04 พ.ค. 2568 | 12:54 น.
KEY
POINTS
ช่วงนี้มีมเปรตแพร่ระบาดมากเสียจนทำให้โซเชียลมีเดียมีบรรยากาศคล้ายนรกยังไงชอบกล…
มีมเปรตเป็นมีมล้อขำขัน โดยนำเอาความประพฤติในชีวิตประจำวันของคนในยุคปัจจุบัน ไปอธิบายว่า ถ้าตายกลายเป็นเปรตแล้วจะเป็นเปรตอะไรต่าง ๆ เช่น “เปรต ขี้เกียจ เล่นโทรศัพท์ ลูกเดียว”, “เปรต เย็บปาก เกิดจากการเถียงเมีย”, “เปรต กินชาเขียวทั้งวัน อ้างว่าขาดน้ำตาล”, “เปรต ขี้เกียจ ดูแต่ซีรีส์ทั้งวัน”, “เปรต อ้วน แต่อยากผอม”, “เปรต สอดรู้ (เรื่องของชาวบ้าน)”, “เปรต รอคนเก่าทักมา”, “เปรต เมียที่ชอบใช้ผัวซักผ้า”, “เปรต ชอบด่าผัว”, “เปรต โสด รอรักแท้”, “เปรต สู้ชีวิต ทำงานจนตุย”, “เปรต ที่เป็นทาสแมว” ฯลฯ
มีมเปรตออกจะทันสมัย เรื่องที่ล้อนำเอามาจากเรื่องใกล้ตัวหรือบุคลลิกลักษณะของคนที่เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันในสังคมทุกวันนี้ จากเดิมที่เปรตเป็นเรื่องไกลตัว อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ของมนุษย์ปุถุชน หรือเป็นเรื่องของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติอยู่อีกภพภูมิหนึ่ง ก็เปลี่ยนย้ายมาสู่เรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถพบเห็นได้ ยิ่งเรื่องที่เป็นกระแส ผู้คนรับรู้อยู่ในปัจจุบัน ยิ่งเป็นเรื่องที่เมื่อเอามาล้อเป็นมีมเปรตแล้วก็อดขำไปด้วยไม่ได้
แม้แต่มิตรสหายในชุมชนวิชาการก็มีหลายคนรอชมอยู่ว่า เมื่อไหร่จะมีมีม “เปรต คนดี แต่โกงจนตึกถล่ม”, “เปรต แข่งรถบนทางหลวง ชนคนตายไม่เสียเงินซักบาท”, “เปรต ปลอมวุฒิการศึกษา”, “เปรต ทำแต่ประกันคุณภาพแต่ไม่มีคุณภาพ”, “เปรต ถลุงงบวิจัยจากภาษีประชาชน”, “เปรต ผู้บริหารบ้าอำนาจ”, “เปรต สนใจแต่สกอปัส ไต่แร้งกิ้ง”, “เปรต ลักลอกงานวิชาการ” หรืออย่าง “เปรต คนดี ขโมยงานวิจัยเพื่อน ไปขอศ.” ฯลฯ
แม้มีมเปรตจะเป็นของใหม่ เกิดในพื้นที่ใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย ดูเผิน ๆ เหมือนจะเข้ากันไม่ได้ ในเมื่อโลกเทคโนโลยีดูเป็นโลกที่มีพื้นฐานความคิดสืบเนื่องมาจากหลักวิทยาศาสตร์ แต่ในสังคมไทยแม้แต่คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ก็เต็มไปด้วยศาลพระภูมิเจ้าที่ แม้แต่ในการจัดงานคอนเสิร์ต เมื่อกลัวฝนฟ้าไม่เป็นใจ ก็ยังต้องมี ‘ฝ่ายเทวสัมพันธ์’ จัดสาวโสดไปปักตะไคร้
‘ผีช่องแอร์’ ‘รถผีสิง’ ก็เคยมีมาแล้ว นับประสาอะไรจะมี ‘เปรตในโซเชียล’ ไม่ได้ เทคโนโลยีใหม่ก็จริง แต่ผู้ใช้เทคโนโลยีย่อมอยู่ภายใต้ระบบคิดทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งกอปรไปด้วยความเชื่อหลากหลายชุด อย่างแรกที่เราจะเห็นได้ชัดเจนก็คือต่อให้ใช้โชเซียลแพลตฟอร์มเดียวกัน มีมล้อแบบนี้ก็มีแต่เฉพาะในสังคมไทยเวลานี้เท่านั้น สังคมประเทศอื่นไม่เกทมุข เพราะเขาไม่มีความเชื่อเรื่องเปรตกันมาก่อน ตราบใดที่สังคมยังคงมีสิ่งที่ล้อเลียนกันตรง ๆ ไม่ขำหรือขำขื่น ตราบนั้นผู้คนก็ยังจะคงสร้างสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาพูดแทนตนอยู่เสมอ ในแง่นี้ ‘มีมเปรต’ หรือก็คือการนำเอาเปรตไปอยู่ในโซเชียล ออกจะดูเป็น ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ ด้วยซ้ำไป
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าลองได้ย้อนพินิจพิจารณาพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่ของความเชื่อเรื่อง ‘เปรต’ ในสังคมวัฒนธรรมไทย จะเห็นได้ว่า ‘เปรต’ อยู่ในมิติพื้นที่ที่ค่อนข้างสำคัญและหลากหลายทีเดียว เริ่มตั้งแต่ ‘ความเปรียบ’ หรือ ‘ภาษิตคำพังเพย’ ก็มีเช่น “สูงอย่างกับเปรต”, “กินเหมือนเปรต”, “ผอมเป็นเปรต”, “หวีดร้องยังกะเปรต” ฯลฯ คำด่าเหยียดบุลลี ก็มีเช่น ‘ไอ้เปรต’, ‘นังเปรต’, ‘เด็กเปรต’, “เปรตขอส่วนบุญ” เป็นต้น
ในแง่เอกสารหลักฐานลายลักษณ์อักษร เปรตพบตั้งแต่ในพระไตรปิฎก ในวรรณกรรมสำคัญเอกอุอย่าง ‘ไตรภูมิพระร่วง’ ไม่ใช่เพียงวรรณกรรมศาสนา วรรณกรรมพื้นบ้านก็มีเช่น ‘ขุนช้างขุนแผน’ ตามมาด้วยสมุดภาพไตรภูมิที่มีภาพวาดรูปเปรตในภพภูมิต่าง ๆ มีตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ในจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารวัดสำคัญ เปรตก็มีที่โด่งดังรู้จักกันดีก็เช่น ‘เปรตวัดสุทัศน์’, ‘เปรตวัดกู้’ เป็นต้น
