25 ส.ค. 2567 | 17:00 น.
“เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”
คือประโยคที่สลักลึกอยู่ในตัวตนและจิตวิญญาณของ ‘อิงฟ้า วราหะ’ สาวงามเจ้าของตำแหน่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 ไม่ใช่แค่ความงามหยดของเธอเท่านั้น ที่ทำให้ชื่อของเธอยังคงไม่หายไปจากวงการ หากแต่เป็นทัศนคติที่เชื่อว่า ไม่ว่าโอกาสจะผ่านเข้ามาอีกกี่ครั้ง เธอจะคว้าทุกสิ่งที่หยิบยื่นมาไม่ให้หลุดมือไปแม้แต่ครั้งเดียว
อิงฟ้า ในวัย 29 ปี วาดภาพตัวเองในอีกยี่สิบปีข้างหน้าว่าจะถอยห่างจากแสงไฟสปอตไลท์ขอไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ปลูกผัก ทำสวน เล่นกับ ‘เกี๊ยว’ น้องหมาที่เธอหวงแหนยิ่งกว่าสิ่งใด หากไม่มีเกี๊ยยวชีวิตของอิงฟ้าคงราวกับวนอยู่ในอ่างแห่งความเศร้า เธอเคยนึกอยากจะจากโลกนี้ไป อยากจะหนีจากทุกคำดูถูก แต่เพราะเกี๊ยว อิงฟ้าจึงยังยืนหยัดอย่างสง่างาม ฝ่าฟันสารพัดคำดูถูกมาได้อย่างดงาม
แน่ล่ะ ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ทุกคนยอมรับความเป็นอิงฟ้า ถึงจะรายล้อมด้วยด้อม ‘อิงฟ้ามหาชน’ ทั้งไทยและเทศ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ขอเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ ไม่อยากเชยชมผู้หญิงคนนี้แม้แต่เสี้ยววินาที เธอรับรู้มาโดยตลอด จึงค่อย ๆ สร้างหนามขึ้นมาปกป้องตัวเอง หนามที่จะไม่มีวันทำร้ายเธอ จนกว่าเธอจะสลัดมันทิ้งไป
หนามของอิงฟ้า คือ ความเงียบ
ความเงียบที่ทำให้เธอมองเห็นความเป็นไปของชีวิต เห็นว่าทุกอย่างล้วนไม่จีรัง ไม่แปลกที่เธอจะสักคำสอนของพ่อ ‘เดี๋ยวมันก็ผ่านไป’ เอาไว้กับตัว
The People พูดคุยกับอิงฟ้าในวันที่เปลี่ยนตัวเองเป็น ‘หนาม’ ครั้งที่สองของชีวิตนักแสดง ครั้งแรกเธอคือ ‘แม่กุหลาบ’ โสเภณีที่ขายดีที่สุดใน บางกอกคณิกา ครั้งที่สอง ‘โหม๋’ หญิงสาวนัยตาเศร้า ผู้ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในภาพยนตร์ วิมานหนาม (2024) การเป็นนักแสดงนำครั้งแรก แต่กลับเล่นเอาหัวใจคนดูสั่นไหวได้ไม่ยาก
The People : ช่วงที่เราต้องย้ายบ้านบ่อย ๆ คิดว่าช่วงเวลานั้นหล่อหลอมให้เราปล่อยวางเรื่องในชีวิตได้ง่ายขึ้นไหม
อิงฟ้า : พอเราโตมา รู้สึกว่าการที่เราย้ายไปบ่อย ๆ มันดันมีข้อดีที่ทําให้เรารู้สึกว่าเราไม่ยึดติดกับที่ใดที่นึง แล้วก็ทําให้เราได้ได้อยู่กับคนหลากหลายมากขึ้นที่ทําให้รู้ว่าสภาพแวดล้อมของแต่ละที่ สังคมของแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน
เหมือนเราแทบจะ 3 ปีย้ายทีนึง ก็เลยมีพอมันเริ่มบ่อยขึ้นประมาณครั้งที่ 3-4 เนี่ย เราเริ่มที่จะชินแล้วก็เตรียมใจล่วงหน้าแล้วว่ามันไม่แน่นะอีก 3 ปีข้างหน้าเราจะย้าย แล้วก็ย้ายจริงจริง ก็เลยไม่ค่อยได้ยึดติดกับที่ใดที่นึงเพราะว่าแต่ละที่ที่เราอยู่ เป็นเช่าหมดเลยไม่ใช่บ้านของเราจริง ๆ
