UNFPA และ FHI 360 เปิดผลวิจัยความเปราะบางของสถานพยาบาลรับมือ ‘โลกร้อน’

UNFPA และ FHI 360 เปิดผลวิจัยความเปราะบางของสถานพยาบาลรับมือ ‘โลกร้อน’

เปิดผลการศึกษางานวิจัยที่เป็นความความร่วมมือของ UNFPA และ FHI 360 เพื่อให้สถานพยาบาลเท่าทันกับโลกร้อนและเตรียมพร้อมเมื่อภัยพิบัติมาถึง และดูหลากหลายแนวคิดสำหรับการผลักให้เป็นสถานพยาบาลดูแลคนไข้ได้ทันท่วงทีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  • ภัยพิบัติไม่เพียงสะท้อนปัญหาสภาพภูมิอากาศ แต่ยังส่งผลต่อชีวิตของผู้คน
  • โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุข คนไข้ในบางพื้นที่เข้ารับการศึกษาไม่ทัน เนื่องจากปัญหาธรรมชาติและภัยพิบัติเกิดขึ้น
  • เปิดผลการศึกษางานวิจัยโดยความร่วมมือของ UNFPA และ FHI 360 พร้อมดูข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

81 คือ จำนวนครั้งของภัยพิบัติในปี 2022 ที่เกิดขึ้นในเอเชีย

50 ล้าน คือ จำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติตลอดปี 2022

36 พันล้าน คือ จำนวนเงินในการฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง

(อ้างอิง : รายงานจาก State of the Climate in Asia 2022)

ข้อมูลข้างต้นบอกเราว่า ผลกระทบจากภัยพิบัติ คือ ภัยที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ แต่กลับสร้างผลกระทบให้กับโลกใบนี้ ชีวิตของผู้คน รวมถึงงบประมาณของแต่ละประเทศด้วย

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน คือ บางครั้งภัยพิบัติเหล่านั้นก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนป่วยไม่สามารถเดินทางไปสถานพยาบาลใกล้บ้านได้

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความร่วมมือระหว่างกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund : UNFPA) และ องค์การแฟมิลี่ เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Family Health International : FHI 360) เพื่อทำการวิจัยค้นคว้าเพื่อให้สถานพยาบาลเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเตรียมพร้อมเมื่อภัยพิบัติมาถึง

“การร่วมมือระหว่าง UNFPA ประเทศไทย และ FHI360 ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เนื่องจากข้อค้นพบจากงานวิจัยและแนวทางการประเมินความเสี่ยงของสถานพยาบาลจะเป็นรากฐานที่ช่วยสนับสนุนระบบสาธารณสุขได้ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง” สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทยกล่าว

UNFPA และ FHI 360 เปิดผลวิจัยความเปราะบางของสถานพยาบาลรับมือ ‘โลกร้อน’

4 สถานพยาบาลนำร่องประเมินความเสี่ยงรับมือภัยพิบัติ

ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา ที่ปรึกษาโครงการ ‘การประเมินความอยู่รอดและความเปราะบางของโรงพยาบาลและหน่วยบริการในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย’ (Green Viability and Climate Vulnerability of Healthcare Facilities in Thailand) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อทุกภาคส่วน และที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ คุณภาพชีวิตของผู้คน 

งานวิจัยดังกล่าวจึงจัดทำขึ้นเพื่อทำให้เห็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสถานพยาบาลเมื่อเกิดภัยพิบัตที่นำมาสู่ข้อเสนอแนะต่อหน่วยบริการและหน่วยงานด้านสาธารณสุข รวมถึงข้อเสนอแนะระดับชาติและนำไปใช้ต่อยอดในการทำงานด้านสาธารณสุขต่อไป 

การประเมินความเสี่ยงในการวิจัยครั้งนี้นั้นยึดตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ (WHO) รายงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ฉบับที่ 5 และ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (SCRHCFI) ดังนี้

  • ความเสี่ยง (Hazard) : พื้นที่ตั้งเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ หรือไม่
  • ความอ่อนไหว (Sensitivity) : ขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น การส่งต่อโรงพยาบาลใกล้เคียง
  • ความเปราะบาง (Vulnerability) : การตอบโต้และการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ

UNFPA และ FHI 360 เปิดผลวิจัยความเปราะบางของสถานพยาบาลรับมือ ‘โลกร้อน’

ซึ่งงานวิจัยนี้มีการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางของสถานพยาบาล 4 แห่งในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ได้แก่ 

  1. โรงพยาบาลระยอง จังหวัดระยอง โรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้บริการผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ สตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพิง อีกทั้งสถานที่ตั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมซ้ำ มลพิษทางอากาศ และขาดน้ำ
  2. โรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศ
  3. ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลตำบลสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลขนาดเล็ก กล่าวคือ รักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นที่สถานพยาบาลตั้งอยู่บนพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและมลพิษทางอากาศ
  4. ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลขนาดเล็กในภาคกลางตั้งอยู่บนพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเอ่อล้นตลิ่งและมลพิษทางอากาศ

ธัชเฉลิมอธิบายเพิ่มเติมว่า ทางทีมวิจัยเลือกสถานพยาบาลที่มีความหลากหลาย ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเมืองที่รองรับผู้ป่วยจำนวนมาก โรงพยาบาลขนาดเล็กที่ให้บริการในชุมชน รวมถึงเป็นโรงพยาบาลที่อาจจะเคยเผชิญกับภัยพิบัติหรือปัญหาสภาพภูมิอากาศในท้องที่ 

