31 ก.ค. 2567 | 14:30 น.
ทันทีที่เราเปิดประตู้องเข้าไป ภาพแรกที่เห็นคือ ‘เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ’ อดีตไอดอลจาก BNK48 หญิงสาวที่มาพร้อมผมบลอนด์สว่าง ขับให้ใบหน้าของเธอดูสดใสขึ้นเท่าตัว กำลังนั่งรออย่างเงียบ ๆ อยู่ในมุมห้อง การเข้ามาของเราทำให้เธอเงยหน้าขึ้นมา เราทั้งสองสบตากันเพียงชั่วครู่ เธอเผยยิ้มเล็กน้อย ผงกหัวเป็นการกล่าวทักทายสั้น ๆ ก่อนบทสนทนาที่จริงจังจะเริ่มขึ้นอย่างเรียบง่าย
เรามักเห็นเธออยู่บนเวทีการแสดง มีแสงไฟสปอร์ตไลท์สาดส่องทั่วสารทิศ แต่ไม่เคยรับรู้ตัวตนอีกด้านจริง ๆ ของเธอแม้แต่น้อย เพราะทันทีที่เอ่ยถามว่าสิ่งใดที่ทำให้เจนนิษฐ์หวาดกลัวมากที่สุด หญิงสาวตรงหน้าประสานสายตากับเรา ก่อนจะบอกด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบว่า เธอกลัวความตาย...
ควายตายทำให้เธอนอนไม่หลับ
ความตายทำให้เธอหวาดผวา
ความตายทำให้เธอกลัวมันจะเข้ามาพรากชีวิตที่เธอรักไปตลอดกาล
และเพราะกลัวความตาย เธอจึงทำทุกวันอย่างเต็มที่ นี่ไม่ใช่ประโยคเรียกขวัญกำลังใจ แต่มันเป็นสิ่งที่เจนนิษฐ์ยึดถือและทำมันอย่างจริงจัง
The People พูดคุยกับเจนนิษฐ์ นักแสดงผู้ใช้ความตายในการขับเคลื่อนชีวิต กับศรัทธาที่เลือกเดินในแดนสาป (2024)
The People : อยากย้อนถามไปถึงสมัยที่เจนนิษฐ์ยังเป็นเด็กหญิงอยู่ ถ้าเกิดว่าเรานึกถึงเด็กหญิงคนนั้น เราจะเห็นภาพอะไร ตอนเด็ก ๆ เรามีบุคลิกยังไง ชอบทำอะไรเป็นพิเศษ
เจนนิษฐ์ : หนูรู้สึกว่านิสัยหนูเปลี่ยนเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นเด็กแบบเด็กมาก ๆ ช่วงวัยสักประมาณเหมือนตอนที่หนูเล่นหนังเรื่องแรก น่าจะประมาณ 5-6 ขวบไม่เกินนี้ หนูจะค่อนข้างไม่พูด ไม่พูดเลยด้วย พูดน้อยมาก ๆ คือแม่เล่าให้ฟังว่าอยู่ช่วงนึงหนูไม่พูดแบบว่าถามก็ไม่ตอบ คือไม่มี reaction กับสิ่งใด สมมุติแม่ถามว่าหิวข้าวไหมไม่พูด ไม่พูดจนคือแม่ตีก็ไม่พูด ก็เลยแบบว่าต้องไปหา feel แบบจิตแพทย์หรือว่าที่ปรึกษาอย่างนี้ค่ะ เขาบอกว่าให้แม่ให้หนูลองเขียนไดอารี่ดูถ้าหนูไม่พูด
ปรากฏว่าเขียนได้ไม่กี่วันหนูเลิกเขียน แล้วหนูก็พูดเลย เพราะหนูขี้เกียจเขียน เป็นการแก้ปัญหาที่อาจจะดู เขาอาจจะตั้งใจให้เราเล่าเรื่องราวในไดอารี่แทน แต่กลายเป็นว่าหนูดันขี้เกียจเขียน ก็เลยค่อย ๆ เริ่มพูด ซึ่งหนูจำความไม่ได้เลย จำเหตุการณ์นี้ไม่ได้เลย แม่เพิ่งมาเล่าให้ฟังค่ะ แล้วแม่ก็บอกว่าแต่พอหลังจากย้ายเข้ามากรุงเทพฯ ช่วงประมาณ 10 ขวบค่ะ ก็ย้ายมาเรียนโรงเรียนเอกชน แล้วปรากฏว่าหลังจากนั้นหนูก็กลายเป็นคนพูดมากตลอดไปค่ะ
เพราะว่าเด็กกรุงเทพฯ พูดเก่งมากค่ะ คือถ้าเทียบกันสมมุติตอนต่างจังหวัดเวลาครูถามคำถามอะไรอย่างนี้ทุกคนก็จะแบบ แบบทุกคนก็จะไม่มีใครตอบเงียบ ๆ เกี่ยงกันอะไรอย่างนี้ แต่พอยายเข้ามากรุงเทพฯ คือทุกคน แย่งกันพูดมาก แล้วก็กล้าแสดงออกมากกว่า ก็เลยเหมือนเรากลัวคุยไม่ทันเพื่อนมั้ง เราก็เริ่มพูดมากขึ้นเรื่อย ๆ
The People : พอจะรู้มาเหมือนกันว่าเจนนิษฐ์บอกว่าตัวเองเป็น extrovert ขั้นสุด ทำไมถึงนิยามตัวเองว่าอย่างนั้น
เจนนิษฐ์ : ใช่ ตอนแรกหนูไม่ค่อยได้สนใจว่าแบบเป็นอะไร ณ ตอนนั้น ตอนมัธยมอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าคือเป็นคนพูดมาก แต่เป็นคนโมโนโทนค่ะ เป็นคนแบบไม่ค่อยหือ ไม่หือ ไม่อือ อะไรก็ได้ อยู่กับเพื่อนไม่ค่อยมี ไม่มีปากเสียงอะไรกับใคร ไม่ได้แบบ ไม่ใช่เป็นคนดูสนุกสนานน่ะ ทุกคนก็จะบอกว่าดูเป็นคนขรึม ๆ แต่ว่าก็ทำกิจกรรมเยอะอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าพอเข้า BNK ปุ๊บกลายเป็นว่าเปลี่ยนอีกแล้ว ช่วงแรก ๆ ถ้าใครได้ดู Girls Don't Cry จะเห็นว่าหนูให้สัมภาษณ์ด้วยเสียงแบบนี้ทั้ง 2 ชั่วโมงเลยอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่พออยู่ไปอยู่มาสักพักนึงเหมือนด้วยจริง ๆ มันเพราะสังคมแล้วก็เทรนด์มันเริ่มเปลี่ยนด้วยนะคะกับความแบบมีภาษาที่สนุกขึ้นมา หรือว่าอยู่กับพี่ช่างแต่งหน้าอะไรอย่างนี้ค่ะ เพื่อน ๆ มันก็ทำให้เราก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นคนที่ดู Extrovert แบบมากขึ้น ดูเฟรนด์ลี่มากขึ้น
The People : ช่วงที่เราเป็นไอดอลเต็มตัว ตอนนั้นเราตัดสินใจยังไงว่าเราอยากทำสิ่งนี้
เจนนิษฐ์ : จริง ๆ คือหนูเรียนเต้นมาตั้งแต่ประมาณ 5 ขวบ ก็คือชอบเต้นมาก แต่ว่าไม่เคยเรียนร้องเพลงเลยค่ะ เคยเรียนดนตรีบ้าง แต่ว่าคือแม่ชอบ แม่ติ่งเกาหลี แม่จะเปิดให้ดูตลอดแบบว่ายุคนั้นก็คือมี BIGBANG กับ 2NE1 ใช่ไหมคะ แล้วก็มีพวก Channel V อะไรที่จะมีสื่อแบบว่าที่เป็นไอดอลเยอะ ๆ แล้วหนูก็มีโอกาสได้ไปบังเอิญตาม AKB ด้วยเหมือนกัน ก็เลยรู้ว่าชอบ พอเราชอบแล้วรู้สึกว่าเราก็อยากเป็นบ้างค่ะ ก็มีไป audition ของ JYP ด้วย แต่ไม่ผ่าน ก่อนหน้า BNK น่าจะแป๊บเดียวเองค่ะ แล้วอยู่ดี ๆ BNK ก็มีประกาศแล้วหนูแบบ เฮ้ย เราตาม AKB พอดีแล้วเห็นประกาศใน Facebook มั้งค่ะ ก็ขอแม่ไป คือแม่เคยคิดว่าแบบถ้าไป audition เกาหลีแล้วต้องไปอยู่ไกลอย่างนี้ แม่แบบว่าเป็นห่วง สมมุติ in case ว่าผ่าน แต่ว่าพอของ BNK แล้วมันต้องทำงานในไทย ไม่ได้อยู่ไกล สามารถอยู่บ้านก็ได้ แม่ก็เลยโอเคให้ไปอย่างนี้ค่ะ
The People : อย่างแม่ติ่งเกาหลี แต่เจนนิษฐ์ดูญี่ปุ่น คือมันต่างยังไงระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น
เจนนิษฐ์ : หนูว่าวัฒนธรรมมันก็ต่าง ค่านิยมต่าง รูปแบบวงต่าง สไตล์ต่าง ค่อนข้างต่างกันแบบว่าชัดเจนเลยค่ะ การออกรายการอะไรอย่างนี้ค่ะ ช่องทางการติดตามด้วยเหมือนกัน
