‘พระเจ้าช้างเผือก’: การต่อสู้ระหว่าง ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ กับ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’

‘พระเจ้าช้างเผือก’: การต่อสู้ระหว่าง ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ กับ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’

มองภาพยนตร์เรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ จากมุมเพศสถานะ (Gender) และ ‘เรณู’ กับการสร้างภาพตัวแทนของ ‘สตรีใหม่’ ในยุคเปลี่ยนผ่านจากระบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ สู่ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’

KEY

POINTS

  • พระเจ้าจักราและพระเจ้าหงสาเป็นตัวแทนของการต่อสู้ระหว่าง ‘ชายแท้แบบใหม่’ กับ ‘ชายแท้แบบเก่า’ ในระบบครอบครัว
  • ตัวละคร ‘เรณู’ สะท้อนภาพ ‘สตรีใหม่’ ที่กล้าแสดงความคิดเห็นและเป็นฝ่ายรุกเพื่อความเท่าเทียม
  • ภาพยนตร์แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

(๑) มอง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ จากมุมเพศสถานะ (Gender)

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๘ ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนยกย่องให้ภาพยนตร์เรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือกและเอกสารเกี่ยวข้อง’ (The King of the White Elephant and the archival documents) เป็น ‘มรดกความทรงจำแห่งโลก’ (Memory of the world) (ปัจจุบันสามารถรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ย้อนหลังได้ทางช่องยูทูบหลายช่องด้วยกัน)  
‘พระเจ้าช้างเผือก’ เป็นภาพยนตร์ไทยแต่ใช้บทพูดเป็นภาษาอังกฤษ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เขียนบทและอำนวยการสร้างโดย ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ผู้ซึ่งต่อมาได้รับยกย่องเป็น ‘รัฐบุรุษอาวุโส’ (ของไทย) กำกับการแสดงโดย ‘สันธ์ วสุธาร’ กำกับภาพโดย ‘ประสาท สุขุม’ 

เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ส่งไปประกวดรางวัลโนเบิลเพื่อสันติภาพ (Noble Prize for Peace) ที่สหรัฐอเมริกา และออกฉายเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยฉายรอบปฐมทัศน์พร้อมกันที่ศาลาเฉลิมกรุง สิงคโปร์ และนิวยอร์ก 

กล่าวกันว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพียงเรื่องเดียวที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ฟิล์มขาว - ดำ ซึ่งสะท้อนการถ่ายทำภาพยนตร์แบบดั้งเดิม โดยปราศจากเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยไม่เหมือนอย่างปัจจุบัน  

ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๘ มีบทความจากนักเขียนและสื่อมวลชนหลายสำนักต่างให้ความสนใจเขียนข่าวและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ คาดว่าคงมีอีกหลายบทความด้วยกันที่จะนำเสนออย่างต่อเนื่องไปอีกราว ๑ - ๒ เดือนข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ผู้เขียนจะนำเสนอมุมมอง ‘เพศสถานะ’ (Gender) สำหรับวิเคราะห์แก่นเรื่องที่หนังเรื่องนี้นำเสนอ ซึ่งเป็นมุมมองที่ยังไม่มีการนำเสนอกันเท่าไรนัก เชื่อว่าเป็นแง่มุมสำคัญที่จะช่วยเปิดให้เห็นประเด็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่นำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้    
 

