ตัวตน ‘ชารัด เมห์โรทรา’ เชื่อในเทคโนโลยี โลกดิจิทัล และวัฒนธรรมบริหารผ่าน ‘คน’

ตัวตน ‘ชารัด เมห์โรทรา’ เชื่อในเทคโนโลยี โลกดิจิทัล และวัฒนธรรมบริหารผ่าน ‘คน’

รู้จักตัวตนของ 'ชารัด เมห์โรทรา’ CEO คนใหม่ของดีแทค ผู้ที่หลงใหลในความเป็นเทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม ตั้งแต่เด็ก กับวิธีการบริหารในไทยที่เน้นวัฒนธรรมการให้อำนาจ 'คน' เพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างสรรค์

  • ชารัด เมห์โรทรา CEO คนใหม่ของดีแทคประเทศไทย เข้ามาบริหารตั้งแต่ปี 2020
  • แนวคิดการบริหารด้วย 'คน' สำคัญสุดเพื่อธุรกิจเติบโตและยั่งยืน ชารัด เมห์โรทรา เชื่อในอำนาจสร้างสิ่งที่แตกต่าง
  • มุมไลฟ์สไตล์ที่ ชารัด เมห์โรทรา แนะนำทั้งโยคะและร้องคาราโอเกะ วิธีเติมไอเดียและช่วยให้ไม่หมดไฟ

 

กระแสการควบรวมกิจการระหว่าง ดีแทค (dtac) กับ ทรู (TRUE) ยังอยู่ในความสนใจของประชาชน อย่างน้อยเราอาจได้เห็นบรรยากาศในการแข่งขันในธุรกิจนี้เปลี่ยนแปลงภายในปี 2023 ทั้งนี้ The People มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ชารัด เมห์โรทรา’ CEO ดีแทค ซึ่งเข้ามาบริหารงานตั้งแต่ปี 2020 เขาได้แชร์ทั้งมุมมองการคิด การใช้ชีวิต และสไตล์การบริหาร ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อเข็มทิศธุรกิจของดีแทคในอนาคต

 

ปูมหลังวัยเด็กและครอบครัว

ระหว่างที่พูดคุยกับ ชารัด เมห์โรทรา เขาได้เล่าถึงช่วงวัยเด็กตอนที่ยังอยู่ที่ประเทศอินเดีย เขาเกิดและเติบโตในรัฐอุตรประเทศทางตอนเหนือของประเทศ ห่างจากเมืองนิวเดลีประมาณ 500 กิโลเมตร ซึ่งตอนที่เขาอายุประมาณ 17-18 ปี ชารัด ได้ย้ายไปอยู่ที่ปูเน่และมุมไบ และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยปูเน่ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจ (MBA)

ช่วงเวลานั้นสำหรับ ชารัด เขาถือว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการหลายสิ่งในอินเดีย ชารัดพูดว่า “หากจะให้สรุปช่วงวัยเด็กของผมและผมเรียนรู้อะไรจากที่อินเดียก็คือ คุณจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน?”

ตัวตน ‘ชารัด เมห์โรทรา’ เชื่อในเทคโนโลยี โลกดิจิทัล และวัฒนธรรมบริหารผ่าน ‘คน’

“อย่างที่คุณทราบกันดีว่าอินเดียมีการแข่งขันที่สูงมากกับจำนวนประชากรถึง 1.3 พันล้านคน และทุกคนต่างก็มุ่งไปที่การเรียน การศึกษา และอื่น ๆ อีกมากมาย ขณะเดียวกัน (ส่วนที่ 2) ผมมองว่าเป้นเรื่องของ ‘พลังของความสัมพันธ์’ ซึ่งมันสำคัญมาก แน่นอนผมอาศัยอยู่ในครอบครับขนาดใหญ่ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับวัฒนธรรมของไทย”

ดังนั้น พลังแห่งความสัมพันธ์ที่ ชารัด ได้พูดถึงก็คือ สิ่งที่เราเห็นด้วย – ความสำเร็จ – การเรียนรู้ ช่วงที่เขายังอยู่ที่อินเดียเขาเรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่นและพยายามหาโซลูชั่นกับทุกอย่าง และนั่นคือนิสัยบางอย่างของ CEO ดีแทคที่ได้แชร์กับเรา

ปัจจุบัน ชารัดอยู่กับครอบครัวที่เมืองไทย กับภรรยาและลูกสาว 2 คน (เขาออกจากอินเดียได้กว่า 10 ปีแล้ว) โดยลูกสาวคนโตกำลังจะเรียนปี 2 ที่ออสเตรเลีย

สำหรับ ชารัด เขาดีใจที่ได้มาอยู่เมืองไทย สยามเมืองยิ้มและยังเป็นประเทศเมืองพุทธที่ 3 ตั้งแต่ที่เขาทำงานมา เขายังพูดอีกว่า “พวกเรารักวัฒนธรรมไทย เพราะเราก็มาจากพื้นเพภาษาสันสกฤตเช่นกัน วัฒนธรรมที่นี่ ผู้คนหลากหลาย หลายเรื่องมีความเกี่ยวโยงกับแม่น้ำ ที่สำคัญอาหารอร่อยมาก”

 

มุมประสบการณ์ทำงาน

ปัจจุบัน ชารัด อยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมาเกือบ 30 ปีแล้ว ซึ่งเขาทำงานในหลายบริษัทในเอเชีย เริ่มทำงานที่ Ericsson อินเดีย จากนั้นเขาได้เป็นผู้บริหารระดับภูมิภาคของ Aircel จนไปถึงที่ Telenor เมียนมา กับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด

สิ่งที่ ชารัด บอกกับเราก็คือ “ผมคิดว่าสิ่งที่ผมคอยสังเกตมาตลอด และมองว่าเป็นสิ่งที่ให้ผมประสบความสำเร็จก็คือ เรื่องของผู้คน”

ตัวตน ‘ชารัด เมห์โรทรา’ เชื่อในเทคโนโลยี โลกดิจิทัล และวัฒนธรรมบริหารผ่าน ‘คน’

“คุณไม่สามารถแยกความแตกต่างของเทคโนโลยีได้เพราะส่วนใหญ่ก็คล้ายกัน คุณไม่สามารถแยกความแตกต่างของสินค้าและบริการหลาย SKU ได้เพราะคลายกัน แต่ ‘คน’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นดีขึ้น แต่ละคนจะมีบางสิ่งที่แตกต่างกันแต่ผลลัพธ์คือทำให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน ดังนั้น นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา”

“ส่วนที่ 2 คือ ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งหากคุณยอมรับมันตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณจะยิ่งเก่ง ยิ่งดีขึ้น และยิ่งอยู่ในสังคมได้ดีขึ้น”

“สำหรับผมมองว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คุณต้องยอมรับมันเพื่อที่คุณจะได้ปฏิบัติตามอย่างระมัดระวัง เพราะแน่นอนว่ามันมีประโยชน์ต่อสังคมและผู้บริโภคในปัจจุบัน และนี่คือเหตุผลว่าทำไมดีแทคถึงเริ่มทำมานานแล้ว”

ดังนั้น ทั้งหมดนี้สำหรับชารัด เขามองว่าปัจจัยที่จะสร้างให้เราแพ้หรือชนะในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งหมดมันคือ ‘การมีส่วนร่วมและการสื่อสาร’ เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนตั้งตารอความแตกต่างที่ต่างไปจากเดิม

ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ ชารัด มีความสนใจในเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรม วิศวกรรมมาตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนนี้ที่ดีแทคกำลังสนใจที่จะทำก็คือ “เราจะก้าวกระโดดอย่างไรโดยการใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ให้เทคโนโลยีเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ ผ่านความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนและเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในสังคม”

“นี่คือเหตุผลว่าทำไมคุณเห็นหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วง post COVID-19 ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ก็เพราะว่าทุกบริษัทถูกบังคับให้ต้องคิดแนวทางแบบรวมดิจิทัลเหมือนกัน”

 

ตัวตน ‘ชารัด เมห์โรทรา’ เชื่อในเทคโนโลยี โลกดิจิทัล และวัฒนธรรมบริหารผ่าน ‘คน’

 

สไตล์การบริหารแบบ ชารัด เมห์โรทรา

จากประสบการณ์ทำงานหลายบริษัทและหลายประเทศ สิ่งหนึ่งที่ ชารัด เห็นและมองว่าสำคัญก็คือ ‘คน’ เขาเชื่อในคนและการสร้างศักยภาพธุรกิจจากคน

“ผู้คน เป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถบรรลุได้ ดังนั้นสไตล์ความเป็นผู้นำของผมเป็นการเสริมอำนาจของคน เพราะพวกเขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง และเป็นไปตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของบริษัท ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าเมื่อคุณให้อำนาจแก่ผู้คน พวกเขาจะกลายเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ พวกเขากลายเป็นนวัตกรรมใหม่ เพราะเมื่อพวกเขารู้สึกถึงมันก็จะปรับขนาด อัปสเกลได้อย่างรวดเร็ว

“ดีแทค มีแผนงานที่ไม่ได้สนใจแค่เรื่องธุรกิจ แต่คำนึงถึงผลกระทบต่อความเชื่อ ต่อสังคม และความรับผิดชอบด้วย ดังนั้น ความเป็นผู้นำสำหรับผมก็คือ การให้แรงบันดาลใจแก่ทีมผู้นำด้วยเพื่อทำสิ่งที่แตกต่าง”

ที่ผ่านมาเราจะเห็นอยู่บ่อย ๆ เกี่ยวกับจุดยืนของดีแทคต่อสังคม โดยการสร้างความแตกต่าง ความเท่าเทียม และความหมายที่ดีให้กับสังคม ซึ่งชารัดได้อธิบายว่า “การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในสังคมสำหรับผมหมายถึง เราจะให้บริการทุกพื้นที่ ทั้งชนบท อนุชนบท หรือแม้แต่ในเมืองให้เท่าเทียมกันได้อย่างไร โดยจะใช้แนวทาง Digital Inclusion ของดีแทคในการริเริ่มบางอย่าง เพื่อนำมาซึ่งความหมายของการเปลี่ยนแปลง

“การเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีสำหรับดีแทค สะท้อนจากลูกค้าที่เริ่มเป็นสมาชิกของเรา เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับดีแทค จริง ๆ แล้วพวกเขายังต้องการทำบางสิ่งที่นอกเหนือจากการเชื่อมต่อ นั่นคือจุดที่ทำให้ดีแทคเข้ามาอยู่ด้านการบริการอื่น เช่น ความปลอดภัยของไซเบอร์, ประกันภัย, เกม เป็นต้น”

มุมคิดนี้เองทำให้ดีแทคแอปพลิเคชันในปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 7.6 ล้านคนที่โต้ตอบผ่านแอปฯ ในแต่ละวัน ซึ่งเป้าหมายของดีแทคก็คือ การเพิ่มยอดผู้ใช้งานให้แตะ 10 ล้านคนให้ได้

 

ดีแทค - ทรู ควบรวมผ่านมุม CEO

นอกจากนี้ ชารัด ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับดีลการควบรวมระหว่างดีแทค - ทรูด้วยว่า “เป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ผมอาจจะบอกคุณในฐานะ CEO ของดีแทคได้เพียงบางเรื่อง ซึ่งผมคิดว่าเราต้องแน่ใจว่าสิ่งที่ดีแทคทำนั้นสร้างผลกระทบเชิงบวกและสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจและสังคมได้ (ก่อนที่จะควบรวม) 