The People : สมมุติเราผ่านไปอยู่เกาหลี คิดว่าตัวตนของเราจะเป็นยังไง
เจนนิษฐ์ : ถ้าไปในร่างก่อนเข้า BNK หนูอาจจะดูเป็นคนจริงจัง หนูก็น่าจะโดนเขาเรียกอะไรที่เขาไปเทรนด์กันมันก็จะต้องมีวินัยสูง มันก็โหดอยู่ในสภาวะความกดดันอะไรอย่างนี้ค่ะ หนูอาจจะยังไม่สดใสเท่านี้ด้วยความแบบเราอาจจะซีเรียสกับต้องตั้งใจตรงนั้นมาก ๆ คิดว่าอาจจะดูเป็นร่างที่จะบอกว่าขรึมก็คงงั้นค่ะ นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าเราก็ไม่รู้ว่าถ้าไปอยู่ตรงนั้นจะเป็นยังไง
The People : ระหว่างความขรึมกับความสดใสเราชอบที่ตัวเองเป็นแบบไหน
เจนนิษฐ์ : ได้หมดเลยค่ะ ชอบทั้ง 2 ชอบที่มีหลายแบบด้วย เพราะว่าจะได้เอาไปปรับใช้คนละสถานการณ์
The People : พอเข้ามาในวงการบันเทิงที่ทุกคนรู้จักเรา โลกของเรามันเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
เจนนิษฐ์ : ก็ค่อนข้างเปลี่ยนนะคะถ้าเทียบกับตอนมัธยม ก็คือเหมือนสังคมของหนูตรงนั้นก็ค่อนข้างหายไปเลย จะเหลือเพื่อนแค่นับคนได้เลยไม่กี่หัวจริง ๆ ที่ยังเหลืออยู่ แล้วก็เราก็ไม่ได้ไปงานปัจฉิมด้วยซ้ำ แต่แอบ หนีกลับไปงาน Prom แต่ว่าไม่ได้มีโมเมนต์เรียนจบพร้อมเพื่อน ไม่ได้มีโมเมนต์การแบบเข้ามหา’ลัยเหมือนเพื่อนคนอื่นใช่ค่ะ แต่ว่าได้เป็นสังคมการทำงานแทน ก็ถือว่าเปลี่ยนในแบบที่เหมือนคนเรียนจบเขาเป็นกันแหละค่ะ แต่ว่าเราเริ่มเร็วกว่าคนอื่นเฉย ๆ
The People : รู้สึกเสียดายไหมในช่วงแต่ละโมเมนต์ที่เราอาจจะไม่ได้กลับไปสัมผัสได้อีก
เจนนิษฐ์ : ตอนแรกก็จะบอกว่าคงเสียดายแหละ แต่ว่าถ้าเทียบกันแล้วก็ไม่ได้อยากมีโมเมนต์ที่หายไปเท่ากับอยากมีสิ่งที่ตัวเองได้มาตอนนี้ค่ะ
The People : สิ่งที่ได้มาตอนนี้คืออะไร
เจนนิษฐ์ : ก็คือประสบการณ์การทำงาน ก็คือสิ่งที่เป็นมาตลอด 6-7 ปีเนี่ยค่ะ หนูรู้สึกว่าหนูก็เลือกอยากได้พวกนี้มากกว่า
The People : ถ้าย้อนกลับไปอีกนิดนึงถ้าเรานึกถึงตอนเด็ก ๆ เราจะนึกถึงอะไร ความทรงจำที่เรามักจะนึกถึงอยู่เสมอ
เจนนิษฐ์ : ความทรงจำที่นึกถึงเสมอ ตอนเด็ก ความทรงจำก็เรียนหนังสือเก่งกว่าตอนนี้ ตอนเด็ก ๆ เป็นเด็กเรียนค่ะตอนประถมคือยังไงก็ต้องท็อปชั้น ที่ 1 เสมอ ตอนแรกคือเหมือนตอนตั้งแต่ประถมตั้งแต่อยู่เพชรบุรีค่ะ ก็เรียนดีก็สอบประมาณที่ 3 อะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วพอเข้ากรุงเทพฯ มาตอนแรกก็ที่ 3 แล้วก็ที่ 1 แล้วก็เลยกลายเป็นว่าจุด เป้าหมาย ณ ตอนนั้นคือจะต้องเรียนดี แล้วก็สอบแบบว่าอย่างน้อยก็คณะ feel แบบที่พ่อแม่ให้เรียนหมอ สัตวแพทย์ ก็ตั้งใจเรียนแต่ปรากฏว่าพอเข้ามัธยมแล้วโดน distract ด้วยกิจกรรมก็เลยไม่ค่อยตั้งใจเรียน แล้วก็สนุกกับการทำกิจกรรมของโรงเรียนเป็นตัวแทน เป็นสภานักเรียน เป็นดรัมเมเยอร์ แล้วก็รู้สึกว่าน่าจะค้นพบตัวเองว่าชอบอยู่ในแสงค่ะ
The People : พ่อแม่อยากให้เป็นหมอเป็นวิศวะ แต่ความฝันของเราจริง ๆ คืออะไร
เจนนิษฐ์ : มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่นะคะ แต่ว่าคือด้วยความพอได้เริ่มแสดงตั้งแต่เด็ก ๆ เรา ไอ้ตรงนี้มันไม่ได้หายไป มัน คิดไว้ว่าสักวันหนึ่งฉันจะกลับมาเข้าวงการบันเทิงแต่เมื่อไหร่ไม่รู้แหละ แต่ว่าก็ยังมีช่วงที่เรียนการแสดงอยู่บ้างค่ะ แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องเรียนอยาก สุดท้ายก่อนที่จะเข้า BNK เลยคืออยากเป็นสัตวแพทย์ค่ะก็คือเตรียมตัวจะเข้าสัตวเลย
The People : เรียนสายวิทย์มาตลอดแล้วก็มาศิลปากร ช่วงที่เรียนศิลปากรมีอะไรที่สนุก ๆ บ้าง
เจนนิษฐ์ : เพื่อนศิลปากรสนุกมากค่ะ คือถึงหนูน่าจะแก่ที่สุดในคณะเลย เพราะว่าซิ่ว gap year เยอะอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าเพื่อนคือแบบว่าค่อนข้างช่วยเหลือเราสุด ๆ แล้วก็เป็นพวกเฮฮาไปไหนไปกัน ไม่ได้แบบว่าเครียดกับการเรียนขนาดนั้น คือถ้าทุกคน get feel ศิลปากรคือแบบสนุกสนาน ใช่ค่ะ แล้วก็เขารู้เขาเข้าใจว่าเรามีข้อจำกัดบางอย่าง เขาก็จะช่วยค่ะ
The People : ด้วยความที่เราเรียนหนังสือเก่ง กิจกรรมก็ทำ ทุกอย่างอยู่ระดับท็อปหมดเลย มีช่วงเวลาไหนบ้างไหมที่เราทำสิ่งนี้ไม่ได้แล้วเรารู้สึกผิดหวังกับตัวเอง
เจนนิษฐ์ : หนูสอบตกบ่อยนะตอนมัธยม แต่หนูไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองผิดหวังกับอะไรแบบนั้นแบบว่าถ้ายังเรียนต่อไปได้ คือมันตกแค่บางวิชาอะไรอย่างนี้ค่ะ เกรด 2 เลขเสริม หนูก็รู้สึกว่าก็เสียใจ แต่ก็ไม่อะไร เพราะมันยังเรียนข้ามชั้น เราไม่ได้โดนซ้ำชั้นหนิ เราก็ยังเรียนต่อไปได้ คิดว่าน่าจะผิดหวังเรื่องการทำงานจะ effect มากกว่า เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการนั่นแหละค่ะโอกาสที่หลุดไปอะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็มีบางอันที่ผิดหวังในตัวเองที่แบบว่ารู้สึกว่า โอเค ทำได้ไม่ดีพอ กับผิดหวังที่ไม่ได้โอกาส หรือโอกาสมาไม่ถึงเราอะไรอย่างนี้ค่ะมากกว่า รู้สึกว่าหนูชอบทำงานมากกว่าเรียนด้วยแหละค่ะ
The People : พอเราเข้ามาเป็นไอดอลแล้ว เป็นนักแสดงแล้ว เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนมัน shape มุมมองเรายังไงบ้าง