(๒) พระเจ้าจักรา vs. พระเจ้าหงสา

& ชายแท้แบบเก่า vs. ชายแท้แบบใหม่   

นอกเหนือจากศึกสงครามระหว่างอโยธยากับหงสา ความพยายามในการธำรงสันติภาพ ช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้ราษฎรได้รับความทุกข์ยากจากภัยสงคราม ของตัวเอกคือ ‘พระเจ้าจักรา’ (รับบทแสดงโดย ‘เรณู กฤตยากร’) แล้ว ประเด็นเพศสถานะก็นับเป็นจุดเด่นของ ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ตั้งแต่ฉากแรก ๆ ของเรื่อง เมื่อพระเจ้าจักราทรงปฏิเสธโบราณราชประเพณีอย่างการมีมเหสีและสนมจำนวน ๓๖๕ นาง (เท่ากับจำนวนวันใน ๑ ปี) หันไปให้ความสำคัญแก่ ‘การคล้องช้าง’ จนได้ช้างเผือกตัวงามมาตัวหนึ่ง (ใครอยากใช้สรรพนามแทนช้างว่า ‘เชือก’ ตามราชบัณฑิตกำหนดก็ตามสบาย แต่ถ้าอิงในหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว แต่ไหนแต่ไร ช้างก็ใช้สรรพนามว่า ‘ตัว’ เหมือนอย่างสัตว์อื่นนั่นแลขอรับ) และช้างเผือกตัวนี้เองเป็นที่มาของสมญา ‘พระเจ้าช้างเผือก’ 

‘พระเจ้าช้างเผือก’: การต่อสู้ระหว่าง ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ กับ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’

อนึ่ง ตามระบบคิดแบบเก่าที่ยึดถือกันแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ‘ช้างเผือก’ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของบ้านเมืองในโลกพุทธศาสนา ถือเป็นของคู่บุญบารมีของพระมหากษัตริย์ชั้นที่เป็น ‘พญาจักรพรรดิราช’ หมายถึงผู้ปกครองสูงสุดในยุคที่ไม่มีพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งสถานะเช่นนี้ถือเป็นที่พึ่งแก่เหล่าสรรพสัตว์ (ในยุคที่ไม่มีพระพุทธเจ้า) เนื่องจากตามพุทธประวัติ สิ่งที่พระนางสิริมหามายาทรงพระสุบินนิมิตถึงในคืนวันก่อนที่จะทรงตั้งครรภ์เจ้าชายสิทธัตถะนั้นคือ ‘ช้างเผือก’ ดังนั้นช้างเผือกจึงถือเป็นสัตว์มีบุญบารมีสูง เป็นที่ปรารถนาแก่ผู้นำบ้านเมืองต่าง ๆ ที่นับถือพุทธศาสนา หมายจะได้ไว้ปกปักรักษาทนุบำรุงดูแล เพราะช้างเผือกตัวนั้นอาจไปจุติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตชาติได้  

หากบ้านเมืองใดพบช้างชนิดนี้ตามธรรมชาติ แล้วไปคล้องจับมาไว้ได้ จะถือเป็นเกียรติยศอย่างมาก หรือหากไม่มีพบในบ้านเมืองของตน จะก่อสงครามไปแย่งชิงเพื่อนำเอาช้างนี้มาสู่บ้านเมืองของตนก็ไม่ผิด และถือเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้สำหรับยุคสมัยที่มีคติความเชื่อร่วมกันในเรื่องนี้  ซึ่งหากมองย้อนหลังไป แล้วไม่เข้าใจระบบความคิดตรงนี้ก็อาจจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ที่จะมาทำศึกสงครามให้ผู้คนล้มตายเพียงเพื่อช้าง แต่ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้ได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ สงครามระหว่างพระเจ้าหงสากับพระเจ้าจักราไม่ใช่สงครามเพื่อช้าง หากแต่เป็นสงครามที่มีเจตนาอย่างอื่นอยู่เบื้องหลัง แล้วเอาช้างมาเป็นข้ออ้างเท่านั้น  

ในขณะที่ ‘พระเจ้าหงสา’ (รับบทแสดงโดย ‘ประดับ รบิลวงศ์’) มีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างจากพระเจ้าจักราอย่างสิ้นเชิง มีมเหสีและสนมกว่า ๓๖๖ นาง ทำลายสถิติ อีกทั้งยังทรงฝักใฝ่การเสพสุราและหมกมุ่นกับการทำศึกสงครามขยายอำนาจแผ่บารมีส่วนพระองค์ ไม่สนว่าสงครามจะก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ไพร่ราษฎร ดังนั้น พระเจ้าหงสาเมื่อมีมหาอำนาจหนุนหลังคือราชวงศ์โมกุลของอินเดีย ก็จึงฉีกสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีที่เคยทำไว้กับอโยธยา ยกทัพไปรุกรานอโยธยา 

