เจฟฟรีย์ ฮินตัน: เจ้าพ่อเอไอ ลาออก Google เพื่อให้โลกรู้ว่าปัญญาประดิษฐ์อาจเป็นภัยต่อมนุษย์

เจฟฟรีย์ ฮินตัน: เจ้าพ่อเอไอ ลาออก Google เพื่อให้โลกรู้ว่าปัญญาประดิษฐ์อาจเป็นภัยต่อมนุษย์

เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) เจ้าพ่อเอไอ ตัดสินใจลาออกจาก Google บริษัทที่เขาทำงานมานานนับทศวรรษ เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าปัญญาประดิษฐ์อาจกลายเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ

  • เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) ชายผู้ได้รับฉายา เจ้าพ่อเอไอ ประกาศลาออกจาก Google หลังจากมองเห็นเค้าลางว่าปัญญาประดิษฐ์อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะต่อมนุษยชาติ
  • ดร.ฮินตัน สนใจการทำงานของสมองมนุษย์มาตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย เป็นเหลนของนักคณิตศาสตร์ชื่อดังอย่าง แมรี และ จอร์จ บูล (George Boole) ผู้คิดค้นพีชคณิตแบบบูล  (Boolean algebra)
  • หลังจากเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ในช่วงปี 1980 เขาก็ลาออกไปอยู่ที่ประเทศแคนาดา เนื่องจากได้รับข้อเสนอจากเพนตากอนให้พัฒนาเครื่องจักรสังหาร

หลังจาก ‘เจฟฟรีย์ ฮินตัน’ (Geoffrey Hinton) ชายวัย 75 ปีผู้ได้รับฉายาว่า ‘เจ้าพ่อเอไอ’ ประกาศลาออกจาก Google ก็สร้างความหวั่นวิตกไปทั่ววงการเทคโนโลยี เพราะเขาไม่ใช่แค่ชายเลยวัยเกษียณ หากแต่เป็นผู้กรุยทางให้มนุษยชาติรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสุดล้ำที่ต้องยอมรับว่า ยิ่งนานวันเข้า สมองกลเหล่านี้ก็ยิ่งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ

ถึงจะช้ำใจที่ต้องประกาศลาออกจากบริษัทที่เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจให้มานานกว่าทศวรรษ แต่ ดร.ฮินตัน กลับมองว่า หากเขาไม่ลาออก โลกอาจถึงคราวล่มสลาย

“ผมพยายามปลอบใจตัวเอง หาข้อแก้ตัวมากมายมารองรับว่าหากผมไม่ทำ คนอื่นก็คงทำอยู่ดี”

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เขาทำงานให้ Google เขาไม่เคยเผยความขุ่นเคืองใจออกสู่สาธารณะแม้แต่ครั้งเดียว เพราะเขาเชื่อมั่นว่าบริษัทที่เขามอบใจให้ สามารถควบคุมเทคโนโลยีที่เขาบุกเบิกขึ้นมา ไม่ให้พัฒนากลายเป็นภัยคุกคามต่อเพื่อนร่วมโลก

แต่โลกความจริงไม่เป็นดั่งใจฝัน ดร.ฮินตัน เริ่มมองเห็น ‘ภัยคุกคาม’ ที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่การเปิดตัว ChatGPT โดย OpenAI มาจนถึง Bard แชทบอทจากฝั่ง Google ที่เปิดตัวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นี่คือลางร้ายที่เขาเห็นอยู่รำไร

“ผมคิดว่า Google มีความรับผิดชอบสูงพอที่จะปล่อยแชทบอทตัวนี้ออกมา แต่เราก็ต้องยอมรับให้ได้ว่าในเมื่อพวกเราเกิดและโตท่ามกลางระบบทุนนิยม เราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างเสรี ระหว่าง Microsoft กับ Google ไปได้ ซึ่งผมต้องขอเล่าย้อนกลับไปหน่อยนึงละกัน

“ครั้งหนึ่ง OpenAI เคยสร้างสิ่งที่คล้ายกันแบบนี้ออกมา โดยใช้เงินจาก Microsoft และพวกเขาก็หยิบสิ่งที่สร้างขึ้นนี้ออกไปใช้ แน่นอนว่าเมื่อ Google เห็นแบบนั้น พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกมากนัก... และคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราไม่สามารถห้ามให้ทั้งสองบริษัทแข่งขันกันเอง”