“สิ่งสำคัญคุณควรเชื่อมต่อกับลูกค้าพยายามเข้าถึงพวกเขาให้มากที่สุด ผมมองว่าบริษัทใหม่ (ดีแทค-ทรู) ควรที่จะมีจุดประสงค์เดียวกันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย สังคมไทย และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง อย่างที่คุณทราบเมื่อควบรวมกัน ทั้งสองบริษัทก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น คุณจะทำหลายสิ่งหลายอย่างได้มากขึ้นจากที่เมื่อก่อนอาจจะทำคนเดียวไม่ได้ เช่น การเรียนรู้จากประเทศอื่น”

“ผมคิดว่าในฐานะ CEO ของดีแทค การทำให้แน่ใจว่าเมื่อเราก้าวสู่บริษัทใหม่ แต่เรายังนำสิ่งดี ๆ ที่มีในดีแทคถึงมือผู้บริโภคได้เช่นเดิม สร้างความมั่นใจให้อีกฝ่ายได้ ดังนั้นที่ต้องคิดคือเราจะนำสิ่งที่ดีเข้ามาและไม่ใช่การเริ่มต้นจากศูนย์ได้อย่างไร”

สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้ระหว่างที่คุยกับ CEO ของดีแทคก็คือ ความใส่ใจและความรับผิดชอบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านดัชนี ‘THSI’ หรือหลายคนจะเรียกว่า ‘หุ้นยั่งยืน’ ก็คือ ชารัดได้อธิบายว่า “ดีแทคเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นยั่งยืนซึ่งมุ่งเน้นไปที่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

“ดีแทคยังมีการขยายความยั่งยืนนี้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว ธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม เราสนับสนุนความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างในกันและกัน รวมทั้งการเข้าถึงโลกดิจิทัลอย่างเท่าเทียม เราต้องการให้การคอร์รัปชันเป็นศูนย์ เรามั่นใจว่าดีแทคเป็นแบรนด์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนเป็นอันดับแรก”

ยังมีหลาย ๆ มุมที่ ชารัด พูดถึง โดยเฉพาะรูปแบบการทำงานและสไตล์การบริหารดีแทคในไทย ซึ่งระหว่างที่พูดคุยกับ The People เขายังแชร์เกี่ยวกับ ความสำคัญของเทคโนโลยี 5G ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้บริโภค

“5G จะนำการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายมาสู่สังคมหากทำอย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาเราอยู่ในสปีดที่ดีอยู่แล้ว ก็คือจาก  3G มาสู่ 4G ดังนั้น เรากำลังจะยกระดับไปอีกขั้นก็คือจาก 4G ไป 5G ผมมองว่า ก็น่าจะเป็นเรื่องง่ายเช่นกัน เพียงแต่คุณต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น ต้องผ่านพายุทางความคิดบางอย่างก่อน”

“แต่สิ่งที่น่าคิดมากกว่านั้นก็คือ คุณจะนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานในอุตสาหกรรมการเกษตร, โลจิสติกส์, การผลิต, เครื่องจักร, วิทยาการหุ่นยนต์ หรืออื่น ๆ ได้อย่างไร นี่คือโจทย์ที่ต้องคิด”

นอกจากนี้ ชารัด ยังไม่เห็นด้วยกับการที่หลายคนมองว่า 5G หรือแม้แต่ Metaverse เองก็ตาม อาจจะทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นได้ ซึ่งเข้ามองว่า “ผมกลับเชื่อว่า 5G จะเข้ามาเพิ่มทักษะบางอย่างให้กับผู้มีความสามารถ จากเดิมที่มีอยู่แล้วก็ทวีคูณขึ้นไปอีก ขณะที่ 5G เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คนที่อนู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะอาจไม่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ดีนัก ดังนั้น โซลูชั่นก็คือ telemedicine ซึ่งเทคโนโลยี 5G มีส่วนช่วยอย่างยิ่งต่อการพัฒนา”

