20 ปีความสุขของกะทิ คนที่หัวเราะดังสุด มักจะร้องไห้มาก่อน เรื่องเล็กเลยมีความหมาย

20 ปีความสุขของกะทิ คนที่หัวเราะดังสุด มักจะร้องไห้มาก่อน เรื่องเล็กเลยมีความหมาย

ครบรอบ 20 ปีความสุขของกะทิ คุยกับ งามพรรณ เวชชาชีวะ มองเส้นทางการก้าวเข้าสู่วงการนักเขียน เพราะความสุขเล็ก ๆ ล้วนมีความหมาย

  • ความสุขของกะทิเป็นหนังสือเล่มแรกของ ‘งามพรรณ เวชชาชีวะ’ ที่เริ่มต้นเขียนในวัย 39 ปี
  • หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ปี 2549 และถูกแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษ
  • ความสุขของงามพรรณในวัย 60 ปี คือ การได้แต่งเรื่องราวและเขียนต่อไป

ปัจจุบันความสุขดูเป็นเรื่องไกลตัวและหายาก แต่วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ‘ความสุขของกะทิ’ หนังสือรางวัลซีไรต์บอกนักอ่านอย่างเราว่า ความสุขไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แต่อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิต

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผ่านไป 20 ปี ความสุขของกะทิก็ยังเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ครองใจคนมาตลอด 

“ความสุขของกะทิคือความสุขในการใช้ชีวิตโดยพอเหมาะพอดี  มีทั้งทุกข์ มีทั้งสุข แต่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างดี ไม่ได้หมายถึงสุขสบาย แต่หมายถึงว่า หายใจได้ รับรู้ได้ ข้อสำคัญก็คือเป็นความสุขซึ่งควรจะส่งต่อให้คนอื่นได้ด้วย”  

เรื่องราวแนวฟูใจเกิดขึ้นภายใต้การร้อยเรียงเรื่องราวของ ‘งามพรรณ เวชชาชีวะ’ นักอ่าน นักแปล และนักเขียนที่ให้สัมภาษณ์ด้วยรอยยิ้มตลอด 1 ชั่วโมง ทำให้เราเห็นว่า เธอมีความสุขกับงานของเธอจริงๆ

The People คุยกับงามพรรณ เวชชาชีวะ เรื่องเส้นทางการทำงานไปจนถึงความสุขของเธอในวัย 60 ปี และเราก็หวังว่า เมื่อคุณอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ คุณจะมีโอกาสกลับมาทบทวน เปิดรับทุกความรู้สึก ประมวลเรื่องราว ห้วงอารมณ์มากมายที่เกิดขึ้นกับชีวิต แล้วบรรจุลงหนังสือที่ชื่อ ‘ความสุข' ของตัวเอง

20 ปีความสุขของกะทิ คนที่หัวเราะดังสุด มักจะร้องไห้มาก่อน เรื่องเล็กเลยมีความหมาย

เด็กหญิงที่อยากมีชื่อตัวเองบนปกหนังสือ

“เราต้องนั่งรถเข็นมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้วิ่งเล่นเหมือนคนอื่น แต่เราชอบอ่านหนังสือ อ่านไปเรื่อย ๆ เพราะอยากมีชื่อตัวเองอยู่บนหน้าปกหนังสือ”

เด็กหญิงงามพรรณ คือ นักอ่าน หลังจากนั้นเธอก็เริ่มเขียน จากจดหมายพูดคุยกับบรรณาธิการนิตยสาร ขยับมาเขียนเรื่องสั้น และเข้ามาสู่วงการนักแปลในที่สุด

งามแปลเรื่องแรกของงามพรรณ คือ วรรณกรรมเยาวชนเรื่องเฟรเดอริกเพื่อนรัก ที่แปลลงหน้าเด็กของหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่ตั้งใจ ลงแรง แม้ไม่ได้เงิน แต่ก็เป็นการฝึกมือและเรียนรู้ในบทบาทของการเป็นนักแปลหน้าใหม่ 

ผลตอบรับที่ดีเกินคาด ทำให้เธอหันมาทำงานแปลจริงจัง ฝึกฝน สะสมชั่วโมงบินจนกลายมาเป็นนักแปลมากฝีมือที่อยู่เบื้องหลังวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังหลายเรื่อง เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) เล่ม 1-3 ในฐานะบรรณาธิการ รวมถึง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 4 (ถ้วยอัคนี) ในฐานะนักแปล จนได้รับฉายาว่า ‘งามพรรณวรรณกรรมเด็ก’