เจนนิษฐ์ : ถ้าพาร์ตของไอดอลหนูรู้สึกว่าหนูทำงานกับคนเยอะมาก ๆ แล้วมันค่อนข้างเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่มี empathy มากขึ้น เพราะว่ามันจะมีช่วงที่หนูชอบเผลอ judge คนจากผลงานเลย เพราะว่าเราเป็นคนที่ต้องคอนโทรลทีมกับ Performance เนาะ แล้วเราก็ไม่ได้ไปคิดถึงแบบว่าพาร์ตส่วนตัวของเมมเบอร์คนอื่นว่าแบบ เอ้ย จริง ๆ เขามี Condition นู่นนี่นั่น มีข้อจำกัดบางอย่าง หรือว่าเขาไปเจอเหตุการณ์อะไรมาที่มัน effect กับงานด้วยอะไรอย่างนี้ ซึ่งตอนนั้นก็คือแบบว่าเผลอทำไม่ดีเพราะว่าอันนี้เรารู้สึกว่างานมันออกมาไม่ดีอะไรอย่างนี้
แต่ว่าพอเราไปรู้เหตุผล background แล้วรู้สึกว่า เอ้ย มันไม่ได้แล้วถ้าเราจะเป็นแบบนี้ต่อไปมันน่าจะมีปัญหาในอนาคต ยิ่งเราจะต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกเรื่อย ๆ แน่นอนอะไรอย่างนี้ค่ะกับการดูทีมในระยะยาว เพราะฉะนั้นหลังจากนั้นก็เลยค่อนข้างไม่ หนูไม่ใช่เป็นคนดุนะ คนจะนึกว่าตอนเป็นรองกัปตันหนูดุหรือเปล่า หนูไม่เคยดุเพื่อนเลยหลังจากนั้นค่ะ ก็ชอบพูดคุยมาก ๆ เลยพอหลังจาก หนูชอบเวลาคนอื่นมาเล่าเรื่องตัวเองให้ฟัง แล้วเหมือนเราได้ศึกษามุมมองที่เราไม่เคยมี เพราะว่าเราเป็น แต่ละคนมันไม่เหมือนกันน่ะค่ะ เราเป็นคนที่ชอบฟังแล้วเอาเก็บไปคิด แล้วก็เอาไปจินตนาการต่อว่าถ้าเป็นเรา เราจะรับมือกับเหตุการณ์นี้แบบไหน เราจะทำเหมือนเขาไหมอะไรอย่างนี้ค่ะ มันทำให้เราใจเย็นลงมาก ๆ ด้วย
The People : แสดงว่าที่ผ่านมาเราค่อนข้างเป็นคน strict กับตัวเองพอสมควร
เจนนิษฐ์ : พูดยากค่ะมันแล้วแต่เรื่องไป คือมัน strict ณ ตอนทำ ใช่ แต่ว่าปล่อยวางต่อก็ปล่อยวางได้เหมือนกันค่ะ หงุดหงิดไหม หงุดหงิด เซ็ง แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็จะปล่อยมันไปได้ค่ะ
The People : มีเรื่องไหนที่เรารู้สึกว่าไม่ได้เลยเรื่องนี้ต้องอยู่ในกรอบนี้ที่เราวางเอาไว้ ถ้าเกิดหลุดออกจากสิ่งนี้เราจะรู้สึกหงุดหงิดมากเป็นพิเศษ
เจนนิษฐ์ : กว้างเหมือนกันค่ะ ถ้าหลุดกรอบ อาจจะพูดเจาะจงไม่ได้ขนาดนั้น แต่ว่าถ้าสมมุติมันเป็นเรื่องที่ Common มาก ๆ สำหรับเรา แล้วมันผิดในเรื่องที่ไม่ควรจะผิด พลาดในเรื่องที่เราไม่ควรจะพลาดอะไรอย่างนี้น่าจะหงุดหงิดกว่าอะไรที่เรารู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้เป็น Human error ที่โอเคเข้าใจได้ แต่อันนี้มันแบบ เฮ้ย เรื่องนี้มันควรจะทำได้เป็นปกติแล้วนะแต่ดันพลาดอะไรอย่างนี้ค่ะ
สมมุติแล้วกันสมมุติว่าหนูเต้นเพลงนี้มา 100 ครั้งแล้วหนูมัน แบบเป็นงานสำคัญมาก ๆ แล้วหนูดันเต้นผิด เคยเกิดเหมือนกันค่ะ แล้วรู้สึกว่ามันผิดได้ไงวะเนี่ยอะไรอย่างนี้ค่ะ คือทั้ง ๆ ที่มันไม่เคยผิดเลย แต่ดันมาผิดในงานใหญ่ด้วยความแบบแบลงก์ ณ ชั่วขณะหรืออะไรไม่รู้ ณ ตอนนั้นค่ะ
The People : เจนนิษฐ์มีช่วงเหนื่อยท้อกับสิ่งไหนที่ทำบ้างไหม เพราะเป็นคนที่ดูมี Energy ทุ่มเทกับทุกอย่าง
เจนนิษฐ์ : เหนื่อยมันเหนื่อยเป็นปกติค่ะ แต่เป็นการเหนื่อยจากการทำสิ่งที่เราชอบ มันก็เลยไม่ได้ท้อ ยังไม่เคยเจอโมเมนต์ผิดหวังจนถึงขั้นท้อว่าทำต่อไปไม่ไหวแล้ว ถือว่าเป็นคนที่ค่อนข้างโชคดี
The People : มีการเสียน้ำตาบ้างไหมกับการที่เราต้องมาอยู่ในวงการบันเทิง
เจนนิษฐ์ : เสียน้ำตาเรื่องอาชีพไหม หนูไม่ อาจจะมีบ้างถ้าทำพลาดอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าเรื่องงานหนูจะไม่ค่อยค่ะ หนูจะไป sensitive เรื่องความสัมพันธ์มากกว่ากับเพื่อน
The People : กับเพื่อนเราเป็นคนยังไง มีอะไรบ้างที่เพื่อนมักจะบอกว่าเจนนิษฐ์เป็นคนอย่างนี้
เจนนิษฐ์ : เป็นคนพูดตรง ตรงแบบว่าสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างชัดเจนน่ะ ว่าแบบโอเคชอบอะไรไม่ชอบอะไร ทำไมเป็นอย่างนี้ เป็นคนค่อนข้างเป็นเหตุเป็นผล แล้วก็สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ค่ะ
The People : มีครั้งไหนที่เราพูดตรงแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เราพูดออกไปมันทำให้เราเสียใจทีหลังไหม
เจนนิษฐ์ : มีค่ะ แต่หลัง ๆ จะเริ่ม recheck แล้วว่าแบบว่าถ้าคิดว่าตรงนี้ เอ๊ะ เราจะถามคนฟังเลยว่ารู้สึกไม่ดีหรือเปล่าที่พูดเมื่อกี้อะไรอย่างนี้ไปเลย ดีกว่ามานั่งนอยด์เองแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาเสียใจหรือเปล่า แต่เรานอยด์แน่เลยตอนนี้ เราจะ เอ้ย ขอโทษนะเมื่อกี้ไม่รู้ว่าเราใช้คำพูดผิดหรือไม่ดีหรือเปล่า ถ้าไม่อันนั้นบอกได้ หนูเป็นคนชอบสื่อสารอย่างตรงไป ไม่ชอบการไม่รู้ตัวค่ะ ไม่ชอบทำผิดแล้วไม่รู้ตัว ถ้าผิดบอกจะได้แก้อะไรอย่างนี้ค่ะ
The People : เราเริ่มตกตะกอน เริ่มตระหนักว่าต้อง recheck ความรู้สึกคนอื่นตอนไหน
เจนนิษฐ์ : เพราะว่าหนูก็เคย หนูรู้สึกหนูพูดตรงแล้วบางทีปากไว แต่ว่าเราไม่ได้เจตนา เราคือพูด fact แต่ fact นั้นอาจจะไม่ได้ถนอมน้ำใจใครก็ได้ แล้วก็เคยทำเพื่อนเสียใจ แล้วหนูอยู่กับ มีช่วงนึงอยู่กับพี่ไข่มุก (วรัทยา ดีสมเลิศ) บ่อยคุณไข่ แล้วคุณไข่เขาจะเป็นคนชอบถามคนอื่นว่า อุ้ย เมื่อกี้เสียใจเปล่าอย่างนี้ค่ะ แบบแล้วบางทีเพื่อนก็จะแบบว่าเสียใจอะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าเหตุการณ์นี้มันก็เป็นเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราทุกคนก็ได้นะ แต่ว่าคุณไข่เขาเลือกที่จะถามออกไปตรง ๆ แล้วขอโทษเลย หนูรู้สึกว่ามันจบเร็ว มันจบเลย ก็แค่ขอโทษเราจะไปทิ้งให้มันยืดเยื้อหรือมันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่แย่ลง แล้วก็ไปติดไปตกตะกอนอย่างนี้ความรู้สึกทำไม ในเมื่อเราสามารถมี awareness แล้วถามกันได้เลย
The People : เจนนิษฐ์ก็ผ่านมาหลายสเตจ มีช่วงเวลาไหนที่เรารู้สึกว่าเราโหยหาช่วงเวลานั้น เราอยากกลับไปสัมผัสมันอีกครั้ง