บทความนี้จะพาสำรวจเปรตในหลักฐานต่าง ๆ ทั้งประเภทลายลักษณ์อักษร จิตรกรรม เรื่องเล่า แล้วจะสรุปและส่งท้ายชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรผ่านเลย ซึ่งจะเป็นการตอบคำถามโดยอ้อมว่า เพราะเหตุใด ทำไม ‘มีมเปรต’ ถึงกลายเป็นไวรัลเป็นที่นิยมในหมู่ชาวเน็ตไทยปัจจุบัน
ก่อนอื่นต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า แม้เปรตจะเป็นเรื่องลี้ลับเหนือเหตุผลสามัญและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ (ส่วนใครจะเชื่อว่าพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ ก็แล้วแต่ว่ากันไป แต่ไม่ใช่ประเด็นสำหรับในที่นี้) แต่มีจุดตั้งต้นอยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาสำคัญอย่าง ‘พระไตรปิฎก’ จากงานวิทยานิพนธ์ของอุทิศ ศิริวรรณ เรื่อง ‘เปรตในพระไตรปิฎก’ ซึ่งได้ศึกษาความหมายของคำว่า ‘เปรต’ ในแต่ละยุค เพื่อจะได้เข้าใจความแตกต่างหรือคล้ายคลึงในสมัยต่าง ๆ อย่างแจ่มชัด แนวความคิด และความเชื่อเรื่องเปรตที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท และอรรถกถาตลอดจนอิทธิพลความเชื่อเรื่องเปรตที่มีต่อพิธีกรรมและประเพณีไทย
ผลของการวิจัยได้พบว่า ความหมายของคำว่า ‘เปรต’ ในพระไตรปิฎก และอรรถกถามี ๒ ความหมาย คือ หมายถึง คนผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือคนตาย ความหมายหนึ่ง และคนผู้ล่วงลับไปสู่โลกหน้าที่เรียกว่า ‘เปรตวิสัย’ หรือ ‘เปรตโลก’ อีกนัยหนึ่ง เปรตวิสัยหรือเปรตโลกนั้นหมายถึง แดนเสวยผลกรรมของผู้ทำบาปที่มีโทษเบากว่ากำเนิดดิรัจฉาน และนรกจัดเป็น ๑ ใน ๕ คติแดนที่ต้องไปหลังความตายของสัตว์ผู้เวียนว่ายตายเกิด ได้แก่ เทวดา, มนุษย์, เปรตวิสัย, กำเนิดดิรัจฉานและสัตว์นรก
ในอรรถกถาส่วนใหญ่ อธิบายคำว่า ‘เปรต’ ไว้ว่าหมายถึง คนผู้ตายไปเกิดในเปรตวิสัย มีผลให้ความหมายของคำว่า ‘เปรต’ ในชั้นฎีกาและวรรณกรรมพุทธศาสนาที่รจนาในประเทศไทย หมายถึงคนตายไปเกิดในเปรตวิสัยทั้งสิ้น เปรตที่ปรากฏในวรรณกรรมของไทย จึงมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว อดอยากหิวโหย ซูบผอม ปากเท่ารูเข็ม ฯลฯ
ความเชื่อเรื่องเปรต มีอิทธิพลต่อพิธีกรรม คตินิยม และประเพณีต่าง ๆ ของชาวไทย เช่น พิธีศพ, พิธีถวายสังฆทาน, พิธีอนุโมทนา, ประเพณีสงกรานต์ และประเพณีสารทไทย เป็นการส่งเสริมความกตัญญู ความเกรงกลัวต่อบาป ความมีน้ำใจ ความผูกพันระหว่างวงศาคณาญาติ สายใยระหว่าง ‘วัดกับบ้าน’ รวมทั้งสันติสุขของผู้คนในสังคมไทย
สิ่งหนึ่งซึ่งบ่งชี้ว่า ความเชื่อเรื่องเปรตนี้เดิมเป็นความเชื่อของทางฝั่งอินเดียโบราณ ก่อนจะมาผสมความเชื่อเรื่องผีบรรพชน ซึ่งสืบมาจากจีนและภายในอุษาคเนย์เอง จนเกิดเป็นประเพณีพิธีกรรมการอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ ที่คาดว่าอาจจะกำลังเป็นเปรตได้รับความทุกข์ทรมานชดใช้กรรมของตนเองอยู่
คำอธิบายเช่นนี้ต่อมาได้สืบทอดอยู่ในรูปวรรณกรรมเช่นเรื่อง ‘ไตรภูมิพระร่วง’ ซึ่งมีคำอธิบายว่า ‘เปรต’ คือพวกที่อาศัยอยู่นอกกรุงราชคฤห์ น่าจะเป็นร่องรอยมุมมองของชาวอินเดียโบราณที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทำนองเป็นพวกที่ยังไม่มีอารยธรรม เช่นเดียวกับ ‘พวกนาค’ แต่ภายหลังถูกนำไปผนวกรวมและจัดประเภทเป็น ‘ผี’ ชนิดหนึ่งไป แต่ก็แตกต่างอย่างมากกับผีของชนพื้นถิ่นเดิม ที่มีลักษณะเป็น ‘สถาบัน’ ค่อนข้างมาก (ประเด็นนี้จะอภิปรายในลำดับท้าย ๆ)
ในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเล่มสำคัญที่เป็นหลักอ้างอิงคติความเชื่อไทยอย่างเช่น ‘ไตรภูมิพระร่วง’ และ ‘พระมาลัยคำหลวง’ (ไตรภูมิพระร่วงเป็นที่รู้จักมากกว่า) กล่าวถึงเปรตในฐานะมนุษย์ที่ตายไปชดใช้กรรม มีทั้งอยู่ในนรกและยังวนเวียนอยู่บนโลกมนุษย์ พูดง่าย ๆ เปรตก็คือมนุษย์ในโลกหลังความตายนั่นเอง ซึ่งเป็นการสืบทอดคติที่มีมาในบางพระสูตรของพระไตรปิฎก
มีความเชื่อกันว่า ‘ไตรภูมิพระร่วง’ เป็นที่มาของความเชื่อเรื่องเปรตในสังคมไทย ความเชื่อนี้ถูกครึ่งไม่ถูกครึ่ง ‘ถูกครึ่ง’ คือ ‘ไตรภูมิพระร่วง’ มีบทบาทต่อความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับทั้งหลายในสังคมพุทธไทยแน่นอน แต่อย่างที่บอก (ไม่ถูกครึ่ง) ก็คือ ‘ไตรภูมิพระร่วง’ ไม่ใช่เอกสารแรก ๆ แน่ ๆ ที่กล่าวบรรยายเปรตภูมิเอาไว้ เพราะเป็นการสืบทอดบางคติมาจากพระสูตร