เมื่อมองดูเส้นทางการเป็นนักแปลของงามพรรณ เธอคิดว่า การแปลไม่ใช่แค่การรับโจทย์จากสำนักพิมพ์อย่างเดียว แต่นักแปลจะต้องสนใจ อิน และสนุกกับหนังสือเล่มนั้นก่อน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ตรงกับสิ่งที่นักเขียนต้องการสื่อสารมากที่สุด 

20 ปีความสุขของกะทิ คนที่หัวเราะดังสุด มักจะร้องไห้มาก่อน เรื่องเล็กเลยมีความหมาย

“เราต้องทำยังไงก็ได้ให้สิ่งที่เป็นต้นฉบับกับสิ่งที่เราแปลใกล้เคียงกัน นักแปลเสมือนเงาของนักเขียน เพราะฉะนั้นหนังสือที่เราเลือก เราต้องรู้สึกก่อนว่าสนุก มีคุณค่าบางอย่างที่ทำให้เราต้องลงแรงแปลทุกคำ”

“มันเปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น เพราะการเป็นนักแปลทำให้เราอ่านได้มากกว่า 1 ภาษา แล้วหนังสือแปลก็ทำให้เรารู้จักวัฒนธรรม รู้จักความคิด และลดความไม่เข้าใจบางอย่าง อย่างที่บอกว่าการแปลมันเป็นสะพานข้ามวัฒนธรรม ทำให้คนที่ไม่รู้จักกันหรือไม่เข้าใจกันก็เข้าใจกันได้” 

 

ความสุขของกะทิ จุดเริ่มต้นความฝันของนักแปล

ถึงจะเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการนักแปล และใช้ชีวิตเป็นเงาของนักเขียนอยู่หลายปี แต่ความฝันสูงสุดของงามพรรณ คือ การมีหนังสือเป็นของตัวเอง

แล้วความฝันของเธอก็เริ่มต้นขึ้นในวัย 39 ปีด้วยหนังสือที่พูดถึง ‘ความสุขของกะทิ’

“จุดเริ่มต้นความสุขของกะทิ ก็คือความฝันของคนคนหนึ่งที่อยากเป็นนักเขียน เราทำงานแปลมาตลอด วันหนึ่งบอกกับตัวเองว่า  เราจะทำตามความฝันของเราแล้วนะ ให้เวลาตัวเองทุกวัน หลังเลิกงานเราจะไม่ไปไหน นั่งหน้าจอเขียนอะไรก็ได้ ลองพักงานแปลสัก 3 เดือน แล้วเอาเวลานี้ มาเขียนหนังสือสักเล่ม ถ้ารอบนี้ยังเขียนไม่เสร็จ ไม่เป็นหนังสือ ก็จะเลิกฝันแล้ว ”

“แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีคำที่นึกขึ้นมาได้ว่า แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา”

ประโยคสั้น ๆ ที่กินใจนั้น ถูกพัฒนา ร้อยเรียงเรื่องราว ผูกตัวละครไว้กับกับปมเรื่องความรักความผูกพันในครอบครัว ระหว่างเด็กผู้หญิง 9 ขวบคนหนึ่งที่อยากรู้จัก ‘แม่’

“ตอนเริ่มเขียนก็มีประเด็นอยู่ในใจเหมือนกัน เรามีเป้าหมายส่วนตัวว่า เราอยากเขียนเรื่องที่คนอ่านหนังสือเราจบ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายให้ได้ แล้วด้วยความที่เราได้ชื่อว่าเป็นนักแปลวรรณกรรมเยาวชน ก็เลยคิดว่าถ้าเอาเรื่องยาก ๆ ไปเล่าผ่านสายตาเด็กก็น่าสนใจดี แล้วพอเราได้ประโยค แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา ก็คิดว่าเล่าเรื่องผ่านมุมมองของลูกดีกว่า”

“เพราะลูกเป็นคนพูดขึ้นมาเองว่า แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา แล้วทุกวันก็คิดถึงแม่ ก็เลยเป็นเรื่องขึ้นมาว่า ถ้าคนเราขาดอะไรบ้างอย่างในชีวิตแล้วเราจะยังมีความสุขในชีวิตได้ไหม”

 

