ปตท.เปิดแผน AI ลุยธุรกิจใหม่เพิ่มมูลค่า เคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

ปตท.เปิดแผน AI ลุยธุรกิจใหม่เพิ่มมูลค่า เคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

‘ปตท.’ ย้ำ AI ช่วยเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน หนุนธุรกิจเติบโต เคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ฝากรัฐบาล สนับสนุนโรงงานผลิตชิปในประเทศ

“กรุงเทพธุรกิจ” เปิดเวทีสัมมนาหัวข้อ “AI Revolution...AI : เปลี่ยนโลกธุรกิจ” เพื่อถ่ายทอดให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาททุกความเคลื่อนไหวและให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ที่จะเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ AI : เปลี่ยนโลกธุรกิจ ว่า AI เข้าไปทุกวงการ โดยหากย้อนปี 1975 - 1995 จะเป็นฮาร์ดแวร์ที่เป็นทีมวิศวกรรมพัฒนา เป็นซอฟต์แวร์สู่การพัฒนาเป็นดาต้า (data) ในปัจจุบัน โดย AI จะมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นและจะเกิดสังคมใหม่ที่มุนษย์ต้องอยู่กับ AI หลายรูปแบบ

“ปัจจุบันการประกาศรับสมัครงานจะต้องมีความรู้ด้าน AI โดยชื่อตำแหน่งงานที่สมัครจะต่างจากยุคก่อนที่มีตำแหน่งงานแปลกมากมายช่วง 2 ปีที่ผ่านมา”

นายอรรถพล กล่าวว่า กลุ่มปตท. ได้ใช้ AI & Robotics ต่อภาคธุรกิจ และจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ประเทศ 

หากพูดถึงโอกาสของปตท. และประเทศไทย ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่จะนำ AI & Robotics มาใช้ คือทำให้ Robotics ฉลาดด้วยเอไอ เพราะภาคอุตสาหกรรมหนีไม่ได้ จะเห็นได้ว่าการใช้เอไอมาช่วยในกลุ่มธุรกิจ Oil & Gas จะมีโอกาสเพิ่มมูลค่าระดับ 8,000 - 12,000 ล้านดอลลาร์ 

“การจะไปสู่เป้าหมาย Net Zero จะต้องกำหนดมาตรฐานในบรรทัดฐานเดียวกับที่ชาวโลกทำ เช่น นโยบายคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายได้ เพราะทั่วโลกมีมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งไทยยังใช้คาร์บอนเครดิตไม่ได้ ดังนั้นระบบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน และซื้อขายระหว่างประเทศได้แม้ราคาไม่เท่ากัน”

นอกจากนี้ ปตท.ใช้ดาต้าในการวางเครือข่ายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วประเทศ รวมถึงระบบซื้อขายพลังงานโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน เพราะนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกต่างต้องการใช้พลังงานสะอาด การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มจะยืนยันว่าโรงงานใช้พลังงานสะอาดเท่าไร

ส่วนระบบนิคมอุตสาหกรรมจะมีแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มที่ทำให้สมาชิกในนิคมอุตสาหกรรมผลิตและแลกเปลี่ยนพลังงานได้ และส่วนที่เหลือขายเข้าระบบกริด โดยเป็นการนำ AI เข้าช่วยและ ปตท.เริ่มปรับระบบมา 2-3 ปีแล้ว

ขณะที่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสุขภาพได้ร่วมกับ AIS เพื่อพัฒนาการแพทย์ผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอดี’ โดยแพทย์มีการรักษาหลายรูปแบบ ซึ่งจะเห็นว่า DNA ของมนุษย์ทำนายโลกได้ว่าแนวโน้มจะมีความเสี่ยงเป็นโรคใด โดยจะช่วยลดงบประมาณประเทศได้ และจะต้องใช้ AI มาประมวลผล

สำหรับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในโรงงานจะช่วยเรื่องการแข่งขันต้นทุน โดย AI จะมีส่วนช่วยได้มากและจะต้องพัฒนาเครื่องจักรเครื่องยนต์ให้ฉลาดสามารถพยากรณ์ได้ว่าเครื่องจักรมีปัญหาจุดใดก็เข้าไปซ่อมได้ พร้อมใส่ระบบเซ็นเซอร์ในศูนย์ควบคุมเพื่อลดวิศวกรและลดอุบัติเหตุลงได้ และพัฒนาอีกขั้นด้วยการให้ AI สื่อสารกันเอง ซึ่งจะมีแพลตฟอร์มอื่นมาช่วยเสริมและถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการเห็นไทยแลนด์ 4.0

“Cloud ก็สำคัญ ปตท.จับมือกับพันธมิตรระดับโลกหลายบริษัทเพื่อทรานส์ฟอร์มประเทศ โดยออกแบบองค์กรจากดาต้าพร้อมให้วิเคราะห์โมเดลธุรกิจให้ ซึ่ง ปตท.ปรับโครงสร้างบริษัท เมฆา วี จำกัด เพื่อรองรับการลงทุน AI & Robotics ตามแผนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ของ ปตท.เพื่อทำหน้าที่ผลักดันธุรกิจ AI & Robotics ในหลายอุตสาหกรรมและให้บริการทั้ง Cloud, Digital platform และ application รวมถึง Energy ครบวงจร”

ทั้งนี้ บริษัทเมฆา วี จำกัด ได้ออกผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เช่น โดรนเฉลิมพระเกียรติ และขณะนี้มีโดรนการเกษตรชื่อเจ้าเอี้ยง ที่ใช้งานได้จริง โดยสหกรณ์การเกษตรเริ่มจองเข้ามาแล้ว และ ปตท.หวังว่าจะจุดพลุวงการการเกษตรในไทย

นายอรรถพล กล่าวว่า ต้องการฝากรัฐบาลถึงพื้นฐานสำคัญที่ไทยยังขาด คือ ‘ชิป’  เพราะไทยไม่มีโรงงานผลิตชิปจริงจัง โดยยังเป็นการผลิตชิปแพคเกจจิ้ง จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนธุรกิจการผลิตชิป และสุดท้ายต้องการให้ Cybersecurity เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันการแฮคข้อมูลเกิดขึ้นง่าย ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์