โดยในระหว่างทางเมื่อตีเมืองกานบุรี (กาญจนบุรี) ได้ ก็ให้ทหารไปกระทำการฉุดคร่าสตรีชาวเมือง ซึ่งหากมองตาม ‘โบราณราชประเพณี’ แล้วสิ่งที่พระเจ้าหงสากระทำนั้นถือว่าทำได้ ไม่ผิด แต่หากมองตามระบบคิดอีกชุดหนึ่งซึ่งมีรากฐานที่มาจากอารยธรรมโลกสมัยใหม่แล้ว สิ่งนี้ถือว่าผิด ควรยกเลิก ไม่ควรประพฤติทำอีกต่อไป    

พระเจ้าหงสาเป็นตัวแทนของ ‘ชายแท้แบบเก่า’ ขณะที่พระเจ้าจักราเป็นตัวแทนของ ‘ชายแท้แบบใหม่’ ชายแท้แบบเก่าซึ่งอยู่ภายใต้ระบบคิดแบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ นั้น การที่ผู้ชายจะมีเมียเยอะไม่ใช่เรื่องผิด ตรงข้ามเมียเยอะเป็นสิ่งแสดงออกถึงอำนาจบารมีและความมั่งคั่ง ผู้หญิงถือเป็นทรัพย์สมบัติในกรรมสิทธิ์ของผู้ชาย แต่ชายแท้แบบใหม่ภายใต้ระบบคิดแบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ การที่ผู้ชายมีเมียคราวเดียวหลายคนเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ชาย - หญิงควรรักเดียวใจเดียว ชาย - หญิงมีความเท่าเทียมกัน ผู้หญิงไม่ใช่ทรัพย์สมบัติในกรรมสิทธิ์ของผู้ชายอีกต่อไป   

เราต้องไม่ลืมว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์อภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (Absolute monarchy) มาเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitution king) เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเพิ่งผ่านไปได้เพียง ๙ ปี (๒๔๗๕ - ๒๔๘๓) แถมผู้เขียนบทและอำนวยการสร้างยังคงบุคคลสำคัญชั้น ‘มันสมอง’ ของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงอีก 

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสันติภาพ อันเป็นแก่นเรื่องที่ต้องการนำเสนอแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงเพศสถานะที่มีความพยายามจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงล้อไปกับระบอบการปกครองแบบใหม่อีกด้วย ระบบผัวเดียวหลายเมียตามอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ได้ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์จากคนหนุ่มสาวสมัยนั้นเป็นอันมาก ระบบผัวเดียวหลายเมียอาจจะ ‘เวิร์ค’ สำหรับยุคที่มีชนชั้นนำเป็นเจ้า แต่สำหรับยุคที่ผู้นำเป็นสามัญชน พวกเขาสนับสนุนระบบผัวเดียวเมียเดียวมากกว่า เพราะเข้ากันได้กับหลักการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน 

ความเสมอภาคเท่าเทียมกันที่ว่านี้ นอกจากหมายถึง ๑ สิทธิ ๑ เสียงเท่ากันในฐานะประชาชนของคนทุกคนภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ยังหมายถึงความเท่าเทียมกันระหว่างชาย - หญิงอีกด้วย รัฐธรรมนูญสยามตั้งแต่ฉบับแรกจึงให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งได้เท่ากับผู้ชาย ต่างจากประเทศอื่นแม้แต่อย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น กว่าที่ผู้หญิงจะได้สิทธินี้ก็ใช้เวลานานหลังผ่านเหตุการณ์ช่วงอภิวัฒน์ไปแล้วระยะหนึ่งแล้ว และขบวนการสตรียังต้องเป็นฝ่ายเรียกร้องสิทธินี้เอาเองอีกด้วย ไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญให้ตั้งแต่แรกเหมือนอย่างสยาม     

