‘Mitsukoshi’ ห้างญี่ปุ่น 350 ปี จุดเริ่มต้นจากคนขายผ้ากิโมโน ‘ทาคาโทชิ มิตซู’

‘Mitsukoshi’ ห้างญี่ปุ่น 350 ปี จุดเริ่มต้นจากคนขายผ้ากิโมโน ‘ทาคาโทชิ มิตซู’

การถือกำเนิดของห้างญี่ปุ่น ‘Mitsukoshi’ ที่มีจุดกำเนิดจาก พ่อค้าขายผ้ากิโมโนชื่อ ‘ทาคาโทชิ มิตซู’

KEY

POINTS

  • จากร้านขายผ้ากิโมโนแปรสภาพเป็นห้างสรรพสินค้าที่ชื่อว่า ‘Mitsukoshi’
  • การเจาะตลาดระดับบนและการนำเสนอการขายอย่างซื่อสัตย์
  • กว่าจะเป็น ‘ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของญี่ปุ่น’ 

เวลาเราพูดถึงธุรกิจเก่าแก่ สเกลเวลาสัก 100 ปี ก็น่าจะถือว่านานมากพอแล้ว แต่มีอยู่ธุรกิจหนึ่งของญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่อันยาวนานกว่านั้นมาก นานจนเหลือเชื่อเพราะมีต้นกำเนิดรากเหง้าย้อนกลับไปไกลถึงปี 1673 หรือกว่า 350 ปีที่แล้ว!

ธุรกิจที่ว่านั้น คือ ‘Mitsukoshi’ ห้างหรูระดับบนที่มีสาขาอยู่แทบทุกย่านชั้นนำในหลายเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นและในอีกหลายประเทศทั่วโลก ก่อตั้งโดย ‘ทาคาโทชิ มิตซู’ (Takatoshi Mitsui) ผู้เริ่มต้นธุรกิจอย่างเรียบง่ายแต่มีหลักคิดพื้นฐานที่ยั่งยืนจนส่งต่อมาปัจจุบันอย่างทุกวันนี้ได้

พ่อค้าขายผ้ากิโมโน

ย้อนกลับไปสมัยยุคเอโดะของญี่ปุ่น ผู้คนบางกลุ่มมีวัฒนธรรมแต่งกายด้วยชุดกิโมโนในชีวิตประจำวัน ทาคาโทชิ มิตซู (Takatoshi Mitsui) พ่อค้าขายผ้ากิโมโนได้ก่อตั้งร้าน ‘Echigoya’ ขึ้นมาในปี 1673 ที่ย่านนิฮนบาชิ กรุงเอโดะ (ปัจจุบันคือ โตเกียว) 

เขาวางจุดยืนของร้านไว้ชัดเจนโดยเจาะกลุ่มตลาดระดับบน เช่น บรรดาขุนนางศักดินา เหล่าชนชั้นนำ พ่อค้าผู้มั่งคั่ง ทำให้ร้านค้าของเขาได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ากลุ่มนี้ไม่น้อย

ความน่าสนใจคือ เขานำเสนอการขายอย่างซื่อสัตย์ที่แตกต่างจากผู้ค้าอื่นด้วยการแสดงระบุ ‘ป้ายราคา’ อย่างชัดเจน (ในยุคโบราณการค้าขายมักเป็นไปแบบต่อรองราคาตามความพึงพอใจกันเอง) 

รวมถึงขายผ้าตามคำเรียกร้องพิเศษของลูกค้า ลูกค้าอยากไปผ้าแบบไหน ยาวแค่ไหน ประณีตแค่ไหน มิตซูก็จะพยายามไปหามาให้ ปรับแต่งให้ตอบโจทย์ลูกค้ารายบุคคล เป็นการทำธุรกิจที่ “ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” มาตั้งแต่แรกนั่นเอง

มิตซูยังได้ถ่ายทอดพื้นฐานความคิดในการทำธุรกิจนี้แก่ลูก ๆ ทั้ง 6 คนของเขาเพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นให้กับสมาชิกครอบครัว ในอนาคต ลูกหลานเหลนโหลนของตระกูลอาจกระโดดข้ามสายไปทำธุรกิจอย่างอื่นก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจแห่งอนาคตในอีกนับร้อยปีข้างหน้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าธุรกิจไหน ถ้ามีพื้นฐานความคิดนี้ก็น่าจะรักษาความสำเร็จให้ยั่งยืนในระยะยาวได้

กาลเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายศตวรรษและหลายเจเนอเรชัน จากร้านขายผ้ากิโมโนสู่ห้างสรรพสินค้าหรู จาก ‘Echigoya’ สู่อาณาจักร ‘Mitsukoshi’

ห้างแรกในญี่ปุ่น

ต้นศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคปฏิรูปเมจิ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมชาติตะวันตก เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ในทุกแขนง หนึ่งในนั้นคือ ‘ห้างสรรพสินค้า’

ยุคสมัยเดียวกันนี้เอง ถือเป็นการเข้าสู่ยุคโมเดิร์นของทางร้านอย่างเป็นทางการ เพราะในปี 1904 ได้กระโดดเข้าสู่ธุรกิจรีเทล จากร้านขายผ้ากิโมโนได้แปรสภาพเป็นห้างสรรพสินค้าที่ชื่อว่า ‘Mitsukoshi’ โดยมี ‘โอสุเกะ ฮิบิ’ (Osuke Hibi) นักบริหารมืออาชีพที่มีชื่อเสียงแห่งยุคเมจิที่เป็นหัวหอกพัฒนานำพาธุรกิจเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า และถือเป็น ‘ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของญี่ปุ่น’ ซึ่งกลายมาเป็นธุรกิจเสาหลักมาจนปัจจุบัน 

ห้างสรรพสินค้าถือเป็นคอนเซปท์ที่ใหม่มากในยุคสมัยนั้น จากร้านค้าตามท้องถนนที่ต่างคนต่างอยู่ ก็ถูกรวบรวมสินค้านานาชนิดมาไว้ในที่เดียวกัน เป็นสถานที่ที่โชว์เทรนด์ใหม่ล่าสุดของสังคม และพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ผู้คนในสังคมได้ปฏิสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะ Mitsukoshi ที่ยังคงรักษาจุดยืนเดิม โดยเป็นห้างสรรพสินค้าหรูที่เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน

วางรากฐานห้างที่ควรจะเป็น

จากร้านค้า Echigoya ในนิฮนบาชิ ก็ได้ถูกแปรสภาพเป็น Mitsukoshi Nihombashi สาขาหลัก (Main Store) ของแบรนด์ในปี 1914 ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบเรเนซองส์ (Renaissance architecture) ซึ่งให้ความรู้สึกหรูหราโอ่อ่าอลังการ และเป็นห้างแรกในญี่ปุ่นที่ใส่ ‘บันไดเลื่อน’ เข้ามา ยกระดับความสะดวกสบายของลูกค้าไปอีกขั้นและเป็นภาพลักษณ์หรูหราและทันสมัย 

ทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินผ่านจะพบเห็น ‘รูปปั้นสิงโต’ (Lion Statue) ประจำการอยู่หน้าทางเข้าหลัก ซึ่งรูปปั้นสิงโตนี้ก็ได้ถูกสร้างขึ้นในปีเดียวกันโดยเป็นความพยายามเทียบชั้นเมืองใหญ่ระดับโลกอื่น ๆ เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากรูปปั้นสิงโตใต้เสาเนลสัน ในจัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar Square) ของกรุงลอนดอนนั่นเอง

แม้ตัวห้างจะเกิดเพลิงไหม้จากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (The Great Kanto Earthquake) ที่ถล่มโตเกียวในปี 1923 ห้าง Mitsuksohi ได้รับการรีโนเวตและสามารถกลับมาเปิดใหม่ในเวลาแค่ 2 ปีให้หลัง

(ปี 1935 ห้างได้รับการรีโนเวตครั้งใหญ่อีกครั้ง และในปี 2016 Mitsukoshi สาขานี้ยังได้รับเลือกให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว)

Mitsukoshi ยังเป็นผู้นำห้างในหลาย ๆ ด้าน เช่น 

  • เป็นห้างแรก ๆ ที่เพิ่มโซนร้านอาหารเข้ามา จากเดิมที่ห้างจะขายแต่สินค้าแฟชั่น (ในเวลาต่อมาได้พัฒนามาเป็น ‘เดปาจิกะ’ เช่นกัน)
  • มีการนำวัฒนธรรมการพับและห่อของแบบญี่ปุ่น มาเป็นมาตรฐานบริการห่อของขวัญในห้าง
  • ห้างแรก ๆ ในญี่ปุ่นที่ออกแบบให้เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟใต้ดินอย่างไร้รอยต่อ (เช่น สถานี Mitsukoshimae ในโตเกียว) และเกิดเป็นร้านค้าช็อปปิ้งใต้ดินขนาดย่อมตลอดทางเดิน

มีความพยายามสอดแทรกพื้นที่ห้างให้เป็นมากกว่าสถานที่ที่คนมาแค่ช็อปปิ้งซื้อของ แต่เป็น ‘พื้นที่เชิงวัฒนธรรม’ ของสังคมมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของ Mitsukoshi เช่น เพิ่มโซนนิทรรศการศิลปะ (Art exhibition) มีการจัดงานแฟชั่นโชว์ (Fashion show) หรือเปิดพื้นที่สวนดาดฟ้า (Rooftop garden) ตกแต่งแบบสวนสไตล์ตะวันตก

เรียกว่า Mitsukoshi ได้วางรากฐาน ‘ห้างยุคโมเดิร์น’ ไว้เป็นอย่างดี

ขยายไปทั่วญี่ปุ่น

แม้ห้างจะโฟกัสที่สาขา Nihonbashi Main Store ซึ่งเป็นสาขาหลักที่สำคัญและใหญ่ที่สุด แต่ Mitsukoshi ได้เริ่มขยายสาขาไปยังย่านสำคัญอื่น ๆ ทั้งในโตเกียวและเมืองใหญ่อื่น ๆ ของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น

  • เปิดสาขาชินจูกุ ปี 1929
  • เปิดสาขากินซ่า ปี 1930
  • เปิดสาขาซัปโปโร ปี 1932
  • เปิดสาขาเซ็นได ปี 1933
  • เปิดสาขามัตสึยามะ ปี 1946
  • เปิดสาขาอิเคะบุคุโระ ปี 1957
  • เปิดสาขาฮิโรชิม่า ปี 1973

และในปี 1971 Mitsukoshi บุกตลาดต่างประเทศครั้งแรกที่กรุงปารีส!

ในทุกสาขาที่ไปตั้ง Mitsukoshi ยังคงรักษาจุดยืนแบรนด์ในการเป็นห้างหรูระดับบน การตกแต่งภายในสวยงาม สินค้าใหม่ต้องมาลงที่นี่ก่อน พนักงานบริการเป็นเลิศ รวมถึงพื้นที่เชิงวัฒนธรรมภายในห้าง 

(แม้ว่าหลายต่อหลายสาขาจะปิดตัวลงในอีกหลายทศวรรษต่อมา แต่ก็ถือเป็นความพยายามขยายอาณาจักรทั้งในและนอกประเทศที่บุกเบิกมานานแล้ว)

จุดยืนตลาดระดับบน

แน่นอนว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายทศวรรษ ฟังก์ชันพื้นที่ในห้างที่กล่าวไปย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ Mitsukoshi ยังคงรักษาจุดยืนห้างหรูระดับบนมาโดยตลอด โฟกัสที่สินค้าคุณภาพสูง (Fine quality) ให้บริการแบบเซนซิทีฟต่อความละเอียดอ่อนของลูกค้า (High sensitivity) 

เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ มีการก่อตั้งแผนกกลยุทธ์ด้านข้อมูล (Data Strategy Department) ที่คับคั่งด้วยพนักงานคนรุ่นใหม่ ด้วยข้อมูลที่รอบด้านสามารถวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าได้แม่นยำ ทำให้พนักงานรุ่นใหม่อาจตัดสินใจได้ไม่แพ้ผู้บริหารรุ่นเก๋า มีการนำระบบ CRM มาใช้ตอบโจทย์ให้ลึกถึงลูกค้ารายบุคคล ทำการตลาดให้ถูกจริตลูกค้ารายบุคคลได้ลึกซึ้งขึ้น เชื่อมประสบการณ์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์

ในปี 2008 Mitsukoshi ได้ควบรวมกิจการกับเครือ Isetan และกลายเป็นกลุ่มบริษัทห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น