เจนนิษฐ์ : หนูชอบเวลาทำงานกับเพื่อน ๆ ค่ะ มันก็คือทุก ๆ พาร์ตของการทำงานนั่นแหละค่ะ แต่ว่าพอมาทำงานคนเดียวมันก็จะคิดถึงบรรยากาศที่เวลาทำงานกับเพื่อน ๆ แล้วบางทีคือพอเราคนเยอะ เราก็จะชอบโยน โยนกันว่าอันนี้เอ็งทำนะ อันนี้ข้าทำนะอะไรอย่างนี้ค่ะ มีคนช่วย ๆ แบ่งเบากัน หรือว่ามีที่ปรึกษา หรือว่ามีเพื่อนที่เข้าใจเราสุด ๆ เพราะว่าเราเจออะไรเหมือน ๆ กัน มันไม่มีคนนอกที่จะมาเจอสถานการณ์เดียวกันเหมือนกับพวกเราอีกแล้วที่เผชิญกันมา แบบว่าอดทนกันมาสุด ๆ โดยเฉพาะแบบรุ่น 1 อะไรอย่างนี้ว่า เอ้ย เราเจออะไรกันมาบ้าง มันเลยแบบเก็ทกันหมดเลย บางทีก็คือมองตาแล้วแบบรู้เลยว่ารู้สึกอะไรกันอยู่อย่างนี้ค่ะ
The People : เรื่องไหนที่เรามักจะคุยกันมากเป็นพิเศษไหม
เจนนิษฐ์ : จริง ๆ 99% ของ BNK คือการทำงาน ก็เลยไม่ค่อยคุยกันเรื่องอื่นนอกจากเรื่องงาน แต่ก็มีบ้างเรื่องเวลาพักผ่อนก็ทั่วไปเลยค่ะ ข่าว gossip อะไรอย่างนี้ คือมีช่วงนึงหนูก็ได้เป็นฉายาว่าเจ้าแม่ข่าวกรองอย่างนี้ค่ะ ชอบได้เรื่องนู้นเรื่องนี้มา แล้วก็มาเล่า แล้วก็คุยกับคนอื่น
The People : แต่พอเราออกมาทำรับฟรีแลนซ์ ทำงานด้วยตัวเองคนเดียว ต่างกันยังไงกับตอนที่เราอยู่กับคนเยอะ ๆ
เจนนิษฐ์ : หนูว่ามันจะง่ายขึ้นในเรื่องของการจัดการตารางค่ะ เพราะว่าพอคนเยอะ ๆ บางทีแค่งานเดียวแต่ว่าตารางเรามันไม่ตรงกันสักทีมันจะยากค่ะ พอเป็นคนเดียวเราก็ manage ตารางตัวเองได้มากขึ้น แต่ว่างานปริมาณงานราชงานหลวงงานจับฉ่ายเราน้อยลง คือไม่ได้มีงานที่เราต้องเขาเรียกว่าอะไรใช้เวลาเยอะ ๆ มากแล้วค่ะ ก็จะมีงานที่เราก็คัดมาแล้วด้วย เราเลือกได้แล้วแหละว่าเราอยากทำอะไร อยากเป็นแบบไหน อยากได้งานแบบไหน ใช่ค่ะ อยากมีภาพออกมาแบบไหน ไม่ได้ต้อง blend in ไม่ให้หลุดภาพรวมจากคนอื่นแล้วค่ะ
The People : แล้วเราวาดภาพตัวเองไว้แบบไหนอยากจะให้คนอื่นมองเห็นภาพเจนนิษฐ์เป็นยังไง
เจนนิษฐ์ : หนูชอบที่ตัวเองเป็นเป็ดค่ะ แบบว่าทำได้หลาย ๆ อย่าง รู้สึกว่าสามารถเรียกใช้งานได้หลากหลายค่ะ อยากให้ทุกคนมองว่าการที่เป็นแบบเจนนิษฐ์น่ะเป็นเป็ดแบบว่าอาจจะไม่ได้เก่งสุด ๆ ไปในสักทางเลย แต่ว่ามีความสุขกับการลองทำนู่นทำนี่ไปเรื่อย ๆ ก็มันก็เป็น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดค่ะ
The People : อยากให้เจนนิษฐ์พูดถึงคนที่กำลังรู้สึกว่ายังไม่เจอสิ่งที่เราถนัดสุด ๆ ไปเลย อยากให้ให้กำลังใจเขาว่าการเป็นเป็ดก็ไม่ได้ผิดอะไร
เจนนิษฐ์ : หนูรู้สึกว่าถ้าทุกคนโฟกัสว่ามันคือสิ่งที่เราชอบ ถ้าหาเจอนะคะ ถ้าหาเจอว่าสิ่งที่เราชอบมันจะง่ายกว่าในการจัดการตัวเองว่า เอ้ย ถึงเราไม่ได้เก่งที่สุด แต่เราแค่เอนจอย ณ โมเมนต์ที่เราได้ทำมันน่ะ มันจัดการความสุขตัวเองได้ง่ายกว่ามาก ๆ เลย แต่ว่าถ้ายังไม่เจอแล้วเครียดเนี่ยเข้าใจได้ เพราะว่าด้วยสังคมมันก็จะกดดันว่าแบบการ คนที่หาตัวเองเจอเร็วกว่า ไปได้เร็วกว่า เริ่มต้นเร็วกว่ามันก็จะประสบความสำเร็จแล้วก็แฮปปี้ไปก่อนคนอื่น แต่ว่าถ้าเราทำไม่ได้ แน่นอนว่าทุกคนแบบว่ามีต้นทุนไม่เท่ากัน หรือว่าโชคชะตาจังหวะชีวิตมันไม่เท่ากันอยู่แล้ว อยากให้ลองไปเอนจอยกับโมเมนต์การค้นหามากกว่า
คือบางทีเราอาจจะมัวแต่ไปมองปลายทางว่าเมื่อไหร่เราจะถึงสักที จนเราไปทิ้งอะไรบางอย่างรอบข้างตัว ณ ตอนที่เรากำลังเดินอยู่ตอนนี้ค่ะ ระหว่างทางเราได้อะไรตลอดนะ แต่เราลืมมันหรือเปล่า เราไม่ได้สนใจมันหรือเปล่ากับการที่เราได้เติบโต เราไม่ได้มานั่งตกตะกอนกับตัวเองว่า เฮ้ย เราเปลี่ยนไปขนาดไหน เรากำลังมีการเติบโตไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่ว่ามันแค่อาจจะถึงช้ากว่าคนอื่นนิดนึง แต่ว่าก็ไม่ได้แปลว่าวันหนึ่งเราจะไม่ได้ไปถึงจุดที่เราจะแฮปปี้ค่ะ ไม่ พอสังคมมันบังคับให้เราใช้ชีวิตไปอย่างรวดเร็ว มันทำให้เราอาจจะลืม Detail ลืมสิ่งสำคัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาประกอบรวมร่างให้เป็นเราในทุก ๆ วันนี้
The People : เคยลืมตัวเองบ้างไหม แบบว่าเราใช้ชีวิตจนลืมไปเลยว่าเราเองก็ควรจะต้องเป็นคนที่แคร์ตัวเรา
เจนนิษฐ์ : ไม่เชิงว่าลืมค่ะ แต่หนูสลับโฟกัสบ่อยค่ะ คือด้วยความมี Goal ในชีวิตเยอะและแต่ก็ชัดเจน ก็จะชอบโฟกัสไปในอนาคต ชอบคิดเรื่องอนาคตมาก ๆ แต่ก็จะกลับมาอยู่กับตัวเองบ่อยว่า เอ้ย ไม่เป็นไร ยัง ถ้ายังไม่ตาย ตอนนี้ยังไม่ตาย แสดงว่าก็ยังมีโอกาสอยู่ไม่เป็นไร แล้วค่อยกลับไปเครียดใหม่อีกรอบนึง แล้วเราก็จะกลับมาใหม่ กลับมาแบบว่าสมมุติผ่านจากความผิดหวังมา ก็จะกลับมาตัวเองว่า เฮ้ย ไม่เป็นไร แล้วเอาใหม่ แล้วค่อยกลับไป ณ โมเมนต์ที่เรามุ่งไปที่ข้างหน้าอีกครั้งค่ะ
The People : ส่วนใหญ่ถ้าเราเจอความผิดหวังเราจะปรึกษาใคร
เจนนิษฐ์ : มักจะเป็นเพื่อนค่ะ เพราะหนูรู้สึกว่าแม่เป็นคนคิดมากอยู่แล้ว แล้วคนเป็นแม่ชอบคิดคูณ 10 ไปจากที่เรารู้สึกเศร้านิดนึง เขาจะคิดไปใหญ่โตแล้ว หนูจะไม่ชอบบอกแม่ หนูจะเล่าให้เพื่อนฟัง เพราะว่าเพื่อนก็จะ get feel ด้วยความวัยหรืออะไรที่มันคิดใกล้ ๆ กันค่ะ ส่วนใหญ่คือหนูรู้อยู่แล้วว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร การแก้ปัญหาคืออะไร แต่เราต้องการแค่บ่นเฉย ๆ เพราะฉะนั้นเราก็จะระบายกับคนที่เรารู้ว่าเขาฟังแล้วเขาจะไม่ด่าเรา เขาฟังแล้วไม่ทำ toxic เขาฟังแค่ฟัง เพราะว่าเขารู้ว่าเราแค่ต้องการจะเล่าแค่นั้นค่ะ
The People : สิ่งที่เจนนิษฐ์รู้สึกว่าเราภูมิใจมากเลยที่เป็นเจนนิษฐ์อย่างทุกวันนี้ คืออะไร