ชายแท้ในระบอบใหม่ เป็นชายที่เห็นสตรีมีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกับตน การต่อสู้ระหว่างพระเจ้าหงสากับพระเจ้าจักราจึงคือการแสดงภาพตัวแทนของการต่อสู้กันระหว่างชายแท้ ๒ ระบอบ โดยเป็นการต่อสู้ชนช้างกันแบบตัวต่อตัวอย่างชายแท้ (ลูกผู้ชายชาตรี) ผลก็อย่างที่ทราบกันคือชายแท้แบบเก่าพ่ายแพ้พลัดตกจากหลังช้างสิ้นพระชนม์ 

การที่ฝ่ายหงสามีผู้นำชายแท้แบบเก่านำไปสู่ความพ่ายแพ้ให้แก่อโยธยา ซึ่งมีผู้นำเป็นชายแท้แบบใหม่ การพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช พ.ศ. ๒๔๗๖ ทำให้สามารถมีภาพยนตร์หรือสื่ออื่นนำเสนอประเด็นแหลมคมแบบนี้ออกมาได้ 

(๓) ‘เรณู’ สตรีใหม่ในยุคระบอบใหม่ 

นางเอกของเรื่องคือ ‘เรณู’ (รับบทแสดงโดย ‘ไพริน นิลรังสี’ หรือปัจจุบันชื่อ ‘ไอรีน นิตยวรรธนะ’) บุตรสาวของเสนาบดีสมุหราชมณเฑียร (รับบทแสดงโดย ‘สุวัฒน์ นิลเสน’) แรกนางปรากฏตัวในฐานะนางรำที่มารำต่อเบื้องพระพักตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องหลังของการรำคือเพื่อให้พระเจ้าจักราได้ทรงยลสิริโฉม ถูกใจนางใดก็เลือกมาแต่งตั้งเป็นพระมเหสีและพระสนม เรณูซึ่งถูกจัดตำแหน่งให้รำอยู่แถวหน้านางรำคนอื่น ๆ มีสีหน้าแสดงออกว่าไม่เต็มใจในการมารำถวายตัว จึงออกจะนำแบบแข็ง ๆ และก้มหน้าไม่พยายามสบพระเนตรกับพระเจ้าจักรา  

‘พระเจ้าช้างเผือก’: การต่อสู้ระหว่าง ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ กับ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’

ฝ่ายพระเจ้าจักราก็ไม่ได้สนพระทัยการรำแม้แต่น้อย ทรงอ่านสาส์นลับที่ส่งมาถวายพระองค์ เป็นสาส์นเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อทรงทราบว่ากษัตริย์โมกุลกับพระเจ้าหงสาเป็นไมตรีต่อกันแล้ว ก็ทรงเล็งเห็นการว่าอโยธยากำลังมีภัย เพราะพระเจ้าหงสาที่มีมหาอำนาจหนุนหลังจะยกทัพมารุกรานอโยธยาเป็นแน่ เมื่อทรงหวาดหวั่นวิตกกังวลเช่นนี้ จึงไม่มีพระทัยจะสนใจการรำถวายตัว และเมื่อการรำเสร็จสิ้นลง ก็ไม่ได้เลือกนางใดมาเป็นพระมเหสีหรือพระสนม แล้วให้เตรียมการเสด็จไปคล้องช้างเพื่อเตรียมการป้องกันบ้านเมือง 

ฝ่ายเสนาบดีสมุหราชมณเฑียร เมื่อเห็นดังนั้น ก็ไม่ได้ลดละความพยายาม ยังกราบทูลถวายความเห็นพิลึกพิลั่นที่ว่า หากมีพระมเหสีและพระสนม ๓๖๕ นาง แล้วให้นางเหล่านั้นไปช่วยคล้องช้างก็คล้องช้างได้มากขึ้นกว่าที่ทรงเสด็จไปคล้องช้างเพียงลำพังพระองค์เดียว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากพระเจ้าจักราอยู่ดี เพราะไม่เห็นว่าสตรีจะไปช่วยงานที่มีอันตรายอย่างการคล้องช้างได้อย่างไร       

