

พบกับการบรรยายของ สุรศักดิ์ ป้องศร ได้ในงาน ISAN BCG EXPO 2022 ในวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2565 ในหัวข้อ "อีสานมื้อนี้ (อีสาน Today) วันฟ้าแจ้งจ่างป่าง: กับโอกาสสดใสทางธุรกิจครีเอทีพอีสาน" เวลา 13.30 - 14.30 น. ที่ Srichan Creative Stage ตึกคอม ขอนแก่น

คลิกดูรายละเอียดงานและ Speakers ในเวที เว่าถึงแก่น เพิ่มเติมที่นี่

ภาพ: สุรศักดิ์ ป้องศร/Facebook