เจนนิษฐ์ : หนูคิดว่าเพราะว่าหนูได้ทำงานตามที่ตั้งใจจะทำตั้งแต่เด็ก ๆ ไว้ได้ ก็คือการเข้าวงการบันเทิงด้วย แล้วหนูก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ได้รวยแต่ยังหาเลี้ยงชีพเองได้ มีสุขภาพแข็งแรง มีเพื่อน มีคนรอบตัวที่ดี หนูรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิตเลยค่ะ
The People : ช่วยเล่าเรื่องย่อแดนสาปให้ฟังหน่อย
เจนนิษฐ์ : ก็ถ้าดูจาก Teaser นะคะก็เห็นว่าเป็นเรื่องราวของพ่อลูกคู่หนึ่งนะคะ พ่อมิตรแล้วก็ลูกสาวก็คือเมย์นะคะ เป็น 2 คนที่นับถือศาสนาพุทธเนาะ แต่ว่ามีเหตุการณ์บางอย่าง มีความจำเป็นบางอย่างทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่ในชุมชนมุสลิมด้วยความไม่ค่อยเต็มใจนักของเมย์ แต่ว่าเมย์เขาก็พยายามจะปรับตัวให้เข้ากับสังคมสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมใหม่ ๆ ค่ะ แต่ว่าตัวพ่อเนี่ยอาจจะดูไม่ค่อยอยากมากนัก เราก็เลยพยายามจะดูแลครอบครัวที่มีแค่ 2 คนด้วยตัวเอง เพราะว่าเราดูมีความมั่นคงทางจิตใจมากกว่า แต่ว่านอกจากเรื่องภายในจิตใจแล้ว มันดันมีเรื่องของญินหรือว่าผีมาทำให้สภาพจิตใจที่แย่อยู่แล้วของพ่อเนี่ยมันหนักไปกันใหญ่ แล้วเราก็ต้องมาหาทางรับมือ แล้วก็แก้ไขปัญหาค่ะ ทั้งเรื่องผีด้วย เรื่องพ่อ เรื่องคนรอบตัวด้วย
The People : เคยใช้ชีวิตในสถานที่ที่มีเพื่อนชาวมุสลิมเยอะ ๆ ไหม
เจนนิษฐ์ : ไม่เคยเลยค่ะ รอบตัวก็ถือว่าน้อยค่ะที่นับถือศาสนาอิสลาม
The People : นาทีแรกที่เราได้อ่านบท ทำไมเราถึงตัดสินใจรับบทนี้
เจนนิษฐ์ : ก็รู้สึกว่าเป็นบทที่ทำได้ค่ะและอยากทำ คือหนูจะลังเลเฉพาะถ้าหนูอ่านบทแล้วรู้สึกว่าหนูจะทำได้หรือเปล่า แต่อันนี้หนูรู้สึกว่าหนูอยากทำ แล้วหนูน่าจะทำได้ ใช่ค่ะ
The People : ส่วนใหญ่จะเลือกรับบทประมาณไหน
เจนนิษฐ์ : เอาจริง ๆ ยังไม่ได้มีบทที่หลากหลายขนาดนั้นเข้ามาหาหนูค่ะ ส่วนใหญ่มันก็จะมาเวย์แบบว่าชีวิตรันทด กดดันค่ะ โดนกระทำ มันไม่ได้เลือกหรอกค่ะ แต่มันมาเอง แต่ว่าเอนจอย ๆ การเล่นบทเหล่านี้ค่ะ
The People : เขาบอกเหตุผลไหมว่าทำไมเราถึงได้รับบทชีวิตรันทด
เจนนิษฐ์ : เขาบอกเพราะหน้าหนูเศร้าค่ะ หน้าหนูเหมือนมีเป็นคนที่นั่งเฉย ๆ ก็ดูมีปมชีวิต ซึ่งมีจริง (หัวเราะ)
The People : ถ้าเลือกได้อยากเล่นอะไร อยากเล่นประมาณไหน
เจนนิษฐ์ : ได้หมดเลยค่ะที่ไม่ใช่แนวเดิมที่เคยเล่น คนชอบถามว่าทำไมเล่นแต่หนังผีอีกแล้ว หรือว่าหนังที่มันดูค่อนข้างน่ากลัว ก็อยากลองเปลี่ยน mood and tone ให้มันดูแตกต่าง หรือจะ Rom-Com ไหมหรือ Action ก็ได้ Action อาจจะไม่ต้องสดใสมากยังเป็นตัวเองอยู่ แต่ก็ยังแตกต่างจากหนังผีเฉย ๆ
The People : เคยเจอเรื่องลี้ลับอะไรไหมในชีวิต
เจนนิษฐ์ : หนูไม่เคยเจอโดยตรงค่ะจะเป็นแม่มากกว่า แม่แล้วก็ญาติ ๆ เพราะว่าฝั่งต่างจังหวัดอะไรอย่างนี้จะมีเรื่องเล่าค่ะ จริง ๆ เคยเล่าบ่อยเหมือนกันไม่รู้ว่ามีเคยฟังเรื่องไหนกันไปบ้าง แต่ว่าเอาสั้น ๆ ก็คือถ้าสมมุติว่าแม่ไป Connect กับใครได้อย่างนี้ เขาจะมาเป็นสื่อ เหมือนจะใช้ให้แม่สื่อสารกับใครสักคนนึงที่ฝั่งนู้นเขาอยากสื่อสารอย่างนี้ค่ะ แม่ก็จะมีอาการอยู่ดีนิ่งขึ้นมา ก็ร้องไห้อะไรอย่างนี้ค่ะ
The People : ช่วงแรกที่เราเห็นแม่เป็นอย่างนี้รู้สึกยังไงบ้าง
เจนนิษฐ์ : หนูจำความไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่าครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้คือเมื่อไหร่ แต่ว่ามันมีเรื่อย ๆ มาจนชินแล้วค่ะ
The People : แล้วเรามองเรื่องลี้ลับยังไง
เจนนิษฐ์ : 50-50 เลยค่ะ มัน ก็ยังมีพาร์ตที่หนูก็มูด้วย ด้วยอาชีพด้วยแหละค่ะเลยมู แต่ว่าถามว่าเชื่อแบบเอาตัวลงไป 100% เลยไหมก็ไม่ค่ะ หนูยังคิดว่ามันอาจจะมีโอกาสเป็นไปได้ที่มันอาจจะเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์จริง ๆ ก็ได้ค่ะ เช่น ในอนาคตอาจจะค้นพบว่าการเห็นผีไม่เห็นผีมันคือยีนส์ หรือโครโมโซม ที่แตกต่างจากคนอื่น เหมือนกับคนที่ห่อลิ้นได้กับห่อลิ้นไม่ได้อะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าเราแค่อาจจะยังไปไม่ถึงจุดนั้นหรือเปล่า แค่ลองคิดเป็นทฤษฎีสมคบคิดค่ะ
The People : ไม่แน่ใจว่าเห็นข่าวดราม่าเกี่ยวกับหนังบ้างไหม
เจนนิษฐ์ : บ้างค่ะ เห็น ๆ อยู่ มีคนส่งมา
The People : เรากังวลไหมว่าผลตอบรับจะเป็นยังไงต่อ
เจนนิษฐ์ : ไม่ค่อยเลยค่ะ เพราะว่าหนูรู้สึกว่าทางทีมสร้างเนี่ยเขาแค่พลิก 1 มุมมองต่อ 1 สิ่งขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมองสิ่งเดียวกันในทางเดียวกันค่ะ ใช้คำว่าในมุมมองที่ไปในทางเดียวกัน คือโลกเรามันคือความหลากหลายเนาะ สมมุติว่าพูดถึงเรื่องผีมันยังมีคนเชื่อใน คือเชื่อเหมือนกัน แต่ยังเชื่อไปในหลาย ๆ แบบที่แตกต่างกันเลย เพราะฉะนั้นมันห้ามกันไม่ได้อยู่แล้วค่ะว่า เฮ้ย เธอต้องมาเชื่อเหมือนเรา เราคือความเชื่อที่ถูกที่สุดอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าเราแค่เลือกที่จะเล่ามุมมองแบบนี้เฉย ๆ อยากให้เปิดใจมากกว่าค่ะ เพราะมั่นใจว่าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ศาสนาเสื่อมเสียแน่นอนค่ะ
The People : พูดถึงความเชื่อ เจนนิษฐ์มีความเชื่ออะไรในการใช้ชีวิตไหม แล้วคือเชื่อสิ่งนั้นมาตลอดจนกระทั่งจริง ๆ สิ่งที่เราเคยเชื่อมันไม่ใช่สิ่งนั้นจริง ๆ
เจนนิษฐ์ : คิดว่าไม่มีนะคะ ค่อนข้างเชื่ออะไรที่พิสูจน์ได้แล้วค่ะ คืออัน ต้องแยกว่าเป็นความเชื่อกับความสนใจแล้วกันค่ะ สนใจก็จะเป็นอีกเรื่องนึง คือสนใจที่จะศึกษา ใช่ แต่เชื่อไหมก็อีกเรื่องนึงเหมือนกัน แต่คิดว่ายังไม่เคยเชื่ออะไรที่โดนพลิกกลับมานะคะ อ๋อ จะเป็นเรื่องการเมือง
The People : ศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธา ในมุมมองของเจนนิษฐ์กลุ่มคำเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้มันหล่อหลอมสังคมไทยให้เป็นไปในทิศทางไหน
เจนนิษฐ์ : ศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธา หนูรู้สึกว่ามันก็มีส่วนที่ทำให้ผู้คนสามัคคีกันขึ้นนะคะ แล้วก็การอยู่รวมเป็นกลุ่ม เพราะว่ามันก็ สิ่งพวกนี้มันก็สร้างกฎเกณฑ์บางอย่างในการอยู่ร่วมกันขึ้นมา มันก็ทำให้ มันก็มีประโยชน์ของมันเหมือนกัน แต่ถ้าเราเอาสิ่งพวกนี้ไปใช้ในทางที่ไม่ถูก ก็คือการไม่ให้เกียรติแล้วไม่เคารพความแตกต่างของคนที่เชื่อไม่เหมือนเรา มันก็กลายเป็นปัญหาได้เหมือนกันค่ะ ก็รู้สึกว่าเรามีสิ่งพวกนี้เอาไว้มันก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าก็มีคนที่คิดไม่เหมือนเราอยู่แน่นอนอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่จำเป็นจะต้องขัดแย้งโดยการใช้ความรุนแรงค่ะ
The People ถ้าสังคมเราไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย เจนนิษฐ์พอจะนึกภาพออกไหมว่าจะเป็นยังไง
เจนนิษฐ์ : อาจจะมีคนที่ไม่มี passion ในการใช้ชีวิตเยอะมากกว่านี้ได้ค่ะ บางคนเขาใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจจริง ๆ เลย ไม่มีสิ่งอื่นเลย คือเขาเชื่อในการทำเพื่อบางคนสมมุติเชื่อเรื่องเวรกรรมอะไรอย่างนี้ค่ะ เขาก็จะมีสิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตอยู่แล้ว ถ้าไม่มีเขาอาจจะรู้สึกว่าชีวิตนี้เขาไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจน หรืออาจจะล่องลอยกว่าก็ได้ หนูรู้สึกว่ามันยังเป็นประโยชน์อยู่ค่ะ ถ้าไม่มีเลยดูน่าจะแปลกเหมือนกันนะคะ ทุกคนน่าจะลอย ๆ
The People : เจนนิษฐ์บอกว่าเข้าสู่วงการบันเทิงแล้วเริ่มมูมากขึ้น อันนี้คือคนรอบข้างบอกหรือเราสนใจด้วยตัวเอง
เจนนิษฐ์ : มันอัตโนมัตินะคะ เหมือนถูกแวดล้อมว่าเราต้องมู คือตั้งแต่เด็กเลยค่ะป้าหนูเคยทำงานอยู่ใน GMM เขาก็จะมีพระพิฆเนศอยู่ในบ้านตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เลย แล้วก็ถูกปลูกฝังมาตลอดว่าเข้าวงการบันเทิงจะต้องบูชาองค์พ่อพระพิฆเนศนะ ก็เลยรับสารมาเรื่อย ๆ ค่ะ แล้วคนในวงการบันเทิงพอเข้ามาจริง ๆ คือทุกคนก็มูจริง ๆ เราก็เลยไปต่ออัตโนมัติค่ะ แล้วมันเป็นเทรนด์ใหม่ ๆ ด้วยที่เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเครื่องประดับที่มันมินิมอลแล้วมันใช้งานได้ในชีวิตประจำวันทั่วไปมากขึ้น มันเลยทำให้การมูมันใกล้ชิดกับเรามากขึ้นค่ะ
The People : ก็มีคนส่วนหนึ่งที่บอกว่าการมูหรือการดูดวงเป็นเพราะเราอาจจะจิตใจไม่มั่นคงเลยต้องการคนที่มาบอกคำตอบในสิ่งที่เราอยากได้ยิน มองเรื่องนี้ยังไงบ้าง
เจนนิษฐ์ : ก็อันนี้น่าจะแล้วแต่คนไปค่ะ บางคนเขาอาจจะดูดวงเป็นไกด์ชีวิตเฉย ๆ ก็ได้ว่ามีสิ่งอะไรที่ต้องระวังหรือเปล่า บางทีเราอาจจะใช้ชีวิตได้ไม่ได้รอบคอบเท่าหมอดูที่เตือนเราค่ะ แต่ส่วนตัวไม่ชอบดูดวงค่ะ เพราะว่าดูไปก็รู้สึกว่าไม่เคยตรง แล้วเวลาดูก็เครียดฟรี ถ้ามันออกมาแบบไม่ได้เป็นอย่างที่ใจเราต้องการ หนูรู้สึกว่างั้นใช้ชีวิตแบบไม่รู้ไปดีกว่าค่ะส่วนตัวอันนี้ส่วนตัวค่ะ แต่ว่าก็จะมีคนที่รู้จักที่เขาเป็นคนไม่มั่นใจในการตัดสินใจ เลยจะต้องใช้การดูดวงแบบว่าช่วยนิดนึงก็มีเหมือนกัน หนูว่าอันนี้แล้วแต่คนเลยค่ะ
The People : เราเลือกสายมูดีกว่า
เจนนิษฐ์ : เวลาหนูมูงานเนี่ย มันแค่เป็นความสบายใจว่าอย่างน้อยเราได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือในการเพิ่มโอกาส ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยค่ะ
The People : เจนนิษฐ์คิดว่า ณ ปัจจุบัน เจนนิษฐ์ใช้ชีวิตอยู่บนรูปแบบความศรัทธาแบบไหน เราเชื่อมั่น เราศรัทธาอะไรในตัวเองที่ผลักดันให้เรามาอยู่จุดนี้
เจนนิษฐ์ : ไม่ค่อยศรัทธาในตัวเอง แต่ว่าเชื่อมั่นไหม ก็ไม่แน่ใจค่ะ แต่ว่าหนูค่อนข้างอยู่กับปัจจุบันและอนาคตมากกว่าในอดีตค่ะ คือหนู appreciate กับความสัมพันธ์ที่หนูมีกับคนรอบตัวมาก ๆ จนสามารถเอามาใช้เป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิตได้มากกว่าจะมีแค่ตัวเองอย่างเดียว ก็เลยไม่สามารถใช้คำว่าศรัทธาในตัวเองหรือเปล่า แต่แค่รู้สึกว่าตัวเองมีคนดี ๆ รอบตัวที่ยังอยากใช้ชีวิตอยู่ด้วยค่ะ
The People : สิ่งไหนที่เราได้รับมาจากคนรอบตัวแล้วผลักดันเราได้มากที่สุด แบบได้รับสิ่งนี้มาแล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ต่อไป
เจนนิษฐ์ : คิดว่าก็หลายอย่างนะคะ ก็จะมีคนที่คอยซัปพอร์ตเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องปัญหาส่วนตัว คือเราจะรับรู้ได้จริง ๆ ว่ามีคนที่พร้อมด้วยช่วยเหลือเราถ้าเรามีปัญหาค่ะ ก็ มันก็คือมิตรภาพแหละค่ะ ภาพรวมมันคือการพึ่งพาอาศัยกัน แล้วเรารู้สึกดีใจต่าง เราต่างคนต่างรู้สึกดีใจที่เรายังได้เจอกันอยู่ในทุก ๆ วัน เรายังได้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันค่ะ
The People : เจนนิษฐ์บอกว่าพอเราโตขึ้นเพื่อนเราก็น้อยลง อันนี้คือผลของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่หรือเปล่า เหมือนพอโตขึ้นสังคมเราก็น้อยลงเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดเราอาจจะมีแค่ตัวเราเอง