เรื่องนี้สร้างความผิดหวังให้แก่เสนาบดีผู้เป็นบิดาของเรณูอย่างยิ่ง ถึงกับตัดพ้อกับเหล่าเพื่อนขุนนางด้วยกันบริภาษถึงพระเจ้าจักราผู้เป็นนายทำนองล้อขำขันว่า การคล้องช้างมันจะไปสนุกเหมือนอย่างการได้ร่วมหอกับหญิงงามได้อย่างไร ตอนนี้เองที่เรณูได้แสดง ‘วิชั่น’ โต้แย้งบิดาว่า ช้างมันออกจะน่ารักและมีประโยชน์แก่บ้านเมือง ที่พระเจ้าจักราทรงทำเช่นนั้นก็ถูกต้องแล้ว 

เรณูเป็นแบบฉบับของสาวสมัยใหม่ที่มีความเห็นต่างจากบิดา แน่นอนนางย่อมไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการที่บิดาจะจัดการให้นางได้เป็นมเหสีของพระเจ้าจักราแบบ ‘คลุมถุงชน’ ผ่านการรำถวายตัวให้พระองค์เป็นฝ่ายเลือก โดยที่ไม่เคยได้ทำความรู้จักสนิทสนมกันมาก่อน แต่ทว่าจากการที่พระเจ้าจักราไม่เลือกนางรำนางใดเลยสักนาง แล้วเสด็จไปประพาสคล้องช้าง เป็นสิ่งที่ทำให้นางมีความประทับใจต่อพระเจ้าจักรา  

เมื่อได้พบพระเจ้าจักราอีกครั้ง หลังจากเสด็จกลับจากไปทำศึกกับหงสามา นางจึงตัดสินใจเป็น ‘ฝ่ายรุก’ ถึงแม้ไม่มีบทแสดงให้เห็น เราในฐานะผู้ชมก็ดูออกว่า ก่อนที่นางจะพบพระเจ้าจักราอีกหรือในระหว่างที่พระเจ้าจักราไปทำศึกอยู่นั้น ดูเหมือนนางจะศึกษาพระเจ้าจักราและหมายมั่นจะพิชิตพระทัยพระองค์มาเป็นอย่างดี พระนางจึงพูดในสิ่งซึ่งพระเจ้าจักราอยากจะได้ยินได้ฟัง เมื่อพระเจ้าจักราเห็นเรณูมีไหวพริบ รอบรู้ และมีความคิดอ่านแตกต่างจากคนรุ่นเก่าอย่างบิดาของนาง พระองค์ก็ประทับใจและรับนางเข้าวังไปพร้อมกัน 

เรณูในฐานะสตรีที่เป็น ‘ฝ่ายรุก’ พุ่งเข้าหาผู้ชายก่อน ไม่ได้ทำตัวสวย ๆ รอให้ผู้ชายมาจีบหรือเป็นฝ่ายรุกเข้าหาเอง อย่างที่นางแสดงออก ยังเป็นสิ่งที่แปลกใหม่อย่างมากสำหรับสังคมไทยสยาม เมื่อกว่า ๘๕ ปีที่แล้ว แม้จะเป็นช่วงหลังเปลี่ยนผ่านจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชมาไม่กี่ปีแล้วก็ตาม  แต่อาจเป็นสิ่งยอมรับได้ในเมื่อฝ่ายชายคือพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงอำนาจ (แต่ก็ถูกจำกัดบทบาทด้วยโบราณราชประเพณี) อย่างไรก็ตามตรงนี้นับเป็นการพลิกบทบาทสตรีจาก ‘ผู้ถูกกระทำ’ (Passive) มาเป็น ‘ผู้กระทำการ’ (Agency)   