หนังสือที่เปิดพื้นที่ระหว่างบรรทัด

จริงอยู่ที่ความสุขของกะทิเป็นหนังสือเล่มแรกของงามพรรณ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ทดลองให้กับนักเขียนหน้าใหม่คนนี้ด้วย

เธอท้าทายตัวเองด้วยการปรับสายตาของตัวเองที่เป็นผู้ใหญ่ให้เหลือเพียงสายตาของเด็กหญิงวัย 9 ขวบที่ไม่ได้รู้จักโลกมากมาย มีเป้าหมายเดียว คือ การพาตัวเองไปรู้จักแม่ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย

20 ปีความสุขของกะทิ คนที่หัวเราะดังสุด มักจะร้องไห้มาก่อน เรื่องเล็กเลยมีความหมาย

ถ้าคุณลองเปิดหนังสือความสุขของกะทิอ่านดูสักครั้ง คุณจะเห็นว่างามพรรณไม่ได้อธิบายลักษณะของกะทิชัดเจนว่าเป็นเด็กแบบไหน เติบโตมาอย่างไร แต่เมื่อเปิดอ่านต่อไปเรื่อย ๆ คุณจะเริ่มก้าวเท้าเข้าสู่โลกใบเล็กของเด็กคนนี้ที่เต็มไปด้วยความสงสัย บางครั้งก็ดูไร้เดียงสาตามประสา และบางครั้งก็เหมือนจะโตกว่าเราที่เป็นผู้ใหญ่เสียอีก 

ทั้งหมดนี้ คือ ความตั้งใจของคนเขียนที่ต้องการขยายช่องว่างระหว่างให้บรรทัดให้คนอ่านตีความและเติมเต็มมุมมองของตัวเอง 

“ถ้าจะเทียบเคียงกับเจ้าชายน้อย บางคนคิดว่าเป็นการผจญภัยของเจ้าชายที่ไปดาวแต่ละดวง แต่ถ้าตีความลึกลงไปอีก ก็จะรู้สึกว่าคนเขียนกำลังวิพากษ์ถึงสังคมมนุษย์หรือเปล่า บางคนบอกว่า บทหนึ่งสั้นมาก  แต่เขาไม่ยังไม่อยากอ่านบทที่ 2 ต่อ เขายังคิดซ้ำ ๆ กับเรื่องที่เราเล่า  จริง ๆ เจตนาของเราก็เป็นแบบนั้น”

“เราเปิดทางให้ระหว่างบรรทัด ระหว่างความคิด ระหว่างบท ให้คนอ่านเติมเต็มลงไปเองได้ ไม่ใช่เราไปเล่าทั้งหมด จริง ๆ รูปร่างหน้าตากะทิ เราก็ไม่ได้บอกเท่าไหร่นะ เว้นพื้นที่ให้คนอ่านรู้สึก”

นอกจากนี้ยังเป็นความตั้งใจของผู้เขียนอีกครั้งที่ต้องการคงระดับสายตาของกะทิวัย 9 ขวบในทุกตอน ทุกภาคที่ออกมาในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำให้เห็นชีวิตและการเติบโตของเด็กคนหนึ่งที่ผ่านเรื่องราวมากมาย และมีอำนาจในการตัดสินใจชีวิตของตัวเอง

“ความสุขของกะทิมี 3 ภาค เราเล่าผ่านสายตากะทิคนเดิม ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างไป เหมือนเป็นการเดินทาง ของเด็กที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมา เติบโตขึ้น แล้วมุมมองก็เปลี่ยนไป”

และอาจเป็นภาพสะท้อนและตอกย้ำว่า เด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านจริง ๆ 

“ในเรื่องพูดถึงคนหลายคนที่เข้ามาดูแลกะทิ วันที่ยายถามว่ากะทิต้องการจะไปหาแม่ไหม พวกเขาก็ให้กะทิเป็นคนตัดสินใจ  

“การตัดสินใจหมายถึงการประมวลความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองมีประสบการณ์ กล้าตัดสินใจ ยกระดับความยากไปเรื่อย ๆ ความคิดของเด็กก็จะโตขึ้นไปด้วย”

 