ที่เราย้ายบ่อย จริง ๆ มันเริ่มจากครอบครัวพ่อกับแม่เรา เริ่มต้นจากศูนย์ เราว่าด้วยความที่โอเคทางแบบผู้ใหญ่ทั้งฝั่งคุณพ่อแล้วก็คุณแม่เนี่ย เค้าแบบเหมือนแบบต่างคนก็ต่างไม่ชอบ ฝั่งตรงข้ามด้วยความที่พ่อเจ้าชู้ตายายก็เลยไม่ชอบ ส่วนแม่เรานี่ก็คือเหมือนแบบมีความที่มีลูกเยอะมีภาระเยอะ เขาก็รู้สึกว่าแบบว่างั้นก็ไปเริ่มต้นด้วยกันพอความที่ครอบครัวมันเริ่มสตาร์ทจากต่างคนต่างเริ่มจากศูนย์ใช่มั้ยคะ เวลาเราไปไหนรหกระเหินเนี่ยเราย้ายกันได้ โดยที่เราไม่มีสมบัติติดตัวซึ่งมันง่ายมาก กับการที่แบบว่าพอเราอยู่ที่นี่แล้วมันไม่เวิร์ค เราจะเปลี่ยนไปอยู่อีกที่นึง ก็เลยไม่ยึดติดแล้วก็ในช่วงชีวิตนั้นเราก็ไม่รู้ว่า มันคือความลําบาก
เราไม่รู้ตัวเลยแม้กระทั่งตอนช่วงเวลาที่เราย้ายจังหวัด เราก็มีแค่มอเตอร์ไซค์คันเดียวก็ไปแบบว่าพ่อ เราแล้วก็แม่นั่งซ้อนกันไป แบบบางทีแบบแม่พ่อเมื่อยก็จอดศาลา แล้วก็แม่สลับขับกันไป ซึ่งเราก็คือหลับอยู่บนรถมอเตอร์ไซค์ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่า เนี่ยมันคือความลําบาก แต่เรารู้แค่ว่ายังไงก็ได้เราจะย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอแค่มีพ่อกับแม่อยู่ด้วย เราก็พร้อมที่จะแบบว่าสู้พร้อมที่จะปรับตัวได้ทุกที่
The People : ความลำบากทำให้เรามองเห็นฝันตัวเองชัดขึ้นไหม หรือว่ามีฝันอะไรที่เคยฝันไว้ตอนเด็ก ๆ บ้าง
อิงฟ้า : ฝันแรกคืออยากเป็นนักร้องค่ะ อยากเป็นนักร้องอยากอยู่ในค่ายดีๆ ที่เรามีงานแบบอยากออกคอนเสิร์ตตามต่างจังหวัด วัยเด็กเราก็คือเหมือนแบบมีงานวัดงานอะไรแล้วเราอยากแบบอยู่ในป้ายไวนิลที่เค้าเขียนแถบวันที่นี้ วันที่นี่ที่เจอใคร พอเราเริ่มโตมา มันก็จะเริ่มมีแพชชั่นอย่างอื่นเพิ่มเข้ามาด้วย บางทีก็อยากเป็นนักร้อง เราก็อยากเป็นนักแสดง อยากเป็นพิธีกร อยากเป็นนู่นนี่นั่น และกลายเป็นว่าเราอยากเป็นอะไรหลายอย่างให้ได้ อยากเก่งเหมือนพ่อที่แบบจริง ๆ เค้าเป็นนักดนตรี แต่พอเค้ามาเป็นหัวหน้าครอบครัว เค้าต้องมาเย็บปักถักร้อย ต้องมาทําสวน ต้องมาทํานู่นนี่ ทําในสิ่งที่ไม่ถนัด แต่เค้าดันทําออกมาได้ดี เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากเราอยากทําแบบนั้นเหมือนกัน
ซึ่งมันทําได้ เรารู้สึกว่าเราอย่าไปคิดว่าเราเป็นนักร้องได้อย่างเดียวดิ เราทําฝันมากได้อย่างเดียวดิ เราก็เป็นนักแสดงได้ เพราะเราคิดแบบนี้มันก็เลยทําให้เหมือนแบบเราเจาะกลุ่ม นอกเหนือจากคนฟังเพลงกลายเป็นแบบว่าแฟนละครหรืออะไรอย่างเงี้ยได้มากขึ้น ก็เลยทําให้เรารู้สึกว่าเราประสบความสําเร็จได้ในระดับนึง
The People : มารับรู้ตอนไหนว่าชีวิตที่เคยผ่านมาเรียกว่าลำบาก
อิงฟ้า : ตอนโตค่ะ ตอนที่รู้ว่าเราลําบากคือตอนโตเลย เพราะว่าพอเราวันที่เรามีบ้านพอที่จะแบบอยู่ได้ แล้วเรากลับไปดูบ้านที่เราเคยอยู่ แล้วมันมันเกิดคําถามว่าเราอยู่ไปได้ยังไง มันเล็กมาก ๆ แล้วก็มันไม่มีสัดส่วน มันเป็นห้องสี่เหลี่ยมที่เราต้องมาวางว่า นี่คือห้องนอนและนี่คือห้องครัว นี่คือห้องน้ำ เพราะว่าพอเรามาอยู่บ้านที่เราแบบพอเราโตขึ้นเราเรามาทํางานตรงนี้