อนึ่ง การต่อต้านการแต่งงานแบบ ‘คลุมถุงชน’ โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ได้มีสิทธิเลือกชายผู้จะมาเป็นสามี และเรียกร้องการแต่งงานอย่างเสรี เป็นสิ่งที่คนหนุ่มสาวรุ่นทศวรรษ ๒๔๗๐ - ๒๔๘๐ กระทำล้อมากับการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองอยู่ตลอด ปรากฏในรูปแบบนวนิยายและงานเขียนหลากหลายตามสื่อหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่คนหนุ่มสาวรุ่นโน้นจะมีความขัดแย้งกับคนรุ่นก่อนอย่างร้าวลึกจนถึงระดับครอบครัว บุตรธิดามักต่อต้านไม่เชื่อฟังบุพการี 

เนื่องจากบิดามารดามักใช้อำนาจบีบบังคับให้บุตรหลานแต่งงานเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่คำนึงถึงความคิดจิตใจและสิทธิในการเลือกของบุตรหลาน ยิ่งคำว่า ‘ความรัก’ ยิ่งไม่มีในพจนานุกรมของผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวของบ้านเมืองช่วงนั้น พวกเขาคิดว่า “อยู่ด้วยกันไป สักพักเดี๋ยวก็รักกันเอง” รุ่นนั้นจึงเกิดประเพณีอีกอย่างหนึ่งคือการหนีตามกันไป สักพักค่อยกลับมา ‘เสียผี’ ขอขมาลาโทษ บ้างเป็นที่มาของวาทกรรม “เมียแต่งคือเมียเทวดา เมียฉุดมาคือเมียรัก” คือกลายเป็นว่าการสร้างครอบครัว แทนที่จะเป็นเรื่องสงบสันติ กลับเริ่มต้นจากความรุนแรง   

ด้วยเหตุดังนั้น ก็จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสมัยนั้นที่จะมีภาพยนตร์แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า สาวสมัยใหม่เช่นเรณูย่อมจะเห็นต่างและขัดแย้งกับบิดาในเรื่องคู่ครอง ถึงแม้ว่าชายผู้นั้นจะคือคนเดียวกับที่บิดาพยายามจัดหาให้อยู่ก็ตาม แต่วิธีการที่จะได้มาซึ่งคู่ครองก็สำคัญพอ ๆ กับคู่ครองคนนั้นคือใคร เพราะจะเกี่ยวโยงถึงบทบาทหน้าที่ การได้ความยอมรับ เกียรติยศและศักดิ์ศรีหลังจากแต่งงานอยู่กินกันไปแล้ว      

ฉะนั้นแล้ว ตามเนื้อเรื่องสิ่งเรณูต้องการก็คือการได้รับการยอมรับจากว่าที่พระสวามี เพื่อนางจะได้เป็นสตรีที่ ‘เคียงบ่าเคียงไหล่’ อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เป็น ‘ช้างเท้าหลัง’ หรือ ‘หลังบ้าน’ ที่ไม่มีบทบาทช่วยหน้าที่การงานของสามีแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเนื้อเรื่องนั้นเป็นหน้าที่การงานอันเกี่ยวแก่ผลประโยชน์ของ ‘ชาติบ้านเมือง’   

สิ่งที่เรณูกราบทูลต่อพระเจ้าจักราแล้วทำให้ทรงสนพระทัยนางก็คือประโยคที่ว่า “การเลี้ยงดูมเหสีอีก ๓๖๕ นางนั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า” พระองค์พอพระทัยอย่างมาก จึงได้รับนางเข้าวัง ให้เดินเคียงคู่ ไม่ต้องหมอบคลาน ตรัสบอกจะพานางไปคล้องช้างด้วย แล้วแต่งตั้งนางเป็นพระราชินีเพียงองค์เดียว 

ลงท้ายเรณูยังทูลแนะวิธีแก้เผ็ดบิดาของนาง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี ๓๖๕ องค์แก่เสนาบดีสมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า “เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ”  

สรุปคือ เรณูได้รับเลือกจากพระเจ้าจักราให้เป็นพระราชินีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ใช่เพราะรำถวายเก่ง แต่เพราะมีไอเดียแบบใหม่ ที่เข้ากันได้กับชายแท้ใหม่อย่างพระเจ้าจักรา เป็นความรักระหว่างหนุ่มสาวที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน นอกจากมีความรักให้แก่กันและกันแล้ว ยังรู้จักรักคนอื่นไปพร้อมกันด้วยนั่นเอง     