ดร.ฮินตัน เกิดในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเหลนของนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ แมรี และ จอร์จ บูล (George Boole) ผู้คิดค้นพีชคณิตแบบบูล  (Boolean algebra) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของตรรกศาสตร์ เขาเริ่มสนใจการทำงานของสมองมนุษย์มาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปลาย หลังจากคุยเล่นกับเพื่อนร่วมชั้นเรื่องการจัดเก็บความทรงจำในสมองมนุษย์

เขาเชื่อว่าความทรงจำของคนเราถูกจัดเก็บไว้ในโครงข่ายประสาทที่มีอาณาเขตไม่มีที่สิ้นสุด คล้ายกับการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของโฮโลแกรม 3 มิติ ที่จะถูกกระจายไปยังฐานข้อมูลต่าง ๆ ในภายหลัง เมื่อเริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทำงานของสมอง ในไม่ช้าเขาก็ตระหนักได้ว่า ‘สมอง’ เป็นส่วนที่มหัศจรรย์ แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถไขปริศนาการทำงานของมันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ในช่วงปี 1980 ดร.ฮินตัน เป็นศาสตราจารย์ ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) แต่ลาออกจากมหาวิทยาลัย และย้ายไปยังเแคนาดา เนื่องจากลังเลที่จะรับเงินทุนของเพนตากอนในการนำมาพัฒนาเอไอ เพื่อใช้ในสนามรบ

เพราะในความคิดของ ดร.ฮินตัน เขาเชื่อว่าเทคโนโลยีควรเป็นของมนุษย์ทุกคน ทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม การนำไปพัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงไม่ใช่อุดมการณ์การทำงานของเขามาตั้งแต่ต้น

ในปี 2012 ดร.ฮินตัน และลูกศิษย์อีก 2 คนของเขา ‘Ilya Sutskever’ ชาวอิสราเอล-แคนาดาที่เกิดในรัสเซีย (อิลยาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง OpenAI) และ ‘Alex Krishevsky’ ชาวแคนาดาที่เกิดในยูเครน ได้สร้างโครงข่ายประสาทเทียมในสมอง ซึ่งในทางทฤษฏีเขาเชื่อว่า หากโครงสร้างถูกนำมาจัดเรียงอย่างถูกต้อง คอมพิวเตอร์ก็สามารถเรียนรู้และพัฒนาสติปัญญาได้เทียบเท่ากับมนุษย์

โดยเริ่มจากให้โครงข่ายประสาทเทียมวิเคราะห์ภาพถ่ายหลายพันใบ และสอนให้พวกมันระบุวัตถุทั่วไป เช่น ดอกไม้ สุนัข และรถยนต์

“ในทางวิทยาศาสตร์ คุณสามารถทดลองทำสิ่งบ้า ๆ บอ ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งที่ถูกหาว่าบ้าพวกนี้แหละ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของโลก”

ผลจากการทดลองทำให้ ดร.ฮินตัน และลูกศิษย์ทั้งสองคน ได้รับรางวัล Turing Award ซึ่งมักเรียกกันว่าเป็น รางวัลโนเบลสาขาคอมพิวเตอร์

นี่คือก้าวย่างอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ แน่นอนว่าช่วงแรก ดร.ฮินตัน คิดเช่นนั้น แต่ยิ่งนานวันเข้า เขากลับยิ่งรู้สึกทุกอย่างผิดที่ผิดทางไปหมด ไม่ใช่เพราะเขาแก่จนเลอะเลือน แต่เพราะเขาเริ่มคิดได้ว่า นี่อาจเป็นจุดจบของมนุษยชาติ หากมนุษย์เรายังหวังพึ่งเทคโนโลยีโดยไม่คิดที่จะพัฒนาตัวเอง

“เท่าที่ผมสามารถบอกได้ตอนนี้ก็คือ พวกมันยังไม่ฉลาดเท่าเรา แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน พวกมันจะฉลาดกว่ามนุษย์”