เรามีชื่อเสียงเรามีเงินทองแล้วเราได้ทําบ้านของเรา แล้วเรามานั่งทําห้อง เราก็ย้อนกลับไปที่เราไปดูห้องที่มันไม่มีผนังเลยแล้วรวมทุกสิ่งอย่างไว้ในไว้ในนั้น แล้วความ คือ บางทีมันไม่มีแม้แต่แม้กระทั่งตังค์ที่เราจะไปซื้อวัตถุดิบแบบมาทําอาหารอ่ะ เราก็ต้องไปหาตามบริเวณรอบ ๆ ที่เป็นแบบหลังบ้านมีผักบุ้งมีผักอะไรที่มันขึ้นโดยธรรมชาติ เอามาผัดเอามาอะไรกัน ซึ่งตอนนั้น เราว่าความอบอุ่นที่เราอยู่ด้วยกัน มันทําให้มองข้ามความลําบากไปได้มากกว่า
The People : ถ้านึกย้อนกลับไปมองบ้านหลังนั้น คุณมองมักจะนึกถึงภาพอะไร
อิงฟ้า : ชอบนึกถึงภาพตอนที่นั่งกินข้าวพร้อมกัน เพราะว่าต่อให้ใครจะออกไปทํางานนอกบ้านอะไรยังไ งจะออกไปเรียน จะไปอะไร แต่สุดท้ายต้องกลับมากินข้าวที่บ้านพร้อมกัน พอเรานึกถึงภาพบ้านไรเงี้ยเราจะชอบนึกถึงภาพที่เราทุกคนเลิกงานแล้วก็มากินข้าวพร้อมกัน
The People : ภาพนั้นมันยังมีอยู่ไหม
อิงฟ้า : พอมีแต่มันไม่เท่าเดิม สมาชิกมันหายไปนั่นก็คือคุณพ่อ คุณพ่อหายไป ช่วงพอเราทํางานโตมา แล้วก็ได้ทําบ้านให้คุณแม่ แต่เราคิดว่ามันเคยมีในอดีตในความทรงจําที่เราจําได้ตอนเด็ก พอสมาชิกหนึ่งคนมันหายไปมันก็รู้สึก มันขาดอะไรไปบางอย่าง เพราะว่าทุกวันนี้ ก็ยังมีกลับไปกินข้าวที่บ้านกับแม่ ชวนพี่สาวมากินซึ่งสมาชิกเรื่องนี้กันหมด 5 คนมานั่งกินข้าวด้วยกัน แล้วมันเหมือนแบบมันหายไปจริงๆ มันหายไปคนนึงตําแหน่งนึงที่มันเคยมีอยู่ในทุกทุกวันในตอนนั้น
The People : ถ้าให้นึกถึงพ่อจะนึกถึงอะไร
อิงฟ้า : เยอะมากเลยอ่ะ ถ้านึกถึงพ่อน่าจะนึกถึงคําสอนต่าง ๆ ที่เค้าสอนเรามากกว่า ตอนเด็กไม่เคยโกรธเลยที่แบบว่าเราเกิดมาจน เราเกิดมาลําบาก ไม่เคยโกรธ ไม่เคยโทษครอบครัวที่แบบว่าทําไมเกิดมาแล้วไม่มีบ้านไม่มีรถให้หนูเหมือนเพื่อนหรืออะไร ไม่เคยคิดแบบนั้นเลย แต่ว่ากลับรู้สึกแบบเราโชคดีจังเลยที่เราเกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อแบบนี้มีแม่แบบนี้
เราว่าเราได้พรสวรรค์และพรแสวงจากพ่อกับแม่ในเรื่องของความสามารถ โอเคเราก็แต่คําสอนที่ทําให้เราโตมาเป็นเราในเวอร์ชั่นนี้ได้ มันได้มาจากเขาเต็ม ๆ เลย คือคําสอนของเขาแล้วคําติดปากที่เขาชอบพูดว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไปนะลูก ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เวลาเราทะเลาะกับเพื่อนที่โรงเรียน ทะเลาะกับพี่น้องในครอบครัว ทะเลาะกับคนข้างนอก เรากลับมาที่ห้อง บางทีเราเราจะเป็นคนที่ไม่ค่อยพูดเหมือนกัน แต่เวลาเขาเห็นเวลาเราแอบร้องไห้หรือเห็นเวลาเราแอบนั่งซึม นั่งเครียด ก็จะเดินมาแบบมากอดมาหอมมาให้กําลังใจว่าแบบเดี๋ยวมันก็ผ่านไป เราว่าเป็นคําที่มันเราชอบมาก ๆ แล้วทุกวันนี้ก็ยังนึกถึงคํานี้ถึงสักไว้กับตัวเองว่า มันเป็นคําที่มันใช้ได้จริง ๆ ในชีวิตของคนเรา ไม่ว่าเราจะสุขหรือเราจะทุกข์ ทุกอย่างมันก็จะผ่านไป ซึ่งมันเป็นคําที่มีค่ามากสําหรับเรา
The People : พรสวรรค์ด้านดนตรี การร้องเพลงของคุณเริ่มปรากฎขึ้นตอนไหน