20 ปีความสุขของกะทิ

พ.ศ. 2546 เป็นปีที่ความสุขของกะทิถูกพิมพ์เป็นครั้งแรก

งามพรรณอธิบายถึงความสุขจริง ๆ ของกะทิไว้ว่า “ความสุขของกะทิคือความสุขในการใช้ชีวิตโดยพอเหมาะพอดี  มีทั้งทุกข์ มีทั้งสุข แต่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างดี ไม่ได้หมายถึงสุขสบายนะคะ แต่หมายถึงว่า หายใจได้ รับรู้ได้ ข้อสำคัญก็คือเป็นความสุขซึ่งควรจะส่งต่อให้คนอื่นได้ด้วย”  

หากจะเทียบอายุ กะทิเมื่อ 20 ปีก่อนอายุ 9 ขวบ วันนี้ชีวิตของเธอก็จะเข้าสู่วัย 30 แล้ว ในฐานะคนที่อยู่กับกะทิมาสองทศวรรษ งามพรรณบอกว่า เธอแค่หวังให้ตัวละครของเธอมีความสุข เติบโต รักตัวเองมากพอที่จะส่งต่อความรักและความช่วยเหลือให้กับคนอื่น 

 “กะทิถูกเลี้ยงให้มีความคิดเป็นของตัวเอง ตัดสินใจเอง เพราะฉะนั้น วันนี้เขาคงจะใช้ชีวิตที่เลือกเอง บางทีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สงคราม ไวรัส กะทิอาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์เหล่านั้นแล้วทำให้ตัวเขามีจุดยืนในการทำงาน เราผูกเรื่องไว้ให้เขาชอบถ่ายภาพ ก็เลยคิดว่าเขาอาจจะเป็นช่างภาพที่ไปเก็บภาพเหตุการณ์พวกนี้มาก็ได้ ทำให้เขารู้จักคนเยอะขึ้น”

และนี่คือข้อความของงามพรรณถึงกะทิ ตัวละครเด็กในหนังสือเล่มแรกของเธอ…

“ก็คงบอกว่า ชีวิตไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เขาได้กำลังใจจากคนรอบข้างเยอะ อยากให้เขาพอใจในชีวิตที่มีอยู่ ใช้ชีวิตได้อย่างคนที่พอใจในชีวิต แล้วถ้าหากเขาพอใจได้จนถึงจุดหนึ่งที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นได้ก็ยิ่งดี”

อีกมุมหนึ่ง นอกจากจะเป็น 20 ปีครบรอบหนังสือความสุขของกะทิแล้ว ก็ยังเป็น 20 ปีการเดินทางเป็นนักเขียนที่ไม่ได้ซ่อนอยู่ในเงาของงามพรรณด้วย

เธอเล่าว่า ความสุขของกะทิ คือ บทพิสูจน์ว่าเธอรักงานเขียนจริง และอยากจะเขียนไปพร้อมกับมีความสุขแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ 

“20 ปีของกะทิก็คือ 20 ปีการเป็นนักเขียนของเราด้วย เราได้เขียนนิยายหลายรูปแบบ เรียนรู้เทคนิคการเขียนมากขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่เหมือนเดิมที่สุดเลยก็คือ ยังมีความสุขในงานเขียน ไม่ใช่ว่า ดีใจที่สำเร็จแล้วก็จบ แต่กลายเป็นว่า มันยิ่งทำให้เรามีความสุขมาก 

“พิสูจน์แล้วว่าเรามีความสุขกับการเขียน มันก็เลยหยุดเรื่องการเป็นนักแปลโดยปริยาย เพราะฉะนั้นก็เป็น 20 ปีของการเดินทางเป็นนักเขียน มั่นใจว่าจะอยู่ตรงนี้ จะเขียนหนังสือต่อไปเรื่อย ๆ”

20 ปีความสุขของกะทิ คนที่หัวเราะดังสุด มักจะร้องไห้มาก่อน เรื่องเล็กเลยมีความหมาย

ความสุขของงามพรรณ

อาจเป็นเพราะความสุขของกะทิ คือ ผลงานสร้างชื่อให้หลายคนรู้จักกับ ‘งามพรรณ’

เพราะงามพรรณมีความสุขที่ได้นำเสนอเรื่องราวของเธอต่อสังคม ความสุขของกะทิจึงเข้าถึงใจคนได้ง่าย ถูกตีพิมพ์มากกว่าร้อยครั้ง ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทยในพ.ศ. 2549 มียอดขายกว่า 5 แสนเล่ม อีกทั้งยังถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ด้วย

“ มันเป็นบทพิสูจน์บางอย่างเหมือนกันว่า การที่เราเขียนเรื่องความสุข  มันเป็นทุกคนสัมผัสได้

“บางคนบอกว่ากะทิเป็นเพื่อน เหมือนโตมาด้วยกัน ในช่วงที่เขามีความทุกข์มาก ๆ เขาก็ยังเอาเรื่องนี้มาอ่าน ซึ่งมันเกินกว่าในวันที่เราเขียนหนังสือแล้วเราจะคิดไปถึงตรงนั้นได้ ถามว่าดีใจไหม ก็ดีใจมากเลย ที่ทำให้รู้สึกว่าจินตนาการของเราที่สร้างตัวละครขึ้นมาตัวหนึ่ง ได้รับการยอมรับ หรือยอมรับไปเป็นเพื่อน รับเข้าไปเป็นคนที่แนะนำในเรื่องการใช้ชีวิต มันเกินความคาดหวังของนักเขียน แต่มันก็ทำให้นักเขียนได้เรียนรู้ไปด้วย”

ถึงเวลาจะผ่านมานานมากแล้ว แต่เมื่อถามถึงความสุขของงามพรรณในวันนี้ที่อายุกำลังจะก้าวสู่วัย 60 เธอก็บอกว่า สุขที่สุดในชีวิต คือ วันที่เธอเขียนความสุขของกะทิเสร็จ

มันคือความสำเร็จที่เธอภูมิใจ แม้ว่าจะไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของเธอในวันนั้นก็ตาม

“ดีใจที่เขียนจบ เราเขียนไม่จบก็ไม่มีใครเดือดร้อน แต่เรานั่งยิ้มอยู่คนเดียว แล้วเราก็ print ออกมานั่งอ่านเอง โอ้โห เราเขียนจบแฮะ บอกตัวเองว่าเราทำสำเร็จ อันนั้นคือสุขที่สุด ซาบซึ้งสุด เพราะว่ามันคือเดิมพันบางอย่างที่เราให้โอกาสตัวเอง ทั้งเวลา ทุกอย่าง ว่าเราจะทำสำเร็จไหม แต่เขียนดีไม่ดีไม่รู้นะคะ ตอนนั้นรู้แค่ว่าเราเขียนมาจนจบได้”

“เรามองว่าความสุขมันเริ่มจากทั้งมองดูสิ่งที่เราทำไปแล้ว สิ่งไหนที่ทำไม่ได้แล้ว ก็ปล่อยวาง แล้วก็มองไปข้างหน้าด้วยสายตาที่รู้ว่าถนนของเราไม่ได้ยาวเหมือนก่อน ก็เป็นความสุขอีกแบบ”

20 ปีความสุขของกะทิ คนที่หัวเราะดังสุด มักจะร้องไห้มาก่อน เรื่องเล็กเลยมีความหมาย

แต่ไม่ใช่ว่าเราจะหลงระเริงในความสุขจนลืมความทุกข์ งามพรรณทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่จะทำให้เรามีความสุขได้กับเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิต คือ การยอมรับและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ความรู้สึกเศร้า ยอมรับก่อนว่านี่คือความทุกข์ เป็นสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่ถามว่า มองไปข้างหน้า มันจะมีความสุขเกิดขึ้นไหมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ในวันที่ทุกข์มาก ๆ ถ้ามองดูจะมีหลายคนที่เข้ามาแสดงความเห็นใจ เข้ามาปลอบใจ มันมีความจริงใจที่เกิดขึ้น 

“เคยอ่านเจอว่า คนที่จะหัวเราะดังที่สุด ส่วนใหญ่เคยร้องไห้มาแล้ว เพราะรู้แล้วว่าทุกข์คืออะไร เพราะฉะนั้นสิ่งเล็ก ๆ มันเลยกลายเป็นความสุขได้ ”

ความสุขอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เริ่มต้นจากการกลับมาอยู่กับตัวเอง เปิดรับทุกห้วงอารมณ์ ปล่อยให้ตัวเองเข้มแข็ง อ่อนแอ ได้บ้าง

แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงเราอาจเขียนหนังสือความสุขในแบบตัวเอง หนังสือที่ไม่ได้วางแผงขาย แต่อยู่ในใจเต็มไปด้วยเรื่องราวความสุขและความทุกข์ปะปนกันไปที่เราเขียนขึ้นเอง 

ไม่แน่ว่าวันหนึ่งคุณอาจจะมีหนังสือที่เขียนว่า ‘ความสุขของฉัน’ ไว้ในกองดองก็ได้

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย