‘เฮดี ลามาร์’ ดาราสาวที่สวยสุดในวงการหนัง สู่นักประดิษฐ์ต้นแบบแนวคิด Wi-Fi’

‘เฮดี ลามาร์’ ดาราสาวที่สวยสุดในวงการหนัง สู่นักประดิษฐ์ต้นแบบแนวคิด Wi-Fi’

‘เฮดี ลามาร์’ นักแสดงหญิงที่สวยที่สุดแห่งวงการหนัง ผันตัวมาเป็นนักประดิษฐ์ เจ้าของแนวคิดต้นแบบ Wi-Fi ที่แทบไม่ได้รับเครดิตจากความสามารถ

  • เธอหลบหนีออกจากชีวิตที่ถูกกักขังจากสามีเก่า จนมาพบกับโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันที่มอบชื่อใหม่ในวงการให้กับเธอ
  • เธอกลายเป็นนักประดิษฐ์เต็มตัว ด้วยแนวคิดป้องกันการถูกคลื่นรบกวนในช่วงสงครามโลก ได้ถูกพัฒนากลายมาเป็นต้นแบบของคลื่น Wi-Fi และ บลูทูธ ที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

คุณเคยสงสัยไหมว่า Wi-Fi ที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ มีพัฒนาการมาจากอะไร และ ใครคือผู้มีส่วนร่วมในการคิดค้น?

ภาพในหัวของทุกคนอาจจินตนาการถึงนักประดิษฐ์ที่มีผมรกรุงรัง หรือไม่ก็อาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงสักคนหนึ่ง 

น้อยคนที่รู้ว่า ‘เฮดี ลามาร์’ อดีตนักแสดงหญิงที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องจากสื่อว่าเป็น ‘หญิงสาวที่สวยที่สุดแห่งวงการภาพยนตร์’ มีส่วนอย่างมากในการคิดค้นระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน ต้นแบบคลื่นสัญญาณ Wi-Fi และ บลูทูธ ที่เราใช้กันทุกวันนี้

แต่กว่าโลกจะรู้ว่าเธอคือคีย์แมนคนสำคัญ ก็กินเวลาไป 50 กว่าปีนับตั้งแต่เธอได้คิดค้นมันขึ้นมา เรื่องราวของเธอต่อจากนี้ จะทำให้เราได้เห็นถึงความพยายามของหญิงสาวตัวเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้คน แม้ว่าโลกใบนี้จะโหดร้ายกับเธอแค่ไหนก็ตาม

สาวน้อยผู้มีใจรักในการแสดง

ย้อนกลับไปในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1914 สาวน้อย ‘เฮดวิก อีวา มาเรีย คีสเลอร์’ (Hedwig Eva Maria Kiesler) ลืมตาดูโลกขึ้นที่ออสเตรีย พร้อมหน้าตาที่สวยเด่นเป็นสง่า พ่วงมากับทักษะการเรียนรู้ที่รวดเร็ว 

เฮดีซึมซับศิลปะกับการแสดงจากแม่ของเธอ ที่เป็นนักเปียโน และเรียนรู้เรื่องสิ่งประดิษฐ์มาจากพ่อที่ทำงานเป็นผู้บริหารธนาคาร ซึ่งทำให้เธอชอบและหลงใหลในเรื่องกลไกสิ่งประดิษฐ์เป็นอย่างมาก

กระทั่งโตขึ้น เธอฝันอยากเป็นนักแสดง เฮดีในวัย 16 ปี ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน ไปเรียนการแสดงที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ทำให้ปี 1930 เธอมีโอกาสแสดงเป็นตัวประกอบในหนังที่มีชื่อว่า ‘Money on the Street’ 

ด้วยความสามารถในการแสดงที่ค่อย ๆ ฉายแวว บวกกับหน้าตาอันงดงาม ต่อมาเฮดีจึงแจ้งเกิดในหนังอีโรติกที่ชื่อ ‘Ecstasy’ ปี 1933 ด้วยชื่อในวงการว่า ‘เฮดวิก คีสเลอร์’ (Hedwig Kiesler) โด่งดังจนคิวงานแสดงถาโถมเข้ามาไม่หยุด

เสน่ห์และหน้าตาที่สวยราวกับนางฟ้า ยังทำให้เฮดีพบกับ ‘ฟรีดริช แมนเดิล’ (Friedrich Mandel) เศรษฐีรายใหญ่ผู้สนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์ และเจ้าของบริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของเยอรมัน ทั้งสองคบหาดูใจและแต่งงานกันในเวลาต่อมา

ช่วงแรก ชีวิตรักของเธอดูจะราบรื่น เวลาที่แมนเดิลต้องเดินทางไปทำธุระที่ไหนก็จะมีเฮดีอยู่ข้าง ๆ ด้วยเสมอ เธอจึงได้ใกล้ชิดคนในแวดวงนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงมากมาย ทั้งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ , เบนิโต มุสโสลินี , มาร์ติน บอร์มันน์

บทสนทนาของเหล่าผู้นำรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เธอได้เจอ ทำให้เธอเรียนรู้กลไกการทำงานของอาวุธยุทโธปกรณ์ เฮดีมักจะตั้งใจฟังและแอบจดบันทึกเอาไว้ ขณะที่คนอื่นมองว่าเธอเป็นเพียงแค่ผู้หญิงธรรมดาทั่วไปที่มีดีแค่หน้าตา ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด 

แต่แน่นอนว่าความรักย่อมมีระยะเวลาของมัน แมนเดิลกลายเป็น ‘สามีจอมเผด็จการ’ เริ่มหึงหวงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งคนติดตามเฮดีทุกครั้งเวลาออกไปข้างนอก นักแสดงสาวถูกบังคับให้เลิกเลิกรับงานแสดง เธอรู้สึกว่าตัวเองเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรง ไร้อิสรภาพ จึงเป็นเหตุผลให้เฮดีหนีออกจากคฤหาสน์ของแมนเดิลไปพร้อมกับเครื่องประดับ นับเป็นจุดสิ้นสุดชีวิตรักครั้งแรก ก่อนมุ่งหน้าสู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

ที่เมืองแห่งนี้ เฮดีได้พบกับ ‘หลุยส์ บี. เมเยอร์’ (Louis B. Mayer) โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน และผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Metro Goldwyn-Mayer’ บริษัทผลิตรายการและภาพยนตร์รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ถึงจะพบกันครั้งแรก แต่ด้วยหน้าตาที่สวยงาม ทำให้โปรดิวเซอร์คนนี้มั่นใจว่าเฮดีจะเป็นนักแสดงชื่อดังทั่วโลก ไม่รอช้า เขารีบเสนอให้เฮดีเป็นนักแสดงในสังกัด ด้วยค่าตัว 500 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์

ชีวิตใหม่บนเส้นทางนักแสดงหญิง

‘เฮดี ลามาร์’ (Hedy Lamarr) คือ ชื่อที่หลุยส์มอบให้หลังจากเธอไปสหรัฐอเมริกา เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนชื่อเพราะต้องการสร้างภาพจำใหม่ ๆ ให้กับหญิงคนนี้ในวงการ

เพราะหลังจากนั้น เธอจะไม่ใช่นักแสดงหนังอีโรติกอีกต่อไป แต่เป็นดาราสาวที่พร้อมจะเป็นดาวดวงใหม่ประดับวงการภาพยนตร์ จนปี 1938 ทันทีที่เฮดีปรากฎตัวในเรื่อง ‘Algiers’ พร้อมใบหน้าอันสวยงามไร้ที่ติ ชื่อเสียงของเธอโด่งดังรวดเร็ว ในปีเดียวกันนั้นเอง เธอได้รับการขนานนามว่า ‘Glamour Girl of 1938’ หรือ ‘หญิงที่งามที่สุดในปี 1938’

หลังจากนั้น เฮดีมีผลงานต่อเนื่อง แต่ด้วยความงามของเธอ ก็ทำให้เฮดีมักจะได้รับบทบาทเดิม ๆ เพราะผู้คนให้ความสนใจเพียงแค่หน้าตาอันสวยงาม โดยไม่ได้สนใจในทักษะการแสดง จึงทำให้เฮดีรู้สึกเบื่อหน่าย ที่ความสามารถของเธอที่ได้เรียนรู้มา กลับไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ งานอดิเรกแก้เบื่อจึงเป็นการศึกษากลไกการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ  ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้ซึมซับมาจากพ่อในตอนที่ยังเป็นเด็ก

ปีเดียวกัน เฮดีเจอ ‘ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ส’ (Howard Hughes) นักบินและนักธุรกิจ ซึ่งหลงรักในความสงสัยใคร่รู้ และความฉลาดหลักแหลมของเธอ ประกอบกับทั้งคู่มีความชอบที่เหมือนกัน เฮดีจึงตกลงแต่งงานใหม่เป็นครั้งที่ 2 กับฮาวเวิร์ด