‘ไตรภูมิพระร่วง’ เป็นชื่อที่เกิดจากความเชื่อว่า วรรณกรรมชิ้นนี้ผู้แต่งคือพญาลิไท เจ้ากรุงสุโขทัย แต่นักวิชาการหลายท่านไม่เชื่อเช่นนั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นวรรณกรรมแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมเชื่อกันว่าสมัยอยุธยาไม่มีการแต่งไตรภูมิเป็นความเรียงเหมือนอย่าง ‘ไตรภูมิพระร่วง’ แต่เมื่อมีการค้นพบ ‘ไตรภูมิพระมาลัย’ ที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ความเชื่อในส่วนนี้ก็เปลี่ยนไป ไม่เพียงแต่สมัยอยุธยาเคยมีการแต่งไตรภูมิ เอกสารอย่าง ‘ไตรภูมิพระมาลัย’ ยังแสดงให้เห็นพัฒนาการรอยต่อความเปลี่ยนแปลงของการแต่งวรรณกรรมประเภทนี้ก่อนที่จะมีไตรภูมิฉบับรุ่นหลังต่อมาในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์อีกด้วย
ถึงแม้ว่า ‘ไตรภูมิพระร่วง’ อาจเป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยา แต่ทว่าสุโขทัยซึ่งเป็นแว่นแคว้นบ้านเมืองที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ก็ย่อมต้องมีความเชื่อเรื่องเปรตอยู่ด้วย เพราะเป็นเรื่องที่มีมาแต่ในพระไตรปิฎกแล้ว เพียงแต่ความเชื่อเรื่องเปรตอาจนำเสนอในรูปแบบอื่น เช่น จิตรกรรม หรือแม้แต่วรรณกรรม ซึ่งไม่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
ไม่มีใครได้ไปเห็นเปรตในนรก วรรณกรรมพุทธศาสนาก็มีแต่งเรื่องพระมาลัย เคยเดินทางไปท่องเที่ยวในนรกภูมิ เห็นเปรตวิสัยอยู่ในนรกเป็นอันมาก ‘พระมาลัยคำหลวง’ เป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยา แต่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ โดยผู้แต่งคือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) เจ้านายองค์เดียวกับที่แต่ง ‘นันโทปนัทสูตรคำหลวง’ วรรณกรรมซึ่งเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกความทรงจำโลก’ (Memory of the world) ควบคู่กับภาพยนตร์เก่าเก็บเรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๘ ที่เพิ่งผ่านมาเมื่อไม่นานนี้
จะมีแค่พระมาลัยที่ได้ไปเห็นองค์เดียวก็กระไรอยู่ ในวรรณกรรมทศชาติชาดก (พระเจ้าสิบชาติ) ยังมีเรื่องพระนารทชาดก ซึ่งมีเรื่องพระพรหมส่งราชรถมารับเอาพระนารทไปท่องเที่ยวภพภูมิต่าง ๆ เช่นเดียวกับพระมาลัย และก็แน่นอนว่าประชากรส่วนใหญ่ที่พระนารท (รวมทั้งพระมาลัย) ไปพบเห็นในยมโลกนั้นก็คือพวกเปรตทั้งหลายนี่แหล่ะ
‘พระนารทชาดก’ เป็นที่จดจำและรับรู้กันมาก เนื่องจากนิยมสร้างเป็นรูปจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย และเราต้องไม่ลืมว่า พระนารทนั้นคือหนึ่งใน ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนจะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คนแต่ก่อนนั้นมีความเชื่อกันว่า เรื่องชาดกนั้นไม่ใช่แค่นิทาน หากแต่เป็นเรื่องจริงของพระพุทธเจ้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาอยู่ใน ‘ไตรภูมิพระร่วง’ ‘ไตรภูมิพระมาลัย’ (ฉบับหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส) ‘พระมาลัยคำหลวง’ หรืออย่างจิตรกรรมเรื่อง ‘พระนารทชาดก’ จากเดิมที่เปรตเป็นความเชื่อของชาวอินเดียโบราณ ก็มากลายเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อชาวสยามอุษาคเนย์ ซึ่งผสมรวมเข้ากับความเชื่อเรื่องผีบรรพชนที่ลูกหลานต้องแสดงความกตัญญูรู้คุณ (ถึงจะเจริญรุ่งเรือง) ที่สืบมาจากความเชื่อชาวจีนโพ้นทะเล
อายุของความเชื่อนี้ไม่เกินสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นยุคที่มีชาวจีนอพยพเข้ามามากแล้ว สุโขทัยยังไม่มีความเชื่อนี้ อย่างน้อยในบรรดาจารึกสุโขทัยทั้งหมดที่พบในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่มีกล่าวถึง ‘เปรต’ เลยสักแห่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องคติความเชื่อของชาวสุโขทัยแท้ ๆ เมื่อกล่าวถึงผี ก็มี ‘พระขพุงผี’ ซึ่งเป็น ‘ผีภูเขา’ สถิตอยู่ ณ ยอดเขาหลวง ‘พีค’ ไปกว่านั้นอีก พระขพุงผีที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นผีผู้ชาย แต่ยอดเขาหลวง จ.สุโขทัย จริง ๆ กลับเป็นที่พบรูป ‘พระแม่ย่า’ ผีผู้หญิงไปอีก
‘ไตรภูมิพระร่วง’ ‘พระมาลัยคำหลวง’ นั้นอยู่ในรูปวรรณกรรม แต่งเป็นลายลักษณ์อักษร เล่าเรื่องเปรตภูมิเอาไว้มาก แต่แค่นั้นยังไม่เห็นภาพ เมื่อไม่มีภาพ ผู้คนก็ยากจะเชื่อและเข้าใจได้ เนื่องจากสมัยก่อนคนเข้าถึงหนังสือหนังหาและอ่านออกเขียนได้มีน้อย พื้นที่ความรู้ส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบภาพและเรื่องเล่าสืบต่อกันมา (Oral tradition)
ในส่วนของภาพ จึงได้มีการสร้างภาพวาดเป็นจิตรกรรมในสมุดที่เรียกว่า ‘สมุดภาพไตรภูมิ’ ที่หลงเหลือมานั้นมีฉบับสมัยอยุธยา ๒ ฉบับ คาดว่ามีอายุเก่าถึงพศว.๒๒-๒๓ (ราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง-สมเด็จพระนารายณ์) และอีกฉบับเป็นของสมัยธนบุรี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตสมัยนั้นคัดลอกและดัดแปลงจากฉบับเดิมสมัยอยุธยาให้ทันสมัย จนเกิดเป็น ‘สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี’ ขึ้นมาประดับบ้านเมืองในยุคสมัยนั้นและเป็นอีกหนึ่งหลักความเชื่อไทยมาถึงปัจจุบัน
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เน้นวาดเล่าเรื่องตามไตรภูมิฉบับความเรียง (ฉบับเดียวกับที่เรียกกันในภายหลังว่า ‘ไตรภูมิพระร่วง’ นั่นแหล่ะ) ความสอดคล้องต้องกันของไตรภูมิฉบับสมุดภาพนี้กับฉบับความเรียง (ไตรภูมิพระร่วง) เป็นอีกเค้ารอยหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังมานี้มองว่า ไตรภูมิพระร่วงไม่ใช่วรรณกรรมแต่งสมัยสุโขทัย หากแต่เป็นวรรณกรรมแต่งสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่กรมศิลปากรและกระทรวงศึกษาธิการยังคงเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่า ‘ไตรภูมิพระร่วง’ เป็นวรรณกรรมสมัยสุโขทัย แต่งโดยพญาลิไท อันนั้นก็เป็นเรื่องของกรมศิลปากรและกระทรวงศึกษาธิการท่านไป
‘สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี’ มีภาพวาดเปรตมากอย่างผิดสังเกต เมื่อเปรียบเทียบกับฉบับอื่น ๆ เรื่องนี้เข้าใจได้ในแง่ที่ว่าเพราะสมัยธนบุรีเป็นช่วงผู้คนพบความวิบัติบ้านแตกสาแหรกขาด เมืองหลวงที่ตั้งมายาวนานอย่างกรุงศรีอยุธยาพังยับเยินลงในพริบตา สำหรับคนสมัยนั้นที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากเหตุการณ์กรุงแตก พ.ศ.๒๓๑๐ คงเลวร้ายบัดซบยิ่งกว่าตึกสตง.ถล่ม เมื่อคราวเจอแผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้มากมายก่ายกองยิ่งนัก
ความวิบัติของบ้านเมืองก็มีเป็นต้นว่า การเสียกรุงนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากยากจน ซ้ำร้ายยังมีผู้ประพฤติผิดต่าง ๆ นานา คอยซ้ำเติม เป็นต้นว่าเกิดโจรผู้ร้ายเที่ยวปล้นสะดมเข่นฆ่าชุกชุม ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองก็ไม่เป็นที่พึ่งพาอาศัย ไม่อำนวยความยุติธรรมและความสงบสุขในบ้านเมือง ภิกษุสมณชีพราหมณ์ที่ควรเป็นปราชญ์เป็นผู้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างในครรลองศีลธรรมอันดี ก็กลับละเมิดพระธรรมวินัยก่อกรรมทำเข็ญ ทำให้ไพร่ราษฎรเดือดร้อนกันทั่วหย่อมหญ้า
ใน ‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี’ ได้กล่าวถึงการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เมื่อทรงเสด็จออกจากอยุธยาไปถึงชลบุรี และนำทัพไปปราบนายทองอยู่นกเล็กที่บางปลาสร้อยแล้ว ทรงบำเพ็ญทานบารมีอุทิศพระราชกุศลไปให้แก่ผู้ล่วงลับจากภัยสงครามแล้วไปเกิดเป็นเปรต ดังที่มีเนื้อความพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ดังนี้:
“แล้วพระราชทานเงินตราอาหารแก่สัปเหร่อ ให้ค้นทรากศพคนอันอดอยากอาหารตายนั้นเผาเสีย แล้วพระราชทานบังสุกุลทาน และพระราชทานเงินตราอาหารแก่ยาจกวณิพกในเมืองชลบุรีเป็นอันมาก แล้วอุทิศกัลปนาพระราชทานกุศลให้แก่หมู่เปรตไปในปรโลกนั้น เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ”
ประโยคที่ว่า “เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ” นี้มีนัยยะที่สะท้อนความสำคัญของเปรตในยุคสมัยนั้นมาก เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่เวลานั้นยังเป็นพระยาตาก เจ้าเมืองบ้านนอก กรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว และผู้นำก๊ก-นายชุมนุมอย่างเจ้าตาก จะต้องบำเพ็ญบุญบารมีเพื่อเป็นประมุขบ้านเมืองต่อไปในภายหน้า ยังต้องมาบำเพ็ญ “พระราชกุศลให้แก่หมู่เปรตไปในปรโลก”