(๔) สยาม-ไทย & ผัวเดียวหลายเมีย - ผัวเดียวเมียเดียว 

นอกจากเรื่องสงครามและสันติภาพ ประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก นำเสนอตั้งแต่ต้นและตอนปิดท้าย ก็คือเรื่อง ‘เพศสถานะ’ ซึ่งล้อมากับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความเรียกร้องต้องการมีสิทธิเสียงเสมอภาคกับผู้ชายเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมของยุคสมัยนั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ทำให้หนังเรื่องนี้มีคุณค่าในอีกแง่มุมหนึ่งที่หาชมได้ยากจากภาพยนตร์ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงน้อยนิด  

นอกจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ดังที่เราทราบกันภายหลังแล้ว การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันในยุคสมัยนั้นก็คือการเปลี่ยนผ่านจากระบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ (ไม่ใช่หลายผัวหลายเมีย) มาสู่ระบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ ซึ่งเป็นประเด็นครอบรวมถึงเรื่องแนวคิดและมุมมองต่อครอบครัว เรื่อยไปจนถึงเรื่อง ‘ชาติบ้านเมือง’  

เนื่องจาก ‘ครอบครัว’ ถือเป็นหน่วยพื้นฐานสำคัญที่สุดสำหรับ ‘ชาติบ้านเมือง’ ดังนั้น การเรียกร้องการปรับปรุงลักษณะรูปแบบครอบครัวจากแบบผัวเดียวหลายเมียมาสู่ผัวเดียวเมียเดียว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบถึงลักษณะ ‘อัตลักษณ์ความเป็นชาติ’ (National identity) ระบบเดิมถือว่าไม่เหมาะสมเพราะย่อมทำให้ผู้ชายหมกมุ่นกับความสุขส่วนตัวจนหลงลืมส่วนรวม สมัยนั้นเขาล้อชนชั้นนำว่า “เข้าแต่หอ ล่อกามา” คือพวกที่ประพฤติตนหมกมุ่นแต่กามารมณ์จนหลงลืมบทบาทหน้าที่ต่อบ้านเมือง 

แต่ทั้งนี้ระบบคิดแบบผัวเดียวเมียเดียว ก็ยังคงขึ้นกับวัฒนธรรมสังคมแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ (Patriarchy) การเรียกร้องให้ผู้หญิงมีบทบาทนอกบ้านในฐานะ ‘เคียงบ่าเคียงไหล่’ ในขณะที่ไม่ได้มีการลดหรือยกเลิกบทบาทสตรีในฐานะ ‘หลังบ้าน’ ยังถูกมองได้ว่าเป็นการเพิ่มภาระให้แก่สตรีอีกด้วย เพราะพวกนางยังคงต้องรักษาบทบาทหน้าที่ ‘ในบ้าน’ ต้องทำหน้าที่ ‘แม่และเมีย’ โดยไม่ขาดตกบกพร่อง ในขณะเดียวกันก็ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้านช่วยหาเลี้ยงครอบครัวหรือช่วยเหลือประเทศชาติบ้านเมืองในฐานะ ‘ดอกไม้ของชาติ’ อีกต่อหนึ่งด้วย 

กลายเป็นว่า ‘ชาติ’ กับผู้ชายถูกทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน (ไปซะงั้น?)              


เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: ยูทูบ Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์)

อ้างอิง
    UNESCO. “The King of the White Elephant and the archival documents” https://www.unesco.org/en/memory-world/register2025 (April 17, 2023). 
    กองบรรณาธิการประชาไท. “ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเอกสาร 74 รายการ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก รวมถึง 3 รายการจากไทย” https://prachatai.com/journal/2025/04/112653 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568). 
    สถาบันปรีดี พนมยงค์. “PRIDI Interview ไอรีน นิตยวรรธนะ : นางเอกพระเจ้าช้างเผือก หนังไทยแห่งสันติภาพ” https://pridi.or.th/th/content/2024/04/1912 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568).