23 พ.ค. 2568 | 15:25 น.
บนเส้นทางสายดนตรีที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความไม่แน่นอน ความกล้าที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านบทเพลง คือพลังสำคัญที่ทำให้นักแต่งเพลงหลายคนยืนหยัดอยู่ได้ในโลกแห่งเสียงเพลง
และเรื่องราวของนักแต่งเพลง คือ สิ่งที่บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MCT ให้ความสำคัญจึงร่วมมือกับสื่อออนไลน์ The People จัดงาน ‘MCT Presents Songwriter Thailand Showcase 2025 : Songs of Tomorrow’ เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เสียงเล็ก ๆ จากนักแต่งเพลงได้เปล่งประกายท่ามกลางผู้ฟังที่รอคอยงานเพลงที่สะท้อนหัวใจและประสบการณ์ชีวิตของพวกเขา
โดยครั้งนี้ MCT เปิดรับบทเพลงของนักแต่งเพลงหน้าใหม่ทั่วประเทศ ภายใต้โจทย์ “อดีต • ปัจจุบัน • อนาคต” โดยมีผู้ส่งเข้าร่วมกว่า 1,000 เพลง ก่อนจะคัดเลือกเหลือเพียง 10 เพลงที่สะท้อนความหมายของการเป็น “เสียงของอดีต • ปัจจุบัน • อนาคต” อย่างแท้จริง
The People คุยกับ 3 ผู้ชนะเลิศจากการประกวดถึงเรื่องราวเบื้องหลังบทเพลง การต่อสู้บนเส้นทางนักแต่งเพลง และภาพวงการนักแต่งเพลงที่เขาอยากเห็นในวันพรุ่งนี้
เพราะเรื่องราวจากพวกเขาคือเครื่องยืนยันว่า การลงมือทำอย่างไม่หยุดยั้งและการไม่ยอมแพ้ระหว่างทางยังเป็นพลังที่แท้จริงของนักแต่งเพลงยุคใหม่
ตัวตนจริง ๆ ของ อริญชย์ หมัดนุรักษ์ ผู้ชนะเลิศการประกวดแต่งเพลง ‘Songwriter Thailand Showcase 2025’ เป็นเพียงชายคนหนึ่งที่ทำผิดพลาดในบางเรื่อง รวมถึง ‘ความรัก’ ประกอบกับเป็นคนชอบฟังเพลง เขาจึงเลือกที่จะถ่ายทอดมุมมองความรักผ่านเพลงที่เขาเขียน
แล้ว 10 Minutes Before… ก็เป็นหนึ่งในเพลงเหล่านั้น เพลงที่เขาแต่งขึ้นและถูกเก็บไว้ใน google drive มานานถึง 2 ปี ก่อนจะตัดสินใจส่งประกวดในวินาทีสุดท้าย
เพลงแนวโซลผสม R&B ที่สะท้อนความจริงว่า ถึงแม้จะรักกัน แต่การฝืนรักษาความสัมพันธ์อาจกลับกลายเป็นการทำร้ายกันไม่รู้จบ
“10 minutes before… มาจากเรื่องราวนี้เกิดขึ้นมา 10นาที ก่อนที่เราจะเลิกกัน มันให้ความรู้สึกเหมือนชายหญิงกำลังทะเลาะกัน เรารักกันอยู่ แต่ยัง toxic ใส่กัน สุดท้ายเราต้องหาทางออกให้กับความสัมพันธ์ที่ไปต่อไม่ได้”
แม้จะมีประสบการณ์รับงานแต่งเพลงและแข่งแต่งเพลงอยู่บ้าง แต่การคว้ารางวัลชนะเลิศครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องเตือนใจที่ทำให้อริญชย์ทำสิ่งที่เขารักต่อไป
“มันเตือนผมเหมือนกันว่า สุดท้ายแล้ววันนี้ตั้งใจทําไปก่อน มันอาจจะยังไม่ตอบแทนเราวันนี้ แต่สักวันหนึ่งมันอาจจะทําอะไรบางอย่างให้เราได้ รางวัลเป็นอีกก้าวเล็ก ๆ ที่ fulfill ใจเราและปลุกไฟในตัวเราได้”
วันนี้เขาอาจเป็นเพียงนักแต่งเพลงหน้าใหม่ และมีเรื่องราวมากมายที่จะถ่ายทอดผ่านบทเพลงของเขา แต่วงการเพลงเปลี่ยนไปทุกวัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้นักแต่งเพลงอยู่รอดในสายตาของอริญชย์ คือ การไม่หลงลืมตัวตน
“วงการเปลี่ยนแทบจะทุกวัน ทุกเดือนเลย มันผ่านไปเร็วมาก ผมคิดว่าเราตามเทรนด์ได้แต่เราอย่าเสียตัวตนของเรา ต้องยึดให้ได้ว่าเราชอบอะไรแล้วอยากแต่งเพลงอะไร ถ้าเรายังมีความรักในเสียงเพลงอยู่ เราจะสามารถประยุกต์ให้เป็นผลงานที่ดีได้”
ในวงการที่การแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน ระหว่างทางอาจรู้สึกท้อบ้าง หมดไฟบ้าง แต่ทั้งหมด คือ กระบวนการที่จะทำให้คุณพร้อมที่สุดเมื่อโอกาสมาถึง