เมื่อยกทัพจากจันทบุรีมาปราบสุกี้พระนายกองที่ค่ายโพธิ์สามต้น อยุธยา และเสด็จขึ้นช้างพระที่นั่งสำรวจตรวจตราดูสภาพความเสียหายของอยุธยา ‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี’ ก็มีบันทึกเล่าเปรียบเทียบสภาพผู้คนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงทอดพระเนตรเห็นครั้งนั้นว่าเหมือน ‘เปรต’ อีกดังนี้:
“จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวดสัมฤทธิศก ทอดพระเนตรเห็นอัฏฐิกเรวฬะคนทั้งปวงอันถึงพิบัติชีพ ตายด้วยทุพภิกขะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ดุจหนึ่งภูเขา แลเห็นประชาชนซึ่งลำบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวชประดุจมีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติจะเสด็จไปเมืองจันทบูร”
ต่อมาเมื่อทรงทำศึกปราบก๊กเจ้านครศรีธรรมราชได้รับชัยชนะแล้ว ให้คัดลอกพระไตรปิฎกและเอกสารต่าง ๆ ของสมัยอยุธยาที่เหลือตกทอดอยู่ในนครศรีธรรมราช มายังกรุงธนบุรี ก็ได้เกิดจุดกำเนิดของ ‘สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี’ ที่มีภาพเล่าเรื่องเปรตเอาไว้มากกว่าที่ฉบับใด ๆ ทั้งที่สร้างมาก่อนหน้าในสมัยอยุธยาและฉบับหลังจากนั้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา
ทั้งนี้เนื่องจากสมัยธนบุรีเป็นยุคที่บ้านเมืองมีวิกฤติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ทรงต้องการฟื้นฟูระเบียบแบบแผนอันดีงามของบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ ในส่วนนี้ไม่มีอะไรที่จะแสดงภาพหรือนำเสนอได้ดีเท่า ‘เปรต’ ซึ่งอยู่ในความรับรู้ของผู้คนมาแต่เดิม และเปรตยังสามารถดัดแปลงเข้ากับยุคสมัยได้ดีกว่าสิ่งมีชีวิตลี้ลับอื่น ๆ
เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตลี้ลับอื่น ๆ แล้ว เปรตแตะต้องได้มากที่สุด เทวดาและผีปกติอาจจะยังเป็นสิ่งที่ต้องให้ความเคารพนับถืออยู่ แต่เปรตไม่จำเป็นต้องทำแบบเดียวกับเทวดาและผีทั่วไป ในขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ตามความเชื่อของ ‘เปรต’ ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเพื่อเป็นเหตุผลของการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ตลอดจนความประพฤติตามฮีตคองประเพณีบางอย่างที่เป็นไปเพื่อความสงบสุขร่วมกัน
ถึงแม้ว่าราชวงศ์จักรีจะกำเนิดเกิดจากการโค่นล้มราชวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แล้วย้ายศูนย์กลางว่าราชกิจจากฝั่งตะวันตกมาเป็นฝั่งตะวันออกของบริเวณย่านเดียวกัน จากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพฯ แต่ทว่าอุดมการณ์ฟื้นฟูบ้านเมือง ยังคงเป็นภารกิจสำคัญและเป็นความชอบธรรมโดยตรงของชนชั้นนำสยามต่อมา
การสร้างวรรณกรรมไตรภูมิเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงกระทำเป็นแบบอย่าง ก็ยังคงได้รับการสืบทอดมาปฏิบัติในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงเป็นที่มาของเอกสาร ‘ไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา’ หรือ ‘ไตรภูมิฉบับหลวง’ โดยผู้ชำระคือพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) สำหรับในที่นี้เอกสารไตรภูมิก็คือเอกสารเกี่ยวกับเปรต แน่นอนว่าเปรตไม่ใช่หัวข้อหลักของเอกสารชนิดนี้
ใน ‘ไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา’ เปรตยังคงเป็นวิญญาณผู้ล่วงลับในยมโลก ตามฮีตคองประเพณีการแต่งวรรณกรรมไตรภูมิที่สืบมาจากบางพระสูตรในพระไตรปิฎก แต่เพิ่มเติมไปกว่านั้นก็คือ ใน ‘ไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา’ มีเพิ่มเปรตประเภทที่มีปราสาทวิมานและแก้วแหวนเงินทอง ประดุจเทวดา แต่ไม่ใช่เทวดา รูปร่างหน้าตาไม่งดงามอย่างเทวดา ยังคงน่าเกลียดน่ากลัวเช่นเดิม แต่บ้างก็เป็นประเภทที่ข้างขึ้นเป็นเปรต ข้างแรมเป็นเทวดา หรือสลับกันข้างขึ้นเป็นเปรต ข้างแรมเป็นเทวดา
