หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ‘กกต.’ คนแรก จัดเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายพอใจ ผู้มาก่อนกาล-จากไปก่อนเกิด

หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ‘กกต.’ คนแรก จัดเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายพอใจ ผู้มาก่อนกาล-จากไปก่อนเกิด

‘หลวงเทศาจิตรวิจารณ์’ ขุนนางผู้ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเมื่อพ.ศ. 2435 สมัยรัชกาลที่ 5 มีบทบาทเทียบเคียงกับ ‘กกต.’ สมัยปัจจุบัน ขณะที่ขุนนางท่านนี้จัดเลือกตั้งให้หลายฝ่ายพอใจ แต่ชื่อ ‘หลวงเทศาจิตรวิจารณ์’ ไม่ได้จารึกในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยมากนัก

  • การเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อ พ.ศ. 2435 มี ‘หลวงเทศาจิตรวิจารณ์’ เป็นขุนนางผู้จัดการการเลือกตั้ง เทียบเคียงได้กับบทบาท ‘กกต.’ ในปัจจุบัน 
  • บทบาทและเรื่องราวของ ‘หลวงเทศาจิตรวิจารณ์’ ไม่ค่อยปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยมากเท่าที่ควร ทั้งที่ ‘หลวงเทศาจิตรวิจารณ์’ จัดการเลือกตั้งออกมาเป็นที่น่าพอใจต่อทุกฝ่ายในภาพรวม

‘ฤาษีแปลงสาส์น’ กับการเลือกตั้งแบบไทย 

การทำงานของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งในระยะหลังมานี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบกันมาก เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนและไม่ควรจะมีอย่างการที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิลงคะแนน ต่างต้องคอยจับจ้องว่ากกต. จะประพฤติเยี่ยง ‘ฤาษีแปลงสาส์น’ ทำให้ผลคะแนนไม่เป็นไปอย่างสอดคล้องกับเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ 

พระฤาษีที่ไปแปลงเนื้อความในพระราชสาส์นที่นางยักษ์มอบให้พระรถเสนถือเดินป่าฝ่าดงไปหานางเมรีนั้น ต่างจากการแปลงสาส์นที่หลายคนไม่อยากเห็นกกต.ทำ เพราะการแปลงสาส์นของพระฤาษีนอกจากช่วยชีวิตพระรถจากการไม่ถูกยักษ์จับกินแล้ว ยังช่วยให้พระรถได้นางเมรีเป็นเมีย ประหนึ่งพระฤาษีกระทำตนเป็นกามเทพแผลงศร ทำให้พระฤาษีเป็นผู้มีคุณอย่างใหญ่หลวงต่อพระรถเสน แม้ว่าท้ายสุดความสัมพันธ์รักระหว่างพระรถเสนกับนางเมรีจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรมก็ตาม      

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า การจัดการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศการเมืองที่เผด็จการจากรัฐประหารยังคงมีอำนาจเป็นใหญ่เป็นโตอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นเรื่องยากจนแทบเป็นไปไม่ได้มากขึ้นไปอีก

แต่ทราบหรือไม่ว่า มีการจัดการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศสังคมการเมืองที่ยากกว่านี้อีกไม่รู้กี่เท่า แต่กลับผ่านมาได้ด้วยดี อย่างเช่นการเลือกตั้งภายใต้ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ร.ศ.111 (พ.ศ.2435) ณ แขวงบางปะอิน จ.กรุงเก่า (บริเวณ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน) ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ครั้งแรกในสังคมไทยสยาม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและอำนวยความสะดวกโดยคณะราษฎร เหตุที่ไม่ได้มีการจัดการเลือกตั้งตั้งแต่ปีแรกที่มีการอภิวัฒน์ ก็เพราะนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการสรรหาของคณะราษฎร เพื่อหวังสร้างความปรองดองกับคณะเจ้า จึงได้เลือกเชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ให้มาเป็น (นายกรัฐมนตรี) แต่ปรากฏว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่เพียงมิได้ทำตามสัญญา พระยามโนฯ ยังได้กระทำรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยเป็นคนแรกอีกด้วย โดยการประกาศพระราชกฤษฎีกาล้มล้างรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐสภา และจะถวายคืนพระราชอำนาจ

นายทหารฝ่ายคณะราษฎรนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) จึงต้องทำการยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 แต่แม้พระยามโนฯ จะพ่ายแพ้ไป ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ยังมีอีก ‘ไอเท็ม’ หนึ่งคือการก่อสงครามกลางเมือง โดยพระองค์เจ้าบวรเดชกับหลวงสิทธิสงครามได้นำกำลังทหารจากหัวเมืองบุกเข้ามายังพระนครตามแผนยุทธการ ‘ล้อมกวาง’  

