ดุริยางค์ฯ ศิลปากร ลงนามร่วมมือจัดดนตรีคลาสสิกแห่งเอเชีย เริ่มที่ไทยประเทศแรก

ดุริยางค์ฯ ศิลปากร ลงนามร่วมมือจัดดนตรีคลาสสิกแห่งเอเชีย เริ่มที่ไทยประเทศแรก

ลงนามความร่วมมือไตรภาคี “โครงการดนตรีคลาสสิกแห่งเอเชีย” เพื่อสร้างวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกรูปแบบใหม่ เริ่มต้นที่ไทยก่อนส่งออกสู่ประเทศอื่น ๆ ทั่วเอเชีย

วงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียว วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลงนามข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรร่วม “โครงการดนตรีคลาสสิกแห่งเอเชีย”

จุดเริ่มต้นโครงการฯ มาจากไอเดียของวงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียว ภายใต้การสนับสนุนของ “โครงการสนับสนุนวงดุริยางค์ซิมโฟนีแบบใหม่” ของสภาศิลปะแห่งประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อตั้งและวางรากฐานดนตรีคลาสสิกในรูปแบบใหม่ และพัฒนากิจกรรมดนตรีคลาสสิกที่หลากหลายไปทั่วทั้งทวีปเอเชียที่สอดคล้องกับ “Soft Power” ของรัฐบาลไทย

ดุริยางค์ฯ ศิลปากร ลงนามร่วมมือจัดดนตรีคลาสสิกแห่งเอเชีย เริ่มที่ไทยประเทศแรก

การลงนามครั้งนี้ พันธมิตรไตรภาคีมีความเห็นตรงกันที่จะร่วมกันสร้างวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกรูปแบบใหม่ด้วยการเริ่มวางฐานรากในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี ก่อนแผ่ขยายวัฒนธรรมดังกล่าวไปยังประเทศใกล้เคียงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอื่น ๆ ทั่วทวีปเอเชีย พิธีลงนามความร่วมมือจึงเป็นบันไดประวัติศาสตร์ขั้นแรกของการเดินทางไปสู่ทิศทางที่ยิ่งใหญ่นี้ร่วมกัน

โครงการดนตรีคลาสสิกแห่งเอเชียจะจัดการแสดงครั้งแรกในงาน "การแสดงคอนเสิร์ตวงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียวรอบพิเศษในกรุงเทพมหานคร” วันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถัดจากนั้น พันธมิตรทั้งสามจะเปิดตัวโครงการและเปิดประสบการณ์ใหม่แห่งดนตรีคลาสสิกต่าง ๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับประชาชนคนไทย เช่น การแสดง, เวิร์คช็อป, การพบปะ และการสอนพิเศษ

ดุริยางค์ฯ ศิลปากร ลงนามร่วมมือจัดดนตรีคลาสสิกแห่งเอเชีย เริ่มที่ไทยประเทศแรก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิชัย เลิศสถากิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการวางรากฐานให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้โดยอิสระและเป็นการก่อตั้งกิจกรรมดนตรีอันหลากหลาย ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมกันผลักดันวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกในแบบของเราไปทั่วเอเชีย การทำงานร่วมกันกับประเทศญี่ปุ่นจะทำให้สามารถบูรณาการความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายในการรณรงค์การแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมากขึ้นโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง ซี่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่เพียงเฉพาะนักศึกษาในสายงานนี้เท่านั้น แต่รวมไปถึงวงการดนตรีคลาสสิกทั่วทั้งทวีปเอเชียด้วย

สำหรับคุณนันทินี แทนเนอร์ เลขานุการทั่วไปของวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโอกาสสำหรับทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งปันทักษะที่เป็นประโยชน์ให้แก่กันและกันผ่านกิจกรรมที่มากมาย เช่น การแลกเปลี่ยนนักดนตรี ชั้นเรียนในระดับผู้เชี่ยวชาญ ชั้นเรียนเพื่อปฏิบัติการ และการแสดงดนตรีต่าง ๆ คณะดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่มีโครงการความร่วมมือเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาวัฒนธรรมที่ดีงามขึ้นในสังคมไทยอย่างแน่นอน

ส่วนคุณโยชิทากะ ฮิโรอูกะ ผู้อำนวยการบริหารวงดุริยางค์ซิมโฟนีโตเกียวให้ความเห็นว่า เอเชียมีวัฒนธรรม ภาษา และประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ดนตรีคลาสสิกมีศักยภาพสูงมากในการเป็นสะพานเชื่อมและหลอมรวมความหลากหลายนี้เข้าไว้ด้วยกัน ภาษาดนตรีสามารถช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคกีดขวางต่าง ๆ ได้ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม รวมถึงเชื้อชาติ เราเชื่อมั่นว่า โครงการดนตรีคลาสสิกแห่งเอเชียจะช่วยส่งเสริมคุณค่าในการเคารพซึ่งกันและกัน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยการทำงานร่วมกันผ่านวัฒนธรรมสากลแห่งเสียงดนตรี