อิงฟ้า : มันเริ่มจากพ่อเป็นนักดนตรีค่ะ เป็นมือคีย์บอร์ด แล้วก็แม่ชอบร้องเพลงประกวดตามงานวัด เป็นนักร้อง แบบเมื่อก่อนเค้าจะมีประกวดร้องเพลงลูกทุ่งแลกของรางวัล แลกขัน แลกยาสีฟันอะไรเงี้ย ซึ่งแม่ของเราก็จะคือเป็นอย่างงั้น แล้วพอเราโตมากับบางทีพ่อเค้าจะชอบแต่งเพลงนั่งเล่นคีย์บอร์ดเราก็จะชอบไปนั่งร้องนั่งฟังแล้วก็แม่บางทีแบบว่า ร้องเพลงตอนเวลาเก็บร้านทําความสะอาดบ้านหรืออะไรเราก็จะชอบยืนฟังยืนดูว่าเค้าร้องเพลงอะไร มันเป็นแบบครูพักลักจําก่อน ซึ่งตอนแรกเราก็ยังไม่ได้ไม่กล้าเปิดกับพ่อกับแม่ว่าเราร้องเพลงได้เขาก็ไม่รู้ว่าเราร้องเพลงได้จนเหมือนแบบว่าไปงานงานหนึ่ง ซึ่งเหมือนนักร้องเขาไม่มีขึ้นเวทีเราก็เลยบอกว่า หนูขอขึ้นเวทีได้ไหม เพราะตอนนั้น เหมือนเราก็อยากช่วยเขาหาเงินด้วย
เขาก็ร้องได้หรอ เราจะร้องไม่เคยเห็นร้องเลยนะ แล้วงานนี้มีแต่ผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลย แล้วเราขึ้นไปร้องไม่ได้โดนด่านะ แต่ขอร้อง ขอร้องทีนึงก็เลยขึ้นไปแล้วก็ร้องเพลงคุณลําไย ตอนนั้นคนเอาเงินมาให้เราเยอะมากแบบเป็นแบงค์ร้อยแบงค์ 50 แบงก์ 20 มาให้เรา แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ยอาชีพเนี้ยคืออาชีพที่เราได้ตังค์เยอะ แล้วเราต้องช่วยพ่อกับแม่ได้มาก ๆ แน่ เพราะว่าเค้าหาเงินทั้งวันยังไม่ได้เงินเท่าตอนที่เราร้องเพลงเดียว
หลังจากนั้นเขาก็รู้ว่า อ้าว ร้องเพลงได้นี่ แล้วเรากล้าแสดงออก กล้าเต้น กล้านู่นนี่นั่น ก็เลยเริ่มฝึกกันเอง แม่เขาก็เหมือนแบบทฤษฎีแบบคนลูกทุ่งนิดนึง ไปฝึกกับโอ่งที่เขาบอกว่าอยากมีลูกเอื้อนต้องไปลองดูนะ แล้วก็ฝึกส่วนพ่อจะชอบสอนเราเรื่องของจังหวะ ไม่ให้เพี้ยนไม่อะไร ก็ต้องร้องกับคีย์บอร์ด ซึ่งมันก็เลยเป็นทั้งพรสวรรค์และพรแสวงที่เราแบบหัดกันเองอ่ะ
The People : เคยรู้สึกเสียดายวัยเด็กไหม เราไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตเหมือนอย่างเพื่อนเลย
อิงฟ้า : ไม่เลย เรารู้สึกว่าเราได้เปรียบด้วยซ้ำ เราผ่านความลำบากมาตั้งแต่เด็ก พอโตมามันทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่เพื่อนบางคนเขาไม่เคยสัมผัส เรารู้สึกว่าเราสามารถหาความสนุกจากการทํางานได้ อย่างเช่นตอนที่เราไปร้องเพลง เราไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อน ๆ อ่ะเราไปนั่งประกวดร้องเพลง หาเงินมาช่วยพ่อกับแม่ เราก็หาความสนุกจากตรงนั้นน่ะ จากที่เราแบบร้องเพลง นั่นคือสิ่งที่เรารักจากการที่เราประกวด มันก็เลยทําให้เป็นการทํางานที่เราก็ไม่ได้รู้สึก มันลําบากใจอะไรขนาดนั้น
The People : คุณบอกว่าผ่านความลำบากมาเยอะมาก มีเรื่องไหนบ้างไหมที่คนรอบตัวบอกว่าคงไม่มีใครเคยเจอเรื่องแบบนี้นอกจากอิงฟ้าแน่ ๆ
อิงฟ้า : นอกจากความลำบากที่จนเหรอ ก็ทุกวันนี้น่าจะเป็นเรื่องเวลาที่มีใครมาว่าเราอะ แล้วเรารู้สึกเฉยได้เหมือนแบบเหมือนเพื่อนในแก๊งก็จะเป็นฟิลแบบเวลาที่มีใครมาว่าเค้ามีใครมาดูถูก มีใครมาบูลลี่เรื่องอะไรก็ตาม ทุกคนก็จะเป็นฟีลแบบ โทษนะแบบ ‘มึงก็คนกูก็คนอ่ะ’ มันก็ต้องก็ต้องแบบมีศักดิ์ศรีกันหน่อยอะไร แต่กับเราจะเป็นคนที่พอเรามาอยู่ตรงนี้ได้มันเหมือนสอนให้เราเห็นอะไรหลายอย่างว่า การตอบโต้คนด้วยคําพูดแบบแรงมาแรงไปอ่ะไม่ได้ช่วยอะไรเลย