แต่ทว่า ‘กวาง’ กลับกลายเป็น ‘เสือ’ เมื่อทราบข่าวว่ามีทหารจากหัวเมืองนำโดยเจ้านายในระบอบเก่า ยกมาจะโค่นล้มรัฐบาลคณะราษฎร ประชาชนได้ออกมาสนับสนุนคณะราษฎรเป็นอันมาก คนหนุ่มที่เป็นทหารกองเกินต่างทยอยเข้ามารายงานตัวทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลา ทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีทั้งกำลังคนและขวัญกำลังใจ จนสามารถปราบปรามฝ่ายกบฏลงได้อย่างราบคาบ

หลังจากนั้นอีกราว 1 เดือนต่อมา คณะราษฎรจึงสามารถจัดการเลือกตั้งครั้งแรกได้ตามที่เคยประกาศเป็นหลักการเอาไว้ 

การเลือกตั้งหลังการอภิวัฒน์ 2475 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ผ่านไปได้ด้วยดี จึงทำให้เกิดมีมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ หรือ ‘ส.ส.’ ประชาชนนิยมเรียกว่า ‘ผู้แทน’ และมนุษย์พันธุ์ใหม่เหล่านี้ต่อมาก็ได้โหวตเลือกให้พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่นทำให้พระยาพหลฯ เป็นผู้ได้รับเกียรติยศในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง’  

แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งแรกตามลำดับไทม์ไลน์  แม้จะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติเพื่อเลือกผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก แต่ในระดับท้องถิ่นสยามก็เคยมีการจัดการเลือกตั้งมาก่อนคือการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 ณ แขวงบางปะอิน จ.กรุงเก่า 

การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวนี้ (10 สิงหาคม 2435) ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงเท่าไหร่ แม้แต่ในวงวิชาการก็ไม่พบงานศึกษาอย่างเป็นระบบเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476     

 

สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามกับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก  

ร.ศ.111 (พ.ศ.2435) นั้นนอกจากเป็นศักราชแรกที่มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในสยามแล้ว ยังเป็นศักราชแรกของอีก 2 สิ่งอย่างควบคู่กันคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) กับ การปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง 

ดังนั้น การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 จึงเกิดขึ้นและดำเนินไปภายใต้บรรยากาศสังคมการเมืองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 แม้จะเป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเพื่อเฟ้นหากำนันและผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น แต่เป็นการเลือกตั้งในยุคที่ชนชั้นนำสยามยังปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความน่าสนใจในแง่ว่า หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ (เส็ง วิรยศิริ) ผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นผู้ควบคุมดูแลและอำนวยความสะดวก (อย่างที่เทียบเคียงบทบาทได้กับ กกต. ในช่วงหลัง

กล่าวง่าย ๆ คือ หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ เป็นกกต. ในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 หรือจะถือว่าคุณหลวงท่านนี้เป็น ‘กกต.คนแรกของสยามประเทศไทย’ ก็ว่าได้)

แม้จะเป็นการเลือกตั้งเล็ก ๆ ในระดับท้องถิ่น แต่ปรากฏว่าการทดลองจัดการเลือกตั้งอย่างที่หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ได้ดำเนินการที่แขวงบางปะอินนั้นประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างให้แก่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่อื่น ๆ ขยายจนทั่วประเทศในเวลาต่อมา จนเมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหลัง 2475 กล่าวได้ว่าราษฎรประชาชน ณ พ.ศ.นั้น (2476) ไม่ใช่ราษฎรที่ไม่รู้จักการเลือกตั้งมาก่อนเลย

หากนับช่วงเวลาจากวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 แล้ว ก็จะเป็นเวลากว่า 41 ปี ที่ราษฎรในระดับท้องถิ่นเคยรับรู้และสัมผัสกับการใช้สิทธิใช้เสียงลงคะแนนเลือกตั้งกันมา    

โดยที่ไม่อาจล่วงรู้ว่า หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ผู้นี้ได้สร้างคุณูปการให้แก่คณะราษฎร การอภิวัฒน์ 2475 ตลอดจนระบอบประชาธิปไตย เพราะได้เสียชีวิตไปก่อนหน้าที่จะเกิดการอภิวัฒน์ 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 ได้ทำให้ราษฎรสัมผัสกับรูปแบบวิธีการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก่อนการเกิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง   

คำถามก็คือ หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ได้จัดการเลือกตั้งที่ไม่เคยมีมาก่อนในสยามอย่างไร ถึงได้ผลเป็นที่พอใจทั้งต่อชนชั้นนำและราษฎรผู้ออกมาใช้สิทธิใช้เสียง?                     

 

ความสั่นสะเทือนหลายระดับจากกรณีคณะร.ศ.103

ก่อนหน้าร.ศ.111 (พ.ศ.2435) มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นนำสยามยุคนั้น มีความเกลียดชังต่อระบอบประชาธิปไตยแค่ไหน อย่างไร จากกรณีที่เจ้านายและขุนนางที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อร.ศ.103 (พ.ศ.2427) ได้ร่วมกันเข้าชื่อและแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองพร้อมทั้งได้เสนอแนะแนวทางการเปลี่ยนแปลงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

คณะร.ศ.103 นี้ประกอบด้วยเจ้านายและขุนนาง 11 คน ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์, พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต, พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ, พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, นายนกแก้ว คชเสนี (พระยามหาโยธา), หลวงเดชนายเวร (สุ่น สาตราภัย), บุศย์ เพ็ญกุล (จมื่นไวยวรนาถ), ขุนปฏิภาณพิจิตร (หุ่น), หลวงวิเสศสาลี (นาค), นายเปลี่ยน, สัปเลฟเตอร์แนนสะอาด เป็นต้น 

แม้ว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะเคยชี้แจงว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ใน ‘คำกราบบังคมทูล ร.ศ.103’ นั้น พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณเป็นผู้ออกความเห็นส่วนใหญ่ ส่วนพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นแต่เพียงผู้ร่างคำกราบบังคมทูลและเป็นผู้นำส่งเป็นจดหมายสำหรับทูลเกล้าฯ เท่านั้น แต่ราชสำนักรัชกาลที่ 5 ก็มองว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำกราบบังคมทูลดังกล่าว เมื่อได้อ่านพิจารณาคำกราบบังคมทูลของคณะร.ศ.103  ปรากฏว่าทรงพระพิโรธต่อคณะร.ศ.103 โดยเฉพาะพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นอย่างมาก 

คลิกอ่านเพิ่มเติมเรื่อง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เจ้านายตกอับ ไม่ใช่เพราะขอรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาของคำกราบบังคมทูลฯ เริ่มต้นกล่าวถึง ‘ภัยอันตราย’ ต่อบ้านเมืองที่จะเกิดจากการรุกรานของเจ้าอาณานิคมตะวันตก และแนวทางการปรับปรุงแก้ไขการปกครองบ้านเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงภัยอันตรายดังกล่าวนี้ โดยหยิบยกกรณีญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของการปรับปรุงบ้านเมืองเมื่อเผชิญภัยอันตรายที่ว่านี้ แนวทางการปรับปรุงแก้ไขการปกครองที่คณะร.ศ.103 เสนอคือให้แก้ไขการปกครองจาก ‘แอบโซลู๊ด โมนาร์กี้’ (Absolute monarchy) ให้เป็นแบบ ‘คอนสติตูชั่นแนล โมนากี้’ (Constitutional monarchy) มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาจากการเลือกตั้ง

ชะตากรรมของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ภายหลังจากที่เสนอคำกราบบังคมทูล ร.ศ.103 เป็นอย่างไร ก็ดังที่ทราบกันดี และก็เป็นไปไม่ได้ที่หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เดินทางไปยังแขวงบางปะอิน เมื่อพ.ศ.2435 เพื่อไปจัดการเลือกตั้งนั้น จะไม่เคยรับรู้เรื่องราวและชะตากรรมของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะร.ศ.103 มาก่อน 

หลวงเทศาจิตรวิจารณ์จะตระหนักแค่ไหนว่า ชะตากรรมอย่างเดียวกับที่เกิดกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์  อาจจะเกิดขึ้นกับตนด้วยเช่นกัน หากการเลือกตั้งที่ตนต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลนั้นเกิดความผิดพลาดหรือมีปัญหาอย่างใดที่ทำให้ทรงไม่พอพระทัย แต่ปรากฏว่าไม่เพียงชะตากรรมอย่างเดียวกับที่เกิดกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะไม่เกิดกับหลวงเทศาจิตรวิจารณ์แล้ว ชีวิตราชการของหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ยังรุ่งเรืองต่อมาอีกหลายปี     

 

การขยายตัวของลัทธิอาณานิคมตะวันตกกับการปฏิรูปของสยาม

ร.ศ.103 (พ.ศ.2427) ที่เกิดเหตุการณ์กรณีคำกราบบังคมทูลฯ ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะนั้น แม้จะเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์มาได้ 17 ปีแล้ว แต่ก็เพิ่งบรรลุนิติภาวะสามารถบริหารราชกิจมาเมื่อ พ.ศ.2416 ห่างจากปีที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะร.ศ.103 เสนอคำกราบบังคมทูลฯ เป็นเวลา 11 ปี เมื่อ ร.ศ.103 นั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 31 พรรษา 

แน่นอนว่าทรงได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่จนรอบรู้ระบอบการปกครองของประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างดี แต่ระบอบ ‘คอนสติตูชั่น โมนากี้’ ที่คณะร.ศ.103 ถวายคำแนะนำนั้น ทำให้ทรงนึกย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่ทรงขึ้นครองราชย์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อพระราชบิดาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันเมื่อกลับจากเสด็จประพาสหว้ากอเมื่อพ.ศ.2411 บ้านเมืองเป็นสิทธิ์ขาดแก่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) 

จึงเข้าใจได้ว่าทำไม เพราะเหตุใด ถึงทรงไม่ปลื้มระบอบการปกครองที่กษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจ  และไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับคณะร.ศ.103 เสนอให้ปฏิรูปบ้านเมืองเป็นแบบนั้น 

ส่วนภัยอันตรายจากลัทธิอาณานิคม อันที่จริงชนชั้นนำสยามเวลานั้นกล่าวได้ว่าไม่ได้ต่อต้านอาณานิคมที่ตัวระบบแต่อย่างใดเลย หากแต่ต้องการเป็นอย่างเจ้าอาณานิคม การปฏิรูปบ้านเมืองจึงออกมาในลักษณะเป็นการลอกเลียนแบบโครงสร้างการปกครองแบบที่เจ้าอาณานิคมใช้ปฏิบัติต่อรัฐพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนั่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นในสยามหลังการปฏิรูป มีลักษณะเป็นแบบเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอาณานิคมกับประเทศที่ถูกปกครองโดยอาณานิคมตะวันตก      

และรูปแบบวิธีการการปกครองแบบหนึ่งที่ชนชั้นนำสยามเวลานั้น คิดอ่านลอกเลียนแบบเอามาใช้ภายในประเทศของตน ก็อย่างเช่น การมี ‘ตักยี’ ในระบอบอาณานิคมของอังกฤษในพม่า สิทธิพร เนตรนิยม ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวัฒนธรรมพม่า ได้ให้ความเห็นว่า ‘ตักยี’ ตรงกับ ‘ไตร์-จี’ เทียบได้กับกำนันผู้ใหญ่บ้านของไทย 

สำหรับในประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตก พวกเขารู้จักระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งกันมาเป็นเวลาช้านานก่อนที่จะมีอาณานิคมในประเทศโลกที่สาม อังกฤษมีการปฏิวัติมาตั้งแต่สมัยครอมเวลล์ เมื่อค.ศ.1688 (ตรงกับ พ.ศ.2231 ปีเดียวกับที่มีการเปลี่ยนรัชกาลจากสมเด็จพระนารายณ์มาเป็นสมเด็จพระเพทราชาในสมัยอยุธยาตอนปลาย) อเมริกามีการปฏิวัติตั้งแต่ ค.ศ.1776 (ตรงกับ พ.ศ.2319 สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กรุงธนบุรี) ฝรั่งเศสมีการปฏิวัติ ค.ศ.1789 (ตรงกับ พ.ศ.2332 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์) 

ถึงแม้ว่าจะเป็นการปกครองแบบอาณานิคม แต่เจ้าอาณานิคมตะวันตกเวลานั้นมีแนวคิดเสรีนิยมบวกแนวคิดทางศาสนาที่ต้องการให้พวกที่ยังล้าหลังป่าเถื่อนในโลกที่สาม ได้รู้จักพระเจ้าและความศิวิไลซ์ จึงยอมให้พวกชนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสเลือกตั้งผู้นำของตนเอง แต่ก็ในระดับท้องถิ่น คือระดับหมู่บ้านและตำบล เพื่อให้เกิดความสะดวกราบรื่นในการบริหารจัดการ การมีผู้นำระดับท้องถิ่นที่เป็นคนของท้องถิ่นและเข้าสู่อำนาจโดยวิธีการเลือกตั้ง สมัยนั้นจะก่อเกิดประโยชน์แก่ระบอบอาณานิคม เพราะจะได้คนของท้องถิ่นที่สื่อสารกับชาวบ้านในระดับท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดระบอบประชาธิปไตยแก่ท้องถิ่นของเจ้าอาณานิคม ก็ได้สร้าง ‘หน่ออ่อน’ ให้แก่การเกิดแนวคิดและศักยภาพในการปกครองตนเองของคนพื้นเมือง นำไปสู่การประกาศเอกราชสร้างรัฐประชาชาติในเวลาต่อมา โดยไม่รู้ตัว การถ่ายทอดการเลือกตั้งภายใต้ยุคอาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม ก็ได้ส่งผลให้เกิด ‘หน่ออ่อน’ แก่ระบอบประชาธิปไตยไทยในเวลาต่อมาเช่นกัน 

 

ร.ศ.111 (พ.ศ.2435) หมุดหมายแรกของการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์ไทย

เมื่อจะต้องมีหมู่บ้าน ตำบล ขึ้นใหม่ในระบบการปกครองแบบอาณานิคมสยาม ก็ต้องมีผู้ใหญ่บ้านและกำนันตามแบบระบบของอาณานิคมตะวันตก จึงได้เลือกให้ท้องที่บ้านเกาะ แขวงบางปะอิน (ปัจจุบันคือ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน) เป็นสถานที่ทดลองให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน 