เจนนิษฐ์ : ส่วนตัวหนูไม่รู้สึกว่าสังคมหนูน้อยลงนะคะ หนูรู้สึกว่าเพื่อนหนูเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ว่าก็จะมีกลุ่มแยก ๆ เป็นหลาย ๆ กลุ่มไป เราก็จะแบ่งเวลา แล้วก็มีตัวเองในแต่ละหมวดที่แตกต่างกันไปเวลาเจอเพื่อนแต่ละกลุ่มค่ะ เพราะว่ารู้สึกว่าคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีเพื่อนน้อยลงอาจจะเพราะเรามีภาระหน้าที่มากขึ้นด้วย เราไม่ได้สามารถเที่ยวกับเพื่อนได้ทุกวัน เจอกับคนใหม่ ๆ ได้ในทุก ๆ วัน แต่ว่าต้องมีงาน มีครอบครัวที่ต้องดูแล มีอย่างอื่นที่ต้องโฟกัสมากขึ้น เราอาจจะต้องคัดเลือกคนที่เราสบายใจที่จะอยู่ด้วยจริง ๆ มากกว่า
แต่หนูแค่ก็ยังสนุกกับการรู้จักคนใหม่ ๆ ด้วยค่ะ ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าสังคมตัวเองจะน้อยลง แต่ว่าคนรอบตัวก็จะมีบอกว่าพอโตขึ้นเพื่อนน้อยลงจริง ๆ มันด้วยความที่ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าไม่อยากเสียเวลาอยู่กับคนที่ไม่ใช่ อันนี้ไม่ใช่แค่แฟนนะคะ หมายถึงเพื่อนที่เรารู้สึกว่าเราโตจนไม่ได้อยากปรับตัวเองเพื่อกันและกันแล้ว เรารู้ว่าเราเข้ากันไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนเธอ เธอก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนเรา เพราะฉะนั้นเราแยกย้ายกันไปเถอะ มันทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นสงบขึ้นไม่ต้องทะเลาะกัน เราก็เหลือแต่เพื่อนที่เราสบายใจดีกว่า
The People : คิดว่าการเติบโตสอนอะไรเราบ้าง
เจนนิษฐ์ : การเติบโต หลัก ๆ สำหรับหนูคือความอดทนค่ะ เรามีเรื่องที่ต้องต่อสู้มากขึ้น ต้องคิดเยอะขึ้น บางอย่างเราก็ต้องอดทนรอ ต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำอะไรโดยคิดน้อยเหมือนตอนเด็กได้ เพราะว่ามันมีผลกระทบกว้างขึ้น พอเรามีความสัมพันธ์ มีภาระหน้าที่ มีผลกระทบกับคนอื่น ๆ รอบตัวเราด้วยมากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่าการต้องมีวุฒิภาวะและความอดทนมันสำคัญที่ควบคู่มากับการเติบโตค่ะ
The People : ขอย้อนกลับไปในหนังนิดนึง ย้ายมาชุมชนนี้เพราะว่าสูญเสียคนที่รักไปเข้าใจถูกไหม แล้วในชีวิตของเจนนิษฐ์เคยสูญเสียอะไรที่เรารักแล้วทำให้เรารู้สึกดาวน์ไหม
เจนนิษฐ์ : เคยค่ะ เคยเสียคุณตาไปตอนเด็ก ๆ แต่ว่าหนูไม่ได้เสียใจ ในตอนนั้นไม่ได้เสียใจเท่าตอนนี้ค่ะ เพราะว่าตอนนั้นเป็นเด็กนิสัยไม่ดี เพิ่งมาคิดได้ตอนโตค่ะ แบบว่าทำไมเราไม่ทำดีกับคุณตามากกว่านี้ ตอนเด็ก ๆ เป็นช่วงไม่แน่ใจ ม. อะไรมัธยมแหละค่ะ หัวเลี้ยวหัวต่ออยู่พอดี กำลังแบบอื้อหือวัยต่อต้าน กำลังนิสัยไม่ดีเลยค่ะ แล้วเป็นคนสำคัญคนแรก คนในครอบครัวคนที่ 2 ค่ะ คนแรกคือยาย แต่ว่าคือตอนยายเสียเราเด็กมากจนจำไม่ได้ อันนี้คือเราจำความได้ ก็คือเป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่เสียคนในครอบครัว แต่ ณ ตอนนั้นด้วยความเอาตัวเองเป็นหลักเป็นที่ตั้งจน ก็เสียใจ ณ วันที่ไปงานศพ แต่หลังจากนั้นก็ไม่อะไร แต่ไม่รู้ทำไมเหมือนกันค่ะที่อยู่ดี ๆ โตขึ้นเราจะกลับไปคิดได้ เราจะกลับไป remind ว่า โห ณ ตอนนั้นเราเป็นคนที่แย่มาก ๆ เป็นเด็กที่นิสัยไม่ดีมาก ๆ แล้วก็รู้สึกว่าเก็บมาเป็นสิ่งที่อยู่ในใจมาตลอดจนถึงทุกวันนี้เลยค่ะ แบบไม่สามารถลืมได้
The People : มองเรื่องความตายยังไงบ้าง
เจนนิษฐ์ : อ๋อ หนูกลัวตายทุกวันเลยค่ะ ชอบ panic จะไปดูไปคิดอะไรมาก ตอนกลางคืนจะชอบกลัวตายทุกวัน เพราะว่าหนูชอบชีวิตตัวเองมาก ๆ จนไม่อยากตายค่ะ มันจะค่อนข้างตรงข้ามมาก ๆ กับคนที่รู้สึกว่า ฮือ ปล่อยฉันไปเถอะ แบบฉันตายได้แล้วอะไรอย่างนี้ บางคนอาจจะปล่อยวาง แล้วรู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตมาเต็มที่แล้วอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่หนู หนูยังเอนจอยกับการใช้ชีวิตและยังมีอะไรใหม่ ๆ ที่ตั้งตารอคอยให้เกิดขึ้นในชีวิตจนหนูไม่อยากตาย หนูก็เลยกลัวตายทุกวันเลย
The People : อันนี้เป็นเรื่องที่เคยบอกกับคนรอบข้างไหม
เจนนิษฐ์ : บอกบ่อยค่ะ คือใช้ความกลัวตายเป็นการขับเคลื่อนชีวิตเหมือนกันค่ะ เพราะว่าถ้าพรุ่งนี้เราตายเราอาจจะไม่ได้ทำแล้วนะ เพราะฉะนั้นไปเหอะ ทำเถอะค่ะ ถ้าอยากทำอะไรจะต้องทำให้ได้ค่ะ
The People : มีอะไรที่เราอยากทำให้ได้มาก ๆ ก่อนที่เราจะตาย
เจนนิษฐ์ : เนี่ยค่ะอยากรวย เดี๋ยวตายก่อนได้ใช้เงิน อยากรวยแล้วทันใช้เงินด้วย เออใช่ อยากรวยทันใช้เงิน แล้วก็ทันให้แม่ให้ป๊าด้วย
The People : ถ้าเกิดให้เขียนบันทึกไดอารี่ก่อนที่จะจากโลกนี้ไป เราอยากจะเขียนอะไรให้คนที่ได้มาอ่านไดอารี่เล่มนี้เห็นว่านี่คือคนที่ชื่อเจนนิษฐ์ที่เคยมีตัวตนอยู่บนโลกนี้
เจนนิษฐ์ : หนูน่าจะเล่าชีวประวัติตัวเองค่ะ เพราะหนูว่าประวัติการใช้ชีวิตตัวเองก็ค่อนข้างไปสุดอยู่เหมือนกัน อาจจะเล่าทั้งพาร์ตที่คนอาจจะรู้จัก แล้วก็เติม perspective ของตัวเองไปด้วยว่าสิ่งที่คนเขามองเรา เราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่า เรารู้สึกอะไรบ้าง ก็คงเขียนเติม ๆ เข้าไปด้วยค่ะ …แค่ชีวิตตัวเองก็น่าจะยาวมากแล้ว ทั้งเรื่องงาน ทั้งเรื่องเพื่อน เรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว คือมันเยอะมากเลย หนูน่าจะอยากเล่าอะไรแบบนี้ลงไปในไดอารี่ให้หมดเลยค่ะ
The People : ยกมา 1 พาร์ตของชีวิตเล่าให้เราฟังตอนนี้เจนนิษฐ์อยากเล่าอะไร