เราก็รู้สึกเฉยได้พอดีแบบว่ามีเพื่อนให้ดูว่าแบบ เห้ย มึงดูดิข่าวนี้ เค้าเขียนอีกแล้วอ่ะ แล้วคนก็ด่ามึง ซึ่งถ้าเป็นกูกูคงแบบไปคอมเม้นท์ด่า คนที่มาว่าคนที่มาอะไร แต่เรามองว่ามันไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร มันจะเป็นเรื่องเป็นเรื่องของความปลงตรงนี้มั้งคะ ที่เราก้าวข้ามผ่านแบบการโดนดูถูก คำด่าต่าง ๆ นานาที่บั่นทอนจิตใจเรา
The People : ย้อนกลับไปที่คุณพ่อนิดนึง คุณรับรู้ตอนไหนว่าพ่อชอบออกไปเล่นดนตรีให้คนไร้บ้านฟัง
อิงฟ้า : รู้ตั้งแต่เด็กเลยค่ะ เค้าเป็นแบบที่ เค้าดื่มแล้วความเป็นนักดนตรี มันเหมือนตอนวัยรุ่นน่ะ เค้าได้ออกงานบ่อย ได้เล่นงานวัดงาน งานกาชาติอะไรเงี้ย แล้วพอเค้ามีครอบครัวก็ไม่สามารถที่จะไปไปข้างนอกได้ เพราะว่าแม่ก็แบบไม่อยากให้ไปอะไรอย่างนี้ใช่มั้ยคะ พอเวลาที่เค้าดื่มปุ๊บ อารมณ์ศิลปินเค้าพลุ่งพล่าน เค้าก็จะต้องหาคนฟังให้ได้ เป็นประเภทที่เล่นแล้วต้องมีคนฟัง
ก็ออกจากบ้าน เคยถามเค้าว่าเวลาออกไปเนี่ยไปกับ keyboard ตัวนึงเนี่ยไปไหน เค้าก็บอกว่าเค้าอยากเอาไปเล่นให้กับคนที่ไม่ได้มีโอกาสได้ไปฟังหรือไปร้านอาหารหรือไปอะไรอย่างเงี้ย เค้าก็ไปเล่นใต้สะพานลอย ไปนั่นนี่โน่น จนวันนึงก็คือเหมือนมีแบบวัยรุ่นเนาะ มาหาเรื่องเข้าไปใต้สะพานอะไรเงี้ย ก็มีแบบบาดเจ็บกลับมา ตอนเช้าเราก็เห็นบาดแผลเค้าที่แบบต่อสู้กันนั่นนี่นู่น แล้วก็โดนขโมยคีย์บอร์ดไป ก็รู้ว่านั่นน่ะ คือ ฝันสลายของเค้า ใจนึงเราก็แอบดีใจว่า เออ เฮ้ย พ่อจะได้ไม่ต้องออกไปไหนอีก แต่อีกใจนึงก็เห็นเค้าเป็นแบบนั้น ก็พูดว่า ถ้าหนูมีเงิน เดี๋ยวหนูจะซื้อให้นะในวันนึง แบบไม่ต้องไม่ต้องเสียใจอะไรแบบนี้อีก ตอนนั้นเราก็ยังไม่มีเงิน เพราะว่าเหมือนพอเราได้เงินมาจากการประกวดร้องเพลง มันต้องไปรวมกับส่วนรวม
The People : สิ่งที่คุณภูมิใจที่เกิดมาเป็นลูกสาวบ้านนี้คืออะไร
อิงฟ้า : มันแปลกตรงที่ลูกสาวบ้านนี้โตเป็นสาวกันแล้วอ่ะ ก็ยังไม่ค่อยอยากมีแฟน คือมันเหมือนมันเต็มอิ่มกันซะจนแบบไม่ได้อยากได้ความรักจากนอกบ้าน แล้วพ่อก็จะเป็นฟิลแบบว่าด้วยความที่เมื่อก่อนเขาเคยเจ้าชู้มาก เขาจะกลัว เขาจะไม่อยากให้ลูกมีแฟน กลัวแบบเขาทํากับผู้หญิงคนอื่นไว้เยอะอะไรอย่างเงี้ย กลัวเวรกรรมมันจะตามถึงลูก พอลูกเริ่มโต พ่อก็หยุดเจ้าชู้ แล้วพอเริ่มโตเนี่ยก็จะมีผู้ชายเข้ามาจีบ แน่นอนว่ามันเป็นฟีลแบบสมัยก่อน 3 สาวในหมู่บ้าน ก็จะมีคนมาขายขนมจีบนู่นนี่นั่น แต่ทุกคนจะอยู่ในกรอบในเกม คือถ้าสมมุติว่าใครอยากคุยกับแฟน อยากมีแฟนต้องมาคุยที่บ้าน แล้วคุยต่อหน้าเขาห้ามไปเที่ยว ห้ามไปนั่นไปนี่ แต่เราทุกคนก็อยู่ในกฎในเกมตลอด
จนกระทั่งเหมือนพอเราเริ่มจะมีแฟนจริง ๆ คือตอนอายุ 18 ก็อยู่ในแบบสายตาเค้าตลอดทุกอย่าง จนพอวันนึงเค้าไม่อยู่แล้วอะมันกลายเป็นเหมือนแบบกลายเป็นเด็กขาดความอบอุ่นไปเลย กลายเป็นว่าเราอยากได้ความรัก โหยหาสกินชิพ โหยหาอะไรอย่างเงี้ย กลายเป็นคนบูชาความรักไปเลย เวลาที่แบบมีแฟน จากตอนเด็กที่ไม่เคยต้องการนอกบ้านเลย เพราะว่าอยู่ที่บ้านอยู่กับครอบครัวอยู่อะไรแล้วแบบมันเต็มอิ่มแล้ว ก็รู้สึกว่าช่วงที่พลิกเรื่องของแบบมุมมองความรักจริง ๆ คือตอน 18 เลย
