กสศ. ร่วมภาคี 4 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เปิดศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กและเยาวชนฯ

กสศ. ร่วมภาคี 4 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เปิดศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กและเยาวชนฯ

กสศ. ร่วมภาคี 4 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เปิดศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กและเยาวชนฯที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบฯ ฉุกเฉิน สร้างพื้นที่ปลอดภัย - ป้องกันปัญหาภาวะเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) และภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)

KEY

POINTS

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต รวมถึงการปิดโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง และการอพยพเด็ก ผู้สูงอายุ และประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวนั้น กสศ.มีความห่วงใยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนด้านภาวะการเรียนรู้และพัฒนาการถดถอย (Learning Loss) เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว กสศ. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดน ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยอุบลธราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครศรีสะเกษ  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  มูลนิธิปัญญากัลป์  และกลุ่มอาสาสมัครการเรียนรู้ หุ้นส่วนการศึกษา กลุ่มอาจารย์ นักศึกษา เยาวชน ภาคประชาสังคม จัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบ” เพื่อเป็นพื้นที่ฟื้นฟูจิตใจและจัดการเรียนรู้ทดแทนให้กับเด็กที่ต้องหยุดเรียน

กสศ. ร่วมภาคี 4 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เปิดศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กและเยาวชนฯ กสศ. ร่วมภาคี 4 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เปิดศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กและเยาวชนฯ

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็ก ฯ แห่งนี้จะเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Space) สำหรับเด็กและเยาวชนที่ต้องเผชิญภาวะความเครียด ความกลัว  ความวิตกกังวลจากเหตุการณ์ โดยเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ยืดหยุ่นเพื่อฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ ป้องกันภาวะการเรียนรู้ถดถอย  ส่งเสริมทักษะชีวิต สร้างความเข้าใจของเด็กๆ ต่อสถานการณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยดำเนินงานร่วมกับครูอาสา โรงเรียน  มหาวิทยาลัย และหน่วยงานในพื้นที่ นอกจากชั้นเรียนขนาดเล็กและกิจกรรมสร้างสรรค์ ศูนย์ฯ ยังจัดให้มีการดูแลจิตใจและให้คำปรึกษาเบื้องต้นสำหรับเด็กที่อาจเผชิญกับความกลัว ความเศร้า หรือความไม่มั่นคง พร้อมเชื่อมโยงการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากเครือข่ายหากพบปัญหาซับซ้อนในด้านอื่น ๆ

โดยเฉพาะภาวะเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder) หรือ PTSD จากการที่เด็กและเยาวชนจำนวนมากเผชิญกับผลกระทบกระเทือนจิตใจ ส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของพวกเขา ที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย และภาวะ PTSD ยังเป็นปัจจัยหนึ่งสามารถทำให้เด็กและเยาวชนมีปัญหาด้านอารมณ์ สังคม และการเรียนรู้ อาจนำไปสู่การหลุดออกจากระบบการศึกษา แม้สถานการณ์ยังไม่แน่นอน แต่เราต้องเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เด็ก ๆ ได้เรียน เล่น และรู้สึกมั่นคงต่อเนื่อง” ดร.ไกรยส กล่าว  

กสศ. ร่วมภาคี 4 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา เปิดศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กและเยาวชนฯ

ขณะนี้ เครือข่ายอาสาสมัครได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการและจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละศูนย์อพยพฯ ของทั้ง 4 จังหวัด เช่น สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ และร่วมออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับบริบท เช่น ดนตรีบำบัด กิจกรรมสร้างความเข้าใจสถานการณ์ สร้างความสัมพันธ์ และส่งเสริมจินตนาการ โดยศูนย์ฯ จะตั้งใกล้พื้นที่พักพิงชั่วคราว พร้อมแผนขยายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อไม่ให้เด็กคนใดต้องเสียโอกาสจากความขัดแย้ง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call center กสศ. โทรศัพท์ : 02-079-5475  

รศ.ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เปิดเผยว่า 
จากการลงพื้นที่ศูนย์อพยพ 4 จุดในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีพิพาทบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า หลังเหตุการณ์ในช่วงเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดอย่างไม่มีกำหนด ส่วนประชาชนจำนวนมากจำเป็นต้องอพยพไปอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งถึงตรงนี้นับว่าทุกคนในพื้นที่ชายแดนล้วนได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยเฉพาะถ้าพูดถึงเด็ก ๆ ที่แม้ไม่ได้แสดงออกทางพฤติกรรมให้เห็น แต่ลึกลงไปในการรับรู้ของเด็กเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีโอกาสมากที่จะทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำระยะยาว  ในบางพื้นที่เช่นที่อำเภอโนนคูณ เป็นเรื่องดีที่มีหน่วยงานที่เข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก จึงมีทีมงานเข้าไปดูแลจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลาย เช่น วาดภาพหรือเล่นเกมต่าง ๆ ส่วนที่อำเภอกันทรารมย์ที่มีจำนวนเด็กถึง 111 คน จากคนในศูนย์พักพิงราว 400 คน นอกจากยังต้องการการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมสำหรับเด็กแล้ว ก็ยังต้องการสิ่งของจำเป็น เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สำหรับเด็กเล็กจำนวนมาก

สิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่าเด็กจะเจอแน่ ๆ คือความตกใจ เพราะเหตุการณ์นี้กำลังเปลี่ยนชีวิตประจำวันของเขา ทั้งการนอน 
การกิน การเล่น หรือการไปโรงเรียน นั่นจะทำให้เกิดความกังวลหรือความเครียดสะสมระดับลึก ซึ่งในวันข้างหน้าอาจกลายเป็นบาดแผลที่จะทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กตอนนี้ คือการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งเครือข่ายคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สถาบันอุดมศึกษา สกร. รวมถึงมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก หรือ กสศ. เราคุยกันว่าจะลงพื้นที่ไปหาเด็ก ๆ ไปเล่น ไปพูดคุยกับเขา คือเรามองว่าในภัยพิบัติใดก็ตาม เด็ก ๆ คือผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงจำเป็นมาก ๆ ที่ต้องมีพื้นที่และกิจกรรมเพื่อดูแลฟื้นฟูจิตใจ” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าว

รศ.ดร.ประจวบ กล่าวว่า หลังลงพื้นที่ศูนย์อพยพทั้ง 4 แห่ง คณะทำงานจะนำข้อมูลกลับมาเพื่อออกแบบกิจกรรม และวางแผนการดูแลที่ครอบคลุมเด็กในทุกช่วงวัย ทุกสภาวะอาการ และไม่เพียงเด็ก ๆ เท่านั้น หากการรับฟังปัญหาและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับครูและโรงเรียนในพื้นที่ก็ถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนเช่นกัน โดยเท่าที่คุยกับครูในพื้นที่ ทุกคนต่างกังวลว่าสถานการณ์อาจรุนแรงขึ้น และจะทำให้เด็กกลุ่มนี้ถูกตัดขาดจากการเรียนรู้ หรือบางคนอาจหลุดจากระบบการศึกษาไปเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น