เจนนิษฐ์ : เยอะจัง ถ้าเป็นพาร์ต ก็คงจะต้องเป็นพาร์ตมัธยมที่ไม่ค่อยมีใครได้เห็น ไม่ค่อยมีใครรู้ แต่ว่าหนูแบบ หนูชอบโดดเรียนมาก หมายถึงหนูให้ความสำคัญกับกิจกรรมมากกว่าเรียน เพราะฉะนั้นหนูจะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องเรียน แต่ว่ายังรอดอยู่ ยังไม่ให้กระทบ คือด้วยความที่ห้องหนูเป็นห้อง Gifted วิทย์คณิตค่ะ เราไม่มีสิทธิ์เลือกชมรมด้วยซ้ำ ชมรมคนอื่นเขาแบบ…ทำอะไรก็ได้ ชมรมเต้น ชมรมกีฬา แต่เรามีให้เลือกแค่วิทย์กับคณิต แล้วหนูเศร้ามาก เพราะหนูรู้สึกว่าเราเรียนเยอะพอแล้ว คือห้องหนูเรียน 12 คาบ คือเรียนคนอื่นเขากลับบ้านแล้ว หนูคือพักกินข้าวแล้วมาเรียนต่อ กลับบ้านถ้าโปรเจกต์ไม่เสร็จกลับ 2 ทุ่มอะไรอย่างนี้
ก็รู้สึกว่าฉันเรียนวิทย์คณิตเยอะมากพอแล้ว ชมรมยังต้องมาเรียนอีกเหรอ หนูก็เลยขอหัวหน้าห้องค่ะ คือทุก ๆ ห้องเขาจะมีตัวแทนก็คือหัวหน้าห้องที่จะเป็น เข้าไปเป็นสภานักเรียน แล้วก็จะได้ทำกิจกรรมที่ดูแบบดูดี เราจะมีเข็มสภานักเรียนติดด้วย เราจะดูมียศ แล้วเราก็จะไม่ต้องเรียนด้วย จะเข้าประชุมกับสภาแทนว่าเดี๋ยวโรงเรียนเทอมนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะมีกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วหนูก็เลยไปขอหัวหน้าห้องในทุก ๆ ปีค่ะว่าเรารู้ว่าเธอชอบเรียน เราขอเป็นสภานักเรียนแทนได้ป่ะ แล้วหนูก็เข้าสภานักเรียนทุกปี แล้วหนูก็ไม่ต้องเรียนวิทย์คณิตอีกเลยค่ะ แบบว่าก็น่าจะ win-win นะเรารู้ว่าเธอชอบเรียน แต่เราไม่ชอบไง เราขอเป็น คือไม่ได้เป็นหัวหน้าห้อง แต่เป็นสภานักเรียนค่ะ
The People : อย่างนี้พอจากเด็กต่างจังหวัดมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ มันเปลี่ยนยังไงบ้าง
เจนนิษฐ์ : หนูเคยนึกภาพด้วยว่าถ้าหนูไม่ได้เข้ากรุงเทพฯ หนูอาจจะใช้ชีวิตค่อนข้างเละเทะเหมือนกัน แต่อาจจะได้เป็นเจ้าของกิจการต่อจากป๊า คือธุรกิจส่วนตัวที่เพชรบุรีค่ะ อาจจะไม่ หนูอาจจะ Live ขายของใน TikTok อยู่ตอนนี้ โปรโมทร้านตัวเอง อาจจะไม่ได้เข้าวงการบันเทิงแล้ว เพราะว่าก็คงปักหลักอยู่ที่นู่นเลย อาจจะตั้งใจทำธุรกิจพยายามต่อยอดให้ได้มากที่สุด แต่คงไม่ได้เป็นคนที่สนุกเท่านี้ ไม่ได้เป็นคนที่ extrovert เท่านี้ คือเวลากลับต่างจังหวัดหนูจะรู้สึกว่าตัวเอง Slow life แล้วก็รักความสงบมากกว่าออกไปเที่ยวค่ะ ด้วยสภาพแวดล้อมบรรยากาศด้วย คงเป็นคนเฉื่อย ๆ ชา ๆ กว่านี้
The People : เละเทะกว่านี้คือยังไง
เจนนิษฐ์ : ด้วยสภาพแวดล้อมที่เห็นว่าสุดท้ายแล้วเพื่อนที่พอจะมีกำลังทรัพย์ทุกคนของหนูสุดท้ายก็เข้าเรียนกรุงเทพฯ กันหมดค่ะ เพราะว่าด้วยคุณภาพการศึกษาใด ๆ มันไม่ได้จริง ๆ หรือด้วยโอกาสในการหางาน อาชีพมันก็น่าจะน้อยกว่าเยอะเลยค่ะถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ เลยรู้สึกว่าคงไม่ได้ประสบความสำเร็จพอที่จะมาเจอสังคมที่สามารถตีกรอบให้เราอยู่กับร่องกับรอยได้ค่ะ
The People : คือเราเคยวาดฝันไหมว่าโตขึ้นมาเราอยากจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบนี้ อยากมีบ้านแบบนี้ อยากไปเที่ยวต่างประเทศ เคยฝันไหมว่าโตขึ้นอยากจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน
เจนนิษฐ์ : หนูแค่คิดพื้นฐานเลยคือถ้าป่วยแล้วสามารถ ไม่ต้องนั่งกังวลว่าจะมีเงินพอค่ารักษาไหมค่ะ อันนี้คือสิ่งที่ concern ที่สุดอันดับ 1 หรือว่าสมมุติถ้าแม่ป่วยฉุกเฉินขึ้นมา หนูสามารถจ่ายให้ได้เลยแค่นี้ค่ะ เรื่องเที่ยวยังไม่ ไม่ได้ติดเที่ยวขนาดนั้นค่ะ เที่ยว ได้เที่ยวก็คงสนุกดี แต่เรื่องสุขภาพ เรื่องความมั่นคงในชีวิตมันสำคัญกว่า
The People : ทำไมเราถึง concern กับสุขภาพมาก
เจนนิษฐ์ : เพราะว่าแม่สุขภาพไม่แข็งแรงค่ะ แล้วก็ทางฝั่งครอบครัวแม่คือส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งกันหมดค่ะ เราก็มีสิทธิ์เหมือนกัน ใช่ แล้วถ้าสุขภาพไม่ดี เราก็ไม่ได้ทำอะไรที่เราชอบสักอย่างเลย
The People : โดยส่วนตัวป่วยบ่อยไหม
เจนนิษฐ์ : ไม่ค่อยค่ะ อุ๊ย แต่ตอนเป็น BNK ป่วยบ่อยมาก อาจจะนอนน้อยไปหน่อย ทำงานหนัก แต่ว่าจะ ส่วนใหญ่หนูจะป่วยแค่เรื่องเกี่ยวกับกระเพาะอาหารค่ะ คือเป็นโรคกระเพาะ หรือว่าอาหารเป็นพิษ เป็นโรคทำนองนี้ส่วนใหญ่ที่ป่วยค่ะ พวกหวัดก็จะเป็นเวลาทำงานหนักแล้วภูมิน่าจะตก แต่ป่วยยิ่งใหญ่อย่างอื่นไม่ค่อยมีนะคะ
The People : การป่วยทำให้เราหันมารักตัวเองมากขึ้นไหม เพราะเราก็ทำแต่งาน
เจนนิษฐ์ : หนูรู้สึกว่าหนูไม่ฝืนตัวเองอยู่แล้วค่ะ หนูรู้ จะคอย recheck ตัวเองตลอดว่าร่างกายตอนนี้อยู่ใน condition ปกติไหมค่ะ จะไม่ฝืนตัวเอง เพราะว่ารู้สึกว่าถ้าฝืนไปงานก็อาจจะได้ Quality ออกมาไม่เต็มที่ด้วยเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกว่าดูแลตัวเองดีพอสมควรค่ะ
The People : เป็นสิ่งที่เราตระหนักมาตั้งแต่แรกเลยในการเลือกรับงานด้วยหรือเปล่า เช็กสุขภาพตัวเองก่อนถ้าไม่ไหวเราไม่รับ
เจนนิษฐ์ : อ๋อ ไม่ได้นั่งเช็กแบบนั้น คือมันรู้ตัว ณ ตลอดเวลาอยู่แล้วค่ะว่าตอนนี้คือโอเคก็จะรับ ถ้ารู้สึกไม่ไหวก็จะพักค่ะ
The People : อยากจะขอบคุณอะไรตัวเองบ้างที่ทำให้เรารู้จักคนที่ชื่อเจนนิษฐ์ในทุกวันนี้
เจนนิษฐ์ : ขอบคุณในหลาย ๆ โอกาสที่เลือกที่จะทำ ถึงแม้ว่าตอนนั้นก็ไม่ได้มั่นใจในตัวเองค่ะว่าจะทำได้ แต่ยังเลือกทำ ถึงแม้ว่าบางอย่างก็จะล้มเหลว หลายอย่างเลยแหละที่ล้มเหลวมา แต่หนูไม่ชอบเสียดายในสิ่งที่ไม่ได้ลองทำเลยรู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่คว้าโอกาสไว้ค่ะ ขอบคุณค่ะ
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม