น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย: MD Zenyum กว่าจะเจอองค์กรที่ใช่ พิสูจน์ตัวเองสู่ผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่

น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย: MD Zenyum กว่าจะเจอองค์กรที่ใช่ พิสูจน์ตัวเองสู่ผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่

เส้นทางการพิสูจน์ตัวเองของ ‘น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย’ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่ กว่าจะเจอองค์กรที่ใช่ และแนวคิดที่ต้องพยายามมากกว่าคนอื่นหากอยากเป็นผู้นำ จนถึงวันที่เธอได้รับโอกาสขึ้นเป็น MD ของ Zenyum Thailand

  • น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย ผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง จนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยวิสัยทัศน์ต้องขยันและพยายามมากกว่าคนอื่น
  • จุดเปลี่ยนในชีวิตที่ช้ากว่าคนอื่น ไม่ใช่อุปสรรคในการพิสูจน์ตัวเองของน้ำฝน จนวันหนึ่งได้ขึ้นเป็น MD ของ Zenyum

การเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของคนอื่นก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างกรอบความคิดใหม่ ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราได้ อย่างเส้นทางชีวิตของ ‘น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย’ Zenyum Managing Director Thailand ที่กว่าเธอจะค้นพบองค์กรที่ใช่ ก็ใช้เวลาเรียนรู้และค้นหาตัวเองอยู่นาน อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ The People จึงอยากนำมาเล่าให้รู้จักตัวตนของน้ำฝนมากขึ้น

 

ค้นหาตัวตนช้าไม่ใช่เรื่องแปลก

เชื่อว่าแต่ละคนจะมีมุมมองการใช้ชีวิตหรือมีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกัน ซึ่งการค้นพบความชอบหรือความถนัดในระยะเวลาที่ไม่เท่ากันก็คงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร อย่างที่น้ำฝนเล่าว่า เธอเกิดและเติบโตมาในครอบครัวคนจีน และเห็นภาพคุ้นตาจากคุณพ่อคุณแม่ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว

น้ำฝนจบการศึกษาในด้าน Biotech (เทคโนโลยีชีวภาพ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เธอบอกว่า จริง ๆ ตอนนั้นก็มีอีกด้านที่อยากเรียนก็คือ Food Sci แต่สุดท้ายก็เลือกเรียนในสิ่งที่คุณพ่อแนะนำและอยากให้เรียน

ตลอดเส้นทางการเรียนของน้ำฝน เธออยู่กับความเป็นวิทยาศาสตร์ งานวิจัย อยู่กับสายวิชาการค่อนข้างมาก นอกจากนี้ เธอยังได้ทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อไปศึกษาและทำวิจัยร่วมด้านสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยฮอกไกโด เรียนในคณะ Environmental Science และหลังจากที่เธอกลับจากญี่ปุ่นก็ได้ทำงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อ รวม ๆ แล้วก็น่าจะเป็นเวลาถึง 8 ปีที่เธอคลุกคลีอยู่กับสายงานวิจัย

น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย: MD Zenyum กว่าจะเจอองค์กรที่ใช่ พิสูจน์ตัวเองสู่ผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็มีจุดพลิกผันชีวิตของน้ำฝนอีกครั้ง เพราะเธอตัดสินใจลาออกจากสายงานวิจัย ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่าอยากจะลองค้นหาอะไรใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยได้ลองทำ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง

น้ำฝนได้เล่าว่า “ถึงจุดหนึ่ง ตอนนั้นใกล้จะจบปริญญาโทแล้ว แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออก ที่จริงตอนนั้นเราเริ่มทำ thesis แล้วด้วย ซึ่งฝนมองว่า ถ้าเรามี mindset ด้านวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับด้านธุรกิจก็คงจะดี และก็เป็นจังหวะที่ตอนนั้นฝนป่วยด้วย ซึ่งที่บ้านก็เริ่มเข้าใจว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากที่ฝนลาออก ก็ได้มาเรียนที่ Stamford ตรงอโศกค่ะ ถือว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่เริ่มค้นหาตัวเองใหม่ทั้งหมดเลย”

“สำหรับฝน ก็ถือว่าเริ่มค่อนข้างช้ากว่าคนอื่น ซึ่งการที่เราไปเรียน MBA เพื่อให้เข้าใจภาษาเข้าใจคนในวงธุรกิจมากขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฝนเข้ามาสู่วงการ Start-up ค่ะ”

จุดเริ่มต้นเข้าสู่วงการ Start-up

“ประมาณ 7 - 8 ปีก่อน ฝนแค่ไปร่วมงานสัมมนาเพราะสนใจอยากจะเข้าใจเกี่ยวกับหุ้น การเทรด แต่บังเอิญเจองาน Start-up ซึ่งตอนนั้นมันเล็กมาก ๆ ในไทย ก็บังเอิญไปเจอทีมคนไทยที่เขาทำกันเอง ซึ่งเขาก็ชวนให้เราไปทำงาน networking ก็เป็นครั้งแรกที่เราเริ่มรู้จัก Start-up ว่าคืออะไร”

และจุดเริ่มต้นสู่วงการ Start-up สำหรับน้ำฝนที่เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อมีโอกาสเข้ามาจากบริษัท Start-up ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเธอก็ไม่รอช้า ตัดสินใจบินไปเริ่มงานที่นั่น

น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย: MD Zenyum กว่าจะเจอองค์กรที่ใช่ พิสูจน์ตัวเองสู่ผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่

สำหรับน้ำฝน เธอเปิดใจว่า “ฝนมองว่าตอนนั้นเราก็ 24 - 25 ถ้าเกิดไปทำงานแบบเป็นองค์กรมันอาจจะช้าไป เพื่อนคนอื่นก็ไปไกลแล้ว อีกอย่างการทำงานที่ Start-up มันได้ทำหลาย ๆ อย่าง และคิดว่ามันน่าจะเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ ถ้าเราเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง

“ฝนเชื่อมั่นว่าตัวเองมีศักยภาพ แต่เราไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรได้ แต่ Start-up น่าจะเป็นคำตอบที่ให้เราได้ค้นหาตัวเอง ฝนก็ไม่คิดอะไรมาก แล้วก็ไปเริ่มงานที่เวียดนามเลยตอนนั้น”

ในระหว่างการพูดคุยกับน้ำฝน เธอได้เล่าประสบการณ์การทำงานในบริษัทเวียดนามว่าค่อนข้างใช้ความพยายามอย่างมาก พยายามเรียนรู้ พยายามทำความรู้จักเพื่อนร่วมงานตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เข้าไปทำงาน ซึ่งเธอตั้งเป้ากับตัวเองว่า ต้องเรียนรู้ให้ไว พยายามให้มาก เพื่อจะได้นำผู้อื่น

“ตอนนั้นฝนรู้สึกมีไฟมาก เพราะเราอยากนำผู้อื่น ช่วงตอนปีแรกฝนน่าจะทำงานทั้ง 7 วันเลย ไม่ได้หยุดค่ะ เพราะพยายามเรียนรู้งานให้ได้มากที่สุด และด้วยความที่เราทำแบบนี้อยู่นานเป็นปี มีความตั้งใจอย่างสม่ำเสมอ คิดว่ามีส่วนทำให้เราก้าวกระโดดค่อนข้างไว”

นอกจากนี้ น้ำฝนยังเล่าด้วยว่า ตลอดการทำงานที่บริษัทในเวียดนามเกือบ 3 ปี เธอพยายามพิสูจน์ตัวเองอย่างมากกับตำแหน่งที่ได้รับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเธอเป็นผู้บริหารหญิงเพียงไม่กี่คนในบริษัทนั้น แต่ท้ายที่สุดน้ำฝนก็มีความรู้สึกว่าอาจจะมีโอกาสเติบโตได้ยาก หรือเส้นทางการทำงานที่บริษัทแห่งนี้อาจจะโตไม่มากนัก เธอจึงตัดสินใจลาออกแล้วบินกลับเมืองไทย

น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย: MD Zenyum กว่าจะเจอองค์กรที่ใช่ พิสูจน์ตัวเองสู่ผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่

 

 

จุดเริ่มต้นที่ Zenyum

จุดเปลี่ยนในชีวิตของน้ำฝนเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเธอมีโอกาสได้ร่วมงานกับ Zenyum บริษัท Start-up เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านทันตกรรมจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเธอรู้จัก Zenyum ผ่านช่องทาง LinkedIn เมื่อ 3 - 4 ปีก่อน โดยตลอดการทำงานที่ Zenyum ของน้ำฝนเกือบ 3 ปี ในตำแหน่ง Managing Director ในวัยเลข 3 เท่านั้นถือว่าสไตล์การทำงานและแนวคิดของน้ำฝนก็ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว

ซึ่งเชื่อว่าก่อนที่เธอจะก้าวขึ้นมาในตำแหน่งผู้บริหารได้ เธอเองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองมาในหลาย ๆ หน้าที่ใน Zenyum เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ศักยภาพของบุคคลที่สำคัญ วัฒนธรรมองค์กรหรือการสนับสนุนภายในก็สำคัญมากไม่แพ้กัน

“ก่อนที่จะเจอ Zenyum ฝนก็มาจาก Start-up อีกที่หนึ่งที่เป็นยูนิคอร์นองค์กรของอินเดีย เอาง่าย ๆ คือฝนเจอการทำงานค่อนข้างหลายประเทศ สิ่งที่เราเรียนรู้คือองค์กรจะสำเร็จได้มันไม่ใช่ที่โปรดักต์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับคนด้วย

“ครั้งแรกที่ฝนเจอคุณ Julian Artope เขาเป็น founder ของ Zenyum และเป็นคนเยอรมัน ฝนประทับใจที่เขาค่อนข้างมีความเชื่อมาก ๆ ว่าจริง ๆ แล้วทันตกรรมแบบจัดฟันใสไม่จำเป็นต้องแพง ควรจะเป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย แล้วคนทั่วไปสามารถมีรอยยิ้มที่ดีได้ มันก็เลยมี tagline ว่า Make Asia Smile More

“ฝนก็รู้สึกว่า ถ้ามาตรงนี้แล้วมันได้ช่วยคนด้วย อย่างน้อยก็ทำให้คนมีรอยยิ้มอย่างมั่นใจมากขึ้น ก็เปิดโอกาสหลาย ๆ อย่างทำให้ฝนเปิดใจด้วย ซึ่งฝนมองว่าอันนี้มันเป็น value หนึ่งในธุรกิจที่เรามองหาอยู่”

น้ำฝน ปัญจนาพงศ์ชัย: MD Zenyum กว่าจะเจอองค์กรที่ใช่ พิสูจน์ตัวเองสู่ผู้บริหารหญิงคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ น้ำฝนยังพูดถึงความเชื่อและวัฒนธรรมองค์กรของ Zenyum ที่เธอประทับใจก็คือ วิธีการคิดของ Zenyum ที่โฟกัสในเชิงของ result oriented เน้นที่ผลลัพธ์ของงานโดยเฉพาะ และมีการทำงานแบบ data-driven คือเอาข้อมูลมาคุยกัน ซึ่งประสบการณ์ของน้ำฝนที่เคยทำสายงานวิจัยมาก่อน ถือว่ามีส่วนมาช่วยซัพพอร์ตการทำงานและการเติบโตของ Zenyum ได้เช่นเดียวกัน

“ฝนมองว่าเขามีการวัดผลและสนใจแค่ผลลัพธ์ในการทำงาน เรารู้สึกว่าอันนี้มันแฟร์มากสำหรับคนทำงาน”

สำหรับ Zenyum หลายคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยิน แต่จริง ๆ แล้ว Zenyum มีโปรดักต์หลายตัวที่ทำให้รู้สึกว่า ทำไมคนไทยไม่รู้จักแบรนด์นี้ตั้งนานแล้ว แม้แต่น้ำฝนเองก็รู้สึกชอบในความคิดและแนวทางการทำธุรกิจของเขา อย่างเช่น โปรดักต์ของ Zenyum เปรียบเสมือนเรามีหมอฟันอยู่ใกล้ ๆ ตัว เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยให้ป้องกันสุขภาพช่องปากได้ดี

“อย่างตัวแปรงไฟฟ้า สำหรับฝนที่จริงเป็นอะไรที่จำเป็นมาก และในเอเชียรวมทั้งไทยมีค่อนข้างต่ำ มีคนใช้อยู่ประมาณ 2 - 5% เท่านั้น เทียบกับในต่างประเทศ เช่น โซนยุโรปมีมากประมาณ 20% เลย หรือตัวไหมขัดฟันพลังน้ำก็สำคัญ เพียงแต่คนไทยอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ”

ชอบมุมมองของน้ำฝนที่ว่า “เราเกิดมามีฟันแค่ชุดเดียวก็คือฟันแท้ เหมือนกับแขนขาเราก็เหมือนกัน เปลี่ยนไม่ได้ ฝนอยากให้มองว่าเป็นการป้องกันมากกว่าการรักษา ถ้าเราป้องกันมันได้ดี มันจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปเยอะมาก ซึ่งปัจจุบันการรักษาเกี่ยวกับฟัน อย่างรากฟันก็ราคาสูง”

ไม่ว่าจะเป็นมุมคิดเรื่องการทำงาน หรือเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพปาก เราไม่อยากให้มองว่ามันเป็นการนำเสนอโปรดักต์หรือตัวองค์กร แต่เบื้องลึกของความคิดต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านบทสัมภาษณ์ของน้ำฝน ในฐานะที่เป็นนักบริหารคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ

เรามองว่าครั้งหนึ่งหลาย ๆ คนอาจจะเคยหลงทาง หรือเผชิญเรื่องราวในแง่ลบมาบ้าง แต่สำหรับน้ำฝน เธอพูดทิ้งท้ายไว้ว่า การเซต passion และ mindset ให้เข้าใจบทบาทของการทำงานว่าต้องมีความเจ็บปวดและความท้าทายมันเป็นเรื่องปกติ เพียงให้มองในมุมกลับและพลิกให้เป็นโอกาสเพื่อเติบโต ก็จะเห็นประโยชน์ของความยากในเส้นทางนี้