ด้วยความที่เป็นฮาวเวิร์ดเป็นนักธุรกิจ ทำให้เฮดีได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กับบุคคลในแวดวงนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ ดูขั้นตอนการผลิตเทคโนโลยีต่าง ๆ นั่นจึงทำให้เธอได้ใช้องค์ความรู้ที่เธอมีอย่างเต็มที่

มีครั้งหนึ่งที่ฮาวเวิร์ดได้พาเธอไปเดินเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบิน ที่กำลังพัฒนาเครื่องบินรบเพื่อขายให้กับกองทัพสหรัฐ แต่ตอนนั้นเครื่องบินไม่สามารถทำความเร็วได้ถึงมาตรฐานที่กำหนด เฮดีเห็นว่าปัญหาคือรูปทรงของปีกเครื่องบิน ที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งต้านอากาศและทำให้บินได้ช้า เธอจึงช่วยออกแบบปีกเครื่องบินใหม่ โดยได้แรงบันดาลใจจากปลาที่ว่ายน้ำได้เร็วที่สุดในโลก กับเหยี่ยวที่บินได้เร็วที่สุดในโลก ปรากฏว่าเครื่องบินสามารถบินได้เร็วขึ้นจริง ๆ อีกทั้งการออกแบบนี้ ยังถูกพัฒนามาจนถึงปัจจุบันด้วย

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว ที่ความอัจฉริยะของเธอก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะหลังจากนั้นเธอยังได้คิดค้นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้อย่างแท้จริง 

แนวคิดที่เป็นต้นแบบให้กับ Wi-Fi

ปี 1940 เฮดีได้พบกับ ‘จอร์จ แอนเธล’ (George Antheil) นักประพันธ์ และนักเปียโนหัวก้าวหน้า ทั้งสองพูดคุยกันถูกคอเพราะเฮดีก็เล่นเปียโนเช่นกัน โดยหัวข้อที่ทั้งคู่หยิบยกมาพูดคุยกันนั้น เริ่มจากเรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลานั้น ซึ่งทำให้เธอเกิดไอเดียอยากจะช่วยเหลือเหล่าพลทหารที่ต้องเสี่ยงชีวิตไปกับสงคราม จึงพยายามคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือหาทางที่จะช่วยเหลือพวกเขาให้ได้มากที่สุด

เธอนึกย้อนกลับไปถึงตอนที่ยังคบกับสามีเก่า ที่พาเธอไปพบกับนักประดิษฐ์ยุทโธปกรณ์ ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ระเบิดตอร์ปิโดที่ควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ มักถูกคลื่นสัญญาณรบกวน ทำให้ทุกครั้งที่มีการยิง ลูกระเบิดจะตกไม่ตรงจุดที่ต้องการ และถูกฝั่งตรงข้ามถอดรหัสล้วงข้อมูลลับได้ 

นั่นจึงจุดประกายความคิดของเฮดีขึ้นมา เธอนำความรู้ในเรื่องของเปียโน มาผสมเข้ากับระบบคลื่นวิทยุที่เรียกว่า ‘Frequency Hopping’ โดยจะแยกคลื่นความถี่เป็นช่วงสั้น ๆ สลับไปมา คล้ายกับแพทเทิร์นของเปียโนที่มีสูงถึง 88 คีย์ ทำให้เมื่อถูกคลื่นรบกวน จะถูกรบกวนได้แค่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ตัวรับสัญญาณจะต้องมีช่วงคลื่นที่ตรงกันหรือรู้รหัสของตัวปล่อยสัญญาณ จึงจะสามารถรับคลื่นนั้นได้ ซึ่งเป็นต้นแบบแนวคิดของ Wi-Fi ที่เราใช้กันในปัจจุบัน

หลังจากที่ทั้งสองช่วยกันคิดค้นขึ้นมาได้สำเร็จ และมั่นใจว่าสามารถใช้งานได้จริง จึงได้นำไปจดสิทธิบัตร ภายใต้ชื่อ ‘Secret Communication System’ ในวันที่ 11 สิงหาคม 1942 แล้วไปเสนอความคิดนี้กับกองทัพสหรัฐเพราะคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ถูกปฏิเสธ เพราะเธอป็นเพียงผู้หญิง และทางกองทัพยังมองว่าแนวคิดเรื่องแพทเทิร์นโน้ตเปียโนเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ

10 ปีผ่านไป ในปี 1953 เฮดีได้รับสัญชาติอเมริกันและหันหลังให้วงการฮอลลีวูดมาเป็นนักประดิษฐ์เต็มตัว เธอสมัครเข้า ‘National inventors Council’ ได้สำเร็จ แต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่มีดีแค่ความสวย ไม่มีความรู้ในเรื่องกลไกการประดิษฐ์

กระทั่งปี 1960 โลกกำลังเผชิญวิกฤตสงครามเย็น กองทัพสหรัฐนำแนวคิดของเฮดีที่เธอเคยคิดค้นไว้เมื่อหลายปีก่อนมาพัฒนาและต่อยอด โดยนำมาใช้กับเครื่องทุ่นที่เครื่องบินทิ้งลงทะเล เพื่อต่อต้านเรือดำน้ำ และใช้วิจัยคลื่นเสียงใต้น้ำ เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาใช้ในปี 1962 ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา 

แนวคิดที่เฮดีจดสิทธิบัตรในปี 1942 แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปถึง 20 ปี กรอบระยะเวลาของสัญญาจึงหมดลง ทำให้เฮดีและจอร์จไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ ทั้งที่ค่าตอบแทนที่ทั้งคู่ควรจะได้รับ มีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ แต่เฮดีก็ไม่เคยเปิดเผยต่อสื่อสาธารณะว่าเธอเป็นคนคิดค้นแนวคิดนี้ และไม่เคยเรียกร้องใด ๆ

เจ้าแม่ Wi-Fi

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งประดิษฐ์นี้ใครเป็นคนคิดค้นมันขึ้นมา หรือบ้างก็คิดว่ากองทัพของสหรัฐเป็นเจ้าของไอเดียนี้ แต่ในที่สุด ความพยายามของเธอก็ได้รับการยอมรับ ในปี 1997 เฮดีและจอร์จ ได้รับรางวัล ‘Electronic Frontier Foundation’ สาขาเทคโนโลยีการแพร่กระจายสเปกตรัม และเฮดีเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘BULBIE Gnass Spirit of Achievement Bronze Award’ ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลออสการ์แห่งวงการนักประดิษฐ์ 

เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2000 เฮดี ลามาร์ ได้จากโลกนี้ไปในวัย 85  ปี ด้วยโรคหัวใจ แต่ด้วยความสามารถของเธอ และการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกใบนี้ ในปี 2014 ชื่อของเธอจึงได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศนักประดิษฐ์แห่งชาติอเมริกา ขณะที่แนวคิดของเธอที่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอด ทำให้เธอได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าแม่แห่ง Wi-Fi’ 

รวมถึงในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2015 ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 101 ปี ของเธอ ‘Google’ ได้ทำแอนิเมชั่นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเธอ ที่ออกแบบโดย ‘เจนนิเฟอร์ ฮอม’ (Jennifer Hom) เพื่อให้เกียรติแด่ดาราสาว และยกย่องถึงความสามารถของเธอที่ได้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ 

เฮดีคือหนึ่งในผู้หญิงที่พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ผู้คนบนโลกจะมองเธอแค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่เธอไม่เคยท้อถอยและมุ่งมั่นในสิ่งที่อยากจะทำ คือการช่วยเหลือผู้คน ซึ่งมันได้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้อย่างแท้จริง 

“คุณอาจจะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่เคยเข้าใจ หรือไม่ปรบมือชื่นชมให้กับความสำเร็จของคุณ แต่คุณจงทำมันต่อไป เพราะการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มันจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ และคุณจะพบกับความหมายของชีวิต”

 

เรื่อง : กรัณย์กร วุฒิชัยวงศ์ (The People Junior) 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง

Hedy Lamarr - Hollywood Beauty and Mother of Wi-Fi

The Role of Women in Technology: Hedy Lamarr, The Mother of Wi-Fi

Hedy Lamarr 1914–2000 By Colleen Cheslak | 2018

Google Doodle Honors Actress and Inventor Hedy Lamarr

Hedy Lamarr - Actress Turned Top Scientist WW2 - Forgotten History

The brilliant mind of Hollywood legend Hedy Lamarr

Hedy Lamarr หญิงงามที่สุดในโลก "มารดาแห่งไวไฟ" | โดย ฟาโรห์ | Behind History EP.11