เปรตประเภทนี้ พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) และคณะนักปราชญ์ผู้ชำระไตรภูมิในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ คงต้องการให้เป็นตัวอย่างของบุคคลชั้นสูงที่ประพฤติผิดหรือทำตัวไม่เหมาะสมคู่ควรแก่ตำแหน่งแห่งที่ชั้นสูง แม้เป็นคนเกิดในราชตระกูลมีฐานะสูงส่ง มั่งคั่งไปด้วยทรัพย์และบริวารบ่าวไพร่ แต่เมื่อประพฤติผิดก็ต้องตายกลายเป็น ‘เปรต’ ได้เฉกเช่นสามัญชน
ชนชั้นนำสมัยกรุงเทพฯ ที่มีประสบการณ์ผ่านศึกสงครามปราบปรามกลุ่มก๊กต่าง ๆ มามาก ย่อมเห็นความประพฤติเหลวแหลกต่าง ๆ ของชนชั้นนำท้องถิ่นที่ตนยกทัพไปปราบปรามอยู่บ่อยครั้งในสมัยธนบุรี ประกอบเดิมชนชั้นนำสมัยกรุงเทพฯ ในอดีตสมัยอยุธยา ยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีสถานะสูงส่งเท่าใดนัก ส่วนใหญ่เป็นขุนนางชั้นผู้น้อย ย่อมจะเคยเห็นและรับรู้เรื่องความประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ของเจ้านายของตนในอดีต
เมื่อมาชำระวรรณกรรมไตรภูมิจึงได้เพิ่มเติม และเห็นช่องโหว่หรือสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเปรตภูมิแต่ก่อน จึงได้เพิ่ม ‘เปรตเจ้านาย’ หรือ ‘เปรตเทวดา’ เข้าไป เพื่อสอนคติธรรมแก่ผู้คนตลอดจนทายาทลูกหลานของตนเอาไว้ด้วย เกิดเป็นมาตรฐานศีลธรรมใหม่ขึ้นมาสำหรับสมัยนั้นเป็นต้นมา แน่นอนว่าบางยุคก็ไม่ใช่จะปฏิบัติตามแบบเป๊ะ ๆ ความสำคัญสำหรับเรื่องนี้ก็คือการมีสิ่งอันเป็น ‘อุดมคติ’ เอาไว้เพื่อเป็นขื่อแปของบ้านเมือง
นั่นนับเป็นการผนวกเปรตเข้าไปสู่พื้นที่ศีลธรรมอย่างเข้มข้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา หากเปรียบเทียบก่อนหน้านั้น จะเห็นได้ว่าสำหรับกรณีคนชั้นสูงแต่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม จะมีเพียงการซุบซิบนินทาว่าเป็น ‘พระเจ้าขี้เรื้อน’ หรือ ‘ขุนหลวงขี้เรื้อน’ แล้วก็จบเท่านั้น ไม่ใช่แต่พระเจ้าเอกทัศน์ของไทยอยุธยา พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ของกัมพูชา ก็เคยโดนข้อครหานี้ (หากประยุกต์ไอเดียนี้มาอธิบายผู้นำโลก ทุกวันนี้คนอย่างทรัมป์ ก็คือ ‘ขุนหลวงขี้เรื้อน’ ของอเมริกายุคปัจจุบัน)
เพราะแต่เดิมเชื่อถือว่ากันว่าบัลลังก์ที่นั่งของเจ้านายนั้นศักดิ์สิทธิ์ ทำจากไม้มงคล ผู้ที่บุญวาสนาไม่ถึง แต่ไปนั่งตรงนั้น จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บวิบัติเป็นต่าง ๆ และที่ร้ายกาจสำหรับสมัยโน้นก็คือ ‘โรคเรื้อน’ ที่มีแผลผุพองตามร่างกาย ขอให้สังเกตว่า เปรตก็มีลักษณะทางกายที่น่าเกลียดน่ากลัวเช่นเดียวกับคนเป็นโรคร้ายอยู่ด้วยเหมือนกัน ในแง่นี้ก็ไม่แปลกที่ ‘เปรต’ จะเป็นอีกขั้นที่ยกระดับไปกว่า ‘เรื้อน’
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับยุคหลังเสียกรุง ๒๓๑๐ เป็นต้นมา ลำพังวาทกรรม ‘พระเจ้าขี้เรื้อน’ ไม่เพียงพอ แก่การสร้างมาตรฐานศีลธรรมใหม่แต่อย่างใด จึงมีปราชญ์บางท่านเกิด “ปิ๊งไอเดีย” ในการนำเข้าเรื่องนี้ไปสู่ ‘เปรตภูมิ’ หรือ ‘เปรตวิสัย’ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อเกิดเป็นเทวดาบนโลกมนุษย์แล้ว ไม่รู้จักสร้างกุศลทำความดีประพฤติแต่อกุศล ตายไปก็เกิดเป็นเปรตได้
เช่นเดียวกับสมัยอยุธยาและธนบุรี ไตรภูมิที่มีแต่ตัวหนังสือ ไม่ช่วยอะไร จำเป็นต้องมีภาพวาดมานำเสนอด้วย ไตรภูมิฉบับสมัยรัตนโกสินทร์ก็นำไปสู่การสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นมากมายหลายแห่งเช่นกัน และก็แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงไตรภูมิแล้ว ‘เปรต’ เป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้ ในจำนวนนี้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็เห็นจะเป็น ‘เปรตวัดสุทัศน์’
ถึงกับเป็นคำขวัญสื่อถึงสถานที่แปลกของประหลาดมีเฉพาะในกรุงเทพฯ เมืองหลวงเท่านั้น หัวเมืองไม่มี คือคำขวัญที่ว่า “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” มีตำนานเรื่องเล่าแบ่งออกเป็นฉบับต่าง ๆ กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีทำเป็นหนังเป็นละครกันด้วย (ออกอากาศทางช่อง ๗ เมื่อพ.ศ.๒๕๔๖ กำกับการแสดงโดย คุณนนทนันท์ สังข์สวัสดิ์ คุณเอกรัตน์ สารสุข รับบทเป็นพระเอก นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี รับบทแสดงเป็นนางเอก)