เหตุที่เลือกท้องที่บางปะอิน ก็เพราะว่าบางปะอินเป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับนอกพระนครที่สำคัญที่สุดในเวลานั้น เป็นที่ที่ทางการควบคุมดูแลได้ไม่ยากจนเกินไป นอกจากเป็นที่เสด็จประทับสำราญพระราชหฤทัยแล้ว ยังเป็นที่ที่ทรงโปรดให้ใช้เป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะแขกบ้านแขกเมือง โดยเฉพาะพระราชอาคันตุกะที่เป็นชาวฝรั่งต่างด้าว 

กล่าวคือ บางปะอินจึงให้ประโยชน์ 2 เด้ง นอกจากเป็นที่ที่ควบคุมได้แล้ว สำหรับทางการเวลานั้นยังเป็นที่ที่จะสามารถแสดงความศิวิไลซ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวต่างประเทศได้อีกด้วย 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 จึงเป็นการเลือกตั้งที่มีสายตาของชาวต่างประเทศจับจ้องดูอยู่ด้วย เพราะเป็นย่านที่มีพระราชอาคันตุกะเดินทางมาพักและผ่านไปมาอยู่ตลอด 

อย่างไรก็ตาม บางปะอินก็มีผลในด้านกลับ เพราะหากจัดการเลือกตั้งไม่ปกติเรียบร้อย ก็จะเป็นที่อับอายแก่ชาวต่างประเทศด้วยเช่นกัน   

เมื่อเป็นบางปะอินบวกกับความต้องการที่จะอวดความศิวิไลซ์ และกระทรวงแรก ๆ ที่มีบทบาทในการปฏิรูปคือมหาดไทยภายใต้บังคับบัญชาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเมื่อจะต้องจัดการเลือกตั้งในเขตจังหวัดกรุงเก่า ซึ่งสมัยนั้นอยู่มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เป็นสมุหเทศาภิบาล  

แต่ครั้นจะให้กรมขุนมรุพงษ์ฯ เป็นผู้จัดการเลือกตั้งเอง ก็ไม่เหมาะสม ที่เหมาะสมคือไม่ใช่เจ้านายชั้นพระบรมวงศานุวงศานุวงศ์ พอต้องเป็นขุนนาง ก็เลยต้องเป็นหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ขุนนางมือขวาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่สำคัญหลวงเทศาจิตรวิจารณ์เป็นขุนนางจำนวนน้อยที่รู้ภาษาอังกฤษ  สามารถพูดจาสื่อความกับชาวต่างประเทศได้ 

ตามที่เว็บไซต์ Siam Renaissance ได้นำเสนอเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หจช.) ที่เป็นบันทึกรายงานของหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ในการปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งที่บางปะอินเมื่อ พ.ศ.2435 ได้ระบุถึงรูปแบบวิธีการจัดการเอาไว้ดังต่อไปนี้:

“ในขั้นต้นทำบัญชีสำมะโนครัวบ้านที่จะจัดเป็นหมู่บ้านและตำบลก่อน เสร็จแล้วจึงลงมือจัดการตั้งผู้ใหญ่บ้านกำนันต่อไป คือ ไปจัดรวมครัวที่เป็นเจ้าของบ้านใกล้ชิดติดต่อกันราว 10 เจ้าของ เจ้าของหนึ่งจะมีเรือนกี่หลังก็ตาม รวมเข้าเป็นหมู่บ้าน แล้วเชิญเจ้าของบ้านมาประชุมกันในวัด พร้อมด้วยราษฎรอื่นๆ เมื่อถามทราบว่าใครผู้ใดเป็นเจ้าบ้านแล้วก็ให้มาร่วมกันขอให้เลือกกันในหมู่ของเขาที่มาประชุมว่าควรจะให้ใครเป็นผู้ใหญ่ สังเกจดูเขาตรึกตรองกันมาก ซุบซิบปรึกษาหารือกันเห็นจะเป็นด้วยเรื่องเกรงใจกัน แต่ในที่สุดก็ได้ความเห็นโดยมากว่าใครในพวกของเขาที่มาประชุมนั้น ควรจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็เขียนใบตั้งชั่วคราวให้เขาถือไว้ จนกว่าจะได้มีหมายตั้งออกให้ใหม่ตามทางราชการ

เมื่อได้จัดตั้งผู้ใหญ่บ้านได้พอสมควรที่จะจัดตั้งเป็นตำบลไว้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้ไปประชุมที่ศาลาวัดพร้อมด้วยราษฎรในท้องที่นั้น เชิญผู้ใหญ่บ้านในตำบลที่ข้าพระพุทธเจ้าให้เลือกตั้งไว้แล้วมาประชุมพร้อมกัน แล้วขอให้ผู้ใหญ่บ้านเหล่านั้นเลือกผู้ใหญ่คนหนึ่งในหมู่ของเขาว่าใครควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าว่าการตำบล เมื่อเขาพร้อมกันเห็นควรผู้ใดแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ออกหมายตั้งชั่วคราวให้เขาเป็นกำนันตำบลนั้น แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็ทำอย่างเดียวกันต่อๆ ไปทุกตำบล