The People : มีสิ่งไหนที่ทำให้คุณรู้สึกกลัวบ้างไหม อย่างกลัวไม่ถูกยอมรับ กลัวการสูญเสีย
อิงฟ้า : การไม่ถูกยอมรับนี่เราไม่กลัวเลย เพราะเราเคยผ่านมาแล้ว ตอนที่เราได้ตําแหน่งก็น่าจะ 50% ไม่ยอมรับเลยด้วยซ้ำ แต่เราสามารถที่จะก้าวข้ามผ่านมันมาได้ ไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ากลัวขนาดนั้น และการสูญเสียเราเคยผ่านมาแล้ว มันเลยทําให้เราไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่เรากลัว คือ ไม่ได้ทําในสิ่งที่ตัวเองต้องการตอนที่ยังมีลมหายใจอยู่
ทุกวันนี้มีเป้าหมายว่าอยากไปเที่ยวต่างประเทศอยากไปรอบโลก อยากไปประเทศที่ตัวเองอยากไป แต่เรายังทํางานอยู่อ่ะ มันยังเป็นช่วงที่เราแบบยังกอบโกย แต่สุขภาพเราก็ไม่ค่อยดี เราเห็นข่าวคนนู้นคนนี้ แบบอยู่ ๆ ก็ไปเลยอยู่ ๆ ก็หมดลมหายใจ อยู่ ๆ ก็แบบไม่มีสัญญาณบอกกล่าว
เรากลัวว่าเราจะเป็นแบบนั้น เรายังไม่ได้ใช้ชีวิตหรือใช้เงินที่เราหามา หรือได้ไปในที่ที่เราอยากไปเนี่ยคือสิ่งที่กลัวมาก ยอมรับตรง ๆ ทุกวันนี้ก็ยังกลัวอยู่ ไม่ได้กลัวความตาย แต่ว่ากลัวตายก่อนที่ยังไม่ได้ทําในสิ่งที่อยากทํา
The People : เมื่อเทียบกับบทบาทล่าสุดที่คุณได้รับ การเป็นนักแสดงนำครั้งแรกในภาพยนตร์วิมานหนาม ทำไมคุณถึงมักจะเลือกรับแต่บทอะไรที่เกี่ยวกับหนามตลอดเลย เรื่องนี้มันเกี่ยวกับอะไร
อิงฟ้า : เออ จริงด้วย ไม่ทันสังเกตเลย (หัวเราะ) จริง ๆ เรื่องนี้มันเกี่ยวกับคนที่มันไม่มีทางเลือกหรือว่าจริง ๆ มันมีทางเลือก แต่มันเลือกไม่ได้ ในมุมมองของแต่ละตัวละคร ในเรื่องนี้จะมีนักแสดงไม่ได้เยอะค่ะ แต่ว่าแต่ละคนมันจะดําเนินเรื่องไปด้วยเหมือนทุเรียนที่ข้างในมันหวานหอมมากเลยอ่ะ แต่กว่าเราจะไปถึงเนื้อข้างในมันผ่านแหลมคมที่มันแบบเหมือนชีวิตของคนที่มันผ่านอะไรมาเยอะมาก กว่าที่มันจะไปถึงจุดที่จะไปถึงเนื้อข้างใน อย่างตัวละครที่เป็นหลัก ๆ เลยก็คือทองคําและโหม๋เองที่เป็นเจฟฟ์เตอร์แล้วก็ฟ้า มันเป็นความรู้สึกที่สู้แบบหมาจนตรอกอ่ะ คือเข้าใจถึงแก่นแท้เลยอ่ะ
แล้วก็ศิลปะการแสดงของเรื่องนี้ของแต่ละคนมันแบบ โหไปขั้นสุดเหมือนกัน ในการแก่งแย่งสมบัติหรืออะไรก็ตามในสิ่งที่ตัวละครมันอยากได้ แล้วคนมานั่งเดาเรื่องกันว่า เอ้ย คนนี้ร้ายแน่เลย แต่จริง ๆ คือถ้าได้เข้าไปดูในเรื่อง จะบอกว่า GDH ไม่เคยให้เราเดาอะไรง่าย ๆ สิ่งที่คุณคิดอาจจะไม่ใช่ก็ได้
The People : ตอนที่อ่านบทครั้งแรกรู้สึกยังไงบ้าง
อิงฟ้า : ร้องไห้ ทําไมตัวโหม๋มันมาเร็วจังวะ คือตัวละครชื่อโหม๋มันเข้ามาในตัวเราเร็วมากเลยอ่ะ ยิ่งอ่านไปยิ่งอิมแพค แล้วก็พออ่านไปเรื่อย ๆๆๆ อ่านกันไปเราก็ร้องไห้กันไป เพราะว่ามันไม่ค่อยมีอ่ะ เราก็เป็นแฟนภาพยนตร์ไทยเหมือนกัน เราไม่ค่อยเห็นแนวนี้ ยังไม่เคยเห็นแนวนี้ แล้วก็มันเป็นแนวที่รู้สึกว่า ถ้าเราเล่นได้มันจะท้าทายเรามาก ๆ
The People : ที่คุณอ่านแล้วร้องไห้ เพราะว่ามีส่วนที่เหมือนกับชีวิตคุณหรือเปล่า