“แค่ตอบตัวเองได้ว่า วันนี้เราแต่งเพลงแล้วรู้สึกรักหรือชอบก็พอแล้ว ส่วนเรื่องโอกาส ถ้ามันจะมามันก็มา เราแค่เตรียมตัวให้พร้อมกับโอกาสที่มันจะเข้ามา ไม่ต้องคิดว่าเพลงมันจะต้องดังวันนี้ แค่ทําต่อไป”
เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับนักแต่งเพลงที่หยิบประสบการณ์ของตัวเอง เรื่องเล่าของคนอื่นมาสร้างสรรค์เป็นเนื้อเพลงเพื่อจับใจผู้คน แต่ ‘นพรุจ ศรีม่วง’ ผู้คว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 เลือกที่จะเอาคำพูดของรุ่นน้องในบทสนทนาว่าด้วยเรื่อง ‘จิตวิญญาณ’ มาแต่งเพลง
“มันเกิดจากการคุยกับรุ่นน้อง เรื่อง spiritual แล้วน้องคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาคำหนึ่งว่า ฉันยังไม่พร้อมตื่น ผมเป็นคนสนใจเรื่องการเรียนรู้ภายใน พอยท์หลักของคำว่าผู้ชมเหมือนการเฝ้ามองอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาแล้วเอามาผสมกับเรื่องความรัก”
ขณะเดียวกัน มากกว่าการเป็นนักแต่งเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวที่เข้าถึงผู้คน นพรุจอยากเป็นนักแต่งเพลงที่สอดแทรกแนวคิดของชีวิตที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกหรือเรื่องราวเหล่านั้น
“สมมติพูดถึงเพลงเพลงหนึ่งมาจาก กูอกหัก ผมรู้สึกว่าเรื่องมันจบง่ายไปหน่อย เราทํางานศิลปะ ผมก็อยากจะมีอะไรที่อยู่ด้านหลังเรื่องนี้มากกว่าการตีความไปในเรื่องเดียว”
นพรุจบอกต่อว่า มากกว่าที่จะเป็นเพลงที่บอกเล่าความจริงสองด้านเพียงอย่างเดียว เพลงคือภาพสะท้อนชีวิตของเขาแต่ละช่วงเวลา
เหมือนไดอารีที่บันทึกเรื่องราวและความรู้สึกของเขาในวันเก่า ๆ เอาไว้ เรื่องราวที่เขารู้เพียงคนเดียวและส่งต่อให้คนอื่นผ่านเพลงที่เขาแต่งขึ้นมา
“เพลงช่วยเตือนความทรงจำบางอย่างที่เราเขียนตามความเข้าใจในช่วงอายุนั้น ๆ เหมือนได้กลับไปทบทวนตัวเองว่า ช่วงนั้นเราคิดอะไร เข้าใจแบบไหน บางทีกลับไปก็เขิน ๆ บางเพลงทำให้เรายอมรับว่า วันนั้นเราเข้าใจเท่านั้นจริง ๆ”
วันนี้มีนักแต่งเพลงเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน หมายความว่า ผู้ฟังจะได้ฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้น และค้นพบแนวเพลงที่สนใจได้ง่ายขึ้น
แทนที่จะมองเป็นการแข่งขัน นพรุจมองว่า ทุกคนมีฐานคนฟังของตัวเอง จะมากหรือน้อยคนก็ยังคงฟังเพลงของเรา นี่คือหมุดหมายที่ดีและเป็นน้ำที่หล่อเลี้ยงของคนทำงานในวงการไม่ให้ยอมแพ้ไปก่อน
“ทุกคนมีฐานเป็นของตัวเอง จะมากจะน้อยก็มีคนตามฟังอยู่ดี ผมมองว่าสิ่งนี้เป็นช่องทางที่ทําให้คนสร้างงานที่ไม่ได้อยู่ในสื่อใหญ่ได้มีกําลังหล่อเลี้ยงบนเส้นทางนี้เนี่ยครับ ก็ก็ถือว่า เป็นหมุดหมายที่น่าสนใจ และก็เป็นสัญญาณที่ที่ดูสว่าง”
การเป็นนักแต่งเพลง หลาย ๆ คนกลัวและไม่กล้าที่จะปล่อยผลงานเพลงออกมาให้คนฟังได้ฟังจริง ๆ แต่ทุกก้าวเดินใหม่ วันแรกมันยากเสมอ
นพรุจก็เป็นคนที่ไม่กล้าลงมือทำมาก่อน แต่เพื่อสิ่งที่เขารัก เขาจึงค่อย ๆ เขยิบเส้นความกล้าในใจออกมาทีละนิด แต่ในฐานะนักแต่งเพลงเขารู้ดีว่า เส้นทางนี้มันยากแค่ไหน ไม่ได้มีคำแนะนำสวยหรู และ
“คนที่ไม่กล้า สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว คือ ต้องกล้า ถ้าอย่างนั้นเราจะติดอยู่ในลูปของความไม่กล้า ค่อย ๆ สะสมทีละนิด ไม่ต้องกระโดดออกมากล้าเลยก็ได้ ค่อย ๆ เขยิบมาก็ได้”