‘เปรตวัดสุทัศน์’ คนจะชอบคิดว่าเป็นเปรตจริง ๆ แต่ที่จริง ‘เปรตวัดสุทัศน์’ เป็นจิตรกรรมวาดอยู่เหนือเสาต้นหนึ่งข้างพระประธานภายในวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นภาพเปรตนอนตัวยาวยืดอยู่ มีพระภิกษุยืนพินิจพิจารณาโดยลักษณะอาการที่เรียกว่า ‘อสุภกรรมฐาน’ คือการเพ่งพิจารณารูปสังขารของศพ จิตรกรรมนี้วาดในสมัยรัชกาลที่ ๓
อันที่จริง จิตรกรรมภาพเปรตพบเห็นได้ทั่วไปตามวัดวาอารามต่าง ๆ โดยเฉพาะจิตรกรรมวัดที่เล่าเรื่องนรกภูมิ อยู่ฉากหลังพระประธานบ้าง อยู่ผนังด้านข้าง บ้างก็อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับพระประธาน ส่วนใหญ่จะอยู่ฝั่งตรงข้ามพระประธาน แต่ที่ภาพ ‘เปรตวัดสุทัศน์’ ต่างจากวัดอื่น ก็คือเป็นภาพเปรตในฐานะอสุภกรรมฐานนี่แหล่ะ พบที่เดียว ไม่พบที่อื่น
การที่ ‘เปรตวัดสุทัศน์’ ไม่ทำให้เกิดขนบการวาดภาพเปรตในที่อื่น ๆ ก็น่าจะเพราะเหตุว่าในรัชกาลต่อมาคือรัชกาลที่ ๔ ทรงมุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่พุทธศาสนาแบบทางโลกย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาของธรรมยุติกนิกายที่ทรงเป็นผู้นำการปฏิรูปมาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๓ หลังสิ้นรัชกาลที่ ๓ ภาพเปรตรวมถึงภาพนรกภูมิต่าง ๆ ไม่เป็นที่นิยมสร้างทำกันในสมัยต่อมา
ภาพอสุภกรรมฐานที่นิยมสร้างกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ เป็นภาพพระภิกษุเพ่งพิจารณาซากศพมนุษย์ ไม่ใช่ซากเปรตหรือมนุษย์ที่น่าเกลียดน่ากลัวประดุจเปรตเหมือนอย่างกรณี ‘เปรตวัดสุทัศน์’ หรือเปรตที่เคยวาดเป็นภาพจิตรกรรมกันมาก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม ดังที่เราทราบกันดีว่า อะไรที่มีที่เดียวย่อมเกิดความสำคัญและทรงคุณค่าเสมอ
ส่วนใหญ่วรรณกรรมบันเทิงคดีจะเน้นเปรียบบุคคลบางจำพวกมีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดประดุจดังเปรต ไม่ค่อยมีตัวละครที่เป็นเปรตโดยตรง ยกเว้นเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ ที่เล่าเรื่องหลังความตายของนางวันทอง ผู้เป็นเมียขุนแผน แม่พระไวย นางถูกประหารเพราะเมื่อพระพันวษาให้เลือกระหว่างอยู่กับขุนแผนหรืออยู่กับพระไวย คนหนึ่งก็ผัว อีกคนก็ลูก ผัวกับลูกเกิดทะเลาะกัน ลำบากนาง ไม่รู้จะเลือกใคร
สุดท้ายพระพันวษาจึงให้นำตัวนางไปประหารชีวิตเสีย ไม่ต้องอยู่กับใคร เมื่อไม่มีนาง ขุนแผนกับพระไวยจะได้ตั้งใจทำราชการถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ต่อไป ไม่เป็นอันตรายต่อพระองค์และคนอื่น ๆ เพราะดูเหมือนชายสองคนผู้มีวิชาอาคมแก่กล้าระดับท๊อปในปฐพี (อย่างขุนแผนกับพระไวย) ต่างก็สามารถกระทำการ ‘ล้ำเส้น’ และ ‘ทำลายขื่อแป’ ได้ทุกเมื่อ เมื่อเป็นเรื่องของนางวันทอง ทั้งสองต่างก็เคยสังหารคนของพระพันวษามามากแล้ว เพียงเพื่อนางวันทอง (ก็ทำไงได้ ในเมื่อคนมันคลั่งรัก)
นางวันทองไม่ได้ผิดอะไรเลย เพราะนางต้องอยู่ในสังคมที่ต้องเลือกระหว่างเป็น ‘แม่’ กับเป็น ‘เมีย’ นางถึงต้องตาย โดยที่ต้องครหาว่าเป็น ‘วันทองสองใจ’ เมื่อตายแล้ว ยังโดนพิพากษาให้ไปเกิดเป็นเปรตอีก กระนั้นด้วยจิตใจที่ยังอาลัยอาวรณ์ไม่อยากให้ลูกกับผัวต้องมาสู้รบกัน จึงมาบอกพระไวยให้รู้ว่า ทัพพม่ามอญที่ยกมานั้นคือพ่อกับน้อง (ขุนแผนกับพลายชุมพล) ปลอมตัวมา เพื่อจะมาล้างแค้นพระไวย
วันทองรู้ว่าพระไวยจะสู้พ่อกับน้องไม่ได้ เพราะลำพังพ่อ (ขุนแผน) มีวิชาอาคมแก่กล้าคนเดียวไม่พอ ครั้งนี้พ่อยังมากับน้องคือ ‘พลายชุมพล’ อีก อย่างที่เราทราบ พลายชุมพลนั้นเป็นยอดฝีมืออันดับหนึ่งของจักรวาลวรรณกรรมไทย ไม่ว่ามนุษย์ ยักษ์ นาค ผี เทพ เวทมนต์ของพลายชุมพลเอาอยู่หมด
นางวันทองเป็นเปรตที่ไม่มีศีรษะ เพราะถูกประหารชีวิตด้วยวิธีตัดหัว นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ body เมื่อสมัยยังเป็นมนุษย์ มีผลไปถึงโลกหลังความตายเมื่อเป็นเปรตแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น น่าสังเกตว่าแม้จะเป็นเปรตไปแล้ว แต่นางวันทองยังคงมีอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์หลงเหลืออยู่เต็มเปี่ยม จึงยังคงรักลูกผัวไม่อยากให้ทั้งสองฝ่ายต้องมาเข่นฆ่ากันเอง
ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงนี้แหล่ะครับ คือเปรตยังมีจิตใจเป็นมนุษย์ ทั้งผูกพันกับเครือญาติที่ยังไม่ล่วงลับ ทั้งยังเป็นลูก เป็นผัว เป็นเมีย เป็นพี่ป้าน้าอา ฯลฯ คนในครอบครัว ซึ่งยังไม่ ‘ตุย’ เปรตสามารถรับส่วนบุญที่ญาติกรวดน้ำอุทิศไปให้ ในทางตรงกันข้าม เปรตก็จึงเป็นเหตุผลของประเพณีพิธีกรรมการทำบุญของคนที่ยังอยู่ ถือเป็นวิธีการจัดการความตาย ให้ผู้ที่ยังอยู่สามารถทำสิ่งใดเพื่อผู้วายชนม์ได้
ในแง่นี้ เปรตจึงเป็นตัวละครในจักรวาลทัศน์แบบไตรภูมิ ที่ทั้งได้รับความนิยมสูงสุดและทั้งถูกนำไปปรุงแต่งดัดแปลงไปต่าง ๆ นานา สอดคล้องกับที่มนุษย์บนโลกเองก็มีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตไปต่าง ๆ นานาเช่นกัน
เมื่อเปรียบเทียบกัน ผีไทยประเภทอื่น โดยเฉพาะผีพื้นบ้าน ดูจะมี ‘ความเป็นสถาบัน’ ค่อนข้างมาก เมื่อเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเป็นผีประเภทนั้นไปแล้ว ก็จะขาดจาก ‘ความเป็นมนุษย์’ ไปสู่อีกสถานะหนึ่งที่สูงส่งกว่าเดิม แต่เปรตไม่ใช่แบบนั้น เปรตต่ำกว่ามนุษย์ และยังมากด้วยกิเลสตัณหา มีภาวะอารมณ์ความรู้สึกเฉกเช่นมนุษย์
ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะเปรตเป็นภพภูมิเพื่อการลงทัณฑ์แบบหนึ่ง ถ้าไม่รู้สึกรู้สาอะไรแล้ว ย่อมเจ็บปวดไม่ได้ เมื่อเจ็บปวดไม่ได้แล้ว จะลงโทษกันได้อย่างไร ดังนั้น เพื่อให้ได้รับผลกรรมจากการกระทำเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เปรตจึงต้องยังมีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ หากเป็นผีหรือเทวดาไปอย่างสัมบูรณ์แล้ว อารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์ก็จะต้องดับสูญไปด้วย
กล่าวคือ ‘เปรต’ เป็นสภาวะกึ่งกลางระหว่างมนุษย์กับ ‘สถาบันผี’ รูปลักษณ์ผิดแผกน่าเกลียดน่ากลัว แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นผีโดยสัมบูรณ์ มนุษย์เป็นอย่างไร เปรตก็จึงเป็นแบบนั้น (ยกเว้นรูปร่างหน้าตา) ล้อตามกันไป เมื่อเป็นมนุษย์ ทำผิดอย่างใด ก็จะได้ผลกรรมจากการกระทำนั้นเมื่อตายไปเป็นเปรตด้วย
โดยตรรกะแล้ว เปรตจึงเป็นสิ่งที่สามารถจะเป็นหรือเข้าไปได้ทุกพื้นที่ของมนุษย์ แต่ก่อนพื้นที่ดังกล่าวนี้อาจจะคือวรรณกรรมและจิตรกรรม แต่ปัจจุบันนี้กำลังเปลี่ยนมาเป็นโซเชียลมีเดีย เพราะโซเชียลมีเดียเป็นสื่อสาธารณะของยุคปัจจุบัน ไม่ใช่ผนังโบสถ์วิหารเหมือนอย่างในอดีต
สังคมที่คนต้องรอจนกระทั่งตายกันไปแล้ว ถึงจะได้ชดใช้หนี้กรรม คงไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่เท่าไรเลย เป็นสังคมที่กำลังเผชิญปัญหาวิกฤติความเชื่อถึงขั้นสะเทือนสิ่งอันเป็นรากฐานทางอุดมคติหรือขื่อแปของบ้านเมือง ดังนั้น การที่เปรตต้องเข้ามาสู่พื้นที่สื่อสาธารณะ ประหนึ่งปาน ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ ก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า จะเป็นเพราะสังคมปัจจุบันนี้กำลังเผชิญวิกฤติบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเมื่อที่คนสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์เผชิญอยู่หรือไม่?
เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
อ้างอิง
ขุนช้างขุนแผน. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๒๙.
ไตรภูมิ เอกสารจากหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๔.
ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
ธรรมปรีชา (แก้ว), พระยา. ไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา (ไตรภูมิฉบับหลวง). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๐.
ธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง), เจ้าฟ้า. พระมาลัยคำหลวง. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๕๐.
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๕๑.
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
เสถียรโกเศศ. เล่าเรื่องในไตรภูมิ. กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๔๔.
เสมอชัย พูลสุวรรณ. สัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๙.
อุทิศ ศิริวรรณ. “เปรตในพระไตรปิฎก” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๖.