ชารัด ยังอ้างข้อมูลจาก World Economic Forum ที่บอกว่ามีประชากรโลกประมาณ 3.8 พันล้านคนที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ส่วนในไทยปัจจุบันมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตราว 77-78% ซึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะเห็นว่าระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ใช่สำหรับทุกคน และยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก

ยังมีผลการศึกษาของ Telenor Asia ในสิงคโปร์ที่สุ่มตัวอย่างจากผู้ใช้ 8,000 รายในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่พบคือ 93% ของผู้ใช้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อชีวิตของพวกเขาผ่านการใช้มือถือ โดยผู้ใช้ 9 ใน 10 คนบอกว่า พวกเขาได้รับการดูแลสุขภาพ, การศึกษา และในอีกหลายด้าน

 

ฮีโร่การทำงาน

คนที่มีประสบการณ์ทำงานมากมายเหมือน ชารัด แน่นอนว่าเขาต้องผ่านอะไรมากมาก และมีบุคคลตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจมาก่อน เมื่อถามถึง ‘ฮีโร่’ ของชารัดว่าคือใคร คำตอบก็คือ ‘ผู้นำที่เคยทำงานด้วย’

ชารัดเชื่อในการเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งไม่ว่าเขาจะเคยทำงานกับผู้นำคนไหนมาก่อนล้วนเป็นฮีโร่สำหรับเขาทั้งหมด เขาพูดว่า “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือวิธีที่จะแตกต่างในทุกสถานการณ์และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงวิธีการสร้างความไว้วางใจ เพราะนั่นจะนำไปสู่การยอมรับและความนับถือจากพนักงานโดยอัตโนมัติ"

ตัวตน ‘ชารัด เมห์โรทรา’ เชื่อในเทคโนโลยี โลกดิจิทัล และวัฒนธรรมบริหารผ่าน ‘คน’

ทั้งนี้ บทสนทนานี้ยังทิ้งท้ายความน่าสนใจด้วย เคล็ดลับส่วนตัวของ ชารัด เมื่อถึงวันที่เขารู้สึกว่า ‘หมดไฟ’ ซึ่งเขามองว่า แค่บางทีเราเจอกับงานระหว่างวันที่เยอะกว่าปกติ หรือการประชุมที่ยาวนาน เราทุกคนสามารถรู้สึกหมดไฟและเหนื่อยหน่ายได้ชั่วคราว ดังนั้น เขาได้แนะนำเคล็ดลับในการเติมไฟให้ตัวเองคือ ‘การอยู่กับเพลงและร้องคาราโอเกะ’ ฟังเพลงโปรดสัก 3 เพลง และร้องคาราโอเกะสัก 2 เพลง แค่นี้ก็ช่วยให้ ชารัด รู้สึกดีขึ้นและรีแลกซ์ได้แล้ว

เขายังได้พูดถึงวิธีการเติมไฟและไอเดียให้กับตัวเองในทุกเช้าด้วย ‘โยคะ’ 1 ชั่วโมงทุกเช้า ชารัดบอกว่า โยคะและการเดินในตอนเช้าสำหรับเขาคือการเพิ่มไอเดียให้กับสมองได้ดีที่สุด

สุดท้ายเขาทิ้งท้ายด้วยการแนะนำหนังสือเล่มโปรด ‘The Monk Who Sold His Ferrari’ โดย Robin Sharma ซึ่งเป็นเรื่องราวการเดินทางและการตัดสินใจของชีวิต การทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำกรรมดี ทำเพื่อผู้อื่น ซึ่งเขาบอกว่านอกจากการดูวิดีโอเกี่ยวกับธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ อีกหนึ่งกิจกรรมที่เขาชื่นชอบก็คือ การอ่าน