อิงฟ้า : ใกล้กันค่ะ ความเป็นนักสู้ต่อสู้คนละแบบ โหม๋จะมีความสู้ที่หนึ่งอย่างที่คล้ายกัน คือเก็บอะไรที่ดวงตาไม่ได้เลย อาจจะเป็นคนไม่ค่อยพูด บางทีเราไม่พอใจหรือเราคิดอะไรอยู่ในหัวอะไรอย่างเงี้ย เราไม่สามารถจะพูดได้เหมือนกับตัวโหม๋มันก็พูดไม่ได้ในบางครั้ง มันก็จะแสดงออกมาผ่านทางแบบสีหน้าสีแววตา ซึ่งอิงฟ้าก็เป็นแบบนั้นในบางครั้งเหมือนกัน ที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่แบบเราเจอเรื่องที่เราไม่โอเค แต่พูดไม่ได้ แต่ก็เก็บแววตาตัวเองไม่ได้ โหม๋จะสู้สุดใจ ส่วนอิงฟ้าจะแบบเราสู้สุดใจเหมือนกัน แต่เราแค่ไม่ได้สู้แบบตะโกนแบบนั้นเราก็สู้ในแบบเวอร์ชั่นเงียบ ๆ ของเรา แล้วก็มาฟาดด้วยความสําเร็จอีกทีนึง
The People : ในเรื่องพูดถึงความไม่เท่าเทียม คุณเองก็เคยผ่านเรื่องนี้มาด้วยใช่ไหม
อิงฟ้า : ตลอดทั้งชีวิตเลยมั้งคะ เราเห็นตอนเด็ก ๆ เวลาไปงาน คุณแม่ก็ไม่ได้บอกอะไร แต่เรารู้ เราเข้าใจ มันเป็นปมจริง ๆ นะ มันรับรู้ได้ด้วยตัวเอง พอโตขึ้นเราก็เลยเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น ไม่ทำเหมือนเค้า เพราะเราไม่ชอบที่จะตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น และไม่อยากให้ใครต้องมาเจอแบบเราด้วยเหมือนกัน
จริง ๆ เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าในตอนนั้นกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ปัญหาหลักมันอยู่ที่ตรงนั้นค่ะ ส่วนเรื่องฐานะความเป็นอยู่ของโหม๋ เขาอยู่จุดที่ชีวิตเขามันเหมือนหนามแหลมคม เหมือนทุเรียนที่ไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะอยู่กับใครก็ตาม ทุกคนเห็นเขาเป็นอะไรก็ไม่รู้ นั่นแหละหนามของเขาเลยถูกขัดเกลามาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นหนามที่แหลมคมมาก ๆ ในวิมานหนาม
The People : แล้วหนามของอิงฟ้าคืออะไร
อิงฟ้า : หนามของเรา คือ ความเงียบ ไม่ว่าจะใครก็แล้วแต่เหมือนกับคนใกล้ตัวจะไม่ชอบเวลาที่เงียบเลย เพราะไม่รู้ว่าเราคิดอะไร เรารู้สึกว่าการแสดงออกมันก็ถูก เพราะคนอื่นจะได้รู้ว่าเราคิดอะไรเนอะ แต่ในบางครั้งหรือบางเรื่องอ่ะ การแสดงออกมันไม่ใช่สิ่งที่จะทําให้เราเอาชนะได้ทุกอย่าง เพราะเวลาที่เราพูดอะไรไปเหมือนรู้เขารู้เราอ่ะ แต่ว่าในบางครั้ง ความเงียบมันทําให้คนอื่นไม่รู้จริง ๆ ว่าเราคิดอะไร
เราสามารถที่จะแบบว่า เค้าเรียกว่าใช้ชีวิตหรือเดินเกมไปได้ เหมือนกับที่เราเคยได้ยินว่าบางครั้ง การประสบความสําเร็จไม่จําเป็นจะต้องตะโกนอ่ะ มันเหมือนแบบมันเราไม่รู้ว่าในชีวิตสังคมที่เราอยู่ มันมีทั้งคนที่ยินดี มีทั้งคนที่อิจฉา และมีแต่คนที่อยากจะทําร้ายเรา มันมีหลากหลายรูปแบบไปหมด บางครั้งการที่เราพูดออกไปมันจะมีคนแบบอวดหรอ ซึ่งพอมันอยู่ในจุดที่เป็นคนสาธารณะเราว่าบางอย่าง มันอาจจะไม่ต้องแบบตะโกนมากจนเกินไป บางครั้งเราลองประสบความสําเร็จแบบเงียบ ๆ ดูบ้างก็ได้
The People : ถ้าให้อิงฟ้าเปรียบเทียบตัวเองกับทุเรียน อิงฟ้าคิดว่าตัวเองเหมือนทุเรียนในแง่ไหนบ้าง