โดยผลการศึกษาที่น่าสนใจ คือ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จังหวัดปทุมธานีที่แม้จะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก แต่กลับมีการปรับสภาพแวดล้อมและการทำงานที่สะท้อนถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดี ทั้งการออกแบบอาคารตามหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) อาหารปลอดสารเคมี และติดตั้งโซลาเซลล์บนอาคาร

การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สถานพยาบาลตอบโต้และปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของสถานพยาบาลต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีและเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นจุดร่วมของข้อเสนอระดับหน่วยบริการ ระดับชาติ และภาคีต่าง ๆ ในงานวิจัยนี้ คือ การเชื่อมประสานและทำงานเป็นเครือข่ายกับภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างประเทศ

UNFPA และ FHI 360 เปิดผลวิจัยความเปราะบางของสถานพยาบาลรับมือ ‘โลกร้อน’ หลากหลายแนวคิดเพื่อเป็นสถานพยาบาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอธิบายว่า ระบบบริการสุขภาพระดับชุมชนของประเทศไทยต้องกระจายอำนาจและบุคลากรทางการแพทย์ลงไปในพื้นที่เพื่อให้บริการสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง 

อีกทั้งระบบสุขภาพก็ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการให้บริการในพื้นที่ (on-site) ออนไลน์ (telecare) ไปพร้อมกับการให้ความรู้ด้านสาธารณสุขกับประชาชน

สำหรับการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขก็เตรียมพร้อมใช้แผน 2P2R หลักการแพทย์สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ ประกอบด้วย การป้องกัน (Prevention), เตรียมพร้อม (Preparation), การรับมือ (Recovery) และการฟื้นฟู (Respond)

พร้อมผลักนโยบาย 3 หมอที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 

  • หมอคนที่ 1 : หมอใกล้ตัว คือ อาสาสมัครประจำหมู่บ้านหรืออสม.  
  • หมอคนที่ 2 : หมอใกล้บ้าน คือ หมอในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือศูนย์สาธารณสุขในชุมชน
  • หมอคนที่ 3 : หมอประจำครอบครัว คือ หมอในโรงพยาบาลที่จะคอยให้คำปรึกษา

ดร.ภูนท สลัดทุกข์ รักษาการเลขาธิการนายก สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า ท้องถิ่นคือรัฐบาลขนาดเล็ก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการแพทย์และสิ่งแวดล้อม คือ การลงพื้นที่พูดคุยและส่งต่อองค์ความรู้

และปัจจัยสำคัญจะที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คือ แนวคิดของผู้บริหาร

“วิสัยทัศน์ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะเป็นหน่วยก้านในการพัฒนาฟังก์ชันของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน” ภูนธบอก

ปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่เริ่มสนใจนำเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ และความตระหนักเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศมาประยุกต์ใช้กับงานด้านสาธารณสุข เช่น จังหวัดสุพรรณบุรีที่อาสาสมัครชุมชนใช้รถไฟฟ้าแทนรถน้ำมัน มีบริการหมอออนไลน์ และจัดหวัดเชียงใหม่ใช้ตู้กดยาอััตโนมัติบนดอยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไข้

ปรียนิตย์ ใหม่เจริญศรี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัยบอกว่า หมุดหมายแรก ๆ ของกรมอนามัยในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน คือ การให้ความรู้เพื่อให้พวกเขามีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยการบูรณางานกับภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยกลยุทธ์สร้าง ‘ภาวะผู้นำ’ รวมไปถึงการสร้างระบบ มาตรฐาน และเตรียมงานวิจัยสำหรับการสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุจที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เธอยังบอกอีกว่า เป้าหมายสำคัญของกรมอนามัย คือ การผลักกันให้สถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วไทยเป็น ‘Climate smart Health Care’ ซึ่งเร่ิมต้นทำมาตั้งแต่ปี 2553 และมีการยกเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560 ด้วยหลักเกณฑ์ ‘GREEN’ คือ 

  • G : Garbage - การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียทุกประเภท
  • R : Restroom - พัฒนาห้องน้ำจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล
  • E : Energy - การจัดการพลังงาน
  • E : Environment - การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล เช่น โครงสร้างอาคาร การบำบัดน้ำเสีย และการสร้างพื้นที่สีเขียว
  • N : Nutrition - การดูแลเรื่องอาหารปลอดภัยและการจัดการน้ำ

จิต โซฮาล เจ้าหน้าที่จากองค์กร Healthcare without Harm บอกว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขของประเทศที่ต้องต่อสู้เพื่อระบบสาธารณสุขไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่มันต้องใช้เวลาสำหรับการสร้างความเข้าใจไปด้วยกัน

“ในประเทศที่ต้องต่อสู้เพื่อระบบสาธารณสุข เราไม่สามารถบังคับให้เปลี่ยนได้ทันที มันต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป มองนโยบายที่เป็นจริง เช่น การบริหารจัดการขยะที่ส่งผลต่อสุขภาพคนทำงาน” จิต โซฉาลทิ้งท้าย

การดูแลกระบวนการแพทย์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยคนเพียงคนเดียว หรือองค์กรเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกคน ทุกหน่วยงาน ที่จะทำให้เราได้รับบริการสุขภาพที่ดี มีประสิทธิภาพ และยังช่วยกันรักษาโลกใบนี้ของเราต่อไป

 

อ้างอิง : 

State of the Climate in Asia 2022

green&clean

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