ตำบลใดที่ข้าพระพุทธเจ้าไปจัดตั้งกำนันในวันแรกในวัดใด ข้าพระพุทธเจ้าอาราธนาพระภิกษุในวัดนั้นมาประชุมอยู่ด้วย พอใครได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็นิมนต์ให้สวดชยันโตให้พร…”

การสวดชยันโตนั้นคือการสวดให้ฤกษ์ให้พร เพื่ออำนวยอายชัยให้ประสบความสำเร็จในการกระทำสิ่งใหม่ ๆ อาทิ ปักเสาเข็ม, เจิมป้าย, วางศิลาฤกษ์, โกนจุก เป็นต้น เรียกได้ว่ามีการนำเอาพุทธศาสนามาช่วยในงานการเมืองด้วยอยู่โดยนัย เพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งและผู้มาสิทธิเลือกตั้งว่าพวกตนกำลังทำสิ่งที่เป็นมงคลฤกษ์ตามคติความเชื่อของคนในท้องถิ่น    

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 ปรากฏว่าหลวงราชภพน์บริหาร (ต่อมาได้เป็น ‘พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล)’) เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และเมื่อผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านในเขตตำบลบ้านเกาะ มาประชุมกันเพื่อเลือกตั้งกำนันประจำตำบล หลวงราชภพน์บริหารก็ได้รับเลือกเป็นกำนันอีก หลวงราชภพน์บริหารจึงเป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรก 

ไม่ปรากฏว่าหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ในฐานะกกต. ได้กระทำตนเป็น ‘ฤาษีแปลงสาส์น’ นำชื่อผู้อื่นที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้บุคคลอื่นเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านเกาะ แขวงบางปะอิน แต่อย่างใด 

  

ชีวิตราชการในช่วงหลัง

แม้ว่าหน้าที่ที่หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ได้กระทำไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 จะเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึก แต่ชื่อหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ก็ไม่ได้ถูกนำเอาไปอยู่ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย และสำหรับชนชั้นนำสมัยนั้นก็ไม่ได้ยกย่องบทบาทนี้แต่อย่างใด อีกหนึ่งปีต่อมา หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ถึงได้เลื่อนขั้นเป็น ‘พระสฤษดิพจนกร’ ซึ่งเป็นการเลื่อนตำแหน่งตามอายุงานปกติ 

ตำแหน่งสุดท้ายที่ได้เป็นคือ ‘มหาอำมาตย์โท พระยามหาอำมาตยาธิบดี จุลราชสีห์มุรธาธร สถาพรพิริยพาหุ’ เรียกสั้น ๆ ว่า ‘พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ)’ ก่อนจะลาออกไปเมื่อ พ.ศ.2458 แต่เราทราบจากประวัติที่หาได้จากทำเนียบขุนนางข้าราชการเก่า จะเห็นได้ว่าพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ยังมีชีวิตอยู่จนถึง พ.ศ.2499 ถึงเสียชีวิตไป 

เหตุที่คนมีความรู้ความสามารถและมีผลงานมามากอย่างพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) เบื่อหน่ายราชการจนต้องลาออกไปก่อนเกษียรณอายุราชการ มีคำอธิบายดังที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) ได้เคยกล่าวถึงขุนนางเก่าผู้นี้เอาไว้ดังนี้:  

“พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) เป็นบุคคลซึ่งกล่าวได้ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชุบเลี้ยงมาแต่ต้น เพราะทรงเห็นว่าเป็นคนมีแวว และรู้ภาษาอังกฤษ โปรดให้ไปร่วมงานที่กรมแผนที่ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 5 ทำงานภายใต้บังคับบัญชาของมิสเตอร์แม็คคาธี ซึ่งทำการสำรวจแผนที่ทั่วพระราชอาณาเขตเพื่อปักปันเขตแดนกับอังกฤษและฝรั่งเศส แม็คคาธีคนนี้ ต่อมาได้เป็นพระวิภาคภูวดล และเขียนหนังสือเล่าเรื่องเมืองไทยไว้ด้วย ดังตอนหนึ่งเขาเขียนเล่าว่าได้ช่วยชีวิต ม.ปาวี เอาไว้ แต่ก็แลเห็นแววว่า ม.ปาวี คงจะทรยศต่อประเทศสยาม