เดปาจิกะ

Mitsukoshi ยังเป็นห้างแรก ๆ ของญี่ปุ่นเช่นกันที่ให้ความสำคัญกับโซนร้านของกินชั้นใต้ดินของห้างมาเนิ่นนานแล้ว เป็นเอกลักษณ์สไตล์ห้างญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า ‘เดปาจิกะ’ (Depachika - デパ地下) หรือ โซนของกิน ณ ชั้นใต้ดินของห้าง 

ห้างจะตระเวนคัดเลือกร้านขนมเจ้าดัง ร้านของฝากท้องถิ่นมีชื่อเสียงมาเปิดที่นี่ ตกแต่งหน้าร้านอย่างสวยงาม ลูกค้าสามารถเลือกช็อปจบในที่เดียว

นักท่องเที่ยวที่เคยไปแวะชิมเดปาจิกะที่ Mitsukoshi ในญี่ปุ่น น่าจะทราบดีว่า ร้านแร์ไอเท็มมักจะมาเปิดที่นี่ก่อนใครเพื่อน เป็นโซนที่ครึกครื้นที่สุดของห้างเสมอ และเราเองมีโอกาสล้มละลายมากที่สุด

Mitsukoshi เยือนไทย

ตั้งแต่ 2019 เป็นต้นมา Mitsukoshi เปลี่ยนทิศทางมาโฟกัสขยายสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มกรุยทางเปิดไปแล้วที่ BGC (Bonifacio Global City) ย่านหรูหราที่สุดของกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2022

และแล้วในที่สุด Mitsukoshi ก็ได้มาเปิดสาขาแรกในเมืองไทยในรูปแบบ ‘ซุปเปอร์มาร์เก็ต’ ที่เมกะโปรเจคท์ ONE BANGKOK ในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2567 

โดยนำเสนอคอนเซปท์ความเป็นญี่ปุ่นที่ตัวเองเชี่ยวชาญอย่าง ‘เดปาจิกะ’ รวบรวมแบรนด์ชั้นนำจากญี่ปุ่นที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย มาพร้อมเอกลักษณ์วัฒนธรรมการให้บริการในแบบ Mitsukoshi ที่ถอดแบบมาจากญี่ปุ่น!

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ห้าง ๆ หนึ่งจะไปบุกเมืองที่มีผู้นำตลาดเจ้าถิ่นเดิม และชนะใจรสนิยมพฤติกรรมผู้บริโภค

อีกทั้งเมืองไทยยังเป็น ‘ตลาดปราบเซียน’ มีห้างญี่ปุ่นในอดีตที่เคยมาตีตลาดแล้ว แต่สุดท้ายต้องถอยร่นกลับบ้านเกิดไป และเป็นที่รู้กันดีว่ารีเทลห้างไทยเป็นกลุ่มธุรกิจที่แข็งแกร่งมาก ๆ และมีมาตรฐานการทำห้างที่สูงเทียบชั้นในระดับเวิร์ลคลาสอยู่หลายเจ้าเลยทีเดียว

  • การที่ Mitsukoashi เลือกเฉพาะเจาะจงในสไตล์เดปาจิกะเต็มรูปแบบ (ซึ่งน่าจะยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย) จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้เหรอไม่?
  • ผู้บริโภคจะให้ความไว้วางใจชื่อเสียงและประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของแบรนด์ Mitsukoshi มากน้อยแค่ไหน?
  • Mitsukoshi จะเรียนรู้บทเรียนจากห้างญี่ปุ่นในอดีตที่เคยมาไทยอย่างไร?

ก็ต้องรอดูกันไปต่อว่า การมาของ Mitsukoshi จะมีกลยุทธ์แก้เกมนี้อย่างไรเพื่อให้ยืนระยะในอนาคตไปได้อีกนาน.

 

เรื่อง: ปริพนธ์ นำพบสันติ

ภาพ: ภาพ ‘ทาคาโทชิ มิตซู’ จากเว็บไซต์ mitsukoshi.mistore.jp ประกบภาพห้าง ‘Mitsukoshi’ จาก Getty Images

อ้างอิง
Mitsukoshi's History
Japan’s Isetan-Mitsukoshi bets on flagships and real estate
三越伊勢丹のCRM戦略 顧客データ分析で情報発信から販売までをシームレスに
วัน แบงค็อก เตรียมเปิดตัว “มิตซูโคชิ” ฟู้ด เดสติเนชั่น ระดับเวิลด์คลาสแห่งแรกในประเทศไทย