แล้วการที่มีพื้นที่ให้คนแต่งเพลง คนที่รักสิ่งเดียวกันมาเจอกัน นพรุจเองก็เชื่อว่า ช่วงเวลาสั้น ๆ ของงาน ‘MCT Presents ‘Songwriter Thailand Showcase 2025’ : Songs of Tomorrow’ จะเป็นแรงใจที่ดีให้คนทำงานเพลงตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดีต่อไป
“ผมว่ามันดีมาก ในแง่หนึ่งมันอาจจะพลิกชีวิตคนไปเลย ทําให้คนที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองเขียนเพลงได้ รู้สึกว่าการเขียนของเขามีประโยชน์มัน มีคนมองเห็น แล้วก็อาจจะได้นักแต่งเพลงใหม่ใหม่ในประเทศไทยเลยก็ได้”
“ทําไมผมแต่งเพลงมาตั้งนาน ทําไมไม่มีใครรู้จักเพลงผมเลย”
นี่คือคำถามของ ‘ปรานต์ ภัทรางกุล’ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากเวทีการประกวด ‘Songwriter Thailand Showcase 2025’ ถึง ‘วงนั่งเล่น’ วงดนตรีต้นแบบที่ทำให้เขาอยากแต่งเพลงที่แฝงด้วยปรัชญาและเข้าถึงง่าย
ชื่อเพลงที่เขาส่งเข้าประกวดจึงเป็นประโยคง่าย ๆ คือ ‘คำถามถึงพี่ ๆ วงนั่งเล่น’
คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่สะท้อนเส้นทางการเป็นนักแต่งเพลงของเขามา 30 ปี
เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาเป็นนักแปลเอกสารกฎหมาย มีงานแต่งเพลงเป็นงานอดิเรก เพลงทุกเพลงถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก ไม่เคยปล่อยออกมาเลยสักครั้ง
เมื่อกาลเวลาผ่านไป เขาท้าทายตัวเอง ลองปล่อยเพลงออกมา แต่กลับไม่มีคนรู้จัดเขาเลย ปรานต์เลยเลือกที่จะส่งเพลงเข้าประกวดแล้วคว้ารางวัลได้สำเร็จ
“ชีวิตผมขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอด ชีวิตค่อนข้างแย่ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วเนี่ย ผมเริ่มมีชีวิตเป็นของตัวเองได้ กลับมายืนอยู่ด้วยตัวเองได้ หาเลี้ยงชีพตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้ แต่สิ่งที่ผมทิ้งไม่ได้คือเรื่องดนตรี
“ผมแต่งเพลง ผมเก็บไว้คนเดียว ไม่เคยโปรโมท ไม่เคยนําเสนอต่อใครเลย ความยากเกิดขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนผมเอาเพลงที่ผมแต่งแล้วมาทําใส่ทํานองทําดนตรีเสร็จ ปล่อยออกสู่สาธารณชน ไม่มีใครรู้จักผมเลย นั่นคือความยาก”
การอยู่กับคำถามเดิม ๆ ติดอยู่ในลูปของความคิดว่าเราอาจยังไม่ดีพอไม่ใช่เรื่องง่าย แต่รางวัลจากเวที ‘MCT Presents ‘Songwriter Thailand Showcase 2025’ : Songs of Tomorrow’ ทำให้เขายังมีแรงสู้ต่อ และรับรู้ว่า งานของเขายังมีคุณค่าและมีคนที่รักเพลงของเขา
อีกทั้งการเดินทางจากเชียงใหม่มาถึงกรุงเทพฯ ถึงจะยาวนาน แต่เขามองว่า การที่นักแต่งเพลงต่างรุ่น หลากวัย และหลายประสบการณ์มาเจอกัน ทำให้เขาเจอสังคมที่ทำให้รู้ว่า เขาไม่ได้สู้อยู่คนเดียว
“มีคนเข้าร่วมงานเยอะกว่าที่ผมคิด ผมไม่คิดว่านักแต่งเพลงในเมืองไทยจะมีเยอะขนาดนี้ ถือว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาอีกระดับหนึ่ง ผมแปลเอกสารผมอยู่ในถ้ำ ผมไม่เคยมาเจอสังคมแบบนี้ ถือว่าดี ยินดีและสนับสนุนให้จัดงานแบบนี้ต่อไป”
เมื่อถามถึงคำพูดที่อยากส่งต่อถึงคนที่กำลังเคี่ยวกรำตัวเองบนเส้นทางการแต่งเพลง และสงสัยว่า เมื่อไหร่วันของเราจะมาถึง ปรานต์ตอบกลับด้วยคำพูดสั้น ๆ เพียง 3 คำว่า “อย่ายอมแพ้”
แม้จะต้องใช้เวลาและรอคอยจังหวะเวลา แต่ทุกบทเพลง ทุกเหตุการณ์ และทุกความรู้สึกมันจะกลายเป็นความทรงจำที่เราจะจดจำไว้อีกนานเท่านาน