เราต้องไม่ลืมว่า งานหลักชิ้นแรกของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คือกรมแผนที่ ซึ่งทรงรับทำสนองพระเดชพระคุณก่อนเสด็จมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงโปรดให้นายเส็งมารับราชการที่กระทรวง เชื่อว่าพระองค์ท่านอาจจะประทานนามสกุลว่า วิรยศิริ เพราะเขาเป็นคนขยันขันแข็ง และมีความสามารถ แต่ออกจะทะเยอทะยานมากไปหน่อย รู้สึกเขาจะเสียใจที่ไม่ได้เป็นเสนาบดีต่อจากพระองค์ท่าน เพราะเขาได้เป็นราชปลัดทูลฉลองอยู่แล้ว โดยโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (เชย กัลยาณมิตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกมาเป็นเสนาบดีแทน

คือการเป็นขุนนางในสมัยก่อนนัน นอกจากความขยันขันแข็งและไหวพริบแล้ว ต้องมีมารยาท และสังเกตอะไรต่าง ๆ อย่างแนบเนียน เช่น เมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดที่จะให้เขาไปรับราชการพิเศษในต่างประเทศไล่ ๆ กับหรือร่วมไปกับคณะของสมเด็จกรมพระยา หรือเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง พระราชทานน้ำสังข์ให้เจ้านายพระองค์นั้น ตามอย่างธรรมเนียมของทางราชการ พระยามหาอำมาตย์ฯก็ถลันเข้าไปขอรับพระราชทานน้ำสังข์ด้วย เป็นเหตุให้ไม่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เพราะตามธรรมเนียมในราชสำนักนั้น สังข์สำหรับรดเจ้านายกับสังข์สำหรับรดสามัญชนต้องเป็นคนละตัว แต่ตอนนั้นต้องการทรงจะเอาใจเขา เพราะจะใช้งานเขา ก็เลยไม่แสดงพระอาการให้ปรากฏว่ากริ้ว

เราต้องเข้าใจว่าเรื่องในราชสำนักนั้น พิธีกรรมซึ่งคนนอกเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก ความข้อนี้ พระยามหาอำมาตย์ฯไม่ตระหนัก โดยที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เข้าซึ้งถึงเรื่องพวกนี้อย่างหาที่เปรียบมิได้ ซึ่งเป็นขุนนางที่ไม่มีกำพืดในหมู่ชนชั้นผู้ดี แต่ก็ขึ้นได้ถึงตำแหน่งสูงสุด เกินหน้าเจ้านายเสียด้วยซ้ำ คือเป็นถึงมหาอำมาตย์นายก และได้รับสุพรรณบัตร โดยที่เจ้าพระยานั้น ถ้าเป็นชนสามัญ อย่างเก่งก็ได้หิรัญบัตรเท่านั้น

พระยามหาอำมาตย์ฯ รู้สึกจะเสียใจมากที่ไม่ได้เป็นเจ้าพระยา โดยในสมัยนั้นการเป็นเจ้าพระยาไม่อาจเป็นได้ง่าย ๆ และตำแหน่งเสนาบดีก็เช่นกัน”

เมื่อพิจารณาว่า ตำแหน่งสุดท้ายที่ท่านผู้นี้ได้เป็นก่อนตัดสินใจลาออกไปนั้นคือรองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็สมเหตุสมผลดังที่อาจารย์สุลักษณ์ได้กล่าวเอาไว้ ถึงแม้ว่าปีที่ลาออกจากราชการจริงจะเป็นปีแรก ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทว่าพระยาท่านก็ได้พบ ‘ทางตัน’ จนเบื่อหน่ายราชการมาตั้งแต่ครั้งปลายรัชกาลที่ 5 แล้วดังที่อาจารย์สุลักษณ์อธิบายไว้ข้างต้น    

 

อิทธิพลต่อการเลือกตั้งหลัง 2475  

อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า ความที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2435 ประสบความสำเร็จ ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นที่ยอมรับทั้งแก่ชนชั้นนำและราษฎรผู้ใช้สิทธิออกเสียง จากการทดลองที่แขวงบางปะอิน ก็ขยายออกไปจนทั่วประเทศ ทำให้เมื่อคณะราษฎรจัดการเลือกตั้งระดับชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 นั้นถือว่าเป็นช่วงที่ราษฎรโดยเฉพาะชาวหัวเมือง (หรือต่างจังหวัด ตามสำนวนภาษาปัจจุบัน) ต่างก็รู้และเคยสัมผัสกับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 41 ปี 

อีกทั้งรูปแบบการจัดการเลือกตั้งทางอ้อมอย่างที่หลวงเทศาจิตรวิจารณ์เคยใช้เมื่อพ.ศ.2435 ก็เป็นวิธีการอย่างเดียวกับที่ปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎรได้ปรับประยุกต์นำมาใช้ในการจัดการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2476 ด้วย อย่างเช่นการให้ลงคะแนน 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการลงคะแนนเลือกผู้แทนตำบล แล้วให้ผู้แทนตำบลแต่ละตำบลไปลงคะแนนเลือกผู้แทนระดับจังหวัดอีกต่อหนึ่ง 