อีกหนึ่งความกังวลของ ดร.ฮินตัน คือ เขากลัวว่าช่องว่างระหว่างชนชั้นจะยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ คนจนยิ่งจนลง ส่วนคนรวยจะยิ่งเพิ่มพูนความมั่งคั่ง ตราบเท่าที่พวกเขามีปัญญาประดิษบ์อยู่ในมือ

“ผมกังวลว่าเอไอ จะทำให้คนจนยิ่งจนลง ส่วนคนรวยจะยิ่งรวยขึ้น... ผมว่าในไม่ช้าสังคมเราจะยิ่งมีความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งในมุมมองของผม เทคโนโลยีมันควรจะเป็นตัวลดความเหลื่อมล้ำ มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ สวยงาม และน่าชื่นชม แต่พวกมันกลับถูกพัฒนาเพื่อสนองความต้องการของคนกลุ่มเดียว ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม”

เจ้าพ่อเอไอ ยังเกรงว่าอนาคตอินเทอร์เน็ตจะเต็มไปด้วยภาพถ่าย วิดีโอ และข้อความอันเป็นเท็จ และคนทั่วไป อาจจะไม่สามารถแยกออกได้ว่าข้อมูลที่พวกเขาได้รับนั้น คือความจริงหรือเป็นเรื่องหลอกลวง

และอีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือ เอไอจะเข้ามาแทนที่ตลาดแรงงานได้ในไม่ช้า เห็นได้ชัดจาก ChatGPT ที่สร้างความฮือฮามานักต่อนัก ไม่ว่าจะช่วยเขียนงานวิจัย เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งพวกมันทำได้อย่างยอดเยี่ยม จนมนุษย์อาจต้องดิ้นรนเพื่อหาอาชีพอื่นมารองรับ

“มันทำให้งานจิปาถะหายไป ถึงจะต้องใช้เวลานานกว่าที่พวกเราจะเริ่มเห็นผลของมัน แต่ผมว่ามันไม่นานเกินรอนักหรอก”

ดร.ฮินตัน ยังกังวลอีกว่าเทคโนโลยีรุ่นถัดไป อาจเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติครั้งใหญ่ เพราะพวกมันได้เรียนรู้พฤติกรรม และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์มาหลายต่อหลายรุ่น ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็น หุ่นยนต์รบสมองกล หรือ ทหารหุ่นยนต์ ออกปฏิบัติการตามพื้นที่ต่าง ๆ

และนี่จะกลายเป็นข้อพิพาทความขัดแย้งครั้งใหญ่ของมนุษย์ ประเทศใดก็ตามที่มีกำลังมากพอ พวกเขาจะถือครองเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่า และเมื่อเวลานั้นมาถึงทหารหุ่นยนต์เหล่านี้จะนำความย่อยยับมาสู่เผ่าพันธุ์มนุษย์

ฉะนั้น ความหวังของ ดร.ฮินตัน จึงตกไปอยู่ที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เขาหวังเพียงแค่ว่า อยากเห็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกร่วมมือกันควบคุมเทคโนโลยีที่อาจผันเปลี่ยนเป็นภัยคุกคามในอนาคต

“ผมไม่คิดว่าบริษัทหรือว่าประเทศต่าง ๆ ควรจะพัฒนาเทคโนโลยีให้มากไปกว่านี้ จนกว่าจะเข้าใจว่า พวกเขาสามารถควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้ได้จริง”

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า เขาครุ่นคิดถึงการกระทำของตัวเองอยู่ทุกวัน จนตกตะกอนได้ว่าเขาไม่เคยเสียใจแม้แต่ครั้งเดียวที่พัฒนาเอไอขึ้นมา เพราะสุดท้ายแล้ว เทคโนโลยีจะดีหรือแย่ ล้วนขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน ซึ่งก็คือมนุษย์ผู้ประดิษฐ์และใส่สติปัญญาให้พวกมัน

 

อ้างอิง

https://www.nytimes.com/2023/05/01/technology/ai-google-chatbot-engineer-quits-hinton.html

https://www.ft.com/content/c2b0c6c5-fe8a-41f2-a4df-fddba9e4cd88

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-65452940

https://www.historyofdatascience.com/geoffrey-hinton/