อิงฟ้า : ถ้าเปรียบเทียบทุเรียนกับอิงฟ้าใช่ไหมคะ จริง ๆ น่าจะเหมือนกันตรงที่มันใช้ชีวิตแบบ บางคนก็ชอบกินมัน บางคนก็ไม่ชอบ คนที่ไม่ชอบมันก็คือแบบไม่เปิดใจที่จะยอมรับเลย เหมือนกันค่ะ อิงฟ้าคือบางคนที่แบบว่ากว่าเราจะมาถึงตรงนี้ บางคนที่เขาไม่ชอบเขาก็ไม่ได้เปิดใจให้ขนาดนั้น จนมาถึงณตอนนี้ แต่บางคนที่เค้าแบบชอบที่จะกินทุเรียน ชอบกลิ่นมันอ่ะ ทุกวันนี้ที่ฟ้าอยู่ได้ เพราะคนที่ชอบกลิ่น อยู่กับคนที่เขายอมรับในตัวตนที่เราเป็นแบบนี้ เป็นอิงฟ้ามหาชนได้ในทุกวันนี้
จริงๆ ทุเรียนอ่ะมันเป็นผลไม้ที่แปลกหนึ่ง อย่างถ้าเรามองภาพลักษณ์ภายนอกอ่ะ มันมันดูไม่มีความสวย มันไม่ได้น่ารัก ไม่ได้ตะมุตะมิเหมือนผลไม้ทั่วไปอ่ะ มันมีความแหลมคม แล้วจับบางทีจับไม่ดีมันก็จิ้มมือเป็นแผลนะคะ แต่แปลกตรงที่เวลาเราผ่าไปอะ เราไปเจอเนื้อเหลือง ๆ สวยงามมาก แล้วรสชาติมันดีอีกต่างหาก ทุเรียนก็มีเลเยอร์ความซับซ้อนที่เหมือนทั้งตัวโหม๋ แล้วก็ตัวฟ้าเหมือนกันนะ
The People : มุมมองเรื่องคนเมืองกับคนต่างจังหวัดสะท้อนออกมาผ่านเรื่องนี้ได้ยังไงบ้าง
อิงฟ้า : ฟ้าว่าเป็นพ้อยท์ที่จะทำให้คนดูเสียน้ำตาได้อยู่นะ ต้องรอไปดูในเรื่องค่ะ ความเหลื่อมล้ำของสถานที่ที่อยู่ ความเจริญมันเข้าไม่ถึงด้วยซ้ำ อย่างโหม๋เขาก็เป็นเด็กยากจน ไม่ได้มีโอกาสมาอยู่ในตัวเมืองที่มันดูแบบเจริญแล้ว เราถ่ายไปก็เสียน้ำตาไปเยอะเหมือนกัน และเรามั่นใจว่ามันมีฉากนึงที่คนดูต้องเสียน้ำตาแน่นอน เพราะนี่ถ่ายเสร็จก็กลับไปร้องไห้
The People : เคยคิดไหมว่าสุดท้ายแล้ว ชีวิตที่คุณฝันถึงอยากจะอยู่ในสังคมรูปแบบประมาณไหน
อิงฟ้า : เราไม่เคยอยากอยู่ในสังคมเลย (หัวเราะ) ฝันสุดท้ายของเราคือ ถ้าวันนึงต้องแก่ตัวไป สัก 45 ปี อยากอยู่บ้านที่แบบปลูกผัก ทำสวน อยู่กับหมา กับคนรัก อยากอยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้อยากอยู่ในที่ที่วุ่นวาย นั่นคือสังคมที่ฟ้าฝันถึง
มันคือความสงบที่เราอยากได้ การทํางานของเราตรงนี้ เราจะมาบอก อุ้ย เราอยากอยู่กับความสงบ ณ ตอนนี้มันทําไม่ได้ นอกจากว่าวันที่เราปลดเกษียณตัวเองแล้วเราถึงจะทําได้ ความสงบยิ่งทําให้เราคิดถึงครอบครัวมากขึ้น เพราะว่าตั้งแต่เด็กจนโต เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ยึดติดกับเพื่อนบ้าน ไม่ได้ยึดติดกับใครเลย เพราะเราย้ายตลอด เราก็อยู่แต่กับคนในครอบครัว แล้วเราโฟกัสกับตัวเอง เราโฟกัสกับพ่อแม่ พอวันนึงที่เราอยากให้รางวัลตัวเอง เราอยากอยู่กับความสงบที่เราจะได้แบบโฟกัสกับเราได้เต็มร้อย ได้ทําอะไรอร่อย ๆ กิน ตอนเช้าได้ปลูกผัก ได้อยู่กับตัวเอง นั่นน่ะ คือ ความสงบที่ต้องการค่ะ
The People : อิงฟ้าให้รางวัลตัวเองด้วยการอยากไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แล้วถ้าเป็นโหม๋ล่ะ อยากจะให้รางวัลอะไรกับตัวเอง
อิงฟ้า : (นิ่งคิด) ถ้าโหม๋ให้รางวัลตัวเองได้หนึ่งอย่าง อยากให้เห็นคุณค่าในตัวเองเยอะ ๆ คนอื่นไม่เห็นไม่เป็นไร แต่เราต้องรักตัวเอง อย่าดูถูกตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเองให้มาก ๆ