เมื่อได้ผู้แทนราษฎรประจำแต่ละจังหวัดครบถ้วนแล้ว ผู้แทนราษฎรทั้งหมดก็มาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อหนึ่ง ก็เป็นอันว่าได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นผู้ใช้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลและปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไป 

วิธีการดังกล่าวนี้ก็ละม้ายคล้ายคลึงกับที่หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ได้เคยจัดการเลือกตั้งโดยให้ราษฎรแต่ละหมู่บ้านมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านมาเลือกตั้งกำนันอีกต่อหนึ่ง 

เราต้องไม่ลืมด้วยว่า ปรีดี พนมยงค์ นั้นมีพื้นเพเป็นชาวกรุงเก่าอยุธยา จังหวัดแรกที่มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศ 

แม้ว่าจะเป็นไปได้ที่ปรีดี พนมยงค์ อาจจะเคยรู้จักกับหลวงเทศาจิตรวิจารณ์มาบ้าง เนื่องจากเป็นข้าราชการพลเรือนที่มาจากสามัญชน มีชื่อเสียง และสร้างผลงานไว้มาก และคุณหลวงผู้นี้ยังอายุยืนมามาจนถึง พ.ศ.2499

หลวงเทศาจิตรวิจารณ์หรือต่อมาก็คือพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) มักเป็นชื่อที่ปรากฏตามหลังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องจากได้ชื่อเป็นมือขวาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เติบโตและร่วงโรยอยู่กับกระทรวงมหาดไทยมาด้วยกัน   

แม้ว่าผลงานอย่างการเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเมื่อพ.ศ.2435 อาจเป็นหนึ่งในผลงานจำนวนมากในประวัติชีวิตการรับราชการของหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ แต่ทว่ากลับเป็นผลงานที่เป็นคุณแก่ระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างมาก เพราะการเลือกตั้งที่มีมาก่อนหน้า 2475 นั้น ได้ทำให้ราษฎรโดยเฉพาะตามหัวเมืองต่างได้สัมผัสกับรูปแบบวิธีการที่สะท้อน 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน อยู่ก่อนหน้าที่จะเกิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาแล้ว 

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่นเดียวกับที่ระบอบอาณานิคมตะวันตกในประเทศเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สร้าง ‘หน่ออ่อน’ ให้เกิดการปฏิวัติชาตินิยมเป็นเอกราชและสถาปนารัฐประชาชาติ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามที่ลอกเลียนแบบระบอบอาณานิคมในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้สร้าง ‘หน่ออ่อน’ ของระบอบประชาธิปไตยให้ก่อตัวขึ้นมาเช่นกัน    

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: แฟ้มภาพ

อ้างอิง:

Wyatt, David K. The politics of reform in Thailand: education in the reign of King Chulalongkorn. New Haven: Yale University Press, 1969.

กำพล จำปาพันธ์. ‘จากกษัตริย์นิยมสู่ประชาธิปไตย: นัยยะและการประกอบสร้างความหมายของเอกสารประวัติศาสตร์ (คำกราบบังคมทูลฯ ร.ศ.103, พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, รัชกาลที่ 5 และ 2475)’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 30 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2552), หน้า 116-129.

กำพล จำปาพันธ์. ‘ทำไม ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกจากการเลือกตั้ง ในบรรยากาศยุคหลัง 2475’ https://www.thepeople.co/history/the-legend/51663 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566).

จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.

ไชยันต์ รัชชกูล. อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์: การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก (The rise and fall of the Thai absolute monarchy). แปลโดย พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์, นนทบุรี: สนพ.อ่าน, 2560.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก. กรุงเทพฯ: ชมรมดำรงวิทยา, 2527. 

ไม่ระบุนามผู้เขียน. ‘ข้าราชการผู้ได้รับเสียงส่วนใหญ่จากราษฎร์ให้เป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน คนแรกของไทย’ https://siam-renaissance.com/contents/firstthaivillageheadman/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566).

ระวินทร์ คำโพธิ์ทอง. ‘แนวคิดของปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร เรื่องการเลือกตั้งครั้งแรก’ https://pridi.or.th/th/content/2022/11/1324 (สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566).

ลูส, ทามารา (Tamara Loos). ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ: ชีวิตและการลี้ภัยในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (Bones around my neck : the life and exile of a prince provocateur). แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์, นนทบุรี: สนพ.อ่าน, 2565.

วุฒิชัย มูลศิลป์ (บก.). มณฑลเทศาภิบาล: การวิเคราะห์เปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2525.

สมเกียรติ วันทะนะ. ‘รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม 2435-2475’ วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน 2533), หน้า 23-44.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์). ‘พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ)’ https://web.facebook.com/sulak.sivaraksa/photos/a.10151360922012798.1073741826.114459752797/10153098741352798/?_rdc=1&_rdr (สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566).